ไข่ขาวกับไข่แดง


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2555

ช่วงเริ่มต้นของการฝึกอบรมเรื่องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองในเกือบทุกครั้ง เรามักเริ่มเตรียมผู้เรียนให้พร้อม ด้วยแผนภาพง่ายๆ ภาพหนึ่ง เป็นภาพวงกลมซ้อนกันสองวง เราเรียกมันว่าไข่ดาว แสดงถึงสภาวะของการเรียนรู้สองลักษณะ พื้นที่วงในที่คล้ายไข่แดงนั้น คือพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone หมายถึงสภาวะส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยดีในชีวิตประจำวัน และเรามักจะแสดงพฤติกรรมการเรียนรู้ตามแบบแผนที่เราทำมาจนติดเป็นนิสัย ซึ่งปรากฏชัดโดยเฉพาะตอนที่เราอยู่บ้าน กับครอบครัว หรือเพื่อนที่รู้จักสนิทสนมกันดี สภาพเช่นนี้ทำให้เราเคยชินในการแสดงปฏิกิริยาต่างๆ ออกมา เช่น พูดคุยด้วยน้ำเสียงแบบนี้ โต้ตอบกันเร็วโดยไม่ทันคิดตริตรอง หรือทันทีที่ถึงบ้านเราก็นั่งจ่อมที่โซฟา และกดหาช่องรายการที่ดูเป็นประจำ เป็นการเลือกรับรู้ข้อมูลแบบเดิมๆ ทำนองเดิมๆ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นลักษณะการเติมข้อมูลบางส่วน และสร้างแบบแผนพฤติกรรมจนชำนาญ สามารถเป็นไปโดยอัตโนมัติ

ในแง่ดี นี่ก็เป็นฐานของการสร้างทักษะ ทำให้มีความสามารถในการค้นหาข้อบกพร่องจนทำให้มีความรอบคอบ เกิดประสิทธิภาพเพราะใช้เวลาน้อยลง

แต่ในทางกลับกัน สภาวะปลอดภัยนี่เองที่เราปิดกั้นจะเผชิญหน้ากับสิ่งแปลกใหม่ของชีวิต และขาดการเรียนรู้ที่อาจพลิกผัน ไม่ว่าจะเป็นการจองที่นั่งหลังห้องสัมมนาก็ดี การหลบตาหลีกเลี่ยงวิทยากรผู้สอนก็ดี หรือคนที่คอยตอบคำถามอยู่ตลอด และใช้เวลาพูดอธิบายมาก ก็อาจพลาดบทเรียนสำคัญที่จะได้จากเพื่อนคนอื่นร่วมชั้นเรียนก็เป็นไปได้

อีกสภาวะหนึ่งในพื้นที่วงรอบนอก เป็นเสมือนไข่ขาว คือพื้นที่ท้าทาย หรือ Risk Zone เป็นสภาพการณ์ที่เราไม่คุ้นเคย เพราะเต็มไปด้วยความเสี่ยงว่าเราอาจจะทำอะไรผิดพลาด ไม่มีแนวทางบอกว่าควรจะต้องทำตัวอย่างไร มันอาจจะเป็นสถานที่แปลกใหม่ หรือการอยู่กับผู้คนที่เราไม่เคยรู้จัก หรือแม้แต่การต้องทำต้องแสดงพฤติกรรมอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำ

สำหรับแต่ละคนแล้ว พื้นที่ท้าทายนี้จะแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่มีร่วมกัน คือความรู้สึกของเราที่ไม่นิ่ง อาจตื่นเต้น หรือกระวนกระวาย แม้กระทั่งอึดอัด จนถึงหวาดกลัว ทว่าในทางกลับกัน อีกด้านของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราคือความไม่ประมาท ความรู้ตัว ความประหลาดใจ ไปจนถึงความอัศจรรย์ใจ

ด้วยวิถีชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตในเมืองที่เป็นระบบดังปัจจุบันนี้ การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของพวกเราจึงมักเกิดขึ้นในพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่เราในสมัยเด็กๆ นั้น เราเติบโตขึ้นมาในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงและแปลกใหม่อยู่เสมอ และเต็มไปด้วยความท้าทายว่าตัวเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง อะไรที่ทำให้เราสนุก อะไรที่เป็นอันตรายต่อเราบ้าง มันจึงเป็นการเรียนรู้ที่เปลี่ยนเราถึงรากฐานและให้มุมมองใหม่ต่อชีวิตและโลก

ทั้งไข่ขาวและไข่แดงต่างเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่เติมเต็มกันและกัน ที่กล่าวมาข้างต้นก็มิใช่ว่าเราจำเป็นจะต้องเสาะหาการเรียนรู้ในพื้นที่ท้าทายเสมอไปทุกครั้ง บางอย่างที่เสี่ยงเกินไป ก็อาจทำให้สภาวะจิตใจของเราสั่นไหว จนเข้าสู่การปกป้องระวังภัย และไม่อาจเกิดการเรียนรู้ก็เป็นได้

เพียงแต่ว่าในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองนั้น อาจต้องเริ่มจากการท้าทายความเชื่อบางอย่างในใจที่เรายึดมั่นถือมั่นเอาไว้โดยไม่รู้ตัว หรือผลักดันให้เราเผชิญสภาวะไม่คุ้นเคยและแปลกใหม่ เพื่อให้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนตัวเอง เป็นการเติบโตจากไข่แดงไปสู่ไข่ขาว เพราะมันเป็นคือก้าวสำคัญของการเข้าใจและยอมรับตัวเอง

สามฐานการเรียนรู้


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2555

เวลาเราพูดกันถึงการเรียนรู้ โดยมากเรามักจะหมายถึงการจดจำเนื้อหา และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องและเน้นไปที่การใช้ฐานคิดทั้งสิ้น

แต่ในการเรียนรู้อย่างสมดุล และการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม เพื่อการเข้าใจตนเองและโลกนั้น เราหมายถึงเรื่องการเรียนที่มากไปกว่าฐานคิด หรือการใช้สมองจดจำวิเคราะห์เท่านั้น เรายังหมายถึงการใช้ฐานใจ คือความรู้สึก สภาวะอารมณ์ และฐานกาย คือสัญชาตญาณ และสัญญาณจากร่างกายของเราอีกด้วย

เป็นการเรียนรู้ทั้งสามฐานที่เกื้อหนุนสัมพันธ์กัน ไม่ได้แยกขาดเพื่อใช้เพียงฐานใดฐานหนึ่ง

หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า การเรียนทั่วไปในระบบนั้นมุ่งเน้นเรื่องการจดจำรายละเอียดเนื้อหา เน้นความสามารถในการวิเคราะห์คำนวณ ดังปรากฏในการสอบประเมินวัดผลทั้งหลาย ที่เกือบทั้งหมดใช้การทำแบบทดสอบในห้อง และต้องเป็นแบบทดสอบมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย

ส่วนการเรียนที่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับฐานใจ และฐานกาย มักถูกแยกออกไปเป็นอีกสายวิชา ขาดความสัมพันธ์สอดร้อยกันกับบทเรียนในส่วนที่เป็นเนื้อหา ยากจะเข้าใจความเป็นองค์รวมของตัวเองที่ไม่อาจแยกส่วนออกจากกัน ดังเด็กน้อยที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการทางสติปัญญา เรียนรู้ตัวเลข หัดพูดหัดเลียนแบบภาษา ลองเล่นดินลองละเลงสี และออกวิ่งปีนป่าย เป็นการเรียนที่หนุนเสริมทั้งสามฐานขึ้นมาพร้อมๆ กัน การเป็นผู้ใหญ่ก็ใช่เป็นเหตุผลที่เราจะปฏิเสธการใช้ฐานใจและฐานกายในการเรียนรู้

เราอาจคุ้นเคยกันมากับการเรียนในห้องเรียนที่ใช้ฐานคิด แต่ต้องย้ำเตือนกันเสมอว่า นั่นยังไม่ใช่การเรียนทั้งหมดของชีวิต

บางสถานการณ์ในชีวิต เราอาจใช้ทฤษฎีที่เราจดจำมาเพื่อแก้ไขจัดการปัญาที่เราเจออยู่ได้ แต่ยังมีอีกหลายสถานการณ์ ที่การใช้ฐานคิดนั้นไม่ช่วยให้เราพบวิธีที่ใช่สำหรับเราเลย

เพื่อนผู้เข้าร่วมอบรมการเรียนรู้เรื่องสมดุลสามฐานคนหนึ่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เธอเป็นคนที่มีความมั่นใจ กล้าพูด กล้าทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นงานที่ตัวเองเคยทำและรับผิดชอบมาแล้ว และทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเห็นคุณสมบัตินี้ชัดเจนในตัวเธอ ทว่าเมื่อเรากำลังเข้าสู่บทเรียนเรื่องการเปิดรับข้อมูลจากฐานใจและฐานกาย เรียนรู้การออกจากร่องพฤติกรรมเดิมๆ ที่ใช้ความคิดจนเคยชิน จนกลายเป็นความถือมั่น เชื่อว่าตัวเราเป็นเช่นนั้น เธอบอกว่าเธอได้พบความอัศจรรย์ใจ

ในกิจกรรมนี้ เราต่างคนจะลองใคร่ครวญด้วยตัวเราเอง ทบทวนว่าในขณะนี้เราปรารถนาอยากได้พลังเช่นใดมาไว้สำหรับการทำงาน มีคนจำนวนไม่น้อยบอกว่าต้องการศรัทธา บ้างก็ว่าต้องการความอดทน แต่เธอกลับบอกว่า “ต้องการความมั่นใจ” เธอว่านี่แหละคือคำตอบที่ได้จากการฐานกาย ในทางความคิดความเชื่อแล้วเป็นคนมั่นใจ แต่เมื่อให้เวลาสังเกตใจสังเกตกายของตนแล้ว กลับไม่รู้ว่าทำไมคำตอบยังเป็นต้องการความมั่นใจ

ครั้นให้เวลาอีกนิด จึงค้นพบและยอมรับได้จริงว่าในสัปดาห์หน้าจะต้องไปประชุมเรื่องสำคัญกับแหล่งทุน สำคัญมากจนเธอยอมรับว่าลึกๆ เริ่มหวั่นไหวไม่แน่ใจว่าจะทำได้อย่างที่คิด เธอบอกขอบคุณฐานกายที่เป็นขุมความรู้อีกแหล่งในตัว ที่ช่วยยืนยันว่าชีวิต ณ ขณะปัจจุบันนี้กำลังต้องการอะไร

สำหรับการเรียนของเราแต่ละคน บ้างอาจเรียนเพื่อใช้เนื้อหาสำหรับวิชาชีพ บ้างก็อาจเรียนเพื่อใช้ทักษะไปประกอบอาชีพ แต่การใช้ชีวิตอย่างเท่าทันกับความเป็นไปของโลกภายในตัวเรา เป็นสิ่งที่ไม่อาจละทิ้งพลังความรู้อันสะสมไว้ในฐานหนึ่งฐานใดได้เลย

พบพลัง


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2555

ผมเพิ่งกลับจากการประชุมของเครือข่ายองค์กรภาคสังคมกลุ่มหนึ่งได้ไม่นาน แต่สิ่งที่ยังติดอยู่ในความคิดที่ยากจะลืมเลือนได้ง่ายๆ คือรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ แววตาที่เป็นมิตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดที่ว่า “เราน่าจะได้มาเจอกันให้บ่อยกว่านี้นะ มีอะไรเราจะได้ช่วยเหลือกัน”

ย้อนกลับไปราวสองเดือนก่อนที่การประชุมนี้จะเกิดขึ้น ตอนนั้นผู้ประสานงานการประชุมแทบจะกุมขมับแล้วถอดใจ อยากจะยกเลิกนัดหมายครั้งนี้เสียด้วยซ้ำ ถ้าหากไม่เป็นเพราะตั้งใจไว้แล้วและมีงบประมาณสำหรับจัดกระบวนการให้แก่ตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายร่วม ๒๐ กว่าแห่ง ด้วยว่าทุกองค์กรนั้นก็มีภารกิจมากมาย ตารางนัดหมายก็แสนแน่น ยิ่งถ้าตรงกับวันเสาร์อาทิตย์แล้วยิ่งยาก เพราะเป็นเวลาที่จัดกิจกรรมจิตอาสาบ้าง มีงานลงพื้นที่ชุมชนบ้าง

แต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นจนได้ ชนิดที่เรียกว่าต้องตัดใจ ไปกันได้น้อยกว่าที่คาดก็ไม่เป็นไร และคนจำนวนหนึ่งติดพันภารกิจทำให้มาประชุมได้แค่ครึ่งทางก็ต้องกลับก่อนก็ไม่เป็นไร สุดท้ายการประชุมจึงเกิดขึ้นได้ในที่สุด

ตลอดเวลาสามวันของการประชุม ที่มีผู้เข้าร่วมสิบกว่าองค์กรจำนวนร่วมสามสิบกว่าคน เกือบครึ่งยังไม่เคยได้พบเจอกัน และมีถึงหนึ่งในสามที่ยังเป็นน้องใหม่ในวงการ บางคนเพิ่งทำงานมาได้เพียงสามเดือน บางคนก็สองปี เราจึงใช้กระบวนการทำความรู้จักกันไปพร้อมกับการทำความรู้จักงาน การรู้จักกันนั้นก็เป็นการเปิดเผยชีวิต บอกเล่าการเดินทางของชีวิต จุดพลิกผัน และการตัดสินใจครั้งสำคัญ จนถึงวันนี้ที่มีบทบาทหน้าที่อะไรอยู่ในองค์กรอยู่ในชุมชนของตน เป็นการรู้จักความเป็นมาของกันและกันที่มันเป็นหนึ่งเดียวกับงานที่ต่างคนได้เลือก และได้ภาคภูมิใจในงานของตน

ผ่านไปเพียงคืนแรก เราก็แทบจะเป็นเสมือนเพื่อนพี่น้องที่เข้าอกเข้าใจในหลายๆ เรื่องที่เราสนใจเหมือนๆ กัน และแทบจะเป็นเหมือนครอบครัวที่ยอมรับเคารพในความแตกต่างของความสนใจที่เรามีหลากหลายผิดแผกกัน พอถึงคืนสุดท้าย เราร่วมขับร้องเพลงคลอกัน เพลงต่างยุค ต่างอารมณ์ แต่ได้รับรู้สัมผัสถึงพลังชีวิตและแรงบันดาลใจของทุกๆ คน

พร้อมกันนั้น การประชุมยังบรรลุผลลัพธ์อันเลิศ เราได้แลกเปลี่ยนทักษะความรู้กันอย่างทั่วถึง ได้สรุปและถอดบทเรียนความรู้ที่แต่ละองค์กรได้ทำงานมาตลอดทั้งปี ได้เห็นทิศทางที่เราจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน และเกิดความเป็นไปได้ที่จะประสานให้ความช่วยเหลือกัน

สุดท้ายของการจากลา หลายคนบอกว่า “อยากจะพบกันอีก” และพูดแทบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหมือนได้เติมพลัง ได้กลับมาพบที่ๆ ทำให้รู้สึกว่านี่แหละ คือ ที่ของเรา” ช่างเป็นประโยคสรุปการเดินทางของเวลาสามวันสองคืนที่งดงาม และเผยความรู้สึกดีๆ ออกมามากมาย เป็นถ้อยคำที่สะกิดใจเราว่า อะไรนะที่มันเคยยับยั้งรั้งเราเอาไว้จนเกือบไม่ได้มา อะไรนะที่เจียนจะทำให้เราพลาดโอกาสการได้สัมผัสกับพลังและการมาให้มารับกำลังใจจากกันและกัน

ภาระงานตรงหน้าอาจจะสำคัญและเร่งด่วนจริง จนทำให้หาเวลานัดหมายกันไม่ได้ จนกลายเป็นว่าต้องรีบจัดการสะสางให้เร็วขึ้นให้มากขึ้นอีก หลงลืมไปชั่วขณะว่าเราก็กำลังตกร่องกระแสความเชื่อหลักของการเน้นงาน พาลทึกทักไปว่าการมาพบปะเพื่อประชุมในวาระของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้มีความสำคัญในระดับรองลงไป ลืมไปว่าการหยุดพัก กลับมาทบทวนตัวเอง หันหน้าเข้าหาเพื่อเรียนรู้จากบทเรียนในชีวิตจริงของเพื่อน ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและงาน เป็นส่วนที่ทำหน้าที่เยียวยาบาดแผลร่องรอยของการตรากตรำทำงาน และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้ชื่นชมความสำเร็จในงานของกันและกัน

การพักมาเพื่อพบได้มิตร เป็นการพักเพื่อเพิ่มพูนกำลัง เป็นพักที่มิได้ละเลยภาระ เป็นพักที่ได้พบปะ และย้ำบอกหัวใจเราอีกครั้งว่า การพบเพื่อเรียนรู้จากกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตและงานของเรา

สอบชีวิต


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2555

ผมอยากจะใช้พื้นที่เล็กๆ นี้ให้กำลังใจและขอบพระคุณอาจารย์ท่านหนึ่ง

เธอมีอาชีพที่สังคมให้การยอมรับนับถือมากที่สุดอาชีพหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นอาจารย์สอนในสถาบันผลิตบุคลากรดังกล่าวด้วย

บรรดาลูกศิษย์ของเธอ หลังจากที่ต้องคร่ำเคร่งเรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติภายใต้การดูแลชี้แนะจากเธอและเหล่าคณาจารย์เป็นเวลาหลายปีแล้ว ก็ถึงคราวต้องสอบวัดระดับความรู้ความสามารถด้วยข้อสอบมาตรฐานชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่ทุกสถาบันในไทยต้องสอบพร้อมๆ กัน

การสอบครั้งนี้ใช้ข้อสอบที่อาจารย์หลากสถาบันทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็น กำหนดเนื้อหาที่จะทดสอบ ตลอดจนตั้งโจทย์คำถาม ผลของการสอบนี้ นอกจากมีผลชี้ว่านักศึกษาจะได้รับอนุมัติใบประกอบวิชาชีพชั้นสูงหรือไม่แล้ว ยังเป็นตัวชี้มาตรฐานเทียบเคียงระหว่างสถาบันทุกแห่งไปด้วยกลายๆ เนื่องว่าการประกาศผลนั้นถูกจัดเรียงลำดับจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรื่อยลงมา

ด้วยเหตุที่เป็นข้อสอบที่ส่งผลมากถึงขนาดนี้ อาจารย์บางสถาบันจึงมักจะบอกข้อสอบให้แก่ลูกศิษย์ของตนเอง

เมื่อผลสอบประจำปีนี้ออกมา คะแนนสูงๆ มีการเกาะกลุ่มกันมากจนแทบจะเห็นว่าสถาบันใดบ้างที่อาจมีการบอกข้อสอบกัน แต่คะแนนที่เกาะกลุ่มกันนั้น ไม่ใช่คะแนนจากลูกศิษย์ของเธอ เรียกได้ว่าลูกศิษย์เหล่านี้บางคนไม่ผ่านเกณฑ์การวัดครั้งนี้เสียด้วยซ้ำ ทั้งที่เธอมั่นใจว่าพวกเขามีความรู้ความสามารถและทักษะทางวิชาชีพสมกับที่ได้ฝึกฝนร่ำเรียนมานานปีอย่างเต็มภาคภูมิ

เหตุผลนั้นอาจเป็นเพราะว่า เธอไม่ยอมบอกข้อสอบใดๆ ให้แก่ศิษย์เพื่อไปเตรียมการสอบครั้งนี้

ผลอันดับคะแนนสอบครั้งนี้ ครั้งที่ตัวเลขอันดับและเลขคะแนนได้ชี้บอกถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสถาบัน มันส่งผลสะเทือนความรู้สึกของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวนักศึกษาผู้สอบ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และตัวเธอเอง ผู้เสียใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครในฐานะอาจารย์

ความเสียใจนั้นยิ่งเท่าทวี เมื่อมีคำพูดจากคนในสถาบันมาถึงเธอทำนองที่ว่า “แล้วเป็นไงล่ะ ปีหน้ายังจะกินอุดมการณ์อีกหรือเปล่า”

ราวกับโชคชะตาได้เล่นตลกกับผู้มีศรัทธา ประหนึ่งว่าโลกกำลังสั่นคลอนผู้ที่พยายามก้าวย่างอย่างมั่นคงไปบนวิถีแห่งความเชื่อ เธอได้ปฏิบัติหน้าที่ของครูอย่างเต็มที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี และเมื่อถึงคราวที่ศิษย์ต้องก้าวผ่านบททดสอบสำคัญของการเรียนรู้ เธอจึงให้เขาเหล่านั้นไปเผชิญหน้าและรับผิดชอบมันอย่างเต็มที่ด้วยตัวของเขาเอง

อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่เรียกความเชื่อนี้ว่าอุดมการณ์ แล้วหลีกเลี่ยงการเดินบนวิถีทางอันแตกต่าง เลือกเดินไปบนทางที่เสี่ยงน้อยกว่า เป็นเส้นทางตามกระแสที่คนส่วนมากกำลังพากันเดินไป ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ผมขอให้กำลังใจเธอผู้นี้ ผู้ที่เลือกเส้นทางที่ไม่ง่าย เส้นทางอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในการเรียนรู้ เส้นทางที่ให้ความสำคัญแก่ความซื่อตรงมากกว่าอันดับคะแนนเทียบเคียง และชื่อเสียงชั่วคราว

ผมขอขอบพระคุณเธอที่เป็นครูด้วยหัวใจ ไม่ได้เป็นเพียงครูผู้ให้เนื้อหาทักษะวิชาชีพ แต่ยังเป็นครูผู้สอนความเชื่อในชีวิต สอนความศรัทธาต่อการเรียน และสอนความภาคภูมิใจในตนเองให้แก่ศิษย์

คะแนนสอบของนักศึกษากลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ดีเด่นและสวยงามตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่เชื่อเหลือเกินว่าเขาเหล่านี้ได้พบกับบทเรียนสำคัญจากครู และได้ผ่านบททดสอบอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ทำให้ต้องตัดสินใจว่าจะยืนหยัดในความเชื่อที่อาจารย์ได้แสดงให้เห็นต่อไป หรือจะยอมเอนไหวแปรไปกับโลกที่เคลื่อนกันตามกระแสอันดับนิยมและชื่อเสียง

ผมขอใช้พื้นที่นี้เพื่อส่งกำลังใจ สำหรับความกล้าหาญที่อาจารย์เลือกจะยืนหยัดทำในสิ่งที่เชื่อมั่น และขอบพระคุณอาจารย์ที่ได้เป็นบทเรียนทรงคุณค่าสำหรับศิษย์ จริงทีเดียวว่า การสอบครั้งนี้อาจใช้วัดมาตรฐาน แต่มันก็ได้สอบวัดความเชื่อของการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายไปแล้วเช่นกัน

ต่างวิธี


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2555

ไม่กี่วันก่อน รุ่นน้องคนหนึ่งมาขอปรึกษาเรื่องว่าด้วยการจัดค่ายรับน้องของภาควิชา จำนวนนักศึกษาและอาจารย์ รวมทั้งรุ่นพี่บัณฑิตที่จะไปร่วมงานนี้ทั้งหมดก็นับว่าเกินสองร้อยคน โดยพากันออกเดินทางจากกรุงเทพไปยังจังหวัดชายทะเล งบประมาณที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยก็ไม่พอจัดการ ต้องขอให้เฉลี่ยช่วยกันจ่าย รุ่นน้องก็น้อยหน่อย รุ่นพี่ที่ยิ่งอาวุโสก็ยิ่งควักมากขึ้น

แน่นอนว่าในฐานะคนดูแลเรื่องการประสานงานค่าย เขาต้องรับมือจัดการกับปัญหาสารพัด ทั้งเรื่องรถ จัดแบ่งคนลงห้องพัก เตรียมเบิกเงินสดไว้ใช้จ่าย สั่งทำเสื้อและขนย้ายอุปกรณ์ทั้งหลายประดามี แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจที่สุดที่เขาเอามาขอคำปรึกษา

“ผมว่ากิจกรรมมันดูจะเน้นเที่ยวเฮฮาจังเลย ทำยังไงดีครับ วันแรกให้ทำกิจกรรมสบายๆ ก่อน วันที่สองเป็นกิจกรรมสืบค้นการเรียนรู้ แต่วันสุดท้ายยังนึกไม่ออก อยากให้น้องๆ ได้อะไรไปมากกว่าความสนุก”

เขายังบอกด้วยว่า ได้พยายามอย่างมากในการชักจูงใจเพื่อนที่ร่วมประสานงานค่ายให้ทุกคนเห็นดีเห็นงามตามด้วย แต่ดูเหมือนผลลัพธ์ก็กลับจะไม่ค่อยดีนัก

“พวกเราในชั้นปีก็มีโจทย์ท้าทายเรื่องความสัมพันธ์กันอยู่เป็นทุนเดิมด้วยแหละครับ ก็มีที่แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ อยู่แล้ว พอมีงานแบบนี้มันก็เหมือนต่างคนต่างเห็นไปคนละอย่าง เพื่อนบางคนอยากให้ไปผ่อนคลาย บางคนอยากให้ไปทำกิจกรรมบันเทิง พี่ก็รู้ว่ากิจกรรมพวกนั้นมันไม่ค่อยได้ผลหรอก”

ผมตอบไปว่า “ใช่ กิจกรรมบันเทิงไม่ช่วยในการดูแลความสัมพันธ์เชิงลึกได้จริงๆ อันนี้เห็นด้วย แต่อย่าลืมนะ เราเคยพบกิจกรรมที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ด้านในมาแล้ว ส่วนคนอื่นน่ะยัง สาเหตุที่เขาไม่ยอมเอาตามเรา อาจจะไม่ใช่เพราะต่อต้าน แต่เพื่อนๆ เขาเพียงแต่เชื่อว่าวิธีของเขาก็เป็นวิธีหนึ่งในการดูแลรักษาความสัมพันธ์ของรุ่นพี่รุ่นน้องในภาควิชาเช่นกัน”

ข้อสังเกตนี้ทำให้เขานิ่งลงและเปิดโอกาสให้ได้ใคร่ครวญภายในใจตนเอง เพราะตลอดเวลาที่เขาเล่ากึ่งระบายออกมานั้น มันเต็มไปด้วยความทุกข์และอึดอัด ในหัวมีแต่ความไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนดูเหมือนไม่ยอมรับกิจกรรมกระบวนการดีๆ ที่ตนเองเสนอ

“รู้ไหมว่าพี่เห็นอะไรชัดในตัวเรา?” ผมเฉลยโดยไม่รอคำตอบ “มันคือความมุ่งมั่นและตั้งใจดีต่อภาควิชาของเราไง และเพื่อนๆ เขาก็มีความมุ่งมั่นและตั้งใจดีนี้เหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันก็เป็นเพียงแค่วิธีการ แล้วตอนนี้ที่เราอึดอัดใจกันในหมู่คนทำงาน ก็เพราะว่าเราเอาวิธีการมาประชันแข่งขันว่ากิจกรรมของใครจะได้ถูกใส่ในกำหนดการ”

คำถามสำคัญที่เขาจะต้องตอบก็คือ เขาให้ความสำคัญแก่อะไรมากกว่ากัน ระหว่างความสำเร็จของค่ายสามวันนี้ กับความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนไปอีกหลายปี แน่นอนว่าคำตอบคือประการหลัง

การดูแลความสัมพันธ์ให้ดี จึงมิใช่เพียงใช้วิธีการจัดกิจกรรมกระบวนการดีๆ ในสามวันนั้นข้างหน้า แต่คือการอยู่กับปัจจุบัน ดูแลวาระของเพื่อนๆ ตรงหน้า มองทะลุวิธีการไปให้เห็นความมุ่งมั่นและตั้งใจดีของเขาที่มีเหมือนกันกับเรา หากยังดึงดันจะใช้วิธีการของเราก็เท่ากับบังคับใจกัน ไฉนเลยจะได้ใจกลับมา

บทสรุปจึงจบลงตรงที่รุ่นน้องผู้นี้เห็นแล้วว่าจะต้องมีกิจกรรมบันเทิงของเพื่อนอยู่ในกำหนดการค่าย ไม่ใช่เพราะว่าควรยอมๆ กันไป แต่เขาจะยินดีร่วมงานเฮฮานั้นอย่างสนุกสนานเต็มที่ ยอมให้ตัวเองถูกดูแลด้วยวิธีการที่ต่างออกไป และเปิดใจเพื่อให้เข้าถึงเพื่อน เพื่อให้สื่อถึงกัน สื่อให้ถึงสิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นตั้งใจดีที่ไม่ยึดติดในวิธีการของใคร