งานนอกงานใน
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***
งานอาสาสมัครสามารถเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาจิตใจได้ ในเวลาเดียวกันยังเป็นทั้งการฝึกทักษะการทำงานและการสื่อสารอีกด้วย แต่โดยมากเรามักมองผิวเผินและเห็นแต่เพียงเรื่องการลงแรงทำงาน การระดมพลในงานที่เร่งด่วนและขาดแคลนคนทำงาน หรือเป็นเพียงเรื่องงานเฉพาะหน้าตามความสนใจของคนที่พอจะปลีกเวลาจากภารกิจหลักของชีวิตได้
ในจิตตปัญญาศึกษาใช้คำเรียกขานที่ขับเน้นประเด็นมากขึ้นว่า 'จิตอาสา' เพื่อย้ำว่ากิจกรรมอาสาสมัครสามารถเป็นกระบวนการเรียนรู้ตนเองสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ ได้มากเทียบเท่ากับกระบวนการอื่น ไม่ว่าจะเป็นจิตตศิลป์ สุนทรียสนทนา หรือการบริหารกายบริหารจิต ซึ่งต่างเป็นเครื่องมือหรือการปฏิบัติ (Practices) อันมีจุดเน้นและคุณลักษณะที่เหมาะสมสอดคล้องกับบุคคลและสถานการณ์เงื่อนไขต่างกันไป
ส่วนที่เห็นได้ชัดเจนจากรูปแบบกิจกรรมคือ มีการจัดเตรียมความพร้อมของใจก่อนทำงาน ให้มีความคาดหวังที่ถูกต้อง ไม่มุ่งเพียงผลลัพธ์ของงาน และเปิดใจรับไม่ว่าจะเกิดอะไรที่ขัดใจหรือกระทบกระเทือนใจในระหว่างงาน
การสะท้อนประสบการณ์หลังเสร็จสิ้นงานแล้วก็สำคัญเทียบเท่ากัน โดยดำเนินไปอย่างผ่อนคลาย ไม่ยึดถือคำตอบอะไรในใจเอาไว้ล่วงหน้า สิ่งที่สะท้อนนั้นเป็นได้ทั้งการเล่าเรื่อง การเผยความรู้สึก และบทเรียนจากการตกผลึกในใจของแต่ละคน ช่วงของการสะท้อนบทเรียนอาสาสมัครเป็นเสมือนการเสริมแรงการเรียนรู้ให้แก่กันและกัน
บางคนมีฐานการเรียนรู้ทางกายที่เด่น พร่องในทางอารมณ์จิตใจ ก็จะได้เปิดการเรียนรู้ของตนมากจากประสบการณ์ภายในจิตใจของเพื่อนที่เผยมาเป็นอารมณ์ความรู้สึก
องค์ประกอบสำคัญอีกส่วนคือผู้ดูแลกระบวนการ นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้องาน สามารถให้คำแนะนำในทางเทคนิควิธีทำงาน รวมทั้งจัดการให้งานเสร็จลุล่วงแล้ว ยังเป็นผู้มีความคาดหวังที่ไปไกลกว่าเพียงผลลัพธ์ของงาน หากรวมถึงทำให้อาสาสมัครได้ชื่นชมตนเองและชื่นชมกันแม้ว่างานนั้นอาจจะไม่เกิดผลลัพธ์ตามตั้งใจ
ผู้ดูแลกระบวนการในมิติหนึ่งคือเป็นกัลยาณมิตรในการเรียนรู้ของอาสาสมัคร เป็นผู้ดูแลสมดุลของกระบวนการ ไม่ให้เป็นเพียงกิจกรรมสนุกสนาน ไม่ประคบประหงมจนไม่เกิดประสบการณ์ และไม่เข้มงวดจนมุ่งที่ความสำเร็จของผลงานจนละเลยคนทำงาน ตัวผู้ดูแลกระบวนการเองยังต้องดูแลสมดุลในใจตนด้วย และนี่อาจเป็นบทบาทที่ยากที่สุดของการจัดกระบวนการจิตอาสา
แต่ทั้งตัวกระบวนการและกัลยาณมิตรนั้นยังเป็นเพียงส่วนประกอบภายนอกของการเรียนรู้งานอาสา ตัวเราเองในฐานะอาสาสมัครจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด อาสาสมัครเกือบทั้งหมดมีจุดตั้งต้นที่ความตั้งใจดี มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจะช่วยคนอื่น ทว่าแรงแห่งความตั้งใจดีนี้มักจะมาพร้อมกับความเชื่อของเรา ความคิด และวิธีการของเรา หากไม่เท่าทันมันเสียแล้ว เราจะมาทำงานอาสาด้วยวิธีการของเราเอง แม้ว่ามันจะเป็นวิธีการที่ดีมีประสิทธิภาพกว่า แต่ว่ามันคือกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้เราได้เข้าถึงงานอาสาสมัครในฐานะกระบวนการจิตอาสา
ดังมีผู้กล่าวไว้มากมายหลายแห่งและหลายครั้งว่า งานอาสายิ่งทำยิ่งได้ลดละอัตตา ลดความเป็นตัวตน ลดความเชื่อที่ตัวเรายึดถือ แต่ลำพังตัวกระบวนการที่ออกแบบและจัดการมาเป็นอย่างดี รวมทั้งผู้ดูแลกระบวนการที่มีประสบการณ์ ก็ยังไม่สามารถเอื้อให้เราได้ไปพบคุณค่าภายในของงานอาสาสมัครได้
องค์ประกอบส่วนสำคัญยังต้องเป็นการทำงานภายใน จัดการดูแลใจไปพร้อมกับทำงานภายนอก
ซึ่งยากจะมีใครจัดให้ได้ ถ้าไม่เริ่มที่ตัวเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment