เรารู้อะไร?

คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๐


เมื่อราว ๓ ปีก่อน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้มี “จิตวิวัฒน์ศึกษา” ขึ้นในการศึกษาระบบอุดมศึกษา ด้วยว่าการศึกษาในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นการสอนเนื้อหาวิชาให้แก่ผู้เรียนเป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและยกระดับจิตใจ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปสู่สังคมการทำงานจึงมีแต่ความรู้ทางเทคนิคในศาสตร์ต่างๆ ทว่าไม่อาจรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่เห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของตนกับสรรพสิ่ง

ต่อมาแนวคิดนี้จึงได้ก่อเป็นรูปธรรม โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษาถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อไม่นานมานี้ และคำว่า “จิตตปัญญาศึกษา” เองก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่สนใจในประเทศเท่านั้น หากยังเป็นกระแสความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของวงการศึกษาทั่วโลก ในชื่อต่างๆ อาทิ Contemplative Education หรือ Holistic Education

กระนั้นก็ตาม ผู้ทำงานผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังคงได้รับคำถามอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่า จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร บ้างก็เข้าใจไปว่าเป็นการศึกษาว่าด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียน โดยมีรูปแบบกระบวนการเป็นการประยุกต์ปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนา เช่น จัดให้นักศึกษาได้นั่งสมาธิ หรือส่งไปปฏิบัติธรรมยังวัดและสถานฝึกอบรมต่างๆ

ทว่า มีคำถามหนึ่งซึ่งผู้เขียนพบว่ายังติดค้างอยู่ในใจ และตระหนักเห็นว่ามีประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือคำถามว่า จิตตปัญญาศึกษานั้น “เรียนอะไร?” และต้องศึกษา “วิชาอะไร” บ้าง?

เพราะฉับพลันทันทีที่ได้ยินคำถามนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาในทันใดมักกลายเป็นเรื่องที่บอกเล่าออกมาผ่าน ความทรงจำ ของผู้เขียน ไม่ว่าจะคำตอบจะบอกว่า เป็นการเรียนที่ไม่ได้มุ่งวิชาอย่างดิ่งเดี่ยว แต่น้อมนำเอาวิชาเข้ามาสู่ใจ หรือจะให้คำตอบว่า เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจตนเองด้วยการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น กลับพบว่าคำตอบทั้งหมดนี้แม้จะมีส่วนถูกต้อง แต่ไม่ถึงขั้นออกมาจากใจและกลั่นออกมาจากประสบการณ์ตรงของตนเองเลย คำถามจึงยังติดค้างไม่คลี่คลายแม้จะได้ให้คำตอบไปแล้ว



มองย้อนกลับไปในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาเองก็มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ มากมาย หรือว่าเป็นหลักสูตรเหล่านี้เองที่อาจเป็นคำตอบตรงใจ และให้คำอธิบายแก่ผู้ถามได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนพลักษณ์ (Enneagram) กับการเข้าใจตนเอง เรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) หรือแม้แต่เรื่องการเจริญสติวิปัสสนา

ครั้นทบทวนถึงการอบรมเรื่องนพลักษณ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เราผู้ร่วมอบรมล้วนได้รับความรู้มากมายและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความคิด การมองโลกและพฤติกรรมที่แตกต่างกันของบุคคลทั้ง ๙ แบบ ผู้เข้าอบรมในครั้งแรกต่างได้ค้นพบรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเป็นคนลักษณ์ไหน มีสิ่งใดเป็นแรงขับดันภายใน และเราจะสามารถปรับปรุงพัฒนาศักยภาพไปให้พ้นข้อจำกัดตามลักษณ์ของตนเองได้อย่างไร

แต่ในระหว่างการอบรมครั้งที่สอง อาจเพราะด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมกันทำให้บางคนที่ยังลังเลว่าตนเป็นคนลักษณ์อะไรตกเป็นฝ่ายถูกเพื่อนกระเซ้าเย้าแหย่ว่าน่าจะเป็นลักษณ์นั้นลักษณ์นี้ บ้างก็ปรารถนาดีเข้าไปช่วยคิดช่วยวิเคราะห์ความเป็นลักษณ์ของเพื่อน กระทั่งคุณ Joan Ryan และนพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ ผู้เป็นกระบวนกรต้องกล่าวย้ำว่า กระบวนการสำคัญในการเรียนรู้นพลักษณ์คือ การได้กลับมาอยู่กับตัวเอง กระบวนการนั่งทำสมาธิก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละช่วงจึงไม่ได้เป็นเพียงการทำให้สงบและผ่อนคลาย แต่ให้ผู้เรียนมีความนิ่งจนสังเกตเห็นความรู้สึก ความคิด คำพูดและการกระทำของตนเองได้ เมื่อสังเกตได้แล้วจึงจะรู้ และนำไปสู่ความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง

น่าประหลาดใจว่าสิ่งที่กระบวนกรนพลักษณ์ย้ำนี้กลับมีสาระสำคัญอย่างเดียวกันกับการฝึกอบรมเรื่องอื่นๆ หากเพียงใช้ชื่อเรียกชุดคำต่างออกไป ดังเช่นในการอบรมเรื่องวิธีคิดคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking) โดย อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นั้น แม้จะมีเนื้อหาทฤษฎีที่ต้องเรียนรู้มากมายให้เข้าใจถึงลักษณะของความเป็นระบบ ความแตกต่างของการมองเห็นปรากฏการณ์ ผ่านลงไปถึงแบบแผน และภาพจำลองความคิด แต่กิจกรรมสำคัญที่ขาดเสียมิได้คือ การสะท้อน (Reflection) การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

เฉกเช่นเดียวกับการดำเนินวงพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา (Dialogue) อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เคยแนะนำและให้คำอธิบายแก่ผู้เข้าร่วมหน้าใหม่ในเรื่องการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพราะคุณภาพของการสนทนาไม่อาจจะก้าวข้ามสู่ระดับของการหลอมรวมและเพิ่มพูนความคิดใหม่ใดได้เลย หากผู้ร่วมสนทนามีความคาดหวัง หรือกำลังคาดเดาสิ่งที่ตนกำลังฟังอยู่ เสียงที่ได้ยินจะเป็นเพียงคำบรรยาย พร่ำบ่นซ้ำๆ ของคนอื่น ทั้งจะไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และสิ่งที่พูดก็ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกข้างในจริงๆ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Dr. Jennifer Garvey Berger เพิ่งได้บรรยายเรื่อง Towards a New Consciousness: Using Developmental Theory to Observe and Map Our Transformations ในวงจิตวิวัฒน์ เธอกล่าวว่าการเปลี่ยนจิตสำนึกไปสู่ระดับจิตที่สูงขึ้นจะเกิดได้ต่อเมื่อเราในฐานะผู้รู้ (Subject) รับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งหนึ่ง (Object) ผู้เขียนรู้สึกละม้ายคล้ายกันเหลือเกินกับสิ่งที่คุณแม่อมรา สาขากร และ อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา ได้แนะนำสั่งสอนให้หมั่นสังเกตดูตามดูจิตของเราเอง เพราะเมื่อเกิดรู้สึกไม่พอใจ เรามักรู้ว่าเราไม่พอใจด้วยสาเหตุใด อะไรทำให้เกิดความรู้สึกนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ตัวของเราเองนั้นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับความไม่พอใจไปแล้ว เราไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวหรือรู้เท่าทันจิตของเราเลย

สิ่งที่คลี่คลายออกจากคำถามที่ติดค้างในใจว่าเราเรียนอะไร? จึงไม่ใช่คำตอบว่าได้เรียนศาสตร์เรื่องอะไรและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นแค่ไหน แต่การเรียนแบบจิตตปัญญาของเราเป็นการเรียนที่ต้องเกิดขึ้นในตัวของเราเอง นำเอาความคิดความรู้สึกให้กลับมาอยู่กับตัวเอง หมั่นรับฟังและสะท้อนเสียงจากภายในนั้นออกมา

คำตอบต่อจิตตปัญญาศึกษาสำหรับผู้เขียนคงไม่ใช่แค่เรียนอะไร แต่เราเรียนให้เรารู้ตัวเราเอง

ไม่ถึงใจ


คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐


หญิงสาวยืนเข้าคิวรอชำระค่าสินค้าที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตทันสมัยใกล้ๆ ที่ทำงาน หลังจากเธอยื่นบัตรเครดิตและบัตรสมาชิกให้ในเวลาชั่วอึดใจ สิ่งของสารพันก็ถูกพนักงานจัดใส่ลงในถุง พร้อมยื่นใบเสร็จระบุรายการสินค้า จำนวนเงิน และข้อความว่า

“ขอบคุณค่ะ คุณวิลาสินี วันนี้คุณได้ประหยัดจากส่วนลด 12 บาท คะแนนสะสมของคุณคือ 650 คะแนน”

เย็นวันเดียวกันนั้น ชายหนุ่มยังนั่งเอาตัวสบายอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เขากำลังดูเวบไซต์จำหน่ายหนังสือออนไลน์ บนจอภาพมีรายชื่อหนังสือแนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่เขาสนใจ พร้อมข้อความต้อนรับว่า

“ยินดีต้อนรับ คุณสุปรีดา เราขอแนะนำแพ็คเกจทัวร์สุดคุ้ม และประกันเบี้ยต่ำสำหรับนักเดินทาง”

เขาและเธอทั้งสองคนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเราส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้พบเจอกันจนเป็นปกติและชินชาไปแล้ว ท่ามกลางภาวการณ์แข่งขันนำเสนอสินค้าและบริการอย่างดุเดือดในตลาดเสรี เหล่าธุรกิจใหญ่น้อยนับแต่บรรษัทข้ามชาติจนถึงบริษัทขนาดเล็กในประเทศต่างพากันหาหนทางเข้าถึงลูกค้าและชักจูงใจให้เขามาซื้อสินค้ามาใช้บริการของตนให้จงได้ ดูเหมือนลำพังตัวสินค้าและงบโฆษณาจะไม่มีผลมากพออีกต่อไป

องค์กรน้อยใหญ่หันมาเข้าหาลูกค้าด้วยกลยุทธใหม่ชื่อ CRM ย่อจากชื่อเต็มๆ ว่า Customer Relationship Management ด้วยสมมติฐานว่าหากรู้และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าแต่ละราย จะทำให้สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจและเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า ณ เวลานั้นได้มากที่สุด ได้ดีที่สุด สิ่งที่ตามมาคือระบบการจัดเก็บข้อมูลการจับจ่ายไว้ประเมินทำนายความชอบและนิสัยการซื้อ เกิดการสำรวจทัศนคติความพึงพอใจต่อสินค้าและบริการ มีการฝึกอบรมให้บุคลากรของตนตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วทันใจและถูกต้องไม่ผิดพลาด
รับประกันได้เลยว่าพนักงานจะเอ่ยทักทายชื่อลูกค้าได้ถูกต้อง เสนอของที่ลูกค้าชอบ และมีโปรโมชั่นที่โดนใจ ทั้งหมดนี้เพียงแค่มองดูจอคอมพิวเตอร์

แต่สิ่งที่เราพบคือ ใบหน้าที่เรียบเฉยของเขา ข้อมูลส่วนตัวของเราบนจอภาพ รายการสินค้าบริการเกินความต้องการ และทั้งหมดเป็นแค่อีกเรื่องในชีวิตที่ผ่านเลยไป

อะไรที่ออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี มีระบบ เป็นเหตุเป็นผล เหมาะเจาะเหมาะสมกับคนในวัยและระดับการศึกษาของเรา น่าจะทำให้เรารับรู้ ประทับใจ เข้าใจและยอมรับ ไม่ใช่หรือ?



..............

ชายชาวแคนาดาวัย 20 ปีผู้หนึ่งซึ่งไม่นับถือศาสนาใด เชื่อมั่นในการโต้เถียงด้วยหลักการและเหตุผล เขาได้พบสุภาพสตรีวัยกลางคนผู้ยิ้มแย้มและมุ่งมั่นคนหนึ่ง เธอมายืนกดออดประตูหน้าบ้าน บอกว่าเป็นอาสาสมัครมาแนะนำเรื่องจิตวิญญาณให้ เขาแสนจะดีใจเมื่อได้โต้เถียงเอาชนะเธอด้วยหลักการทางศีลธรรม ปรัชญา ศาสนาในเวลาเพียง 15 นาที

แต่เธอกลับไม่ยอมแพ้ บอกว่าการช่วยเหลือคนอื่นยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเธอ ตัวเธอนั้นเคยเจอทุกข์มามากจนได้พบความสงบและมีความสุขมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น เธอยืนยันขอพาผู้มีประสบการณ์มากกว่ามาหาเขา

เขาตอบรับด้วยความยินดีและพบว่าในอีกอาทิตย์ต่อมา เพื่อนบัณฑิตผู้นั้นของเธอที่มีความรู้มากกว่าก็พลาดพลั้งเปิดช่องโหว่ให้เขาตีโต้จนพ่ายแพ้ แม้กระนั้นเธอก็ยังไม่ท้อ ขอพาผู้อาวุโสที่สุดในองค์กรมาพบ

เมื่อถึงวันนัด เป็นวันพายุหิมะพัดแรงจัด เขาพบว่าคนที่เธอพามานั้นช่างเป็นคนลวงโลก มีแต่ตั้งใจจะเรี่ยไรเงินบริจาค ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้ในเรื่องศีลธรรมและจิตวิญญาณ เขาประณามชายผู้นี้ต่อหน้าเธอว่าเป็นคนลวงโลกและไม่มีความรู้ เขาได้ความสะใจและดีใจในชัยชนะ

แต่เมื่อเธอลากลับ วินาทีนั้นที่เขาได้เห็นใบหน้าที่บ่งบอกความล้มเหลวสิ้นหวัง สายตาวิงวอนและเต็มไปด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส เขาถามตัวเองว่าได้ทำอะไรตอบแทนความพยายามในการเตรียมตัวหลายอาทิตย์ของเธอเพียงเพื่อจะช่วยไถ่จิตวิญญาณแก่เขา ไม่มีแม้คำขอบคุณและสำนึกในน้ำใจ

หลังจากนี้อีก ๔๐ ปีต่อมา เขาต้องการบอกสุภาพสตรีคนนั้นให้รู้ว่า เธอได้บรรลุภารกิจเปลี่ยนจิตใจเขา โทนี บูซาน ผู้นี้ให้ได้พบว่ามีอะไรที่สำคัญกว่าเหตุผล และหันมาสนใจเรื่องจิตวิญญาณนับแต่นั้นมา

..............

ความพยายามของบริษัทที่ได้รวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อเสนอขายสินค้าก็เป็นเช่นเดียวกันกับเรื่องของชายคนนี้ แต่ต่างกันตรงไม่มีสิ่งที่ถ่ายทอดออกจากใจให้เข้าถึงใจ ลูกค้าไม่เคยรู้สึกถึงความสัมพันธ์ ความผูกพันอย่างเพื่อนมนุษย์พึงมีให้กันของคนขาย เห็นก็แต่เพียงระบบที่ละเอียดถูกต้อง จำข้อมูลได้แม่นยำ และก็เท่านั้น รับรู้ เข้าใจ แต่ไม่เข้าถึงใจ เมื่อเข้าไม่ถึงใจก็ไม่ประทับใจ และไม่ยอมรับ

การศึกษาก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเพื่อประกอบอาชีพหรือเพื่อพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา ดังเช่นจิตตปัญญาศึกษาก็ตาม เราอาจจัดคู่มือการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ มีอุปกรณ์เครื่องมือเอกสารประกอบการสอนพร้อมสรรพ มีระบบวัดประเมินผลการศึกษาอย่างรอบด้าน ตระเตรียมเค้าโครงเนื้อหาล่วงหน้ามาเป็นอย่างดีไว้ได้

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเป็นหลักประกันได้เลยว่าผู้เรียนจะสามารถรับเอาไปพัฒนาตนเองอย่างสมดุลทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ หรือใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

เพราะความรู้ที่ส่งผ่านไปสู่ผู้เรียนนั้น ไม่ว่าวิชาไหน ว่าด้วยเรื่องราวหัวข้ออะไร หากขาดไร้ความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยจริงใจ และเป็นกัลยาณมิตรที่ปรารถนาดีต่อกันเสียแล้ว ความรู้นั้นก็เป็นแค่ข้อมูลไปยังผู้เรียนให้รับรู้ได้ ทำความรู้จักเข้าใจ จำข้อมูลนั้นได้ แต่ไม่ถึงใจ เมื่อเข้าไม่ถึงใจก็ไม่เกิดความประทับใจ และไม่อาจเปลี่ยนแปลงจิตใจของเธอและเขาได้อย่างแน่นอน

ฟังคำตัดสิน




เมื่อวานผมใช้เวลาฟังการถ่ายทอดคดีพิพากษายุบพรรคการเมือง โดยตุลาการรัฐธรรมนูญ อย่างยาวนานมาก ถึงจะไม่ได้นั่งอยู่กับที่เพื่อฟังและดูตลอด แต่ก็เป็นส่วนใหญ่

ถ้อยแถลงนั้นยาวอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็ละเอียดจนกระจ่างแจ้งในการชี้แจงเช่นกัน ส่วนจะตรงใจหรือถูกใจใครหรือไม่ก็อีกประเด็นหนึ่ง

ระยะเวลาของการอ่านอันเนิ่นนานนับแต่บ่ายโมงจนเกือบเที่ยงคืนนั้น ทำให้ผมสงสัยและตั้งคำถามขึ้นมาในใจ "จะมีใครฟังเนื้อหาทั้งหมดไหม?"

นักการเมืองที่นั่งนิ่งอยู่ในศาล รับฟังผลการตัดสินด้วยสีหน้ากริยาต่างๆ กัน แต่ไม่มีใครลุกออกจากที่นั่งนั้น เขาเหล่านั้น "ได้ยิน" สาระที่ตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านออกมาอย่างละเอียดตามตัวอักษรหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจนัก

เพราะแม้เมื่อกลับมาพิจารณาตัวเองก็เห็นชัดว่าในบางช่วงบางขณะ ข้อความที่ถูกใจ โดนใจ ชอบใจ มันมุ่งตรงเข้ามาในหัวอย่างชัดเจนทุกอักขระ แต่ข้อความที่ไม่มีความสนใจ ไม่ใช่เรื่องที่ติดตาม ดูจะผ่านเลยไป เพียงแค่ได้ยินเสียง แต่ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้เข้าใจ

สาระที่อยู่ในคำตัดสินนั้นน่าสนใจมากเสียจนผมอดรู้สึกอยากให้ทุกคนตั้งใจฟังไม่ได้ ทั้งที่รู้ว่าจะไปบังคับใครได้ แม้แต่ตัวเองยังยาก เนื้อหาในถ้อยความเหล่านั้นมันช่างมีเรื่องราวมีมิติให้สืบค้นให้ศึกษาและทำความเข้าใจได้มาก ผมทึกทักเอาเองว่าคนไทยคงจะเรียนรู้เรื่องการเมือง และวิธีคิดพิจารณาทางกฎหมายได้มากทีเดียว เพียงแค่ฟังการตัดสินคดีครั้งนี้

นึกถึงสุนทรียสนทนาขึ้นมาทันทีทันใด

จริงแท้เชียว เนื้อหาสาระไม่ว่าจะดีเลิศเพียงใด แต่ไร้ซึ่งชีวิตชีวา คนก็ฟังแต่ไม่ได้ยิน เหมือนเห็นหมา แต่ไม่ได้สนใจว่ามันเป็นพันธุ์อะไร กำลังทำอะไรอยู่ เพราะมันก็แค่หมา

จริงด้วยสิ สาระเราจะเยี่ยมแค่ไหน แต่เราท่องออกมา อ่านออกมา มันบั่นทอนพลังลงไปมากมายนัก

การถ่ายทอดสดที่มีคนติดตามสนใจดู มีสื่อมวลชนเกาะติดข่าวนับร้อยชีวิต แต่ก็ไม่มีใครซึมซับเรื่องราวได้อย่างเข้าไปถึงใจ เหมือนเราบอกเล่าเรื่องเก่าๆ ที่เราเล่าจนเจนจัด ถ่ายทอดมันอีกครั้งสู่วงสนทนา ความสดใหม่หายไปหมดแล้ว ความจริงแท้ต่อความรู้สึกก็สลายไปด้วย

แล้วผู้ฟังที่มีส่วนใกล้ชิดกับเรื่องนั้นอย่างมากล่ะ? แค่ลำพังเราที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ทางอ้อม เรายังหลุดจากความตั้งใจฟังได้มากขนาดนี้ คนที่เขาแบกความคาดหวัง แบกเรื่องราวไว้บนบ่า เอาชีวิตและความคิดฝากไว้ที่อนาคต และเอาความกังวลหลงไว้ในอดีต เขาจะรับฟังสาระจากถ้อยแถลงได้อย่างเข้าใจแค่ไหนกัน?

มิน่าเล่า สุนทรียสนทนาถึงไม่ใช่แค่การฟังเรื่องเล่าที่สดใหม่

แต่คนฟังยังต้องมีโสตประสาทการรับฟังอยู่ในปัจจุบัน รับเอาสิ่งที่ได้ยิน ณ เวลานั้น ปราศจากซึ่งความคาดหวัง พ้นไปจากการตีตรา ประเมินให้คุณค่าเรื่องที่กำลังได้ยิน เพราะไม่เช่นนั้นก็จะได้ฟัง แต่ไม่ได้ยินอย่างแท้จริง

ปรากฏการณ์ถ่ายทอดคำตัดสินทำให้ผมเข้าใจสุนทรียสนทนาง่ายๆ ในแง่มุมนี้เอง
เคยอ่านมามากเท่าไหร่ ถึงจะเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอย่างที่สะท้อนเข้าไปถึงในใจ อย่างนี้ นี่เอง

คุณสมบัติอันพึงประสงค์

คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐


“มีข้อสอบตรวจสุขภาพจิตคนไหม?”

เพื่อนของผมซึ่งเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาในคณะขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นผู้โยนคำถามนี้เข้ากลุ่ม email ของเพื่อนแวดวงใกล้ชิด คาดหวังจะได้คำตอบและความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากอีกหลายคนที่ทำงานในสายอาชีพต่างๆ พร้อมแจงเหตุผลที่ต้องการเครื่องมือตัวช่วยดังกล่าวไว้ว่า

“ที่ภาคกำลังจะรับอาจารย์ใหม่หลายคน อยากหาคนสุขภาพจิตดีๆ คุยรู้เรื่อง รู้จักให้ และยอมคนบ้าง”

ต้นตอของเรื่องราวที่ทำให้อยากได้คนที่มีคุณสมบัติอย่างนั้นเป็นเพราะว่า

“ทุกวันนี้แต่ละคนเก่งๆ ทั้งนั้น ไม่ยอมกัน ทำงานเป็นทีมก็ไม่ได้”

ทราบความตามนี้แล้วเพื่อนในกลุ่มต่างก็ช่วยกันแนะนำแบบทดสอบหรือวิธีเท่าที่เราเคยใช้เคยได้ยินมา ทั้งแบบทดสอบทางจิตวิทยาอย่างง่าย ไปจนถึงกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้น ต้องอาศัยการตีความภาพวาดโดยผู้เชี่ยวชาญ และแม้กระทั่งมีผู้เสนอให้ลองแบบทดสอบ นพลักษณ์ (Enneagram) ค้นหาว่าผู้สมัครแต่ละคนมีอุปนิสัยและโลกทัศน์อย่างไรบ้าง

เพราะผมเคยผ่านการอบรมเรื่องนพลักษณ์ในโครงการวิจัยการอบรมกระบวนกรแบบจิตตปัญญาศึกษามาบ้าง ทำให้อดอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ รีบตอบ email ให้ความเห็นไปว่า เราไม่ควรใช้นพลักษณ์ในวัตถุประสงค์จำแนกคนทำนองนี้ เพราะหัวใจของการเรียนรู้คนตามแนวคิดนพลักษณ์นั้น คือการได้เข้าใจถึงเบื้องลึกของพฤติกรรมความคิดที่ปรากฏ ทั้งของตัวเราเองและของผู้อื่น สำคัญยิ่งคือการเรียนรู้ให้ยอมรับและชื่นชมความแตกต่างหลากหลายของคน อีกทั้งการจัดว่าใครอยู่ลักษณ์ไหนนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ในเวลาอันสั้น

ผมเสนอในมุมกลับกัน ถ้ามองเรื่องที่ว่ามานี้ด้วยแนวทางแบบจิตตปัญญาศึกษาแล้ว เราน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับคนที่มีอยู่ อย่าเพิ่งหมดหวังทิ้งกำลังใจที่จะทำงานกับคนเก่า รับคนใหม่เข้าไปก็ต้องอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งไม่รู้เขาจะเปลี่ยนไปหรือจะทำให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้นได้หรือเปล่า

วิธีการหนึ่งที่น่าจะลองกับบุคลากรปัจจุบันคือ สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นกระบวนการที่เครือข่ายเองได้นำมาใช้บ่อยครั้ง โดยการจัดสรรเวลาให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างมีคุณภาพและฟังอย่างลึกซึ้ง สร้างโอกาสให้เขาได้เผยความรู้สึกที่อยู่ภายใน บอกเล่าความคิดที่ไม่ใช่ของนักวิชาการ เพื่อทุกคนจะได้เรียนรู้กันและเข้าใจกันมากขึ้น หวังว่าเมื่อนั้นการยอมรับกันและทำงานเป็นทีมคงไม่ใช่เรื่องยาก

หลังจากได้แนะนำไปดังนี้แล้ว ผมนึกย้อนว่าหากผมเป็นเพื่อนคนนั้นบ้าง อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา ต้องรับผิดชอบการหาบุคลากรใหม่ พร้อมกับเผชิญหน้ากับคนทำงานแบบตัวใครตัวมัน หลังจากได้อ่านคำแนะนำทำนองนี้แล้ว ผมจะมีคำถามอะไรขึ้นบ้างไหม
สิ่งที่ปรากฏขึ้นแทบจะทันทีคือคำถามสองข้อ ประการแรก แน่ใจได้อย่างไรว่าวิธีการนี้ได้ผล? และประการที่สอง แสดงว่าเหล่าอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาล้วนแล้วแต่ฟังกัน ยอมรับและทำงานกันเป็นทีมจริงหรือ?

คำถามแรกนั้น แน่นอนว่าไม่สามารถรับประกันให้ได้หรอกว่าการใช้กระบวนการสุนทรียสนทนาจะเป็นวิธีที่เหมาะสมถูกต้องที่สุดและทำให้ปัญหาการทำงานแบบตัวใครตัวมันหมดไป

แต่อย่างน้อยผมเชื่อมั่นว่าวิธีการสนทนาที่เปิดกว้างให้ทุกคนพูดหรือเล่าเรื่องอะไรก็ได้ ไม่มีวาระ เน้นการให้แต่ละคนได้มีสติทั้งการฟังและการพูด ละเว้นการประเมินคุณค่าและตัดสินคนอื่นลงระหว่างอยู่ในวงสนทนา น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกทางสำหรับเชื่อมร้อยทุกคนเข้าหากันในฐานะเพื่อนมนุษย์คนสามัญธรรมดา

ต่อคำถามว่าได้ผลแน่หรือ จะมีผลลัพธ์ที่แน่นอนไหม คำตอบคือ เราเริ่มลงมือปฏิบัติจัดกระบวนการกันเสียเลย การหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหานั้นมีความจำเป็นแน่ แต่เราไม่ควรจะให้เวลากับการเลือกมากจนระแวงสงสัยไม่ได้ริเริ่มหนทางหนึ่งใดอย่างจริงจัง

เพราะวิธีจัดการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาเน้นที่การวางใจ มีประสบการณ์ตรงและลงมือปฏิบัติ

หากเราใคร่รู้เรื่องสุนทรียสนทนาก็ดี สนใจนพลักษณ์ก็ตาม ตัวเราเองต้องได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจริง ได้ประสบการณ์ด้วยตนเอง และเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความเป็นไปได้ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา

ส่วนคำถามถึงความมั่นใจว่า เหล่าอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษามีคุณสมบัติยอมรับกันและกัน และทำงานกันเป็นทีมนั้น ผมตอบได้เลยว่า ผมไม่กล้ารับรองคุณภาพของคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาว่ามีสมรรถภาพดังว่า

การเป็นอาจารย์ที่จัดการเรียนการสอนแบบจิตตปัญญาศึกษา หรือการเป็นนักฝึกอบรมกระบวนการจิตตปัญญา การทำหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเขาทั้งหลายเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติความสามารถในการทำงานดี และทำงานเป็นทีมได้อย่างยอดเยี่ยม และเครือข่ายก็มิเคยได้คัดกรองหรือพยายามตั้งเกณฑ์เพื่อเลือกเอาคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไว้เลย

สิ่งที่ยึดโยงแต่ละคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาไว้ ไม่ใช่ภารกิจการงานหรือบทบาทหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ทว่าเป็นความสนใจในการพัฒนาตัวเองจากข้างใน ได้เรียนรู้จิตใจของตนเองและเชื่อมสัมพันธ์การเรียนรู้นี้กับความรู้ทางวิชาการในสาขาชำนาญการของตนช่วยเหลือสังคม ไปจนถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน

การใฝ่เรียนรู้และหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาที่ทุกๆ คนในเครือข่ายตระหนักและพยายามปฏิบัติอยู่เสมอ

เมื่อย้อนกลับไปยังคำถามถึงแบบทดสอบหรือเครื่องมือคัดเลือกผู้สมัครมาเป็นอาจารย์ใหม่อีกครั้ง ผมก็ยังคงเชื่อว่าเราน่าจะเริ่มที่บุคลากรปัจจุบัน สร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกับคนตรงหน้า

แต่ผมกลับเริ่มรู้สึกว่าเราอาจไม่ต้องใช้วิธีการหรือกระบวนการแบบจิตตปัญญาศึกษาที่ผมเสนอไปแล้วก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องเรียนเรื่องนพลักษณ์และเราไม่ต้องจัดกระบวนการสุนทรียสนทนาเลยก็ยังได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งและเป็นชื่อเรียกขานอีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ขอเพียงเราเริ่มจากตัวเราเองก่อน เรียนรู้ใจตนและพยายามเท่าทันใจตัวเอง วางใจและลงมือทำลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังไม่ย่อท้อ เพียงเท่านี้ปัญหาไหนๆ ย่อมพากันฝ่าข้ามไปได้แน่นอน

วาทกรรมบนลานจอดรถ

วันนี้ขณะกำลังบังคับรถเข้าจอดในช่องจอดบนลานจอดของห้างสรรพสินค้า ยังไม่ทันจะดับเครื่องยนต์ก็เห็นวัยรุ่นหญิงชายคู่หนึ่งเดินเข้ามา ในมือมีกระดาษ ท่าทางบ่งบอกว่าขอเวลาเราสักครู่หนึ่ง ไม่แคล้วเป็นพนักงานขายแนะนำให้ซื้อแพ็คเกจ car care เป็นแน่ ทันทีที่ประเมินจบ ภาษากายโบกมือปฏิเสธก็ออกไปทันที แต่ดูเหมือนทั้งสองไม่ละความพยายาม

เปิดกระจกบอกน้องเขาหน่อยดีกว่าว่าอย่าเสียเวลาเลย พี่ไม่ซื้อหรอก ยังไม่ทันบอกเขาก็ว่าขอให้ทำแบบสอบถาม ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยานิพนธ์ ถ้าอย่างนั้นค่อยน่าช่วยหน่อย ความตั้งใจช่วยกลับมาเต็มที่จนเผลอไปซักถามว่าเขาเรียนชั้นไหน สาขาอะไร ทำไมแบบสอบถามถึงได้ไม่รัดกุมและมีช่องว่างมากขนาดนี้ ไม่มีคำแนะนำ ไม่มีปะหน้าบอกเหตุผลที่มา ครั้นได้รู้ว่าเขาเรียนแค่ปริญญาตรีและนี่คือการเก็บข้อมูลระดับวิทยานิพนธ์ยิ่งน่าหวั่นใจ อดไม่ได้ต้องฝากบอกและสอนให้เขารู้ว่าแบบที่ดีกว่านั้นเป็นอย่างไร รวมทั้งการแต่งกายและภาษาท่าทางของทั้งคู่ว่าทำอย่างไรจึงจะได้รับความร่วมมือขอให้คนอื่นตอบแบบสอบถามได้มากกว่านี้ ไวกว่านี้

แป๊นน เสียงแตรดังขึ้นจากรถคันที่จอดข้างๆ เราหันไปมองกันด้วยความสงสัย ผู้หญิงเจ้าของรถเธอบีบแตรทำไมกัน หันไปเห็นก็เข้าใจเรื่อง มีรถคันหนึ่งจอดซ้อนคันขวางเธออยู่ เสียงแตรของเธอดังขึ้นเพื่อบอกให้พนักงานรักษาความปลอดภัยคนที่ยืนถัดไปอีก 5 เมตรได้ยิน และมาทำหน้าที่เข็นรถให้

ผมเห็นสีหน้าของชายคนนั้น รปภ. หรือยามคนนั้น

แทบจะทันทีหลังจากที่น้องสองคนลาจากไป เขาเดินเข้ามาหาผมแล้วรำพึงอย่างคนอัดอั้นตันใจ แค่นี้เอง ทำไมต้องบีบแตรด้วย ผมแสดงความเห็นใจว่า เธอน่าจะเข็นเองได้ เขาว่านั่นเป็นหน้าที่ซึ่งเขายินดี หากแต่เธอจะบอกเขาหรือกวักมือไม่ได้เชียวหรือ หลายครั้งที่เขารู้สึกแย่อย่างนี้ แต่ยอมรับว่าไม่สามารถแสดงออกโต้ตอบด้วยวาจาได้

ระหว่างทางที่เดินจากมา ใจผมคิดว่าอะไรทำให้คนเราไม่ได้คุยกันตรงๆ ผมด่วนตีตราให้ความหมายของชายหญิงวัยรุ่นสองคนเร็วเกินไป หรือผมระมัดระวังความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของตัวเองมากเกินเหตุ ทำไมหญิงคนนั้นไม่พูดกับชายผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เธอโดยตรง หากเขาเป็นชายในชุดลำลอง ไม่ได้เสื้อผ้าหน้าที่อย่างนี้ เธอจะขอร้องความช่วยเหลือจากเขาด้วยภาษาท่าทางอย่างที่เธอสื่อสารกับเพื่อนของเธอหรือเปล่า?

ประสบการณ์สอนให้เรารู้จักประเมิน สมมติและนิยามสิ่งต่างๆ ได้ แต่กลายเป็นกรงขังหรือเกราะแก้วขวางเราจากเรื่องราวอีกมากมายไปด้วยเช่นกัน ผมรู้สึกขอบคุณน้องนักศึกษาสองคนนั้น และพี่ชาย รปภ.คนนั้น ที่ทำให้วันนี้ผมได้เห็นตัวเองในตัวเอง และเห็นตัวเองในตัวคนอื่น

มหัศจรรย์และสนุกไม่แพ้การชมภาพยนตร์เลยครับ

คุณค่า นิยาม ความหมาย

คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐


วันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรักใกล้เข้ามาทุกที นอกเหนือจากปฏิทินของเดือนกุมภาพันธ์และโฆษณาของห้างร้านตามสื่อต่างๆ แล้ว ยังมีสัญญาณเกริ่นนำเข้าสู่เทศกาลนี้ที่เราพบเห็นได้ง่ายและบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ช็อคโกแลต บัตรอวยพร สิ่งของกระจุกกระจิกรูปหัวใจ และที่ขาดไม่ได้คือดอกกุหลาบ อันเป็นสัญญลักษณ์โดดเด่นที่สุดแห่งเทศกาลนี้

หากเห็นชายหนุ่มหญิงสาวสักคนกำลังถือช่อกุหลาบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกุหลาบสีแดงในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เราแทบจะสิ้นสงสัยว่าเจ้าของดอกไม้ผู้นั้นคงเตรียมไปบอกรักใคร หรือไม่เช่นนั้นคงได้รับบอกรักจากใครสักคนมาแล้วเป็นแน่แท้

เรานึกทึกทักได้ทันทีถึงเพียงนั้น?

โอกาสที่จะทำนายทายผิดนั้นใช่ว่าจะไม่มี เจ้าของมือที่ถือช่อกุหลาบอาจเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้ก็เป็นไปได้ หรือในอีกทาง ถ้าเห็นเขาถือช่อดอกไม้ชนิดอื่น เราก็จะไม่คาดเดาว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบอกรักกระมัง

กุหลาบจึงมีความแตกต่างไปจากดอกไม้อื่น ทั้งที่ตัวของมันเองเป็นเพียงไม้ดอกอีกพันธุ์หนึ่ง มีกลีบมีสีสันเช่นกันกับบุปผานานาพันธุ์ทั่วไป สิ่งที่ทำให้ต่างออกไปเพราะมนุษย์เราได้ให้ “ความหมาย” กับดอกไม้นี้ไปแล้ว ความหมายว่ากุหลาบคือสื่อบ่งบอกถึงความรัก และเป็นรักระหว่างหนุ่มสาวเสียด้วย ดอกไม้ธรรมดาที่ไม่ธรรมดานี้จึงมีความหมายมากกว่าตัวของมันเอง

ในชีวิตประจำวันพวกเราล้วนได้ให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา รถยนต์ไม่ได้เป็นแค่พาหนะพาเราไปจุดหมายแต่เป็นเครื่องบ่งชี้ฐานะของผู้ครอบครอง เสื้อเหลืองเป็นสัญลักษณ์ถึงความจงรักภักดีและเทิดทูนบูชาต่อในหลวง บรรดาสิ่งของ สถานที่ บุคคลและทุกสิ่งมีความหมายต่อเรา เพราะมนุษย์เรานี้เองเป็นผู้ให้ความหมายนั้น

ในแวดวงวิชาการและวงการศึกษาใช้วิธีการให้ความหมายในลักษณะจำกัดให้ชัดขึ้นว่าเป็นการ “นิยาม” เพราะการนิยามมีประโยชน์ช่วยให้ได้ความชัดเจนในสิ่งที่ศึกษาค้นคว้า งานวิจัยทั้งหลายต้องนิยามให้คำหรือแนวคิดที่ใช้ไม่คลุมเครือ ให้การถกเถียงแลกเปลี่ยนอยู่บนเรื่องหรือประเด็นเดียวกัน สำหรับการเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลก สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่มา และสามารถประเมินค่าวัดผลของสิ่งต่างๆ ออกมาได้

ความรู้ของเราเกิดขึ้น พัฒนาและสั่งสมมาเป็นลำดับด้วยวิธีการนี้ เราสามารถใช้คำๆ เดียวนิยามให้หมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งได้ เรานิยามคำว่าความสัมพันธ์ทางสังคมไว้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับแนวคิดทฤษฎี ลงไปจนถึงนิยามเชิงปฏิบัติการสำหรับการวิจัยในขอบเขตพื้นที่และระยะเวลาหนึ่ง เมื่อพูดคำว่าเศรษฐกิจทุกคนมีความเข้าใจเบื้องต้นร่วมกัน

การนิยามยังทำให้เราสามารถแจกแจงส่วนประกอบของสิ่งของหรือเรื่องใดๆ ได้ นำไปสู่ความสามารถในการวัดผล การประเมินผล การตีมูลค่าของสิ่งนั้นได้ด้วย

แต่สำหรับสิ่งของหรือสถานที่บางอย่างที่จับต้องได้ชัดเจน เรากลับไม่สามารถประเมินค่าตีราคาออกมาได้ บางครั้งตัดใจขายออกไป เราถึงกับเสียดายในภายหลัง เพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่เราจะพิจารณาตามปัจจัยส่วนประกอบของมันแล้วประเมินราคาออกมาสมดังใจเราได้

อาคารไม้ชั้นเดียวอายุ ๓๐ ปี ปลูกสร้างบนที่ดินขนาด ๔๐ ตารางวาอยู่ในซอยตัน อาจมีมูลค่าไม่ถึงล้านบาท แต่สำหรับเจ้าของผู้อาศัย ที่นี่คือบ้านอันเปี่ยมล้นด้วยความอบอุ่นและความทรงจำของครอบครัวจากรุ่นปู่สู่รุ่นหลานซึ่งประเมินค่าตีราคาไม่ได้

เพราะสิ่งนั้นมี “คุณค่า” สำหรับเรา เรื่องราวหรือสิ่งของที่เกี่ยวพันกับคุณค่ามักจะเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถให้นิยามได้แน่นอนตายตัว เรารู้แต่ว่ามันมีความหมายต่อเรา จนไม่อาจหามาตรวัดมาระบุปริมาณหรือบอกลักษณะได้ อย่างเช่นความรัก

เราไม่เคยได้นิยามความรักให้กระจ่างออกมาเป็นตัวอักษร ไม่เคยมีการเรียนการสอนในชั้นเรียนการศึกษาภาคบังคับว่าความรักคืออะไร มีองค์ประกอบใดบ้าง อะไรคือคุณลักษณะเฉพาะ แบ่งออกได้เป็นกี่หมวดหมู่ และมีความสำคัญอย่างไร

ทว่าทุกคนเข้าใจ และยอมรับว่ามันมีอยู่จริง ทุกคนรู้จักความหมายของความรักโดยไม่ต้องนิยาม เพราะต่างรู้ซึ้งในใจดีว่าเป็นสิ่งที่มี “คุณค่า” กับเราแต่ละคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราได้สัมผัสกับความรักโดยตรง เมื่อแม่โอบกอดเราอย่างอ่อนโยนทะนุถนอม เมื่อพ่อจับมือจูงเราเดินอย่างมั่นคงปลอดภัย เมื่อได้รับความปรารถนาดีและการเอาใจใส่จากคนอีกผู้หนึ่ง เราสิ้นสงสัยว่าความรักมีอยู่จริงหรือไม่

จิตใจของเรา ชีวิตด้านในหรือจิตวิญญาณของเราก็เฉกเช่นกัน เราตระหนักว่ามันมีอยู่และทรงคุณค่า

การเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาอันว่าด้วยการเรียนเรื่องภายนอกตัว ศึกษาวิชาศาสตร์ต่างๆ ควบคู่กับการน้อมนำเข้ามาสู่ใจ การใคร่ครวญภายในตัวเอง จึงเป็นการเรียนรู้ที่เกี่ยวพันกับการให้ความหมายและการมีคุณค่าสำหรับคนแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องพยายามสร้างนิยามสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้แจกแจงชี้วัดกำหนดประเมินได้

เพราะแหล่งความรู้สำคัญนั้นอยู่ในตัวและเกิดแต่ตัวผู้เรียนเมื่อเขาได้สัมผัสมีประสบการณ์ตรง เป็นความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกับตัวเราและมีคุณค่ากับเราดังเช่นความรักมี หาไม่แล้วคงจะด้อยค่าและไร้ประโยชน์หากไม่มีความหมายต่อชีวิตและสิ้นคุณค่าต่อจิตใจคน