ก่อนเริ่มประชุม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2554

กิจกรรมการเช็คอิน มีกระบวนการทั้งเรียบง่าย และใช้เวลาเพียงสั้นๆ ก่อนเริ่มการประชุม ให้แต่ละคนได้บอกเล่าสภาวะความเป็นไป จะสุขภาพร่างกาย ใจ หรือแบ่งปันเรื่องราวเหตุการณ์ที่ได้พบมา ส่วนผู้ฟังก็เปิดใจให้พร้อมรับกับการประชุมต่อไป

ในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเริ่มกิจกรรมเช็คอินดังที่ทำมาเป็นประจำ มีเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งมีเรื่องคาใจ จึงขอแบ่งปันเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ เมื่อเช้า

เธอเล่าว่าวันนี้ ตอนทำกิจธุระส่วนตัวในห้องน้ำของมหาวิทยาลัย มีคนกดก๊อกน้ำที่อ่างเพื่อล้างมือ แต่พอคนนั้นเดินออกไป น้ำไม่ยอมหยุดไหล เธอเห็นว่าก๊อกน้ำคงจะค้างแน่ จึงดึงมันขึ้นมาเพื่อให้น้ำหยุด

หลังจากนั้นเธอก็เริ่มแปรงฟัน และเห็นนักศึกษาสาวคนหนึ่งกำลังหวีผมแต่งหน้าอยู่ถัดไปทางขวามือ ระหว่างนี้ก็มีคนออกมาจากห้องสุขาแล้วเดินมากดก๊อกน้ำตัวเดิมอีกซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเธอกับนักศึกษา รายที่สองนี้ก็เดินจากไปโดยไม่รู้ว่าก๊อกมันค้าง และน้ำก็ไหลไม่หยุด เธอหันไปชำเลืองมองนักศึกษาหญิงคนนั้น เมื่อไม่เห็นว่าจะมีทีท่าเอื้อมมือมาดึงก๊อกปิดน้ำ เธอก็หยุดแปรงฟันแล้วหันไปดึงก๊อกเป็นครั้งที่สอง

จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่เธอเข้าไปทำธุระในห้องสุขา และได้ยินเสียงกดก๊อกน้ำแล้วน้ำก็ไหลไม่หยุด กระทั่งเธอเสร็จธุระออกมาก็พบว่าถัดจากก๊อกเจ้าปัญหานี้ นักศึกษาหญิงคนเดิมยังยืนส่องกระจกหวีผมแต่งหน้า ไม่มีทีท่าใดๆ ต่อน้ำที่ไหลทิ้ง

ท้ายที่สุด เธอจึงปิดก๊อกนั้นเองเป็นครั้งที่สาม หันไปมองนักศึกษา พร้อมกับเกิดสารพัดความรู้สึกขึ้นมาในใจ เล่าถึงตรงนี้ เธอยอมรับว่าเห็นอารมณ์ความรู้สึกมากมายของตน ทั้งไม่พอใจ ผิดหวัง ขัดใจ ว่าทำไมนะ ก๊อกก็อยู่แค่ตรงนี้ใกล้ๆ จะช่วยกันดูแลประหยัดน้ำให้ไม่ได้เชียวหรือ

การเช็คอินครั้งนี้บอกอะไรหลายอย่าง เราไม่เร่งด่วนตัดสิน หาไม่แล้วอาจมีคุยกันต่อยืดยาว ซักกันว่าทำไมไม่อบรมต่อว่านักศึกษา หรือไม่ก็พร่ำบ่นว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปทำให้จิตสำนึกคนเปลี่ยนแปลง แต่เพราะว่าหัวใจสำคัญของกิจกรรมคือการได้ฟังเพื่อนบอกเล่า เพื่อให้เขาได้ผ่อนคลายและพร้อมสำหรับการประชุม ไม่ใช่เปิดบทสนทนาใหม่ด้วยการไปวิพากษ์วิจารณ์กัน

สิ่งสำคัญอีกอย่าง นั่นคือความสามารถที่จะสังเกตเห็นและเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก เพื่อนอาจารย์คนนี้เธออาจโกรธและต่อว่านักศึกษา จนบานปลายกลายเป็นการทะเลาะในห้องน้ำก็ได้ แต่สิ่งที่เธอเลือกทำ คือพยายามเท่าทันความหวั่นไหวที่เกิดขึ้นในใจตัวเองก่อน แล้ววางใจ วางเอาไว้ไม่ถือไม่แบกให้ขุ่นข้องไปจนตลอดวัน

วางใจที่ว่านี้ยังไม่ใช่แค่อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างใน แต่ยังวางใจ ไม่ด่วนปล่อยใจไปลงมือกระทำสิ่งง่ายๆ ด้วยการตัดสินนักศึกษาว่าเป็นคนอย่างไร น่าตำหนิติเตียนแค่ไหน เพราะเธอไม่สามารถรู้และเข้าใจได้ทั้งหมดว่านักศึกษาได้พบเจอเหตุอะไรมาบ้างก่อนหน้านั้น หรือสภาวะในใจเขาเป็นอย่างไร พร้อมกันกับที่วางใจ เธอก็ไม่นิ่งเฉยดูดาย อะไรที่เป็นเรื่องไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้ก็ลงมือทำ

เพื่อนอาจารย์บอกเราผ่านการเช็คอินของเธอว่า การวางใจคือการละวางไม่ถือเอาเรื่องราวไว้ให้ทุกข์ใจ วางใจว่าไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่วางเฉยดูดาย เห็นว่าธุระหน้าที่ไม่ใช่ เรากระทำสิ่งที่ดีที่สมควรได้ โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยใจให้ขุ่นมัว

เท่าทันที่หวั่นไหว



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 2554

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นวันเลือกตั้งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างเข้มข้นระหว่างพรรคการเมือง และไม่ใช่เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิ์มากเป็นประวัติการณ์ สิ่งที่น่าสนใจคือกระแสข่าวสารจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพียงแต่มิใช่ข่าวการเมืองทั่วไปที่พบเห็นได้จากสื่อกระแสหลักในการเลือกตั้งมาทุกคราว

ทว่าในปีนี้ มีเสียงจากผู้คนหลายทัศนะและหลากความรู้สึก เป็นข่าวสารที่รายงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (social network) เปิดให้ทุกคนเล่าเรื่องที่พบเจอ แบ่งปันความเชื่อ เขียนวิจารณ์นโยบายทางการเมือง ไปจนถึงบอกความในใจของตนต่อสถานการณ์บ้านเมือง

อาจจะเป็นสิ่งดี ที่การเลือกตั้งในยุคสมัยปัจจุบันนี้ได้มีทางเลือกให้เรารับข่าวสารได้นอกเหนือไปจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ รวมทั้งยังเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ให้เราแต่ละคนเป็นผู้รายงานข่าวได้เอง แม้จะเข้าถึงคนในจำนวนไม่เทียบเท่าสื่อหลัก แต่ก็หลากทัศนะและมุมมองสุดแท้แต่ใครจะนำเสนออะไร

แต่ขณะเดียวกัน การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารจากคนหลากหลายก็ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เรายากจะวางใจ หากอ่านไปพบความเห็นที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วย ในใจก็อยากจะโต้แย้ง เกิดความชิงชังขึ้นมา ยิ่งถ้าไปอ่านความเห็นจากเพื่อนหรือคนรู้จักกันแล้วเขาเห็นต่างจากเรามาก มักยิ่งผิดหวัง ไม่พอใจ พลอยไม่อยากเสวนา ไปจนถึงทะเลาะทุ่มเถียงกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีอยู่มาก ในแง่นี้ความต่างยิ่งทำให้เราห่างกัน และขีดเส้นแบ่งคั่นกันเป็นคนละขั้ว ถ้าไม่เห็นด้วยเท่ากับหมายความว่ายืนอยู่ฝ่ายตรงข้าม

ยิ่งได้รับข่าวเยอะ ยิ่งรู้ข้อมูลมาก เท่าทันเหตุการณ์ความเป็นไป แต่ไม่สามารถเท่าทันจิตใจได้เลย

ยากไปยิ่งกว่าการเท่าทันใจเราที่โกรธเกลียดจากเรื่องราวที่เราเห็นต่าง นั่นคือข่าวสารความเห็นที่ถูกอกถูกใจเรา เมื่อเห็นด้วยมากก็ชอบมาก ติดตามอ่านมาก นอกจากจะไม่เห็นมุมมองในด้านอื่นแล้ว ยังยากจะเท่าทันได้ว่าหลงไปแล้ว เผลอไปแล้ว

เริ่มตั้งแต่บ่าย ไปจนคืนของวันที่ ๓ กรกฎาคม ในสื่อสังคมออนไลน์จึงเต็มไปสีสันจัดจ้านของอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่หน้าจอโทรทัศน์กำลังรายงานจำนวนตัวเลขคะแนน บนหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้างก็ระบายความโกรธแค้น บ้างก็ผิดหวังเศร้าเสียใจ บ้างก็เย้ยเยาะอย่างสะใจ บ้างก็เสียดสีใส่กัน เป็นข่าวสารความเป็นไปของผู้คนจริง

แทบทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์ของผู้ถูกกระทำ แทบไม่มีใครเลยที่ถอยพ้นออกมาเห็น และเท่าทันได้ว่าใจกำลังหวั่นไหวไปกับเรื่องราวของการเลือกตั้ง และการเลือกข้าง

ระหว่างที่สื่อออนไลน์จะกลายเป็นสนามสงครามอารมณ์นั้น ท่ามกลางความเห็นนับร้อยนับพัน อันอาจจะทำให้ไหลไปกับหลากอารมณ์ตื่นเต้นสมใจ ผิดหวังเศร้าโศก ก็ยังมีความเห็นหนึ่งที่ชวนให้ฉุกคิด และสะกิดใจขึ้นมาได้

“ใครมั่นใจฝีมือภาวนาของตัวเอง ก็เช็คสติกันวันนี้ได้ ดีใจออกนอกหน้า เซ็งเป็ด จิตตก สะใจ จิตตอนนี้สภาวะไหนบ้าง ดูแลใจด้วยนะคะ เปลี่ยนโลกได้ที่ใจเรา”

ข้อความ สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้ แต่กระตุกให้หันกลับมามองใจตัวเราเอง หลังจากที่จมดิ่งไปกับข้อมูลข่าวสารความเห็นจำนวนมหาศาล หลังจากเสพเก็บเรื่องราว ซึมซับรับอารมณ์ และวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง แต่ในระหว่างนั้น ไม่ทันได้หันมาเห็น และเท่าทันความสั่นไหวข้างใน ที่มันสะเทือนให้โลกภายนอกสั่นคลอน

เมื่อหวั่นไหวใจก็หลุดไปจากภาวะสงบผ่อนคลาย เมื่อรู้เท่าทันย่อมกลับมาสู่สมดุล วางใจและยอมรับความเป็นไปของใจและของโลกได้

การเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ อาจจะเป็นการเลือกตั้งธรรมดาทั่วไปที่มีทั้งคนที่สุขสมหวัง มีทั้งคนที่เสียใจ อาจเป็นการเลือกตั้งเหมือนครั้งก่อนหน้าที่อะไรๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจ หรือสาแก่ใจที่ได้เห็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายตรงข้าม แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความหมายความสำคัญมากขึ้นไปกว่าเดิมอีกมาก เมื่อเราสังเกตการณ์เรื่องราวภายนอกที่ดำเนินไป พร้อมกับสังเกตการณ์จิตใจที่ถูกกระทบและหวั่นไหวไปกับข่าวสาร

เป็นโอกาสของการเลือกครั้งสำคัญ เลือกที่จะตั้งสติ และใช้ชีวิตอยู่อย่างเท่าทันความหวั่นไหว

ท่ามกลางกระแสธารของข่าวสารที่เชี่ยวกราก กระชากให้เราตื่นเต้นหรือเสียใจ ทำให้หลุดไปจากเส้นทางแห่งความสงบและความมั่นคงภายในได้โดยง่าย การกลับมาสู่ภาวะที่วางใจและเห็นเท่าทันโลกที่ดำเนินเช่นนั้นไป อาจต้องอาศัยเครื่องเตือนใจเช่นความเห็นเล็กๆ นี้ ขอบคุณกัลยาณมิตรในสื่อออนไลน์ ที่ทำให้วันเลือกตั้งได้เป็นวันน่าสนใจเป็นพิเศษ