เล่นสี



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2555

“ใครไม่ได้จับสีมานานกว่าหนึ่งปีแล้วบ้าง?” นี่เป็นคำถามที่เรามักตั้งขึ้นหลังจบกิจกรรมวาดภาพศิลปะในการอบรมการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา และเรามักพบว่าผู้เข้าร่วมจำนวนราว 30 คนนั้น มีเกินกว่าครึ่งที่ยกมืออย่างพร้อมเพรียงกัน ยิ่งกว่านั้นเมื่อถามว่า “แล้วคนที่ไม่ได้จับสีมานานเกินสิบปีล่ะ?” จำนวนมือที่ชูอยู่ก็ดูจะไม่ได้ลดลงสักเท่าไรเลย

ผู้เข้าร่วมหลายต่อหลายกลุ่มนี้ แม้อาจอยู่กันคนละแวดวง เช่น ราชการ เอกชน หรือกระทั่งเป็นครูอาจารย์ ต่างมีคุณลักษณะบางอย่างคล้ายกัน นั่นคือเป็นผู้มีวัยวุฒิ มีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบสูง ยิ่งเป็นระดับผู้บริหารยิ่งมีโอกาสยกมือตอบรับต่อคำถามนี้มาก

เมื่อชวนซักถามพูดคุยกันต่อก็มักจะพบว่า สาเหตุที่ทำให้ไม่ได้หยิบสีมาระบายหรือวาดภาพอะไรเลยมาอย่างยาวนาน เป็นเพราะไม่มีเวลา และงานที่ทำอยู่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับศิลปะ น่าแปลกใจว่า แม้กระทั่งคนที่มีลูกวัยอนุบาลที่ได้จับสีขีดเขียนตลอดเวลา แต่ตัวเองกลับไม่เคยได้ลงไปวาดอะไรเล่นกับลูกเลย

ยิ่งสอบถามค้นกันให้ลึกลงไปอีก ยิ่งได้คำตอบที่ออกมาจากความคิดความรู้สึกภายในของแต่ละคนมากขึ้น จากคำตอบเดิมคือเรื่องเงื่อนไขเวลาและงานไม่เอื้ออำนวย มาเป็นความไม่ชอบส่วนตัว รู้สึกว่าตัวเองทำงานศิลปะได้ไม่ดี หรือแม้แต่เป็นคนวาดรูปไม่สวย ความรู้สึกเหล่านี้มักมีที่มาจากการเรียนในวัยเด็ก มีที่มาจากการถูกให้คะแนน ถูกประเมินฝีมือศิลปะโดยมีเกณฑ์สำหรับให้เกรด ถูกสอนจนเข้าใจไปว่าศิลปะเป็นงานขั้นสูงสำหรับผู้เชี่ยวชาญและมีพรสวรรค์เท่านั้น โดยไม่รู้ตัว เราจึงค่อยๆ ซึมซับรับเอาเรื่องในอดีตนี้มาสร้างเป็นตัวตนในปัจจุบันของเรา

กลายเป็นเราประเภทที่เชื่อว่า “เมื่อฉันวาดรูปไม่เก่งไม่สวย ฉันจึงไม่วาด ฉันจึงไม่ชอบศิลปะ และฉันถนัดทำอย่างอื่นได้ดีกว่า เก่งกว่า”
ความจริงแล้วมันไม่ผิดเลยที่เราจะคิดอย่างนี้ หรือเชื่ออย่างนี้ เพราะเราแบบนี้ก็ยังเติบโตมาและมีการมีงานอันมั่นคง ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพียงแต่การตัดศิลปะออกจากชีวิต มันจะทำให้เราเสียโอกาสการได้เข้าใจตัวเองไป และพลาดการใช้มันในฐานะเครื่องมือหรือวิธีการในการเรียนรู้ตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย

โดยมากแล้วพวกเราที่มีตำแหน่งความรับผิดชอบสูง ต้องทำงานบริหาร เราต้องใช้การคิด การจดจำ และการวิเคราะห์ เป็นทักษะหลักในการทำงานและการเรียนรู้ อีกทั้งทักษะเหล่านี้ เราก็ได้ฝึกมามากแล้วในโรงเรียน ยิ่งระบบกวดวิชายิ่งหนัก ออกจะมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ ศิลปะจึงมาช่วยเปิดความสามารถอีกด้านของเรา ไม่ใช่เรื่องของความเก่งหรือเหนือกว่า แต่มันสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การเปิดเผยอารมณ์ การเข้าใจและยอมรับความรู้สึก
บางคนพอมาเจอกิจกรรมให้จับสีเขียนภาพตามใจชอบ จึงรู้สึกเกร็ง กดดัน เพราะมีความคาดหวังในใจ พลอยไม่ได้พบอะไรนอกจากนี้ แต่บางคนได้ทำไปตามใจจริงๆ ก็สนุกไปกับสีได้โดยไม่รู้ตัว พร้อมกับเห็นว่าภาพที่วาดมันบอกอะไรในตัวเองออกมา

การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเราเองนั้น ต่างจากเรียนเฉพาะเรื่องที่มุ่งสู่ความชำนาญเฉพาะด้าน เพราะตัวเราไม่ได้มีมิติเดียวฉันใด การรู้จักเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงยิ่งต้องอาศัยทักษะที่สมดุลรอบด้านฉันนั้น

ลองปล่อยวางความเชื่อเดิม และความคาดหวังเก่า ว่าศิลปะเป็นงานของศิลปิน หรือว่าศิลปะที่ดีจะต้องสวยแบบไหน ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจเสียก่อน แล้วอนุญาตให้เราได้สนุกเพลิดเพลินและเอาใจใส่กับสีและเส้น เหมือนเช่นที่เราเพลินในความคิด หรือสนุกในการวิเคราะห์ข้อมูล
เริ่มต้นด้วยการเปิดประตูที่เราเคยปิดไปแล้วในอดีตขึ้นมาใหม่ หมั่นสังเกตตัวเอง แล้วลองดูว่าประตูที่ชื่อศิลปะแบบเราสำหรับเราจะเปิดให้เราไปพบอะไรในตัวเราเองอีกบ้าง

0 comments:

Post a Comment