ระยะทางและเวลา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554
“หลังได้รับสัญญาณระฆังแล้ว ขอชวนให้ทุกคนค่อยๆ ลุกออกไปที่ไหนก็ได้ในบริเวณห้องประชุมนี้ เลือกตำแหน่งที่อยู่ แล้วค่อยๆ ดูสิ่งของรอบตัว อาจเป็นผนัง ม่าน พื้น หรือแจกัน อะไรก็ได้ ไม่ต้องรีบร้อน ขอใช้เวลาพิจารณามันให้นานขึ้น เห็นห่างๆ แล้วก็ให้เข้าไปดูมันใกล้ๆ ลองดูว่าเราได้รับรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาจากที่เราคิดว่าน่าจะรู้อยู่แล้วบ้าง?”
สิ้นเสียงระฆัง ผู้เข้าร่วมการอบรมหลายคนกระวีกระวาดลุกขึ้นไปยังตำแหน่งที่ได้หมายตาเอาไว้แต่ต้น บางคนเหลียวซ้ายแลขวาดูทำเลว่าที่ไหนยังว่าง และคนจำนวนไม่น้อยก็ยังงงๆ เลือกไม่ได้ว่าจะไปไหน หรือในใจกำลังมีความคิดมากมายในหัว สงสัยอยากรู้ ว่ากิจกรรมนี้จะทำไปเพื่ออะไร ฝึกการสังเกตใช่ไหม
กระบวนการนี้สำคัญและมีประโยชน์มากในช่วงเริ่มการเรียนรู้ในแนวจิตตปัญญาศึกษา เพราะช่วยให้เราได้ลองเปิดความสามารถการรับรู้ที่เราอาจลืมไปแล้วว่ามี หรือรื้อฟื้นศักยภาพเดิมที่มันถูกละเลยมานาน หากผู้เข้าร่วมการอบรมได้ลองไปสังเกตตามคำแนะนำข้างต้นนี้ แล้วปักใจเชื่อว่าเป็นการทดสอบการจำรายละเอียด ก็นับว่าพลาดโอกาสการได้ค้นพบความสามารถใหม่ของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย
เฉพาะแค่การมองหาและจดจำข้อมูลได้นั้น ยังเป็นเพียงทักษะความสามารถทั่วไปที่เราส่วนใหญ่ใช้อยู่แล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นความสามารถที่ถูกฝึกฝนมาอย่างยาวนานในระบบโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ด้วยซ้ำไป ดังที่เรารู้จักกันดีว่ามันคือการท่องจำเพื่อนำไปสอบนั่นเอง ฉะนั้น ในระบบโรงเรียนของเรา คนที่จำได้มากจึงได้คะแนนการเรียนรู้มาก
จึงเป็นอย่างที่เราเห็นกันแล้วว่า แม้เราจะเรียนมามาก ใช่ว่าเราจะรู้จักรู้ใจตัวเอง
กระบวนการแนวจิตตปัญญานี้ จะเปิดศักยภาพการเรียนรู้ของเราออกมาด้วยเครื่องมือสองสิ่ง หนึ่งคือระยะทาง สองคือเวลา และผู้ที่เป็นคนเปิดก็มิใช่กระบวนกรผู้จัดการเรียนรู้ แต่คือตัวเราเอง
ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งมองดูแจกันจากระยะปกติทั่วไป แล้วค่อยๆ ขยับเข้าไปดูใกล้ๆ เพ่งดูเฉพาะจุด หรือมองแจกันจากมุมที่ต่างออกไปบ้าง ระยะทางที่ต่างนี้เอง เปิดให้เขาเห็นข้อมูลอีกมากมาย ได้เห็นว่าลวดลายของแจกันมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เห็นพื้นผิวว่ามันเป็นเซรามิกจากที่คิดว่ามันคงเป็นแก้ว
บางคนจ้องดูพื้นเสื่ออยู่เนิ่นนาน จนเวลาได้เผยให้เขาพบข้อมูลอีกไม่น้อย ได้เห็นว่ามีมดตัวเล็กๆ ที่ไต่ตามกันมาบนขอบเสื่อ ทะยอยมาเป็นขบวนเพราะมีห่อลูกอมเป็นตัวล่อ เห็นว่าตะเข็บที่เย็บเสื่อนั้นประณีตเพียงไร หากใช้เวลาแค่แวบเดียวในการมอง เสื่อก็ยังเป็นเสื่อผืนเดิม มีสีสัน ลวดลาย ขนาด และวัสดุเช่นเดิม แต่ด้วยเวลาที่นานขึ้น เสื่อผืนเดิมกลับมีเรื่องราวอีกมากมาย
ระยะทางและเวลานี้เองคือเครื่องมือที่ดึงเราสู่การเรียนรู้ใหม่ ให้เราใช้เวลามากขึ้นกับของที่เราเชื่อว่าชำเลืองดูแค่ประเดี๋ยวก็รู้ว่ามันคืออะไร ความเชื่อนี้อาจทำให้เราคาดเดาสรุปได้รวดเร็ว แต่มันเป็นร่องความเคยชินเดิมๆ ของการเรียนรู้ ไม่ช่วยให้เราได้พบอะไรใหม่ และทำให้เราไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เพียงเพราะว่าเราเชื่อว่าเรารู้จักและเข้าใจสิ่งนั้นแล้ว
ยิ่งใช้ระยะในการสังเกตต่างไปจากเดิม ใช้เวลาที่มากขึ้นกว่าเดิม สองสิ่งนี้จะช่วยให้เราพบข้อมูลมากขึ้น และไม่ใช่แค่ข้อมูลนอกตัว แต่เป็นข้อมูลในตัวเรา ทำให้เราได้ค้นพบบทเรียนสำคัญของตนว่า การด่วนตัดสินด้วยสายตาและท่าทีแบบเดิมนั้น จะทำให้เราพลาดอะไรไปบ้าง ประเมินอะไรผิดไปบ้าง
การสังเกตที่ใช้เวลาและระยะทาต่างไปจึงไม่ใช่แค่หามุมใหม่ของข้อมูล แต่เป็นการฝึกให้เราออกจากร่องเคยชินของการเรียนรู้ ระหว่างสังเกตก็ได้สะท้อนตัวเอง ให้ได้พบว่ามีความคิดความเชื่อเดิมที่เรายึดถือ และมันไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกต้องเสมอไป
โลกใหม่แห่งการเรียนรู้ได้เปิดออกแล้วทั้งใบ เมื่อเราก้าวข้ามความเคยชินเก่าๆ และใช้ใจออกไปสัมผัสกับทุกบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment