เกือบไปแล้ว


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2555

ในวันหยุดสุดสัปดาห์เมื่อไม่นานมานี้ ผมเลือกพักผ่อนด้วยการไปดูหนังในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงก็ออกจะประหลาดใจอยู่บ้าง เพราะเป็นวันที่มีลูกค้ามารอคิวซื้อตั๋วกันเป็นจำนวนมาก ดูเหมือนผมจะตกข่าวไป ไม่รู้ว่ามีหนังดังเรื่องไหนเข้าฉาย ได้แต่เดินไปเข้าคิวรอซื้อตั๋วหนังเรื่องที่ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะมาดู

ครั้นพอได้ตั๋ว สิ่งแรกที่แวบเข้ามาในหัวคือ ไปรอซื้อน้ำกับป็อปคอร์นไว้กินในโรง ทั้งไม่ได้เฉลียวใจ และไม่ได้ตั้งคำถามต่อการตัดสินใจที่ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ว่า “มาห้าง ดูหนัง สั่งป็อปคอร์น” มันเป็นการเลือกที่ดีแล้วหรือยัง แค่เป็นสิ่งที่คุ้นๆ ว่าทำอะไรสักอย่างแล้วก็น่าจะมีอะไรที่ทำตามๆ กันไปเป็นสูตรสำเร็จ

“ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรนี่นา ใครๆ ก็ทำ” หากจะเอะใจนึกอะไรขึ้นมาได้ คงไม่วายมีข้ออ้างทำนองนี้ในหัว

สถานการณ์หน้าเคาน์เตอร์ขายเครื่องดื่มและของว่างก็แน่นขนัดไม่แพ้บริเวณขายตั๋ว ที่โรงหนังแห่งนี้แม้จะมีถึงสามเคาน์เตอร์สั่งของและคิดสตางค์ แต่ลูกค้าก็มาออกันเป็นแถวยาวจนพนักงานทั้งกดน้ำ ตักข้าวโพดคั่วสารพัดรสจนมือไม้เป็นระวิง ผมเล็งดูแถวที่น่าจะสั้นที่สุดแล้วก็ไปยืนต่อท้าย ความจริงแล้วไม่ว่าจะแถวไหนก็มีสภาพคล้ายกัน คือโย้ไปเย้มา ยืนกองๆ กันบ้าง ไม่มีหรอกที่จะเรียงติดชิดกันเป็นระเบียบ อันนี้ก็สบายๆ ตามสไตล์คนไทยเรา

“ไม่เป็นไรหรอก รอก็แป๊บเดียว จะซีเรียสอะไรมากมาย” ถ้าจะรู้สึกขัดใจขึ้นมาบ้าง ตอนนั้นคงบอกกับตัวเองทำนองนี้

กระทั่งแถวหดสั้นเข้า จึงได้เห็นว่าพนักงานที่ทั้งเก็บสตางค์ทอนเงิน กดน้ำ หยิบขนมและตักข้าวโพดแล้ว เธอและเขาเหล่านั้นยังต้องพูดประชาสัมพันธ์ผ่านเฮดโฟนเป็นระยะ แนะนำและเชิญชวนให้ลูกค้าซื้อเป็นชุดบ้าง บอกรายการส่งเสริมการขายบ้าง ช่างทำงานได้หลายอย่างในคราวเดียวจริงๆ ถึงตอนนี้ผมอยู่คิวที่สองแล้ว ลูกค้ารายก่อนหน้าเป็นชายวัยกลางคน ข้างหลังค่อนไปทางซ้ายน่าจะเป็นลูกหรือหลานชาย วัยราวๆ ประถมปลาย ช่วงไหล่ของน้องก็สูงประมาณเท่าเคาน์เตอร์

พลันที่พนักงานสาวคนคล่องรับสตางค์จากชายคนข้างหน้า เธอก็หันมาหาผมแล้วถามอย่างรวดเร็วว่ารับอะไรดีคะ ผมก็ตอบไปอย่างไวเช่นกันด้วยรายการน้ำขนมที่คิดรอไว้ จะได้ไม่เสียเวลา พนักงานชายก็ไวไม่แพ้กัน ได้ยินปั๊บก็รีบตักแล้วยื่นมาวางอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ผมก้มดูป๊อปคอร์นตรงหน้า สายตาก็พบกับน้องคนนั้น ยังยืนเกาะอยู่ที่เคาน์เตอร์ ในมือขวากำธนบัตรหลายใบไว้แน่น ผมรู้ทันทีว่า ทั้งผมและพนักงานได้ลัดคิวน้องเขาไปแล้ว แม้จะไม่ได้เจตนาก็ตาม ชั่วขณะนั้นในใจนึกขึ้นว่า เราไม่ได้ตั้งใจนะ และน่าสงสารน้องจัง คงเพราะตัวเล็ก คนขายเลยมองข้ามไป คิดยังไม่ทันไร พนักงานสาวก็เอ่ยปากทักไปยังลูกค้าหญิงข้างหลังผมเพื่อถามว่าจะรับอะไรดี ยังไม่ทันที่ผมจะทักท้วงจบประโยคว่า น้องเขามาก่อน เธอก็เหลือบมาเห็น พร้อมตกใจอุทานเบาๆ ว่า อุ๊ย ขอโทษนะคะไม่เห็นเลย

“ไม่เป็นไรมั้ง เราไม่ผิดนะ ไม่ได้ตั้งใจ ก็น้องเขายืนเฉยๆ ไม่พูดอะไรนี่นา” ผมอาจจะคิดอย่างนี้พร้อมกับเดินถือน้ำและขนมออกไปก็ได้ แต่ผมตัดสินใจก้มลงไปใกล้ๆ บอกน้องว่า “พี่ขอโทษนะครับ ที่พี่แซงคิวเราไปแล้ว”

ผมเดินออกมาห่างๆ แล้วมองน้องคนนี้ไกลๆ เขาเดินถือของไปหาแม่ที่ยืนรออยู่หน้าโรง แม้ยังไม่ทันได้ดูหนัง ผมก็ผ่อนคลายแล้วเพราะอิ่มใจ พร้อมกับรู้สึกใจหาย “เกือบไปแล้วไหมล่ะ” เกือบเผลอไผลยอมมักง่ายตามใจให้ปล่อยผ่าน ทำตามอย่างกันไป เกือบไม่ได้ช่วยปลูกวินัยและการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันไปซะแล้ว

ความลับในตัวเรา


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

เราอาจจะรู้สึกกันว่าคนบนโลกทุกวันนี้เรียกร้องการยอมรับกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกร้องให้เรามองเห็นความแตกต่างเป็นความหลากหลาย ไม่ใช่ความแปลกแยกแปลกประหลาด เพราะปมปัญหาหลายอย่าง เราล้วนมีที่มาจากการยอมรับกันไม่ได้ เมื่อมีความต่างก็กลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือการมาคุกคาม มากกว่าจะได้ทำความเข้าใจ และเปิดใจยอมรับ

เราเริ่มตระหนักว่าความสงบสุขและสันติในโลก ในชุมชน และบ้านของเรา จะเกิดขึ้นได้หากเรายอมรับกันและกันได้ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ เช่น ความเชื่อทางการเมือง การใช้ชีวิตตามวิถีปฏิบัติทางศาสนา ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ กระทั่งรสนิยมการกินอาหาร เมื่อเห็นว่าเป็นความต่างที่ยอมรับได้ เราก็ชื่นชมกันได้ เห็นความงาม เห็นความน่าสนใจในคนที่ต่างจากเรา และโลกของเราก็กว้างขึ้นแผ่ขยายออก

เรารู้ว่าการไม่ยอมรับในความต่างบ่มเพาะความอึดอัดขัดใจ เป็นบ่อเกิดของความเกลียดชังที่มีพลังทำลายล้างทุกฝ่ายไม่เว้นกระทั่งตัวเอง หากยอมรับเขาที่ต่างจากเราไม่ได้ อย่างน้อยเราก็แยกตัวตัดขาดจากกัน หนักขึ้นเราก็เห็นเขาเป็นเป้าที่ต้องเข้าไปจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งต้องกำจัดออก

การได้ตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของการยอมรับกันนี้นับว่ามีพลังและเปิดความเป็นไปได้ให้เรามาก แม้จะไม่สามารถยอมรับความต่างของผู้คนในทุกรูปแบบได้อย่างหมดหัวใจก็ตาม อาจยังต้องใช้เวลา หรือต้องการการสนทนาและการฟังอย่างลึกซึ้ง

แต่ขอให้มองไปยังอีกด้าน คือการมองย้อนกลับมายังตัวของเราเอง สิ่งนี้อาจเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งกว่าการดูแลความสัมพันธ์กับคนอื่น นั่นคือการยอมรับความแตกต่างในตัวของเราเอง เพราะมันเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่ อาจไม่เคยเห็นเลยว่านี่คืออีกด้านของความเป็นเรา

การยอมรับตัวเองนี้เป็นคนละสิ่งกันกับความเชื่อว่าเราเป็นใคร และเป็นคนละเรื่องกันกับความชัดเจนในตัวเองว่าเราคือคนแบบไหน อาจกลับกันเสียด้วยซ้ำว่า ยิ่งเราเชื่อว่าเรามีบุคลิกอย่างไร มีความคิดรสนิยมแบบไหน และชัดเจนมากๆ ว่าเราชอบอะไร ทำอะไรได้บ้าง และเป็นอะไรได้บ้างนั้น ยิ่งอาจจะจำกัดให้เรายึดมั่นในความเป็นเราที่คับแคบ และขีดวงปิดกั้นตัวเองเอาไว้มากเท่านั้น


การยอมรับตัวเองคือความสามารถในการมองเห็นและเปิดใจให้กับความไม่ดี ความไม่งาม และความไม่สมบูรณ์แบบในตัวของเราเอง ไม่ว่ามันจะเป็นพฤติกรรมอะไรของเรา เป็นรสนิยมอะไรของเรา หรือเป็นความคิดอะไรในหัวเรา เพราะผู้ที่พิพากษาว่าสิ่งนั้นมันไม่ดี ไม่งาม ไม่สมบูรณ์แบบ คือตัวเราเอง ยิ่งเรายากจะยอมรับความต่างในตัวได้น้อยเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มว่าเราจะรับรู้ตัวเราที่แท้น้อยลงเท่านั้น หนักเข้า เราก็ผลักไสมันไปสู่ความรังเกียจ ความชัง กลายเป็นสิ่งที่ต้องเก็บ ต้องกด ต้องกำจัดมัน

หลายเรื่องที่เป็นเราอาจเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เลือก เช่น สีผิว หรือฐานะ ลึกลงไปก็เช่น นิสัยที่แก้ไม่หาย หรือพฤติกรรมที่ทำจนเป็นร่องเคยชินติดตัว การพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งเหล่านี้ในตัวเรานั้นบางสิ่งก็ทำได้ แต่หลายสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ เราจึงมักปกปิดเอาไว้ กลบเกลื่อนมันไป หรือกดดันตัวเองอย่างหนักไม่ให้ตัวเองเผลอไผลไปเป็น

ตัวเราก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับโลกใบนี้ ในเมื่อเราพยายามอย่างหนักที่จะยอมรับผู้คนที่คิดต่างและเชื่อต่างแล้ว ไฉนเราจำต้องจำกัดเปิดรับตัวเองเพียงบางส่วน หากเริ่มเห็นย่อมเริ่มเข้าใจ และเปิดความเป็นไปได้ในการสร้างสันติให้แก่ตัวเองและโลกของเรา

หยุดก่อน


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

ข้อความบนหน้าจอที่รุ่นน้องคนหนึ่งเขียนไว้ในเฟซบุ๊ค หรือที่คนร่วมสมัยปัจจุบันเรียกทับศัพท์กันว่า อัพสเตตัส นั้น ชวนให้ระลึกถึงเครื่องมือพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ที่เหมือนจะธรรมดา ทว่าทรงพลังมากนัก

เขาว่า ระหว่างที่นั่งทำงาน พลันได้สังเกตเห็นแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องหน้าต่างมาเป็นทาง ตกกระทบสะท้อนเห็นทิศการเดินทางของแสง ในฐานะที่เขาเป็นนักชีววิทยา 'ปรากฏการณ์การเลี้ยวเบนของแสงผ่านช่องเดี่ยว' นี้มันกระตุกใจให้เขาได้นึกย้อนไปตั้งแต่สมัยปริญญาตรีจวบจนมัธยมศึกษา นึกถึงช่วงเวลาที่เคยพบวิชาฟิสิกส์ ความสนุกสนานของบทเรียน และความทรงจำมากมายที่มีต่อครูบาอาจารย์ผู้ประสาท เขาถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์พร้อมเขียนชื่อครูทีละท่าน ย้อนระลึกถึงครูทุกๆ คน

บางครั้งเราอาจเรียกการกระทำทำนองนี้ว่าฟุ้งซ่าน แต่เรามักจะลืมหรืออาจจะมองข้ามด้วยซ้ำว่า ทุกโอกาสของการได้หวนระลึกถึงคุณค่าของประสบการณ์บทเรียนใดๆ และประตูสู่บทเรียนนี้คือ 'การสังเกต' อันเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการเรียนรู้ในจิตตปัญญา ที่บางครั้งถึงกับถูกเรียกขับเน้นให้เป็นพิเศษถึงความสำคัญและทรงพลังว่า “สังเกต สังเกต สังเกต” เพราะมันไม่ใช่เพียงการมองเห็น ได้ยิน รับรู้ และตีความไปตามความเข้าใจเดิม ทึกทักตัดสินไปตามความคุ้นเคยเดิมๆ แต่ให้การรับรู้นั้นนำไปสู่การใคร่ครวญโดยไม่ด่วนตัดสิน

การเริ่มต้นสู่บทเรียนของการทบทวนตัวเองจึงจำต้องกระตุกผู้เรียนให้หันกลับมาหัดสังเกต และสิ่งที่ต้องสังเกตนั้นก็มิใช่อะไรอื่นไกล มันคือทุกสิ่งรอบตัว ให้สังเกตปรากฏการณ์ที่เป็นไปในชีวิตเรา พร้อมกับเพิ่มการสังเกตใจตัวเองไปพร้อมกัน ฟังเสียงความคิดของตัวเองและเท่าทันกับความเชื่อความคุ้นเคยเดิมๆ

การสังเกตเพื่อเข้าให้ถึงใจและเชื่อมโยงไปสู่โลกนั้นจำต้องมีสมดุล และมันจะเกิดขึ้นได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ จนเท่าทันออกจากร่องพฤติกรรมความคิดเดิมๆ

ความเร่งในการใช้ชีวิตด้วยอัตราเร็วดังในปัจจุบันจึงเป็นกำแพงอันหนาหนัก เป็นด่านแรกที่เราต้องฝ่าทะลุไป เราชินกับการตัดสินใจเร็ว คุ้นกับความฉับไว เชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพคือการใช้เวลาน้อย เชื่อมั่นว่าอะไรที่ดีต้องเป็นสิ่งที่ทันใจ ยิ่งเราเชื่อว่าที่เราเป็นอยู่ ที่เราคิดอยู่แบบนี้ คือวิถีที่ใช่ คือเส้นทางเดียวที่ควรจะดำเนินไปสำหรับการเรียนแล้ว กำแพงนี้ก็จะยิ่งหนายิ่งสูงเท่านั้น

การสังเกตนี้อาจเหมือนว่าจะกินเวลา ต้องเฝ้าดู ต้องฟังอย่างตั้งใจ แต่มันเป็นเครื่องมืออันวิเศษที่ทำให้เราใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ ในการเท่าทันจิตใจตัวเอง ในชั่วชีวิตหนึ่งนั้นมีบทเรียนหลายสิ่ง ประสบการณ์หลายอย่าง ผ่านมาแล้วผ่านเลยไป เพียงเพราะเราพลาดไม่ได้หยิบฉวยขึ้นมาขัดเกลาให้เห็นแง่มุมใหม่ของชีวิต ไม่ได้นำมาส่องสะท้อนให้ตระหนักรู้และเข้าใจในความคิดและการกระทำของตัวเอง

การสังเกตที่พาไปสู่การคิดใคร่ครวญ เคยทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยพบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ แอปเปิ้ลที่ร่วงตกพื้นผลนั้นคงเป็นเพียงผลไม้ลูกหนึ่ง ถ้ามิใช่เพราะนิวตันได้สังเกต น้ำที่เอ่อล้นอ่างคงเป็นแค่การอาบน้ำ ถ้ามิใช่เพราะอาร์คีมิดีสทันสังเกต

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วย แต่มาจากการฝึกฝนและเอาใจใส่ในการใช้เครื่องมือพื้นฐานจนกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ หรือว่าจิตตปัญญาศึกษา จะเข้าใจโลกภายนอกหรือน้อมเข้าสู่ภายใน ล้วนมาจากฐานที่เราทุกคนเริ่มได้เหมือนกัน

ฟังถึงใจ


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2555

ความสามารถในการมองทะลุพฤติกรรมและการกระทำไปจนเห็นถึงเบื้องหลังนั้นช่างเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์นัก

ในการประชุมขององค์กรแห่งหนึ่ง ในจำนวนสมาชิกที่ประชุมสามสิบกว่าคนนั้น มีทั้งผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา มีตั้งแต่คนที่อายุงานมาก จนถึงคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ประมาณสองเดือน เรื่องที่คุยกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับขององค์กรของเขา

“เมื่อก่อนหน่วยงานเราเคยได้รับความเชื่อถือมาก เคยอยู่กันอย่างพี่น้อง มีอะไรก็พูดจากันได้ทั่วถึง เดี๋ยวนี้บรรยากาศแบบเดิมมันหายไป อยากให้มันกลับคืนมา” รุ่นพี่ผู้อาวุโสกว่าใครกล่าว

“ใครจะคิดว่าตัวเองเป็นคนพูดตรงก็แล้วแต่เขา ที่บอกก็เพราะเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง อะไรที่ฝ่ายบริหารตัดสินใจไปแล้ว ถ้าไม่เกิดประโยชน์จริงกับคนทำงาน มันก็ต้องพูด เราไม่ได้พูดเพื่อตัวเอง แต่เพื่อทุกคน จะมาเปลี่ยนแปลงหรือห้ามพูดไม่ได้หรอก” เป็นเสียงจากสมาชิกอีกคนหนึ่ง ท่าทางขึงขังจริงจังมาก

“เพิ่งเข้ามาทำงานที่นี่ได้ไม่กี่เดือน ก่อนจะมาก็มีเพื่อนทักนะ ว่าแน่ใจแล้วเหรอ เขาบอกว่าที่นี่ปัญหาเยอะ แต่ในเมื่อตัดสินใจแล้วก็ไม่ถอย เราไม่ได้เข้ามาเพราะเป็นคนของใคร ก็อยากจะรู้จักและเข้ากันได้ทำงานกันได้กับทุกๆ คน” น้องใหม่ขององค์กรกล่าวบ้าง ด้วยน้ำเสียงที่ยังประหม่า แต่ก็เปิดเผยถึงเรื่องที่เธอได้พบมาจริง

หากมองด้วยสายตาทั่วไป และฟังผ่านๆ แล้ว ถ้อยคำบทสนทนาที่เกิดขึ้นในห้องนี้ คงทำให้เกิดจินตนาการต่อไปได้ไม่ยาก ว่าอีกประเดี๋ยว สมาชิกหลากวัยหลายตำแหน่งขององค์กรนี้ คงจะได้ขึ้นเสียง และชักสีหน้าใส่กันแน่ ดีไม่ดีอาจลุกลามกลายเป็นกล่าวโทษกันไปมา หรือพาลทะเลาะบาดหมางเข้าหน้ากันไม่ติด ยิ่งคุยกันด้วยเรื่องปัญหาขององค์กรแบบนี้แล้วล่ะก็ ร้อยทั้งร้อยจบลงที่ต่างคนต่างระบายความไม่พอใจเข้าใส่กัน ต่อเมื่อล่วงเลยเวลาการประชุมแล้วนั่นแหละ ถึงจะล่าถอยไปด้วยความเหนื่อยใจของทุกฝ่าย พอวันรุ่งขึ้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงานตามความรับผิดชอบของตัวเองกันต่อไป ขอแค่ระวังไม่ให้ไปกระทบกระทั่งหรือเผลอเหยียบตาปลากันเข้าก็พอ

แต่ในห้องประชุมนี้ ไม่ได้มีปรากฏการณ์ตกร่องซ้ำรอยดังกล่าว อีกทั้งสมาชิกทุกคนยังได้พูดได้บอกสิ่งที่คิดออกมา และไม่เพียงสิ่งที่คิด แต่ยังรวมถึงความรู้สึกภายในใจ ขณะที่คนหนึ่งพูด คนที่เหลือก็พยายามฟังอย่างตั้งใจ ไม่มีใครขัด ไม่มีใครขอใช้สิทธิพาดพิง หรือส่อสัญญาณฮึดฮัดรำคาญใจ

เพราะทุกคนกำลังอยู่ในระหว่างการฝึกฝนการฟัง และกล้าเปิดเผยความจริง เพื่อจะได้มองถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่าปัญหาขององค์กรจากหลากมุมหลากแง่ต่างๆ กัน แต่ทุกคนมีความต้องการเบื้องลึกในใจที่งดงามและยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

เพราะการกระทำ คำพูด และการแสดงออกใดๆ ไม่ได้เป็นเพียงความโกรธกริ้ว ไม่ใช่การทำร้ายทำลายกัน มิใช่การโยนความผิดออกไปให้พ้นตัว สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งเพียงเล็กน้อยที่โผล่พ้นผิวน้ำ เบื้องใต้ลึกลงไปยังมีความต้องการที่อยากจะมีความสุขในการทำงาน ต้องการความมั่นคง ต้องการความภาคภูมิใจ และต้องการความยุติธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความต้องการเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมายในองค์กร

การฟังที่เกิดขึ้นนี้ช่างน่าอัศจรรย์ใจ เหตุการณ์การระบายออกถึงปัญหาของคนทั้งสามสิบกว่าคนนี้จึงไม่ได้นำไปสู่ความไม่เข้าใจ ตรงกันข้าม ต่างพยายามที่จะเข้าใจกัน เป็นการฟังที่ไม่ได้ยินแต่เสียง ยังเปิดใจรับฟัง และร่วมกันค้นหา จนค้นพบความต้องการอันงดงามภายใน นำไปสู่ความเข้าใจ และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ที่จะฝ่าฟันปัญหานี้ไปด้วยกัน

ไข่ขาวกับไข่แดง


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2555

ช่วงเริ่มต้นของการฝึกอบรมเรื่องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองในเกือบทุกครั้ง เรามักเริ่มเตรียมผู้เรียนให้พร้อม ด้วยแผนภาพง่ายๆ ภาพหนึ่ง เป็นภาพวงกลมซ้อนกันสองวง เราเรียกมันว่าไข่ดาว แสดงถึงสภาวะของการเรียนรู้สองลักษณะ พื้นที่วงในที่คล้ายไข่แดงนั้น คือพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone หมายถึงสภาวะส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยดีในชีวิตประจำวัน และเรามักจะแสดงพฤติกรรมการเรียนรู้ตามแบบแผนที่เราทำมาจนติดเป็นนิสัย ซึ่งปรากฏชัดโดยเฉพาะตอนที่เราอยู่บ้าน กับครอบครัว หรือเพื่อนที่รู้จักสนิทสนมกันดี สภาพเช่นนี้ทำให้เราเคยชินในการแสดงปฏิกิริยาต่างๆ ออกมา เช่น พูดคุยด้วยน้ำเสียงแบบนี้ โต้ตอบกันเร็วโดยไม่ทันคิดตริตรอง หรือทันทีที่ถึงบ้านเราก็นั่งจ่อมที่โซฟา และกดหาช่องรายการที่ดูเป็นประจำ เป็นการเลือกรับรู้ข้อมูลแบบเดิมๆ ทำนองเดิมๆ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นลักษณะการเติมข้อมูลบางส่วน และสร้างแบบแผนพฤติกรรมจนชำนาญ สามารถเป็นไปโดยอัตโนมัติ

ในแง่ดี นี่ก็เป็นฐานของการสร้างทักษะ ทำให้มีความสามารถในการค้นหาข้อบกพร่องจนทำให้มีความรอบคอบ เกิดประสิทธิภาพเพราะใช้เวลาน้อยลง

แต่ในทางกลับกัน สภาวะปลอดภัยนี่เองที่เราปิดกั้นจะเผชิญหน้ากับสิ่งแปลกใหม่ของชีวิต และขาดการเรียนรู้ที่อาจพลิกผัน ไม่ว่าจะเป็นการจองที่นั่งหลังห้องสัมมนาก็ดี การหลบตาหลีกเลี่ยงวิทยากรผู้สอนก็ดี หรือคนที่คอยตอบคำถามอยู่ตลอด และใช้เวลาพูดอธิบายมาก ก็อาจพลาดบทเรียนสำคัญที่จะได้จากเพื่อนคนอื่นร่วมชั้นเรียนก็เป็นไปได้

อีกสภาวะหนึ่งในพื้นที่วงรอบนอก เป็นเสมือนไข่ขาว คือพื้นที่ท้าทาย หรือ Risk Zone เป็นสภาพการณ์ที่เราไม่คุ้นเคย เพราะเต็มไปด้วยความเสี่ยงว่าเราอาจจะทำอะไรผิดพลาด ไม่มีแนวทางบอกว่าควรจะต้องทำตัวอย่างไร มันอาจจะเป็นสถานที่แปลกใหม่ หรือการอยู่กับผู้คนที่เราไม่เคยรู้จัก หรือแม้แต่การต้องทำต้องแสดงพฤติกรรมอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำ

สำหรับแต่ละคนแล้ว พื้นที่ท้าทายนี้จะแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่มีร่วมกัน คือความรู้สึกของเราที่ไม่นิ่ง อาจตื่นเต้น หรือกระวนกระวาย แม้กระทั่งอึดอัด จนถึงหวาดกลัว ทว่าในทางกลับกัน อีกด้านของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราคือความไม่ประมาท ความรู้ตัว ความประหลาดใจ ไปจนถึงความอัศจรรย์ใจ

ด้วยวิถีชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตในเมืองที่เป็นระบบดังปัจจุบันนี้ การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของพวกเราจึงมักเกิดขึ้นในพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่เราในสมัยเด็กๆ นั้น เราเติบโตขึ้นมาในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงและแปลกใหม่อยู่เสมอ และเต็มไปด้วยความท้าทายว่าตัวเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง อะไรที่ทำให้เราสนุก อะไรที่เป็นอันตรายต่อเราบ้าง มันจึงเป็นการเรียนรู้ที่เปลี่ยนเราถึงรากฐานและให้มุมมองใหม่ต่อชีวิตและโลก

ทั้งไข่ขาวและไข่แดงต่างเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่เติมเต็มกันและกัน ที่กล่าวมาข้างต้นก็มิใช่ว่าเราจำเป็นจะต้องเสาะหาการเรียนรู้ในพื้นที่ท้าทายเสมอไปทุกครั้ง บางอย่างที่เสี่ยงเกินไป ก็อาจทำให้สภาวะจิตใจของเราสั่นไหว จนเข้าสู่การปกป้องระวังภัย และไม่อาจเกิดการเรียนรู้ก็เป็นได้

เพียงแต่ว่าในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองนั้น อาจต้องเริ่มจากการท้าทายความเชื่อบางอย่างในใจที่เรายึดมั่นถือมั่นเอาไว้โดยไม่รู้ตัว หรือผลักดันให้เราเผชิญสภาวะไม่คุ้นเคยและแปลกใหม่ เพื่อให้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนตัวเอง เป็นการเติบโตจากไข่แดงไปสู่ไข่ขาว เพราะมันเป็นคือก้าวสำคัญของการเข้าใจและยอมรับตัวเอง

สามฐานการเรียนรู้


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2555

เวลาเราพูดกันถึงการเรียนรู้ โดยมากเรามักจะหมายถึงการจดจำเนื้อหา และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องและเน้นไปที่การใช้ฐานคิดทั้งสิ้น

แต่ในการเรียนรู้อย่างสมดุล และการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม เพื่อการเข้าใจตนเองและโลกนั้น เราหมายถึงเรื่องการเรียนที่มากไปกว่าฐานคิด หรือการใช้สมองจดจำวิเคราะห์เท่านั้น เรายังหมายถึงการใช้ฐานใจ คือความรู้สึก สภาวะอารมณ์ และฐานกาย คือสัญชาตญาณ และสัญญาณจากร่างกายของเราอีกด้วย

เป็นการเรียนรู้ทั้งสามฐานที่เกื้อหนุนสัมพันธ์กัน ไม่ได้แยกขาดเพื่อใช้เพียงฐานใดฐานหนึ่ง

หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า การเรียนทั่วไปในระบบนั้นมุ่งเน้นเรื่องการจดจำรายละเอียดเนื้อหา เน้นความสามารถในการวิเคราะห์คำนวณ ดังปรากฏในการสอบประเมินวัดผลทั้งหลาย ที่เกือบทั้งหมดใช้การทำแบบทดสอบในห้อง และต้องเป็นแบบทดสอบมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย

ส่วนการเรียนที่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับฐานใจ และฐานกาย มักถูกแยกออกไปเป็นอีกสายวิชา ขาดความสัมพันธ์สอดร้อยกันกับบทเรียนในส่วนที่เป็นเนื้อหา ยากจะเข้าใจความเป็นองค์รวมของตัวเองที่ไม่อาจแยกส่วนออกจากกัน ดังเด็กน้อยที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการทางสติปัญญา เรียนรู้ตัวเลข หัดพูดหัดเลียนแบบภาษา ลองเล่นดินลองละเลงสี และออกวิ่งปีนป่าย เป็นการเรียนที่หนุนเสริมทั้งสามฐานขึ้นมาพร้อมๆ กัน การเป็นผู้ใหญ่ก็ใช่เป็นเหตุผลที่เราจะปฏิเสธการใช้ฐานใจและฐานกายในการเรียนรู้

เราอาจคุ้นเคยกันมากับการเรียนในห้องเรียนที่ใช้ฐานคิด แต่ต้องย้ำเตือนกันเสมอว่า นั่นยังไม่ใช่การเรียนทั้งหมดของชีวิต

บางสถานการณ์ในชีวิต เราอาจใช้ทฤษฎีที่เราจดจำมาเพื่อแก้ไขจัดการปัญาที่เราเจออยู่ได้ แต่ยังมีอีกหลายสถานการณ์ ที่การใช้ฐานคิดนั้นไม่ช่วยให้เราพบวิธีที่ใช่สำหรับเราเลย

เพื่อนผู้เข้าร่วมอบรมการเรียนรู้เรื่องสมดุลสามฐานคนหนึ่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เธอเป็นคนที่มีความมั่นใจ กล้าพูด กล้าทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นงานที่ตัวเองเคยทำและรับผิดชอบมาแล้ว และทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเห็นคุณสมบัตินี้ชัดเจนในตัวเธอ ทว่าเมื่อเรากำลังเข้าสู่บทเรียนเรื่องการเปิดรับข้อมูลจากฐานใจและฐานกาย เรียนรู้การออกจากร่องพฤติกรรมเดิมๆ ที่ใช้ความคิดจนเคยชิน จนกลายเป็นความถือมั่น เชื่อว่าตัวเราเป็นเช่นนั้น เธอบอกว่าเธอได้พบความอัศจรรย์ใจ

ในกิจกรรมนี้ เราต่างคนจะลองใคร่ครวญด้วยตัวเราเอง ทบทวนว่าในขณะนี้เราปรารถนาอยากได้พลังเช่นใดมาไว้สำหรับการทำงาน มีคนจำนวนไม่น้อยบอกว่าต้องการศรัทธา บ้างก็ว่าต้องการความอดทน แต่เธอกลับบอกว่า “ต้องการความมั่นใจ” เธอว่านี่แหละคือคำตอบที่ได้จากการฐานกาย ในทางความคิดความเชื่อแล้วเป็นคนมั่นใจ แต่เมื่อให้เวลาสังเกตใจสังเกตกายของตนแล้ว กลับไม่รู้ว่าทำไมคำตอบยังเป็นต้องการความมั่นใจ

ครั้นให้เวลาอีกนิด จึงค้นพบและยอมรับได้จริงว่าในสัปดาห์หน้าจะต้องไปประชุมเรื่องสำคัญกับแหล่งทุน สำคัญมากจนเธอยอมรับว่าลึกๆ เริ่มหวั่นไหวไม่แน่ใจว่าจะทำได้อย่างที่คิด เธอบอกขอบคุณฐานกายที่เป็นขุมความรู้อีกแหล่งในตัว ที่ช่วยยืนยันว่าชีวิต ณ ขณะปัจจุบันนี้กำลังต้องการอะไร

สำหรับการเรียนของเราแต่ละคน บ้างอาจเรียนเพื่อใช้เนื้อหาสำหรับวิชาชีพ บ้างก็อาจเรียนเพื่อใช้ทักษะไปประกอบอาชีพ แต่การใช้ชีวิตอย่างเท่าทันกับความเป็นไปของโลกภายในตัวเรา เป็นสิ่งที่ไม่อาจละทิ้งพลังความรู้อันสะสมไว้ในฐานหนึ่งฐานใดได้เลย

พบพลัง


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2555

ผมเพิ่งกลับจากการประชุมของเครือข่ายองค์กรภาคสังคมกลุ่มหนึ่งได้ไม่นาน แต่สิ่งที่ยังติดอยู่ในความคิดที่ยากจะลืมเลือนได้ง่ายๆ คือรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ แววตาที่เป็นมิตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดที่ว่า “เราน่าจะได้มาเจอกันให้บ่อยกว่านี้นะ มีอะไรเราจะได้ช่วยเหลือกัน”

ย้อนกลับไปราวสองเดือนก่อนที่การประชุมนี้จะเกิดขึ้น ตอนนั้นผู้ประสานงานการประชุมแทบจะกุมขมับแล้วถอดใจ อยากจะยกเลิกนัดหมายครั้งนี้เสียด้วยซ้ำ ถ้าหากไม่เป็นเพราะตั้งใจไว้แล้วและมีงบประมาณสำหรับจัดกระบวนการให้แก่ตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายร่วม ๒๐ กว่าแห่ง ด้วยว่าทุกองค์กรนั้นก็มีภารกิจมากมาย ตารางนัดหมายก็แสนแน่น ยิ่งถ้าตรงกับวันเสาร์อาทิตย์แล้วยิ่งยาก เพราะเป็นเวลาที่จัดกิจกรรมจิตอาสาบ้าง มีงานลงพื้นที่ชุมชนบ้าง

แต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นจนได้ ชนิดที่เรียกว่าต้องตัดใจ ไปกันได้น้อยกว่าที่คาดก็ไม่เป็นไร และคนจำนวนหนึ่งติดพันภารกิจทำให้มาประชุมได้แค่ครึ่งทางก็ต้องกลับก่อนก็ไม่เป็นไร สุดท้ายการประชุมจึงเกิดขึ้นได้ในที่สุด

ตลอดเวลาสามวันของการประชุม ที่มีผู้เข้าร่วมสิบกว่าองค์กรจำนวนร่วมสามสิบกว่าคน เกือบครึ่งยังไม่เคยได้พบเจอกัน และมีถึงหนึ่งในสามที่ยังเป็นน้องใหม่ในวงการ บางคนเพิ่งทำงานมาได้เพียงสามเดือน บางคนก็สองปี เราจึงใช้กระบวนการทำความรู้จักกันไปพร้อมกับการทำความรู้จักงาน การรู้จักกันนั้นก็เป็นการเปิดเผยชีวิต บอกเล่าการเดินทางของชีวิต จุดพลิกผัน และการตัดสินใจครั้งสำคัญ จนถึงวันนี้ที่มีบทบาทหน้าที่อะไรอยู่ในองค์กรอยู่ในชุมชนของตน เป็นการรู้จักความเป็นมาของกันและกันที่มันเป็นหนึ่งเดียวกับงานที่ต่างคนได้เลือก และได้ภาคภูมิใจในงานของตน

ผ่านไปเพียงคืนแรก เราก็แทบจะเป็นเสมือนเพื่อนพี่น้องที่เข้าอกเข้าใจในหลายๆ เรื่องที่เราสนใจเหมือนๆ กัน และแทบจะเป็นเหมือนครอบครัวที่ยอมรับเคารพในความแตกต่างของความสนใจที่เรามีหลากหลายผิดแผกกัน พอถึงคืนสุดท้าย เราร่วมขับร้องเพลงคลอกัน เพลงต่างยุค ต่างอารมณ์ แต่ได้รับรู้สัมผัสถึงพลังชีวิตและแรงบันดาลใจของทุกๆ คน

พร้อมกันนั้น การประชุมยังบรรลุผลลัพธ์อันเลิศ เราได้แลกเปลี่ยนทักษะความรู้กันอย่างทั่วถึง ได้สรุปและถอดบทเรียนความรู้ที่แต่ละองค์กรได้ทำงานมาตลอดทั้งปี ได้เห็นทิศทางที่เราจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน และเกิดความเป็นไปได้ที่จะประสานให้ความช่วยเหลือกัน

สุดท้ายของการจากลา หลายคนบอกว่า “อยากจะพบกันอีก” และพูดแทบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหมือนได้เติมพลัง ได้กลับมาพบที่ๆ ทำให้รู้สึกว่านี่แหละ คือ ที่ของเรา” ช่างเป็นประโยคสรุปการเดินทางของเวลาสามวันสองคืนที่งดงาม และเผยความรู้สึกดีๆ ออกมามากมาย เป็นถ้อยคำที่สะกิดใจเราว่า อะไรนะที่มันเคยยับยั้งรั้งเราเอาไว้จนเกือบไม่ได้มา อะไรนะที่เจียนจะทำให้เราพลาดโอกาสการได้สัมผัสกับพลังและการมาให้มารับกำลังใจจากกันและกัน

ภาระงานตรงหน้าอาจจะสำคัญและเร่งด่วนจริง จนทำให้หาเวลานัดหมายกันไม่ได้ จนกลายเป็นว่าต้องรีบจัดการสะสางให้เร็วขึ้นให้มากขึ้นอีก หลงลืมไปชั่วขณะว่าเราก็กำลังตกร่องกระแสความเชื่อหลักของการเน้นงาน พาลทึกทักไปว่าการมาพบปะเพื่อประชุมในวาระของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้มีความสำคัญในระดับรองลงไป ลืมไปว่าการหยุดพัก กลับมาทบทวนตัวเอง หันหน้าเข้าหาเพื่อเรียนรู้จากบทเรียนในชีวิตจริงของเพื่อน ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและงาน เป็นส่วนที่ทำหน้าที่เยียวยาบาดแผลร่องรอยของการตรากตรำทำงาน และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้ชื่นชมความสำเร็จในงานของกันและกัน

การพักมาเพื่อพบได้มิตร เป็นการพักเพื่อเพิ่มพูนกำลัง เป็นพักที่มิได้ละเลยภาระ เป็นพักที่ได้พบปะ และย้ำบอกหัวใจเราอีกครั้งว่า การพบเพื่อเรียนรู้จากกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตและงานของเรา

สอบชีวิต


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2555

ผมอยากจะใช้พื้นที่เล็กๆ นี้ให้กำลังใจและขอบพระคุณอาจารย์ท่านหนึ่ง

เธอมีอาชีพที่สังคมให้การยอมรับนับถือมากที่สุดอาชีพหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นอาจารย์สอนในสถาบันผลิตบุคลากรดังกล่าวด้วย

บรรดาลูกศิษย์ของเธอ หลังจากที่ต้องคร่ำเคร่งเรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติภายใต้การดูแลชี้แนะจากเธอและเหล่าคณาจารย์เป็นเวลาหลายปีแล้ว ก็ถึงคราวต้องสอบวัดระดับความรู้ความสามารถด้วยข้อสอบมาตรฐานชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่ทุกสถาบันในไทยต้องสอบพร้อมๆ กัน

การสอบครั้งนี้ใช้ข้อสอบที่อาจารย์หลากสถาบันทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็น กำหนดเนื้อหาที่จะทดสอบ ตลอดจนตั้งโจทย์คำถาม ผลของการสอบนี้ นอกจากมีผลชี้ว่านักศึกษาจะได้รับอนุมัติใบประกอบวิชาชีพชั้นสูงหรือไม่แล้ว ยังเป็นตัวชี้มาตรฐานเทียบเคียงระหว่างสถาบันทุกแห่งไปด้วยกลายๆ เนื่องว่าการประกาศผลนั้นถูกจัดเรียงลำดับจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรื่อยลงมา

ด้วยเหตุที่เป็นข้อสอบที่ส่งผลมากถึงขนาดนี้ อาจารย์บางสถาบันจึงมักจะบอกข้อสอบให้แก่ลูกศิษย์ของตนเอง

เมื่อผลสอบประจำปีนี้ออกมา คะแนนสูงๆ มีการเกาะกลุ่มกันมากจนแทบจะเห็นว่าสถาบันใดบ้างที่อาจมีการบอกข้อสอบกัน แต่คะแนนที่เกาะกลุ่มกันนั้น ไม่ใช่คะแนนจากลูกศิษย์ของเธอ เรียกได้ว่าลูกศิษย์เหล่านี้บางคนไม่ผ่านเกณฑ์การวัดครั้งนี้เสียด้วยซ้ำ ทั้งที่เธอมั่นใจว่าพวกเขามีความรู้ความสามารถและทักษะทางวิชาชีพสมกับที่ได้ฝึกฝนร่ำเรียนมานานปีอย่างเต็มภาคภูมิ

เหตุผลนั้นอาจเป็นเพราะว่า เธอไม่ยอมบอกข้อสอบใดๆ ให้แก่ศิษย์เพื่อไปเตรียมการสอบครั้งนี้

ผลอันดับคะแนนสอบครั้งนี้ ครั้งที่ตัวเลขอันดับและเลขคะแนนได้ชี้บอกถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสถาบัน มันส่งผลสะเทือนความรู้สึกของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวนักศึกษาผู้สอบ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และตัวเธอเอง ผู้เสียใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครในฐานะอาจารย์

ความเสียใจนั้นยิ่งเท่าทวี เมื่อมีคำพูดจากคนในสถาบันมาถึงเธอทำนองที่ว่า “แล้วเป็นไงล่ะ ปีหน้ายังจะกินอุดมการณ์อีกหรือเปล่า”

ราวกับโชคชะตาได้เล่นตลกกับผู้มีศรัทธา ประหนึ่งว่าโลกกำลังสั่นคลอนผู้ที่พยายามก้าวย่างอย่างมั่นคงไปบนวิถีแห่งความเชื่อ เธอได้ปฏิบัติหน้าที่ของครูอย่างเต็มที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี และเมื่อถึงคราวที่ศิษย์ต้องก้าวผ่านบททดสอบสำคัญของการเรียนรู้ เธอจึงให้เขาเหล่านั้นไปเผชิญหน้าและรับผิดชอบมันอย่างเต็มที่ด้วยตัวของเขาเอง

อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่เรียกความเชื่อนี้ว่าอุดมการณ์ แล้วหลีกเลี่ยงการเดินบนวิถีทางอันแตกต่าง เลือกเดินไปบนทางที่เสี่ยงน้อยกว่า เป็นเส้นทางตามกระแสที่คนส่วนมากกำลังพากันเดินไป ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ผมขอให้กำลังใจเธอผู้นี้ ผู้ที่เลือกเส้นทางที่ไม่ง่าย เส้นทางอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในการเรียนรู้ เส้นทางที่ให้ความสำคัญแก่ความซื่อตรงมากกว่าอันดับคะแนนเทียบเคียง และชื่อเสียงชั่วคราว

ผมขอขอบพระคุณเธอที่เป็นครูด้วยหัวใจ ไม่ได้เป็นเพียงครูผู้ให้เนื้อหาทักษะวิชาชีพ แต่ยังเป็นครูผู้สอนความเชื่อในชีวิต สอนความศรัทธาต่อการเรียน และสอนความภาคภูมิใจในตนเองให้แก่ศิษย์

คะแนนสอบของนักศึกษากลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ดีเด่นและสวยงามตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่เชื่อเหลือเกินว่าเขาเหล่านี้ได้พบกับบทเรียนสำคัญจากครู และได้ผ่านบททดสอบอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ทำให้ต้องตัดสินใจว่าจะยืนหยัดในความเชื่อที่อาจารย์ได้แสดงให้เห็นต่อไป หรือจะยอมเอนไหวแปรไปกับโลกที่เคลื่อนกันตามกระแสอันดับนิยมและชื่อเสียง

ผมขอใช้พื้นที่นี้เพื่อส่งกำลังใจ สำหรับความกล้าหาญที่อาจารย์เลือกจะยืนหยัดทำในสิ่งที่เชื่อมั่น และขอบพระคุณอาจารย์ที่ได้เป็นบทเรียนทรงคุณค่าสำหรับศิษย์ จริงทีเดียวว่า การสอบครั้งนี้อาจใช้วัดมาตรฐาน แต่มันก็ได้สอบวัดความเชื่อของการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายไปแล้วเช่นกัน

ต่างวิธี


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2555

ไม่กี่วันก่อน รุ่นน้องคนหนึ่งมาขอปรึกษาเรื่องว่าด้วยการจัดค่ายรับน้องของภาควิชา จำนวนนักศึกษาและอาจารย์ รวมทั้งรุ่นพี่บัณฑิตที่จะไปร่วมงานนี้ทั้งหมดก็นับว่าเกินสองร้อยคน โดยพากันออกเดินทางจากกรุงเทพไปยังจังหวัดชายทะเล งบประมาณที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยก็ไม่พอจัดการ ต้องขอให้เฉลี่ยช่วยกันจ่าย รุ่นน้องก็น้อยหน่อย รุ่นพี่ที่ยิ่งอาวุโสก็ยิ่งควักมากขึ้น

แน่นอนว่าในฐานะคนดูแลเรื่องการประสานงานค่าย เขาต้องรับมือจัดการกับปัญหาสารพัด ทั้งเรื่องรถ จัดแบ่งคนลงห้องพัก เตรียมเบิกเงินสดไว้ใช้จ่าย สั่งทำเสื้อและขนย้ายอุปกรณ์ทั้งหลายประดามี แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจที่สุดที่เขาเอามาขอคำปรึกษา

“ผมว่ากิจกรรมมันดูจะเน้นเที่ยวเฮฮาจังเลย ทำยังไงดีครับ วันแรกให้ทำกิจกรรมสบายๆ ก่อน วันที่สองเป็นกิจกรรมสืบค้นการเรียนรู้ แต่วันสุดท้ายยังนึกไม่ออก อยากให้น้องๆ ได้อะไรไปมากกว่าความสนุก”

เขายังบอกด้วยว่า ได้พยายามอย่างมากในการชักจูงใจเพื่อนที่ร่วมประสานงานค่ายให้ทุกคนเห็นดีเห็นงามตามด้วย แต่ดูเหมือนผลลัพธ์ก็กลับจะไม่ค่อยดีนัก

“พวกเราในชั้นปีก็มีโจทย์ท้าทายเรื่องความสัมพันธ์กันอยู่เป็นทุนเดิมด้วยแหละครับ ก็มีที่แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ อยู่แล้ว พอมีงานแบบนี้มันก็เหมือนต่างคนต่างเห็นไปคนละอย่าง เพื่อนบางคนอยากให้ไปผ่อนคลาย บางคนอยากให้ไปทำกิจกรรมบันเทิง พี่ก็รู้ว่ากิจกรรมพวกนั้นมันไม่ค่อยได้ผลหรอก”

ผมตอบไปว่า “ใช่ กิจกรรมบันเทิงไม่ช่วยในการดูแลความสัมพันธ์เชิงลึกได้จริงๆ อันนี้เห็นด้วย แต่อย่าลืมนะ เราเคยพบกิจกรรมที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ด้านในมาแล้ว ส่วนคนอื่นน่ะยัง สาเหตุที่เขาไม่ยอมเอาตามเรา อาจจะไม่ใช่เพราะต่อต้าน แต่เพื่อนๆ เขาเพียงแต่เชื่อว่าวิธีของเขาก็เป็นวิธีหนึ่งในการดูแลรักษาความสัมพันธ์ของรุ่นพี่รุ่นน้องในภาควิชาเช่นกัน”

ข้อสังเกตนี้ทำให้เขานิ่งลงและเปิดโอกาสให้ได้ใคร่ครวญภายในใจตนเอง เพราะตลอดเวลาที่เขาเล่ากึ่งระบายออกมานั้น มันเต็มไปด้วยความทุกข์และอึดอัด ในหัวมีแต่ความไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนดูเหมือนไม่ยอมรับกิจกรรมกระบวนการดีๆ ที่ตนเองเสนอ

“รู้ไหมว่าพี่เห็นอะไรชัดในตัวเรา?” ผมเฉลยโดยไม่รอคำตอบ “มันคือความมุ่งมั่นและตั้งใจดีต่อภาควิชาของเราไง และเพื่อนๆ เขาก็มีความมุ่งมั่นและตั้งใจดีนี้เหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันก็เป็นเพียงแค่วิธีการ แล้วตอนนี้ที่เราอึดอัดใจกันในหมู่คนทำงาน ก็เพราะว่าเราเอาวิธีการมาประชันแข่งขันว่ากิจกรรมของใครจะได้ถูกใส่ในกำหนดการ”

คำถามสำคัญที่เขาจะต้องตอบก็คือ เขาให้ความสำคัญแก่อะไรมากกว่ากัน ระหว่างความสำเร็จของค่ายสามวันนี้ กับความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนไปอีกหลายปี แน่นอนว่าคำตอบคือประการหลัง

การดูแลความสัมพันธ์ให้ดี จึงมิใช่เพียงใช้วิธีการจัดกิจกรรมกระบวนการดีๆ ในสามวันนั้นข้างหน้า แต่คือการอยู่กับปัจจุบัน ดูแลวาระของเพื่อนๆ ตรงหน้า มองทะลุวิธีการไปให้เห็นความมุ่งมั่นและตั้งใจดีของเขาที่มีเหมือนกันกับเรา หากยังดึงดันจะใช้วิธีการของเราก็เท่ากับบังคับใจกัน ไฉนเลยจะได้ใจกลับมา

บทสรุปจึงจบลงตรงที่รุ่นน้องผู้นี้เห็นแล้วว่าจะต้องมีกิจกรรมบันเทิงของเพื่อนอยู่ในกำหนดการค่าย ไม่ใช่เพราะว่าควรยอมๆ กันไป แต่เขาจะยินดีร่วมงานเฮฮานั้นอย่างสนุกสนานเต็มที่ ยอมให้ตัวเองถูกดูแลด้วยวิธีการที่ต่างออกไป และเปิดใจเพื่อให้เข้าถึงเพื่อน เพื่อให้สื่อถึงกัน สื่อให้ถึงสิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นตั้งใจดีที่ไม่ยึดติดในวิธีการของใคร

ให้ชื่อ


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2555

เมื่อราวหนึ่งดือนก่อน เพื่อนสมัยเรียนมัธยมที่อยู่ต่างเมืองโทรฯ มาบอกข่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นดีใจว่าได้เป็นพ่อคนแล้ว ลูกสาวคนแรกและแม่แข็งแรงปลอดภัยดี จึงได้ถามไปว่าตั้งชื่อให้แล้วหรือยัง เพื่อนบอกให้ชื่อว่า “แอล” ฟังดูแล้วเข้าที เข้าใจตั้งให้คล้องกันกับชื่อพ่อและชื่อแม่ ใช้อักษร อ. จากชื่อ “อาร์ต” ของพ่อ และล้อความหมายไปพร้อมกับพ้องอักษรในภาษาอังกฤษของ “เล็ก” ซึ่งเป็นชื่อแม่ เพื่อนถึงกับทักว่านี่เป็นคนแรกเลยนะที่เดาถูก ไม่ต้องอธิบายว่าชื่อแอลนี้เป็นมาอย่างไร

นึกถึงหลานตัวน้อยก็พลอยคิดว่า เธอจะรู้ไหม ว่าพ่อและแม่รักและเอาใจใส่เธอแค่ไหน ลำพังการตั้งชื่อก็บรรจงคัดสรรมาให้เป็นอย่างดีและพิถีพิถัน สื่อถึงความผูกพัน และสายสัมพันธ์โยงใยเกี่ยวร้อยถึงกันในครอบครัว

เราอาจจะมองเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาทั่วไปก็ได้ ที่ชื่อของสมาชิกใหม่ในบ้าน มักจะต้องมีคำพ้องเสียงกับคนในครอบครัว หรือชื่อนั้นอาจถูกตั้งตามสมัยนิยม มีชื่อแนวภาษาต่างประเทศมากมายในยุคนี้

แต่หากเราใช้หัวใจและความรู้สึกเข้าไปสัมผัส เราจะรับรู้ถึงความปลื้มปิติ ความยินดี ความรัก ความผูกพัน และความหวังที่เขามีให้แก่กัน ผ่านชื่อนี่เอง

ในวัฒนธรรมชนเผ่า ซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็ก และพึ่งพาอาศัยธรรมชาติมาก เขาให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อเป็นอย่างยิ่ง มีชื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความหมายหลากหลายในตัวบุคคล เมื่อยังอ่อนวัย เด็กหญิงชายจะถูกเรียกด้วยชื่อหนึ่ง ครั้นเติบโตเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวที่สามารถมีครอบครัว ล่าสัตว์หาอาหาร และปกป้องเผ่าได้ จึงจะถูกให้ชื่อขนานนามอันเหมาะสมแก่บทบาทฐานะ

สถานภาพใหม่ในเผ่า มิใช่ได้มาเพราะแค่มีอายุถึงกำหนด แต่มาจากการได้แสดงศักยภาพ แสดงความสามารถที่ตนมีอย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงวัยใหม่ และสถานภาพนี้ก็ได้ถูกประกาศให้สมาชิกทุกคนได้รับรู้ผ่านการให้ชื่อนั่นเอง

ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ตัวละครชาวผิวขาวผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเผ่าอินเดียนแดง จะได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกเผ่าอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเขาได้ถูกให้ชื่อใหม่ เป็นความหมายว่าชนเผ่าได้รู้จักและผูกพันกับเขาผู้นี้แล้วอย่างแท้จริง มิใช่คนแปลกหน้า

ในสังคมปัจจุบันนั้นมีขนาดใหญ่มาก เราไม่อาจรู้จักกันอย่างทั่วถึงได้ แม้พิธีกรรมเรื่องชื่อจะไม่ได้มีความสลักสำคัญสักเท่าใด แต่นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์เรามีต่างจากสิ่งมีชีวิตร่วมโลกอื่นทั้งหมด ชื่อของแต่ละคนมาจากความตั้งใจ กลั่นจากความคิดและความรู้สึก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปมันยังคงความหมาย บ่งบอกถึงแหล่งที่มาของชีวิตเขา สะท้อนให้รู้ถึงความสัมพันธ์ที่ผูกร้อยกันระหว่างผู้คนที่โอบอุ้มดูแลเขามา

หากเราภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในความเป็นตัวเราดังชื่อที่เรามี ชื่อนี้ก็จะให้พลังแก่เราเช่นเดียวกัน เป็นพลังจากความหมาย และความมุ่งหมายที่เราอยากจะเป็น การเปลี่ยนชื่อไม่ว่าเพราะเปลี่ยนสถานภาพ เช่น บวช แต่งงาน หรือเปลี่ยนเพราะเชื่อในโชคชะตา ทั้งหมดก็สะท้อนว่าเราเคยได้เป็นอะไรมา และปรารถนาอยากจะเป็นคนเช่นไร

ให้ “ชื่อ” เป็นประตูที่เปิดไปสู่การทำความรู้จักและเข้าใจกัน ให้เป็นจุดเริ่มต้นของหนทางสู่การรับฟัง และเคารพในเส้นทางชีวิตอันมีลักษณะจำเพาะของแต่ละคน อย่าได้ปล่อยให้ชื่อเป็นสิ่งไร้พลัง กลายเป็นเพียงป้ายกำกับหรือเครื่องหมายจำแนกผู้คน และอย่าได้ปล่อยปละให้ตัวเราไปด่วนตัดสินใคร เพียงเพราะชื่อของเขาไม่ตรงกับความสนใจ หรือไปพ้องกับประสบการณ์ไม่ดีในอดีตของเราเอง

สะท้อนใจ


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2555

เงินจำนวนสองหมื่นกว่าบาทมันมีค่ามากแค่ไหนสำหรับเรา?

พี่สาวคนหนึ่งเธอเป็นผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนให้คำปรึกษาทางใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ของเครือข่ายพุทธิกา ได้ไปร่วมออกบูธจัดนิทรรศการและกิจกรรมในงานวัดลอยฟ้า ร่วมกับธนาคารจิตอาสา เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา งานนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจมาใช้เวลาเป็นอาสาสมัครสัก ๒๐ นาที เพื่อเขียนการ์ดถึงผู้ป่วยเรื้อรัง นอกจากจะได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมสายด่วนแล้ว ยังทำให้อาสาสมัครแต่ละคนได้ระลึกว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวในระหว่างที่ทำกิจกรรม พร้อมทั้งเปิดรับบริจาคทุนสนับสนุนการดำเนินงาน

เพียง ๔ วัน มีผู้ร่วมสมทบทุนมากถึงสองหมื่นกว่าบาท และเงินจำนวนเดียวกันนี้เอง ถูกเก็บไว้ในถุงผ้าใบหนึ่ง ซึ่งหายไปอย่างไร้ร่องรอยในตอนค่ำของงานวันสุดท้าย

ทุกคนช่วยกันคิดช่วยกันนึกว่ามันอาจถูกลืมวางไว้ตรงไหน หรือมีใครช่วยเก็บลงกล่องไปแล้ว จนเมื่อแน่ใจว่าหายแน่ เราจึงต้องพึ่งประกาศเสียงตามสาย และลงท้ายด้วยการไปแจ้งความ ด้วยความหวังเพียงน้อยนิดว่าจะพบเงินก้อนนี้

สายตาและสีหน้าของเธอผู้รับผิดชอบกิจกรรมนี้ในค่ำวันนั้น แสดงออกถึงความกังวล ความเสียใจ แต่ก็ไม่ฟูมฟายตีโพยตีพาย ถึงกระนั้น น้องๆ ต่างรู้กันว่า นี่เป็นสถานการณ์ไม่ง่ายเลยสำหรับเธอ

กลางดึกของคืนเดียวกัน เธอเขียนเอาไว้ในเฟซบุ๊คว่า “อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าอุตส่าห์ทุ่มเททำงานไม่หยุด จบด้วยแบบนี้ แต่ยังไงๆ เราต้องรับผิดชอบ เพราะเงินที่มีค่ามาก ก็ต้องควักเงินส่วนตัวมาคืน ไม่ใช่น้อยๆ เพราะเป็นน้ำพักน้ำแรงของทุกคนด้วย เฮ้อ .. เพราะเราไม่พัก ไม่ปล่อยวางจิตวางใจ เหนื่อยก็ต้องรู้จักพอ .. ได้แค่ไหนแค่นั้น แม้จะเป็นงานอาสาสมัคร ก็ต้องทำเท่าที่ทำได้ ต้องใจแข็ง .. .นี่แหละบทเรียนราคาแพงตัวจริง .. เศร้า อดเซ็งไม่ได้ หิวก็หิว เฮ้อ”

ข้อความนี้สะท้อนบอกอะไรออกมามากมาย ขณะเดียวกันเธอก็มีคุณภาพของการสะท้อนย้อนมองตัวเองอย่างงดงาม โดยเฉพาะเรื่องการวางใจ ปล่อยวางจากความคาดหวัง แล้วกลับมาอยู่ในปัจจุบัน

เช้าวันรุ่งขึ้น เธอกลับมาเขียนความเห็นเพิ่มเติมเอาไว้ พร้อมบอกขอบคุณน้องๆ ที่เขียนให้กำลังใจ เธอเขียนว่า “แม้นั่นคือต้นทุนหนึ่งที่ตั้งใจทำเพื่อใช้ต่อยอดงานต่อไป อาจจะเป็นเพราะเป็นงานเริ่มต้น จึงรู้สึกกับการทุ่มแรงใจ แรงกาย สำหรับอารมณ์แรกเมื่อวาน แต่เมื่อกลับมาดูว่าได้อะไรจากงานนี้ ที่จริง เราก็ต้องการให้งานได้เผยแพร่ให้คนได้ประโยชน์จากการปรากฏโครงการ ยิ่งมีมาก ก็เท่ากับว่า มีคนรับทราบมากขึ้น คิดอีกทีก็คงให้กำลังใจแก่ทุกคนที่ร่วมทำงาน ขอบคุณทุกคน และโชคดีที่ได้เจอเพื่อนเก่าที่เราไม่แน่ใจกับความสัมพันธ์ แต่พอเจอในงานได้ทักทายเธอ มิตรภาพเก่าๆ ออกมาด้วยรอยยิ้ม ทักทายแบบสหาย ปลื้มปิติไม่น้อย และน้องๆ พี่ๆ .. งานนี้ก็ได้ใจไปหลาย”

จริงแท้ทีเดียว เหตุการณ์ถุงใส่เงินหายครั้งนี้ เราไม่ได้โทษใคร ไม่ได้พร่ำบ่นโชคชะตา แต่เราทุกคนได้พบตัวอย่างอันล้ำค่ายิ่งกว่าเงินสองหมื่นกว่าบาท ตัวอย่างของคนที่มีการเรียนรู้อยู่ในตัว เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ไม่คาดฝัน ผลที่คาดหวังมันพลิกผัน แต่ในอรุณรุ่งของอีกวัน เธอยังสามารถทันได้หันกลับมาเห็นสมบัติอันล้ำค่ายิ่งกว่าเงินตรา เห็นเป้าหมายที่แท้ของงาน มิตรภาพ และพลังในการสร้างงานต่อไป

เธอสรุปประสบการณ์นี้ด้วยประโยคสั้นๆ ทว่าทั้งมุ่งมั่น และเรียบง่ายว่า

“เดินหน้า ใส่บทเรียนนี้ไว้”

เป็นเพื่อน


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2555

เชื่อไหมว่าความตั้งใจดีๆ ของเราที่มักจะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า สามารถลุล่วงและเป็นไปได้ เพียงแค่เรามีใครสักคนเป็นเพื่อน

เมื่อปีกลาย หนุ่มสาวสามคนได้ตกปากรับคำพระท่านว่าจะนั่งสมาธิภาวนาเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกวัน ตลอดช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลาสามเดือน

ก่อนหน้านี้ อย่าว่าแต่ครึ่งชั่วโมงเลย แค่สิบนาทีก็ไม่มีทางจะทำสำเร็จ แต่ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทั้งสามคนจะทำได้ทุกวัน บางคนยังคงนั่งภาวนาเป็นประจำต่อเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้

หญิงสาวคนเดียวในกลุ่มบอกว่า บางวันเหนื่อยมาก อยากหลับไปเลย แต่พอนึกขึ้นว่า เพื่อนอีกสองคนคงกำลังปฏิบัติภาวนากันอย่างแข็งขันอยู่เป็นแน่ จึงทำให้มีกำลังใจ ในเมื่อคนอื่นยังรักษาสัญญาและยังพยายาม ทำไมเธอจะละทิ้งมันไปเสีย

การมีคนที่ตั้งใจทำอะไรดีๆ เหมือนๆ กัน เป็นเสมือนเพื่อนร่วมเดินทางไกล ทำให้เรามีกำลังใจที่ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ล้มเลิกง่ายๆ

ในบรรดาแนวทางวิธีที่มีประสิทธิภาพสำหรับการเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ จึงมักมีวิธีว่าด้วยการมีคนใกล้ตัวสนับสนุน ให้กำลังใจ และยิ่งมีผลมากถ้าเป็นคนที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน อยู่ในระหว่างพยายามต่อสู้เอาชนะในเรื่องเดียวกัน

เพราะระหว่างที่เราได้รับกำลังใจจากเพื่อน เขาก็ได้รับสิ่งเดียวกันนี้จากเราเช่นเดียวกัน การเป็นเพื่อนคือต่างฝ่ายได้ช่วยเสริมแรงให้กัน เมื่อคนหนึ่งทำได้ อีกคนก็ทำได้ กลายเป็นทั้งกลุ่มก็ทำได้ทุกคน

ไม่น่าแปลกไจที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมอาสาสมัครจึงชวนกันไปเป็นกลุ่ม เช่นเดียวกับเรื่องจิตตปัญญาหรือการเรียนรู้เข้าใจตัวเองเพื่อพัฒนาจิต ยิ่งต้องการเพื่อนร่วมทางผู้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน แม้ในบางรูปแบบเป็นการอยู่วิเวก เช่น นิเวศน์ภาวนา ก็ยังต้องการกลุ่มแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ที่แต่ละคนได้พบในใจ หรือประสบการณ์ในมิติความคิดความรู้สึกที่หลากหลายต่างกันไป ยิ่งได้ฟังจากเพื่อน ยิ่งเป็นการเสริมแรงของการเรียนรู้

แนวคิดหรือความรู้บางเรื่องในจิตตปัญญาศึกษานั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้เรียนจะเข้าใจและเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ถ้าเขาไม่ได้เรียนไปพร้อมกับคนอื่นๆ ในฐานะเพื่อนร่วมเดินทาง เช่น เรื่องนพลักษณ์ ซึ่งว่าด้วยคุณลักษณะพื้นฐานและพฤติกรรมเก้าแบบที่แต่ละบุคคลมีและแสดงออกต่างกัน ลำพังการเรียนโดยลำพังย่อมจดจำเนื้อหาโครงสร้างความรู้นั้นได้ แต่ความเข้าใจในบุคคลอื่นที่เข้าถึงหัวใจของเราและเขา จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเพื่อนร่วมเรียนรู้ ผู้วางใจและเปิดใจให้เราศึกษาจากชีวิตและความรู้สึกจริงของเขา ในเวลาเดียวกัน ขณะที่เขาเป็นเพื่อนผู้ให้ เขาก็กำลังได้รับความรู้และความเข้าใจจากเราเช่นกัน

ความเป็นเพื่อนในการเรียนรู้นั้นไม่จำกัดอยู่เพียงการส่งเสริมสนับสนุน ในการเรียนรู้ชีวิต ยิ่งต้องการความเป็นเพื่อนที่มากกว่านั้น เป็นเพื่อนที่กล้าท้วงติง ตักเตือนเรา แม้ว่าในเรื่องที่ขัดใจ หรือทำให้เราไม่สบายใจ เช่น บางครั้งเราความเชื่อที่ยึดมั่นถือมั่นมาก หากไม่มีเพื่อนทำหน้าที่ชี้ให้เห็นว่าเรากำลังติดกับในสิ่งใดอยู่ เราอาจจะไม่มีวันได้แก้โจทย์นี้ในชีวิตตัวเองได้

ความเป็นเพื่อนจึงเป็นหน้าที่สำคัญและยิ่งใหญ่ เป็นเพื่อนที่เหมือนน้ำเปล่าไว้ดับกระหายและให้กำลัง ไม่ต้องมีสีสัน และไม่ทำให้เสพติดเหมือนน้ำหวาน ไม่ใช่แค่อยู่ข้างๆ ทางกายภาพ แต่เป็นผู้ที่ยืนหยัดเคียงคู่กันทั้งในทางจิตใจ และอยู่เคียงข้างประคับประคองกันทางจิตวิญญาณ

หลบตัวเอง


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม 2555

การอบรมครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในช่วงเวลาสุดท้ายของงานที่ไมโครโฟนค่อยๆ ถูกส่งผ่านมือทีละคน แต่ละคนต่างทยอยพูดออกมา ได้บอกขอบคุณกัน เล่าบทเรียนที่ตนเองประทับใจ หรืออะไรก็ตามที่อยากฝากไว้ก่อนจากกัน เป็นช่วงเวลา “เช็คเอาท์” ที่เราจะได้ฟังทุกๆ คน

ช่วงขณะนั้นเอง ผู้ประสานงานจัดอบรมคนหนึ่งรีบลุกผลุนผลันขึ้นออกจากที่นั่งซึ่งอยู่ด้านหลังห้อง เขาหายไปสักพักหนึ่ง และมันอาจใช้เวลานานพอที่ไมโครโฟนนั้นจะถูกส่งต่อให้พูดกันรายคน จนเลยตำแหน่งที่นั่งของเขาไป และหากเขากลับมาหลังจากไมโครโฟนถูกส่งวนจนครบวง เขาคงไม่ต้องพูด เพราะนั่นคือถึงเวลาสรุปของการอบรมครั้งนี้แล้ว

แต่บทสรุปนี้จะสมบูรณ์และภาคภูมิ สำหรับการเดินทางร่วมกันมาได้อย่างไร หากยังไม่ได้มีเราทั้งหมดทุกคนดำรงอยู่ในห้วงเวลานี้ร่วมกัน

เหล่าพี่ๆ ผู้ร่วมดูแลการอบรมครั้งนี้ รีบกวักมือเรียกผู้ประสานงานอีกคน กระซิบกำชับวานให้ออกไปตามตัวเขาให้เจอ และรีบพาเข้าห้องมาให้ทันให้จงได้ สุดท้ายเราก็ได้เขาเข้ามาในห้อง และได้ถือไมโครโฟนนั้นพูดกับทุกคน ชั่วโมงถัดมาหลังการอบรม เป็นเวลาของการสะท้อนหลังจัดกิจกรรม เรานั่งล้อมวงคุยทบทวนถึงการอบรมที่ผ่านมา มีอะไรน่าประทับใจ มีอะไรที่เป็นตัวอย่างดีๆ มีอะไรที่น่าจะปรับพัฒนาอีกได้บ้าง และรวมทั้งสะท้อนประสบการณ์เรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวเราของเราเอง

ผมใช้โอกาสนี้ถามเขาว่า สาเหตุที่รีบร้อนลุกออกไปก่อนไมโครโฟนมาถึง นั่นเพราะต้องการหลบ จะได้ไม่ต้องพูดช่วงเช็คเอาท์ใช่หรือไม่ เขาก็กล้าหาญเพียงพอที่จะตอบว่า “ใช่” พร้อมอธิบายว่า ด้วยภาระงานจัดการอาหารการกินและอุปกรณ์ประกอบการอบรม ทำให้เขาไม่ได้อยู่ในห้องตั้งแต่ต้น ไม่ได้บอกความคาดหวังในตอนเริ่มงาน เมื่อจะต้องเช็คเอาท์ เขาจึงไม่รู้ว่าจะพูดอะไร

เหล่าพี่ๆ ถึงต้องช่วยเตือนความจำให้ว่าโอกาสของการเช็คเอาท์ คือ เผยอะไรก็ได้ในใจ บอกอะไรก็ได้ที่กำลังคิด หรือกระทั่งบอกสภาวะร่างกาย มีเรื่องให้พูดมากมายในโอกาสนั้น และเป็นพื้นที่แห่งการรับฟังที่ทุกคนสร้างขึ้น การลุกออกไปในตอนนี้ก็เท่ากับการหลบเลี่ยงและไม่ให้เกียรติ

จริงอยู่ว่าเขากล้าหาญพอที่จะยอมรับว่าหลบ แต่นั่นยังไม่มากพอ ความกล้าที่แท้ต้องกล้าเผชิญกับใจตัวเองว่าไม่ได้หลบไมโครโฟน แต่หลบการยอมรับและให้เกียรติตัวเองว่างานสวัสดิการและจัดอุปกรณ์ที่ได้ทำไปนั้นเป็นบทบาทหน้าที่อันทรงคุณค่า เป็นภารกิจที่มีความหมายทำให้การฝึกอบรมนี้ดำเนินไปได้ และการเป็นผู้ประสานงานมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้เข้าร่วมอบรมและวิทยากร

พี่ๆ บอกน้องผู้ประสานงานคนนี้ว่า เราไม่ได้จัดเช็คเอาท์ให้เป็นแค่สัญลักษณ์สื่อถึงความเท่าเทียมและให้เกียรติกัน การเช็คเอาท์จะสมบูรณ์พร้อมก็ต่อเมื่อเราทุกๆ คน ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว ได้แสดงตนในฐานะสมาชิกคนหนึ่งซึ่งมีศักดิ์และมีสิทธิ ที่จะได้รับคำชื่นชม คำขอบคุณ และได้รับการจดจำถึงความสำคัญในการมีอยู่ของเขา

การหลบออกไปนอกวง จึงเท่ากับว่า เราบอกปัดการขอบคุณตัวเอง เท่ากับการปฏิเสธคุณค่าที่เราได้กระทำ และไม่ให้เกียรติกับศักดิ์ศรีที่เรามี เมื่อเราเองละทิ้งมันไปเสียแล้ว เราจะมองเห็นความชื่นชมและจะได้ยินคำขอบคุณจากผู้อื่นได้อย่างไร หากจะหลบครั้งนี้ได้ ครั้งหน้าก็ต้องหลบอยู่ร่ำไป

เรามีคุณค่า ไม่ใช่เพราะตำแหน่ง แต่เรามีคุณค่า เมื่อตัวเรานี่แหละกล้ายอมรับในคุณค่าของงาน และคุณค่าของเราเอง

ตั้งโจทย์ผิด ?



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2555

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวหลายชิ้นที่น่าสนใจในแวดวงการศึกษา ชวนให้เราฉุกคิดอย่างยิ่งว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในแวดวงการเรียนรู้ของบ้านเรา ข่าวแรกคือ การประกาศผลคะแนนสอบโอเน็ตในปีนี้ พร้อมรายงานอันดับโรงเรียนที่มีนักเรียนทำคะแนนสอบได้สูงสุด 10 อันดับแรก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและชื่นชมในความสามารถทั้งของนักเรียนและอาจารย์ของโรงเรียนเหล่านั้น แต่ในข่าวเดียวกันนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจว่า ผลคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั่วประเทศ พากันได้แค่ไม่ถึงครึ่งในทุกวิชา วิชาหลักที่สำคัญเช่นภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ยิ่งแล้วใหญ่ มีคะแนนเฉลี่ยราวๆ ยี่สิบถึงสามสิบกว่าคะแนนเท่านั้น

ข่าวชิ้นต่อมา เป็นภาพสะท้อนของข่าวแรก มีข้อความพาดหัวข่าวว่า “หอพักโกยเละ !!! เด็กกวดวิชาอื้อ เต็มทุกห้อง รอบอุ๊แลนด์ ค่าเช่าพุ่งทะลุหมื่นบาท” ย่านหอพักที่ว่านี้อยู่บริเวณพญาไท นัยว่าเป็นแหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชาสารพัดแห่งในยุคปัจจุบัน ช่วงเสาร์อาทิตย์ใครใช้บริการรถไฟฟ้าคงจะเคยเห็นเด็กวัยรุ่นอายุอานามตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม พากันขึ้นลงในสถานีอย่างหนาแน่น ต่างคนต่างหอบหนังสือตำราติดตัวมาทั้งนั้น และอย่างที่ข่าวรายงาน ความต้องการเรียนเสริมเรียนกวดวิชามีมากจนกระทั่งค่าเช่าห้องหอพักแพงขึ้นพรวดพราด

ถ้าไม่อ่านแค่ผ่านๆ หรือปลงไปแล้วว่าโลกก็ต้องดำเนินไปเช่นนี้ล่ะก็ มันก็น่าขบคิดว่าข่าวสองชิ้นนี้กำลังบอกอะไรแก่เรา? บอกว่าการเรียนในยุคปัจจุบันต้องแข่งขันกันสูง หรือบอกว่าประเทศไทยไม่สามารถเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ทั้งหมด โรงเรียนดีๆ มีจำนวนน้อยมาก หรือสิ่งที่จะบอกคือ ความรู้ที่นักเรียนไทยได้มาจากโรงเรียนนั้นมันยังไม่เพียงพอสำหรับการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

คำตอบอาจจะเป็น “ถูกทุกข้อ” เพราะมันเป็นความจริงที่ทุกคนรับรู้กันอยู่แล้ว ว่าโรงเรียนดีๆ กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ดึงดูดเด็กเก่งๆ เข้าไปรวมกัน การศึกษาทุกวันนี้เป็นระบบแพ้คัดออก นักเรียนจึงต้องแข่งขันกันด้วยคะแนน การกวดวิชาจึงเป็นการลงทุนที่ได้ผลสำหรับการแข่งขัน เพื่อช่วยรับประกันให้ได้มากขึ้นว่าจะได้การศึกษาที่ดีในลำดับขั้นต่อไป

แต่ถ้าหากว่าเราตั้งคำถามที่ลึกลงไปในหัวใจของเราอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ต่อสัญชาตญาณของเราเอง เราอาจพบคำถามในใจว่า “ทำอย่างไร เด็กๆ ทุกคนจะได้เรียนในโรงเรียนดีๆ” หรือ “เด็กที่สอบเข้าไม่ได้ล่ะจะเป็นอย่างไร” และ “เราปล่อยให้สภาพแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สภาพการเรียนที่เน้นวิชา และการแข่งขันไปทีละระดับขั้น โดยมีความเชื่อหรือความหวังว่า คนที่มีคุณภาพคือคนที่ผ่านการสอบคัดเลือกไปได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ดูเหมือนจะไม่ดีไปกว่าเดิม ยังคงมีผลคะแนนน้อย และด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

เด็กๆ ของเรากำลังเรียนที่จะ “ใช้ชีวิต” แบบไหนกัน? นี่เป็นชีวิตดีๆ อันปกติสุขที่เราจะสอนให้เขาเรียนรู้และยอมรับที่จะอยู่กับมันแล้วใช่ไหม? เราจะต้องจำยอมและปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ใช่ไหม?

ท้ายข่าว ยังมีบทสัมภาษณ์นักเรียนสองคนที่เรียนกวดวิชา คนแรกเรียนพิเศษทุกวัน วันละ 5 ชั่วโมง อีกคนมาจากต่างจังหวัด เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียนเสริมทุกปีในช่วงปิดภาคเรียน ทั้งคู่ตอบเหมือนกันว่า ถ้าไม่เรียนจะไม่ทันเพื่อน และเห็นว่าการเรียนกวดวิชาเป็นเรื่องปกติ เพื่อนที่โรงเรียนและใครๆ ก็เรียนกันทุกคน

ส่วนเราที่ดูแลให้เขาเติบโตล่ะ มีใครไม่คิดว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” บ้าง?

เหนือความเคารพ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 เมษายน 2555

ในวงพูดคุยกันอย่างเปิดเผยระหว่างอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เราสนทนากันถึงสภาพการเรียนการสอนในปัจจุบันที่นักศึกษาถูกกดดันให้เรียนเยอะๆ มีเนื้อหามาก มีรายงานให้ทำมาก อีกทางหนึ่ง อาจารย์ก็ถูกกดดันให้สร้างงานวิจัยได้มากๆ และต้องจัดการกับสารพัดเอกสารกำกับมาตรฐานการสอนที่ให้กรอกกันได้ตลอดทั้งปี

แต่ที่นี่ เราไม่ได้มาบ่น ระบาย หรือถอดใจกับระบบการศึกษา เรากำลังช่วยกันค้นหาว่าจะทำให้ชั้นเรียนมีความสุข และเป็นการเรียนรู้ที่ดี ทั้งกับนักศึกษาผู้เรียน และอาจารย์ผู้สอนได้อย่างไร

มีคำถามน่าสนใจไม่น้อยออกมาจากเพื่อนอาจารย์ที่ร่วมวง บางคำถามเกี่ยวกับการจัดการเวลา เช่น “จะสอนให้สนุกและทันตามเวลาที่กำหนดได้อย่างไร ในเมื่อมีเนื้อหาเยอะมาก”, “นักศึกษามาสาย ควรจะทำอย่างไรดี” และ “จะพัฒนาทักษะการสอนแบบ Team Teaching ได้อย่างไร” แต่มีคำถามหนึ่งซึ่งสะกิดใจพวกเราทุกคนคือ “ทำอย่างไรนักศึกษาถึงจะมี Respect ต่ออาจารย์”

น่าสนใจ! เราต่างสบตากัน หลายคนคิดไปถึงเรื่องของท่าที สีหน้า การพูดจา ความแตกต่างระหว่างวัย การแสดงพฤติกรรมที่มีความคาดหวังต่างกัน เหมือนจะเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ว่านักศึกษาในรุ่นหลังๆ มานี้มีท่าทีพฤติกรรมผิดแผกไปจากเดิมมาก จะว่าอ่อนโยนนอบน้อมน้อยลงก็ว่าได้

ผู้ดำเนินการสนทนาหันไปทางนักศึกษาหญิงชายสี่ห้าชีวิตในวงสนทนา ถามพวกเขาว่า ได้ยินคำถามนี้แล้วมีอะไรอยากจะตอบหรือบอกอาจารย์ไหม? ปรากฏว่านักศึกษาก็ไม่รีรอที่จะเอ่ยปากพูด เพียงยังไม่ตอบ แต่กลับจะขอถามอาจารย์ก่อนว่า เห็นนักศึกษาไม่เคารพนั้น เป็นอาการหรือกริยาแบบไหน อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่าง เพราะตนเองเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วพวกเรารักและเคารพอาจารย์ทุกคนเสมอ ถึงตรงนี้ทุกคนยังคิดว่าเป็นเรื่องท่าทีในการแสดงออก

อาจารย์คนหนึ่งยกมือขอตอบ พร้อมเฉลยว่าตนเป็นเจ้าของคำถาม และอยากอธิบายให้ชัดเจนถึงคำว่า Respect ที่เราเปลี่ยนมาใช้คำว่า “เคารพกัน” นั้น เธอไม่ได้นึกถึงเรื่องของการไหว้ หรือการแสดงคำทักทายอย่างนอบน้อมต่ออาจารย์ สิ่งที่เธอนึกถึงจริงๆ คือ การทำงานของนักศึกษา การที่ส่งรายงานมาให้แล้วเต็มไปด้วยคำสะกดผิด การใช้อีเมลส่งงานให้อาจารย์ แต่ไม่มีคำขึ้นต้นลงท้าย ยิ่งกว่านั้นบางรายส่งอีเมลโดยแนบมาแต่ไฟล์มา ไม่เขียนข้อความใดๆ มาในเมลนั้นเลย

ทุกคนในวงทั้งเพื่อนอาจารย์และลูกศิษย์เมื่อได้ยินแล้วต่างก็นิ่งไป เพราะความหมายของคำว่าเคารพในที่นี้ ไม่ใช่แค่มารยาทการแสดงออกทางสังคมแล้ว แต่เป็นเรื่องการมีความประณีตและเอาใจใส่พิถีพิถันในรายละเอียดของการกระทำของตนเอง สิ่งที่เรารักและตั้งใจ เรายิ่งต้องใส่ใจทำให้ดี ไม่ใช่สักแต่ว่าทำใช่ไหม กรณีที่นักศึกษาทำงานแบบนี้มาส่งหมายถึงเขาไม่เคารพอาจารย์หรือเปล่า?

ยิ่งเราแต่ละคนถามตัวเองกลับ ยิ่งทำให้เราได้คำตอบร่วมกันว่า นั่นไม่ใช่ใช่เพียงแค่การเคารพกัน ไม่ใช่แค่การเคารพอาจารย์ แต่มันเป็นการแสดงถึงความเคารพในตนเอง การให้เกียรติกับผลงานของตัวเอง เป็นความภาคภูมิใจในผลงานของตน และเป็นความพิถีพิถันในการใช้ชีวิต

การคุยเรื่องนี้ ได้เผยให้เราเห็นความรักและความงามในการเรียน ทำให้นักศึกษาได้เห็นว่าเขาไม่ได้ถูกสอนแค่เนื้อหาวิชา แต่อาจารย์ยังพยายามสอนให้เขาเชื่อมั่นและเคารพนับถือในตัวเอง สอนให้เขาประณีตใส่ใจในชีวิต หากเรามองอย่างด่วนตัดสินกันโดยผิวเผิน ก็จะเห็นแค่วิธีการที่ต่างกันของคนต่างวัย มองข้ามความหมายที่แท้จริงไปอย่างง่ายดาย และน่าเสียดาย

จิตอาสามืออาชีพ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 1 เมษายน 2555

วันที่ 1 เมษายน 2555 อาจจะมีความหมายต่างกันไปสำหรับแต่ละคน มันอาจจะเป็นวันแรกของเดือนที่ยังมีเงินอยู่เต็มกระเป๋า เป็นวันที่ห้างสรรพสินค้าจัดโปรโมชั่นลดราคา หรือเป็นวันเล่นโกหกอำกันในระดับสากล (April Fools Day) กระทั่งมันอาจเป็นเพียงแค่อีกวันทั่วไป ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไร

แต่สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง วันนี้เป็นโอกาสที่พวกเขาได้บอกกับสังคมไทยว่า จงอย่าได้ลืมเลือนคุณค่าของน้ำใจและพลังความตั้งใจที่พวกเรามอบให้แก่กันในตลอดช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก ช่วงเวลาแห่งพิบัติภัย ทั้งสึนามิ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาอุทกภัยที่ผ่านมา

วันนี้ พวกเขาชักชวนให้เราออกจากบ้านไปยังอุทยานเบญจสิริ เพื่อร่วมงาน “ตลาดนัดอาสาสมัคร” (Volunteer Street Fair) เป็นงานที่รำลึกถึงความตั้งใจและน้ำใจที่พวกเราเคยให้กันและกัน จนผ่านวันเวลาทุกข์นั้นมาถึงวันนี้

เราอาจคิดว่าเป็นเพราะมีภัยมา เราจึงต้องช่วยเหลือกันไปตามสภาพ จะหวังพึ่งความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐก็คงไม่ทันการณ์เป็นแน่ เราอาจแค่คิดว่าเพราะเผชิญทุกข์ด้วยกัน ใจของพวกเราส่วนใหญ่จึงถูกปลุกเร้าให้เกิดเมตตาและกรุณา เป็นจิตอาสา ถึงแม้จะตกเป็นผู้ประสบภัยแต่ก็ยังพาตัวเองออกไปกู้ภัย ไปทำอาหารกล่อง ไปแพ็คกระสอบทราย ไปบรรจุถุงยังชีพ และไปช่วยสุนัข

แต่มันยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มากกว่านั้น แม้วันนี้จะไม่มีภัยใดๆ เราก็ยังสามารถหยิบยื่นน้ำใจให้กันได้ และควรอย่างยิ่งที่จะเตรียมตัวเองให้พร้อมทั้งกายทั้งใจ การช่วยเหลือดูแลกันจึงจะเกิดประโยชน์ถ้าเรา “พร้อม”

จิตอาสาอาจถูกกระตุ้นขึ้นเมื่อประสบภัย แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราต้องรอ เราบ่มเพาะใจและพัฒนาตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอได้

ดังนี้ นอกจากพื้นที่ในอุทยานเบญจสิริจะมีนิทรรศการเล่าเรื่อง ให้ความรู้ บันทึกความทรงจำที่ผ่านมาแล้ว ยังเปิดโอกาสให้อาสาสมัครได้พบปะกัน ทั้งคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรพัฒนาสังคมด้านต่างๆ และคนที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาเองเป็นอาสาด้วยใจ ที่สำคัญคือมีพื้นที่ให้ลงมือเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมใน 3 ฐาน คือ 1.ฐานหัว พร้อมในทักษะเนื้อหาความรู้ของการเผชิญหน้าปัญหาและการกู้ภัย 2. ฐานใจ ฝึกการรับฟัง "ด้วย" ใจ และ 3.ฐานกาย คือพร้อมในการได้ฝึกลงมือทำ

อาสาสมัครที่เตรียมความพร้อมในฐานหัว จะได้ทำความเข้าใจในแนวทางการปฐมพยาบาล ได้รู้ทักษะการเอาตัวรอด การรับมือกับอันตราย วิธีการพายเรือ และการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ส่วนความพร้อมในฐานใจ จะได้รู้จักโยคะที่ปรับสมดุลใจกับกาย ฝึกการรับฟังด้วยใจ และการใช้สุนทรียสนทนา รวมทั้งกระบวนการศิลปะในการสะท้อนสภาวะใจ ส่วนความพร้อมฐานกาย เราจะได้ฝึกปฏิบัติการลงมือทดลองทำข้าวของเครื่องใช้ที่จะสู้กับภัยพิบัติ เช่น เสื้อชูชีพที่ทำจากขวดพลาสติก อุปกรณ์กันหนาว การคัดแยกรีไซเคิลขยะ และทำน้ำหมักชีวภาพ

หากจะมีใครบอกว่า การเตรียมอาสาสมัครให้พร้อมรับมือกับมหาภัยทั้งหลายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นไม่สามารถจะทำเพียงแค่นี้ได้ พวกเขาก็คงจะยิ้มให้ และตอบอย่างมั่นใจและภาคภูมิใจว่า ความพร้อม เป็นเรื่องที่สมควรเริ่มเดี๋ยวนี้ ได้รู้เดี๋ยวนี้ ถึงจะทำได้เล็กๆ แต่ก็ได้จุดประกายว่า เราจะเป็นอาสาสมัครที่ไม่ใช่มือสมัครเล่น เราจะเตรียมพร้อมกันเพื่อรับมือกับภัย

วันนี้จึงเป็นวันที่มีความหมาย เป็นวันของความมุ่งมั่นตั้งใจโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่มองไกลไปถึงวันที่สังคมไทยฝ่าฟันจนพ้นภัยไปด้วยกันในงาน 'ตลาดนัดอาสาสมัคร' www.volunteerspirit.org

เรียนศิลปะ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2555

การเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษามีอยู่หลากหลาย บางส่วนเป็นการประยุกต์มาจากการปฏิบัติภาวนาในศาสนา บางส่วนเป็นวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยใช้การบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น ระหว่างจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ ด้วยลักษณะเช่นนี้ แนวปฏิบัติบางอย่างจึงมีลักษณะโดดเด่นและแตกต่าง ดังเช่น จิตตศิลป์ อันเป็นแนวทางที่ใช้ศิลปะแขนงต่างๆ เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้นั่นเอง

เหตุที่จิตตศิลป์ หรือกระบวนการเรียนรู้ด้วยศิลปะนี้ สามารถเรียกความสนใจได้มาก น่าจะเป็นลักษณะเด่นต่างจากกระบวนการอื่นๆ ตรงที่แต่ละคนต่างได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองขึ้นมา อาจเป็น ภาพวาด งานปั้น ศิลปะจัดวาง หรือแม้แต่การจัดดอกไม้ ส่วนกระบวนการอื่นมักเป็นการฝึกรู้เนื้อรู้ตัว และการสื่อสาร ซึ่งไม่ได้มีชิ้นงานออกมาเป็นรูปธรรม แต่เพราะศิลปะเป็นได้มากกว่าการสื่อสารบอกคนอื่น เนื่องจากมันทำให้เราได้สะท้อนตัวเอง

การสะท้อนตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากของการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเอง แต่การจะเข้าใจตัวเองได้อย่างแท้จริงและลึกซึ้งนั้น เราต้องเห็นเสียก่อนว่า นอกจากความคิด เรายังมีความรู้สึก มีอารมณ์ มีความเชื่อ กระทั่งร่องพฤติกรรมหลายอย่างที่เราไม่เคยได้รู้ตัวมาก่อน

การสร้างงานศิลปะเสมือนมีกระจกหลายบานที่จะฉายสะท้อนตัวเราออกมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี ความหนักเบาของเส้น รูปร่างที่ปรากฏขึ้นของงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนบอกสภาวะในตัวเราในใจเราออกมาอย่างไม่ปิดบังอำพราง เมื่อได้เห็นผลงานที่เราทำเสร็จ ก็เท่ากับได้เห็นถึงความลึกและความซับซ้อนในตัวเรา

ในทางกลับกัน อุปสรรคใหญ่ที่จะทำให้เราพลาดการเรียนรู้ในกระบวนการศิลปะ มักเป็นความเชื่อว่าเราเป็นคนวาดรูปไม่เก่ง เราเป็นคนไม่มีหัวทางศิลปะ หรือแม้แต่ความเชื่อว่าศิลปะเป็นเรื่องของความงาม ไม่ใช่เรื่องของการเรียน เมื่อตั้งต้นด้วยความเชื่อที่ปิดกั้นตัวเองจากกระบวนการเสียแล้ว ก็ทำให้ยากยิ่งนักที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือทำให้เห็นตัวเองได้

ช่วงเริ่มของกระบวนการจึงต้องพยายามสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ต้องให้ทุกคนมั่นใจว่าการทำงานศิลปะของแต่ละคนนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของการเข้าใจตนเองเป็นหลัก เรื่องความสวยงามหาใช่สาระสำคัญ และไม่ได้เป็นเป้าหมายของกระบวนการแต่อย่างใด มิเช่นนั้นแล้วหลายคนก็จะเริ่มสร้างงานศิลปะด้วยความเกร็งและกดดัน บางคนก็ทำงานจนกลายเป็นการแข่งขัน พยายามทำให้ดูดี ซึ่งมีแต่จะพลาดโอกาสเรียนรู้ที่แท้จริงของกระบวนการนี้ไป

เมื่อได้เริ่มจากการผ่อนคลายและวางใจไม่คาดหวังแล้ว ในระหว่างการสร้างงาน ทั้งสี สัมผัส และลวดลาย จะดึงดูดและชักนำให้เราถ่ายทอด บอกเล่า และเปิดเผยถึงสิ่งที่อยู่ภายในออกมาโดยไม่บีบคั้นบังคับ เป็นการแสดงออกทั้งความคิดและความรู้สึกที่อยู่นอกเหนือการใช้ถ้อยคำภาษา ยิ่งเราที่ชินกับการใช้ความคิดวิเคราะห์มาก หากได้ออกมาสู่การใช้อารมณ์และความรู้สึกในการบอกเล่าบ้าง ก็เท่ากับเราได้ใช้อีกมุมในการหันกลับมามองตัวเอง หรือบางครั้งงานที่เราสร้างอาจทำให้เห็นบางด้านของตัวเองที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน หรือสะท้อนสภาวะภายในใจที่ยากจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดหรือด้วยการใช้ความคิด

ศิลปะได้พาเรายังพื้นที่หนึ่งซึ่งไม่คุ้นเคย และเพราะไม่คุ้นเคยนี่เองที่ทำให้เราไม่ยึดติดกับกรอบ ไม่ทำตัวเดิมๆ แบบอัตโนมัติ เมื่อเห็นตัวเองมากขึ้น ก็ย่อมเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น เป็นการเรียนที่มีเป้าหมายให้เข้าใจ ไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นเลิศหรือความสวยงาม

ถูกตั้งคำถาม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2555

หลายปีมาแล้ว ตอนนั้นยังเป็นช่วงแรกๆ ที่บรรดาองค์กรธุรกิจหันมาสนใจจิตตปัญญาศึกษา ในฐานะแนวทางการฝึกอบรมใหม่ให้แก่บุคลากรของบริษัท เพื่อนผม ซึ่งเป็นกระบวนกร มีเรื่องเล่าว่า พอถึงช่วงบ่าย ผู้เข้าอบรมที่ทยอยเดินกลับเข้ามาในห้องต่างพากันชะงักอีกรอบ จากรอบแรกตอนเช้าก็งงๆ แล้วเพราะเห็นว่าต้องนั่งกับพื้นบนเบาะที่เรียงเป็นวงกลม ช่วงบ่ายเบาะถูกจัดวางใหม่ ให้เป็นแถวเป็นแนวยาวสามสี่แถว ไฟในห้องก็ถูกหรี่ลงเหลือเพียงแสงสลัว ยิ่งกว่านั้น กระบวนกรยังบอกให้เลือกเบาะแล้วนอนหงาย ปล่อยแขนวางไว้ข้างลำตัว

ถึงตรงนี้หลายเสียงก็ดังแทรกขึ้น “ทำไมต้องนอนด้วย?” หรือ “กิจกรรมที่ให้นอนอย่างนี้มีจุดประสงค์อะไร?” เจอคำถามส่งมาเป็นชุดแบบนี้ ถึงทีกระบวนกรชะงักและอึ้งไป เพราะแต่ไหนแต่ไรไม่เคยมีคำถามเชิงระแวงสงสัย โดยมากให้ทำอะไรก็ทำ เพราะรู้อยู่แล้วว่านี่เป็นการอบรมที่ไม่ใช่สัมมนาวิชาการ เขาบอกว่า ในหัวพลันนึกถึงเพื่อนๆ มากเลยว่าถ้าเป็นคนอื่นๆ จะตอบหรือดูแลผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้อย่างไร

เพราะกระบวนการส่วนใหญ่ที่เราออกแบบกันไว้นั้น ไม่ใช่รูปแบบทั่วๆ ไปที่คุ้นเคย เช่น บอกจุดประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้ หรือมีข้อสรุปไว้เฉลยให้เสร็จในตอนท้าย แต่กระบวนการนี้จะเน้นให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้มีประสบการณ์แปลกใหม่ และบทเรียนที่เกิดขึ้นจะเป็นการเรียนรู้เฉพาะของแต่ละคน อาจมีประเด็นหลักๆ ที่เห็นร่วมกันแน่นอน แต่ความเป็นมาของคนต่างกันย่อมจะทำให้เขาพบบทเรียนที่ผิดแผกกัน ด้วยเหตุนี้ พวกเราที่ฟังเรื่องเล่าแล้วก็พอเข้าใจได้ถึงสถานการณ์ลำบากใจของเพื่อน

พวกเราพากันสนทนาหาดูว่าเหตุการณ์นี้บอกอะไรเราบ้าง ก็พบว่า เดิมนั้นผู้เข้าร่วมมักมาจากแวดวงการศึกษา หรือเป็นคนที่มีความสนใจจะเรียนในแนวทางใหม่ๆ แต่ครั้งนี้ ทุกคนเป็นพนักงานบริษัท แถมเป็นบริษัทใหญ่ติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศ ตัวพนักงานที่มาก็เป็นระดับผู้บริหารรุ่นกลาง เป็นคนรุ่นใหม่ที่หัวดี และทำงานหนัก จะว่าไปก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเล็กๆ ผ่านการตั้งคำถาม และดูเหมือนจะไม่ยอมทำตาม ถ้าไม่รู้ว่าจะถูกมอบหมายให้ทำอะไรกันแน่

การอบรมครั้งนี้จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ให้บทเรียนแก่กระบวนกรได้มากเช่นเดียวกัน เพราะความเชื่อพื้นฐานในกระบวนการของเราคือ กิจกรรมต้องสามารถพาผู้เข้าร่วมไปพบประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ให้เขาทำอะไรไปพ้นจากพฤติกรรมเคยชินเดิมๆ เพื่อเปิดมุมมองการเรียนรู้ใหม่ อะไรที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องดำเนินไปอย่างไรและได้ผลลัพธ์อะไรนั้น ไม่ใช่การเรียนที่จะช่วยให้รู้จักเข้าใจตนเองได้มากนัก

ฉะนั้นแล้ว การที่ได้พบกับผู้เข้าร่วมที่ตั้งคำถามกลับ และปฏิเสธที่จะทำตาม ถ้าไม่รู้แน่ชัดว่าจะทำไปเพื่ออะไร ก็ย่อมจะเป็นการเรียนรู้ในทำนองเดียวกัน เป็นโอกาสที่พาให้กระบวนกรออกสู่บรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย ให้ได้เห็นว่าไม่มีวิธีการหนึ่งเดียวที่ใช้ได้ผลกับคนทุกกลุ่ม การได้จัดอบรมแนวจิตตปัญญาศึกษาให้แก่องค์กรธุรกิจจึงได้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการออกแบบกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ตนเองขึ้นมาอีกมากมาย แทนที่กระบวนกรจะบังคับขอให้ทุกคนทำตามวิธีการของตน

การได้ตั้งคำถามต่อตัวเองว่า “เราใช้กิจกรรมรูปแบบเดิม จนเคยชิน และพลาดประสบการณ์การเรียนรู้อะไรหรือไปหรือเปล่า?” จึงเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง เราอาจจัดกิจกรรมและชักชวนให้คนอื่นเรียนรู้ได้ แต่เราก็ต้องกล้าตั้งคำถามกับความเคยชินเดิมๆ และไม่มองข้ามโอกาสการเรียนรู้ของตนเองด้วยเช่นกัน

ไม่ทันใจ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555

ในยุคสมัยนี้ดูเหมือนเราจะให้ความสำคัญและคุณค่ากับความเร็วมากขึ้นทุกที โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ ผลักดันให้อะไรต่อมิอะไรสามารถดำเนินการได้ไวกว่าเดิม ก่อนหน้านี้เราเคยติดต่องานกันด้วยจดหมายติดแสตมป์ จนกลายมาเป็นโทรสาร กระทั่งปัจจุบันเราใช้ email เป็นมาตรฐานใหม่ของการติดต่องานกันอย่างแพร่หลาย

ประสิทธิภาพในการส่งสารดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมส่งจดหมายแล้วต้องรอตอบกลับร่วมสัปดาห์ ตอนนี้เราคาดได้เลยว่าไม่กี่วินาทีหลังกดส่งเมล ข้อความของเราจะโผล่ขึ้นในหน้าจอโทรศัพท์มือถือของผู้รับปลายทาง ทั้งประหยัดกระดาษ ไม่ต้องจ่ายค่าส่งรายครั้ง ไม่ต้องใช้นายไปรษณีย์ด้วย

อุปนิสัยการทำงานของเราก็พลอยเปลี่ยนไป ส่งปุ๊บก็อยากได้คำตอบปั๊บ เราพากันคาดหวังความไวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราเร่งของเทคโนโลยี แต่ที่เรามักไม่ทันรู้ตัวก็คือว่า ยิ่งเราคาดหวังความรวดเร็วว่องไวให้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับเรากระพือความเร่งรีบในใจ และยิ่งทำให้เราสะสมอุปนิสัยใจร้อนให้มากขึ้นเท่านั้น

ถ้าจะว่าไป ข้าวของเครื่องใช้สำนักงานยุคนี้ก็ทำงานไวจนน่าอัศจรรย์อยู่แล้ว แต่เราก็ยังพบเห็นเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งตัวเราเองด้วยนี่แหละ ที่ออกอาการหงุดหงิดอยู่เนืองๆ เพราะคอมพิวเตอร์ทำงานไม่ทันใจบ้าง หรือเครื่องพิมพ์ทำสำเนาเอกสารให้ไม่ทันเวลาบ้าง

น่าคิดว่าจากเดิมเราเคยรอได้เท่านี้ ต่อมาไฉนเวลาที่ยอมรับได้ว่าจะต้องรอนั้น มันถึงได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ

แน่นอนว่าการตั้งข้อสังเกตนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้เรากลับไปใช้เทคโนโลยียุคก่อนหน้า เพียงแค่ชวนให้กลับมาตั้งคำถามกันว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ตกอยู่ในความเร่งรีบจนมองข้ามความสำคัญของสิ่งอื่นๆ ไป และเป็นไปได้ไหมที่เราจะเป็นผู้เลือกใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ถูกเทคโนโลยีกดดันให้ต้องทำงานแข่งกับเวลา ?

ขอให้ลองคิดดูว่าความเร็วหมายความเท่ากับการมีประสิทธิภาพจริงหรือ ความฉับไวของการส่งสารนั้น จะเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเสมอไปหรือ
บทเรียนหนึ่งที่มีร่วมกันในแทบทุกหลักสูตรการอบรมว่าด้วยการพัฒนาตนเอง การดูแลความสัมพันธ์ และรวมถึงวิถีของการทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย นั่นคือบทเรียนว่าด้วยการช้าลง และนี่ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความเชื่องช้า หรือล่าช้า แต่เป็นการชะลอความไวของใจ เป็นการผ่อนความเร็วของความคิด เพื่อเปิดโอกาสให้เราตามทันตัวเราเอง ทันก่อนที่ความอึดอัดโมโหหงุดหงิดจะเข้ามาครอบงำ

ในบางการอบรมจึงให้เราเขียนถ่ายทอดด้วยลายมือตัวเองบ้าง ให้เราหยุดทุกกิจกรรมแล้วสงบนิ่งเมื่อได้ยินสียงระฆังบ้าง ให้เราหามุมสงบนั่งพินิจพิจารณาธรรมชาติบ้าง ให้เราใช้เวลาเต็มที่กับการละเลงสีบ้าง หรือให้เราฟังคนอื่นพูดโดยไม่เสริมหรือขัดเขาจนกว่าจะเล่าจบบ้าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อชะลอใจให้ช้าลง เปลี่ยนความคุ้นเคยที่คาดหวังอะไรด่วนๆ ไวๆ ลง เวลาแค่ห้วงเดียวสั้นๆ ของการรอคอยของเราแต่ละคนนั่นแหละจะมอบบทเรียนเฉพาะตัวให้เราเอง

สิ่งที่เราควรจัดการเปลี่ยนจึงไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องของวิธีการทำงาน แต่สมควรจะเปลี่ยนความเคยชินของตัวเองที่ถูกตอบสนองด้วยความไว จนกลายเป็นร่องของอารมณ์และพฤติกรรมซ้ำๆ เมื่ออะไรไม่ได้ดั่งใจก็กลายเป็นความชักช้า รวมความไปว่าไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นมันจึงสมควรแล้วที่จะหงุดหงิดโมโห เพราะมันไม่ได้ดั่งใจ

ต่อให้โลกยิ่งเร่ง ก็ยิ่งเป็นเหตุให้เราต้องเท่าทันใจ หาไม่แล้วก็เท่ากับบ่มเพาะนิสัยให้ใจขุ่นหมองขัดเคืองอยู่ร่ำไปนั่นเอง

เรียนชีวิต



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2555

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ผ่านการแข่งขันสอบเข้าเรียนในระดับประเทศมาแล้ว น่าจะเป็นคนที่เพียบพร้อมในคุณสมบัติ มีความเข้าใจและใช้หลักเหตุผลในการดำเนินชีวิต รวมทั้งมีโอกาสดีในการเลือกประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ

แต่ความจริงที่เราพบในชั้นเรียนหนึ่งของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในคณะและภาควิชาทางสายวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศไทยเรานั้น กลับสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดไว้นั้น สามารถเป็นจริงได้เพียงแค่ครึ่ง หรืออาจจะเพียงส่วนเดียว ส่วนที่วัดผลและแสดงได้ด้วยค่าคะแนนเท่านั้น

นักศึกษาเหล่านี้เกือบทั้งหมดล้วนเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ต่เป็นความจริงอีกเช่นกันว่า เขาสามารถทำได้ดีเพียงการสอบผ่านไปตามระบบห้องเรียนเท่านั้น ส่วนการเรียนรู้ชีวิตนั้นกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สิ่งนี้อาจเป็นสภาพการณ์จริงที่เรารู้กันดี หรือว่าเราตกอยู่ในสภาพจำยอมเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่เห็นว่าการเรียนที่ดีกว่านั้นจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในชั้นเรียนหนึ่ง ได้บอกเราว่ามันเป็นไปได้ อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ทว่ายิ่งใหญ่สำหรับการใช้ชีวิต

ดังเช่นนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง เธอมีเกรดเฉลี่ยสะสมในระดับดีใช้ได้ ความประพฤติสุภาพเรียบร้อย แต่เธอพบว่า แม้ตัวเองจะจากบ้านต่างจังหวัดมาเรียนได้ไม่กี่ปี แต่กลับรู้สึกผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิดน้อยลง ถึงแม้กลับบ้านเกิดก็ให้เวลาคุยกับคุณตาคุณยายเท่าที่จำเป็นเพราะที่ผ่านมาคุยกันไม่รู้เรื่องบ้าง รำคาญบ้าง ชั้นเรียนนี้ทำให้เธอกลับไปใช้เวลาฟังท่านทั้งสองอย่างเต็มใจและเต็มที่ เธอได้ความรักความเข้าใจกลับมา เพิ่งรู้และเข้าใจด้วยหัวใจ ว่าทั้งตาและยายได้ใช้ความพยายามมากเพียงไรในตลอดเวลาที่ผ่านมาเพื่อจะได้เข้าใกล้ และเข้าใจในตัวหลานสาว

นักศึกษาชายอีกคนหนึ่ง เขาเพิ่งค้นพบความสามารถพิเศษในตัวเอง ว่าความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรักนั้นดีขึ้น เบาสบายขึ้น และทำให้คนอื่นเข้าใจเขามากขึ้นได้ เพียงแค่เขากล้าเปิดเผยความรู้สึก และยอมให้ผู้อื่นรับรู้ จากเดิมที่ใช้เหตุผลยกมาอธิบาย แต่กลับปิดบังความรู้สึกเอาไว้ หลายครั้งที่ผ่านมา คนรักยอมรับในเหตุผลที่เขาใช้ แต่ไม่ได้ทำให้ทั้งคู่เข้าใจกันจริงๆ เมื่อเขาเผยความรู้สึกให้รับรู้นั้น เธอบอกเขาว่า การคุยกันครั้งล่าสุดแค่ชั่วโมงกว่าแต่เธอกลับได้รู้จักและเข้าใจเขาขึ้นอีกมากกว่าที่เคยเป็นมา

อีกกรณีหนึ่ง นักศึกษาชายผู้กำลังจะสำเร็จการศึกษา แต่ตัวเองกลับหมดความกระตือรือร้นสนใจในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ทั้งที่เคยชอบและศรัทธาในวิทยาศาสตร์มาตลอด ตอนนี้รู้สึกผิดหวังและเห็นว่ามันไม่สามารถให้ความเข้าใจในชีวิตของเขาได้ เขาเปิดเผยเรื่องนี้ในชั้นเรียน และเลือกเริ่มต้นใหม่ในเส้นทางที่แตกต่างเพื่อค้นหาตัวเองให้พบ รวมทั้งเสาะหาแรงบันดาลใจและศรัทธาที่หายไปให้กลับคืนมา

สามกรณีนี้กำลังบอกเราว่า ลำพังสถาบันการศึกษาหรือผลคะแนนไม่สามารถประกันได้เลยว่าจะทำให้คนๆ หนึ่งรู้จักและเข้าใจชีวิตของตนเอง การเรียนรู้ที่ยึดเกณฑ์วัดประเมิน มันไม่อาจสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างความรู้กับความรักได้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสามคนนี้มิได้เป็นความมหัศจรรย์ แต่ต้องใช้ความเข้าใจของทั้งผู้สอนและผู้เรียนร่วมกัน ว่ากล้าที่จะเรียนในแบบที่แตกต่างจากการทำตามๆ กันไป รวมถึงการใช้ทั้งสมองและหัวใจในการเรียนรู้ชีวิตไหม

เล่นสี



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2555

“ใครไม่ได้จับสีมานานกว่าหนึ่งปีแล้วบ้าง?” นี่เป็นคำถามที่เรามักตั้งขึ้นหลังจบกิจกรรมวาดภาพศิลปะในการอบรมการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา และเรามักพบว่าผู้เข้าร่วมจำนวนราว 30 คนนั้น มีเกินกว่าครึ่งที่ยกมืออย่างพร้อมเพรียงกัน ยิ่งกว่านั้นเมื่อถามว่า “แล้วคนที่ไม่ได้จับสีมานานเกินสิบปีล่ะ?” จำนวนมือที่ชูอยู่ก็ดูจะไม่ได้ลดลงสักเท่าไรเลย

ผู้เข้าร่วมหลายต่อหลายกลุ่มนี้ แม้อาจอยู่กันคนละแวดวง เช่น ราชการ เอกชน หรือกระทั่งเป็นครูอาจารย์ ต่างมีคุณลักษณะบางอย่างคล้ายกัน นั่นคือเป็นผู้มีวัยวุฒิ มีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบสูง ยิ่งเป็นระดับผู้บริหารยิ่งมีโอกาสยกมือตอบรับต่อคำถามนี้มาก

เมื่อชวนซักถามพูดคุยกันต่อก็มักจะพบว่า สาเหตุที่ทำให้ไม่ได้หยิบสีมาระบายหรือวาดภาพอะไรเลยมาอย่างยาวนาน เป็นเพราะไม่มีเวลา และงานที่ทำอยู่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับศิลปะ น่าแปลกใจว่า แม้กระทั่งคนที่มีลูกวัยอนุบาลที่ได้จับสีขีดเขียนตลอดเวลา แต่ตัวเองกลับไม่เคยได้ลงไปวาดอะไรเล่นกับลูกเลย

ยิ่งสอบถามค้นกันให้ลึกลงไปอีก ยิ่งได้คำตอบที่ออกมาจากความคิดความรู้สึกภายในของแต่ละคนมากขึ้น จากคำตอบเดิมคือเรื่องเงื่อนไขเวลาและงานไม่เอื้ออำนวย มาเป็นความไม่ชอบส่วนตัว รู้สึกว่าตัวเองทำงานศิลปะได้ไม่ดี หรือแม้แต่เป็นคนวาดรูปไม่สวย ความรู้สึกเหล่านี้มักมีที่มาจากการเรียนในวัยเด็ก มีที่มาจากการถูกให้คะแนน ถูกประเมินฝีมือศิลปะโดยมีเกณฑ์สำหรับให้เกรด ถูกสอนจนเข้าใจไปว่าศิลปะเป็นงานขั้นสูงสำหรับผู้เชี่ยวชาญและมีพรสวรรค์เท่านั้น โดยไม่รู้ตัว เราจึงค่อยๆ ซึมซับรับเอาเรื่องในอดีตนี้มาสร้างเป็นตัวตนในปัจจุบันของเรา

กลายเป็นเราประเภทที่เชื่อว่า “เมื่อฉันวาดรูปไม่เก่งไม่สวย ฉันจึงไม่วาด ฉันจึงไม่ชอบศิลปะ และฉันถนัดทำอย่างอื่นได้ดีกว่า เก่งกว่า”
ความจริงแล้วมันไม่ผิดเลยที่เราจะคิดอย่างนี้ หรือเชื่ออย่างนี้ เพราะเราแบบนี้ก็ยังเติบโตมาและมีการมีงานอันมั่นคง ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพียงแต่การตัดศิลปะออกจากชีวิต มันจะทำให้เราเสียโอกาสการได้เข้าใจตัวเองไป และพลาดการใช้มันในฐานะเครื่องมือหรือวิธีการในการเรียนรู้ตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย

โดยมากแล้วพวกเราที่มีตำแหน่งความรับผิดชอบสูง ต้องทำงานบริหาร เราต้องใช้การคิด การจดจำ และการวิเคราะห์ เป็นทักษะหลักในการทำงานและการเรียนรู้ อีกทั้งทักษะเหล่านี้ เราก็ได้ฝึกมามากแล้วในโรงเรียน ยิ่งระบบกวดวิชายิ่งหนัก ออกจะมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ ศิลปะจึงมาช่วยเปิดความสามารถอีกด้านของเรา ไม่ใช่เรื่องของความเก่งหรือเหนือกว่า แต่มันสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การเปิดเผยอารมณ์ การเข้าใจและยอมรับความรู้สึก
บางคนพอมาเจอกิจกรรมให้จับสีเขียนภาพตามใจชอบ จึงรู้สึกเกร็ง กดดัน เพราะมีความคาดหวังในใจ พลอยไม่ได้พบอะไรนอกจากนี้ แต่บางคนได้ทำไปตามใจจริงๆ ก็สนุกไปกับสีได้โดยไม่รู้ตัว พร้อมกับเห็นว่าภาพที่วาดมันบอกอะไรในตัวเองออกมา

การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเราเองนั้น ต่างจากเรียนเฉพาะเรื่องที่มุ่งสู่ความชำนาญเฉพาะด้าน เพราะตัวเราไม่ได้มีมิติเดียวฉันใด การรู้จักเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงยิ่งต้องอาศัยทักษะที่สมดุลรอบด้านฉันนั้น

ลองปล่อยวางความเชื่อเดิม และความคาดหวังเก่า ว่าศิลปะเป็นงานของศิลปิน หรือว่าศิลปะที่ดีจะต้องสวยแบบไหน ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจเสียก่อน แล้วอนุญาตให้เราได้สนุกเพลิดเพลินและเอาใจใส่กับสีและเส้น เหมือนเช่นที่เราเพลินในความคิด หรือสนุกในการวิเคราะห์ข้อมูล
เริ่มต้นด้วยการเปิดประตูที่เราเคยปิดไปแล้วในอดีตขึ้นมาใหม่ หมั่นสังเกตตัวเอง แล้วลองดูว่าประตูที่ชื่อศิลปะแบบเราสำหรับเราจะเปิดให้เราไปพบอะไรในตัวเราเองอีกบ้าง

โอกาสการเรียนรู้



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2555
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

ในการจัดอบรมหลายครั้ง มักมีเรื่องมาเล่ากันขำๆ ว่า บรรดาผู้บริหารองค์กรทั้งหลายอาจได้ชื่อว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ด้วยว่าแต่ละท่านต่างมีภารกิจการงานมาก กระทั่งไม่สามารถมาเข้าการฝึกอบรมในเรื่องที่ตนเองสนใจได้ บางคนถึงจะมาได้ ก็ต้องเดินเข้าเดินออกไปรับโทรศัพท์ ถึงปิดเครื่องไว้ยังมิวายมีเจ้าหน้าที่หอบเอกสารเป็นตั้งจากสำนักงานมาให้ลงนามถึงในห้องอบรมจนได้

เวลาจึงเป็นปัจจัยจำกัดสำคัญประการแรกที่เราทุกคนมีเท่ากัน สุดแท้แต่ใครจะจัดสรรโอกาสการเรียนรู้ให้แก่ตนเองได้มากน้อย แต่ลงท้ายเวลาที่ว่าก็ยังไม่เคยมาถึง งานอบรมหลายหลักสูตรหลายหนที่ได้ไป จึงมักเป็นงานที่จำเป็นต้องไป เพราะหัวหน้าสั่ง เพราะเป็นนโยบาย เพราะฝ่ายบริหารบุคคลจัดให้ หรือไม่ก็เพราะเป็นขั้นตอนวิธีทำงานใหม่ กลายเป็นว่าจำใจไป การเรียนรู้ที่ดีที่ย่อมเกิดขึ้นจากความสมัครใจ

ความตั้งใจจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการที่สอง เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่พยายามตั้งใจเรียน เมื่อเริ่มที่ใจ ส่วนอื่นๆ ก็ตามมา สมองก็เปิดรับ ความคิดก็โลดแล่น ความตั้งใจนี้ยังอาจเรียกในชื่ออื่น หรือมีอีกหลายมิติ ในแง่หนึ่งคือความศรัทธาในการเรียน ความศรัทธาต่อตัวผู้สอน การตั้งใจมั่นที่จะแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง หากมีความตั้งใจเป็นฐานพลัง เราอาจเพิ่มโอกาสข้ามเงื่อนไขข้อจำกัดที่บอกตัวเองว่าเราไม่มีเวลาก็ได้

สิ่งสำคัญประการที่สามคือ กัลยาณมิตร อันเป็นบุคคลแวดล้อมเรา เขาควรเป็นกำลังหลักคอยตักเตือนให้เราไม่หลงทางสู่การทำลายทำร้ายตัวเอง กล้าสะท้อนให้เราเห็นตัวเองที่แท้เหมือนกระจกเงา และเขาควรทำหน้าที่ประหนึ่งน้ำเปล่าที่ดับกระหาย แต่ไม่ทำให้เราเสพติด ใครที่เอาแต่เยินยอหรือสอพลอเรา เขานั้นเป็นเหมือนน้ำหวานหรือสุรา ขาดเมื่อไหร่ก็กระวนกระวายใจไม่เป็นสุข ทั้งไม่ช่วยถนอมรักษาสุขภาพของตัวเราเลย

ปัจจัยช่วยให้เราได้มีโอกาสการเรียนรู้เข้าใจตัวเอง เท่าทันต่ออคติในใจ ละวางอัตตาและลดละกิเลสได้ ย่อมไม่ได้มีเพียงสามสิ่งนี้เท่านั้น แต่มักจะพบว่าการอบรมใดก็ตามที่ผู้เข้าร่วมต่างมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมให้เวลาเต็มที่ และมีเพื่อนร่วมอบรมที่สนับสนุนการเรียนรู้ไปด้วยกันนั้น มักเป็นการอบรมที่รับประกันได้ว่าจะเกิดประโยชน์อันสูงสุดต่อทุกคน แต่โอกาสดังว่าก็ใช่จะจำกัดแค่ในห้องอบรมหรือห้องเรียน แม้ในชีวิตประจำวัน เราก็หมั่นหาโอกาสของการเรียนรู้ได้

ทั้งการให้เวลา มีความตั้งใจ และได้กัลยาณมิตร สามสิ่งนี้ทำให้เราเปิดโอกาสการเรียนรู้ได้ในทุกๆ วัน เหมือนการตั้งเข็มทิศให้ถูกทาง มีคนคอยประคับประคองหรือช่วยชี้นำทางบ้าง และให้เวลาแก่การเดินทางนี้อย่างเต็มที่ เราก็จะมีสายตาใหม่ให้แก่เหตุการณ์ที่เหมือนจะซ้ำๆ คล้ายๆ กัน ว่ามันย้อนกลับมาให้เราได้เห็นตัวเอง เห็นรูปแบบความคิดการกระทำเดิมๆ ที่เราทำจนเป็นนิสัย และมันได้ปิดกั้นเราจากการไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่อย่างไร

นักศึกษาชายคนหนึ่งไม่เคยสนใจหมาแมว และเลี่ยงหนีทันทีที่พบ แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนจึงเห็นว่านี่ต้องมีประเด็นอะไรสักอย่างแน่ เขาจึงให้เวลาตัวเอง หาโอกาสยอมไปเป็นอาสาสมัครดูแลสุนัขและแมวจรจัด จนกระทั่งพบว่าตัวเองยื่นมือไปลูบหัว และยิ้มให้มันโดยเขาไม่ทันคิด เหมือนได้มิตรภาพใหม่ ได้เห็นโลกอีกใบ และเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ให้ตัวเอง

การเรียนรู้เกิดขึ้นกับเราได้ทุกขณะ และสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราพร้อมเปิดโอกาสให้แก่ตัวเองเพียงไร