สุขเมื่อวาง ความสมบูรณ์แบบ
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม 2554
เพื่อนคนหนึ่งของผมเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยพยาบาล เธอเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงานมาก ไม่เพียงแต่เต็มที่กับการสอนบรรยายและฝึกปฏิบัติให้แก่นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำหน้าที่รองผู้อำนวยการวิทยาลัยซึ่งมีภารกิจไม่น้อยเลย
น่าแปลกใจว่าเธอจัดสรรเวลาได้อย่างไร ทั้งที่เธอสมรสแล้วและมีลูกวัยกำลังเรียนสองคน สามีก็ทำงานอยู่กันคนละจังหวัด ถึงกระนั้นเธอยังสามารถใช้เวลาทำงานในวิทยาลัยและเข้าร่วมประชุมต่างๆ เกือบตลอดทั้งวัน เสร็จจากการสอนและดูแลนักศึกษาแล้ว ยังต่อด้วยงานเอกสารจำนวนมาก กว่าจะได้ออกจากห้องทำงานเวลาก็ล่วงเลยไปครึ่งค่อนคืน
ภาพที่เราทุกคนเห็นตลอดมานั้น เธอคือหญิงเก่งนักจัดการผู้พร้อมรับกับงานหนัก
แต่ในการอบรมเชิงปฏิบัติการสองครั้งได้ทำให้เราเข้าใจเธอต่างไป ครั้งแรกเป็นการร่วมกันเรียนรู้กระบวนการจิตตปัญญากับเพื่อนอาจารย์ในวิทยาลัย เธอได้เปิดเผยความรู้สึกเบื้องลึกในใจว่ากดดันและหวั่นไหวต่อภาระงานที่หนักหน่วง แล้วเธอก็ได้รับความตื้นตันใจ ที่พบว่าเพื่อนในที่นั้นทุกคนตั้งใจรับฟัง และพร้อมจะให้ความเข้าใจ แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือทำงานแทนให้ได้
การอบรมครั้งที่สองเป็นสุนทรียสนทนาร่วมกันระหว่างเหล่าครูและนักศึกษาพยาบาล ท่ามกลางเสียงระบายความอึดอัดต่อกฎระเบียบและความไม่พอใจของนักศึกษา ทำนบของใจเธอได้ทะลายลงพร้อมหลั่งน้ำตาออกมาต่อหน้าศิษย์ ว่าเธอเองก็รู้สึกสะเทือนใจเพียงใด เมื่อต้องให้เวลากับการดูแลนักศึกษา แต่ในขณะเดียวกันนี้ที่ลูกของตัวเองป่วย เธอกลับไม่สามารถไปดูแลและพาไปโรงพยาบาลได้ ทั้งที่ตัวเองนี่แหละเป็นพยาบาล
วันนั้น เพื่อนอาจารย์และนักศึกษาได้เห็นว่า หญิงเก่งคนนี้ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับเราทุกคน เธอมีความทุกข์ที่แบกรับเอาไว้ และไม่เคยได้รับโอกาสจะได้เอ่ยออกมา การรับฟังกันอย่างปราศจากวาระและไร้เงื่อนไข จึงได้เป็นเสมือนยารักษา ให้เธอได้เห็นว่าทุกคนพร้อมจะเข้าใจ และยินดีจะดูแลเธอเช่นเดียวกัน
ในเหตุการณ์สองครั้งนั้น การรับฟังอย่างลึกซึ้งอาจเป็นสิ่งที่เธอได้รับจากเพื่อนและศิษย์ แต่ทว่ายังมีอีกสิ่งซึ่งเธอได้มอบให้แก่ตนเองด้วย นั่นคือการฟังเสียงภายในใจตน
ก่อนหน้านี้ที่ทุ่มเททำงานทั้งในฐานะผู้บริหาร และในฐานะอาจารย์ มันมีเสียงภายในใจที่กดดันตัวเองว่าต้องทำให้ได้ ต้องทำให้สำเร็จ ขณะที่อีกเสียงกำลังต้องการทำหน้าที่ในฐานะแม่ให้ดี เสียงเหล่านี้แยกชีวิตเธอออกจากกันเป็นส่วนๆ แรงกดดันจากภายนอกไม่ว่าจากที่ทำงาน หรือจากครอบครัวที่บ้าน ล้วนแล้วแต่เทียบกันไม่ได้กับแรงกดดันในใจ ตำหนิกล่าวโทษตัวเอง และเก็บงำไว้ใต้ภาพผู้บริหารที่ทำงานหนัก
เธออยากจะบริหารจัดการงานให้ดี อยากจะสอนบรรยายให้ดี อยากจะดูแลครอบครัวให้ดี แต่ที่ผ่านมาทั้งสามสิ่งนี้ไม่สามารถจะดำเนินร่วมเส้นทางเดียวกันโดยราบรื่นไปได้ กลายเป็นว่าเธอต้องสลับหน้าที่ทำตามบทที่ได้รับของแต่ละสถานภาพ เมื่อให้เวลาบริหารก็ไม่สามารถมีเวลาทำหน้าที่ของแม่ได้ ทำให้ชีวิตของเธอถูกแยกออกเป็นส่วนไปตามบทบาท
โอกาสของการรับฟังเสียงภายในใจตนที่เธอมอบให้แก่ตัวเอง จึงเป็นการปลดปล่อยให้ความทุกข์ทับถมมานานนั้นได้ระบายออก ด้วยภาวะนี้ที่เพื่อนและศิษย์พร้อมรับฟังอย่างไม่คาดหวังและไม่ตัดสิน ได้ทำให้เธอเห็นตนเอง ได้ให้อภัยสำหรับการตำหนิลงโทษและความรู้สึกผิดของตัวเอง และยอมรับทุกด้านของความเป็นตัวเองได้
จะเป็นผู้บริหาร เป็นครู หรือหญิงผู้เป็นแม่ ทุกบทบาทล้วนแต่คือตัวเอง เมื่อได้ฟังก็ทำให้ได้ยิน เมื่อตระหนักเห็นก็ทำให้ยอมรับ
เส้นทางปัจจุบันที่เธอเลือกเดินจึงไม่ใช่เส้นทางหลักของบทบาทหนึ่งใด และเธอไม่ได้พยายามรีดเค้นแบ่งเวลาอันจำกัด เธอไม่ได้ทิ้งหน้าที่ความเป็นแม่เพื่อไปหาความสำเร็จในฐานะผู้บริหาร ไม่ได้หันหลังให้ฐานะตำแหน่งเพื่อไปทำหน้าที่ครู
เธอเพียงฟังเสียงของทุกความต้องการในใจ กล้าเปิดเผยแบ่งปันทุกข์ให้แก่เพื่อนได้ ดำเนินชีวิตในทุกบทบาทโดยไม่คาดคั้นคาดหวังความสมบูรณ์แบบ เป็นตัวเธอของตัวเธอเองทั้งในฐานะหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นแม่ เป็นครู และเป็นผู้บริหาร
เธอเลือกหนทางเดินเข้าไปสู่ชีวิตด้านใน ทางที่ไปเพื่อเข้าใจ ให้อภัย และยอมรับตนเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment