อัศจรรย์ของการฟัง
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2554
ไม่ว่าเป็นการประชุมหรืออบรมของชาวไทย เกือบทุกงานมักพบเห็นลักษณะคล้ายกันประการหนึ่งในผู้เข้าร่วม นั่นคือการนิ่งเฉยไม่ตอบคำถาม ไม่พยายามแสดงความคิดเห็น
หลังจากทำสำรวจเองอย่างง่ายมานานหลายปี พบว่าสาเหตุเบื้องหลังของอาการนี้ คือความเชื่อฝังหัวว่า การพูดที่ดีต้องมีสาระแม่นยำถูกต้อง หรือมีเทคนิคการเล่าเรื่องดี จึงจะมีผู้สนใจฟัง หาไม่แล้วคนก็จะเมินเฉย ยิ่งกว่านั้นอาจดูแคลนผู้พูดเอาได้ว่า นำเสนอไม่น่าสนใจ ไม่มีความรู้
ผู้เข้าร่วมจำพวกที่กล้าพูดต่อหน้าสายตาหลายสิบหลายร้อยคู่ จึงมักเป็นผู้มั่นใจในเรื่องเล่า สาระ หรือทักษะการพูดของตนเอง ที่เหลือนั้นถ้าไม่ถูกคะยั้นคะยอให้พูด หรือไม่ถึงคิวตามลำดับต้องแสดงความเห็น ก็จะนิ่งเฉย
ความเชื่อว่า ต้องพูดให้ดีจึงจะมีคนฟังจึงกลายเป็นอุปสรรค ทำให้เราพลาดโอกาสสื่อสารเรื่องราวและความรู้สึกอีกมากมายในใจ
สิ่งสำคัญที่เราลืมไปยิ่งกว่าการพูด คือคุณภาพของการฟัง เป็นคุณภาพที่เปี่ยมไปด้วยการอดทนรอคอย เปิดรับ ไม่ด่วนตัดสิน และกระตุ้นให้กำลังใจ
ในการฝึกปฏิบัติอย่างหนึ่งตามแนวทางจิตตปัญญา เราให้ผู้เข้าร่วมสองคนผลัดกันเล่าเรื่องของตนให้อีกฝ่ายฟัง ต่างมีเวลาเล่าคนละ 5 นาที ระหว่างนั้นฝ่ายคนฟังจะไม่แทรกคำ ไม่ขัดจังหวะถามกลางครัน ในตอนท้ายมักได้พบความแตกต่างมากมายในผู้เข้าร่วมแต่ละคู่ซึ่งมีพฤติกรรมต่างกัน คู่ที่อดทนตามกติกาไม่ได้ก็ยอมรับว่ารู้สึกอึดอัดจนหยุดเล่า ต่างคนต่างหันไปมองทางอื่น บางคู่ก็พูดคุยได้จนจบเวลาแต่ก็ด้วยพลั้งเผลอเป็นการสนทนาพูดโต้ตอบกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ บรรดาคู่ที่ฝ่ายเล่าเรื่องมาเผยในภายหลังว่าไม่ได้เตรียมไว้ว่าจะเล่าได้มากมายขนาดนั้น บ้างว่ารู้สึกถูกดึงดูดให้อยากถ่ายทอดออกมา บ้างเล่าทั้งเรื่องทั้งสีหน้าและท่าทาง ทั้งหมดนี้มีจุดร่วมเดียวกันคือ ได้คู่ผู้ฟังที่สบตา ส่งสายตาให้กำลังใจ มีสีหน้าที่เกาะติด และตลอดเวลาที่ฟังยังไม่หันหน้าเบนสายตาหนีไปที่อื่น แม้ว่าไม่ได้เอ่ยอะไรออกมาก็ตาม
หลายคนในกลุ่มนี้ยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่คนพูดเก่ง เล่าเรื่องไม่ดี ไม่มีทักษะการนำเสนอ แต่เขาเผยเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้อย่างต่อเนื่องและน่าสนใจ ใช่ว่าจู่ๆ เขาจะกล้า หรือว่ามีทักษะขึ้นมากะทันหัน เรื่องเล่าดีๆ ที่เกิดขึ้นมาได้ นั่นเพราะว่าอีกฝ่ายให้การฟังที่มีคุณภาพ
ความเชื่อว่าต้องพูดให้ดีจึงจะมีคนฟัง นอกจากจะกดดันทำให้เราไม่กล้า ขาดความมั่นใจ ยังมีผลให้เราด่วนประเมินตัดสินเมื่อเราได้ฟังคนอื่นเขาพูดไปโดยปริยาย มันทำให้เราไม่ค่อยอดทนรอคอยให้เขาพูดจนจบ ถ้าไม่ละความสนใจไปก่อน ก็ชิงตัดบทกลับเป็นฝ่ายพูดเสียเอง หรือไม่เช่นนั้นก็สิ้นความสนใจในการสนทนาเพราะคิดว่ารู้เรื่องที่จะเล่ามาทั้งหมดแล้ว
คุณภาพของการฟังนั้นไม่ได้เป็นเพียงความสามารถในการจับประเด็นใจความสำคัญ หรือจดจำเนื้อหาสาระได้ละเอียดครบถ้วน แต่เป็นคุณภาพของการเปิดรับปัจจุบันขณะตรงหน้า เปิดกว้างเปิดรับและรอคอยอย่างไม่เป็นทุกข์อึดอัด ไม่ด่วนตัดสินตีค่าประเมินราคา วางใจในความคิดความเห็นที่แตกต่าง และมอบความเมตตาให้กำลังใจกัน
ด้วยคุณภาพนี้ การฟังจึงเป็นวิหารธรรมสำหรับเรา ให้ฝึกฝนการมีสติรู้เนื้อรู้ตัวได้ ทั้งยังเป็นคุณภาพเดียวกันกับหลักการของการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ในแนวคิดสุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นสิ่งล้ำค่าที่เรามอบให้แก่ตัวเองและคู่สนทนาได้ตลอดเวลา
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
1 comments:
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ที่น่าอ่านเสมอ..
Post a Comment