เท่าทันที่หวั่นไหว
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 2554
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นวันเลือกตั้งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างเข้มข้นระหว่างพรรคการเมือง และไม่ใช่เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิ์มากเป็นประวัติการณ์ สิ่งที่น่าสนใจคือกระแสข่าวสารจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพียงแต่มิใช่ข่าวการเมืองทั่วไปที่พบเห็นได้จากสื่อกระแสหลักในการเลือกตั้งมาทุกคราว
ทว่าในปีนี้ มีเสียงจากผู้คนหลายทัศนะและหลากความรู้สึก เป็นข่าวสารที่รายงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (social network) เปิดให้ทุกคนเล่าเรื่องที่พบเจอ แบ่งปันความเชื่อ เขียนวิจารณ์นโยบายทางการเมือง ไปจนถึงบอกความในใจของตนต่อสถานการณ์บ้านเมือง
อาจจะเป็นสิ่งดี ที่การเลือกตั้งในยุคสมัยปัจจุบันนี้ได้มีทางเลือกให้เรารับข่าวสารได้นอกเหนือไปจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ รวมทั้งยังเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ให้เราแต่ละคนเป็นผู้รายงานข่าวได้เอง แม้จะเข้าถึงคนในจำนวนไม่เทียบเท่าสื่อหลัก แต่ก็หลากทัศนะและมุมมองสุดแท้แต่ใครจะนำเสนออะไร
แต่ขณะเดียวกัน การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารจากคนหลากหลายก็ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เรายากจะวางใจ หากอ่านไปพบความเห็นที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วย ในใจก็อยากจะโต้แย้ง เกิดความชิงชังขึ้นมา ยิ่งถ้าไปอ่านความเห็นจากเพื่อนหรือคนรู้จักกันแล้วเขาเห็นต่างจากเรามาก มักยิ่งผิดหวัง ไม่พอใจ พลอยไม่อยากเสวนา ไปจนถึงทะเลาะทุ่มเถียงกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีอยู่มาก ในแง่นี้ความต่างยิ่งทำให้เราห่างกัน และขีดเส้นแบ่งคั่นกันเป็นคนละขั้ว ถ้าไม่เห็นด้วยเท่ากับหมายความว่ายืนอยู่ฝ่ายตรงข้าม
ยิ่งได้รับข่าวเยอะ ยิ่งรู้ข้อมูลมาก เท่าทันเหตุการณ์ความเป็นไป แต่ไม่สามารถเท่าทันจิตใจได้เลย
ยากไปยิ่งกว่าการเท่าทันใจเราที่โกรธเกลียดจากเรื่องราวที่เราเห็นต่าง นั่นคือข่าวสารความเห็นที่ถูกอกถูกใจเรา เมื่อเห็นด้วยมากก็ชอบมาก ติดตามอ่านมาก นอกจากจะไม่เห็นมุมมองในด้านอื่นแล้ว ยังยากจะเท่าทันได้ว่าหลงไปแล้ว เผลอไปแล้ว
เริ่มตั้งแต่บ่าย ไปจนคืนของวันที่ ๓ กรกฎาคม ในสื่อสังคมออนไลน์จึงเต็มไปสีสันจัดจ้านของอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่หน้าจอโทรทัศน์กำลังรายงานจำนวนตัวเลขคะแนน บนหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้างก็ระบายความโกรธแค้น บ้างก็ผิดหวังเศร้าเสียใจ บ้างก็เย้ยเยาะอย่างสะใจ บ้างก็เสียดสีใส่กัน เป็นข่าวสารความเป็นไปของผู้คนจริง
แทบทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์ของผู้ถูกกระทำ แทบไม่มีใครเลยที่ถอยพ้นออกมาเห็น และเท่าทันได้ว่าใจกำลังหวั่นไหวไปกับเรื่องราวของการเลือกตั้ง และการเลือกข้าง
ระหว่างที่สื่อออนไลน์จะกลายเป็นสนามสงครามอารมณ์นั้น ท่ามกลางความเห็นนับร้อยนับพัน อันอาจจะทำให้ไหลไปกับหลากอารมณ์ตื่นเต้นสมใจ ผิดหวังเศร้าโศก ก็ยังมีความเห็นหนึ่งที่ชวนให้ฉุกคิด และสะกิดใจขึ้นมาได้
“ใครมั่นใจฝีมือภาวนาของตัวเอง ก็เช็คสติกันวันนี้ได้ ดีใจออกนอกหน้า เซ็งเป็ด จิตตก สะใจ จิตตอนนี้สภาวะไหนบ้าง ดูแลใจด้วยนะคะ เปลี่ยนโลกได้ที่ใจเรา”
ข้อความ สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้ แต่กระตุกให้หันกลับมามองใจตัวเราเอง หลังจากที่จมดิ่งไปกับข้อมูลข่าวสารความเห็นจำนวนมหาศาล หลังจากเสพเก็บเรื่องราว ซึมซับรับอารมณ์ และวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง แต่ในระหว่างนั้น ไม่ทันได้หันมาเห็น และเท่าทันความสั่นไหวข้างใน ที่มันสะเทือนให้โลกภายนอกสั่นคลอน
เมื่อหวั่นไหวใจก็หลุดไปจากภาวะสงบผ่อนคลาย เมื่อรู้เท่าทันย่อมกลับมาสู่สมดุล วางใจและยอมรับความเป็นไปของใจและของโลกได้
การเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ อาจจะเป็นการเลือกตั้งธรรมดาทั่วไปที่มีทั้งคนที่สุขสมหวัง มีทั้งคนที่เสียใจ อาจเป็นการเลือกตั้งเหมือนครั้งก่อนหน้าที่อะไรๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจ หรือสาแก่ใจที่ได้เห็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายตรงข้าม แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความหมายความสำคัญมากขึ้นไปกว่าเดิมอีกมาก เมื่อเราสังเกตการณ์เรื่องราวภายนอกที่ดำเนินไป พร้อมกับสังเกตการณ์จิตใจที่ถูกกระทบและหวั่นไหวไปกับข่าวสาร
เป็นโอกาสของการเลือกครั้งสำคัญ เลือกที่จะตั้งสติ และใช้ชีวิตอยู่อย่างเท่าทันความหวั่นไหว
ท่ามกลางกระแสธารของข่าวสารที่เชี่ยวกราก กระชากให้เราตื่นเต้นหรือเสียใจ ทำให้หลุดไปจากเส้นทางแห่งความสงบและความมั่นคงภายในได้โดยง่าย การกลับมาสู่ภาวะที่วางใจและเห็นเท่าทันโลกที่ดำเนินเช่นนั้นไป อาจต้องอาศัยเครื่องเตือนใจเช่นความเห็นเล็กๆ นี้ ขอบคุณกัลยาณมิตรในสื่อออนไลน์ ที่ทำให้วันเลือกตั้งได้เป็นวันน่าสนใจเป็นพิเศษ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment