ตั้งโจทย์ผิด ?
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2555
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวหลายชิ้นที่น่าสนใจในแวดวงการศึกษา ชวนให้เราฉุกคิดอย่างยิ่งว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในแวดวงการเรียนรู้ของบ้านเรา ข่าวแรกคือ การประกาศผลคะแนนสอบโอเน็ตในปีนี้ พร้อมรายงานอันดับโรงเรียนที่มีนักเรียนทำคะแนนสอบได้สูงสุด 10 อันดับแรก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและชื่นชมในความสามารถทั้งของนักเรียนและอาจารย์ของโรงเรียนเหล่านั้น แต่ในข่าวเดียวกันนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจว่า ผลคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั่วประเทศ พากันได้แค่ไม่ถึงครึ่งในทุกวิชา วิชาหลักที่สำคัญเช่นภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ยิ่งแล้วใหญ่ มีคะแนนเฉลี่ยราวๆ ยี่สิบถึงสามสิบกว่าคะแนนเท่านั้น
ข่าวชิ้นต่อมา เป็นภาพสะท้อนของข่าวแรก มีข้อความพาดหัวข่าวว่า “หอพักโกยเละ !!! เด็กกวดวิชาอื้อ เต็มทุกห้อง รอบอุ๊แลนด์ ค่าเช่าพุ่งทะลุหมื่นบาท” ย่านหอพักที่ว่านี้อยู่บริเวณพญาไท นัยว่าเป็นแหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชาสารพัดแห่งในยุคปัจจุบัน ช่วงเสาร์อาทิตย์ใครใช้บริการรถไฟฟ้าคงจะเคยเห็นเด็กวัยรุ่นอายุอานามตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม พากันขึ้นลงในสถานีอย่างหนาแน่น ต่างคนต่างหอบหนังสือตำราติดตัวมาทั้งนั้น และอย่างที่ข่าวรายงาน ความต้องการเรียนเสริมเรียนกวดวิชามีมากจนกระทั่งค่าเช่าห้องหอพักแพงขึ้นพรวดพราด
ถ้าไม่อ่านแค่ผ่านๆ หรือปลงไปแล้วว่าโลกก็ต้องดำเนินไปเช่นนี้ล่ะก็ มันก็น่าขบคิดว่าข่าวสองชิ้นนี้กำลังบอกอะไรแก่เรา? บอกว่าการเรียนในยุคปัจจุบันต้องแข่งขันกันสูง หรือบอกว่าประเทศไทยไม่สามารถเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ทั้งหมด โรงเรียนดีๆ มีจำนวนน้อยมาก หรือสิ่งที่จะบอกคือ ความรู้ที่นักเรียนไทยได้มาจากโรงเรียนนั้นมันยังไม่เพียงพอสำหรับการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
คำตอบอาจจะเป็น “ถูกทุกข้อ” เพราะมันเป็นความจริงที่ทุกคนรับรู้กันอยู่แล้ว ว่าโรงเรียนดีๆ กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ดึงดูดเด็กเก่งๆ เข้าไปรวมกัน การศึกษาทุกวันนี้เป็นระบบแพ้คัดออก นักเรียนจึงต้องแข่งขันกันด้วยคะแนน การกวดวิชาจึงเป็นการลงทุนที่ได้ผลสำหรับการแข่งขัน เพื่อช่วยรับประกันให้ได้มากขึ้นว่าจะได้การศึกษาที่ดีในลำดับขั้นต่อไป
แต่ถ้าหากว่าเราตั้งคำถามที่ลึกลงไปในหัวใจของเราอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ต่อสัญชาตญาณของเราเอง เราอาจพบคำถามในใจว่า “ทำอย่างไร เด็กๆ ทุกคนจะได้เรียนในโรงเรียนดีๆ” หรือ “เด็กที่สอบเข้าไม่ได้ล่ะจะเป็นอย่างไร” และ “เราปล่อยให้สภาพแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สภาพการเรียนที่เน้นวิชา และการแข่งขันไปทีละระดับขั้น โดยมีความเชื่อหรือความหวังว่า คนที่มีคุณภาพคือคนที่ผ่านการสอบคัดเลือกไปได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ดูเหมือนจะไม่ดีไปกว่าเดิม ยังคงมีผลคะแนนน้อย และด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น
เด็กๆ ของเรากำลังเรียนที่จะ “ใช้ชีวิต” แบบไหนกัน? นี่เป็นชีวิตดีๆ อันปกติสุขที่เราจะสอนให้เขาเรียนรู้และยอมรับที่จะอยู่กับมันแล้วใช่ไหม? เราจะต้องจำยอมและปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ใช่ไหม?
ท้ายข่าว ยังมีบทสัมภาษณ์นักเรียนสองคนที่เรียนกวดวิชา คนแรกเรียนพิเศษทุกวัน วันละ 5 ชั่วโมง อีกคนมาจากต่างจังหวัด เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียนเสริมทุกปีในช่วงปิดภาคเรียน ทั้งคู่ตอบเหมือนกันว่า ถ้าไม่เรียนจะไม่ทันเพื่อน และเห็นว่าการเรียนกวดวิชาเป็นเรื่องปกติ เพื่อนที่โรงเรียนและใครๆ ก็เรียนกันทุกคน
ส่วนเราที่ดูแลให้เขาเติบโตล่ะ มีใครไม่คิดว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” บ้าง?
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment