งานนอกงานใน



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

งานอาสาสมัครสามารถเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาจิตใจได้ ในเวลาเดียวกันยังเป็นทั้งการฝึกทักษะการทำงานและการสื่อสารอีกด้วย แต่โดยมากเรามักมองผิวเผินและเห็นแต่เพียงเรื่องการลงแรงทำงาน การระดมพลในงานที่เร่งด่วนและขาดแคลนคนทำงาน หรือเป็นเพียงเรื่องงานเฉพาะหน้าตามความสนใจของคนที่พอจะปลีกเวลาจากภารกิจหลักของชีวิตได้

ในจิตตปัญญาศึกษาใช้คำเรียกขานที่ขับเน้นประเด็นมากขึ้นว่า 'จิตอาสา' เพื่อย้ำว่ากิจกรรมอาสาสมัครสามารถเป็นกระบวนการเรียนรู้ตนเองสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ ได้มากเทียบเท่ากับกระบวนการอื่น ไม่ว่าจะเป็นจิตตศิลป์ สุนทรียสนทนา หรือการบริหารกายบริหารจิต ซึ่งต่างเป็นเครื่องมือหรือการปฏิบัติ (Practices) อันมีจุดเน้นและคุณลักษณะที่เหมาะสมสอดคล้องกับบุคคลและสถานการณ์เงื่อนไขต่างกันไป

ส่วนที่เห็นได้ชัดเจนจากรูปแบบกิจกรรมคือ มีการจัดเตรียมความพร้อมของใจก่อนทำงาน ให้มีความคาดหวังที่ถูกต้อง ไม่มุ่งเพียงผลลัพธ์ของงาน และเปิดใจรับไม่ว่าจะเกิดอะไรที่ขัดใจหรือกระทบกระเทือนใจในระหว่างงาน

การสะท้อนประสบการณ์หลังเสร็จสิ้นงานแล้วก็สำคัญเทียบเท่ากัน โดยดำเนินไปอย่างผ่อนคลาย ไม่ยึดถือคำตอบอะไรในใจเอาไว้ล่วงหน้า สิ่งที่สะท้อนนั้นเป็นได้ทั้งการเล่าเรื่อง การเผยความรู้สึก และบทเรียนจากการตกผลึกในใจของแต่ละคน ช่วงของการสะท้อนบทเรียนอาสาสมัครเป็นเสมือนการเสริมแรงการเรียนรู้ให้แก่กันและกัน

บางคนมีฐานการเรียนรู้ทางกายที่เด่น พร่องในทางอารมณ์จิตใจ ก็จะได้เปิดการเรียนรู้ของตนมากจากประสบการณ์ภายในจิตใจของเพื่อนที่เผยมาเป็นอารมณ์ความรู้สึก

องค์ประกอบสำคัญอีกส่วนคือผู้ดูแลกระบวนการ นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้องาน สามารถให้คำแนะนำในทางเทคนิควิธีทำงาน รวมทั้งจัดการให้งานเสร็จลุล่วงแล้ว ยังเป็นผู้มีความคาดหวังที่ไปไกลกว่าเพียงผลลัพธ์ของงาน หากรวมถึงทำให้อาสาสมัครได้ชื่นชมตนเองและชื่นชมกันแม้ว่างานนั้นอาจจะไม่เกิดผลลัพธ์ตามตั้งใจ

ผู้ดูแลกระบวนการในมิติหนึ่งคือเป็นกัลยาณมิตรในการเรียนรู้ของอาสาสมัคร เป็นผู้ดูแลสมดุลของกระบวนการ ไม่ให้เป็นเพียงกิจกรรมสนุกสนาน ไม่ประคบประหงมจนไม่เกิดประสบการณ์ และไม่เข้มงวดจนมุ่งที่ความสำเร็จของผลงานจนละเลยคนทำงาน ตัวผู้ดูแลกระบวนการเองยังต้องดูแลสมดุลในใจตนด้วย และนี่อาจเป็นบทบาทที่ยากที่สุดของการจัดกระบวนการจิตอาสา

แต่ทั้งตัวกระบวนการและกัลยาณมิตรนั้นยังเป็นเพียงส่วนประกอบภายนอกของการเรียนรู้งานอาสา ตัวเราเองในฐานะอาสาสมัครจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด อาสาสมัครเกือบทั้งหมดมีจุดตั้งต้นที่ความตั้งใจดี มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจะช่วยคนอื่น ทว่าแรงแห่งความตั้งใจดีนี้มักจะมาพร้อมกับความเชื่อของเรา ความคิด และวิธีการของเรา หากไม่เท่าทันมันเสียแล้ว เราจะมาทำงานอาสาด้วยวิธีการของเราเอง แม้ว่ามันจะเป็นวิธีการที่ดีมีประสิทธิภาพกว่า แต่ว่ามันคือกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้เราได้เข้าถึงงานอาสาสมัครในฐานะกระบวนการจิตอาสา

ดังมีผู้กล่าวไว้มากมายหลายแห่งและหลายครั้งว่า งานอาสายิ่งทำยิ่งได้ลดละอัตตา ลดความเป็นตัวตน ลดความเชื่อที่ตัวเรายึดถือ แต่ลำพังตัวกระบวนการที่ออกแบบและจัดการมาเป็นอย่างดี รวมทั้งผู้ดูแลกระบวนการที่มีประสบการณ์ ก็ยังไม่สามารถเอื้อให้เราได้ไปพบคุณค่าภายในของงานอาสาสมัครได้
องค์ประกอบส่วนสำคัญยังต้องเป็นการทำงานภายใน จัดการดูแลใจไปพร้อมกับทำงานภายนอก

ซึ่งยากจะมีใครจัดให้ได้ ถ้าไม่เริ่มที่ตัวเอง

สื่อสารสองคม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

“บางครั้งรู้สึกว่า Facebook เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนขัดแย้งกันมากขึ้นหรือเปล่า ด้านหนึ่ง ก็ดี ทำให้ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเสรี ได้พูดได้บอกสิ่งที่อยากบอกแต่ไม่เคยได้บอกในชีวิตจริง (ซึ่งนี่คือ เสน่ห์ของ FB) แต่อีกด้าน ก็ส่งผลให้กระตุ้นอารมณ์กันไปกันมา (ง่ายๆ) เหมือนกัน โดยเฉพาะอารมณ์ที่เรียกว่า น้ำโห (ซึ่งน่ากลัวกว่าน้ำท่วม)

ฝั่งที่คิดไปในทางเดียวกัน ก็จะกระตุ้นน้ำโห ทางเดียวกัน แต่ถ้าคิดไม่เหมือนกัน ก็จะกระตุ้นน้ำโห ต่อกัน ใส่กัน เพราะข้อมูลมาเร็ว ง่าย และเยอะมาก จังหวะที่จะกระตุ้นอารมณ์กัน ก็เร็ว ง่าย และเยอะขึ้นมาก เช่นกัน

ดังนั้น อย่าว่าแต่คนไม่รู้จักจะหมางใจกันได้เลย คนที่เป็นเพื่อนรักกัน ยังเกิดความรู้สึกแหม่งๆ ต่อกัน และกลายเป็นหมางใจกันไปได้ก็มี Facebook เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และมีเสน่ห์มาก (ได้ทั้งข้อมูล ความสัมพันธ์ และความสนุก) แต่อีกด้าน อย่างที่บอกไปแล้วค่ะ ว่าทำให้เกิดความรู้สึก ร้าวราน ร้าวฉาน ได้ง่ายๆเหมือนกันค่ะ”


เพื่อนคนหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์เขียนข้อความนี้ไว้ ในระหว่างสถานการณ์อุทกภัยใหญ่ของประเทศ เป็นช่วงเวลาที่ทัศนคติหลากหลายปรากฏให้ได้อ่านกันจนลายตา เช่นเดียวกับคนไทยจำนวนมากที่หันเข้าหาอินเตอร์เน็ต ใช้เป็นแหล่งข่าวและเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารส่งข่าวกัน

ขณะเดียวกันก็กลายเป็นพื้นที่ปะทะกันได้อย่างง่ายดาย นอกจากความเครียดที่สะสมกันมา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ประสบภัย หรือกำลังตกใจว่าภัยจะมาถึงบ้านตนหรือเปล่า ยังมีเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองซึ่งถูกจุดประเด็นขึ้นมาเมื่อไหร่ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อนั้น

เพื่อนหลายคนเลยเข้ามาเขียนปลอบใจ ให้กำลังใจ หลายคนก็เห็นด้วยว่าลำพังการพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตาแม้ในเรื่องที่เห็นแตกต่างก็ยังไม่ใช่ง่าย พอกลายเป็นการคุยผ่านตัวอักษร มิหนำซ้ำยังผ่านหน้าจอที่พิมพ์ข้อความไม่กี่คำก็สามารถไปปรากฏให้คนอีกจำนวนมากได้เห็นกันอย่างทันที

การสื่อสารที่ผู้คนไม่อยู่ในภาวะผ่อนคลายและเปิดรับความเห็น จึงเป็นอันตรายก่อให้เกิดความเครียดได้มากพอกับให้ความบันเทิงใจ อีกทั้งเงื่อนไขกติกาการสื่อสารแบบออนไลน์เองก็จำกัด เราไม่สามารถเห็นสีหน้าแววตา และมักไม่อาจรู้เรื่องราวแวดล้อมในข้อความที่เขาเขียนได้ การสื่อสารนี้จึงมีทั้งความเร็วและความแรง ไม่แตกต่างจากละครที่ดึงอารมณ์ของเราให้ไปสุดทาง ทำให้ชอบมาก ทำให้เกลียดมาก ยิ่งกว่านั้นคือเราแต่ละคนต่างกำลังเล่นเป็นตัวละครในเรื่องเสียเอง

ความพอเหมาะพอดีของการสนทนาที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศของความเข้าใจ มากกว่ามุ่งไปหาข้อสรุป จึงเป็นลักษณะกติกาพื้นฐานที่ควรให้ความสำคัญ ดังในทุกกิจกรรมของการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา ไม่ว่าจะสุนทรียสนทนา หรือการสื่อสารอย่างสันติ การพูดคุยต้องอยู่ในภาวะที่ทุกคนมีเวลาให้กันและกันอย่างเพียงพอ และใกล้กันถึงขั้นมองเห็นสีหน้าแววตา ตลอดจนน้ำเสียงของเพื่อนร่วมวงได้ ยิ่งเราไม่มุ่งไปสู่การหาข้อสรุป ความเห็นของแต่ละคนยิ่งถูกเปิดเผย และถูกได้ยินมากขึ้น เป็นการจัดสภาพแวดล้อมของการพูดคุยที่เอื้อให้เรามีสมดุลของการสื่อสาร

แต่ส่วนสำคัญนั้นยังเป็นคุณภาพข้างในตัวของผู้ร่วมวงคุย เพราะแม้จะมีผู้ดูแลการสนทนา คอยเตือนหรือแนะนำวิธีการ ก็ยังไม่ได้ผลเท่ากับที่ต่างคนต่างพยายามฝึกฝนตนเอง ฝึกให้ไวต่ออารมณ์ที่แกว่ง ไวต่อความพอใจความขัดใจ บรรยากาศหรือใครภายนอกที่เอื้อให้เกิดความสมดุลไหนก็ยังไม่เท่ากับสมดุลภายในที่ใจของเราเอง ใครฝึกมากก็กลับไปหาตรงกลางที่พอเหมาะพองามได้ไว เห็นใจที่ไหวไปของตนง่ายขึ้น

Facebook อาจเป็นของมีคมดังว่า เป็นมีดดาบประหัตประหารกัน แต่ถ้ามือที่ถือไว้มีใจใสกระจ่างและหนักแน่น มันก็เป็นได้ทั้งวัชระที่ตัดฝ่ามายาการ ให้เราเข้าถึงความเป็นธรรมดาธรรมชาติของตัวเรา

เด็กทำแผนที่



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

เมื่อราวแปดปีก่อน ในการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ อาจารย์ประเวศ วะสี ท่านย้ำนักย้ำหนาว่างานสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาจิตใจคนไทยทั้งชาติได้ คืองานแผนที่คนดี

งานนี้เป็นภารกิจที่ไปสำรวจสืบค้นพร้อมทั้งบันทึกเรื่องราวของบุคคลทั้งหลาย ผู้ที่กำลังกระทำสิ่งดีงามอยู่ทั่วแผ่นดินไทย และนำมาบันทึกเผยแพร่คุณความดีนั้นทั่วทั้งแผนที่ประเทศ

ความดีและคนดีที่ว่าก็ไม่ใช่ต้องเป็นอะไรใหญ่โต เขาอาจเป็นบัณฑิตปริญญา แต่ยอมอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดานทำงานเพื่อคนด้อยโอกาส หรือเธออาจเป็นคุณยายในตลาดผู้รู้วิชาทำขนมต้มตามตำรับโบราณได้อย่างเอร็ดอร่อย เหล่านี้ล้วนเป็นคนดีผู้กระทำการดีทั้งสิ้น

ยิ่งพวกเราหลายคนเล่าในภายหลังให้อาจารย์ฟังว่า เราได้จัดโครงการลักษณะดังกล่าว แต่ชักชวนให้เยาวชนวัยประถมเป็นผู้ไปเก็บรวบรวมข้อมูล เดินสอบถาม และสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนของตัวเอง อาจารย์ได้ยินยิ่งยิ้มแย้มยินดี และกล่าวว่าดีแล้ว เหมาะทีเดียว เพราะเจตนาของแผนที่คนดี คือได้เผยแพร่เรื่องราวดีๆ ให้สังคมได้รู้ ให้ทุกคนได้ตระหนักว่าความดีไม่ได้อยู่ไกลตัว และมีคนทำดีอยู่มากมาย แทนที่เราจะรับรู้แต่ข่าวสารร้ายๆ จากสื่อรายวัน

โดยเฉพาะเมื่อเราให้นักเรียนเป็นผู้ไปสืบเสาะเองแต่ต้น ยิ่งเป็นผลดีมาก เพราะเด็กๆ จะได้เรียนรู้จากชีวิตจริง ได้เห็นบุคคลทำดีที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขา ทำให้เด็กๆ เห็นว่าในชุมชนของตนมีพลังความดีมากมายปรากฏขึ้น

ได้ยินคำอาจารย์แนะนำแล้วทำให้นึกขึ้นได้ว่า ในยามที่เรายังเป็นเด็ก เรามักถูกปลูกฝังให้ชื่นชมความเป็นสากล และฐานะตำแหน่งภายนอก ได้ยินคำบอกให้ตั้งใจเรียน โตไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ได้ทำงานนั่งห้องแอร์ หากเรียนเก่งมีแววดี ก็ขอให้ได้เป็นหมอ เป็นผู้นำ สอดคล้องกันกับการเรียนในโรงเรียนที่เรียนเรื่องไกลตัว เรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรียนเสมือนหนึ่งเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จเป็นลำดับขั้น เพื่อรับประกันอนาคต

บุคคลแบบอย่างของเราที่ต้องท่องจำเอาไว้ในยามนั้น ก็ช่างดูห่างไกลจากชีวิตเราเหลือเกิน โดยมากเป็นนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ หรือเป็นผู้นำในประวัติศาสตร์ แม้เมื่อเราจะได้พบตัวอย่างจริง ก็มักกลายเป็นการไปดูงานกิจการของบริษัท ไปชื่นชมความทันสมัยของเทคโนโยลีเครื่องจักร

โดยเราไม่รู้ตัว ค่านิยมบางอย่างค่อยๆ ซึมซาบเข้าไป ทำให้เราเชื่อว่าอนาคตที่ดีนั้นอยู่ข้างหน้า ไม่ใช่ปัจจุบัน ไม่ใช่ในถิ่นฐานที่เราอยู่อาศัย ไม่แปลกใจเลยที่ภาวะการเรียนรู้เช่นนี้ได้นำพาให้เราทุ่มเททรัพยากรเพื่อไปให้พ้นจากรากของเราเอง เราได้สูญเสียสมดุลของการเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับปัจจุบันไป

โอกาสที่เด็กๆ จะได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนเพื่อสืบค้นหาความดีนี้ จึงเป็นโอกาสสร้างสมดุลของการเรียนรู้ขึ้นมา ระหว่างกระบวนการของการไปสอบถาม นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้การวางตัว การสนทนา และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน อันช่วยสร้างฐานมั่นคงทางพฤติกรรมแล้ว ผู้ใหญ่ยังได้รับเกียรติในฐานะครูผู้บอกเล่าบทเรียนชีวิตของตน เป็นเกียรติที่ทุกคนพึงได้รับจากการประกอบสัมมาชีพและการดำรงตนเป็นแบบอย่างแก่รุ่นลูกรุ่นหลาน

งานแผนที่คนดีที่ไปพ้นจากกรอบและรูปแบบตายตัวเท่านั้น จึงจะสร้างปรากฏการณ์การเรียนรู้เช่นนี้ได้ หากเราไปกำหนดนิยามความหมายของความดี และตัดสินใจให้เด็กๆ ไปเสีย แล้วสั่งการบ้านว่าต้องไปเก็บข้อมูลกับใครเรื่องอะไร นั่นก็เท่ากับว่าเราพลั้งไปปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้สำคัญของเขาแล้ว โอกาสที่เด็กๆ จะได้ตั้งคำถามเองว่าความดีตามความเชื่อของเขาคืออะไร โอกาสที่เขาจะได้เลือกบทเรียนของตัวเอง และพร้อมเปิดใจรับเอาความมหัศจรรย์จากชีวิตของผู้คนรอบข้าง