สอบชีวิต
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2555
ผมอยากจะใช้พื้นที่เล็กๆ นี้ให้กำลังใจและขอบพระคุณอาจารย์ท่านหนึ่ง
เธอมีอาชีพที่สังคมให้การยอมรับนับถือมากที่สุดอาชีพหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นอาจารย์สอนในสถาบันผลิตบุคลากรดังกล่าวด้วย
บรรดาลูกศิษย์ของเธอ หลังจากที่ต้องคร่ำเคร่งเรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติภายใต้การดูแลชี้แนะจากเธอและเหล่าคณาจารย์เป็นเวลาหลายปีแล้ว ก็ถึงคราวต้องสอบวัดระดับความรู้ความสามารถด้วยข้อสอบมาตรฐานชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่ทุกสถาบันในไทยต้องสอบพร้อมๆ กัน
การสอบครั้งนี้ใช้ข้อสอบที่อาจารย์หลากสถาบันทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็น กำหนดเนื้อหาที่จะทดสอบ ตลอดจนตั้งโจทย์คำถาม ผลของการสอบนี้ นอกจากมีผลชี้ว่านักศึกษาจะได้รับอนุมัติใบประกอบวิชาชีพชั้นสูงหรือไม่แล้ว ยังเป็นตัวชี้มาตรฐานเทียบเคียงระหว่างสถาบันทุกแห่งไปด้วยกลายๆ เนื่องว่าการประกาศผลนั้นถูกจัดเรียงลำดับจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรื่อยลงมา
ด้วยเหตุที่เป็นข้อสอบที่ส่งผลมากถึงขนาดนี้ อาจารย์บางสถาบันจึงมักจะบอกข้อสอบให้แก่ลูกศิษย์ของตนเอง
เมื่อผลสอบประจำปีนี้ออกมา คะแนนสูงๆ มีการเกาะกลุ่มกันมากจนแทบจะเห็นว่าสถาบันใดบ้างที่อาจมีการบอกข้อสอบกัน แต่คะแนนที่เกาะกลุ่มกันนั้น ไม่ใช่คะแนนจากลูกศิษย์ของเธอ เรียกได้ว่าลูกศิษย์เหล่านี้บางคนไม่ผ่านเกณฑ์การวัดครั้งนี้เสียด้วยซ้ำ ทั้งที่เธอมั่นใจว่าพวกเขามีความรู้ความสามารถและทักษะทางวิชาชีพสมกับที่ได้ฝึกฝนร่ำเรียนมานานปีอย่างเต็มภาคภูมิ
เหตุผลนั้นอาจเป็นเพราะว่า เธอไม่ยอมบอกข้อสอบใดๆ ให้แก่ศิษย์เพื่อไปเตรียมการสอบครั้งนี้
ผลอันดับคะแนนสอบครั้งนี้ ครั้งที่ตัวเลขอันดับและเลขคะแนนได้ชี้บอกถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสถาบัน มันส่งผลสะเทือนความรู้สึกของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวนักศึกษาผู้สอบ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และตัวเธอเอง ผู้เสียใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครในฐานะอาจารย์
ความเสียใจนั้นยิ่งเท่าทวี เมื่อมีคำพูดจากคนในสถาบันมาถึงเธอทำนองที่ว่า “แล้วเป็นไงล่ะ ปีหน้ายังจะกินอุดมการณ์อีกหรือเปล่า”
ราวกับโชคชะตาได้เล่นตลกกับผู้มีศรัทธา ประหนึ่งว่าโลกกำลังสั่นคลอนผู้ที่พยายามก้าวย่างอย่างมั่นคงไปบนวิถีแห่งความเชื่อ เธอได้ปฏิบัติหน้าที่ของครูอย่างเต็มที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี และเมื่อถึงคราวที่ศิษย์ต้องก้าวผ่านบททดสอบสำคัญของการเรียนรู้ เธอจึงให้เขาเหล่านั้นไปเผชิญหน้าและรับผิดชอบมันอย่างเต็มที่ด้วยตัวของเขาเอง
อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่เรียกความเชื่อนี้ว่าอุดมการณ์ แล้วหลีกเลี่ยงการเดินบนวิถีทางอันแตกต่าง เลือกเดินไปบนทางที่เสี่ยงน้อยกว่า เป็นเส้นทางตามกระแสที่คนส่วนมากกำลังพากันเดินไป ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ผมขอให้กำลังใจเธอผู้นี้ ผู้ที่เลือกเส้นทางที่ไม่ง่าย เส้นทางอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในการเรียนรู้ เส้นทางที่ให้ความสำคัญแก่ความซื่อตรงมากกว่าอันดับคะแนนเทียบเคียง และชื่อเสียงชั่วคราว
ผมขอขอบพระคุณเธอที่เป็นครูด้วยหัวใจ ไม่ได้เป็นเพียงครูผู้ให้เนื้อหาทักษะวิชาชีพ แต่ยังเป็นครูผู้สอนความเชื่อในชีวิต สอนความศรัทธาต่อการเรียน และสอนความภาคภูมิใจในตนเองให้แก่ศิษย์
คะแนนสอบของนักศึกษากลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ดีเด่นและสวยงามตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่เชื่อเหลือเกินว่าเขาเหล่านี้ได้พบกับบทเรียนสำคัญจากครู และได้ผ่านบททดสอบอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ทำให้ต้องตัดสินใจว่าจะยืนหยัดในความเชื่อที่อาจารย์ได้แสดงให้เห็นต่อไป หรือจะยอมเอนไหวแปรไปกับโลกที่เคลื่อนกันตามกระแสอันดับนิยมและชื่อเสียง
ผมขอใช้พื้นที่นี้เพื่อส่งกำลังใจ สำหรับความกล้าหาญที่อาจารย์เลือกจะยืนหยัดทำในสิ่งที่เชื่อมั่น และขอบพระคุณอาจารย์ที่ได้เป็นบทเรียนทรงคุณค่าสำหรับศิษย์ จริงทีเดียวว่า การสอบครั้งนี้อาจใช้วัดมาตรฐาน แต่มันก็ได้สอบวัดความเชื่อของการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายไปแล้วเช่นกัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment