งานดาษดาด
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม 2554
(ใช้ชื่อบทความในฉบับตีพิมพ์ว่า "มืออาชีพ")
หลายวันก่อนผมเดินผ่านย่านสยามสแควร์ในตอนสาย ที่หน้าโรงหนังลิโด ริมทางบาทวิถี มีกรอบป้ายใสไว้ใส่โปสเตอร์หนังที่กำลังเข้าฉาย พนักงานชายคนหนึ่งถือโปสเตอร์แผ่นใหญ่หลายชิ้นไว้ในมือ อีกมือก็ฉีกกระดาษกาว เปิดป้ายใส่โปสเตอร์ พร้อมทั้งกระดาษบอกเวลารอบฉายอีกหลายแผ่นเล็กๆ กลางแดดร้อน คนเดินพลุกพล่าน เขาทำงานนี้เพียงลำพังคนเดียว
ผมหยุดยืนอยู่ข้างๆ ตามความเคยชิน จะดูว่าสัปดาห์นี้มีหนังใหม่เรื่องไหนเข้าฉายบ้าง แต่กริยาท่าทางของพนักงานคนนี้ทำให้ผมหันเหความสนใจจากโปสเตอร์ไปสังเกตเขาแทน สิ่งที่ผมสนใจไม่ใช่อากัปกิริยาการทำงานด้วยความชำนาญ หรือเทคนิคการยึดกระดาษให้เข้าที่โดยไม่ต้องมีใครช่วย หรือวิธีการเตรียมแผ่นต่อไปอย่างไรไม่ให้กองแผ่ที่พื้นจนคนสัญจรไปมาพลั้งย่ำเอาได้
ผมสนใจที่เขาไม่รีบร้อนทำงานแปะโปสเตอร์ให้แล้วเสร็จกันไป ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ช้าจนกินเวลาเกินจำเป็น เขาพยายามทาบกระดาษลงไปให้พอดี แล้วเห็นมุมไหนเอียง ส่วนไหนไม่เรียบ เขาก็ค่อยดึงออกมาทาบ และติดกลับเข้าไปใหม่
ที่สำคัญคือเขาไม่มีสีหน้าหงุดหงิดรำคาญแต่อย่างใด แม้ว่าใบหน้าจะไม่ได้ระบายยิ้ม แต่ก็ตั้งใจและใส่ใจกับงานเล็กๆ ตรงหน้ามาก ทำให้นึกถึงการฝึกอบรมครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องว่าด้วยกระดาษฟลิปชาร์ทที่เราใช้เขียนสรุปและสะท้อนบทเรียนในแต่ละช่วงของการฝึกอบรม และทีมผู้ช่วยกระบวนกรจะนำไปกระดาษติดไว้บนฝาผนังของห้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมาอ่านและจดบันทึกเองในภายหลังได้
การอบรมครั้งนั้น ผู้ช่วยสองคนรีบคว้าเอากระดาษไปติด ในจังหวะที่ผู้เข้าร่วมอบรมไปพักดื่มกาแฟ ทั้งคู่รีบติดโดยใช้เวลาน้อยมาก กระดาษแผ่นใหญ่ห้าหกแผ่นถูกติดไว้รอบห้องในเวลาไม่กี่นาที แต่หลังจากเริ่มการอบรมช่วงต่อไปในอีกไม่ทันข้ามวันเช่นกัน กระดาษทั้งหลายก็ค่อยๆ ทยอยหลุดลงมา ต้องหมั่นไปติดไปปะเพิ่ม บางแผ่นอาการหนักถึงขั้นต้องรื้อออกมาติดใหม่ เพราะใช่ว่าของเดิมก่อนหลุดออกมาจะสวยงาม จะได้แนวตรง และเรียบตึงหรือก็เปล่า มันทั้งเอียงทั้งย่น
กระบวนกรจึงต้องบอกผู้ช่วยในฐานะกัลยาณมิตรผู้พี่ตักเตือนผู้น้อง ชี้ให้เขาเห็นว่าประเด็นที่คุยกันนี้ไม่ใช่เรื่องการทำงานให้สมบูรณ์แบบ รวมทั้งไม่ได้ตำหนิเพราะทำงานผิดพลาด การติดกระดาษนี้เองคือการทำงานเพื่อการฝึกฝนตัวเราเอง บนเส้นทางจิตตปัญญา ฝึกอยู่กับปัจจุบันขณะตรงหน้าอย่างชื่นชมยินดี โดยใส่ใจและประณีตในภารกิจการงานที่กระทำ
หากหลงคิดหลงเชื่อไปว่างานที่ทำนี้ไม่สลักสำคัญ เป็นงานยิบย่อยรายทาง ยิ่งทำให้พาใจออกห่าง ไม่เอาใจใส่ ขณะเดียวกันต้องไม่หลงไปทำอย่างเพลินจนกินเวลาเกินพอดี ติดกระดาษบนฝาผนังก็เป็นงานอันมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันกับการฝึกอบรมทั้งหลักสูตร งานเล็กงานน้อยในการอบรมต่างเป็นงานเพื่อการรู้จักรู้ใจตนได้ทั้งสิ้น จะงานติดกระดาษ แจกปากกา หรือส่งไมค์ ล้วนเป็นงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสอนการบรรยาย
ในจิตตปัญญาศึกษานั้น ทีมงานต้องไม่เพียงแค่พูดให้ผู้เข้าร่วมเขาฟัง และไม่เพียงแค่นำกิจกรรมให้เขาทำเท่านั้น แต่ต้องให้เขาได้เรียนรู้จิตตปัญญาจากการทำให้เขาดู และเป็นให้เขาเห็น ทั้งในบทบาทการเป็นผู้บรรยายความรู้ และงานสนับสนุนทุกอย่าง แม้กระทั่งการติดกระดาษ
ภารกิจการงานที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพราะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า หรือได้รับผลตอบแทนมากกว่า ทุกงานย่อมเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เมื่อได้รับความทุ่มเทเอาใจใส่ของเรา งานใดๆ ย่อมเป็นงานที่มีความหมายเมื่อเราให้คุณค่าความสำคัญของสิ่งที่เราลงมือทำ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment