หมาป่า
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2554
หลังการประชุมถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศอึดอัดใจเรื่องการประเมิน เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งขอให้เราปิดท้ายประชุมนี้ด้วยกิจกรรมการเช็คเอาท์ โดยทั่วไปคือการบอกความรู้สึกสภาวะจิตใจ บอกสิ่งที่คิดอยู่ในหัว หรืออาจเล่ากลับออกไปแล้วยังมีภารกิจใดบ้าง แต่ครั้งนี้ ขอให้ทุกคนเช็คเอาท์เล่าเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
เมื่อเริ่มเล่าสู่กัน พลังของเรื่องพลันเพิ่มความแช่มชื่นในวงสนทนาอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะเรื่องของเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเธอเลี้ยงสุนัขที่บ้านไว้หลายตัว เธอเล่าว่าในบรรดาน้องหมาทั้งหลาย มีตัวหนึ่งชื่อหมาป่า เป็นสุนัขพันธุ์ทางอายุมาก มันแก่ชราแล้ว เดินไม่ค่อยจะไหว อย่าว่าแต่เห่าเลย ยืนให้ตัวตั้งตรงไม่สั่นก็ยังยาก
หมาป่าอายุสิบกว่าปี เทียบกับคนก็ราวร้อยเศษ ทุกวันนี้มันได้แต่นอนนิ่ง มีลมหายใจรวยริน ไม่สามารถลุกขึ้นมากินน้ำกินอาหารได้อีกต่อไป ตามองไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน ระบบร่างกายทรุดโทรมเต็มที เธอเคยคิดว่า เมื่อไหร่มันจะตายไปเสียทีนะจะได้หมดเวรหมดกรรมกันไป
การดูแลหมาแก่และป่วยไม่ใช่ง่าย ไหนจะลักษณะงานของเธอผู้เป็นเจ้าของที่ต้องขับรถจากชานเมืองเข้ายังกลางกรุงแต่เช้า กว่าจะถึงบ้านยามค่ำก็ทั้งเหนื่อยทั้งล้า
เพื่อนในวงสนทนาบางคนเริ่มนึกถึงเรื่องทำนองเดียวกันที่อเมริกา เวลาสัตว์เลี้ยงป่วยหนักเกินเยียวยาหรืออายุขัยมาก เขามักใช้วิธีที่เรียกว่า Put to Sleep หรือฉีดยาให้ตาย นัยว่าเป็นวิธีการที่กรุณามากแล้ว เพราะมันจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดและสังขารที่ไปไม่รอด
เธอเล่าต่อไปว่า กิจกรรมการดูแลหมาป่าที่ต้องทำทุกวันนั้นได้แก่ ทำความสะอาดแผลกดทับ เพราะมันขยับตัวเองไม่ได้แล้ว ป้อนข้าวป้อนน้ำ เก็บเอาผ้ารองอุจจาระปัสสาวะไปทำความสะอาด ในวันแรกๆ ของภารกิจ เธอยอมรับว่าเคยคิดอยากให้มันตายไปเสียให้พ้น แต่เพิ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองที่เธอรู้สึกเปลี่ยนไป
แม้หมาป่าจะไม่สามารถมองเห็นและไม่ได้ยินเสียงใคร แต่ทุกครั้งที่เธอลงจากบ้านไปดูแลและสัมผัสตัวมัน เธอรู้ได้ว่ามันดีใจ พยายามตอบสนองเธอผ่านร่างกายที่สั่นไหว การดูแลเอาใจใส่ของเธออยู่ในการรับรู้ของมันเสมอมา แม้ว่ามันจะแสดงออกได้ไม่มาก
นอกจากนี้ ภารกิจการประคับประคองหมาป่ายังกลายเป็นงานที่ทุกคนในบ้านมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มใจ แม้แต่หลานชายหลานสาวตัวเล็กยังขันอาสาช่วยเอาผ้ารองอุจจาระไปซักทำความสะอาดทุกเย็น
จากที่ตื่นมาแล้วต้องถอนหายใจว่ามีภาระดูแลต้องทำก่อนรีบออกไปทำงาน ตอนนี้เธอตื่นขึ้นมาด้วยความดีใจว่าจะได้ไปดูแลหมาป่า แม้เป็นงานที่ไม่สะอาดไม่น่าดู แต่เธอสุขใจและเต็มไปด้วยความยินดีที่ได้กระทำ ไม่ว่ามันจะมีชีวิตอีกกี่วันก็ตาม
เรื่องของหมาป่าได้ทำให้เราหวนกลับไปทบทวนถึงความคิดของตนเอง จริงหรือไม่ ที่การทำ Put to Sleep เป็นความกรุณาที่มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของยื่นให้แก่สัตว์เลี้ยง ความต้องการที่จะหยุดยั้งความทุกข์ทรมานนั้น ใช่เป็นความทรมานของเขา หรือเรากำลังพยายามหยุดยั้งความทุกข์ของตัวเราเองกันหนอ เราให้ยาเพื่อเขาจะได้หลับไปและตายพ้นจากความทรมานทางกาย หรือใช้ยากับเขาเพื่อดับความทุกข์ความอึดอัดที่ต้องมีภาระดูแล ให้พ้นไปออกจากใจเรา
กว่าจะถึงวันที่หมาป่าจากไป เราต่างมั่นใจว่านี่แหละจะเป็นช่วงเวลาที่มอบบทเรียนเล็กๆ อันยิ่งใหญ่ให้แก่ทุกคนในบ้าน บทเรียนว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย บทเรียนการโอบรับความทุกข์ทางกายที่ไม่ทรมานใจนี้ไว้ร่วมกัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment