เรียนศิลปะ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2555

การเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษามีอยู่หลากหลาย บางส่วนเป็นการประยุกต์มาจากการปฏิบัติภาวนาในศาสนา บางส่วนเป็นวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยใช้การบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น ระหว่างจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ ด้วยลักษณะเช่นนี้ แนวปฏิบัติบางอย่างจึงมีลักษณะโดดเด่นและแตกต่าง ดังเช่น จิตตศิลป์ อันเป็นแนวทางที่ใช้ศิลปะแขนงต่างๆ เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้นั่นเอง

เหตุที่จิตตศิลป์ หรือกระบวนการเรียนรู้ด้วยศิลปะนี้ สามารถเรียกความสนใจได้มาก น่าจะเป็นลักษณะเด่นต่างจากกระบวนการอื่นๆ ตรงที่แต่ละคนต่างได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองขึ้นมา อาจเป็น ภาพวาด งานปั้น ศิลปะจัดวาง หรือแม้แต่การจัดดอกไม้ ส่วนกระบวนการอื่นมักเป็นการฝึกรู้เนื้อรู้ตัว และการสื่อสาร ซึ่งไม่ได้มีชิ้นงานออกมาเป็นรูปธรรม แต่เพราะศิลปะเป็นได้มากกว่าการสื่อสารบอกคนอื่น เนื่องจากมันทำให้เราได้สะท้อนตัวเอง

การสะท้อนตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากของการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเอง แต่การจะเข้าใจตัวเองได้อย่างแท้จริงและลึกซึ้งนั้น เราต้องเห็นเสียก่อนว่า นอกจากความคิด เรายังมีความรู้สึก มีอารมณ์ มีความเชื่อ กระทั่งร่องพฤติกรรมหลายอย่างที่เราไม่เคยได้รู้ตัวมาก่อน

การสร้างงานศิลปะเสมือนมีกระจกหลายบานที่จะฉายสะท้อนตัวเราออกมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี ความหนักเบาของเส้น รูปร่างที่ปรากฏขึ้นของงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนบอกสภาวะในตัวเราในใจเราออกมาอย่างไม่ปิดบังอำพราง เมื่อได้เห็นผลงานที่เราทำเสร็จ ก็เท่ากับได้เห็นถึงความลึกและความซับซ้อนในตัวเรา

ในทางกลับกัน อุปสรรคใหญ่ที่จะทำให้เราพลาดการเรียนรู้ในกระบวนการศิลปะ มักเป็นความเชื่อว่าเราเป็นคนวาดรูปไม่เก่ง เราเป็นคนไม่มีหัวทางศิลปะ หรือแม้แต่ความเชื่อว่าศิลปะเป็นเรื่องของความงาม ไม่ใช่เรื่องของการเรียน เมื่อตั้งต้นด้วยความเชื่อที่ปิดกั้นตัวเองจากกระบวนการเสียแล้ว ก็ทำให้ยากยิ่งนักที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือทำให้เห็นตัวเองได้

ช่วงเริ่มของกระบวนการจึงต้องพยายามสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ต้องให้ทุกคนมั่นใจว่าการทำงานศิลปะของแต่ละคนนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของการเข้าใจตนเองเป็นหลัก เรื่องความสวยงามหาใช่สาระสำคัญ และไม่ได้เป็นเป้าหมายของกระบวนการแต่อย่างใด มิเช่นนั้นแล้วหลายคนก็จะเริ่มสร้างงานศิลปะด้วยความเกร็งและกดดัน บางคนก็ทำงานจนกลายเป็นการแข่งขัน พยายามทำให้ดูดี ซึ่งมีแต่จะพลาดโอกาสเรียนรู้ที่แท้จริงของกระบวนการนี้ไป

เมื่อได้เริ่มจากการผ่อนคลายและวางใจไม่คาดหวังแล้ว ในระหว่างการสร้างงาน ทั้งสี สัมผัส และลวดลาย จะดึงดูดและชักนำให้เราถ่ายทอด บอกเล่า และเปิดเผยถึงสิ่งที่อยู่ภายในออกมาโดยไม่บีบคั้นบังคับ เป็นการแสดงออกทั้งความคิดและความรู้สึกที่อยู่นอกเหนือการใช้ถ้อยคำภาษา ยิ่งเราที่ชินกับการใช้ความคิดวิเคราะห์มาก หากได้ออกมาสู่การใช้อารมณ์และความรู้สึกในการบอกเล่าบ้าง ก็เท่ากับเราได้ใช้อีกมุมในการหันกลับมามองตัวเอง หรือบางครั้งงานที่เราสร้างอาจทำให้เห็นบางด้านของตัวเองที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน หรือสะท้อนสภาวะภายในใจที่ยากจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดหรือด้วยการใช้ความคิด

ศิลปะได้พาเรายังพื้นที่หนึ่งซึ่งไม่คุ้นเคย และเพราะไม่คุ้นเคยนี่เองที่ทำให้เราไม่ยึดติดกับกรอบ ไม่ทำตัวเดิมๆ แบบอัตโนมัติ เมื่อเห็นตัวเองมากขึ้น ก็ย่อมเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น เป็นการเรียนที่มีเป้าหมายให้เข้าใจ ไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นเลิศหรือความสวยงาม

0 comments:

Post a Comment