รู้สึกอะไร



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2553

หลังกลับจากงานจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแนวจิตตปัญญาศึกษาครั้งหนึ่ง ผมได้เขียนข้อความสะท้อนไว้ใน Twitter ว่า “เรื่องจริงจาก workshop: 1 ในคำถามที่ผู้เข้าร่วมตอบได้ยากที่สุดคือ รู้สึกอะไร?” ไม่นานนักก็มีความเห็นตอบกลับมาจากรุ่นน้องในแวดวงกระบวนกรผู้จัดการเรียนรู้พัฒนาจิตวิญญาณว่า “ใช่เลยค่ะ เช่น รู้สึกว่าเรามีน้ำใจกันดี”

ผมยกประเด็นนี้มาเล่าสู่กันฟังมิใช่เพื่อต้องการบอกว่าผู้เข้าร่วมเขาตอบผิด หรือว่าตอบได้ไม่ตรงกับเฉลย แต่รูปแบบคำตอบที่มีออกมาเกือบทั้งหมดในวันแรกๆ ของการฝึกอบรมล้วนเป็นการตอบที่ไม่ตรงกับคำถามเลย คำถามธรรมดาที่ว่า รู้สึกอะไร?

หรืออาจเป็นเพราะเราใช้วลี “รู้สึกว่า” กันบ่อยจนคุ้นเคยติดปากแล้วก็เป็นไปได้ จึงทำให้มักใช้เหมารวมจนผสมปนไปกับความคิด อาทิ รู้สึกว่าวันนี้ดวงดี รู้สึกว่าหัวหน้าไม่ชอบ รู้สึกว่าดอกไม้ช่อนี้สวย รู้สึกว่ารถคันหน้าจะขับเร็วเกินไปแล้ว ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ไม่มีคำพูดไหนเลยที่เผยบอกความรู้สึกจริงๆ ของตนเอง

ความรู้สึกก็คือความรู้สึก ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีเรื่องราว ไม่มีตัวละคร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาในใจและในอก อาทิ ตกใจ เหงา ลังเล ผ่อนคลาย เครียด ซาบซึ้ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เองคือวิถีสู่การเข้าใจตน

จิตตปัญญาศึกษานั้นเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเองและโลก การเปิดสัมผัสรับรู้ให้มากยิ่งกว่าแบบแผนที่เราเคยชินจึงมีความสำคัญยิ่งนัก สิ่งที่เราควรจะได้เรียนนั้นมิได้มีเพียงรูปแบบเดิมอันคุ้นเคย ที่ว่าความรู้คือเนื้อหาวิชา และทฤษฎีหลักการ เรารู้จากการอ่าน การฟัง และจดจำทำความเข้าใจด้วยการใช้ความคิด แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเราก็เป็นความรู้ที่เราต้องเรียนเช่นกัน

เราทุกคนมักจะถูกปลูกฝังตลอดมาจากชั้นเรียนว่าความรู้สึกเป็นเรื่องอารมณ์ส่วนตัว ต้องไม่นำมาข้องเกี่ยวกับความรู้วิชาการ การเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความเป็นมืออาชีพนั่นคือต้องตัดความรู้สึกออกจากการทำงาน โอกาสในการเผยความรู้สึกจึงถูกตัวเราเองจำกัดให้อยู่ในไม่กี่เรื่อง เช่น ความบันเทิง และความรัก ยิ่งไปกว่านั้นเราเริ่มขาดความสามารถในการรับรู้ความรู้สึก และเพิกเฉยหรือละอายในการเผยความรู้สึกของตัวเราเอง

เมื่อละเลยความรู้สึก เราจึงตกอยู่ในห้วงความคิดเสียมาก คำตอบที่ยกมาตอนต้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ทุกคำพูดสามารถใช้วลี “คิดว่า” แทนคำ “รู้สึกว่า” ได้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การใช้ความคิดไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่มันมักจะทำให้เราไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราไม่ได้รับรู้ถึงสภาวะที่แท้จริงของตัวเองในขณะเวลานั้น เมื่อเราใช้ความคิดก็เท่ากับการทำงานวิเคราะห์กลั่นกรองหาข้อสรุป แต่ความรู้สึกมันจะบอกเราอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา และเปิดเผยโอกาสให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักตัวของเราเองอย่างลึกซึ้ง

ดังนี้ กระบวนการเรียนรู้และวิธีแนวทางการปฏิบัติต่างๆ ของจิตตปัญญาศึกษา ไม่ว่าสุนทรียสนทนา การเจริญสติ จนถึงการบริหารกายบริหารจิต เช่น โยคะและไท้เก๊ก จึงล้วนให้ความสำคัญแก่การเปิดรับความรู้สึกทั้งสิ้น

หากแม้นตัวเราเปรียบเสมือนเหรียญ ด้านหนึ่งคือความคิด อีกด้านคือความรู้สึก เราจะเรียนรู้และสามารถเข้าใจตัวเองอย่างถ้วนทั่วได้อย่างไรเล่า หากเราวางเหรียญหงายขึ้นและแลเห็นมันเพียงด้านเดียว