สัญญาณสติ
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2554
อุปกรณ์ตัวเอกชิ้นหนึ่งซึ่งมักพบในการจัดอบรมแนวจิตตปัญญาศึกษาอยู่เสมอ นั่นคือ ระฆัง สำหรับตีให้สัญญาณเสียง เพียงแต่ลักษณะรูปทรงของเขานั้นต่างจากระฆังที่เราเข้าใจกันทั่วไป ระฆังที่ว่านี้มีลักษณะคล้ายถ้วยใบเล็ก ทำจากโลหะ ขนาดพอวางบนฝ่ามือได้ มีไม้ตีประมาณเท่านิ้วนางไว้ใช้คู่กัน
ที่ว่าเป็นตัวเอกเพราะเขาได้รับความสนใจไม่มากก็น้อยในงานทุกครั้ง เพราะนอกจากรูปร่างทรวดทรงจะแปลกตา มีเสียงดังกังวานใส และสะท้อนก้องอยู่นานกว่าจะเงียบลงแล้ว เหล่ากระบวนกรยังชอบวางเขาเอาไว้ตรงหน้า ยิ่งทำให้ตกเป็นเป้าสายตาของทุกคนตลอดงาน หากมีหนไหนคราวใดที่ผู้นำกิจกรรมหรือกระบวนกรไม่ได้กล่าวแนะนำอุปกรณ์ชิ้นนี้ ก็มักมีผู้เข้าร่วมอบรมมาเลียบเคียงถามทุกทีไปว่า ไปซื้อหาเจ้าระฆังนี้มาจากไหน บางท่านต้องการมีประสบการณ์ตรงถึงกับเข้ามาขอลองตีระฆังเองเสียเลย
ยิ่งกระบวนกรอธิบายเล่าว่าระฆังนี้รอนแรมมาไกลจากญี่ปุ่น และใช่ว่าจะหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ต้องเป็นย่านศาสนสถานอันมีร้านรวงที่จำหน่ายของที่เกี่ยวข้อง ส่วนสนนราคาคิดเป็นบาทก็ร่วมหลักพัน ได้ยินอย่างนี้ผู้คนยิ่งตื่นตาตื่นใจ อยากได้เอาไว้จัดกระบวนการเองบ้าง
กระทั่งมีอยู่ครั้ง อาจารย์ท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นในการประชุมพบปะเครือข่ายของผู้สนใจนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในชั้นเรียนว่า อยากนำกิจกรรมหลายอย่างไปลองใช้ แต่ก็ยังไม่มั่นใจ เพราะแค่ระฆังก็ยังไม่มีเป็นของตัวเองเลย พวกเราในที่นั้นเข้าใจว่าเพื่อนอาจารย์คงเล่าแบบติดอารมณ์ขัน แต่มันสะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างอันเนื่องมาจากระฆังที่ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิด ดังเช่นกรณีที่ว่ามา ดูเหมือนว่าระฆังรูปลักษณะนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของจิตตปัญญาศึกษาไปเสียแล้ว หากว่าการเป็นสัญลักษณ์นี้ทำให้คนจดจำได้ก็น่ายินดี
แต่กลับจะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งถ้าอุปกรณ์นี้ได้ทำให้คนรับรู้จิตตปัญญาศึกษาเพียงแง่ภาพลักษณ์ในด้านเดียว เพราะเหตุที่กระบวนกรส่วนใหญ่เลือกใช้เขาในการจัดกระบวนการนั้น มิใช่แค่เพราะรูปลักษณะอันแตกต่าง และยิ่งมิใช่เพราะหายากต้องลำบากไปหอบข้ามน้ำข้ามทะเลมา
เหตุผลที่เลือกใช้ระฆังนี้คือ วิธีการใช้งานและการดูแลเขา เพราะมันเป็นวิธีการที่สนับสนุนให้เราได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเราเอง ฝึกให้เราพิถีพิถันใส่ใจกับสิ่งเล็กน้อย
ฝึกเราให้ละวางความฟุ้งซ่านและงานเร่งรีบตรงหน้า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นการฝึกตนตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาทั้งสิ้น
โดยลักษณะของระฆังที่ถือในมือและใช้มืออีกข้างจับไม้ตี อาจทำให้มองแค่นี้แล้วเข้าใจไปว่าคงเป็นของง่ายๆ แต่ถ้าได้ลองตีเองสักครั้งจะรู้เลยว่าไม่ธรรมดาฝ่ามือข้างที่ถือระฆังนั้นต้องผายออกกำลังดี ไม่มากไปไม่น้อยไป มือที่ถือไม้ตีต้องใช้แรงกำลังดี ไม่เบาจนเกิดเสียงจาง ไม่หนักจนดังระคายหู อีกทั้งเขาก็มีเนื้อโลหะที่ไม่ได้ทนทานต่อการกระแทก การจับวางต้องทำอย่างระมัดระวัง ทุกครั้งที่ตีระฆังจึงต้องใส่ความตั้งใจลงไปไม่น้อย ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มากจนเกร็ง เราต้องค่อยๆ วางเขาไว้ให้นิ่งและตั้งมั่น เลือกตำแหน่งและลงไม้ตีด้วยกำลังพอดี
การให้สัญญาณเช่นนี้จะทำไม่ได้เลย ถ้าผู้ตีระฆังอยู่ในภาวะลุกลี้ลุกลน เร่งรีบ ใจเหม่อลอยคิดเรื่องอื่น หรือคว้าเขามาแล้วหลับหูหลับตาตีแค่ให้เกิดเสียง เพราะสัญญาณเสียงอันกำเนิดจากการสั่นไหวในเนื้อระฆังนั้นสามารถสะท้อนถึงระดับความสงบนิ่งของใจผู้ตีออกมาอย่างชัดเจน ยิ่งใจนิ่ง เสียงสัญญาณยิ่งไพเราะ
ระฆังสำหรับงานอบรมอาจเป็นอุปกรณ์ธรรมดา ทำได้แค่ให้สัญญาณเสียง หรือเขาอาจจะโดดเด่นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของงาน แต่ถึงที่สุดแล้ว เราต้องไปพ้นจากรูปลักษณ์ และไม่หลงลืมสาระคุณค่าแท้ของเขา คือการเป็นเครื่องมือซึ่งเอื้อให้เกิดวิถีที่เข้ากันเป็นหนึ่งเดียวกับการเรียนรู้และฝึกฝนใจของตนเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment