วาจาใจ



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2552

ระหว่างทางกลับบ้านในเย็นวันหนึ่ง พี่ชายผมแวะเข้าตลาดและซื้อผลไม้ติดมือกลับบ้านมาสองสามถุง ด้วยเขาคิดแล้วว่าน่าจะคุ้ม เพราะตลาดกำลังจะวายคนขายจึงยอมลดราคาให้มาก ซื้อเอาไปฝากแม่ก็คงจะดีใจที่ได้ผลไม้รสอร่อยในราคาลดพิเศษ แต่ครั้นถึงมือและได้หยิบจับสัมผัสแล้ว แม่กลับกล่าวขึ้นว่า

“ซื้อมาเท่าไหร่เนี่ย แบบนี้มันสุกเกินไป ทีหลังไม่ต้องซื้อมาก็ได้”

“งั้นทีหลังผมซื้อมาเฉพาะของที่ดีและราคาถูกตามที่แม่เคยบอกนะ” เขาตอบ

หลังจากประโยคนี้ ผมเห็นพี่ชายนิ่งไม่ตอบคำอีก ในใจเขาตอนนั้นอาจจะรู้สึกน้อยใจก็เป็นไปได้ ในเวลาเดียวกันนั้นคงไม่ได้มีผมคนเดียวที่รู้สึก แม่เองคงมีอะไรในใจ แต่ปากก็พูดอธิบายเรื่องการเลือกผลไม้และเรื่องราคาข้าวของอยู่พักใหญ่ แม้ว่าในเวลานั้นพี่ชายจะไม่ได้เอ่ยคำอะไรออกมา จนกระทั่งแยกย้ายจากโต๊ะอาหารกลับเข้าห้องใครห้องมัน

ครู่ใหญ่ต่อมา พี่สาวพาแม่เข้าห้องพี่ชาย แม่ยิ้มอายและบอกว่าขอโทษที่พูดอย่างนั้นทำให้พี่งอน แม่แค่เป็นห่วงกลัวลูกไม่มีเงินพอใช้ ไม่อยากให้สิ้นเปลืองเงินทองซื้อของ เขาตอบแม่ว่าไม่ได้งอน เพียงแต่นึกว่าแม่จะดีใจ เลยรู้สึกเสียใจและผิดคาด ส่วนที่เงียบไปเป็นเพราะกำลังดูจิตดูใจตนเองเท่านั้น

เมื่อมีโอกาสให้ผมได้สนทนากับพี่ตามลำพัง เราต่างเห็นพ้องตรงกันว่าสถานการณ์ทำนองนี้ไม่ได้มีเกิดขึ้นกับครอบครัวเราเท่านั้น แต่ปรากฏในมนุษย์เราทุกคน ทุกระดับ ทั้งครอบครัว กลุ่มเพื่อน ในองค์กร และแม้ระดับชาติ เป็นปรากฏการณ์แห่งการสื่อสารที่ไม่ได้เผยถึงความรู้สึกและความต้องการอันแท้จริงของตัวเรา

สิ่งในใจที่แม่อยากบอกคงมีเพียงแค่ความรู้สึกเป็นห่วงและความต้องการเข้าไปดูแลลูก ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในวัยทำงานมาแล้วเกือบสิบปี แต่สำหรับแม่เรายังคงเป็นลูกไม่มีเปลี่ยนแปรเป็นอื่น ส่วนเราผู้เติบโตมาในสังคมเมือง การซื้อของไปฝากเป็นเพียงหนึ่งในการแสดงออกถึงความรักและกตัญญูเท่าที่เราจะทำได้ง่ายๆ ในแต่ละวันก็เท่านั้น

เช่นนั้นแล้วเหตุใดทำให้คุณค่างดงามในใจนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำคนละความหมาย ซ้ำร้ายในหลายโอกาสอาจขยายเป็นความขัดแย้งและความขุ่นเคืองระหว่างทั้งสองฝ่ายไปได้

ผมคิดถึงกระบวนการหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “การสื่อสารอย่างสันติ” หรือ Non-Violence Communication เพราะแนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่าเบื้องลึกของคำสนทนาที่เราพูดโต้ตอบกันไม่ว่าจะในเรื่องใดหรือลักษณะใด ล้วนแล้วมาจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นความต้องการที่เรามีอยู่ร่วมกันทั้งสิ้น

ไม่ว่าใครต่างต้องการได้รับความรัก ต้องการเป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง ต้องการความเข้าใจ ต้องการความปลอดภัย ต้องการได้พักผ่อน ฯลฯ แต่ถ้อยคำที่เราส่วนใหญ่กล่าวออกไปล้วนไม่ได้เผยให้คู่สนทนาได้รู้ถึงความต้องการเหล่านี้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้สึกที่มียังถูกปกปิดไม่ได้รับการแสดงออกผ่านคำพูดของเราเสียด้วย แต่เรากลับคาดหวังและเชื่อเหลือเกินว่าเขาน่าจะเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไร ในทางตรงข้ามเราเองยังไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้เลย หลายครั้งเราโทษว่าอีกฝ่ายไม่บอกให้ชัดเจนเสียด้วยซ้ำ

ความสัมพันธ์ระหว่างเราในหลายระดับจึงมักเป็นผิวน้ำในบ่อที่สั่นกระเพื่อมเพราะแรงกระทบจากการหย่อนก้อนหินวาจาที่ไม่ได้สื่อสารออกมาให้ตรงกับใจ

การสื่อสารอย่างสันตินั้นเป็นการปฏิบัติฝึกฝนให้ได้กลับไปแหล่งที่มาของเรา ชี้ชวนให้เราบอกกล่าวเรื่องตรงหน้าอย่างไม่ตีความตามความเชื่อเราเอง พร้อมทั้งได้เผยและไต่ถามความรู้สึก บอกถึงความต้องการแท้จริงในใจที่เราอยากจะได้จากกัน

แน่นอนว่าการเอ่ยสิ่งเหล่านี้ออกจากปากไม่ใช่เรื่องคุ้นเคยเป็นนิสัย เราจะเปิดปากพูดในแบบที่เราเป็นตลอดมานั้นง่ายดายนัก การหมั่นฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ให้ตนเองจึงเป็นความพยายามของเราที่จะตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า เท่าทันใจก่อนได้เอ่ยวาจาออกไปให้มีสันติอยู่ในถ้อยคำของเรา

แนวคิดจิตตปัญญาดังการสื่อสารอย่างสันตินี้จึงไม่ใช่เรื่องผิวเผินเพียงรูปแบบใหม่ในการสื่อสาร แต่คือการบ่มเพาะทักษะอันนำพาให้เราเกิดสติ ได้เผยความรู้สึก ได้บอกความต้องการจริงจากใจ และรักษาความนิ่งใสของผิวน้ำในความสัมพันธ์ระหว่างเรา ระหว่างความเป็นมนุษย์อันมีเนื้อแท้เดียวกัน