เด็กทำแผนที่



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2554
***ฉบับตีพิมพ์ได้ระบุชื่อผู้เขียนผิดพลาด***

เมื่อราวแปดปีก่อน ในการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ อาจารย์ประเวศ วะสี ท่านย้ำนักย้ำหนาว่างานสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาจิตใจคนไทยทั้งชาติได้ คืองานแผนที่คนดี

งานนี้เป็นภารกิจที่ไปสำรวจสืบค้นพร้อมทั้งบันทึกเรื่องราวของบุคคลทั้งหลาย ผู้ที่กำลังกระทำสิ่งดีงามอยู่ทั่วแผ่นดินไทย และนำมาบันทึกเผยแพร่คุณความดีนั้นทั่วทั้งแผนที่ประเทศ

ความดีและคนดีที่ว่าก็ไม่ใช่ต้องเป็นอะไรใหญ่โต เขาอาจเป็นบัณฑิตปริญญา แต่ยอมอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดานทำงานเพื่อคนด้อยโอกาส หรือเธออาจเป็นคุณยายในตลาดผู้รู้วิชาทำขนมต้มตามตำรับโบราณได้อย่างเอร็ดอร่อย เหล่านี้ล้วนเป็นคนดีผู้กระทำการดีทั้งสิ้น

ยิ่งพวกเราหลายคนเล่าในภายหลังให้อาจารย์ฟังว่า เราได้จัดโครงการลักษณะดังกล่าว แต่ชักชวนให้เยาวชนวัยประถมเป็นผู้ไปเก็บรวบรวมข้อมูล เดินสอบถาม และสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนของตัวเอง อาจารย์ได้ยินยิ่งยิ้มแย้มยินดี และกล่าวว่าดีแล้ว เหมาะทีเดียว เพราะเจตนาของแผนที่คนดี คือได้เผยแพร่เรื่องราวดีๆ ให้สังคมได้รู้ ให้ทุกคนได้ตระหนักว่าความดีไม่ได้อยู่ไกลตัว และมีคนทำดีอยู่มากมาย แทนที่เราจะรับรู้แต่ข่าวสารร้ายๆ จากสื่อรายวัน

โดยเฉพาะเมื่อเราให้นักเรียนเป็นผู้ไปสืบเสาะเองแต่ต้น ยิ่งเป็นผลดีมาก เพราะเด็กๆ จะได้เรียนรู้จากชีวิตจริง ได้เห็นบุคคลทำดีที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขา ทำให้เด็กๆ เห็นว่าในชุมชนของตนมีพลังความดีมากมายปรากฏขึ้น

ได้ยินคำอาจารย์แนะนำแล้วทำให้นึกขึ้นได้ว่า ในยามที่เรายังเป็นเด็ก เรามักถูกปลูกฝังให้ชื่นชมความเป็นสากล และฐานะตำแหน่งภายนอก ได้ยินคำบอกให้ตั้งใจเรียน โตไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ได้ทำงานนั่งห้องแอร์ หากเรียนเก่งมีแววดี ก็ขอให้ได้เป็นหมอ เป็นผู้นำ สอดคล้องกันกับการเรียนในโรงเรียนที่เรียนเรื่องไกลตัว เรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรียนเสมือนหนึ่งเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จเป็นลำดับขั้น เพื่อรับประกันอนาคต

บุคคลแบบอย่างของเราที่ต้องท่องจำเอาไว้ในยามนั้น ก็ช่างดูห่างไกลจากชีวิตเราเหลือเกิน โดยมากเป็นนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ หรือเป็นผู้นำในประวัติศาสตร์ แม้เมื่อเราจะได้พบตัวอย่างจริง ก็มักกลายเป็นการไปดูงานกิจการของบริษัท ไปชื่นชมความทันสมัยของเทคโนโยลีเครื่องจักร

โดยเราไม่รู้ตัว ค่านิยมบางอย่างค่อยๆ ซึมซาบเข้าไป ทำให้เราเชื่อว่าอนาคตที่ดีนั้นอยู่ข้างหน้า ไม่ใช่ปัจจุบัน ไม่ใช่ในถิ่นฐานที่เราอยู่อาศัย ไม่แปลกใจเลยที่ภาวะการเรียนรู้เช่นนี้ได้นำพาให้เราทุ่มเททรัพยากรเพื่อไปให้พ้นจากรากของเราเอง เราได้สูญเสียสมดุลของการเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับปัจจุบันไป

โอกาสที่เด็กๆ จะได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนเพื่อสืบค้นหาความดีนี้ จึงเป็นโอกาสสร้างสมดุลของการเรียนรู้ขึ้นมา ระหว่างกระบวนการของการไปสอบถาม นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้การวางตัว การสนทนา และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน อันช่วยสร้างฐานมั่นคงทางพฤติกรรมแล้ว ผู้ใหญ่ยังได้รับเกียรติในฐานะครูผู้บอกเล่าบทเรียนชีวิตของตน เป็นเกียรติที่ทุกคนพึงได้รับจากการประกอบสัมมาชีพและการดำรงตนเป็นแบบอย่างแก่รุ่นลูกรุ่นหลาน

งานแผนที่คนดีที่ไปพ้นจากกรอบและรูปแบบตายตัวเท่านั้น จึงจะสร้างปรากฏการณ์การเรียนรู้เช่นนี้ได้ หากเราไปกำหนดนิยามความหมายของความดี และตัดสินใจให้เด็กๆ ไปเสีย แล้วสั่งการบ้านว่าต้องไปเก็บข้อมูลกับใครเรื่องอะไร นั่นก็เท่ากับว่าเราพลั้งไปปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้สำคัญของเขาแล้ว โอกาสที่เด็กๆ จะได้ตั้งคำถามเองว่าความดีตามความเชื่อของเขาคืออะไร โอกาสที่เขาจะได้เลือกบทเรียนของตัวเอง และพร้อมเปิดใจรับเอาความมหัศจรรย์จากชีวิตของผู้คนรอบข้าง

0 comments:

Post a Comment