งานนอกงานใน



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

งานอาสาสมัครสามารถเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาจิตใจได้ ในเวลาเดียวกันยังเป็นทั้งการฝึกทักษะการทำงานและการสื่อสารอีกด้วย แต่โดยมากเรามักมองผิวเผินและเห็นแต่เพียงเรื่องการลงแรงทำงาน การระดมพลในงานที่เร่งด่วนและขาดแคลนคนทำงาน หรือเป็นเพียงเรื่องงานเฉพาะหน้าตามความสนใจของคนที่พอจะปลีกเวลาจากภารกิจหลักของชีวิตได้

ในจิตตปัญญาศึกษาใช้คำเรียกขานที่ขับเน้นประเด็นมากขึ้นว่า 'จิตอาสา' เพื่อย้ำว่ากิจกรรมอาสาสมัครสามารถเป็นกระบวนการเรียนรู้ตนเองสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ ได้มากเทียบเท่ากับกระบวนการอื่น ไม่ว่าจะเป็นจิตตศิลป์ สุนทรียสนทนา หรือการบริหารกายบริหารจิต ซึ่งต่างเป็นเครื่องมือหรือการปฏิบัติ (Practices) อันมีจุดเน้นและคุณลักษณะที่เหมาะสมสอดคล้องกับบุคคลและสถานการณ์เงื่อนไขต่างกันไป

ส่วนที่เห็นได้ชัดเจนจากรูปแบบกิจกรรมคือ มีการจัดเตรียมความพร้อมของใจก่อนทำงาน ให้มีความคาดหวังที่ถูกต้อง ไม่มุ่งเพียงผลลัพธ์ของงาน และเปิดใจรับไม่ว่าจะเกิดอะไรที่ขัดใจหรือกระทบกระเทือนใจในระหว่างงาน

การสะท้อนประสบการณ์หลังเสร็จสิ้นงานแล้วก็สำคัญเทียบเท่ากัน โดยดำเนินไปอย่างผ่อนคลาย ไม่ยึดถือคำตอบอะไรในใจเอาไว้ล่วงหน้า สิ่งที่สะท้อนนั้นเป็นได้ทั้งการเล่าเรื่อง การเผยความรู้สึก และบทเรียนจากการตกผลึกในใจของแต่ละคน ช่วงของการสะท้อนบทเรียนอาสาสมัครเป็นเสมือนการเสริมแรงการเรียนรู้ให้แก่กันและกัน

บางคนมีฐานการเรียนรู้ทางกายที่เด่น พร่องในทางอารมณ์จิตใจ ก็จะได้เปิดการเรียนรู้ของตนมากจากประสบการณ์ภายในจิตใจของเพื่อนที่เผยมาเป็นอารมณ์ความรู้สึก

องค์ประกอบสำคัญอีกส่วนคือผู้ดูแลกระบวนการ นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้องาน สามารถให้คำแนะนำในทางเทคนิควิธีทำงาน รวมทั้งจัดการให้งานเสร็จลุล่วงแล้ว ยังเป็นผู้มีความคาดหวังที่ไปไกลกว่าเพียงผลลัพธ์ของงาน หากรวมถึงทำให้อาสาสมัครได้ชื่นชมตนเองและชื่นชมกันแม้ว่างานนั้นอาจจะไม่เกิดผลลัพธ์ตามตั้งใจ

ผู้ดูแลกระบวนการในมิติหนึ่งคือเป็นกัลยาณมิตรในการเรียนรู้ของอาสาสมัคร เป็นผู้ดูแลสมดุลของกระบวนการ ไม่ให้เป็นเพียงกิจกรรมสนุกสนาน ไม่ประคบประหงมจนไม่เกิดประสบการณ์ และไม่เข้มงวดจนมุ่งที่ความสำเร็จของผลงานจนละเลยคนทำงาน ตัวผู้ดูแลกระบวนการเองยังต้องดูแลสมดุลในใจตนด้วย และนี่อาจเป็นบทบาทที่ยากที่สุดของการจัดกระบวนการจิตอาสา

แต่ทั้งตัวกระบวนการและกัลยาณมิตรนั้นยังเป็นเพียงส่วนประกอบภายนอกของการเรียนรู้งานอาสา ตัวเราเองในฐานะอาสาสมัครจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด อาสาสมัครเกือบทั้งหมดมีจุดตั้งต้นที่ความตั้งใจดี มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจะช่วยคนอื่น ทว่าแรงแห่งความตั้งใจดีนี้มักจะมาพร้อมกับความเชื่อของเรา ความคิด และวิธีการของเรา หากไม่เท่าทันมันเสียแล้ว เราจะมาทำงานอาสาด้วยวิธีการของเราเอง แม้ว่ามันจะเป็นวิธีการที่ดีมีประสิทธิภาพกว่า แต่ว่ามันคือกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้เราได้เข้าถึงงานอาสาสมัครในฐานะกระบวนการจิตอาสา

ดังมีผู้กล่าวไว้มากมายหลายแห่งและหลายครั้งว่า งานอาสายิ่งทำยิ่งได้ลดละอัตตา ลดความเป็นตัวตน ลดความเชื่อที่ตัวเรายึดถือ แต่ลำพังตัวกระบวนการที่ออกแบบและจัดการมาเป็นอย่างดี รวมทั้งผู้ดูแลกระบวนการที่มีประสบการณ์ ก็ยังไม่สามารถเอื้อให้เราได้ไปพบคุณค่าภายในของงานอาสาสมัครได้
องค์ประกอบส่วนสำคัญยังต้องเป็นการทำงานภายใน จัดการดูแลใจไปพร้อมกับทำงานภายนอก

ซึ่งยากจะมีใครจัดให้ได้ ถ้าไม่เริ่มที่ตัวเอง

สื่อสารสองคม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

“บางครั้งรู้สึกว่า Facebook เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนขัดแย้งกันมากขึ้นหรือเปล่า ด้านหนึ่ง ก็ดี ทำให้ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเสรี ได้พูดได้บอกสิ่งที่อยากบอกแต่ไม่เคยได้บอกในชีวิตจริง (ซึ่งนี่คือ เสน่ห์ของ FB) แต่อีกด้าน ก็ส่งผลให้กระตุ้นอารมณ์กันไปกันมา (ง่ายๆ) เหมือนกัน โดยเฉพาะอารมณ์ที่เรียกว่า น้ำโห (ซึ่งน่ากลัวกว่าน้ำท่วม)

ฝั่งที่คิดไปในทางเดียวกัน ก็จะกระตุ้นน้ำโห ทางเดียวกัน แต่ถ้าคิดไม่เหมือนกัน ก็จะกระตุ้นน้ำโห ต่อกัน ใส่กัน เพราะข้อมูลมาเร็ว ง่าย และเยอะมาก จังหวะที่จะกระตุ้นอารมณ์กัน ก็เร็ว ง่าย และเยอะขึ้นมาก เช่นกัน

ดังนั้น อย่าว่าแต่คนไม่รู้จักจะหมางใจกันได้เลย คนที่เป็นเพื่อนรักกัน ยังเกิดความรู้สึกแหม่งๆ ต่อกัน และกลายเป็นหมางใจกันไปได้ก็มี Facebook เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และมีเสน่ห์มาก (ได้ทั้งข้อมูล ความสัมพันธ์ และความสนุก) แต่อีกด้าน อย่างที่บอกไปแล้วค่ะ ว่าทำให้เกิดความรู้สึก ร้าวราน ร้าวฉาน ได้ง่ายๆเหมือนกันค่ะ”


เพื่อนคนหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์เขียนข้อความนี้ไว้ ในระหว่างสถานการณ์อุทกภัยใหญ่ของประเทศ เป็นช่วงเวลาที่ทัศนคติหลากหลายปรากฏให้ได้อ่านกันจนลายตา เช่นเดียวกับคนไทยจำนวนมากที่หันเข้าหาอินเตอร์เน็ต ใช้เป็นแหล่งข่าวและเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารส่งข่าวกัน

ขณะเดียวกันก็กลายเป็นพื้นที่ปะทะกันได้อย่างง่ายดาย นอกจากความเครียดที่สะสมกันมา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ประสบภัย หรือกำลังตกใจว่าภัยจะมาถึงบ้านตนหรือเปล่า ยังมีเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองซึ่งถูกจุดประเด็นขึ้นมาเมื่อไหร่ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อนั้น

เพื่อนหลายคนเลยเข้ามาเขียนปลอบใจ ให้กำลังใจ หลายคนก็เห็นด้วยว่าลำพังการพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตาแม้ในเรื่องที่เห็นแตกต่างก็ยังไม่ใช่ง่าย พอกลายเป็นการคุยผ่านตัวอักษร มิหนำซ้ำยังผ่านหน้าจอที่พิมพ์ข้อความไม่กี่คำก็สามารถไปปรากฏให้คนอีกจำนวนมากได้เห็นกันอย่างทันที

การสื่อสารที่ผู้คนไม่อยู่ในภาวะผ่อนคลายและเปิดรับความเห็น จึงเป็นอันตรายก่อให้เกิดความเครียดได้มากพอกับให้ความบันเทิงใจ อีกทั้งเงื่อนไขกติกาการสื่อสารแบบออนไลน์เองก็จำกัด เราไม่สามารถเห็นสีหน้าแววตา และมักไม่อาจรู้เรื่องราวแวดล้อมในข้อความที่เขาเขียนได้ การสื่อสารนี้จึงมีทั้งความเร็วและความแรง ไม่แตกต่างจากละครที่ดึงอารมณ์ของเราให้ไปสุดทาง ทำให้ชอบมาก ทำให้เกลียดมาก ยิ่งกว่านั้นคือเราแต่ละคนต่างกำลังเล่นเป็นตัวละครในเรื่องเสียเอง

ความพอเหมาะพอดีของการสนทนาที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศของความเข้าใจ มากกว่ามุ่งไปหาข้อสรุป จึงเป็นลักษณะกติกาพื้นฐานที่ควรให้ความสำคัญ ดังในทุกกิจกรรมของการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา ไม่ว่าจะสุนทรียสนทนา หรือการสื่อสารอย่างสันติ การพูดคุยต้องอยู่ในภาวะที่ทุกคนมีเวลาให้กันและกันอย่างเพียงพอ และใกล้กันถึงขั้นมองเห็นสีหน้าแววตา ตลอดจนน้ำเสียงของเพื่อนร่วมวงได้ ยิ่งเราไม่มุ่งไปสู่การหาข้อสรุป ความเห็นของแต่ละคนยิ่งถูกเปิดเผย และถูกได้ยินมากขึ้น เป็นการจัดสภาพแวดล้อมของการพูดคุยที่เอื้อให้เรามีสมดุลของการสื่อสาร

แต่ส่วนสำคัญนั้นยังเป็นคุณภาพข้างในตัวของผู้ร่วมวงคุย เพราะแม้จะมีผู้ดูแลการสนทนา คอยเตือนหรือแนะนำวิธีการ ก็ยังไม่ได้ผลเท่ากับที่ต่างคนต่างพยายามฝึกฝนตนเอง ฝึกให้ไวต่ออารมณ์ที่แกว่ง ไวต่อความพอใจความขัดใจ บรรยากาศหรือใครภายนอกที่เอื้อให้เกิดความสมดุลไหนก็ยังไม่เท่ากับสมดุลภายในที่ใจของเราเอง ใครฝึกมากก็กลับไปหาตรงกลางที่พอเหมาะพองามได้ไว เห็นใจที่ไหวไปของตนง่ายขึ้น

Facebook อาจเป็นของมีคมดังว่า เป็นมีดดาบประหัตประหารกัน แต่ถ้ามือที่ถือไว้มีใจใสกระจ่างและหนักแน่น มันก็เป็นได้ทั้งวัชระที่ตัดฝ่ามายาการ ให้เราเข้าถึงความเป็นธรรมดาธรรมชาติของตัวเรา

เด็กทำแผนที่



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

เมื่อราวแปดปีก่อน ในการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ อาจารย์ประเวศ วะสี ท่านย้ำนักย้ำหนาว่างานสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาจิตใจคนไทยทั้งชาติได้ คืองานแผนที่คนดี

งานนี้เป็นภารกิจที่ไปสำรวจสืบค้นพร้อมทั้งบันทึกเรื่องราวของบุคคลทั้งหลาย ผู้ที่กำลังกระทำสิ่งดีงามอยู่ทั่วแผ่นดินไทย และนำมาบันทึกเผยแพร่คุณความดีนั้นทั่วทั้งแผนที่ประเทศ

ความดีและคนดีที่ว่าก็ไม่ใช่ต้องเป็นอะไรใหญ่โต เขาอาจเป็นบัณฑิตปริญญา แต่ยอมอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดานทำงานเพื่อคนด้อยโอกาส หรือเธออาจเป็นคุณยายในตลาดผู้รู้วิชาทำขนมต้มตามตำรับโบราณได้อย่างเอร็ดอร่อย เหล่านี้ล้วนเป็นคนดีผู้กระทำการดีทั้งสิ้น

ยิ่งพวกเราหลายคนเล่าในภายหลังให้อาจารย์ฟังว่า เราได้จัดโครงการลักษณะดังกล่าว แต่ชักชวนให้เยาวชนวัยประถมเป็นผู้ไปเก็บรวบรวมข้อมูล เดินสอบถาม และสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนของตัวเอง อาจารย์ได้ยินยิ่งยิ้มแย้มยินดี และกล่าวว่าดีแล้ว เหมาะทีเดียว เพราะเจตนาของแผนที่คนดี คือได้เผยแพร่เรื่องราวดีๆ ให้สังคมได้รู้ ให้ทุกคนได้ตระหนักว่าความดีไม่ได้อยู่ไกลตัว และมีคนทำดีอยู่มากมาย แทนที่เราจะรับรู้แต่ข่าวสารร้ายๆ จากสื่อรายวัน

โดยเฉพาะเมื่อเราให้นักเรียนเป็นผู้ไปสืบเสาะเองแต่ต้น ยิ่งเป็นผลดีมาก เพราะเด็กๆ จะได้เรียนรู้จากชีวิตจริง ได้เห็นบุคคลทำดีที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขา ทำให้เด็กๆ เห็นว่าในชุมชนของตนมีพลังความดีมากมายปรากฏขึ้น

ได้ยินคำอาจารย์แนะนำแล้วทำให้นึกขึ้นได้ว่า ในยามที่เรายังเป็นเด็ก เรามักถูกปลูกฝังให้ชื่นชมความเป็นสากล และฐานะตำแหน่งภายนอก ได้ยินคำบอกให้ตั้งใจเรียน โตไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ได้ทำงานนั่งห้องแอร์ หากเรียนเก่งมีแววดี ก็ขอให้ได้เป็นหมอ เป็นผู้นำ สอดคล้องกันกับการเรียนในโรงเรียนที่เรียนเรื่องไกลตัว เรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรียนเสมือนหนึ่งเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จเป็นลำดับขั้น เพื่อรับประกันอนาคต

บุคคลแบบอย่างของเราที่ต้องท่องจำเอาไว้ในยามนั้น ก็ช่างดูห่างไกลจากชีวิตเราเหลือเกิน โดยมากเป็นนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ หรือเป็นผู้นำในประวัติศาสตร์ แม้เมื่อเราจะได้พบตัวอย่างจริง ก็มักกลายเป็นการไปดูงานกิจการของบริษัท ไปชื่นชมความทันสมัยของเทคโนโยลีเครื่องจักร

โดยเราไม่รู้ตัว ค่านิยมบางอย่างค่อยๆ ซึมซาบเข้าไป ทำให้เราเชื่อว่าอนาคตที่ดีนั้นอยู่ข้างหน้า ไม่ใช่ปัจจุบัน ไม่ใช่ในถิ่นฐานที่เราอยู่อาศัย ไม่แปลกใจเลยที่ภาวะการเรียนรู้เช่นนี้ได้นำพาให้เราทุ่มเททรัพยากรเพื่อไปให้พ้นจากรากของเราเอง เราได้สูญเสียสมดุลของการเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับปัจจุบันไป

โอกาสที่เด็กๆ จะได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนเพื่อสืบค้นหาความดีนี้ จึงเป็นโอกาสสร้างสมดุลของการเรียนรู้ขึ้นมา ระหว่างกระบวนการของการไปสอบถาม นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้การวางตัว การสนทนา และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน อันช่วยสร้างฐานมั่นคงทางพฤติกรรมแล้ว ผู้ใหญ่ยังได้รับเกียรติในฐานะครูผู้บอกเล่าบทเรียนชีวิตของตน เป็นเกียรติที่ทุกคนพึงได้รับจากการประกอบสัมมาชีพและการดำรงตนเป็นแบบอย่างแก่รุ่นลูกรุ่นหลาน

งานแผนที่คนดีที่ไปพ้นจากกรอบและรูปแบบตายตัวเท่านั้น จึงจะสร้างปรากฏการณ์การเรียนรู้เช่นนี้ได้ หากเราไปกำหนดนิยามความหมายของความดี และตัดสินใจให้เด็กๆ ไปเสีย แล้วสั่งการบ้านว่าต้องไปเก็บข้อมูลกับใครเรื่องอะไร นั่นก็เท่ากับว่าเราพลั้งไปปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้สำคัญของเขาแล้ว โอกาสที่เด็กๆ จะได้ตั้งคำถามเองว่าความดีตามความเชื่อของเขาคืออะไร โอกาสที่เขาจะได้เลือกบทเรียนของตัวเอง และพร้อมเปิดใจรับเอาความมหัศจรรย์จากชีวิตของผู้คนรอบข้าง

ระยะทางและเวลา



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554

“หลังได้รับสัญญาณระฆังแล้ว ขอชวนให้ทุกคนค่อยๆ ลุกออกไปที่ไหนก็ได้ในบริเวณห้องประชุมนี้ เลือกตำแหน่งที่อยู่ แล้วค่อยๆ ดูสิ่งของรอบตัว อาจเป็นผนัง ม่าน พื้น หรือแจกัน อะไรก็ได้ ไม่ต้องรีบร้อน ขอใช้เวลาพิจารณามันให้นานขึ้น เห็นห่างๆ แล้วก็ให้เข้าไปดูมันใกล้ๆ ลองดูว่าเราได้รับรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาจากที่เราคิดว่าน่าจะรู้อยู่แล้วบ้าง?”

สิ้นเสียงระฆัง ผู้เข้าร่วมการอบรมหลายคนกระวีกระวาดลุกขึ้นไปยังตำแหน่งที่ได้หมายตาเอาไว้แต่ต้น บางคนเหลียวซ้ายแลขวาดูทำเลว่าที่ไหนยังว่าง และคนจำนวนไม่น้อยก็ยังงงๆ เลือกไม่ได้ว่าจะไปไหน หรือในใจกำลังมีความคิดมากมายในหัว สงสัยอยากรู้ ว่ากิจกรรมนี้จะทำไปเพื่ออะไร ฝึกการสังเกตใช่ไหม

กระบวนการนี้สำคัญและมีประโยชน์มากในช่วงเริ่มการเรียนรู้ในแนวจิตตปัญญาศึกษา เพราะช่วยให้เราได้ลองเปิดความสามารถการรับรู้ที่เราอาจลืมไปแล้วว่ามี หรือรื้อฟื้นศักยภาพเดิมที่มันถูกละเลยมานาน หากผู้เข้าร่วมการอบรมได้ลองไปสังเกตตามคำแนะนำข้างต้นนี้ แล้วปักใจเชื่อว่าเป็นการทดสอบการจำรายละเอียด ก็นับว่าพลาดโอกาสการได้ค้นพบความสามารถใหม่ของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย

เฉพาะแค่การมองหาและจดจำข้อมูลได้นั้น ยังเป็นเพียงทักษะความสามารถทั่วไปที่เราส่วนใหญ่ใช้อยู่แล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นความสามารถที่ถูกฝึกฝนมาอย่างยาวนานในระบบโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ด้วยซ้ำไป ดังที่เรารู้จักกันดีว่ามันคือการท่องจำเพื่อนำไปสอบนั่นเอง ฉะนั้น ในระบบโรงเรียนของเรา คนที่จำได้มากจึงได้คะแนนการเรียนรู้มาก

จึงเป็นอย่างที่เราเห็นกันแล้วว่า แม้เราจะเรียนมามาก ใช่ว่าเราจะรู้จักรู้ใจตัวเอง

กระบวนการแนวจิตตปัญญานี้ จะเปิดศักยภาพการเรียนรู้ของเราออกมาด้วยเครื่องมือสองสิ่ง หนึ่งคือระยะทาง สองคือเวลา และผู้ที่เป็นคนเปิดก็มิใช่กระบวนกรผู้จัดการเรียนรู้ แต่คือตัวเราเอง

ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งมองดูแจกันจากระยะปกติทั่วไป แล้วค่อยๆ ขยับเข้าไปดูใกล้ๆ เพ่งดูเฉพาะจุด หรือมองแจกันจากมุมที่ต่างออกไปบ้าง ระยะทางที่ต่างนี้เอง เปิดให้เขาเห็นข้อมูลอีกมากมาย ได้เห็นว่าลวดลายของแจกันมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เห็นพื้นผิวว่ามันเป็นเซรามิกจากที่คิดว่ามันคงเป็นแก้ว

บางคนจ้องดูพื้นเสื่ออยู่เนิ่นนาน จนเวลาได้เผยให้เขาพบข้อมูลอีกไม่น้อย ได้เห็นว่ามีมดตัวเล็กๆ ที่ไต่ตามกันมาบนขอบเสื่อ ทะยอยมาเป็นขบวนเพราะมีห่อลูกอมเป็นตัวล่อ เห็นว่าตะเข็บที่เย็บเสื่อนั้นประณีตเพียงไร หากใช้เวลาแค่แวบเดียวในการมอง เสื่อก็ยังเป็นเสื่อผืนเดิม มีสีสัน ลวดลาย ขนาด และวัสดุเช่นเดิม แต่ด้วยเวลาที่นานขึ้น เสื่อผืนเดิมกลับมีเรื่องราวอีกมากมาย

ระยะทางและเวลานี้เองคือเครื่องมือที่ดึงเราสู่การเรียนรู้ใหม่ ให้เราใช้เวลามากขึ้นกับของที่เราเชื่อว่าชำเลืองดูแค่ประเดี๋ยวก็รู้ว่ามันคืออะไร ความเชื่อนี้อาจทำให้เราคาดเดาสรุปได้รวดเร็ว แต่มันเป็นร่องความเคยชินเดิมๆ ของการเรียนรู้ ไม่ช่วยให้เราได้พบอะไรใหม่ และทำให้เราไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เพียงเพราะว่าเราเชื่อว่าเรารู้จักและเข้าใจสิ่งนั้นแล้ว

ยิ่งใช้ระยะในการสังเกตต่างไปจากเดิม ใช้เวลาที่มากขึ้นกว่าเดิม สองสิ่งนี้จะช่วยให้เราพบข้อมูลมากขึ้น และไม่ใช่แค่ข้อมูลนอกตัว แต่เป็นข้อมูลในตัวเรา ทำให้เราได้ค้นพบบทเรียนสำคัญของตนว่า การด่วนตัดสินด้วยสายตาและท่าทีแบบเดิมนั้น จะทำให้เราพลาดอะไรไปบ้าง ประเมินอะไรผิดไปบ้าง

การสังเกตที่ใช้เวลาและระยะทาต่างไปจึงไม่ใช่แค่หามุมใหม่ของข้อมูล แต่เป็นการฝึกให้เราออกจากร่องเคยชินของการเรียนรู้ ระหว่างสังเกตก็ได้สะท้อนตัวเอง ให้ได้พบว่ามีความคิดความเชื่อเดิมที่เรายึดถือ และมันไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกต้องเสมอไป

โลกใหม่แห่งการเรียนรู้ได้เปิดออกแล้วทั้งใบ เมื่อเราก้าวข้ามความเคยชินเก่าๆ และใช้ใจออกไปสัมผัสกับทุกบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต

จิตแห่งการอาสา



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554

ตลอดช่วงเวลาแห่งมหาอุทกภัยได้มาเยือน เราร่วมกันสร้างสายธารแห่งน้ำใจให้ไหลหลั่งชะโลมหัวใจ ใช้สายใยแห่งความเมตตาเยียวยากันและกัน ระหว่างที่ผู้คนทนทุกข์กับการสูญเสีย หลายคนลุกขึ้นและยื่นมือออกไปกอบกู้ แม้กระทั่งบางคนซึ่งประสบภัย ยังไม่ยอมจำนนสภาพ กลับเป็นผู้ร่วมช่วยเหลือเพื่อนร่วมทุกข์ด้วย เป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์แห่งจิตอาสาที่งอกงามทั่วทั้งแผ่นดิน

แม้หลายครั้งหลายครา ภารกิจที่เหล่าอาสาหาญกล้าไปเผชิญ ลงท้ายกลายว่าล้มเหลว ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย หรือไร้ผลในการแก้ไขป้องกันแรงน้ำอันมีมวลมหาศาลได้ แต่เราไม่เคยยินเสียงทดท้อส่อถึงกำลังใจอันถดถอยเลยแม้แต่น้อย

เป็นการงานที่ไม่สามัญธรรมดา ด้วยว่ารางวัลจูงใจมิใช่ผลสุดท้ายของการดำเนินงาน

งานอาสาสมัครเป็นกิจกรรมซึ่งมีความลึกซึ้งเกินกว่าภาพที่เห็น เป็นกิจกรรมที่เกิดกระบวนการขึ้นภายในจิตใจของทุกผู้คนที่เกี่ยวข้อง และเป็นกิจกรรมที่เชื่อมร้อยทุกหัวใจให้เกี่ยวพันโยงถึงกัน

สาระสำคัญของจิตอาสาหาได้เป็นการบริหารจัดให้คนได้ทำหน้าที่เหมาะสมกับงาน หรือการปลุกเร้าประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนได้เห็นความสำคัญของการทำงานเพื่อสังคม สองสิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญจริง ทว่ายังเป็นเพียงงานเสริมสร้างฐานรากด้านนอก เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห่งโพธิได้งอกงามออกจากด้านใน เพราะจิตอาสาเป็นแนวปฏิบัติอันโดดเด่นดุจดั่งหัตถ์แห่งพระโพธิสัตว์ผู้ร่วมทุกข์และโอบอุ้มสรรพชีวิตด้วยมหากรุณา อีกทั้งยังหลอมรวมแนวทางหลากหลายเข้าไว้ในหนทางสายเดียวนี้

ผู้ฝึกฝนตนบนหนทางจิตอาสา ย่อมต้องฝึกปรือพัฒนาคุณภาพของการรับฟังอย่างลึกซึ้งและห้อยแขวนการตัดสินของตนเช่นเดียวกับสุนทรียสนทนา ยิ่งต้องหมั่นดูแลกายและใจให้แกร่งกล้าเพื่อเผชิญหน้าอย่างมั่นคง รวมทั้งดูแลภาวะภายใน เฝ้าสังเกตจิตและใจที่มักหวั่นไหวจากสิ่งกระทบ เฉกเช่นกันกับการภาวนาที่การกู้ภัยนั้นสำคัญเทียบเท่ากับการวางใจ และโลกที่ดำเนินไปภายในคือสิ่งที่สะท้อนความเป็นไปของโลกภายนอก
การจัดการเพื่อบริหารทักษะกำลังพลและเรียกระดมอาสาสมัครให้เพียงพอต่อภารกิจ อาจจะพลาดห้วงโอกาสสำคัญไปเมื่อให้ค่าทั้งหมดของกระบวนการที่ผลลัพธ์และปริมาณ

การสร้างฐานความเข้าใจก่อนได้ลงมือ และการแบ่งปันประสบการณ์หลังได้บรรลุงาน เป็นองค์ประกอบหลักที่เอื้อให้พลังงานหล่อเลี้ยงจิตใจได้ไหลผ่านสู่โลกภายในของอาสาแต่ละคน เมื่อตั้งต้นจากหัวใจอันห่วงใยและเมตตา จากใจดวงหนึ่งส่งถึงใจแต่ละดวง พลังและศรัทธาภายในก็จะเดินหน้าไปพร้อมกับการงานภายนอก

ในกระบวนการนี้ อาสาแต่ละคนต่างปฏิบัติภารกิจสำคัญในฐานะกัลยาณมิตรสำหรับการเดินทางเพื่อพัฒนาตนไปด้วยกัน ต้องอาศัยคุณภาพของการรับฟังที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าเนื้อหาเรื่องราว แต่ไปให้ถึงซึ่งความรู้สึกและความสั่นไหวในใจ ต้องการความวางใจเพื่อกล้าเปิดเผยถึงความคิดความเชื่อเดิมของตน ต้องการความอุ่นใจให้กล้าออกไปเผชิญกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ที่ไม่เคยก้าวล่วงมาก่อน ผู้หนึ่งอาจถึงซึ่งทักษะวิธีการทำงานมากกว่า แต่ก็ต้องการการเยียวยาและพื้นที่ของความเข้าใจเมื่อความรู้สึกและจิตใจของเขาหวั่นไหวเปราะบางเช่นกัน ในงานจิตอาสา ทุกคนยืนอยู่บนสถานะที่เท่าเทียม เป็นสถานะแห่งการเกื้อกูลและสนับสนุนกันทางจิตวิญญาณ

จิตอาสาคือภารกิจแห่งการเผชิญทุกข์ภายนอกด้วยใจอันเมตตากรุณา คือการนำวิกฤตตรงหน้ามาขัดเกลาลดละอัตตาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ภายใน และไปสู่คุณภาพใหม่ร่วมกัน

ทำไมไม่ย้าย ?



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2554

ถึงตอนนี้คงเจอกับอุทกภัยกันไปถ้วนหน้า คนที่เจอหนักถึงขั้นต้องทิ้งบ้าน คงยืนยันได้ว่าการเตรียมตัวเก็บของ หรือหาที่อยู่ใหม่ แม้จะเป็นภารกิจยุ่งยาก แต่ก็ยังพอจัดการได้ โดยเฉพาะถ้ามีเวลาพอรับมือ แต่เรื่องยากมากยิ่งกว่าหรืออาจจะยากที่สุด คือการขอให้ผู้ใหญ่ในบ้านยอมย้ายออกไปด้วยกัน

ผู้ใหญ่เหล่านี้สำหรับเราก็อาจเป็นได้ทั้งปู่ย่าตายาย คุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้า บ้างอายุมากแล้ว บางท่านสุขภาพโดยรวมไม่ใคร่จะดีเป็นทุนเดิมด้วยซ้ำ ดูเผินๆ ท่านน่าจะยอมขยับขยายตามเราลูกหลานไปง่ายๆ แต่ทำไมมีหลายกรณีมากทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวว่าผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ยอมอพยพโยกย้าย บางกรณีลูกๆ ให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาว่าขอให้แม่ย้ายออกมาแต่เนิ่นๆ ก่อนน้ำจะมา แต่แม่ก็ยืนกรานไม่ยอม จนสถานการณ์เจียนตัว ต้องรอหน่วยกู้ภัยมาช่วยออกไปด้วยเรือ

ใน Facebook ก็คุยเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง หลายคนตกอยู่ในภาวะเดียวกัน คือ ต้องขอร้องผู้ใหญ่ในบ้านให้ท่านยอมย้ายไปด้วย เรื่องนี้เป็นประเด็นจนถึงได้ตั้งหัวเรื่องคุยกันเลย ว่ามาแลกเปลี่ยนวิธีการกันเถอะ ใครใช้แนวทางไหน กลวิธีใด ในการชักจูงให้ท่านเหล่านั้นเห็นว่าปัญหามันร้ายแรงจริงๆ และจะต้องย้ายออกในทันที

หลายวิธีที่เสนอกันไว้ก็น่าสนใจมาก ทั้งการค่อยๆ อธิบายอย่างใจเย็น ทั้งการหาคนที่น่าเชื่อถือให้โทรมาเกลี้ยกล่อม แต่บางวิธีก็ค่อนข้างจะแรง เช่น ขู่ว่าถ้าตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะเป็นยังไง เรียกง่ายๆ ว่าขู่ให้ท่านกลัวจะได้ยอม บางวิธีก็น่าสนใจเพราะใช้ไม้อ่อนและลูกอ้อนเข้ารับมือ ให้กอดท่านแน่นๆ และก้มกราบ ขอร้องว่าให้ยอมตามการตัดสินใจของเราบ้าง จนกระทั่งถึงกับมีคำแนะนำจากจิตแพทย์ว่าด้วยวิธีการชักจูงใจผู้สูงอายุ ซึ่งก็ได้รับการส่งต่อใน facebook อย่างแพร่หลาย

จิตตปัญญาศึกษาถือว่านี่เป็นเรื่องของการสื่อสารและความเข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็น สุนทรียสนทนา (Dialogue) ซึ่งเน้นเรื่องการเปิดโอกาสการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง หรือการสื่อสารอย่างสันติ (Non-Violent Communication) ซึ่งทำให้เราตระหนักว่า ทุกคนก็มีความต้องการความปลอดภัย ความรัก และความเข้าใจเหมือนเรา เพียงแต่ผู้ใหญ่ท่านจะมีวิธีการในการแสดงออกแตกต่างจากเราเท่านั้น เราต้องบอกความรู้สึกในใจ และบอกความต้องการที่แท้จริงที่ไม่ใช่แค่วิธีการออกไป เพราะโดยมากเรามักจะขอให้ท่านทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ซึ่งนั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหาจากมุมมองและวิธีของเราอย่างเดียว ไม่ใช่ของผู้ใหญ่ที่เรารักและห่วงใย

วิธีแนวจิตตปัญญาไม่ใช่การมุ่งเอาชนะ และมิได้เป็นเครื่องมือสำหรับเราผู้เหนือกว่ารู้ดีกว่า ถ้าหากว่าปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้คือการย้ายหนีน้ำไปหาที่ปลอดภัย สิ่งที่จิตตปัญญาศึกษาจะให้ได้คือโอกาสของการทบทวนว่า เราได้ละเลยหลงลืมอะไรที่สำคัญยิ่งไปกว่าการหนีน้ำบ้างไหม เราได้ดูแลจิตใจและจิตวิญญาณของคนอันเป็นที่รักของเราหรือยัง ท่านให้คุณค่ากับบ้านอันเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ หรือว่ามันมีความสัมพันธ์อะไรที่แตกหักมานาน และไม่เคยได้รับการเยียวยา ก่อนจะมาถึงเรื่องวันนี้หรือเปล่า?

คำตอบของเรื่องอาจไม่ใช่ทำอย่างไรจะให้เขาย้าย แต่อาจเป็นโอกาสของการเผยถึงความรักความห่วงใย โอกาสของการให้อภัย และยอมรับในการตัดสินใจของกันและกัน สำหรับจิตตปัญญาศึกษานั้น การอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย และการเข้าใจในตัวเราเอง เป็นหัวใจสำคัญยิ่งกว่าการจัดการควบคุมให้ทุกอย่างได้ตามใจเรา

ใช่แค่ความต่าง



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2554

ชุดความรู้กลุ่มหนึ่งในแนวจิตตปัญญาศึกษาที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการอบรมอยู่เสมอ คือเรื่องลักษณะของคนต่างแบบ และการให้คำอธิบายจัดแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ซึ่งมีอุปนิสัย พฤติกรรม และความคิด แตกต่างกัน ได้แก่ ความรู้เรื่องนพลักษณ์ อันเป็นศาสตร์ที่พัฒนามาจากภูมิความรู้เก่าแก่ในศาสนาอิสลามนิกายซูฟี และความรู้เรื่องสัตว์ 4 ทิศ จากมหาวิทยาลัยนาโรปะที่พัฒนาจากวัฒนธรรมความเชื่อในชนเผ่าอินเดียนแดง

ด้วยรูปแบบของการเรียนรู้ที่มีชุดความรู้ชัดเจน อธิบายถึงลักษณะนิสัยของคนที่ต่างกัน มันชวนให้เราสนใจใคร่รู้ว่า สำหรับตัวเราเองนั้นจะถูกจัดให้เข้าข่ายไหน ยิ่งไปกว่านั้นคือ จะได้รู้ด้วยว่าคนรัก เพื่อน หัวหน้า และสมาชิกในครอบครัว น่าจะเป็นคนแบบไหนกันบ้าง การเรียนรู้จึงมีความกระตือรือร้น ซักถาม และหลายครั้งก็เต็มไปด้วยความสนุกสนานขำๆ เมื่อได้รู้ว่าคนอื่นที่ดูจะคล้ายเรานั้น แท้จริงเขาอาจคิดหรือทำอะไรที่เกินความคาดหมายของเราได้มากเหลือเกิน

ในช่วงเวลาของการเรียนรู้ คนส่วนใหญ่จะดิ่งจมสนใจอยู่แต่ว่าตนเองเป็นคนประเภทไหน มีพื้นฐานลักษณะอะไร พร้อมไปกับเทียบเคียงถึงคนรู้จักใกล้ตัว ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน รวมทั้งยกตัวอย่างคำพูด หรือสถานการณ์ในอดีตขึ้นมาประกอบ เป็นช่วงเวลาที่เพลิดเพลินสนุกสนานกับการเรียนรู้ แต่ในทางกลับกัน มันอาจจะกลายเป็นช่วงแห่งความหลง จมลึกลงในหลุมพรางความเข้าใจที่เรามีต่อตัวเอง และเผลอไผลไหลไปตามร่องความคิดความเชื่อเดิมๆ ของเราโดยไม่รู้ตัว

กระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาจึงต้องกระตุ้นเตือนทุกคนอยู่ตลอดเวลา ให้ตระหนักถึงหลุมพรางและร่องซึ่งมีอยู่ภายในตัวเรา หาไม่แล้วการศึกษาเรื่องนพลักษณ์ และสัตว์ 4 ทิศ จะให้ผลลัพธ์ได้เพียงเท่ากับการดูดวงตามวันเกิด หรือตื้นเขินเพียงแค่ทำนายนิสัยง่ายๆ จากแบบสอบถาม คุณค่าแท้ของความรู้จะถูกละเลยมองข้าม เราจึงไม่เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะทึกทักเข้าใจไปเองว่า ชุดความรู้นี้แหละที่จะทำให้คนอื่นต้องพยายามเข้าใจและยอมรับเรา หรือมิเช่นนั้น ก็กลับพาลเสียใจว่าเป็นเพราะกำเนิดมาเป็นคนแบบนี้แล้ว ชะรอยคงจะต้องก้มหน้ายอมรับชะตา ไม่สามารถจะไปเป็นคนแบบอื่นอีกได้

การสังเกตและทบทวนตนเองเพื่อให้เห็นว่าเรานั้นเป็นคนลักษณ์ไหนใน 9 แบบของนพลักษณ์ หรือมีนิสัยแบบสัตว์ 4 ทิศอะไร คือการเปิดโอกาสให้เราได้เท่าทัน มองเห็นหลุมพรางและร่องของตัวเราเอง เสมือนได้ชิมลองการละวางอัตตาตัวตนลง หันกลับมามองตัวเองด้วยมุมมองใหม่ ไม่ใช่เพื่อให้ชื่นชมหรือสมเพช แต่ให้ได้พบว่าเรามีความสามารถที่จะเป็นได้มากกว่าเดิม และเป็นคนที่แตกต่างจากเดิม เพื่อให้ได้รู้ว่าอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวาง อะไรคือกิเลสครอบงำ ที่ทำให้เราไม่ได้เข้าถึงศักยภาพที่แท้ภายใน ศักยภาพที่เปิดความเป็นไปได้ของการเติบใหญ่ทางจิตวิญญาณ

ลำเพียงเนื้อหาอธิบายลักษณะของคน โดยไร้ความเข้าใจและไม่ได้ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งในตนเอง ย่อมไม่อาจทำให้เราเข้าถึงแก่นแท้ของการเรียนรู้ แค่จดจำรำลึกได้ถึงรูปแบบนิสัยและพฤติกรรมต่างๆ อาจเป็นได้แค่ทักษะวิธีการบริหารงานบุคคล ทั้งอาจเป็นเหตุผลข้ออ้างตามใจตน ใช้เพ่งโทษคนอื่น และแบ่งเขาแบ่งเรา

ความรู้จิตตปัญญาว่าด้วยคนต่างแบบ คือการเข้าถึงความรู้ที่อยู่ในตัวเรา ได้ให้เวลาพินิจพิจารณาสะท้อนตนเอง เห็นหลุมและร่องเก่าที่กักขังตัวเราไว้ ฝึกฝนสติเพื่อให้รู้เท่าทันใจ และได้พบศักยภาพที่เราจะเป็นได้มากกว่าเคย

สัญญาณสติ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2554

อุปกรณ์ตัวเอกชิ้นหนึ่งซึ่งมักพบในการจัดอบรมแนวจิตตปัญญาศึกษาอยู่เสมอ นั่นคือ ระฆัง สำหรับตีให้สัญญาณเสียง เพียงแต่ลักษณะรูปทรงของเขานั้นต่างจากระฆังที่เราเข้าใจกันทั่วไป ระฆังที่ว่านี้มีลักษณะคล้ายถ้วยใบเล็ก ทำจากโลหะ ขนาดพอวางบนฝ่ามือได้ มีไม้ตีประมาณเท่านิ้วนางไว้ใช้คู่กัน

ที่ว่าเป็นตัวเอกเพราะเขาได้รับความสนใจไม่มากก็น้อยในงานทุกครั้ง เพราะนอกจากรูปร่างทรวดทรงจะแปลกตา มีเสียงดังกังวานใส และสะท้อนก้องอยู่นานกว่าจะเงียบลงแล้ว เหล่ากระบวนกรยังชอบวางเขาเอาไว้ตรงหน้า ยิ่งทำให้ตกเป็นเป้าสายตาของทุกคนตลอดงาน หากมีหนไหนคราวใดที่ผู้นำกิจกรรมหรือกระบวนกรไม่ได้กล่าวแนะนำอุปกรณ์ชิ้นนี้ ก็มักมีผู้เข้าร่วมอบรมมาเลียบเคียงถามทุกทีไปว่า ไปซื้อหาเจ้าระฆังนี้มาจากไหน บางท่านต้องการมีประสบการณ์ตรงถึงกับเข้ามาขอลองตีระฆังเองเสียเลย

ยิ่งกระบวนกรอธิบายเล่าว่าระฆังนี้รอนแรมมาไกลจากญี่ปุ่น และใช่ว่าจะหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ต้องเป็นย่านศาสนสถานอันมีร้านรวงที่จำหน่ายของที่เกี่ยวข้อง ส่วนสนนราคาคิดเป็นบาทก็ร่วมหลักพัน ได้ยินอย่างนี้ผู้คนยิ่งตื่นตาตื่นใจ อยากได้เอาไว้จัดกระบวนการเองบ้าง

กระทั่งมีอยู่ครั้ง อาจารย์ท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นในการประชุมพบปะเครือข่ายของผู้สนใจนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในชั้นเรียนว่า อยากนำกิจกรรมหลายอย่างไปลองใช้ แต่ก็ยังไม่มั่นใจ เพราะแค่ระฆังก็ยังไม่มีเป็นของตัวเองเลย พวกเราในที่นั้นเข้าใจว่าเพื่อนอาจารย์คงเล่าแบบติดอารมณ์ขัน แต่มันสะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างอันเนื่องมาจากระฆังที่ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิด ดังเช่นกรณีที่ว่ามา ดูเหมือนว่าระฆังรูปลักษณะนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของจิตตปัญญาศึกษาไปเสียแล้ว หากว่าการเป็นสัญลักษณ์นี้ทำให้คนจดจำได้ก็น่ายินดี

แต่กลับจะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งถ้าอุปกรณ์นี้ได้ทำให้คนรับรู้จิตตปัญญาศึกษาเพียงแง่ภาพลักษณ์ในด้านเดียว เพราะเหตุที่กระบวนกรส่วนใหญ่เลือกใช้เขาในการจัดกระบวนการนั้น มิใช่แค่เพราะรูปลักษณะอันแตกต่าง และยิ่งมิใช่เพราะหายากต้องลำบากไปหอบข้ามน้ำข้ามทะเลมา

เหตุผลที่เลือกใช้ระฆังนี้คือ วิธีการใช้งานและการดูแลเขา เพราะมันเป็นวิธีการที่สนับสนุนให้เราได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเราเอง ฝึกให้เราพิถีพิถันใส่ใจกับสิ่งเล็กน้อย
ฝึกเราให้ละวางความฟุ้งซ่านและงานเร่งรีบตรงหน้า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นการฝึกตนตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาทั้งสิ้น

โดยลักษณะของระฆังที่ถือในมือและใช้มืออีกข้างจับไม้ตี อาจทำให้มองแค่นี้แล้วเข้าใจไปว่าคงเป็นของง่ายๆ แต่ถ้าได้ลองตีเองสักครั้งจะรู้เลยว่าไม่ธรรมดาฝ่ามือข้างที่ถือระฆังนั้นต้องผายออกกำลังดี ไม่มากไปไม่น้อยไป มือที่ถือไม้ตีต้องใช้แรงกำลังดี ไม่เบาจนเกิดเสียงจาง ไม่หนักจนดังระคายหู อีกทั้งเขาก็มีเนื้อโลหะที่ไม่ได้ทนทานต่อการกระแทก การจับวางต้องทำอย่างระมัดระวัง ทุกครั้งที่ตีระฆังจึงต้องใส่ความตั้งใจลงไปไม่น้อย ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มากจนเกร็ง เราต้องค่อยๆ วางเขาไว้ให้นิ่งและตั้งมั่น เลือกตำแหน่งและลงไม้ตีด้วยกำลังพอดี

การให้สัญญาณเช่นนี้จะทำไม่ได้เลย ถ้าผู้ตีระฆังอยู่ในภาวะลุกลี้ลุกลน เร่งรีบ ใจเหม่อลอยคิดเรื่องอื่น หรือคว้าเขามาแล้วหลับหูหลับตาตีแค่ให้เกิดเสียง เพราะสัญญาณเสียงอันกำเนิดจากการสั่นไหวในเนื้อระฆังนั้นสามารถสะท้อนถึงระดับความสงบนิ่งของใจผู้ตีออกมาอย่างชัดเจน ยิ่งใจนิ่ง เสียงสัญญาณยิ่งไพเราะ

ระฆังสำหรับงานอบรมอาจเป็นอุปกรณ์ธรรมดา ทำได้แค่ให้สัญญาณเสียง หรือเขาอาจจะโดดเด่นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของงาน แต่ถึงที่สุดแล้ว เราต้องไปพ้นจากรูปลักษณ์ และไม่หลงลืมสาระคุณค่าแท้ของเขา คือการเป็นเครื่องมือซึ่งเอื้อให้เกิดวิถีที่เข้ากันเป็นหนึ่งเดียวกับการเรียนรู้และฝึกฝนใจของตนเอง

ไม่มีถูก ไม่มีผิด



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2554

การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เป็น “เจ้าของการเรียนรู้”เป็นสิ่งสำคัญมาก มากยิ่งไปกว่าการเตรียมการสอนของอาจารย์ สื่อการเรียน หรือเทคนิคการถ่ายทอด โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเองดังเช่นจิตตปัญญาศึกษา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา ได้จัดการอบรมเรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิชาทักษะชีวิต สำหรับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1

บทเรียนที่กระบวนกรเปิดขึ้นเป็นสิ่งแรกจึงมิใช่เรื่องประวัติความเป็นมา หรือว่าหลักการพื้นฐานในการสื่อสาร เพราะนักศึกษาทั้งหลายคงคุ้นเคยกับการเรียนตามแบบแผนจนชินชา และคาดเดาในใจไปแล้วว่าต้องมาเรียนอะไรเพื่อเก็บชั่วโมงให้ได้คะแนนผ่านในวิชานี้บ้าง

ทันทีที่ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกันจากกิจกรรมสนุกสนานผ่อนคลายและได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันแล้ว กระบวนกรก็เริ่มแนะนำว่าในสองวันของการอบรมนี้เราจะเรียนกันอย่างไร แนวคิดสำคัญที่นำมาบอกเล่าเป็นลำดับแรกคือการแนะให้เห็นว่าแต่ละคนมีพื้นที่คุ้นชินที่มักทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นประจำโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ท้าทายที่เรามักจะหลีกเลี่ยงเพราะรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ปลอดภัย ไม่เคยทำ หรือไม่กล้าทำเพราะกลัวว่าจะผิดพลาด สองวันของการเรียนรู้นี้จึงชี้ชวนให้เราสังเกตตัวเอง และกล้าออกจากความเคยชิน มาลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ ไม่กล้าทำ เมื่อใดถูกถามขอให้สบายใจที่จะตอบอะไรก็ได้ “ไม่มีถูก ไม่มีผิด”

สิ่งที่ไม่ได้บอกก็คือ การเรียนตามรูปแบบที่พวกเราต้องพบเจอมาตั้งแต่สมัยประถม มัธยม จนอุดมศึกษานั่นแหละที่ทำให้เราคุ้นเคยและเฉยชาต่อการเรียน กลายมาเป็นพฤติกรรมและความเชื่อของเราว่าต้องท่องจำเนื้อหาและตอบให้ถูกต้องตามที่ถูกสอนมา ถ้าจำผิดหรือตอบพลาดก็อาจถูกตำหนิลงโทษได้

แต่สำหรับการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเองนั้นการเรียนโดยทำตามอย่างที่ตำราบอกนั้นไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจใหม่ เราจะได้แต่รู้จักและจดจำเนื้อหาสาระได้ ทว่าไม่อาจทำให้เราในฐานะผู้เรียนเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างความรู้กับชีวิตของเรา และลงท้ายก็ไม่ได้นำเอาไปใช้จริงในชีวิต

เรียนเพื่อจะจำให้ได้ถูกต้อง ก็ได้แค่รู้จำสาระเนื้อหาเข้าสมอง แต่ว่าความรู้ไม่ได้เข้าไปถึงใจ

สุนทรียสนทนาเป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่เราใช้เพื่อเข้าใจกันและกัน และเพื่อให้เท่าทันความคิดความเชื่อ เพียงการจดจำหลักการและวิธีการได้ แต่ไม่ได้เปิดใจรับสุนทรียสนทนาเข้ามาอยู่ในการใช้ชีวิตของตนเอง ก็เท่ากับว่าเป็นการเรียนรู้ตามคำบอกเล่า หาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้นี้เองไม่

เมื่อนักศึกษาพยาบาลกล้าที่จะบอกว่าตนเองคิดเห็นอย่างไรต่อกิจกรรม เลือกที่จะเผยว่าเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นในใจ ยอมรับว่าเห็นตนเองตกร่องความคิดความเชื่อ หรือเผลอด่วนตัดสินคำพูดของใคร สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้ที่เขาพาตัวเองออกไปสู่พื้นที่ท้าทาย จนทำให้เนื้อหานั้นเข้าสู่ใจ สัมพันธ์กับชีวิตตน จากเดิมเป็นความเสี่ยงว่าอาจจะตอบไม่ตรงใจผู้สอน กลายเป็นความสดใหม่ของการค้นพบบทเรียนในตัวของเขาเอง

ฉันจะไม่ด่วนตัดสินตอนฟังคนอื่น และจะฟังอย่างลึกซึ้ง มาอบรมคราวนี้ชอบมาก โดยเฉพาะที่บอกว่า จะตอบอะไรก็ได้ ไม่มีถูก ไม่มีผิด” นักศึกษาคนหนึ่งเขียนสะท้อนไว้ เปิดเผยให้เห็นว่าเธอได้ข้ามผ่านความกลัว และได้รับบทเรียนเฉพาะของตัวเอง ที่ไปพ้นกรอบการประเมินค่าคะแนน

เพราะเมื่อกลัวผิดก็เท่ากับปิดโอกาสการเรียนรู้ใจตน

ไพ่เสมอภาค



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน 2554

ทุกครั้งหลังการประชุม เมื่อถึงช่วงกิจกรรมเช็คเอาท์ให้ทุกคนกล่าวคำพูดอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก คำขอบคุณ หรือสะท้อนสิ่งที่อยู่ในห้วงคิดอยู่ในความคำนึง วิทยากรหรือกระบวนกร ก็มักบอกขอบคุณทีมสนับสนุนที่ช่วยเตรียมเอกสารการลงทะเบียนและอุปกรณ์ประกอบงาน พร้อมกันนั้นก็ชักชวนให้คนทำงานเบื้องหลังได้กล่าวด้วยเช่นกัน โดยมากมักคาดเดาได้ว่าเขาเหล่านั้นมักจะเอ่ยขอบคุณทุกคนอย่างสั้นและรวบรัด เจือด้วยความประหม่าตื่นเต้น และไม่ได้เผยอะไรออกมามากกว่านั้น

แต่การประชุมครั้งล่าสุด เจ้าหน้าที่หญิงทั้งสองคนทำให้ทุกคนทึ่ง เธอทั้งสองเช็คเอาท์ด้วยการบอกความรู้สึกว่าประทับใจต่องานและต่อทุกคนที่มาร่วมงานอย่างไรบ้าง เธอบอกขอบคุณผู้บริหารที่เปิดโอกาสให้ได้ทำงานสนับสนุนการประชุมที่มีประโยชน์เช่นนี้ เธอพูดทั้งน้ำตาว่าซาบซึ้งใจเพียงไรที่หัวหน้าได้ให้โอกาสและเชื่อมั่นเสมอมาว่าเธอจะดูแลจัดการงานนี้ได้

ช่างแตกต่างอย่างมากกับกว่าสิบครั้งที่ผ่านมา ทั้งคู่เช็คเอาท์สั้นๆ ทุกคนเห็นเพียงรอยยิ้มอายๆ ทำให้กระบวนกรเกิดสงสัยขึ้นในใจว่าอะไรนะเป็นสาเหตุให้เธอกล้า หรือจะเป็นเพราะว่างานประสานจัดการและธุรการ ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมในกระบวนการได้เต็มที่ ทำให้ไม่คุ้นเคยและวางใจมากพอ ต่อเมื่อเข้าร่วมมากครั้งจึงเปิดใจยิ่งขึ้น หรือจะเป็นเพราะผลจากกิจกรรมสุนทรียสนทนาในช่วงก่อนหน้าทำให้ทั้งคู่ผ่อนคลายและยอมเปิดเผยเสียงภายใน
ยังไม่ทันที่ความคิดวิเคราะห์ในใจของกระบวนกรจะได้ข้อสรุป พลันเรื่องราวก็ได้รับการเฉลยออกมาจากปากของทั้งคู่เองในท้ายของการเช็คเอาท์ เธอทั้งสองกล่าวเสริมกันและกันว่า

“ก่อนหน้านี้ที่เคยเข้าอบรม แล้วก็จัดงานมาหลายครั้ง ก็พอรู้และเข้าใจนะว่ามันดี เป็นงานที่ดี แต่ว่าทำยังไงก็ยังรู้สึกว่าห่างจากอาจารย์หลายคน รู้สึกว่าเป็นลูกน้อง ไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน แต่ครั้งนี้รู้สึกได้เลยว่ามันดีใจ มันซาบซึ้ง เราได้คุยและทำงานกับหัวหน้า กับอาจารย์ อย่างที่เราเท่ากัน ตั้งแต่ในตอนกลางคืนก่อนวันงานที่ได้ล้อมวงเล่นเกมไพ่ด้วยกัน”

ประโยคท้ายนี้นี่เองที่ทำให้ความสงสัยสลายไป บางครั้งเพียงลำพังมีกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ และรอคอยให้แต่ละคนพร้อม อาจยังไม่เพียงพอ หลายครั้งกระบวนกรเองก็ชะล่าใจ จะเป็นด้วยเพราะจัดกิจกรรมมามาก หรือคุ้นเคยกับการใช้งานศิลปะ ใช้สุนทรียสนทนา และใช้การภาวนา จนลืมเลือนไปว่ากิจกรรมผ่อนคลายเรียบง่ายธรรมดาก็สามารถมีความหมายต่อผู้คนได้ไม่น้อย

เกมไพ่ในคืนนั้นเป็นเกมสนุกสนานชวนขำขันเฮฮากัน ไม่ใช่วงไพ่พนันทั่วไป ฉะนั้น ทั้งผู้บริหาร อาจารย์และเจ้าหน้า หรือแม้แต่นักศึกษาที่ไปช่วยงาน ต่างก็ร่วมเล่นร่วมเชียร์อย่างออกรสสนุกสนาน มีการช่วยเหลือ มีแซวกระเซ้าเย้าแหย่ เป็นกิจกรรมที่เราไม่เคยคิดจะทำมาก่อน เพียงแค่มีเวลาว่าง และทุกสิ่งอย่างก็เตรียมการไว้หมดแล้ว

กระบวนการจิตตปัญญาอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองได้รู้จักการเข้าใจตัวเอง ได้รู้จักวิธีการสื่อสารด้วยใจ แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งคู่รับเอาจิตตปัญญาไว้พร้อมทั้งเปิดความเป็นได้ใหม่ออกมา กลับเป็นเพียงเกมไพ่ เกมสนุกสนานร่วมกันยามค่ำคืนที่ผ่อนคลาย สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้

เตือนให้กระบวนกรได้ตระหนักไว้เสมอว่า จะใช้กระบวนการกิจกรรมใด ทำซ้ำและรอคอยแค่ไหน เพียงอย่าได้มองข้ามสิ่งธรรมดาเล็กน้อยที่แม้จะไร้รูปแบบ ไม่มีหลักการหรือพิธีการ หากสำคัญที่เป็นสะพานเชื่อมถึงใจให้เราเปิดถึงกันและกัน

HBD



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2554

มาถึงยุคสมัยนี้ พวกเราไม่น้อยคงได้ใช้บริการเวบเครือข่ายทางสังคมอย่าง Facebook แทบทุกทีที่เปิดอินเทอร์เน็ต หลายคนอาจถึงขั้นเข้าถึงทุกที่ทุกเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือเสียด้วยซ้ำ เพราะว่ามันช่างมีหลากหลายข่าวคราวความเป็นไป และมีข้อความทักทายจากเพื่อนฝูงคนรู้จักอยู่เสมอ ยิ่งมีเพื่อนอยู่ในระบบเยอะก็ยิ่งมีอะไรให้ติดตามมาก

บนฐานความเชื่อของ Facebook ว่าผู้คนอยากจะใกล้ชิดและมีประเด็นได้สนทนาโต้ตอบกัน ระบบจึงอำนวยความสะดวกโดยมีข้อความเตือน (Notification) ไปแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่ามีใครเขียนความเห็นใหม่ต่อข้อความของเรา ภาพของเราและของใครถูกจัดแสดงเพิ่มไว้ เพื่อนของเราได้รับใครเป็นเพื่อนใหม่ คนไหนกำลังเล่นเกมอะไร รวมทั้งแจ้งว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของใครบ้าง

ดังนี้แล้ว ใครมีเพื่อนในระบบมากก็ยิ่งได้รับข้อความเตือนมาก เคยพบว่า บางคนถึงกับเขียนประกาศอุทาน “แม่เจ้า! วันนี้เป็นวันเกิดของเพื่อนตั้ง 12 คน” ในทำนองเดียวกัน บนกระดานข้อความวันเดียวกันนั้นของเจ้าของวันเกิด มักท่วมท้นล้นหลามไปด้วยข้อความอวยพรของเพื่อน โดยมากก็อวยพรกันสั้นๆ หยอกแซวกัน ส่วนใหญ่ใช้วลีสุดฮิตอย่าง สุขสันต์วันเกิด Happy Birthday หรือแค่ HBD เลยก็มี กลายเป็นกิจกรรมหน้าที่เพื่อนให้มาอวยพร ส่วนเจ้าของวันเกิดก็มากด like นัยว่ารับพรแล้วนะ

คนส่วนหนึ่งจึงพาลเลือกเพิกเฉยไปเลยกับข้อความเตือนวันเกิด เพราะไม่รู้จะอวยพรอะไรบ้าง และโดยเฉพาะระอาว่ามันมีให้อวยกันได้ทุกวัน

วาระวันคล้ายวันเกิดบนเครือข่ายทางสังคมค่อยๆ ถี่บ่อย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ เราต่างกำลังปล่อยให้โอกาสดีๆ ดังเช่นการอวยพรวันสำคัญนี้ กลายเป็นสิ่งฉาบฉวย ตื้นเขิน จนถึงขั้นน่ารำคาญ และไร้คุณค่าความหมาย แน่นอนว่าความสัมพันธ์ออนไลน์ผ่านหน้าจอย่อมเทียบเท่ามิได้กับการพบปะกันจริงๆ ได้สนทนากันต่อหน้า แต่ใช่ว่าเราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีมีคุณภาพไม่ได้ เพราะเราเองคือผู้กำหนดสร้างความลึกซึ้งและความหมายสำคัญขึ้นจากความง่ายนี้ได้ทุกเมื่อ

เห็นข้อความเตือนปรากฏมาเมื่อใด ขอให้เราลองใช้โอกาสนี้ค่อยๆ ทบทวนพินิจพิจารณา ขอให้เราตระหนักเสมอว่า วันคล้ายวันเกิดไม่เป็นเพียงแค่วันพิเศษของเจ้าตัว ยังเป็นวันสำคัญสำหรับที่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเขามาจนเติบใหญ่ด้วย บนเส้นทางแห่งการเติบโตที่นำพาให้เราได้พบพานและรู้จักกันนี้ มีเหตุการณ์สำคัญอะไรที่เราได้แบ่งปันช่วงชีวิตหนึ่งด้วยกัน บุคคลนั้นเคยให้ความทรงจำงดงาม หรือชักนำเราสู่ความเปลี่ยนแปลงใดในชีวิตบ้าง มีสิ่งใดที่เราชื่นชมนิยมในตัวเขาบ้าง

จากนั้นขอชวนให้อวยพรออกจากใจ จะเขียนข้อความไว้บนกระดานของเขา หรือส่งข้อความส่วนตัวให้หลังไมค์ ไม่เกี่ยวว่าเขียนสั้นหรือยาว ผู้รับย่อมรับรู้ได้ถึงความตั้งใจ และสัมผัสได้ถึงความรู้สึกดีที่เราสื่อถึงกัน

สาระสำคัญใช่ว่าอยู่ที่คำอวยพรสละสลวย ใช้ภาษาดี หรือต่อให้ผู้รับไม่เข้าใจทั้งหมด งงๆ เพราะไม่คุ้นเคย หรือเขาไม่ตอบกลับมาก็ตาม มันสำคัญที่ตัวเราในฐานะผู้อวยพร ได้ใช้เวลาคุณภาพกับคุณค่าของความสัมพันธ์ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลึกซึ้งกับความหมายของการมีชีวิตและการใช้ชีวิต

เพียงข้อความเตือนในหน้าจอ ย่อมเป็นได้ดั่งระฆังแห่งสติ ฉุกใจให้หวนกลับสู่การใคร่ครวญตัวเอง และเปิดใจให้สัมผัสถึงพลังแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสรรพชีวิตที่โอบอุ้มผูกพันกัน สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดวันนี้ ที่ให้เราได้ระลึกถึงคุณค่าความหมายของชีวิตได้ทุกๆ วัน

หมาป่า



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2554

หลังการประชุมถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศอึดอัดใจเรื่องการประเมิน เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งขอให้เราปิดท้ายประชุมนี้ด้วยกิจกรรมการเช็คเอาท์ โดยทั่วไปคือการบอกความรู้สึกสภาวะจิตใจ บอกสิ่งที่คิดอยู่ในหัว หรืออาจเล่ากลับออกไปแล้วยังมีภารกิจใดบ้าง แต่ครั้งนี้ ขอให้ทุกคนเช็คเอาท์เล่าเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อเริ่มเล่าสู่กัน พลังของเรื่องพลันเพิ่มความแช่มชื่นในวงสนทนาอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะเรื่องของเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเธอเลี้ยงสุนัขที่บ้านไว้หลายตัว เธอเล่าว่าในบรรดาน้องหมาทั้งหลาย มีตัวหนึ่งชื่อหมาป่า เป็นสุนัขพันธุ์ทางอายุมาก มันแก่ชราแล้ว เดินไม่ค่อยจะไหว อย่าว่าแต่เห่าเลย ยืนให้ตัวตั้งตรงไม่สั่นก็ยังยาก

หมาป่าอายุสิบกว่าปี เทียบกับคนก็ราวร้อยเศษ ทุกวันนี้มันได้แต่นอนนิ่ง มีลมหายใจรวยริน ไม่สามารถลุกขึ้นมากินน้ำกินอาหารได้อีกต่อไป ตามองไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน ระบบร่างกายทรุดโทรมเต็มที เธอเคยคิดว่า เมื่อไหร่มันจะตายไปเสียทีนะจะได้หมดเวรหมดกรรมกันไป

การดูแลหมาแก่และป่วยไม่ใช่ง่าย ไหนจะลักษณะงานของเธอผู้เป็นเจ้าของที่ต้องขับรถจากชานเมืองเข้ายังกลางกรุงแต่เช้า กว่าจะถึงบ้านยามค่ำก็ทั้งเหนื่อยทั้งล้า

เพื่อนในวงสนทนาบางคนเริ่มนึกถึงเรื่องทำนองเดียวกันที่อเมริกา เวลาสัตว์เลี้ยงป่วยหนักเกินเยียวยาหรืออายุขัยมาก เขามักใช้วิธีที่เรียกว่า Put to Sleep หรือฉีดยาให้ตาย นัยว่าเป็นวิธีการที่กรุณามากแล้ว เพราะมันจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดและสังขารที่ไปไม่รอด

เธอเล่าต่อไปว่า กิจกรรมการดูแลหมาป่าที่ต้องทำทุกวันนั้นได้แก่ ทำความสะอาดแผลกดทับ เพราะมันขยับตัวเองไม่ได้แล้ว ป้อนข้าวป้อนน้ำ เก็บเอาผ้ารองอุจจาระปัสสาวะไปทำความสะอาด ในวันแรกๆ ของภารกิจ เธอยอมรับว่าเคยคิดอยากให้มันตายไปเสียให้พ้น แต่เพิ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองที่เธอรู้สึกเปลี่ยนไป

แม้หมาป่าจะไม่สามารถมองเห็นและไม่ได้ยินเสียงใคร แต่ทุกครั้งที่เธอลงจากบ้านไปดูแลและสัมผัสตัวมัน เธอรู้ได้ว่ามันดีใจ พยายามตอบสนองเธอผ่านร่างกายที่สั่นไหว การดูแลเอาใจใส่ของเธออยู่ในการรับรู้ของมันเสมอมา แม้ว่ามันจะแสดงออกได้ไม่มาก

นอกจากนี้ ภารกิจการประคับประคองหมาป่ายังกลายเป็นงานที่ทุกคนในบ้านมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มใจ แม้แต่หลานชายหลานสาวตัวเล็กยังขันอาสาช่วยเอาผ้ารองอุจจาระไปซักทำความสะอาดทุกเย็น

จากที่ตื่นมาแล้วต้องถอนหายใจว่ามีภาระดูแลต้องทำก่อนรีบออกไปทำงาน ตอนนี้เธอตื่นขึ้นมาด้วยความดีใจว่าจะได้ไปดูแลหมาป่า แม้เป็นงานที่ไม่สะอาดไม่น่าดู แต่เธอสุขใจและเต็มไปด้วยความยินดีที่ได้กระทำ ไม่ว่ามันจะมีชีวิตอีกกี่วันก็ตาม

เรื่องของหมาป่าได้ทำให้เราหวนกลับไปทบทวนถึงความคิดของตนเอง จริงหรือไม่ ที่การทำ Put to Sleep เป็นความกรุณาที่มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของยื่นให้แก่สัตว์เลี้ยง ความต้องการที่จะหยุดยั้งความทุกข์ทรมานนั้น ใช่เป็นความทรมานของเขา หรือเรากำลังพยายามหยุดยั้งความทุกข์ของตัวเราเองกันหนอ เราให้ยาเพื่อเขาจะได้หลับไปและตายพ้นจากความทรมานทางกาย หรือใช้ยากับเขาเพื่อดับความทุกข์ความอึดอัดที่ต้องมีภาระดูแล ให้พ้นไปออกจากใจเรา

กว่าจะถึงวันที่หมาป่าจากไป เราต่างมั่นใจว่านี่แหละจะเป็นช่วงเวลาที่มอบบทเรียนเล็กๆ อันยิ่งใหญ่ให้แก่ทุกคนในบ้าน บทเรียนว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย บทเรียนการโอบรับความทุกข์ทางกายที่ไม่ทรมานใจนี้ไว้ร่วมกัน

อัศจรรย์ของการฟัง



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2554

ไม่ว่าเป็นการประชุมหรืออบรมของชาวไทย เกือบทุกงานมักพบเห็นลักษณะคล้ายกันประการหนึ่งในผู้เข้าร่วม นั่นคือการนิ่งเฉยไม่ตอบคำถาม ไม่พยายามแสดงความคิดเห็น

หลังจากทำสำรวจเองอย่างง่ายมานานหลายปี พบว่าสาเหตุเบื้องหลังของอาการนี้ คือความเชื่อฝังหัวว่า การพูดที่ดีต้องมีสาระแม่นยำถูกต้อง หรือมีเทคนิคการเล่าเรื่องดี จึงจะมีผู้สนใจฟัง หาไม่แล้วคนก็จะเมินเฉย ยิ่งกว่านั้นอาจดูแคลนผู้พูดเอาได้ว่า นำเสนอไม่น่าสนใจ ไม่มีความรู้

ผู้เข้าร่วมจำพวกที่กล้าพูดต่อหน้าสายตาหลายสิบหลายร้อยคู่ จึงมักเป็นผู้มั่นใจในเรื่องเล่า สาระ หรือทักษะการพูดของตนเอง ที่เหลือนั้นถ้าไม่ถูกคะยั้นคะยอให้พูด หรือไม่ถึงคิวตามลำดับต้องแสดงความเห็น ก็จะนิ่งเฉย

ความเชื่อว่า ต้องพูดให้ดีจึงจะมีคนฟังจึงกลายเป็นอุปสรรค ทำให้เราพลาดโอกาสสื่อสารเรื่องราวและความรู้สึกอีกมากมายในใจ

สิ่งสำคัญที่เราลืมไปยิ่งกว่าการพูด คือคุณภาพของการฟัง เป็นคุณภาพที่เปี่ยมไปด้วยการอดทนรอคอย เปิดรับ ไม่ด่วนตัดสิน และกระตุ้นให้กำลังใจ

ในการฝึกปฏิบัติอย่างหนึ่งตามแนวทางจิตตปัญญา เราให้ผู้เข้าร่วมสองคนผลัดกันเล่าเรื่องของตนให้อีกฝ่ายฟัง ต่างมีเวลาเล่าคนละ 5 นาที ระหว่างนั้นฝ่ายคนฟังจะไม่แทรกคำ ไม่ขัดจังหวะถามกลางครัน ในตอนท้ายมักได้พบความแตกต่างมากมายในผู้เข้าร่วมแต่ละคู่ซึ่งมีพฤติกรรมต่างกัน คู่ที่อดทนตามกติกาไม่ได้ก็ยอมรับว่ารู้สึกอึดอัดจนหยุดเล่า ต่างคนต่างหันไปมองทางอื่น บางคู่ก็พูดคุยได้จนจบเวลาแต่ก็ด้วยพลั้งเผลอเป็นการสนทนาพูดโต้ตอบกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ บรรดาคู่ที่ฝ่ายเล่าเรื่องมาเผยในภายหลังว่าไม่ได้เตรียมไว้ว่าจะเล่าได้มากมายขนาดนั้น บ้างว่ารู้สึกถูกดึงดูดให้อยากถ่ายทอดออกมา บ้างเล่าทั้งเรื่องทั้งสีหน้าและท่าทาง ทั้งหมดนี้มีจุดร่วมเดียวกันคือ ได้คู่ผู้ฟังที่สบตา ส่งสายตาให้กำลังใจ มีสีหน้าที่เกาะติด และตลอดเวลาที่ฟังยังไม่หันหน้าเบนสายตาหนีไปที่อื่น แม้ว่าไม่ได้เอ่ยอะไรออกมาก็ตาม

หลายคนในกลุ่มนี้ยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่คนพูดเก่ง เล่าเรื่องไม่ดี ไม่มีทักษะการนำเสนอ แต่เขาเผยเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้อย่างต่อเนื่องและน่าสนใจ ใช่ว่าจู่ๆ เขาจะกล้า หรือว่ามีทักษะขึ้นมากะทันหัน เรื่องเล่าดีๆ ที่เกิดขึ้นมาได้ นั่นเพราะว่าอีกฝ่ายให้การฟังที่มีคุณภาพ

ความเชื่อว่าต้องพูดให้ดีจึงจะมีคนฟัง นอกจากจะกดดันทำให้เราไม่กล้า ขาดความมั่นใจ ยังมีผลให้เราด่วนประเมินตัดสินเมื่อเราได้ฟังคนอื่นเขาพูดไปโดยปริยาย มันทำให้เราไม่ค่อยอดทนรอคอยให้เขาพูดจนจบ ถ้าไม่ละความสนใจไปก่อน ก็ชิงตัดบทกลับเป็นฝ่ายพูดเสียเอง หรือไม่เช่นนั้นก็สิ้นความสนใจในการสนทนาเพราะคิดว่ารู้เรื่องที่จะเล่ามาทั้งหมดแล้ว

คุณภาพของการฟังนั้นไม่ได้เป็นเพียงความสามารถในการจับประเด็นใจความสำคัญ หรือจดจำเนื้อหาสาระได้ละเอียดครบถ้วน แต่เป็นคุณภาพของการเปิดรับปัจจุบันขณะตรงหน้า เปิดกว้างเปิดรับและรอคอยอย่างไม่เป็นทุกข์อึดอัด ไม่ด่วนตัดสินตีค่าประเมินราคา วางใจในความคิดความเห็นที่แตกต่าง และมอบความเมตตาให้กำลังใจกัน

ด้วยคุณภาพนี้ การฟังจึงเป็นวิหารธรรมสำหรับเรา ให้ฝึกฝนการมีสติรู้เนื้อรู้ตัวได้ ทั้งยังเป็นคุณภาพเดียวกันกับหลักการของการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ในแนวคิดสุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นสิ่งล้ำค่าที่เรามอบให้แก่ตัวเองและคู่สนทนาได้ตลอดเวลา

งานดาษดาด



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม 2554
(ใช้ชื่อบทความในฉบับตีพิมพ์ว่า "มืออาชีพ")

หลายวันก่อนผมเดินผ่านย่านสยามสแควร์ในตอนสาย ที่หน้าโรงหนังลิโด ริมทางบาทวิถี มีกรอบป้ายใสไว้ใส่โปสเตอร์หนังที่กำลังเข้าฉาย พนักงานชายคนหนึ่งถือโปสเตอร์แผ่นใหญ่หลายชิ้นไว้ในมือ อีกมือก็ฉีกกระดาษกาว เปิดป้ายใส่โปสเตอร์ พร้อมทั้งกระดาษบอกเวลารอบฉายอีกหลายแผ่นเล็กๆ กลางแดดร้อน คนเดินพลุกพล่าน เขาทำงานนี้เพียงลำพังคนเดียว

ผมหยุดยืนอยู่ข้างๆ ตามความเคยชิน จะดูว่าสัปดาห์นี้มีหนังใหม่เรื่องไหนเข้าฉายบ้าง แต่กริยาท่าทางของพนักงานคนนี้ทำให้ผมหันเหความสนใจจากโปสเตอร์ไปสังเกตเขาแทน สิ่งที่ผมสนใจไม่ใช่อากัปกิริยาการทำงานด้วยความชำนาญ หรือเทคนิคการยึดกระดาษให้เข้าที่โดยไม่ต้องมีใครช่วย หรือวิธีการเตรียมแผ่นต่อไปอย่างไรไม่ให้กองแผ่ที่พื้นจนคนสัญจรไปมาพลั้งย่ำเอาได้

ผมสนใจที่เขาไม่รีบร้อนทำงานแปะโปสเตอร์ให้แล้วเสร็จกันไป ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ช้าจนกินเวลาเกินจำเป็น เขาพยายามทาบกระดาษลงไปให้พอดี แล้วเห็นมุมไหนเอียง ส่วนไหนไม่เรียบ เขาก็ค่อยดึงออกมาทาบ และติดกลับเข้าไปใหม่

ที่สำคัญคือเขาไม่มีสีหน้าหงุดหงิดรำคาญแต่อย่างใด แม้ว่าใบหน้าจะไม่ได้ระบายยิ้ม แต่ก็ตั้งใจและใส่ใจกับงานเล็กๆ ตรงหน้ามาก ทำให้นึกถึงการฝึกอบรมครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องว่าด้วยกระดาษฟลิปชาร์ทที่เราใช้เขียนสรุปและสะท้อนบทเรียนในแต่ละช่วงของการฝึกอบรม และทีมผู้ช่วยกระบวนกรจะนำไปกระดาษติดไว้บนฝาผนังของห้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมาอ่านและจดบันทึกเองในภายหลังได้

การอบรมครั้งนั้น ผู้ช่วยสองคนรีบคว้าเอากระดาษไปติด ในจังหวะที่ผู้เข้าร่วมอบรมไปพักดื่มกาแฟ ทั้งคู่รีบติดโดยใช้เวลาน้อยมาก กระดาษแผ่นใหญ่ห้าหกแผ่นถูกติดไว้รอบห้องในเวลาไม่กี่นาที แต่หลังจากเริ่มการอบรมช่วงต่อไปในอีกไม่ทันข้ามวันเช่นกัน กระดาษทั้งหลายก็ค่อยๆ ทยอยหลุดลงมา ต้องหมั่นไปติดไปปะเพิ่ม บางแผ่นอาการหนักถึงขั้นต้องรื้อออกมาติดใหม่ เพราะใช่ว่าของเดิมก่อนหลุดออกมาจะสวยงาม จะได้แนวตรง และเรียบตึงหรือก็เปล่า มันทั้งเอียงทั้งย่น

กระบวนกรจึงต้องบอกผู้ช่วยในฐานะกัลยาณมิตรผู้พี่ตักเตือนผู้น้อง ชี้ให้เขาเห็นว่าประเด็นที่คุยกันนี้ไม่ใช่เรื่องการทำงานให้สมบูรณ์แบบ รวมทั้งไม่ได้ตำหนิเพราะทำงานผิดพลาด การติดกระดาษนี้เองคือการทำงานเพื่อการฝึกฝนตัวเราเอง บนเส้นทางจิตตปัญญา ฝึกอยู่กับปัจจุบันขณะตรงหน้าอย่างชื่นชมยินดี โดยใส่ใจและประณีตในภารกิจการงานที่กระทำ

หากหลงคิดหลงเชื่อไปว่างานที่ทำนี้ไม่สลักสำคัญ เป็นงานยิบย่อยรายทาง ยิ่งทำให้พาใจออกห่าง ไม่เอาใจใส่ ขณะเดียวกันต้องไม่หลงไปทำอย่างเพลินจนกินเวลาเกินพอดี ติดกระดาษบนฝาผนังก็เป็นงานอันมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันกับการฝึกอบรมทั้งหลักสูตร งานเล็กงานน้อยในการอบรมต่างเป็นงานเพื่อการรู้จักรู้ใจตนได้ทั้งสิ้น จะงานติดกระดาษ แจกปากกา หรือส่งไมค์ ล้วนเป็นงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสอนการบรรยาย

ในจิตตปัญญาศึกษานั้น ทีมงานต้องไม่เพียงแค่พูดให้ผู้เข้าร่วมเขาฟัง และไม่เพียงแค่นำกิจกรรมให้เขาทำเท่านั้น แต่ต้องให้เขาได้เรียนรู้จิตตปัญญาจากการทำให้เขาดู และเป็นให้เขาเห็น ทั้งในบทบาทการเป็นผู้บรรยายความรู้ และงานสนับสนุนทุกอย่าง แม้กระทั่งการติดกระดาษ

ภารกิจการงานที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพราะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า หรือได้รับผลตอบแทนมากกว่า ทุกงานย่อมเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เมื่อได้รับความทุ่มเทเอาใจใส่ของเรา งานใดๆ ย่อมเป็นงานที่มีความหมายเมื่อเราให้คุณค่าความสำคัญของสิ่งที่เราลงมือทำ

ล้างจาน



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2554

ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “ล้างจานเพื่อล้างจาน” ในงานภาวนาของสังฆะหมู่บ้านพลัมเมื่อ 7 ปีก่อน ผมยังเกิดความสงสัยขึ้นเล็กน้อยในใจว่าการล้างจานก็ทำไปเพื่อจะได้ทำให้จานสะอาดน่ะสิ การบอกว่าล้างจานเพื่อล้างจานดูจะไม่เป็นกำปั้นทุบดินไปหน่อยหรือ

หลังจากได้รับคำอธิบายจึงได้เข้าใจมากขึ้นว่า การปฏิบัติตามแนวทางของหมู่บ้านพลัมนี้มีความลึกซึ้งในความเรียบง่ายธรรมดาอยู่มาก และสามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ไม่ยากเลย

อีกทั้งในระหว่างใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในกิจกรรมการภาวนานี้ แต่ละคนที่มาเข้าร่วมทุกเพศทุกวัยก็ดูจะใส่ใจกับการล้างจานเป็นอย่างดี รับประทานเสร็จก็ทะยอยยกจานกันไป ของใครของมัน เวลาล้างก็ค่อยๆ ล้าง ไม่รีบร้อน แทบไม่ได้ยินว่ามีเสียงพูดคุยกันในระหว่างล้างจาน เป็นภาพที่น่าชื่นชม และเชิญชวนให้ไปทำเองที่บ้านมาก

ครั้นกลับมาก็พบว่าไม่ง่าย ด้วยความที่บรรยากาศในสถานที่ภาวนา และผู้คนที่เป็นกัลยาณมิตรแวดล้อมนั้น ช่างเอื้ออำนวยให้เรามีใจจดจ่ออยู่กับงานปัจจุบันมาก ถึงคราวที่ต้องล้างจานก็เต็มที่กับภารกิจตรงหน้า ส่วนสถานการณ์ที่บ้านกลายเป็นอีกอย่าง หลายครั้งงานล้างจานเป็นภารกิจรีบด่วน ต้องรีบทำให้เสร็จ จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น หรือไม่ก็ล้างไปเบื่อไป อยากไปดูหนังฟังเพลงที่มันสนุกและผ่อนคลายกว่า บางครั้งตัวก็ยืนอยู่หน้าอ่าง มือก็ถือจาน ยังพบว่าใจกำลังลอยไป ปล่อยใจเพลิดเพลินกับการนึกถึงเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ที

ช่วงค่ำได้มานั่งปฏิบัติภาวนาตามรูปแบบที่ทำเป็นประจำ จนเสร็จแล้วและกำลังผ่อนคลาย ทบทวนชีวิตตลอดทั้งวันดูถึงได้สังเกตเห็นว่า ประสบการณ์ที่มีในการภาวนาเทียบกับการล้างจานแล้วแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ระหว่างนั่งภาวนาก็มีทั้งเผลอคิด ใจลอย รู้สึกเมื่อย ซึ่งเป็นภาวะที่มีเกิดขึ้นในการล้างจานเหมือนกัน เพียงแต่ความมุ่งมั่นตั้งใจต่างกันเท่านั้น

ในการภาวนา ถ้ารู้ว่าเผลอหลุดคิดไปก็รีบกลับมาที่คำบริกรรม หรือตามลมหายใจ นั่นเพราะมีใจมุ่งมั่นศรัทธา เห็นว่าเป็นภารกิจสำคัญ แต่ในทางกลับกัน ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในใจเลยสำหรับงานบ้านธรรมดาสามัญดังเช่นการล้างจาน มิน่าเล่า ทำไมเผลอใจในระหว่างล้างได้ง่ายดายและแทบไม่พยายามกลับมารู้เนื้อรู้ตัว

เช่นนี้แล้ว เพียงแค่เราเห็นความสำคัญและมีความมุ่งมั่นตั้งใจในภารกิจการงานใดๆ การงานนั้นก็ย่อมเป็นการปฏิบัติภาวนาให้เราเห็นสภาวะความเป็นไปของใจได้เช่นเดียวกัน

ล้างจานเพื่อล้างจานจึงเป็นให้สติมาจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ เป็นการดึงใจได้อยู่ในปัจจุบันกับกิจกรรมตรงหน้า หาใช่แค่งานบ้านที่ไม่ความสลักสำคัญ

การได้เผชิญโจทย์ว่าทำอย่างไรให้การล้างจานได้เป็นการเจริญสติ ยังเป็นความท้าทายสำหรับคนอีกกลุ่มที่เห็นการล้างจานเป็นความเพลินจนใช้เวลามากเกินไป ทำอย่างไรจะตั้งอยู่ในความพอดี

แนวทางของหมู่บ้านพลัมสอนว่า เราจงถือเอาการล้างจานเสมือนหนึ่งการขัดถูทำความสะอาดหิ้งพระและแท่นบูชา ล้างจานแต่ละใบในมือประหนึ่งกำลังทำความสะอาดให้องค์พระพุทธ ด้วยเจตนานี้เอง ทำให้เราทำงานบ้านด้วยความศรัทธาและตั้งใจ เห็นความหมายและคุณค่าแห่งการฝึกตนอยู่ในงาน

กิจกรรมทุกประการในชีวิตประจำวันจึงสามารถให้บทเรียนและฝึกให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ ใช่เพียงแต่การปฏิบัติภาวนาตามรูปแบบเท่านั้น ล้างจานได้ก็ย่อมล้างใจได้ ชีวิตที่มีงานสารพัดสารพันแต่ละวันก็ย่อมสามารถเป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นชีวิตที่ฝึกฝนให้เท่าทันใจได้เช่นกัน

ก่อนเริ่มประชุม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2554

กิจกรรมการเช็คอิน มีกระบวนการทั้งเรียบง่าย และใช้เวลาเพียงสั้นๆ ก่อนเริ่มการประชุม ให้แต่ละคนได้บอกเล่าสภาวะความเป็นไป จะสุขภาพร่างกาย ใจ หรือแบ่งปันเรื่องราวเหตุการณ์ที่ได้พบมา ส่วนผู้ฟังก็เปิดใจให้พร้อมรับกับการประชุมต่อไป

ในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเริ่มกิจกรรมเช็คอินดังที่ทำมาเป็นประจำ มีเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งมีเรื่องคาใจ จึงขอแบ่งปันเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ เมื่อเช้า

เธอเล่าว่าวันนี้ ตอนทำกิจธุระส่วนตัวในห้องน้ำของมหาวิทยาลัย มีคนกดก๊อกน้ำที่อ่างเพื่อล้างมือ แต่พอคนนั้นเดินออกไป น้ำไม่ยอมหยุดไหล เธอเห็นว่าก๊อกน้ำคงจะค้างแน่ จึงดึงมันขึ้นมาเพื่อให้น้ำหยุด

หลังจากนั้นเธอก็เริ่มแปรงฟัน และเห็นนักศึกษาสาวคนหนึ่งกำลังหวีผมแต่งหน้าอยู่ถัดไปทางขวามือ ระหว่างนี้ก็มีคนออกมาจากห้องสุขาแล้วเดินมากดก๊อกน้ำตัวเดิมอีกซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเธอกับนักศึกษา รายที่สองนี้ก็เดินจากไปโดยไม่รู้ว่าก๊อกมันค้าง และน้ำก็ไหลไม่หยุด เธอหันไปชำเลืองมองนักศึกษาหญิงคนนั้น เมื่อไม่เห็นว่าจะมีทีท่าเอื้อมมือมาดึงก๊อกปิดน้ำ เธอก็หยุดแปรงฟันแล้วหันไปดึงก๊อกเป็นครั้งที่สอง

จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่เธอเข้าไปทำธุระในห้องสุขา และได้ยินเสียงกดก๊อกน้ำแล้วน้ำก็ไหลไม่หยุด กระทั่งเธอเสร็จธุระออกมาก็พบว่าถัดจากก๊อกเจ้าปัญหานี้ นักศึกษาหญิงคนเดิมยังยืนส่องกระจกหวีผมแต่งหน้า ไม่มีทีท่าใดๆ ต่อน้ำที่ไหลทิ้ง

ท้ายที่สุด เธอจึงปิดก๊อกนั้นเองเป็นครั้งที่สาม หันไปมองนักศึกษา พร้อมกับเกิดสารพัดความรู้สึกขึ้นมาในใจ เล่าถึงตรงนี้ เธอยอมรับว่าเห็นอารมณ์ความรู้สึกมากมายของตน ทั้งไม่พอใจ ผิดหวัง ขัดใจ ว่าทำไมนะ ก๊อกก็อยู่แค่ตรงนี้ใกล้ๆ จะช่วยกันดูแลประหยัดน้ำให้ไม่ได้เชียวหรือ

การเช็คอินครั้งนี้บอกอะไรหลายอย่าง เราไม่เร่งด่วนตัดสิน หาไม่แล้วอาจมีคุยกันต่อยืดยาว ซักกันว่าทำไมไม่อบรมต่อว่านักศึกษา หรือไม่ก็พร่ำบ่นว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปทำให้จิตสำนึกคนเปลี่ยนแปลง แต่เพราะว่าหัวใจสำคัญของกิจกรรมคือการได้ฟังเพื่อนบอกเล่า เพื่อให้เขาได้ผ่อนคลายและพร้อมสำหรับการประชุม ไม่ใช่เปิดบทสนทนาใหม่ด้วยการไปวิพากษ์วิจารณ์กัน

สิ่งสำคัญอีกอย่าง นั่นคือความสามารถที่จะสังเกตเห็นและเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก เพื่อนอาจารย์คนนี้เธออาจโกรธและต่อว่านักศึกษา จนบานปลายกลายเป็นการทะเลาะในห้องน้ำก็ได้ แต่สิ่งที่เธอเลือกทำ คือพยายามเท่าทันความหวั่นไหวที่เกิดขึ้นในใจตัวเองก่อน แล้ววางใจ วางเอาไว้ไม่ถือไม่แบกให้ขุ่นข้องไปจนตลอดวัน

วางใจที่ว่านี้ยังไม่ใช่แค่อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างใน แต่ยังวางใจ ไม่ด่วนปล่อยใจไปลงมือกระทำสิ่งง่ายๆ ด้วยการตัดสินนักศึกษาว่าเป็นคนอย่างไร น่าตำหนิติเตียนแค่ไหน เพราะเธอไม่สามารถรู้และเข้าใจได้ทั้งหมดว่านักศึกษาได้พบเจอเหตุอะไรมาบ้างก่อนหน้านั้น หรือสภาวะในใจเขาเป็นอย่างไร พร้อมกันกับที่วางใจ เธอก็ไม่นิ่งเฉยดูดาย อะไรที่เป็นเรื่องไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้ก็ลงมือทำ

เพื่อนอาจารย์บอกเราผ่านการเช็คอินของเธอว่า การวางใจคือการละวางไม่ถือเอาเรื่องราวไว้ให้ทุกข์ใจ วางใจว่าไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่วางเฉยดูดาย เห็นว่าธุระหน้าที่ไม่ใช่ เรากระทำสิ่งที่ดีที่สมควรได้ โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยใจให้ขุ่นมัว

เท่าทันที่หวั่นไหว



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 2554

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นวันเลือกตั้งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างเข้มข้นระหว่างพรรคการเมือง และไม่ใช่เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิ์มากเป็นประวัติการณ์ สิ่งที่น่าสนใจคือกระแสข่าวสารจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพียงแต่มิใช่ข่าวการเมืองทั่วไปที่พบเห็นได้จากสื่อกระแสหลักในการเลือกตั้งมาทุกคราว

ทว่าในปีนี้ มีเสียงจากผู้คนหลายทัศนะและหลากความรู้สึก เป็นข่าวสารที่รายงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (social network) เปิดให้ทุกคนเล่าเรื่องที่พบเจอ แบ่งปันความเชื่อ เขียนวิจารณ์นโยบายทางการเมือง ไปจนถึงบอกความในใจของตนต่อสถานการณ์บ้านเมือง

อาจจะเป็นสิ่งดี ที่การเลือกตั้งในยุคสมัยปัจจุบันนี้ได้มีทางเลือกให้เรารับข่าวสารได้นอกเหนือไปจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ รวมทั้งยังเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ให้เราแต่ละคนเป็นผู้รายงานข่าวได้เอง แม้จะเข้าถึงคนในจำนวนไม่เทียบเท่าสื่อหลัก แต่ก็หลากทัศนะและมุมมองสุดแท้แต่ใครจะนำเสนออะไร

แต่ขณะเดียวกัน การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารจากคนหลากหลายก็ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เรายากจะวางใจ หากอ่านไปพบความเห็นที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วย ในใจก็อยากจะโต้แย้ง เกิดความชิงชังขึ้นมา ยิ่งถ้าไปอ่านความเห็นจากเพื่อนหรือคนรู้จักกันแล้วเขาเห็นต่างจากเรามาก มักยิ่งผิดหวัง ไม่พอใจ พลอยไม่อยากเสวนา ไปจนถึงทะเลาะทุ่มเถียงกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีอยู่มาก ในแง่นี้ความต่างยิ่งทำให้เราห่างกัน และขีดเส้นแบ่งคั่นกันเป็นคนละขั้ว ถ้าไม่เห็นด้วยเท่ากับหมายความว่ายืนอยู่ฝ่ายตรงข้าม

ยิ่งได้รับข่าวเยอะ ยิ่งรู้ข้อมูลมาก เท่าทันเหตุการณ์ความเป็นไป แต่ไม่สามารถเท่าทันจิตใจได้เลย

ยากไปยิ่งกว่าการเท่าทันใจเราที่โกรธเกลียดจากเรื่องราวที่เราเห็นต่าง นั่นคือข่าวสารความเห็นที่ถูกอกถูกใจเรา เมื่อเห็นด้วยมากก็ชอบมาก ติดตามอ่านมาก นอกจากจะไม่เห็นมุมมองในด้านอื่นแล้ว ยังยากจะเท่าทันได้ว่าหลงไปแล้ว เผลอไปแล้ว

เริ่มตั้งแต่บ่าย ไปจนคืนของวันที่ ๓ กรกฎาคม ในสื่อสังคมออนไลน์จึงเต็มไปสีสันจัดจ้านของอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่หน้าจอโทรทัศน์กำลังรายงานจำนวนตัวเลขคะแนน บนหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้างก็ระบายความโกรธแค้น บ้างก็ผิดหวังเศร้าเสียใจ บ้างก็เย้ยเยาะอย่างสะใจ บ้างก็เสียดสีใส่กัน เป็นข่าวสารความเป็นไปของผู้คนจริง

แทบทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์ของผู้ถูกกระทำ แทบไม่มีใครเลยที่ถอยพ้นออกมาเห็น และเท่าทันได้ว่าใจกำลังหวั่นไหวไปกับเรื่องราวของการเลือกตั้ง และการเลือกข้าง

ระหว่างที่สื่อออนไลน์จะกลายเป็นสนามสงครามอารมณ์นั้น ท่ามกลางความเห็นนับร้อยนับพัน อันอาจจะทำให้ไหลไปกับหลากอารมณ์ตื่นเต้นสมใจ ผิดหวังเศร้าโศก ก็ยังมีความเห็นหนึ่งที่ชวนให้ฉุกคิด และสะกิดใจขึ้นมาได้

“ใครมั่นใจฝีมือภาวนาของตัวเอง ก็เช็คสติกันวันนี้ได้ ดีใจออกนอกหน้า เซ็งเป็ด จิตตก สะใจ จิตตอนนี้สภาวะไหนบ้าง ดูแลใจด้วยนะคะ เปลี่ยนโลกได้ที่ใจเรา”

ข้อความ สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้ แต่กระตุกให้หันกลับมามองใจตัวเราเอง หลังจากที่จมดิ่งไปกับข้อมูลข่าวสารความเห็นจำนวนมหาศาล หลังจากเสพเก็บเรื่องราว ซึมซับรับอารมณ์ และวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง แต่ในระหว่างนั้น ไม่ทันได้หันมาเห็น และเท่าทันความสั่นไหวข้างใน ที่มันสะเทือนให้โลกภายนอกสั่นคลอน

เมื่อหวั่นไหวใจก็หลุดไปจากภาวะสงบผ่อนคลาย เมื่อรู้เท่าทันย่อมกลับมาสู่สมดุล วางใจและยอมรับความเป็นไปของใจและของโลกได้

การเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ อาจจะเป็นการเลือกตั้งธรรมดาทั่วไปที่มีทั้งคนที่สุขสมหวัง มีทั้งคนที่เสียใจ อาจเป็นการเลือกตั้งเหมือนครั้งก่อนหน้าที่อะไรๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจ หรือสาแก่ใจที่ได้เห็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายตรงข้าม แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความหมายความสำคัญมากขึ้นไปกว่าเดิมอีกมาก เมื่อเราสังเกตการณ์เรื่องราวภายนอกที่ดำเนินไป พร้อมกับสังเกตการณ์จิตใจที่ถูกกระทบและหวั่นไหวไปกับข่าวสาร

เป็นโอกาสของการเลือกครั้งสำคัญ เลือกที่จะตั้งสติ และใช้ชีวิตอยู่อย่างเท่าทันความหวั่นไหว

ท่ามกลางกระแสธารของข่าวสารที่เชี่ยวกราก กระชากให้เราตื่นเต้นหรือเสียใจ ทำให้หลุดไปจากเส้นทางแห่งความสงบและความมั่นคงภายในได้โดยง่าย การกลับมาสู่ภาวะที่วางใจและเห็นเท่าทันโลกที่ดำเนินเช่นนั้นไป อาจต้องอาศัยเครื่องเตือนใจเช่นความเห็นเล็กๆ นี้ ขอบคุณกัลยาณมิตรในสื่อออนไลน์ ที่ทำให้วันเลือกตั้งได้เป็นวันน่าสนใจเป็นพิเศษ

คอเดียวกัน



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2554

เมื่อแรกในการอบรมเรื่องการเรียนรู้แนวจิตตปัญญา พวกเราเหล่ากระบวนกรมักปรารถนาให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักและเห็นภาพทั้งหมดของกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดโมเดลจิตตปัญญาพฤกษา เพราะเราเชื่อว่าด้วยความรู้ที่ผ่านการวิจัยศึกษามาอย่างต่อเนื่องในเวลาสองปีกว่า ทั้งการสังเคราะห์ความรู้จากงานสำรวจข้อมูลออกสู่โมเดลอธิบายกระบวนการ กระทั่งได้นำโมเดลไปประยุกต์ทดลองใช้ในชั้นเรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล น่าจะเกิดประโยชน์และช่วยให้เขานำไปใช้เองได้

ในช่วงหลังมานี้เราเริ่มปล่อยวางความปรารถนาที่มักจะล้นเกินจนเป็นความคาดหวังนี้ลง เราพบว่าไม่ใช่ทุกครั้งของการอบรมที่องค์ความรู้อันครบถ้วนและเข้มข้น จะสามารถเป็นคำตอบต่อวาระความสนใจและจะนำไปใช้ในชีวิตการงานของเขาได้

แทนที่จะให้เวลาอย่างมากกับเรื่องความรู้ ทักษะ และการประยุกต์ใช้ เราก็ปรับมาใช้เวลาเหมาะสมกับความสนใจอันหลากหลายของผู้เข้าร่วม แต่เน้นไปยังสิ่งที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเขาในระยะยาวภายหลังการอบรม นั่นคือการมีคนคอเดียวกันไว้สนทนา แบ่งปันเรื่องราวที่พบ บอกเล่าปัญหายากที่ตนต้องเผชิญ เป็นกลุ่มสนับสนุนกันที่อาจใช้เรียกหาในคำอื่นได้ อาทิ ชมรม ชุมชนนักปฏิบัติ หรือสังฆะ

หลังการอบรมจำนวนมากหลายครั้ง ผู้เข้าร่วมมีลักษณะไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือในช่วงเรียนรู้ด้วยกันนั้น ต่างพบว่าทำให้ได้รู้จักเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อน และเห็นความเป็นไปได้มาก ทั้งยังมีความมุ่งมั่นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย แต่แล้วหลังจากนี้ไม่กี่วันหรือสัปดาห์ ดูเหมือนทุกคนล้วนเห็นพ้องว่าทุกอย่างกลับไปสู่สภาพคล้ายเดิมก่อนหน้าการอบรม ความรู้และทักษะที่เคยได้กลับไม่ค่อยถูกนำมาใช้อีก บ้างจึงเห็นว่าการอบรมเป็นเพียงยารักษาระยะสั้น อาจให้ผลได้แก่บางคนที่มีความตั้งใจและสนใจอย่างจริงจังเท่านั้น

แต่ยังมีตัวอย่างอีกด้านหนึ่ง และเป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับหลายองค์กร เขาเหล่านี้ยังมีความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องหลังการอบรม อาทิ เกิดกลุ่มพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา หรือฝึกฝนการสะท้อนทบทวนตนเองด้วยการเขียนและศิลปะ กลุ่มคนคอเดียวกันเหล่านี้ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ทักษะความรู้และเรื่องราวอันประทับใจก็ไม่เลือนหายไปหลังการอบรม

เหตุที่องค์กรเหล่านี้ทำได้ มิได้เป็นเพียงลำพังคำสั่งและความเอาจริงของผู้นำผู้บริหารเท่านั้น เพราะยังมีภารกิจอีกมากมายให้องค์กรต้องดำเนินการ ทำให้การสานต่อจากการอบรมมักมิใช่เรื่องสำคัญลำดับแรก ไม่ช้าไม่นานผู้บริหารก็จำต้องปล่อยผ่านให้ความสำคัญกับภารกิจงานหลัก จริงอยู่ที่การสนับสนุนจากผู้นำมีนั้นผลมาก แต่การสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ตั้งใจและต่อเนื่องนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่านัก

การเรียนรู้แนวจิตตปัญญาก็เป็นเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นในชีวิต แม้จะมีคนสั่งให้ทำก็อาจทำได้แค่ตอนเริ่มต้น แม้เราจะตั้งใจแต่เราก็อาจหมดไฟและล้มเลิกมันไปได้ การสนับสนุนที่สำคัญและเป็นกำลังที่ช่วยเพิ่มพูนให้แก่กันได้อย่างมาก คือการมีเพื่อน มีคนคอเดียวกัน ตั้งต้นจากคนที่สนใจการพัฒนาตนเองจากด้านในเหมือนกัน ยิ่งเป็นเพื่อนร่วมงานในองค์กรเดียวกัน ยิ่งเพิ่มโอกาสการได้พบปะ ได้แลกเปลี่ยน และได้กำลังใจในการฝึกฝน ได้ค้นพบความท้าทายในแบบฝึกหัดการปฏิบัติตัวด้วยทักษะความรู้ที่เคยได้เรียนรู้ร่วมกันมา

จิตตปัญญาอาจเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องเฉพาะตนเอง ใครทำใครได้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เองคนเดียวโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร ยิ่งไม่ใช่เรื่องที่ไปสั่งการให้คนอื่นหันมาสนใจ หรือให้เอาไปปฏิบัติ เรื่องของจิตใจนี้เองต้องเกิดจากความสนใจและความตั้งใจอันเริ่มต้นจากตนเอง และเพิ่มพูนให้งอกเงย บ่มเพาะให้ต่อเนื่อง ด้วยความสนใจและความตั้งใจของเพื่อนผู้ร่วมเส้นทางเดียวกัน คนคอเดียวกันในการพัฒนาจิตใจจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวทักษะความรู้เลย

ในหมู่กระบวนกรจิตตปัญญาศึกษา เราเห็นพ้องกันว่า ด้วยงานอบรมเพียงลำพังไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่องค์กรและชีวิตใครได้ หากไร้การประกอบรวมกันของผู้คนที่มุ่งมั่นสนใจหลังการอบรม อาจมาพูดคุยแบ่งปัน ทำสุนทรียสนทนา ฝึกสื่อสารด้วยหัวใจ หรือทำกิจกรรมฝึกใดๆ ด้วยกัน ในช่วงบ่ายช่วงเย็นก็ได้ แค่ให้ต่อเนื่อง เป็นประจำสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงมากแล้ว

สิ่งสำคัญในจิตตปัญญาอาจไม่ได้อยู่แค่เข้าใจ หรือมองเห็นเป้าหมาย แต่อยู่ที่เราได้ช่วยกันสร้างทางไว้ และให้เราร่วมทางฝึกฝนไปด้วยกัน

สื่อสารด้วยใจ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2554

การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) เป็นเครื่องมือ หรือการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในแนวทางการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา ปัจจุบันเริ่มได้รับความสนใจและมีผู้ลงมือฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนไม่น้อย เราอาจเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างในช่วงเหตุการณ์วิกฤตความขัดแย้งของบ้านเมืองที่ปรากฏมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง จัดกิจกรรมอาสาเพื่อนรับฟัง เพื่อเปิดใจเข้าไปรับฟังความรู้สึกของทุกผู้คน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบหรือได้รับความสูญเสียในเหตุการณ์

ลำพังเพียงชื่อของเครื่องมือ ซึ่งมีคำว่าสันติ ผนวกไปกับคำว่าสื่อสาร อาจทำให้หลายคนรู้สึกแต่แรกได้ยินว่าคงไม่ใช่หนทางสำหรับตนเอง เครื่องมือนี้คงเน้นให้คนสื่อสารพูดจากันอย่างสงบ ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือเกลียดชังกัน พลอยทำให้พลาดโอกาสได้เข้าถึงความอัศจรรย์ไปอย่างน่าเสียดาย

ความอัศจรรย์ดังว่า มิได้อยู่ที่ตัวเครื่องมือวิธีการนี้ หากเป็นความอัศจรรย์ที่อยู่ในใจเรา จากการเข้าไปค้นพบ ยอมรับ และเข้าใจในความรู้สึก ความคาดหวัง คุณค่า และความต้องการของตัวเราเอง เสมือนได้สมบัติล้ำค่าที่เพิ่งพบว่ามันอยู่กับเราตลอดมา

การเรียนรู้เรื่องการสื่อสารตามแนวทางจิตตปัญญา หาได้ให้ความสำคัญแต่เฉพาะด้านพัฒนาทักษะ เราอาจคุ้นเคยว่า ฝึกการสื่อสารคือฝึกใช้ภาษา ฝึกการแสดงออก รู้จักและเลือกใช้ถ้อยคำ ทั้งหมดนี้แม้จะมาก หากยังไม่เพียงพอต่อการเข้าใจตนเอง หาไม่แล้วเราคงได้จำเพาะเทคนิควิธีการ แต่ไม่อาจผสมผสานกลมกลืนเข้าไปในชีวิต และไม่อาจเกิดประโยชน์ต่อการยกระดับจิตวิญญาณเราได้เลย

การเข้าใจในตนเองอย่างลึกซึ้งเป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันไปกับทักษะ เป็นสองด้านที่เกื้อกูลกัน เปรียบเช่นศิลปินที่เข้าใจในสุนทรียะ ย่อมไปได้ไกลกว่าแค่คนเล่นดนตรีเป็น เปรียบเหมือนแม่ครัวผู้ชำนาญ ย่อมปรุงอาหารได้หลากหลายและถึงรสกว่าแค่คนทำไปตามสูตร

การสื่อสารอย่างสันติเผยให้เราได้รู้ว่า เบื้องหน้าที่เรารับรู้กันคือพฤติกรรมที่แสดงออกนั้น ลึกลงไปแล้วเต็มไปด้วยความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลาย บางครั้งเราอาจตีความเข้าใจผู้อื่นคลาดเคลื่อนไปได้ เพราะเข้าใจผิดเพี้ยน ในการอบรมจึงมักใช้ตัวอย่างคำว่า "ไปไกลๆ เลย" ที่หญิงสาวมักกล่าวกับคนรัก และเราพบว่าเธออาจไม่ได้รู้สึกโกรธและต้องการให้เขาอยู่ห่างๆ เลย เธออาจเสียใจ และต้องการให้เขาอยู่คอยอยู่ใกล้ๆ มากขึ้นด้วยซ้ำ

ยิ่งกว่าการรับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่น นั่นคือการรู้ความรู้สึกของตัวเอง เราหลายคนคงยอมรับว่าในหลายโอกาส เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเรารู้สึกอะไรกันแน่ มันซับซ้อน ละเอียดอ่อน และมีหลายอารมณ์อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมที่เราแสดง

เบื้องหน้าของความแตกต่างระหว่างกัน ลึกลงไปเรายังสามารถเข้าใจกันได้ เริ่มจากการเข้าใจตัวเราเองนั่นเอง ด้วยมนุษย์ทุกคนต่างมีความต้องการพื้นฐานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางกายภาพ ความปลอดภัย ความรัก ความภาคภูมิใจ ฯลฯ ตัวเราเองย่อมมีความต้องการเหล่านี้เช่นเดียวกับทุกผู้คน

เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึก ขอให้เราจงวางใจก่อนด่วนตัดสินกระทำการแก้ไขหรือทึกทักว่าเข้าใจความต้องการนั้นได้แล้ว แม้เบื้องหลังเป็นความต้องการเดียวกัน แต่พฤติกรรมเบื้องหน้าก็แตกต่างได้ เพราะเราแต่ละคนให้ความสำคัญแก่ค่านิยม กฎระเบียบ คุณค่าหลากหลาย สิ่งที่เราให้ความสำคัญนี้ส่งผลให้เราสร้างความคาดหวังต่างกันออกไป แล้วจึงก่อให้เป็นความรู้สึกและเผยพฤติกรรมออกมา

ราวกับภูเขาน้ำแข็งที่ไม่อาจประเมินเพียงส่วนซึ่งโผล่พ้นน้ำ ความเข้าใจในกันจะเริ่มต้นขึ้นได้หากเราใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่เหมาะสมลงไปค้นหาความรู้สึก ความคาดหวัง กฎเกณฑ์คุณค่า และความต้องการ อันอยู่ลึกลงไปในตัวเราเอง

อาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือตอบสนองความต้องการนั้นไม่ได้ แต่เพียงเข้าใจและยอมรับได้ ก็จะเปิดสู่โอกาสการสร้างสรรค์นานาได้อีกมากมาย ทั้งกับคนรอบข้าง และโดยเฉพาะให้แก่ตัวเอง

แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายดาย และฉับพลันทันใจ เหมือนอุปกรณ์ทันสมัยอื่นในยุคนี้ เครื่องมือทางจิตตปัญญานั้นเรียกร้องเวลา ความมุ่งมั่น และการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องของเรา รวมทั้งเพื่อนและครูผู้ช่วยสนับสนุน เฉกเช่นเดียวกับศิลปะการบรรเลงดนตรี ศิลปะการปรุงอาหาร เครื่องมือนี้จึงมิใช่เพียงใช้พัฒนาทักษะการสื่อสาร แต่เป็นศิลปะแห่งการให้ความเข้าใจตนเอง เข้าใจกัน และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายร่วมกัน

มีชื่อ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2554

ผมนึกถึงประเด็นหนึ่งซึ่งนวนิยายแนวจินตนาการหลายเรื่องมีร่วมกัน นั่นคือความสำคัญของชื่อตัวละครในเรื่อง ใช่ว่าหมายความถึงการพิถีพิถันเลือกเฟ้นชื่อ หรือใช้คำที่สะท้อนบุคลิกตามท้องเรื่อง แต่เป็นโลกสมมติที่การรู้จักและถูกเรียกขานชื่อนั้นมีผลต่อพฤติกรรมและความเชื่อของตัวละครอย่างมาก

โดยมากแล้ว ชื่อตัวจะเป็นความลับที่ตนเองเก็บไว้อย่างมิดชิด การเปิดเผยชื่อให้แก่ผู้อื่น มีความเป็นไปได้หลากหลายต่างกันไปตามนวนิยายเรื่องนั้น แต่ล้วนสุดโต่งทั้งสิ้น ผลของการเผยชื่ออาจทำให้ตัวละครมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง บ้างถึงขั้นตกเป็นบริวารผู้จงรัก หรือทำให้เจ้าของชื่อถึงกับสูญสิ้นความสามารถในการปกป้องตนเองเลยทีเดียว

เรื่องยอดนิยมอย่างแฮรี่ พ็อตเตอร์ ก็มีตัวร้ายที่ใครๆ ต่างหลีกเลี่ยงไม่กล้าเอ่ยนาม เพราะต่างหวาดผวา จนความกลัวจะเข้าเกาะกุมหัวใจแม้เพียงได้เอ่ยชื่อนั้นออกมา ขณะเดียวกัน ในตอนหนึ่งของเรื่องก็ได้แสดงให้เห็นว่าเจ้าของชื่อนั้นมีความพยายามในการพลิกแพลงตั้งชื่อของตนเองอีกด้วย

ชื่อนั้นสำคัญถึงเพียงนี้ และในความเป็นจริงเราก็ให้ความสำคัญกับชื่อมากมายจริงๆ แม้ไม่สุดโต่งเท่ากับนวนิยาย แต่ก็เห็นได้จากความพยายามในการตั้งชื่อให้ลูกให้หลาน เรามีตำรามีศาสตร์ว่าด้วยการตั้งชื่อ มีผู้รู้ผู้ทรงภูมิที่เราจะไปปรึกษา เรามีทั้งกฎหมายข้อบัญญัติการตั้งชื่อ จนกระทั่งความเชื่อเรื่องอักษรที่เป็นเดช ศรี และกาลกิณีที่ไม่เหมาะกับคนเกิดในวันต่างกัน

ชื่อของคนๆ หนึ่งจึงบอกอะไรเรามากมาย มันมีทั้งความเป็นมา เรื่องราวช่วงขณะหนึ่งในชีวิต ความเชื่อที่เขามี ความมุ่งหวังของผู้ให้กำเนิดต่ออนาคตและชีวิตของเขา รวมถึงความปรารถนาและความใฝ่ฝันที่เขาต้องการไขว่คว้าเอาไว้

การทำความรู้จักชื่อซึ่งกันและกัน จึงเป็นกระบวนการที่สามารถมีความหมายความสำคัญได้มาก และสามารถสื่อสารเผยบอกอะไรออกมาให้เรารู้จักกันได้มากกว่าอักษรตัวสะกดและการออกเสียง การเรียกขานชื่อ นัยหนึ่งคือการให้ความเคารพ ให้เกียรติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เราเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเขาเป็นบุคคลผู้มีตัวตนและมีความสำคัญ เราจึงจดจำและเรียกขานนามเขาได้

มีครั้งหนึ่งที่ผมโทรศัพท์ติดต่อไปขอสำรองที่นั่งของสายการบิน พนักงานรับสายพร้อมกับแจ้งชื่อตัวอย่างรวดเร็วด้วยน้ำเสียงคล่องแคล่ว ผมทักทายกลับว่าสวัสดีครับคุณวาริสา และบอกชื่อตนเองบ้าง แม้จะรู้สึกได้ว่าเธอชะงักไปเล็กน้อย แต่ตลอดบทสนทนาจากนั้นมาเราก็เรียกชื่อกันและกันจนวางสาย ผมสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรและความใกล้ชิด มั่นใจอย่างยิ่งว่าน้ำเสียงและท่าทีของเธอผิดแผกกันกับการติดต่อผ่านคอลเซ็นเตอร์ทั่วไป

อีกด้านหนึ่งในโลกปัจจุบันนี้ ชื่อของทุกคนได้ถูกให้ความสำคัญสำหรับการกำหนดจำแนกตัวบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ และดูจะมากเกินไปด้วยซ้ำ ในเหตุการณ์ติดต่อเจ้าหน้าที่บริการนี้ เป็นสิ่งปรกติธรรมดาจนถึงขั้นเป็นระเบียบเสียด้วยซ้ำ ว่าเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งชื่อเพื่อระบุตัวตนให้ลูกค้าทราบ แต่ผมคิดว่าคงจะน่าเสียดายมาก หากเรามองว่านี่คือการจำแนกให้ชัดเพื่อจะได้จัดการได้ถูกตัวถูกคนหากมีผลงานหรือข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ชื่อตัวเราเลยกลายเป็นจุดอ่อนจุดบอบบางที่เราระแวดระวัง การขอให้พนักงานทวนชื่อตนเองอีกครั้งเพื่อหวังจะให้เขาตั้งใจบริการ หรือแย่ยิ่งกว่าคือกำหนดรหัสประจำตัวให้จำง่าย จดสะดวกกว่าชื่อของเขา ล้วนแล้วแต่ปิดกั้นโอกาสการได้เข้าใกล้กัน ได้รู้จักและให้เกียรติอย่างเสมอเท่าเทียมกัน

เรื่องสุดโต่งของพลังปาฏิหาริย์อันว่าด้วยชื่อในนวนิยายนั้น อาจไม่ไกลเกินความเป็นจริงนักก็เป็นได้ ถ้าปล่อยให้เหตุผลทั้งหมดที่ทำให้เราต้องปักชื่อ ติดป้าย หรือขานชื่อให้คนอื่นทราบ ตั้งอยู่บนฐานความคิดว่า เจ้าของชื่อจะได้มีพฤติกรรมไม่ออกนอกลู่นอกทาง ลดโอกาสการอำพรางปิดบังตัว จำแนกแยกเขาออกจากคนอื่นได้ง่าย และหาตัวผู้กระทำผิดพลาดได้โดยสะดวก บนฐานคิดนี้ ชื่อก็คือคาถาคุมขังกัน

ขอให้ชื่อได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่อย่างที่เราได้สร้างมันขึ้นมาเถิด เราสามารถเรียกขานนามกันและกันได้ในฐานะบุคคลซึ่งให้เกียรติเคารพในการมีอยู่ของกัน และเราสามารถเปิดประตู ทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า ผ่านชื่อของเขา ชื่อที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นมา ความหมาย และความภาคภูมิใจในตัวเขาเอง

เราจะเปิดโอกาสให้ “ชื่อ” เป็นเครื่องมือใช้มอบพลังให้แก่กัน มิใช่คืออาวุธถือไว้จ้องทำร้ายทำลายกัน

รอคอยคือลงมือทำ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2554

ผมมั่นใจว่าคนไทยเกินสิบล้านคน ยอมรับว่าการรอคอยเป็นการอดทนที่ทุกข์ทรมาน ยิ่งต้องรออะไรนานๆ ความทรมานยิ่งเพิ่มทบทวี และใช่แค่คนไทย ผมว่าคนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้คงมีที่เห็นด้วยจำนวนเกินหลักพันล้านคนอย่างง่ายดาย

ไม่ว่าสิ่งที่รอคอยจะเป็นอะไร เป็นรูปธรรมอย่างคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ หรือเป็นนามธรรมอย่างตำแหน่ง สถานภาพ โอกาส สิ่งเหล่านี้มันทำให้ช่วงเวลาของการรอคอยนั้นเนิ่นนาน ราวกับว่าเวลาค่อยๆ คืบคลานเดินทางไปเชื่องช้ากว่าปรกติหลายเท่าตัว

การรอคอยมีลักษณะพิเศษคือ ไม่เกี่ยวเลยว่าเป้าหมายจะดีหรือร้าย ดังเช่น คนที่ต้องรออะไรซึ่งใจตัวเองไม่ปรารถนาย่อมอึดอัดทรมาน อยากให้มันผ่านๆ ไปเป็นแน่ แต่คนที่รออะไรที่ใจมันต้องการ ยิ่งทรมานกระวนกระวาย อยากให้เวลาผ่านไปไวอย่างใจนึก

ตัวอย่างเล็กๆ มีให้เห็นมากมายในชีวิตประจำวันของเรา นับแต่การรอสัญญาณไฟจราจร รอรถประจำทาง รอประกาศผลการสอบ รออาหารที่สั่งไป กระทั่งรอการดาวน์โหลดไฟล์จากอินเตอร์เน็ต

พวกเราในตัวอย่างสถานการณ์เหล่านี้มักพากันตกอยู่ในความอึดอัด อยากให้ได้อยากให้ถึงจุดสิ้นสุดของการรอเสียที บางคนเลยหาอะไรอย่างอื่นทำ เอาเรื่องอื่นขึ้นมาคิด หยิบหนังสือนิตยสารมาอ่าน ให้ทันยุคทันสมัยนี้ ต้องงัดโทรศัพท์มือถือขึ้นมากด เล่นเกมบ้าง แชตบ้าง อะไรบ้าง

การใช้ช่วงเวลารอคอยด้วยการฆ่าเวลา จึงเป็นประโยชน์ขึ้นมาสำหรับเรา เพราะมันช่วยให้เราหลบหลีกความรู้สึกทุกข์ทรมานของใจในระหว่างการรอคอย ทว่า ทั้งนี้และทั้งนั้นมันยังไม่ได้ช่วยให้เวลาเดินเร็วขึ้นแต่ประการใด เมื่อเราใช้เวลารอด้วยการฆ่าเวลา เพื่อให้ใจได้หลบหลีกความเบื่อหน่ายและอึดอัด แต่กลายเป็นว่ากลยุทธนี้นี่แหละที่ทำให้ตัวเราหายไปจากปัจจุบันขณะตรงหน้าเสียแล้ว

น่าเสียดาย เพราะในระหว่างรอ เรายังสามารถทำอะไรได้ตั้งมากมายเพื่อสิ่งที่เรารอ โดยไม่ต้องสับหลีกหลบไปทำอะไรอื่นซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน รอรถก็ตรวจดูข้าวของให้ดี รอสัญญาณไฟก็สังเกตถนนหนทางข้างหน้า ในระหว่างรอ เราเตรียมทุกอย่างภายนอกแล้วก็เตรียมความพร้อมของใจ อันนี้สำคัญ

หลายครั้ง เมื่อสิ้นสุดการรอคอยลง ผลที่ได้รับหรือได้พบก็ไม่น่าพึงพอใจเท่าใด ดีไม่ดีความอึดอัดคับข้องใจไม่ได้หายไปไหน นั่นเพราะเราละเลยการเตรียมพร้อมของใจ

ระหว่างที่รอไม่ว่าจะสั้นจะนานแค่ไหน ล้วนแต่มีโจทย์ให้เราต้องจัดการ ไหนจะความคาดหวัง ไหนจะความรู้สึกอึดอัดทรมาน ไหนจะความรำคาญเบื่อหน่าย จะว่าไปก็เป็นโจทย์เจ้าประจำวนเวียนเข้ามาท้าทายเราเสมอๆ เป็นโจทย์ของใครของมันต่างกัน แต่รับประกันว่าได้เจอะเจอกันทุกคน

การฆ่าเวลา จึงไม่ใช่กลยุทธการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพโดยได้ทำ ได้เล่น หรือได้คิดหลายอย่างระหว่างรอ ในอีกมุม มันเป็นกลยุทธการหลบลี้หนีโจทย์ของใจที่ไม่อยากเข้าไปเผชิญหน้ากับสภาวะขุ่นมัวทั้งหลาย รอครั้งนี้จบไปก็ยังมีการรอคอยครั้งใหม่ในชีวิตอยู่ข้างหน้า

ลุยกันเลยดีกว่า ใช้เวลารอเป็นเวลาลงมือทำ ทำงานเตรียมพร้อมกับสภาวะของใจ เปิดรับและยอมรับให้ได้กับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ถูกมันกดทับจนจมดิ่งแพ้พ่ายอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น ใช้เวลารอเป็นโอกาสของการฝึกฝนเพื่อให้เข้าใจตนเอง อยู่กับความอึดอัดโดยไม่หนีได้ ครั้งหน้าโจทย์นี้มาหาอีกก็ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องหลบไปไหน

การลงมือทำงานกับใจมีวิธีให้เลือกมากมาย ทั้งทางศาสนาและแนวทางร่วมสมัย ไม่ว่าการวิปัสสนา การเจริญเมตตา การบันทึกสะท้อนความรู้สึก นพลักษณ์ หรือให้ความเข้าใจตนเองผ่านการสื่อสารอย่างสันติ

เมื่อใจพร้อม คือดำรงอยู่ในความผ่อนคลายและวางใจ ผลลัพธ์สุดท้ายจะกลับกลายไปจากที่คาด เราก็ยังสามารถรับมือได้ เพราะเราได้ตระเตรียมจัดการสิ่งที่ยากที่สุดมาตลอดทางแล้วคือใจของตัวเอง

การรอคอยเคยไม่สนุกสนานรื่นรมย์ เป็นการอดทนที่ทรมาน เพราะใจเราคือตัวบงการตัดสินให้เป็น ถ้าเช่นนั้นใจตัวเดียวกันนี้แหละจะบอกได้ว่าการรอคอยเป็นเวลาที่เบิกบานผ่อนคลาย แค่เราให้การรอคอยคือการลงมือทำ

สุขเมื่อวาง ความสมบูรณ์แบบ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม 2554

เพื่อนคนหนึ่งของผมเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยพยาบาล เธอเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงานมาก ไม่เพียงแต่เต็มที่กับการสอนบรรยายและฝึกปฏิบัติให้แก่นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำหน้าที่รองผู้อำนวยการวิทยาลัยซึ่งมีภารกิจไม่น้อยเลย

น่าแปลกใจว่าเธอจัดสรรเวลาได้อย่างไร ทั้งที่เธอสมรสแล้วและมีลูกวัยกำลังเรียนสองคน สามีก็ทำงานอยู่กันคนละจังหวัด ถึงกระนั้นเธอยังสามารถใช้เวลาทำงานในวิทยาลัยและเข้าร่วมประชุมต่างๆ เกือบตลอดทั้งวัน เสร็จจากการสอนและดูแลนักศึกษาแล้ว ยังต่อด้วยงานเอกสารจำนวนมาก กว่าจะได้ออกจากห้องทำงานเวลาก็ล่วงเลยไปครึ่งค่อนคืน

ภาพที่เราทุกคนเห็นตลอดมานั้น เธอคือหญิงเก่งนักจัดการผู้พร้อมรับกับงานหนัก

แต่ในการอบรมเชิงปฏิบัติการสองครั้งได้ทำให้เราเข้าใจเธอต่างไป ครั้งแรกเป็นการร่วมกันเรียนรู้กระบวนการจิตตปัญญากับเพื่อนอาจารย์ในวิทยาลัย เธอได้เปิดเผยความรู้สึกเบื้องลึกในใจว่ากดดันและหวั่นไหวต่อภาระงานที่หนักหน่วง แล้วเธอก็ได้รับความตื้นตันใจ ที่พบว่าเพื่อนในที่นั้นทุกคนตั้งใจรับฟัง และพร้อมจะให้ความเข้าใจ แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือทำงานแทนให้ได้

การอบรมครั้งที่สองเป็นสุนทรียสนทนาร่วมกันระหว่างเหล่าครูและนักศึกษาพยาบาล ท่ามกลางเสียงระบายความอึดอัดต่อกฎระเบียบและความไม่พอใจของนักศึกษา ทำนบของใจเธอได้ทะลายลงพร้อมหลั่งน้ำตาออกมาต่อหน้าศิษย์ ว่าเธอเองก็รู้สึกสะเทือนใจเพียงใด เมื่อต้องให้เวลากับการดูแลนักศึกษา แต่ในขณะเดียวกันนี้ที่ลูกของตัวเองป่วย เธอกลับไม่สามารถไปดูแลและพาไปโรงพยาบาลได้ ทั้งที่ตัวเองนี่แหละเป็นพยาบาล

วันนั้น เพื่อนอาจารย์และนักศึกษาได้เห็นว่า หญิงเก่งคนนี้ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับเราทุกคน เธอมีความทุกข์ที่แบกรับเอาไว้ และไม่เคยได้รับโอกาสจะได้เอ่ยออกมา การรับฟังกันอย่างปราศจากวาระและไร้เงื่อนไข จึงได้เป็นเสมือนยารักษา ให้เธอได้เห็นว่าทุกคนพร้อมจะเข้าใจ และยินดีจะดูแลเธอเช่นเดียวกัน

ในเหตุการณ์สองครั้งนั้น การรับฟังอย่างลึกซึ้งอาจเป็นสิ่งที่เธอได้รับจากเพื่อนและศิษย์ แต่ทว่ายังมีอีกสิ่งซึ่งเธอได้มอบให้แก่ตนเองด้วย นั่นคือการฟังเสียงภายในใจตน

ก่อนหน้านี้ที่ทุ่มเททำงานทั้งในฐานะผู้บริหาร และในฐานะอาจารย์ มันมีเสียงภายในใจที่กดดันตัวเองว่าต้องทำให้ได้ ต้องทำให้สำเร็จ ขณะที่อีกเสียงกำลังต้องการทำหน้าที่ในฐานะแม่ให้ดี เสียงเหล่านี้แยกชีวิตเธอออกจากกันเป็นส่วนๆ แรงกดดันจากภายนอกไม่ว่าจากที่ทำงาน หรือจากครอบครัวที่บ้าน ล้วนแล้วแต่เทียบกันไม่ได้กับแรงกดดันในใจ ตำหนิกล่าวโทษตัวเอง และเก็บงำไว้ใต้ภาพผู้บริหารที่ทำงานหนัก

เธออยากจะบริหารจัดการงานให้ดี อยากจะสอนบรรยายให้ดี อยากจะดูแลครอบครัวให้ดี แต่ที่ผ่านมาทั้งสามสิ่งนี้ไม่สามารถจะดำเนินร่วมเส้นทางเดียวกันโดยราบรื่นไปได้ กลายเป็นว่าเธอต้องสลับหน้าที่ทำตามบทที่ได้รับของแต่ละสถานภาพ เมื่อให้เวลาบริหารก็ไม่สามารถมีเวลาทำหน้าที่ของแม่ได้ ทำให้ชีวิตของเธอถูกแยกออกเป็นส่วนไปตามบทบาท

โอกาสของการรับฟังเสียงภายในใจตนที่เธอมอบให้แก่ตัวเอง จึงเป็นการปลดปล่อยให้ความทุกข์ทับถมมานานนั้นได้ระบายออก ด้วยภาวะนี้ที่เพื่อนและศิษย์พร้อมรับฟังอย่างไม่คาดหวังและไม่ตัดสิน ได้ทำให้เธอเห็นตนเอง ได้ให้อภัยสำหรับการตำหนิลงโทษและความรู้สึกผิดของตัวเอง และยอมรับทุกด้านของความเป็นตัวเองได้

จะเป็นผู้บริหาร เป็นครู หรือหญิงผู้เป็นแม่ ทุกบทบาทล้วนแต่คือตัวเอง เมื่อได้ฟังก็ทำให้ได้ยิน เมื่อตระหนักเห็นก็ทำให้ยอมรับ

เส้นทางปัจจุบันที่เธอเลือกเดินจึงไม่ใช่เส้นทางหลักของบทบาทหนึ่งใด และเธอไม่ได้พยายามรีดเค้นแบ่งเวลาอันจำกัด เธอไม่ได้ทิ้งหน้าที่ความเป็นแม่เพื่อไปหาความสำเร็จในฐานะผู้บริหาร ไม่ได้หันหลังให้ฐานะตำแหน่งเพื่อไปทำหน้าที่ครู

เธอเพียงฟังเสียงของทุกความต้องการในใจ กล้าเปิดเผยแบ่งปันทุกข์ให้แก่เพื่อนได้ ดำเนินชีวิตในทุกบทบาทโดยไม่คาดคั้นคาดหวังความสมบูรณ์แบบ เป็นตัวเธอของตัวเธอเองทั้งในฐานะหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นแม่ เป็นครู และเป็นผู้บริหาร

เธอเลือกหนทางเดินเข้าไปสู่ชีวิตด้านใน ทางที่ไปเพื่อเข้าใจ ให้อภัย และยอมรับตนเอง

รางวัลคือความปรกติ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2554

เมื่อก่อนผมสงสัยการงดเว้นฆ่าสัตว์ว่า แค่ไหนอย่างไรจึงจะนับได้ว่าเราได้ถือเอาศีลข้อปาณาฯ นี้แล้ว เพราะการใช้ชีวิตในปัจจุบันมันยากมากที่จะไม่ไปทำลายชีวิตของสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์รำคาญทั้งหลาย อาทิ มด แมลงสาบ และยุง เพราะแมลงเหล่านี้มักเข้ามาคุกคามสร้างความหงุดหงิดรำคาญให้โดยเราไม่รู้ตัว จะรู้ตัวว่าได้สังหารไปแล้วก็ต่อเมื่อเริ่มสบายกายไม่มีอะไรมากัดไต่ และสิ่งมีชีวิตจิ๊บจ้อยเหล่านั้นได้ตายไปแล้วเรียบร้อยด้วยสองฝ่ามือหรือด้วยไม้แบดไฟฟ้า

การรักษาศีลละเว้นการฆ่าสัตว์จึงน่าจะสมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้สูงกว่ามาก ถ้าเราหมายถึงการใช้ชีวิตร่วมสมัยที่ไม่เบียดเบียนบรรดาสัตว์ที่ใหญ่กว่าแมลงทั้งหลาย รูปธรรมหนึ่งซึ่งน่าจะใช่ คือไม่วางยาเบื่อหนู ไม่ยิงนก และไม่ตกปลา ลองพิจารณาดูวิถีชีวิตสมัยใหม่นี้ ถ้าจะทำมันก็ไม่ได้ยากอะไร ยิ่งถ้าเราอาศัยในเมือง ที่บ้านปราศจากรังหนู ไม่ได้ประกอบอาชีพปศุสัตว์ และไม่มีงานอดิเรกในฟิชชิ่งปาร์ค

ผมเคยคิดว่าการรักษาศีลข้อหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา จะว่าไปใครๆ คงทำกันได้ทั้งนั้น

ต่อเมื่อไม่กี่ปีมานี้ คนใกล้ชิดในบ้านอย่างพี่และแม่ได้ทำอะไรบางอย่างที่มักทำให้ผมฉุกใจ ผมเห็นพี่ค่อยๆ ปั้นดินน้ำมันมาอุดตามรูรั่วเล็กๆ ตามมุมบ้าน รอบวงกบประตู เพียงเพื่อจะป้องกันไม่ให้มดเข้ามา หากมีบางตัวหลุดเล็ดลอดออกมาเพ่นพ่าน เขาจะถูกปัดเบาๆ ให้ออกไปพ้นทาง ตามมาด้วยการฉีดตะไคร้หอมที่พื้นเพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงได้อีก

รักษาศีลปาณาฯ ต้องทำกันถึงขนาดนี้เลยเชียว? ผมรู้สึกว่ายุ่งยาก แต่ก็อยากจะทำให้ได้บ้าง จากนั้นลองทำผิดบ้างถูกบ้างมาอย่างต่อเนื่อง ผมพบว่าปัจจุบันนี้ ผมไม่มีอัตโนมือตบเพียะเข้าที่ขาทันทีที่รู้สึกว่ามีตัวอะไรกัด นอกจากนี้ยังอดทนมากขึ้นกับอาการบวมคันตามผิวหนัง แต่แน่นอนว่าความรู้สึกฮึ่มฮั่มอยากลงไม้ลงมือจัดการมีเกิดขึ้นมาบ้างไม่ได้หาย

ทว่า รางวัลชิ้นใหญ่ที่ผมได้รับจากการรักษาศีลนี้กลับไม่ใช่ความรู้สึกว่าเป็นคนดี และยิ่งไม่ใช่ความภาคภูมิใจว่าเราทำได้ ผมค้นพบรางวัลที่ใหญ่กว่านั้น

ชัดมากเลยในชั่วขณะหน้าอ่างล้างมือ โดยมากจะมีมดตัวเล็กๆ เดินไต่ไปมาราวสี่ห้าตัว พอได้ตั้งใจไว้ ก็ทำให้ผมค่อยๆ ใช้นิ้วไล่เขาขึ้นมา บางตัวก็ให้มาเกาะอยู่บนขอบอ่าง อาการนี้ผมว่ามันดีมากที่ทำให้ผมได้ใช้เวลาค่อยๆ จัดการพามดออกไป ทั้งที่เป็นเรื่องง่ายกว่าถ้าจะละเลยเสีย ถ้ามาถึงก็เปิดก๊อกล้าง ทั้งสี่ห้าชีวิตคงจมมิดไปแล้ว งานกู้ชีพนี้มันใช้เวลาจริง แต่เป็นห้วงเวลาที่ได้อยู่กับงานเล็กๆ ตรงหน้า ได้ใส่ใจค่อยๆ ทำอย่างเบามือ สำหรับผมแล้วมันเป็นความประณีตตั้งใจที่กลายเป็นเรื่องง่ายๆ ประจำวันไปแล้ว

ผมได้รางวัลใหญ่ คือค้นพบการใช้ชีวิตตัวเองได้เหมือนเช่นเคย แต่ละเอียดเอาใจใส่ได้มากขึ้น ไม่มีเหตุจำเป็นอะไรให้ต้องเร่งรีบจนละเลยการดูแลสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ในวิสัยยังสามารถช่วยเหลือได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เนิบช้าจนเสียเวลามากมายไปกับการจัดการดูแล หรือช้าจนอึดอัดเพราะจำกัดพฤติกรรมตัวเอง ไปจนถึงคอยวิตกว่าพลั้งทำอะไรผิดไปหรือเปล่า

นึกถึงเมื่อก่อนตอนถูกยุงกัด อาการโต้กลับต้องไปไล่ตบไล่ตี บางทีทำอยู่ทั้งชั่วโมงยุงก็ไม่ลดน้อยลง แต่อารมณ์เซ็งหงุดหงิดเพิ่มหนัก ครั้งไหนตบเข้าเป้าหมายก็สะใจยิ้มย่องยินดี ไปบ่มเพาะทวีโทสะให้ใจตัวเองอีก เดี๋ยวนี้สบายใจกว่ามากมาย มียากันยุงหรือยาแก้คันก็ทาเสีย โบกๆ ปัดๆ ไล่ไม่กี่ที ไม่รู้ทำไมรู้สึกว่าเขาหายไป ทั้งที่เขาอาจไม่ได้หายไปไหน แต่ใจมันเป็นอิสระจากยุง ไม่เอาใจไประแวงไม่เพ่งอยู่กับเขา

หรือการรักษาศีลดังที่เขาว่า คือการรักษาความเป็นปรกติสบายของใจตัวเองนี่แหละ มีชีวิตปรกติที่ไม่เบียดเบียนใคร มีชีวิตสบายที่ไม่ใช้ข้ออ้างหาเหตุผลให้ตัวเอง ใส่ใจประณีตกับสิ่งที่เราให้ความหมาย ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ากับเหตุการณ์ตรงเบื้องหน้า

ขอบคุณผู้คนรอบข้างที่ทำให้ผมเจอรางวัลชิ้นนี้ได้ ขอบคุณที่ประพฤติและทำเป็นแบบอย่างให้เห็น หาไม่ต่อให้ผมตั้งใจคนเดียวคงล้มเลิกและมีข้ออ้างให้กลับไปทำลวกๆ และละเลย เหมือนเช่นเคยแน่นอน

คนหลงทาง



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 23 มกราคม 2554

สารคดีสองเรื่องที่ผมได้ชมไปเมื่อช่วงสิ้นปีได้สร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจผมมากมาย

ทั้งสองเรื่องพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงปัจจุบันในวงการเกษตรและปศุสัตว์ แม้ว่าจะมีท่วงทำนองรูปแบบการนำเสนอที่ต่างกัน เรื่อง Our Daily Bread เน้นถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ในไร่ในโรงเลี้ยงและชีวิตผู้คนอย่างตรงไปตรงมา ส่วนเรื่อง Food, Inc. ให้ข้อมูลสถิติรวมทั้งสัมภาษณ์เกษตรกรที่ตกอยู่ในวงจรธุรกิจซึ่งครอบงำโดยบรรษัทขนาดใหญ่ แต่ทั้งสองเรื่องพูดถึงสิ่งเดียวกันคือแหล่งที่มาวัตถุดิบอาหารของโลกยุคนี้มิได้เป็นไปตามความเข้าใจความเชื่อเดิมๆ ของเราอีกแล้ว เราจะได้เห็นการเกษตรที่มีความเป็นอุตสาหกรรม ใช้สารเคมีและเครื่องจักรจำนวนมาก เราจะได้เห็นโรงเลี้ยงไก่และโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่

ที่ว่ามานี้เราอาจจะคิดว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีและประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่แหละคือกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเข้ามาสู่บ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่เกิดขึ้นจากสารคดีทั้งสองนี้เป็นไปได้มากมาย ตั้งแต่ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ เรื่องความเป็นธรรมทางการค้า การเลี้ยงและฆ่าสัตว์อย่างไรที่ไม่เป็นการทารุณกรรม ไปจนถึงความปลอดภัยในอาหาร

แต่คำถามที่สะกิดใจผมมากที่สุดคือ เราพากันเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

จุดที่โลกต้องเร่งผลิตวัตถุดิบสำหรับเป็นอาหารออกมาให้มากที่สุดโดยใช้เวลาที่น้อยที่สุด เราเคยเฉลียวใจไหมว่าเราต้องสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อแลกความรวดเร็วนี้

ภาพชีวิตผู้คนในหนังสองเรื่องนี้ก็สะท้อนต่อคำถามนี้ได้มาก ไม่ว่าจะเป็นภาพคนงานที่พักกินอาหารกลางวันในโรงงานฆ่าสัตว์ ภาพคนงานทำงานคัดแยกลูกไก่ตามสายพาน รวมถึงภาพการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ภาพทั้งหมดนี้ดูห่างไกลจากชีวิตจริงของเราเหลือเกิน ราวกับว่าเป็นอีกขั้นตอนของกระบวนการผลิตอาหาร โดยมีเราอยู่ที่ปลายทางในฐานะผู้บริโภค

เหมือนมีแค่สายใยเกี่ยวข้องจางๆ ระหว่างผู้ผลิต อาหาร และผู้บริโภค

ในเรื่อง Food, Inc. มีเจ้าของไร่คนหนึ่งซึ่งปฏิเสธการเข้าไปอยู่ในระบบการผลิตสมัยใหม่ เขาเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า สัมผัสตัวและพูดทักทายมัน ปลูกพืชโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากยิ่งกว่าวิธีเพาะปลูกและดูแลสัตว์ คือการที่ลูกค้าเดินทางมายังไร่เพื่อซื้อสินค้าด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพราะจัดส่งไม่ได้ แต่เพราะเขาต้องการรู้จักและสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าของเขาทุกคน

หรือว่าความรู้สึกสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดที่เขามีนี้แหละ คือสิ่งที่เราสูญเสียไปในระบบการผลิตอาหารของโลก

เราอาจจะเคยได้ยินหรือเคยฝึกแนวทางปฏิบัติหนึ่งซึ่งว่าด้วยการบริโภคอย่างมีสติ โดยเฉพาะนิกายเซน ในสายหมู่บ้านพลัม ที่เน้นการมีสติในการรับประทานอาหาร เคี้ยวแต่ละคำอย่างช้าๆ ขอบคุณแรงกายและความทุ่มเทของทุกผู้คนที่ได้เพาะปลูกมา ขอบคุณสรรพชีวิตที่ได้อุทิศเป็นอาหารมาให้เราได้ดื่มกิน การปฏิบัตินี้มีขึ้นก็เพื่อให้เราได้ระลึกถึงสิ่งที่สูญหายไป ให้เราได้ตระหนักว่าเราไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเดียวดาย แต่ด้วยการพึ่งพาอาศัยอย่างให้เกียรติกันนี้เอง

เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เราผลิตอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ใช่ว่าจะต้องเร่งให้รีบจนบดบังสายตาและการรับรู้ของเราออกจากสายใยความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตที่เกื้อกูลกันอยู่นี้ออกไป

ระบบการค้าและการตลาดช่วยให้เราได้จับจ่ายซื้ออาหารที่สะดวกรวดเร็วกว่าการปลูกและเลี้ยงเอง แต่ใช่ว่าจะต้องเร็วจนเราพลาดการได้ดูแลความเป็นอยู่ของผู้คนซึ่งทำงานเบื้องหลังได้

ประสิทธิภาพในการผลิตอาจจะเป็นการใช้เวลาทำงานน้อยที่สุดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนมากที่สุด แต่สำหรับประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของเรา อาจจะหมายถึงการใช้เวลาในชีวิตให้มากที่สุดเพื่อให้ได้เห็นความจริงว่าเราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกคนและทุกชีวิตอย่างไร ก็เป็นไปได้