คอเดียวกัน



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2554

เมื่อแรกในการอบรมเรื่องการเรียนรู้แนวจิตตปัญญา พวกเราเหล่ากระบวนกรมักปรารถนาให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักและเห็นภาพทั้งหมดของกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดโมเดลจิตตปัญญาพฤกษา เพราะเราเชื่อว่าด้วยความรู้ที่ผ่านการวิจัยศึกษามาอย่างต่อเนื่องในเวลาสองปีกว่า ทั้งการสังเคราะห์ความรู้จากงานสำรวจข้อมูลออกสู่โมเดลอธิบายกระบวนการ กระทั่งได้นำโมเดลไปประยุกต์ทดลองใช้ในชั้นเรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล น่าจะเกิดประโยชน์และช่วยให้เขานำไปใช้เองได้

ในช่วงหลังมานี้เราเริ่มปล่อยวางความปรารถนาที่มักจะล้นเกินจนเป็นความคาดหวังนี้ลง เราพบว่าไม่ใช่ทุกครั้งของการอบรมที่องค์ความรู้อันครบถ้วนและเข้มข้น จะสามารถเป็นคำตอบต่อวาระความสนใจและจะนำไปใช้ในชีวิตการงานของเขาได้

แทนที่จะให้เวลาอย่างมากกับเรื่องความรู้ ทักษะ และการประยุกต์ใช้ เราก็ปรับมาใช้เวลาเหมาะสมกับความสนใจอันหลากหลายของผู้เข้าร่วม แต่เน้นไปยังสิ่งที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเขาในระยะยาวภายหลังการอบรม นั่นคือการมีคนคอเดียวกันไว้สนทนา แบ่งปันเรื่องราวที่พบ บอกเล่าปัญหายากที่ตนต้องเผชิญ เป็นกลุ่มสนับสนุนกันที่อาจใช้เรียกหาในคำอื่นได้ อาทิ ชมรม ชุมชนนักปฏิบัติ หรือสังฆะ

หลังการอบรมจำนวนมากหลายครั้ง ผู้เข้าร่วมมีลักษณะไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือในช่วงเรียนรู้ด้วยกันนั้น ต่างพบว่าทำให้ได้รู้จักเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อน และเห็นความเป็นไปได้มาก ทั้งยังมีความมุ่งมั่นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย แต่แล้วหลังจากนี้ไม่กี่วันหรือสัปดาห์ ดูเหมือนทุกคนล้วนเห็นพ้องว่าทุกอย่างกลับไปสู่สภาพคล้ายเดิมก่อนหน้าการอบรม ความรู้และทักษะที่เคยได้กลับไม่ค่อยถูกนำมาใช้อีก บ้างจึงเห็นว่าการอบรมเป็นเพียงยารักษาระยะสั้น อาจให้ผลได้แก่บางคนที่มีความตั้งใจและสนใจอย่างจริงจังเท่านั้น

แต่ยังมีตัวอย่างอีกด้านหนึ่ง และเป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับหลายองค์กร เขาเหล่านี้ยังมีความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องหลังการอบรม อาทิ เกิดกลุ่มพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา หรือฝึกฝนการสะท้อนทบทวนตนเองด้วยการเขียนและศิลปะ กลุ่มคนคอเดียวกันเหล่านี้ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ทักษะความรู้และเรื่องราวอันประทับใจก็ไม่เลือนหายไปหลังการอบรม

เหตุที่องค์กรเหล่านี้ทำได้ มิได้เป็นเพียงลำพังคำสั่งและความเอาจริงของผู้นำผู้บริหารเท่านั้น เพราะยังมีภารกิจอีกมากมายให้องค์กรต้องดำเนินการ ทำให้การสานต่อจากการอบรมมักมิใช่เรื่องสำคัญลำดับแรก ไม่ช้าไม่นานผู้บริหารก็จำต้องปล่อยผ่านให้ความสำคัญกับภารกิจงานหลัก จริงอยู่ที่การสนับสนุนจากผู้นำมีนั้นผลมาก แต่การสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ตั้งใจและต่อเนื่องนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่านัก

การเรียนรู้แนวจิตตปัญญาก็เป็นเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นในชีวิต แม้จะมีคนสั่งให้ทำก็อาจทำได้แค่ตอนเริ่มต้น แม้เราจะตั้งใจแต่เราก็อาจหมดไฟและล้มเลิกมันไปได้ การสนับสนุนที่สำคัญและเป็นกำลังที่ช่วยเพิ่มพูนให้แก่กันได้อย่างมาก คือการมีเพื่อน มีคนคอเดียวกัน ตั้งต้นจากคนที่สนใจการพัฒนาตนเองจากด้านในเหมือนกัน ยิ่งเป็นเพื่อนร่วมงานในองค์กรเดียวกัน ยิ่งเพิ่มโอกาสการได้พบปะ ได้แลกเปลี่ยน และได้กำลังใจในการฝึกฝน ได้ค้นพบความท้าทายในแบบฝึกหัดการปฏิบัติตัวด้วยทักษะความรู้ที่เคยได้เรียนรู้ร่วมกันมา

จิตตปัญญาอาจเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องเฉพาะตนเอง ใครทำใครได้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เองคนเดียวโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร ยิ่งไม่ใช่เรื่องที่ไปสั่งการให้คนอื่นหันมาสนใจ หรือให้เอาไปปฏิบัติ เรื่องของจิตใจนี้เองต้องเกิดจากความสนใจและความตั้งใจอันเริ่มต้นจากตนเอง และเพิ่มพูนให้งอกเงย บ่มเพาะให้ต่อเนื่อง ด้วยความสนใจและความตั้งใจของเพื่อนผู้ร่วมเส้นทางเดียวกัน คนคอเดียวกันในการพัฒนาจิตใจจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวทักษะความรู้เลย

ในหมู่กระบวนกรจิตตปัญญาศึกษา เราเห็นพ้องกันว่า ด้วยงานอบรมเพียงลำพังไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่องค์กรและชีวิตใครได้ หากไร้การประกอบรวมกันของผู้คนที่มุ่งมั่นสนใจหลังการอบรม อาจมาพูดคุยแบ่งปัน ทำสุนทรียสนทนา ฝึกสื่อสารด้วยหัวใจ หรือทำกิจกรรมฝึกใดๆ ด้วยกัน ในช่วงบ่ายช่วงเย็นก็ได้ แค่ให้ต่อเนื่อง เป็นประจำสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงมากแล้ว

สิ่งสำคัญในจิตตปัญญาอาจไม่ได้อยู่แค่เข้าใจ หรือมองเห็นเป้าหมาย แต่อยู่ที่เราได้ช่วยกันสร้างทางไว้ และให้เราร่วมทางฝึกฝนไปด้วยกัน

0 comments:

Post a Comment