สามฐานการเรียนรู้
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2555
เวลาเราพูดกันถึงการเรียนรู้ โดยมากเรามักจะหมายถึงการจดจำเนื้อหา และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องและเน้นไปที่การใช้ฐานคิดทั้งสิ้น
แต่ในการเรียนรู้อย่างสมดุล และการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม เพื่อการเข้าใจตนเองและโลกนั้น เราหมายถึงเรื่องการเรียนที่มากไปกว่าฐานคิด หรือการใช้สมองจดจำวิเคราะห์เท่านั้น เรายังหมายถึงการใช้ฐานใจ คือความรู้สึก สภาวะอารมณ์ และฐานกาย คือสัญชาตญาณ และสัญญาณจากร่างกายของเราอีกด้วย
เป็นการเรียนรู้ทั้งสามฐานที่เกื้อหนุนสัมพันธ์กัน ไม่ได้แยกขาดเพื่อใช้เพียงฐานใดฐานหนึ่ง
หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า การเรียนทั่วไปในระบบนั้นมุ่งเน้นเรื่องการจดจำรายละเอียดเนื้อหา เน้นความสามารถในการวิเคราะห์คำนวณ ดังปรากฏในการสอบประเมินวัดผลทั้งหลาย ที่เกือบทั้งหมดใช้การทำแบบทดสอบในห้อง และต้องเป็นแบบทดสอบมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย
ส่วนการเรียนที่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับฐานใจ และฐานกาย มักถูกแยกออกไปเป็นอีกสายวิชา ขาดความสัมพันธ์สอดร้อยกันกับบทเรียนในส่วนที่เป็นเนื้อหา ยากจะเข้าใจความเป็นองค์รวมของตัวเองที่ไม่อาจแยกส่วนออกจากกัน ดังเด็กน้อยที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการทางสติปัญญา เรียนรู้ตัวเลข หัดพูดหัดเลียนแบบภาษา ลองเล่นดินลองละเลงสี และออกวิ่งปีนป่าย เป็นการเรียนที่หนุนเสริมทั้งสามฐานขึ้นมาพร้อมๆ กัน การเป็นผู้ใหญ่ก็ใช่เป็นเหตุผลที่เราจะปฏิเสธการใช้ฐานใจและฐานกายในการเรียนรู้
เราอาจคุ้นเคยกันมากับการเรียนในห้องเรียนที่ใช้ฐานคิด แต่ต้องย้ำเตือนกันเสมอว่า นั่นยังไม่ใช่การเรียนทั้งหมดของชีวิต
บางสถานการณ์ในชีวิต เราอาจใช้ทฤษฎีที่เราจดจำมาเพื่อแก้ไขจัดการปัญาที่เราเจออยู่ได้ แต่ยังมีอีกหลายสถานการณ์ ที่การใช้ฐานคิดนั้นไม่ช่วยให้เราพบวิธีที่ใช่สำหรับเราเลย
เพื่อนผู้เข้าร่วมอบรมการเรียนรู้เรื่องสมดุลสามฐานคนหนึ่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เธอเป็นคนที่มีความมั่นใจ กล้าพูด กล้าทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นงานที่ตัวเองเคยทำและรับผิดชอบมาแล้ว และทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเห็นคุณสมบัตินี้ชัดเจนในตัวเธอ ทว่าเมื่อเรากำลังเข้าสู่บทเรียนเรื่องการเปิดรับข้อมูลจากฐานใจและฐานกาย เรียนรู้การออกจากร่องพฤติกรรมเดิมๆ ที่ใช้ความคิดจนเคยชิน จนกลายเป็นความถือมั่น เชื่อว่าตัวเราเป็นเช่นนั้น เธอบอกว่าเธอได้พบความอัศจรรย์ใจ
ในกิจกรรมนี้ เราต่างคนจะลองใคร่ครวญด้วยตัวเราเอง ทบทวนว่าในขณะนี้เราปรารถนาอยากได้พลังเช่นใดมาไว้สำหรับการทำงาน มีคนจำนวนไม่น้อยบอกว่าต้องการศรัทธา บ้างก็ว่าต้องการความอดทน แต่เธอกลับบอกว่า “ต้องการความมั่นใจ” เธอว่านี่แหละคือคำตอบที่ได้จากการฐานกาย ในทางความคิดความเชื่อแล้วเป็นคนมั่นใจ แต่เมื่อให้เวลาสังเกตใจสังเกตกายของตนแล้ว กลับไม่รู้ว่าทำไมคำตอบยังเป็นต้องการความมั่นใจ
ครั้นให้เวลาอีกนิด จึงค้นพบและยอมรับได้จริงว่าในสัปดาห์หน้าจะต้องไปประชุมเรื่องสำคัญกับแหล่งทุน สำคัญมากจนเธอยอมรับว่าลึกๆ เริ่มหวั่นไหวไม่แน่ใจว่าจะทำได้อย่างที่คิด เธอบอกขอบคุณฐานกายที่เป็นขุมความรู้อีกแหล่งในตัว ที่ช่วยยืนยันว่าชีวิต ณ ขณะปัจจุบันนี้กำลังต้องการอะไร
สำหรับการเรียนของเราแต่ละคน บ้างอาจเรียนเพื่อใช้เนื้อหาสำหรับวิชาชีพ บ้างก็อาจเรียนเพื่อใช้ทักษะไปประกอบอาชีพ แต่การใช้ชีวิตอย่างเท่าทันกับความเป็นไปของโลกภายในตัวเรา เป็นสิ่งที่ไม่อาจละทิ้งพลังความรู้อันสะสมไว้ในฐานหนึ่งฐานใดได้เลย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment