ฟังคำตัดสิน




เมื่อวานผมใช้เวลาฟังการถ่ายทอดคดีพิพากษายุบพรรคการเมือง โดยตุลาการรัฐธรรมนูญ อย่างยาวนานมาก ถึงจะไม่ได้นั่งอยู่กับที่เพื่อฟังและดูตลอด แต่ก็เป็นส่วนใหญ่

ถ้อยแถลงนั้นยาวอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็ละเอียดจนกระจ่างแจ้งในการชี้แจงเช่นกัน ส่วนจะตรงใจหรือถูกใจใครหรือไม่ก็อีกประเด็นหนึ่ง

ระยะเวลาของการอ่านอันเนิ่นนานนับแต่บ่ายโมงจนเกือบเที่ยงคืนนั้น ทำให้ผมสงสัยและตั้งคำถามขึ้นมาในใจ "จะมีใครฟังเนื้อหาทั้งหมดไหม?"

นักการเมืองที่นั่งนิ่งอยู่ในศาล รับฟังผลการตัดสินด้วยสีหน้ากริยาต่างๆ กัน แต่ไม่มีใครลุกออกจากที่นั่งนั้น เขาเหล่านั้น "ได้ยิน" สาระที่ตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านออกมาอย่างละเอียดตามตัวอักษรหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจนัก

เพราะแม้เมื่อกลับมาพิจารณาตัวเองก็เห็นชัดว่าในบางช่วงบางขณะ ข้อความที่ถูกใจ โดนใจ ชอบใจ มันมุ่งตรงเข้ามาในหัวอย่างชัดเจนทุกอักขระ แต่ข้อความที่ไม่มีความสนใจ ไม่ใช่เรื่องที่ติดตาม ดูจะผ่านเลยไป เพียงแค่ได้ยินเสียง แต่ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้เข้าใจ

สาระที่อยู่ในคำตัดสินนั้นน่าสนใจมากเสียจนผมอดรู้สึกอยากให้ทุกคนตั้งใจฟังไม่ได้ ทั้งที่รู้ว่าจะไปบังคับใครได้ แม้แต่ตัวเองยังยาก เนื้อหาในถ้อยความเหล่านั้นมันช่างมีเรื่องราวมีมิติให้สืบค้นให้ศึกษาและทำความเข้าใจได้มาก ผมทึกทักเอาเองว่าคนไทยคงจะเรียนรู้เรื่องการเมือง และวิธีคิดพิจารณาทางกฎหมายได้มากทีเดียว เพียงแค่ฟังการตัดสินคดีครั้งนี้

นึกถึงสุนทรียสนทนาขึ้นมาทันทีทันใด

จริงแท้เชียว เนื้อหาสาระไม่ว่าจะดีเลิศเพียงใด แต่ไร้ซึ่งชีวิตชีวา คนก็ฟังแต่ไม่ได้ยิน เหมือนเห็นหมา แต่ไม่ได้สนใจว่ามันเป็นพันธุ์อะไร กำลังทำอะไรอยู่ เพราะมันก็แค่หมา

จริงด้วยสิ สาระเราจะเยี่ยมแค่ไหน แต่เราท่องออกมา อ่านออกมา มันบั่นทอนพลังลงไปมากมายนัก

การถ่ายทอดสดที่มีคนติดตามสนใจดู มีสื่อมวลชนเกาะติดข่าวนับร้อยชีวิต แต่ก็ไม่มีใครซึมซับเรื่องราวได้อย่างเข้าไปถึงใจ เหมือนเราบอกเล่าเรื่องเก่าๆ ที่เราเล่าจนเจนจัด ถ่ายทอดมันอีกครั้งสู่วงสนทนา ความสดใหม่หายไปหมดแล้ว ความจริงแท้ต่อความรู้สึกก็สลายไปด้วย

แล้วผู้ฟังที่มีส่วนใกล้ชิดกับเรื่องนั้นอย่างมากล่ะ? แค่ลำพังเราที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ทางอ้อม เรายังหลุดจากความตั้งใจฟังได้มากขนาดนี้ คนที่เขาแบกความคาดหวัง แบกเรื่องราวไว้บนบ่า เอาชีวิตและความคิดฝากไว้ที่อนาคต และเอาความกังวลหลงไว้ในอดีต เขาจะรับฟังสาระจากถ้อยแถลงได้อย่างเข้าใจแค่ไหนกัน?

มิน่าเล่า สุนทรียสนทนาถึงไม่ใช่แค่การฟังเรื่องเล่าที่สดใหม่

แต่คนฟังยังต้องมีโสตประสาทการรับฟังอยู่ในปัจจุบัน รับเอาสิ่งที่ได้ยิน ณ เวลานั้น ปราศจากซึ่งความคาดหวัง พ้นไปจากการตีตรา ประเมินให้คุณค่าเรื่องที่กำลังได้ยิน เพราะไม่เช่นนั้นก็จะได้ฟัง แต่ไม่ได้ยินอย่างแท้จริง

ปรากฏการณ์ถ่ายทอดคำตัดสินทำให้ผมเข้าใจสุนทรียสนทนาง่ายๆ ในแง่มุมนี้เอง
เคยอ่านมามากเท่าไหร่ ถึงจะเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอย่างที่สะท้อนเข้าไปถึงในใจ อย่างนี้ นี่เอง

1 comments:

ocean-ocean said...

เพลงเพราะจังอ่ะ.. หนุ่ม..

:-)

Post a Comment