ต่างวิธี


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2555

ไม่กี่วันก่อน รุ่นน้องคนหนึ่งมาขอปรึกษาเรื่องว่าด้วยการจัดค่ายรับน้องของภาควิชา จำนวนนักศึกษาและอาจารย์ รวมทั้งรุ่นพี่บัณฑิตที่จะไปร่วมงานนี้ทั้งหมดก็นับว่าเกินสองร้อยคน โดยพากันออกเดินทางจากกรุงเทพไปยังจังหวัดชายทะเล งบประมาณที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยก็ไม่พอจัดการ ต้องขอให้เฉลี่ยช่วยกันจ่าย รุ่นน้องก็น้อยหน่อย รุ่นพี่ที่ยิ่งอาวุโสก็ยิ่งควักมากขึ้น

แน่นอนว่าในฐานะคนดูแลเรื่องการประสานงานค่าย เขาต้องรับมือจัดการกับปัญหาสารพัด ทั้งเรื่องรถ จัดแบ่งคนลงห้องพัก เตรียมเบิกเงินสดไว้ใช้จ่าย สั่งทำเสื้อและขนย้ายอุปกรณ์ทั้งหลายประดามี แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจที่สุดที่เขาเอามาขอคำปรึกษา

“ผมว่ากิจกรรมมันดูจะเน้นเที่ยวเฮฮาจังเลย ทำยังไงดีครับ วันแรกให้ทำกิจกรรมสบายๆ ก่อน วันที่สองเป็นกิจกรรมสืบค้นการเรียนรู้ แต่วันสุดท้ายยังนึกไม่ออก อยากให้น้องๆ ได้อะไรไปมากกว่าความสนุก”

เขายังบอกด้วยว่า ได้พยายามอย่างมากในการชักจูงใจเพื่อนที่ร่วมประสานงานค่ายให้ทุกคนเห็นดีเห็นงามตามด้วย แต่ดูเหมือนผลลัพธ์ก็กลับจะไม่ค่อยดีนัก

“พวกเราในชั้นปีก็มีโจทย์ท้าทายเรื่องความสัมพันธ์กันอยู่เป็นทุนเดิมด้วยแหละครับ ก็มีที่แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ อยู่แล้ว พอมีงานแบบนี้มันก็เหมือนต่างคนต่างเห็นไปคนละอย่าง เพื่อนบางคนอยากให้ไปผ่อนคลาย บางคนอยากให้ไปทำกิจกรรมบันเทิง พี่ก็รู้ว่ากิจกรรมพวกนั้นมันไม่ค่อยได้ผลหรอก”

ผมตอบไปว่า “ใช่ กิจกรรมบันเทิงไม่ช่วยในการดูแลความสัมพันธ์เชิงลึกได้จริงๆ อันนี้เห็นด้วย แต่อย่าลืมนะ เราเคยพบกิจกรรมที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ด้านในมาแล้ว ส่วนคนอื่นน่ะยัง สาเหตุที่เขาไม่ยอมเอาตามเรา อาจจะไม่ใช่เพราะต่อต้าน แต่เพื่อนๆ เขาเพียงแต่เชื่อว่าวิธีของเขาก็เป็นวิธีหนึ่งในการดูแลรักษาความสัมพันธ์ของรุ่นพี่รุ่นน้องในภาควิชาเช่นกัน”

ข้อสังเกตนี้ทำให้เขานิ่งลงและเปิดโอกาสให้ได้ใคร่ครวญภายในใจตนเอง เพราะตลอดเวลาที่เขาเล่ากึ่งระบายออกมานั้น มันเต็มไปด้วยความทุกข์และอึดอัด ในหัวมีแต่ความไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนดูเหมือนไม่ยอมรับกิจกรรมกระบวนการดีๆ ที่ตนเองเสนอ

“รู้ไหมว่าพี่เห็นอะไรชัดในตัวเรา?” ผมเฉลยโดยไม่รอคำตอบ “มันคือความมุ่งมั่นและตั้งใจดีต่อภาควิชาของเราไง และเพื่อนๆ เขาก็มีความมุ่งมั่นและตั้งใจดีนี้เหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันก็เป็นเพียงแค่วิธีการ แล้วตอนนี้ที่เราอึดอัดใจกันในหมู่คนทำงาน ก็เพราะว่าเราเอาวิธีการมาประชันแข่งขันว่ากิจกรรมของใครจะได้ถูกใส่ในกำหนดการ”

คำถามสำคัญที่เขาจะต้องตอบก็คือ เขาให้ความสำคัญแก่อะไรมากกว่ากัน ระหว่างความสำเร็จของค่ายสามวันนี้ กับความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนไปอีกหลายปี แน่นอนว่าคำตอบคือประการหลัง

การดูแลความสัมพันธ์ให้ดี จึงมิใช่เพียงใช้วิธีการจัดกิจกรรมกระบวนการดีๆ ในสามวันนั้นข้างหน้า แต่คือการอยู่กับปัจจุบัน ดูแลวาระของเพื่อนๆ ตรงหน้า มองทะลุวิธีการไปให้เห็นความมุ่งมั่นและตั้งใจดีของเขาที่มีเหมือนกันกับเรา หากยังดึงดันจะใช้วิธีการของเราก็เท่ากับบังคับใจกัน ไฉนเลยจะได้ใจกลับมา

บทสรุปจึงจบลงตรงที่รุ่นน้องผู้นี้เห็นแล้วว่าจะต้องมีกิจกรรมบันเทิงของเพื่อนอยู่ในกำหนดการค่าย ไม่ใช่เพราะว่าควรยอมๆ กันไป แต่เขาจะยินดีร่วมงานเฮฮานั้นอย่างสนุกสนานเต็มที่ ยอมให้ตัวเองถูกดูแลด้วยวิธีการที่ต่างออกไป และเปิดใจเพื่อให้เข้าถึงเพื่อน เพื่อให้สื่อถึงกัน สื่อให้ถึงสิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นตั้งใจดีที่ไม่ยึดติดในวิธีการของใคร

0 comments:

Post a Comment