เรียนชีวิต
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2555
คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ผ่านการแข่งขันสอบเข้าเรียนในระดับประเทศมาแล้ว น่าจะเป็นคนที่เพียบพร้อมในคุณสมบัติ มีความเข้าใจและใช้หลักเหตุผลในการดำเนินชีวิต รวมทั้งมีโอกาสดีในการเลือกประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ
แต่ความจริงที่เราพบในชั้นเรียนหนึ่งของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในคณะและภาควิชาทางสายวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศไทยเรานั้น กลับสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดไว้นั้น สามารถเป็นจริงได้เพียงแค่ครึ่ง หรืออาจจะเพียงส่วนเดียว ส่วนที่วัดผลและแสดงได้ด้วยค่าคะแนนเท่านั้น
นักศึกษาเหล่านี้เกือบทั้งหมดล้วนเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ต่เป็นความจริงอีกเช่นกันว่า เขาสามารถทำได้ดีเพียงการสอบผ่านไปตามระบบห้องเรียนเท่านั้น ส่วนการเรียนรู้ชีวิตนั้นกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สิ่งนี้อาจเป็นสภาพการณ์จริงที่เรารู้กันดี หรือว่าเราตกอยู่ในสภาพจำยอมเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่เห็นว่าการเรียนที่ดีกว่านั้นจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในชั้นเรียนหนึ่ง ได้บอกเราว่ามันเป็นไปได้ อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ทว่ายิ่งใหญ่สำหรับการใช้ชีวิต
ดังเช่นนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง เธอมีเกรดเฉลี่ยสะสมในระดับดีใช้ได้ ความประพฤติสุภาพเรียบร้อย แต่เธอพบว่า แม้ตัวเองจะจากบ้านต่างจังหวัดมาเรียนได้ไม่กี่ปี แต่กลับรู้สึกผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิดน้อยลง ถึงแม้กลับบ้านเกิดก็ให้เวลาคุยกับคุณตาคุณยายเท่าที่จำเป็นเพราะที่ผ่านมาคุยกันไม่รู้เรื่องบ้าง รำคาญบ้าง ชั้นเรียนนี้ทำให้เธอกลับไปใช้เวลาฟังท่านทั้งสองอย่างเต็มใจและเต็มที่ เธอได้ความรักความเข้าใจกลับมา เพิ่งรู้และเข้าใจด้วยหัวใจ ว่าทั้งตาและยายได้ใช้ความพยายามมากเพียงไรในตลอดเวลาที่ผ่านมาเพื่อจะได้เข้าใกล้ และเข้าใจในตัวหลานสาว
นักศึกษาชายอีกคนหนึ่ง เขาเพิ่งค้นพบความสามารถพิเศษในตัวเอง ว่าความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรักนั้นดีขึ้น เบาสบายขึ้น และทำให้คนอื่นเข้าใจเขามากขึ้นได้ เพียงแค่เขากล้าเปิดเผยความรู้สึก และยอมให้ผู้อื่นรับรู้ จากเดิมที่ใช้เหตุผลยกมาอธิบาย แต่กลับปิดบังความรู้สึกเอาไว้ หลายครั้งที่ผ่านมา คนรักยอมรับในเหตุผลที่เขาใช้ แต่ไม่ได้ทำให้ทั้งคู่เข้าใจกันจริงๆ เมื่อเขาเผยความรู้สึกให้รับรู้นั้น เธอบอกเขาว่า การคุยกันครั้งล่าสุดแค่ชั่วโมงกว่าแต่เธอกลับได้รู้จักและเข้าใจเขาขึ้นอีกมากกว่าที่เคยเป็นมา
อีกกรณีหนึ่ง นักศึกษาชายผู้กำลังจะสำเร็จการศึกษา แต่ตัวเองกลับหมดความกระตือรือร้นสนใจในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ทั้งที่เคยชอบและศรัทธาในวิทยาศาสตร์มาตลอด ตอนนี้รู้สึกผิดหวังและเห็นว่ามันไม่สามารถให้ความเข้าใจในชีวิตของเขาได้ เขาเปิดเผยเรื่องนี้ในชั้นเรียน และเลือกเริ่มต้นใหม่ในเส้นทางที่แตกต่างเพื่อค้นหาตัวเองให้พบ รวมทั้งเสาะหาแรงบันดาลใจและศรัทธาที่หายไปให้กลับคืนมา
สามกรณีนี้กำลังบอกเราว่า ลำพังสถาบันการศึกษาหรือผลคะแนนไม่สามารถประกันได้เลยว่าจะทำให้คนๆ หนึ่งรู้จักและเข้าใจชีวิตของตนเอง การเรียนรู้ที่ยึดเกณฑ์วัดประเมิน มันไม่อาจสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างความรู้กับความรักได้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสามคนนี้มิได้เป็นความมหัศจรรย์ แต่ต้องใช้ความเข้าใจของทั้งผู้สอนและผู้เรียนร่วมกัน ว่ากล้าที่จะเรียนในแบบที่แตกต่างจากการทำตามๆ กันไป รวมถึงการใช้ทั้งสมองและหัวใจในการเรียนรู้ชีวิตไหม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment