ไม่ทันใจ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555

ในยุคสมัยนี้ดูเหมือนเราจะให้ความสำคัญและคุณค่ากับความเร็วมากขึ้นทุกที โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ ผลักดันให้อะไรต่อมิอะไรสามารถดำเนินการได้ไวกว่าเดิม ก่อนหน้านี้เราเคยติดต่องานกันด้วยจดหมายติดแสตมป์ จนกลายมาเป็นโทรสาร กระทั่งปัจจุบันเราใช้ email เป็นมาตรฐานใหม่ของการติดต่องานกันอย่างแพร่หลาย

ประสิทธิภาพในการส่งสารดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมส่งจดหมายแล้วต้องรอตอบกลับร่วมสัปดาห์ ตอนนี้เราคาดได้เลยว่าไม่กี่วินาทีหลังกดส่งเมล ข้อความของเราจะโผล่ขึ้นในหน้าจอโทรศัพท์มือถือของผู้รับปลายทาง ทั้งประหยัดกระดาษ ไม่ต้องจ่ายค่าส่งรายครั้ง ไม่ต้องใช้นายไปรษณีย์ด้วย

อุปนิสัยการทำงานของเราก็พลอยเปลี่ยนไป ส่งปุ๊บก็อยากได้คำตอบปั๊บ เราพากันคาดหวังความไวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราเร่งของเทคโนโลยี แต่ที่เรามักไม่ทันรู้ตัวก็คือว่า ยิ่งเราคาดหวังความรวดเร็วว่องไวให้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับเรากระพือความเร่งรีบในใจ และยิ่งทำให้เราสะสมอุปนิสัยใจร้อนให้มากขึ้นเท่านั้น

ถ้าจะว่าไป ข้าวของเครื่องใช้สำนักงานยุคนี้ก็ทำงานไวจนน่าอัศจรรย์อยู่แล้ว แต่เราก็ยังพบเห็นเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งตัวเราเองด้วยนี่แหละ ที่ออกอาการหงุดหงิดอยู่เนืองๆ เพราะคอมพิวเตอร์ทำงานไม่ทันใจบ้าง หรือเครื่องพิมพ์ทำสำเนาเอกสารให้ไม่ทันเวลาบ้าง

น่าคิดว่าจากเดิมเราเคยรอได้เท่านี้ ต่อมาไฉนเวลาที่ยอมรับได้ว่าจะต้องรอนั้น มันถึงได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ

แน่นอนว่าการตั้งข้อสังเกตนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้เรากลับไปใช้เทคโนโลยียุคก่อนหน้า เพียงแค่ชวนให้กลับมาตั้งคำถามกันว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ตกอยู่ในความเร่งรีบจนมองข้ามความสำคัญของสิ่งอื่นๆ ไป และเป็นไปได้ไหมที่เราจะเป็นผู้เลือกใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ถูกเทคโนโลยีกดดันให้ต้องทำงานแข่งกับเวลา ?

ขอให้ลองคิดดูว่าความเร็วหมายความเท่ากับการมีประสิทธิภาพจริงหรือ ความฉับไวของการส่งสารนั้น จะเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเสมอไปหรือ
บทเรียนหนึ่งที่มีร่วมกันในแทบทุกหลักสูตรการอบรมว่าด้วยการพัฒนาตนเอง การดูแลความสัมพันธ์ และรวมถึงวิถีของการทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย นั่นคือบทเรียนว่าด้วยการช้าลง และนี่ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความเชื่องช้า หรือล่าช้า แต่เป็นการชะลอความไวของใจ เป็นการผ่อนความเร็วของความคิด เพื่อเปิดโอกาสให้เราตามทันตัวเราเอง ทันก่อนที่ความอึดอัดโมโหหงุดหงิดจะเข้ามาครอบงำ

ในบางการอบรมจึงให้เราเขียนถ่ายทอดด้วยลายมือตัวเองบ้าง ให้เราหยุดทุกกิจกรรมแล้วสงบนิ่งเมื่อได้ยินสียงระฆังบ้าง ให้เราหามุมสงบนั่งพินิจพิจารณาธรรมชาติบ้าง ให้เราใช้เวลาเต็มที่กับการละเลงสีบ้าง หรือให้เราฟังคนอื่นพูดโดยไม่เสริมหรือขัดเขาจนกว่าจะเล่าจบบ้าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อชะลอใจให้ช้าลง เปลี่ยนความคุ้นเคยที่คาดหวังอะไรด่วนๆ ไวๆ ลง เวลาแค่ห้วงเดียวสั้นๆ ของการรอคอยของเราแต่ละคนนั่นแหละจะมอบบทเรียนเฉพาะตัวให้เราเอง

สิ่งที่เราควรจัดการเปลี่ยนจึงไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องของวิธีการทำงาน แต่สมควรจะเปลี่ยนความเคยชินของตัวเองที่ถูกตอบสนองด้วยความไว จนกลายเป็นร่องของอารมณ์และพฤติกรรมซ้ำๆ เมื่ออะไรไม่ได้ดั่งใจก็กลายเป็นความชักช้า รวมความไปว่าไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นมันจึงสมควรแล้วที่จะหงุดหงิดโมโห เพราะมันไม่ได้ดั่งใจ

ต่อให้โลกยิ่งเร่ง ก็ยิ่งเป็นเหตุให้เราต้องเท่าทันใจ หาไม่แล้วก็เท่ากับบ่มเพาะนิสัยให้ใจขุ่นหมองขัดเคืองอยู่ร่ำไปนั่นเอง