ความลับในตัวเรา


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

เราอาจจะรู้สึกกันว่าคนบนโลกทุกวันนี้เรียกร้องการยอมรับกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกร้องให้เรามองเห็นความแตกต่างเป็นความหลากหลาย ไม่ใช่ความแปลกแยกแปลกประหลาด เพราะปมปัญหาหลายอย่าง เราล้วนมีที่มาจากการยอมรับกันไม่ได้ เมื่อมีความต่างก็กลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือการมาคุกคาม มากกว่าจะได้ทำความเข้าใจ และเปิดใจยอมรับ

เราเริ่มตระหนักว่าความสงบสุขและสันติในโลก ในชุมชน และบ้านของเรา จะเกิดขึ้นได้หากเรายอมรับกันและกันได้ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ เช่น ความเชื่อทางการเมือง การใช้ชีวิตตามวิถีปฏิบัติทางศาสนา ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ กระทั่งรสนิยมการกินอาหาร เมื่อเห็นว่าเป็นความต่างที่ยอมรับได้ เราก็ชื่นชมกันได้ เห็นความงาม เห็นความน่าสนใจในคนที่ต่างจากเรา และโลกของเราก็กว้างขึ้นแผ่ขยายออก

เรารู้ว่าการไม่ยอมรับในความต่างบ่มเพาะความอึดอัดขัดใจ เป็นบ่อเกิดของความเกลียดชังที่มีพลังทำลายล้างทุกฝ่ายไม่เว้นกระทั่งตัวเอง หากยอมรับเขาที่ต่างจากเราไม่ได้ อย่างน้อยเราก็แยกตัวตัดขาดจากกัน หนักขึ้นเราก็เห็นเขาเป็นเป้าที่ต้องเข้าไปจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งต้องกำจัดออก

การได้ตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของการยอมรับกันนี้นับว่ามีพลังและเปิดความเป็นไปได้ให้เรามาก แม้จะไม่สามารถยอมรับความต่างของผู้คนในทุกรูปแบบได้อย่างหมดหัวใจก็ตาม อาจยังต้องใช้เวลา หรือต้องการการสนทนาและการฟังอย่างลึกซึ้ง

แต่ขอให้มองไปยังอีกด้าน คือการมองย้อนกลับมายังตัวของเราเอง สิ่งนี้อาจเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งกว่าการดูแลความสัมพันธ์กับคนอื่น นั่นคือการยอมรับความแตกต่างในตัวของเราเอง เพราะมันเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่ อาจไม่เคยเห็นเลยว่านี่คืออีกด้านของความเป็นเรา

การยอมรับตัวเองนี้เป็นคนละสิ่งกันกับความเชื่อว่าเราเป็นใคร และเป็นคนละเรื่องกันกับความชัดเจนในตัวเองว่าเราคือคนแบบไหน อาจกลับกันเสียด้วยซ้ำว่า ยิ่งเราเชื่อว่าเรามีบุคลิกอย่างไร มีความคิดรสนิยมแบบไหน และชัดเจนมากๆ ว่าเราชอบอะไร ทำอะไรได้บ้าง และเป็นอะไรได้บ้างนั้น ยิ่งอาจจะจำกัดให้เรายึดมั่นในความเป็นเราที่คับแคบ และขีดวงปิดกั้นตัวเองเอาไว้มากเท่านั้น


การยอมรับตัวเองคือความสามารถในการมองเห็นและเปิดใจให้กับความไม่ดี ความไม่งาม และความไม่สมบูรณ์แบบในตัวของเราเอง ไม่ว่ามันจะเป็นพฤติกรรมอะไรของเรา เป็นรสนิยมอะไรของเรา หรือเป็นความคิดอะไรในหัวเรา เพราะผู้ที่พิพากษาว่าสิ่งนั้นมันไม่ดี ไม่งาม ไม่สมบูรณ์แบบ คือตัวเราเอง ยิ่งเรายากจะยอมรับความต่างในตัวได้น้อยเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มว่าเราจะรับรู้ตัวเราที่แท้น้อยลงเท่านั้น หนักเข้า เราก็ผลักไสมันไปสู่ความรังเกียจ ความชัง กลายเป็นสิ่งที่ต้องเก็บ ต้องกด ต้องกำจัดมัน

หลายเรื่องที่เป็นเราอาจเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เลือก เช่น สีผิว หรือฐานะ ลึกลงไปก็เช่น นิสัยที่แก้ไม่หาย หรือพฤติกรรมที่ทำจนเป็นร่องเคยชินติดตัว การพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งเหล่านี้ในตัวเรานั้นบางสิ่งก็ทำได้ แต่หลายสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ เราจึงมักปกปิดเอาไว้ กลบเกลื่อนมันไป หรือกดดันตัวเองอย่างหนักไม่ให้ตัวเองเผลอไผลไปเป็น

ตัวเราก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับโลกใบนี้ ในเมื่อเราพยายามอย่างหนักที่จะยอมรับผู้คนที่คิดต่างและเชื่อต่างแล้ว ไฉนเราจำต้องจำกัดเปิดรับตัวเองเพียงบางส่วน หากเริ่มเห็นย่อมเริ่มเข้าใจ และเปิดความเป็นไปได้ในการสร้างสันติให้แก่ตัวเองและโลกของเรา

หยุดก่อน


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

ข้อความบนหน้าจอที่รุ่นน้องคนหนึ่งเขียนไว้ในเฟซบุ๊ค หรือที่คนร่วมสมัยปัจจุบันเรียกทับศัพท์กันว่า อัพสเตตัส นั้น ชวนให้ระลึกถึงเครื่องมือพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ที่เหมือนจะธรรมดา ทว่าทรงพลังมากนัก

เขาว่า ระหว่างที่นั่งทำงาน พลันได้สังเกตเห็นแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องหน้าต่างมาเป็นทาง ตกกระทบสะท้อนเห็นทิศการเดินทางของแสง ในฐานะที่เขาเป็นนักชีววิทยา 'ปรากฏการณ์การเลี้ยวเบนของแสงผ่านช่องเดี่ยว' นี้มันกระตุกใจให้เขาได้นึกย้อนไปตั้งแต่สมัยปริญญาตรีจวบจนมัธยมศึกษา นึกถึงช่วงเวลาที่เคยพบวิชาฟิสิกส์ ความสนุกสนานของบทเรียน และความทรงจำมากมายที่มีต่อครูบาอาจารย์ผู้ประสาท เขาถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์พร้อมเขียนชื่อครูทีละท่าน ย้อนระลึกถึงครูทุกๆ คน

บางครั้งเราอาจเรียกการกระทำทำนองนี้ว่าฟุ้งซ่าน แต่เรามักจะลืมหรืออาจจะมองข้ามด้วยซ้ำว่า ทุกโอกาสของการได้หวนระลึกถึงคุณค่าของประสบการณ์บทเรียนใดๆ และประตูสู่บทเรียนนี้คือ 'การสังเกต' อันเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการเรียนรู้ในจิตตปัญญา ที่บางครั้งถึงกับถูกเรียกขับเน้นให้เป็นพิเศษถึงความสำคัญและทรงพลังว่า “สังเกต สังเกต สังเกต” เพราะมันไม่ใช่เพียงการมองเห็น ได้ยิน รับรู้ และตีความไปตามความเข้าใจเดิม ทึกทักตัดสินไปตามความคุ้นเคยเดิมๆ แต่ให้การรับรู้นั้นนำไปสู่การใคร่ครวญโดยไม่ด่วนตัดสิน

การเริ่มต้นสู่บทเรียนของการทบทวนตัวเองจึงจำต้องกระตุกผู้เรียนให้หันกลับมาหัดสังเกต และสิ่งที่ต้องสังเกตนั้นก็มิใช่อะไรอื่นไกล มันคือทุกสิ่งรอบตัว ให้สังเกตปรากฏการณ์ที่เป็นไปในชีวิตเรา พร้อมกับเพิ่มการสังเกตใจตัวเองไปพร้อมกัน ฟังเสียงความคิดของตัวเองและเท่าทันกับความเชื่อความคุ้นเคยเดิมๆ

การสังเกตเพื่อเข้าให้ถึงใจและเชื่อมโยงไปสู่โลกนั้นจำต้องมีสมดุล และมันจะเกิดขึ้นได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ จนเท่าทันออกจากร่องพฤติกรรมความคิดเดิมๆ

ความเร่งในการใช้ชีวิตด้วยอัตราเร็วดังในปัจจุบันจึงเป็นกำแพงอันหนาหนัก เป็นด่านแรกที่เราต้องฝ่าทะลุไป เราชินกับการตัดสินใจเร็ว คุ้นกับความฉับไว เชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพคือการใช้เวลาน้อย เชื่อมั่นว่าอะไรที่ดีต้องเป็นสิ่งที่ทันใจ ยิ่งเราเชื่อว่าที่เราเป็นอยู่ ที่เราคิดอยู่แบบนี้ คือวิถีที่ใช่ คือเส้นทางเดียวที่ควรจะดำเนินไปสำหรับการเรียนแล้ว กำแพงนี้ก็จะยิ่งหนายิ่งสูงเท่านั้น

การสังเกตนี้อาจเหมือนว่าจะกินเวลา ต้องเฝ้าดู ต้องฟังอย่างตั้งใจ แต่มันเป็นเครื่องมืออันวิเศษที่ทำให้เราใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ ในการเท่าทันจิตใจตัวเอง ในชั่วชีวิตหนึ่งนั้นมีบทเรียนหลายสิ่ง ประสบการณ์หลายอย่าง ผ่านมาแล้วผ่านเลยไป เพียงเพราะเราพลาดไม่ได้หยิบฉวยขึ้นมาขัดเกลาให้เห็นแง่มุมใหม่ของชีวิต ไม่ได้นำมาส่องสะท้อนให้ตระหนักรู้และเข้าใจในความคิดและการกระทำของตัวเอง

การสังเกตที่พาไปสู่การคิดใคร่ครวญ เคยทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยพบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ แอปเปิ้ลที่ร่วงตกพื้นผลนั้นคงเป็นเพียงผลไม้ลูกหนึ่ง ถ้ามิใช่เพราะนิวตันได้สังเกต น้ำที่เอ่อล้นอ่างคงเป็นแค่การอาบน้ำ ถ้ามิใช่เพราะอาร์คีมิดีสทันสังเกต

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วย แต่มาจากการฝึกฝนและเอาใจใส่ในการใช้เครื่องมือพื้นฐานจนกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ หรือว่าจิตตปัญญาศึกษา จะเข้าใจโลกภายนอกหรือน้อมเข้าสู่ภายใน ล้วนมาจากฐานที่เราทุกคนเริ่มได้เหมือนกัน