เรียนชีวิต



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2555

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ผ่านการแข่งขันสอบเข้าเรียนในระดับประเทศมาแล้ว น่าจะเป็นคนที่เพียบพร้อมในคุณสมบัติ มีความเข้าใจและใช้หลักเหตุผลในการดำเนินชีวิต รวมทั้งมีโอกาสดีในการเลือกประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ

แต่ความจริงที่เราพบในชั้นเรียนหนึ่งของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในคณะและภาควิชาทางสายวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศไทยเรานั้น กลับสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดไว้นั้น สามารถเป็นจริงได้เพียงแค่ครึ่ง หรืออาจจะเพียงส่วนเดียว ส่วนที่วัดผลและแสดงได้ด้วยค่าคะแนนเท่านั้น

นักศึกษาเหล่านี้เกือบทั้งหมดล้วนเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ต่เป็นความจริงอีกเช่นกันว่า เขาสามารถทำได้ดีเพียงการสอบผ่านไปตามระบบห้องเรียนเท่านั้น ส่วนการเรียนรู้ชีวิตนั้นกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สิ่งนี้อาจเป็นสภาพการณ์จริงที่เรารู้กันดี หรือว่าเราตกอยู่ในสภาพจำยอมเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่เห็นว่าการเรียนที่ดีกว่านั้นจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในชั้นเรียนหนึ่ง ได้บอกเราว่ามันเป็นไปได้ อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ทว่ายิ่งใหญ่สำหรับการใช้ชีวิต

ดังเช่นนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง เธอมีเกรดเฉลี่ยสะสมในระดับดีใช้ได้ ความประพฤติสุภาพเรียบร้อย แต่เธอพบว่า แม้ตัวเองจะจากบ้านต่างจังหวัดมาเรียนได้ไม่กี่ปี แต่กลับรู้สึกผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิดน้อยลง ถึงแม้กลับบ้านเกิดก็ให้เวลาคุยกับคุณตาคุณยายเท่าที่จำเป็นเพราะที่ผ่านมาคุยกันไม่รู้เรื่องบ้าง รำคาญบ้าง ชั้นเรียนนี้ทำให้เธอกลับไปใช้เวลาฟังท่านทั้งสองอย่างเต็มใจและเต็มที่ เธอได้ความรักความเข้าใจกลับมา เพิ่งรู้และเข้าใจด้วยหัวใจ ว่าทั้งตาและยายได้ใช้ความพยายามมากเพียงไรในตลอดเวลาที่ผ่านมาเพื่อจะได้เข้าใกล้ และเข้าใจในตัวหลานสาว

นักศึกษาชายอีกคนหนึ่ง เขาเพิ่งค้นพบความสามารถพิเศษในตัวเอง ว่าความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรักนั้นดีขึ้น เบาสบายขึ้น และทำให้คนอื่นเข้าใจเขามากขึ้นได้ เพียงแค่เขากล้าเปิดเผยความรู้สึก และยอมให้ผู้อื่นรับรู้ จากเดิมที่ใช้เหตุผลยกมาอธิบาย แต่กลับปิดบังความรู้สึกเอาไว้ หลายครั้งที่ผ่านมา คนรักยอมรับในเหตุผลที่เขาใช้ แต่ไม่ได้ทำให้ทั้งคู่เข้าใจกันจริงๆ เมื่อเขาเผยความรู้สึกให้รับรู้นั้น เธอบอกเขาว่า การคุยกันครั้งล่าสุดแค่ชั่วโมงกว่าแต่เธอกลับได้รู้จักและเข้าใจเขาขึ้นอีกมากกว่าที่เคยเป็นมา

อีกกรณีหนึ่ง นักศึกษาชายผู้กำลังจะสำเร็จการศึกษา แต่ตัวเองกลับหมดความกระตือรือร้นสนใจในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ทั้งที่เคยชอบและศรัทธาในวิทยาศาสตร์มาตลอด ตอนนี้รู้สึกผิดหวังและเห็นว่ามันไม่สามารถให้ความเข้าใจในชีวิตของเขาได้ เขาเปิดเผยเรื่องนี้ในชั้นเรียน และเลือกเริ่มต้นใหม่ในเส้นทางที่แตกต่างเพื่อค้นหาตัวเองให้พบ รวมทั้งเสาะหาแรงบันดาลใจและศรัทธาที่หายไปให้กลับคืนมา

สามกรณีนี้กำลังบอกเราว่า ลำพังสถาบันการศึกษาหรือผลคะแนนไม่สามารถประกันได้เลยว่าจะทำให้คนๆ หนึ่งรู้จักและเข้าใจชีวิตของตนเอง การเรียนรู้ที่ยึดเกณฑ์วัดประเมิน มันไม่อาจสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างความรู้กับความรักได้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสามคนนี้มิได้เป็นความมหัศจรรย์ แต่ต้องใช้ความเข้าใจของทั้งผู้สอนและผู้เรียนร่วมกัน ว่ากล้าที่จะเรียนในแบบที่แตกต่างจากการทำตามๆ กันไป รวมถึงการใช้ทั้งสมองและหัวใจในการเรียนรู้ชีวิตไหม

เล่นสี



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2555

“ใครไม่ได้จับสีมานานกว่าหนึ่งปีแล้วบ้าง?” นี่เป็นคำถามที่เรามักตั้งขึ้นหลังจบกิจกรรมวาดภาพศิลปะในการอบรมการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา และเรามักพบว่าผู้เข้าร่วมจำนวนราว 30 คนนั้น มีเกินกว่าครึ่งที่ยกมืออย่างพร้อมเพรียงกัน ยิ่งกว่านั้นเมื่อถามว่า “แล้วคนที่ไม่ได้จับสีมานานเกินสิบปีล่ะ?” จำนวนมือที่ชูอยู่ก็ดูจะไม่ได้ลดลงสักเท่าไรเลย

ผู้เข้าร่วมหลายต่อหลายกลุ่มนี้ แม้อาจอยู่กันคนละแวดวง เช่น ราชการ เอกชน หรือกระทั่งเป็นครูอาจารย์ ต่างมีคุณลักษณะบางอย่างคล้ายกัน นั่นคือเป็นผู้มีวัยวุฒิ มีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบสูง ยิ่งเป็นระดับผู้บริหารยิ่งมีโอกาสยกมือตอบรับต่อคำถามนี้มาก

เมื่อชวนซักถามพูดคุยกันต่อก็มักจะพบว่า สาเหตุที่ทำให้ไม่ได้หยิบสีมาระบายหรือวาดภาพอะไรเลยมาอย่างยาวนาน เป็นเพราะไม่มีเวลา และงานที่ทำอยู่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับศิลปะ น่าแปลกใจว่า แม้กระทั่งคนที่มีลูกวัยอนุบาลที่ได้จับสีขีดเขียนตลอดเวลา แต่ตัวเองกลับไม่เคยได้ลงไปวาดอะไรเล่นกับลูกเลย

ยิ่งสอบถามค้นกันให้ลึกลงไปอีก ยิ่งได้คำตอบที่ออกมาจากความคิดความรู้สึกภายในของแต่ละคนมากขึ้น จากคำตอบเดิมคือเรื่องเงื่อนไขเวลาและงานไม่เอื้ออำนวย มาเป็นความไม่ชอบส่วนตัว รู้สึกว่าตัวเองทำงานศิลปะได้ไม่ดี หรือแม้แต่เป็นคนวาดรูปไม่สวย ความรู้สึกเหล่านี้มักมีที่มาจากการเรียนในวัยเด็ก มีที่มาจากการถูกให้คะแนน ถูกประเมินฝีมือศิลปะโดยมีเกณฑ์สำหรับให้เกรด ถูกสอนจนเข้าใจไปว่าศิลปะเป็นงานขั้นสูงสำหรับผู้เชี่ยวชาญและมีพรสวรรค์เท่านั้น โดยไม่รู้ตัว เราจึงค่อยๆ ซึมซับรับเอาเรื่องในอดีตนี้มาสร้างเป็นตัวตนในปัจจุบันของเรา

กลายเป็นเราประเภทที่เชื่อว่า “เมื่อฉันวาดรูปไม่เก่งไม่สวย ฉันจึงไม่วาด ฉันจึงไม่ชอบศิลปะ และฉันถนัดทำอย่างอื่นได้ดีกว่า เก่งกว่า”
ความจริงแล้วมันไม่ผิดเลยที่เราจะคิดอย่างนี้ หรือเชื่ออย่างนี้ เพราะเราแบบนี้ก็ยังเติบโตมาและมีการมีงานอันมั่นคง ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพียงแต่การตัดศิลปะออกจากชีวิต มันจะทำให้เราเสียโอกาสการได้เข้าใจตัวเองไป และพลาดการใช้มันในฐานะเครื่องมือหรือวิธีการในการเรียนรู้ตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย

โดยมากแล้วพวกเราที่มีตำแหน่งความรับผิดชอบสูง ต้องทำงานบริหาร เราต้องใช้การคิด การจดจำ และการวิเคราะห์ เป็นทักษะหลักในการทำงานและการเรียนรู้ อีกทั้งทักษะเหล่านี้ เราก็ได้ฝึกมามากแล้วในโรงเรียน ยิ่งระบบกวดวิชายิ่งหนัก ออกจะมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ ศิลปะจึงมาช่วยเปิดความสามารถอีกด้านของเรา ไม่ใช่เรื่องของความเก่งหรือเหนือกว่า แต่มันสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การเปิดเผยอารมณ์ การเข้าใจและยอมรับความรู้สึก
บางคนพอมาเจอกิจกรรมให้จับสีเขียนภาพตามใจชอบ จึงรู้สึกเกร็ง กดดัน เพราะมีความคาดหวังในใจ พลอยไม่ได้พบอะไรนอกจากนี้ แต่บางคนได้ทำไปตามใจจริงๆ ก็สนุกไปกับสีได้โดยไม่รู้ตัว พร้อมกับเห็นว่าภาพที่วาดมันบอกอะไรในตัวเองออกมา

การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเราเองนั้น ต่างจากเรียนเฉพาะเรื่องที่มุ่งสู่ความชำนาญเฉพาะด้าน เพราะตัวเราไม่ได้มีมิติเดียวฉันใด การรู้จักเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงยิ่งต้องอาศัยทักษะที่สมดุลรอบด้านฉันนั้น

ลองปล่อยวางความเชื่อเดิม และความคาดหวังเก่า ว่าศิลปะเป็นงานของศิลปิน หรือว่าศิลปะที่ดีจะต้องสวยแบบไหน ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจเสียก่อน แล้วอนุญาตให้เราได้สนุกเพลิดเพลินและเอาใจใส่กับสีและเส้น เหมือนเช่นที่เราเพลินในความคิด หรือสนุกในการวิเคราะห์ข้อมูล
เริ่มต้นด้วยการเปิดประตูที่เราเคยปิดไปแล้วในอดีตขึ้นมาใหม่ หมั่นสังเกตตัวเอง แล้วลองดูว่าประตูที่ชื่อศิลปะแบบเราสำหรับเราจะเปิดให้เราไปพบอะไรในตัวเราเองอีกบ้าง

โอกาสการเรียนรู้



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2555
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

ในการจัดอบรมหลายครั้ง มักมีเรื่องมาเล่ากันขำๆ ว่า บรรดาผู้บริหารองค์กรทั้งหลายอาจได้ชื่อว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ด้วยว่าแต่ละท่านต่างมีภารกิจการงานมาก กระทั่งไม่สามารถมาเข้าการฝึกอบรมในเรื่องที่ตนเองสนใจได้ บางคนถึงจะมาได้ ก็ต้องเดินเข้าเดินออกไปรับโทรศัพท์ ถึงปิดเครื่องไว้ยังมิวายมีเจ้าหน้าที่หอบเอกสารเป็นตั้งจากสำนักงานมาให้ลงนามถึงในห้องอบรมจนได้

เวลาจึงเป็นปัจจัยจำกัดสำคัญประการแรกที่เราทุกคนมีเท่ากัน สุดแท้แต่ใครจะจัดสรรโอกาสการเรียนรู้ให้แก่ตนเองได้มากน้อย แต่ลงท้ายเวลาที่ว่าก็ยังไม่เคยมาถึง งานอบรมหลายหลักสูตรหลายหนที่ได้ไป จึงมักเป็นงานที่จำเป็นต้องไป เพราะหัวหน้าสั่ง เพราะเป็นนโยบาย เพราะฝ่ายบริหารบุคคลจัดให้ หรือไม่ก็เพราะเป็นขั้นตอนวิธีทำงานใหม่ กลายเป็นว่าจำใจไป การเรียนรู้ที่ดีที่ย่อมเกิดขึ้นจากความสมัครใจ

ความตั้งใจจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการที่สอง เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่พยายามตั้งใจเรียน เมื่อเริ่มที่ใจ ส่วนอื่นๆ ก็ตามมา สมองก็เปิดรับ ความคิดก็โลดแล่น ความตั้งใจนี้ยังอาจเรียกในชื่ออื่น หรือมีอีกหลายมิติ ในแง่หนึ่งคือความศรัทธาในการเรียน ความศรัทธาต่อตัวผู้สอน การตั้งใจมั่นที่จะแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง หากมีความตั้งใจเป็นฐานพลัง เราอาจเพิ่มโอกาสข้ามเงื่อนไขข้อจำกัดที่บอกตัวเองว่าเราไม่มีเวลาก็ได้

สิ่งสำคัญประการที่สามคือ กัลยาณมิตร อันเป็นบุคคลแวดล้อมเรา เขาควรเป็นกำลังหลักคอยตักเตือนให้เราไม่หลงทางสู่การทำลายทำร้ายตัวเอง กล้าสะท้อนให้เราเห็นตัวเองที่แท้เหมือนกระจกเงา และเขาควรทำหน้าที่ประหนึ่งน้ำเปล่าที่ดับกระหาย แต่ไม่ทำให้เราเสพติด ใครที่เอาแต่เยินยอหรือสอพลอเรา เขานั้นเป็นเหมือนน้ำหวานหรือสุรา ขาดเมื่อไหร่ก็กระวนกระวายใจไม่เป็นสุข ทั้งไม่ช่วยถนอมรักษาสุขภาพของตัวเราเลย

ปัจจัยช่วยให้เราได้มีโอกาสการเรียนรู้เข้าใจตัวเอง เท่าทันต่ออคติในใจ ละวางอัตตาและลดละกิเลสได้ ย่อมไม่ได้มีเพียงสามสิ่งนี้เท่านั้น แต่มักจะพบว่าการอบรมใดก็ตามที่ผู้เข้าร่วมต่างมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมให้เวลาเต็มที่ และมีเพื่อนร่วมอบรมที่สนับสนุนการเรียนรู้ไปด้วยกันนั้น มักเป็นการอบรมที่รับประกันได้ว่าจะเกิดประโยชน์อันสูงสุดต่อทุกคน แต่โอกาสดังว่าก็ใช่จะจำกัดแค่ในห้องอบรมหรือห้องเรียน แม้ในชีวิตประจำวัน เราก็หมั่นหาโอกาสของการเรียนรู้ได้

ทั้งการให้เวลา มีความตั้งใจ และได้กัลยาณมิตร สามสิ่งนี้ทำให้เราเปิดโอกาสการเรียนรู้ได้ในทุกๆ วัน เหมือนการตั้งเข็มทิศให้ถูกทาง มีคนคอยประคับประคองหรือช่วยชี้นำทางบ้าง และให้เวลาแก่การเดินทางนี้อย่างเต็มที่ เราก็จะมีสายตาใหม่ให้แก่เหตุการณ์ที่เหมือนจะซ้ำๆ คล้ายๆ กัน ว่ามันย้อนกลับมาให้เราได้เห็นตัวเอง เห็นรูปแบบความคิดการกระทำเดิมๆ ที่เราทำจนเป็นนิสัย และมันได้ปิดกั้นเราจากการไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่อย่างไร

นักศึกษาชายคนหนึ่งไม่เคยสนใจหมาแมว และเลี่ยงหนีทันทีที่พบ แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนจึงเห็นว่านี่ต้องมีประเด็นอะไรสักอย่างแน่ เขาจึงให้เวลาตัวเอง หาโอกาสยอมไปเป็นอาสาสมัครดูแลสุนัขและแมวจรจัด จนกระทั่งพบว่าตัวเองยื่นมือไปลูบหัว และยิ้มให้มันโดยเขาไม่ทันคิด เหมือนได้มิตรภาพใหม่ ได้เห็นโลกอีกใบ และเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ให้ตัวเอง

การเรียนรู้เกิดขึ้นกับเราได้ทุกขณะ และสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราพร้อมเปิดโอกาสให้แก่ตัวเองเพียงไร