สื่อสารสองคม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

“บางครั้งรู้สึกว่า Facebook เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนขัดแย้งกันมากขึ้นหรือเปล่า ด้านหนึ่ง ก็ดี ทำให้ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเสรี ได้พูดได้บอกสิ่งที่อยากบอกแต่ไม่เคยได้บอกในชีวิตจริง (ซึ่งนี่คือ เสน่ห์ของ FB) แต่อีกด้าน ก็ส่งผลให้กระตุ้นอารมณ์กันไปกันมา (ง่ายๆ) เหมือนกัน โดยเฉพาะอารมณ์ที่เรียกว่า น้ำโห (ซึ่งน่ากลัวกว่าน้ำท่วม)

ฝั่งที่คิดไปในทางเดียวกัน ก็จะกระตุ้นน้ำโห ทางเดียวกัน แต่ถ้าคิดไม่เหมือนกัน ก็จะกระตุ้นน้ำโห ต่อกัน ใส่กัน เพราะข้อมูลมาเร็ว ง่าย และเยอะมาก จังหวะที่จะกระตุ้นอารมณ์กัน ก็เร็ว ง่าย และเยอะขึ้นมาก เช่นกัน

ดังนั้น อย่าว่าแต่คนไม่รู้จักจะหมางใจกันได้เลย คนที่เป็นเพื่อนรักกัน ยังเกิดความรู้สึกแหม่งๆ ต่อกัน และกลายเป็นหมางใจกันไปได้ก็มี Facebook เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และมีเสน่ห์มาก (ได้ทั้งข้อมูล ความสัมพันธ์ และความสนุก) แต่อีกด้าน อย่างที่บอกไปแล้วค่ะ ว่าทำให้เกิดความรู้สึก ร้าวราน ร้าวฉาน ได้ง่ายๆเหมือนกันค่ะ”


เพื่อนคนหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์เขียนข้อความนี้ไว้ ในระหว่างสถานการณ์อุทกภัยใหญ่ของประเทศ เป็นช่วงเวลาที่ทัศนคติหลากหลายปรากฏให้ได้อ่านกันจนลายตา เช่นเดียวกับคนไทยจำนวนมากที่หันเข้าหาอินเตอร์เน็ต ใช้เป็นแหล่งข่าวและเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารส่งข่าวกัน

ขณะเดียวกันก็กลายเป็นพื้นที่ปะทะกันได้อย่างง่ายดาย นอกจากความเครียดที่สะสมกันมา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ประสบภัย หรือกำลังตกใจว่าภัยจะมาถึงบ้านตนหรือเปล่า ยังมีเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองซึ่งถูกจุดประเด็นขึ้นมาเมื่อไหร่ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อนั้น

เพื่อนหลายคนเลยเข้ามาเขียนปลอบใจ ให้กำลังใจ หลายคนก็เห็นด้วยว่าลำพังการพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตาแม้ในเรื่องที่เห็นแตกต่างก็ยังไม่ใช่ง่าย พอกลายเป็นการคุยผ่านตัวอักษร มิหนำซ้ำยังผ่านหน้าจอที่พิมพ์ข้อความไม่กี่คำก็สามารถไปปรากฏให้คนอีกจำนวนมากได้เห็นกันอย่างทันที

การสื่อสารที่ผู้คนไม่อยู่ในภาวะผ่อนคลายและเปิดรับความเห็น จึงเป็นอันตรายก่อให้เกิดความเครียดได้มากพอกับให้ความบันเทิงใจ อีกทั้งเงื่อนไขกติกาการสื่อสารแบบออนไลน์เองก็จำกัด เราไม่สามารถเห็นสีหน้าแววตา และมักไม่อาจรู้เรื่องราวแวดล้อมในข้อความที่เขาเขียนได้ การสื่อสารนี้จึงมีทั้งความเร็วและความแรง ไม่แตกต่างจากละครที่ดึงอารมณ์ของเราให้ไปสุดทาง ทำให้ชอบมาก ทำให้เกลียดมาก ยิ่งกว่านั้นคือเราแต่ละคนต่างกำลังเล่นเป็นตัวละครในเรื่องเสียเอง

ความพอเหมาะพอดีของการสนทนาที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศของความเข้าใจ มากกว่ามุ่งไปหาข้อสรุป จึงเป็นลักษณะกติกาพื้นฐานที่ควรให้ความสำคัญ ดังในทุกกิจกรรมของการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา ไม่ว่าจะสุนทรียสนทนา หรือการสื่อสารอย่างสันติ การพูดคุยต้องอยู่ในภาวะที่ทุกคนมีเวลาให้กันและกันอย่างเพียงพอ และใกล้กันถึงขั้นมองเห็นสีหน้าแววตา ตลอดจนน้ำเสียงของเพื่อนร่วมวงได้ ยิ่งเราไม่มุ่งไปสู่การหาข้อสรุป ความเห็นของแต่ละคนยิ่งถูกเปิดเผย และถูกได้ยินมากขึ้น เป็นการจัดสภาพแวดล้อมของการพูดคุยที่เอื้อให้เรามีสมดุลของการสื่อสาร

แต่ส่วนสำคัญนั้นยังเป็นคุณภาพข้างในตัวของผู้ร่วมวงคุย เพราะแม้จะมีผู้ดูแลการสนทนา คอยเตือนหรือแนะนำวิธีการ ก็ยังไม่ได้ผลเท่ากับที่ต่างคนต่างพยายามฝึกฝนตนเอง ฝึกให้ไวต่ออารมณ์ที่แกว่ง ไวต่อความพอใจความขัดใจ บรรยากาศหรือใครภายนอกที่เอื้อให้เกิดความสมดุลไหนก็ยังไม่เท่ากับสมดุลภายในที่ใจของเราเอง ใครฝึกมากก็กลับไปหาตรงกลางที่พอเหมาะพองามได้ไว เห็นใจที่ไหวไปของตนง่ายขึ้น

Facebook อาจเป็นของมีคมดังว่า เป็นมีดดาบประหัตประหารกัน แต่ถ้ามือที่ถือไว้มีใจใสกระจ่างและหนักแน่น มันก็เป็นได้ทั้งวัชระที่ตัดฝ่ามายาการ ให้เราเข้าถึงความเป็นธรรมดาธรรมชาติของตัวเรา

0 comments:

Post a Comment