ความเป็นไปได้ใหม่



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม 2553

เช้าวันนี้ผมเห็นเขาเดินกะเผลก จากปกติที่เขามักนั่งมองเราทานมื้อเช้าและส่งเสียงร้องเรียก ก็กลับไปนั่งหมอบหลบมุม แม้จะยังกินอาหารที่เทให้แต่ก็ดูระแวดระวังตัวมาก ทำให้ผมรู้สึกกังวลและค่อนข้างไม่สบายใจ พลอยฟุ้งซ่านหลงคิดไปพักหนึ่งว่าเขาทะเลาะกับแมวอื่น หรือถูกตีเพราะย่องไปคาบปลาบ้านใกล้เคียงหรือเปล่า ด้วยความที่เลี้ยงเขาไว้นอกบ้าน จะปีนป่ายเดินเล่นไหนก็ได้ตามใจ

ลองนึกทบทวนแล้วผมยังแปลกใจตัวเองที่ห่วงแมวได้เพียงนี้ ย้อนไปราวสามสี่ปีก่อนหน้า ทัศนคติที่ผมมีต่อสัตว์เลี้ยงต่างจากนี้ ตัวโปรดประจำใจของผมมาโดยตลอดคือ หมา และหมาเท่านั้น ผมว่าหมาช่างมีข้อดีมากมายกว่าสัตว์เลี้ยงอื่น โดยเฉพาะแมว แม้ปัจจุบันผมจะไม่ได้มีเพื่อนสี่ขาขยันเห่าในครอบครองเหมือนเมื่อสมัยเป็นเด็ก แต่ยังประทับใจในความสัตย์ซื่อ เปิดเผย อดทน และไว้ใจได้ของเขาตลอดมา ขณะที่แมวเห็นจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม ดูเย่อหยิ่ง เก็บตัว และเอาแต่ใจตัวเอง

จนกระทั่งวันที่มีแม่แมวคาบลูกน้อยตัวเล็กสองตัวมาที่รั้วบ้าน แม้เราจะไม่อยากได้แต่ก็สงสาร ผลัดกันคลุกข้าวกับปลา หมั่นให้อาหารอยู่เสมอ จนลูกแมวโตขึ้นมากและแม่แมวก็จากไป ไม่มาอาศัยประจำบ้านอีก ส่วนลูกแมวสองตัวก็พำนักถาวร พร้อมเปลี่ยนจากหลบๆ ซ่อนๆ เข้ามาเคล้าเคลีย ส่งเสียงร้อง และหงายท้องยอมให้ลูบเล่นแต่โดยดี

ชัดเจนมาก ว่าผมใช้เวลากับเขาไปไม่น้อย ยามว่างผมนั่งในบ้านก็เพลินกับการดูเขานอนในท่าทางน่าขัน สังเกตการเติบโตและเป็นอยู่ของเขาในระยะประชิด อย่างเนิ่นนานมากขึ้น ผมได้เห็นและสัมผัสเขา ได้ใช้ประสบการณ์กับแมวจริงตรงหน้า ไม่ใช่แมวในความคิดนึกทึกทักเอาเองเหมือนก่อน

นึกถึงกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาที่ผมมักแนะนำผู้เข้าร่วมการอบรมว่า ขอให้เราพยายามออกจากร่องความเคยชินเดิมๆ เพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ อีกมากมายให้กับชีวิต ทว่าผมยังไม่เคยยกตัวอย่างสัตว์เลี้ยงเช่นแมวที่เรารู้จักดี อาจจะเป็นเพียงแมวในข้อมูลความจำ เป็นแมวของประสบการณ์เก่าที่เราเอามาใช้คาดการณ์แมวจริง จนเคยชินเป็นนิสัย

กระทั่งเรามักจะหลงเชื่อไปว่านี่แหละขอบเขตความเป็นตัวเรา อะไรที่เราเห็นและอะไรที่เราทำได้ และแล้วเราจึงได้จำกัดโอกาสความเป็นไปได้ให้ตัวเองไว้เพียงแค่นั้น จำกัดเรื่องราวและบุคคลอื่นในชีวิตเราไว้เท่านั้น

ประสบการณ์ว่าด้วยแมวได้สะท้อนให้ผมเห็นตัวช่วยดึงเราออกจากร่องความเคยชินได้ สองสิ่งนั้นคือ ระยะทาง และระยะเวลา เดิมผมคิดตัดสินไว้ในใจว่าแมวเย่อหยิ่งเอาแต่ใจ ผมจึงไม่คิดจะเอาตัวเข้าใกล้ ไม่เคยได้สังเกตมองเขาเป็นเวลานานกว่าวินาที เรียกว่าเห็นผ่านตาเท่านั้น เมื่อระยะระหว่างผมกับเขาหดสั้นลง และเวลาของเราเพิ่มมากขึ้น เดี๋ยวนี้ผมบอกได้เลยว่าเขาทั้งสองมีนิสัยบุคลิกความชอบผิดแผกกันอย่างไร ผมแปลกใจในคุณภาพการสังเกตนี้มาก

แต่อัศจรรย์ใจยิ่งกว่าที่พบว่า เรื่องราวนี้คือสิ่งเดียวกันกับการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ให้ตัวเอง การสร้างความสามารถมองเห็นความงามในของเดิมที่เคยชิงชัง และการเข้าอกเข้าใจคนอื่นผู้ที่ชอบไม่เหมือนเรา ผมเห็นแมวไม่เหมือนเดิม และกลายเป็นว่าผมก็มองคนรักแมวเปลี่ยนไป ไม่ใช่คนลักษณะเดิมอีกต่อไป

อาจเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปในชีวิต ที่เรามักห่างเหินกัน ให้เวลากันเท่าที่จำเป็น แต่มันทำให้เราเห็นแค่สิ่งที่ตัวเราอยากจะเห็น เป็นไปได้ไหมว่า เราจะใช้เวลาให้กันนานขึ้น และใกล้กันมากขึ้น เพื่อให้เราได้เห็นอะไรต่างไป และนำเอาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในฐานะของขวัญที่ไม่ธรรมดาให้แก่ชีวิตเราเอง

กรุณาให้ 5 คะแนนเต็ม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553


เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินพนักงานที่เคาน์เตอร์ธนาคารบอกว่า “หลังจากนี้อีกสองสามวันถ้ามีโทรศัพท์สำรวจความพึงพอใจในการให้บริการ ขอรบกวนให้ 5 คะแนนเต็มทุกข้อด้วยนะคะ” หรืออีกกรณี คงเคยไปจ่ายค่าโทรศัพท์และเคเบิลทีวีที่ศูนย์บริการ แล้วพนักงานขอให้กดแป้นบนเคาน์เตอร์เพื่อให้คะแนนความพึงพอใจตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 กันมาบ้างแล้ว เรียกได้ว่าประเมินได้เป็นรายบุคคล ไม่ต้องอาศัยบริษัทประเมินภายนอกมาสุ่มโทรถามภายหลัง

จากมุมมองของลูกค้า การได้เป็นผู้ประเมินผลด้วยตนเองนี้น่าจะทำให้พนักงานพยายามทำหน้าที่ให้ดี ยิ้มแย้มมีอัธยาศัย คนที่ทำงานดีย่อมจะได้รับความดีความชอบ ส่วนมุมมองขององค์กร การจัดประเมินลักษณะนี้แม้ลงทุนมากขึ้น แต่ได้รับเสียงสะท้อนโดยตรงจากลูกค้า และได้ข้อมูลจริงว่าด้วยประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเป็นรายคน ทั้งยังช่วยเสริมการประเมินจากหัวหน้างานที่อาจไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรขนาดใหญ่เช่นนี้

สำหรับพนักงานผู้ปฏิบัติการเอง การประเมินโดยลูกค้านี้น่าจะเป็นรูปแบบที่ยุติธรรมและเห็นผลชัดเจน ใครทำดีก็ได้คะแนนมาก ตรงไปตรงมา

ผมเคยไปติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งหนึ่ง พบว่าพนักงานหญิงทั้งสองคนที่เคาน์เตอร์มีหน้าตาสะสวย แต่งกายงาม แต่เธอทั้งสองมีสีหน้าบึ้งตึง และตอบลูกค้าทุกรายแบบขอไปที ผมเคยคิดว่าถ้าที่นั่นมีระบบประเมินทันใจน่าจะทำให้พนักงานบริการดีกว่านี้ จึงตั้งใจว่าจะเขียนร้องเรียนคุณภาพการให้บริการไปยังสำนักงานใหญ่ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้เขียนเพราะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “นั่นใช่สิ่งที่ควรจะร้องเรียนแล้วจริงหรือ?”

เพราะดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการประเมินเหล่านี้จะไม่ได้ให้ผลตามที่คาดหวังเสมอไป

ในช่วงสองสัปดาห์มานี้มีกระทู้หนึ่งในชุมชน Pantip.com ถูกโหวตให้ขึ้นเป็นกระทู้แนะนำและมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก กระทู้นั้นเขียนเปิดประเด็นเล่าว่าถูกพนักงานบริษัทนี้ขอแกมบังคับให้กด 5 คะแนน คนที่มาตอบต่างก็เล่าประสบการณ์ของตนบ้าง เช่นว่าพนักงานบริการด้วยสีหน้าเฉยเมย เมื่อจะขอให้กดประเมินถึงจะยิ้มให้ บางรายว่าถ้ากดคะแนนต่ำกว่า 5 พนักงานจะขอให้กดใหม่ ส่วนบางรายเห็นกับตาว่าถ้าลูกค้าไม่ได้กด จะเป็นเพราะรีบหรือลืมก็ตาม พนักงานถึงกับยื่นมือข้ามเคาน์เตอร์มากด 5 คะแนนด้วยตัวเอง บรรยากาศการแลกเปลี่ยนในกระทู้อุดมไปด้วยความตึงเครียดและไม่พอใจ และโดยมากเสนอให้ปรับเชิงเทคนิค เช่น ไม่ให้พนักงานเห็นแป้นกด หรือใช้วิธีส่ง SMS ประเมินแทน

เราอาจจะพัฒนาให้ได้ระบบประเมินวัดผลที่รัดกุมขึ้นได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายมีความสุข เพราะพนักงานก็เครียดเหมือนถูกจับผิดอยู่ตลอดเวลา ลูกค้าก็อึดอัดที่ถูกวิงวอนขอร้องหรือจับตาว่าจะกดคะแนนใด บริษัทก็ตามแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ แต่ไม่ตรงจุด

สิ่งที่ควรจะแก้ไขไม่ใช่คุณภาพการบริการของพนักงาน แต่เป็นคุณภาพการดูแลพนักงานของบริษัทเอง

ถ้าเราได้รับการบริการไม่ดี เราน่าจะร้องเรียนว่า “บริษัทควรหมั่นเอาใจใส่และปรับปรุงดูแลทำให้พนักงานมีความสุข” เพราะการที่เขาไม่ได้ให้บริการที่ดีแก่เรา ย่อมแสดงว่าเขายังไม่ได้รับการสนับสนุนดูแลที่ดีจากองค์กรเช่นเดียวกัน

แนวคิดที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้าอาจทำให้เราได้ประเมินกันทันใจ แต่กลับทำให้เราไม่ไว้วางใจกันและทำให้เราเพ่งโทษกัน ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นแล้วคือบริษัท HCL Technology ที่อินเดีย ด้วยแนวคิด Employee First หรือพนักงานมาก่อน ของ CEO นาม Vineet Nayar จากหลักการเรียบง่ายคือ ให้ทุกคนในบริษัทรับรู้ข้อมูลจริงของการประกอบกิจการ และทำให้พนักงานเชื่อถือไว้วางใจในตัวผู้บริหาร เพียงเท่านี้ก็สามารถกู้วิกฤตและทำให้บริษัทประสบความสำเร็จเป็นองค์กรชั้นนำ

ถ้าเรารู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ และมีความสุข ทำไมเราจะไม่อยากทำงานให้ดี และแบ่งปันความสุขนี้ผ่านสีหน้าและแววตาล่ะครับ เรื่องสามัญธรรมดาของการให้บริการ ไม่จำเป็นต้องสร้างการประเมินมาให้สลับซับซ้อน ลดทอนความสัมพันธ์ฉันพื่อนมนุษย์ที่เราพึงปฏิบัติต่อกัน

ปากกาพาไป



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม 2553

“เขียนอะไรลงไปก็ได้ตามแต่ความคิดอะไรจะเกิดขึ้น ข้อสำคัญก็คือเขียนไปเรื่อยๆ ไม่ต้องกลับไปแก้ไข หรือขีดฆ่าข้อความ ให้เขียนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่หยุดวางปากกา และไม่ต้องคิดเรียบเรียงก่อนเขียน แค่เขียนไปตามที่ใจคิด”

ทันทีที่สิ้นเสียงแนะนำการทำกิจกรรมที่ชื่อว่า “ปากกาพาไป” นี้ ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเกือบทุกคนมักจะขมวดคิ้วสงสัย บ้างก็อดไม่ได้ถึงกับยกมือขึ้นถามเพื่อให้แน่ใจ คำถามที่คนส่วนใหญ่มักเอ่ยออกมาก็คือ “แล้วจะให้เขียนเรื่องอะไรคะ/ครับ?”

กิจกรรมที่น่าสนใจและมีความท้าทายมากนี้ยังมีชื่อที่ถูกเรียกขานหลากหลายตามแต่กระบวนกรท่านใดกลุ่มไหนจะเลือกใช้ บ้างเรียกว่า ญาณทัศนลิขิต บ้างก็ว่า ธาราลิขิต ซึ่งต่างคนก็พยายามเลือกใช้คำในภาษาไทยที่ใกล้เคียงและสื่อความจากชื่อกิจกรรมในภาษาอังกฤษว่า Intuitive Writing ให้ได้มากที่สุด Intuitive ที่หมายถึงการเกิดญาณทัศนะ หรือมีสภาวะปิ๊งแว้บขึ้นในใจนั่นเอง

การเขียนแบบนี้จึงมีจุดประสงค์ต่างจากการเขียนอื่นในประเด็นที่ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสละสลวยของภาษา ไม่ได้เน้นความสมบูรณ์ของรูปประโยค และย่อมไม่สนใจกับโครงสร้างของเรื่องที่เขียน เพราะสาระสำคัญของกิจกรรมการเขียนแบบ Intuitive Writing เป็นการเขียนเพื่อสะท้อนใจและเปิดความเป็นไปได้ใหม่ทางความคิด

เรื่องที่แต่ละคนเขียนลงไปในกระดาษของตนจึงเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่อยู่ในใจ และแน่นอนด้วยว่าในช่วงระยะเวลาของการเขียนราวเจ็ดนาทีนี้อาจจะมีหลายเรื่องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในกระดาษหน้าเดียว ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตใจและความคิดของคนเขียนเองทั้งสิ้น

หัวใจสำคัญคือสิ่งที่เขียนออกมานั้นจะได้ถ่ายทอดสภาวะของเราอย่างตรงไปตรงมา ในบางครั้งงานเขียนนี้ก็ถ่ายทอดสิ่งที่เรากำลังกังวล เรื่องที่เราให้ความสนใจ หรือเหตุการณ์ที่ประทับใจ ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปหลายคนยอมรับเลยว่า หลังจากได้กลับมาอ่านสิ่งที่ตัวเองได้เขียนไปทำให้เห็นความคิดและความรู้สึกของตัวเองชัดเจนขึ้นมาก เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ตนเองให้ความสำคัญและอะไรคือสิ่งรบกวนจิตใจในตอนนั้น

แม้ส่วนใหญ่จะเขียนถึงกิจกรรมที่ได้ทำในเวิร์คช็อป แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เขียนออกมาว่าคิดถึงบ้าน คิดถึงลูก บ้างก็เป็นห่วงงานในหน้าที่ซึ่งตอนนี้ต้องให้คนอื่นมาทำแทน บ้างก็เต็มไปด้วยคำถามและความสงสัย หลายคนก็เขียนบอกสภาวะทางกายว่าปวดเมื่อย หรือไม่ก็รู้สึกหนาวเพราะแอร์เย็น

เงื่อนไขการเขียนที่ว่าต้องไม่หยุดเพื่อจะคิดเรียบเรียงจึงมีความสำคัญ เพราะมันช่วยทำให้เราหลุดออกจากแนวพฤติกรรมเคยชินเดิมๆ ที่มักจะเขียนเรื่องที่ผ่านการคัดสรรกลั่นกรองไว้แล้ว หรือใช้ความคิดมากจนเขียนไม่ออก หรือไม่ก็ใจหลุดลอยไปกับเรื่องที่เขียนจนไม่ทันได้รู้ตัว ไม่ทันได้กลับมารู้กายรู้ใจตน

กติกาการเขียนแปลกๆ ง่ายๆ เพียงใช้เวลาแค่เจ็ดนาที ก็ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถสะท้อนตัวเองได้มาก เป็นเครื่องมือหรือวิธีการในแนวจิตตปัญญาศึกษาที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ไม่น้อยเลย ในกลุ่มจิตตปัญญาวิถีที่จัดเวิร์คช็อปมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งหลักสูตร “จิตตปัญญา ๑๐๑” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราก็ใช้กิจกรรมนี้เป็นเครื่องมือหลักสร้างการเรียนรู้และเข้าใจตนเองสำหรับผู้เข้าร่วมอบรม ทุกคนได้มีประสบการณ์ตรงในการสัมผัสและรู้จักตัวเองในแง่มุมที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน เป็นวิธีเรียบง่ายที่ปฏิบัติเองได้ และเห็นผลเมื่อนำมาปฏิบัติซ้ำอย่างต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง

ปากกาด้ามเดียวกันที่ทำให้เราเครียดจากงานประจำ หรือทำให้ใจเราจมไปกับเรื่องราวที่เขียน ก็ยังเป็นปากกาที่พาให้เราได้รู้จักรู้ใจตัวเองได้ เป็นปากกาพาไปสู่ใจ สู่ความเข้าใจใหม่ให้เป็นของขวัญที่เราจะมอบแก่ตัวเอง

กระบวนกร



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2553

สำหรับคนที่เพิ่งเคยได้เข้าหลักสูตรฝึกอบรมจิตตปัญญาศึกษาเป็นครั้งแรก คงมีเรื่องให้ฉงนสงสัยไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตำแหน่งที่นั่งในห้องให้หันหน้าหากันเป็นวงกลม หรือการใช้ศิลปะวาดภาพร่วมเป็นกิจกรรมหนึ่งของการเรียน ไม่เว้นแม้กระทั่งศัพท์แสงที่ใช้ หลายคำเป็นคำที่หลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อน บางคนก็รู้สึกว่าคำเหล่านั้นน่าสนใจดี แต่บางคนกลับลังเลสงสัยเพราะไม่แน่ใจว่าจะใช่ความหมายเดียวกับที่เข้าใจหรือเปล่า

คำยอดนิยมที่ผู้เข้าร่วมอบรมมือใหม่เกือบทุกคนมักเกิดคำถามในใจ หรือหากสะกดเก็บไว้ไม่อยู่ก็เอ่ยปากถามออกมาตั้งแต่แรกที่ได้ยิน คำที่ว่านั้นคือ “กระบวนกร”

จากความคุ้นเคยเดิมของเราส่วนใหญ่ เมื่อมีการฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการใด คนผู้มาทำหน้าที่สอน มาบรรยายให้ความรู้ เขามักจะถูกเรียกขานว่าอาจารย์ หรือวิทยากร ไปโดยปริยาย หากผู้เข้าร่วมอบรมพิจารณาเห็นว่าผู้สอนมีวัยวุฒิสูงมีคุณวุฒิสูงก็อาจเติมคำนำหน้าให้กลายเป็นท่านวิทยากรไปด้วย

ทำไมจิตตปัญญาต้องใช้คำแปลกๆ ทำไมไม่ใช้คำเหมือนที่เขาใช้กันทั่วไป เคยมีใครบัญญัติศัพท์นี้ไว้แล้วหรือ สารพัดสารพันคำถามทั้งที่ได้เอ่ยถามและอยู่ในใจของหลายคน

ใช่ว่าสาเหตุของการใช้คำว่ากระบวนกรเพราะต้องการสร้างความแตกต่าง หรือพยายามหาเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพราะการเรียนรู้ในแนวจิตตปัญญาศึกษาต่างไปจากรูปแบบสมัยนิยมที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคยจริงๆ ไม่ได้ต่างเพียงแค่ลักษณะตำแหน่งที่นั่งหรือวิธีการเรียนเท่านั้น การใช้คำว่ากระบวนกรจึงพยายามสื่อความหมายสำคัญประการหนึ่งแก่ทุกคนในการฝึกอบรม

สำหรับจิตตปัญญาศึกษา หากคำว่าวิทยากรซึ่งมีรากศัพท์มาจากวิทยะและอากร อันหมายความว่าแหล่งที่มาของความรู้ เราทุกคนจึงพึงรอรับฟังและรับเอาเนื้อหาความรู้นั้นไป “กระบวนกร” จึงหมายความถึงผู้อำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของความรู้

แหล่งของความรู้นั้นอยู่ที่ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคน เป็นความรู้ในตัวที่เกิดขึ้นในกระบวนการไม่ได้เป็นความรู้จากการบรรยาย

แม้ว่าจิตตปัญญาศึกษาอาจมีวิธีการแปลกใหม่และแตกต่าง มีการประยุกต์พัฒนานำศาสตร์ต่างๆ มาผสมผสานเป็นการเรียนรู้ใหม่ก็จริง แต่หัวใจของจิตตปัญญาศึกษาไม่ได้อยู่ที่เทคนิควิธีการ ไม่ได้เป็นเนื้อหาวิชาการ หัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การรู้จักรู้ใจตนเองและโลกอย่างลึกซึ้ง

ความเข้าใจในตนเองของเราแต่ละคนจึงถือเป็นความรู้เฉพาะตน ผู้จัดกระบวนการในบทบาทฐานะกระบวนกรทำหน้าที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเกิดการเรียนรู้ในตน บนฐานที่มาของประสบการณ์ชีวิตอันแตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละคน

การเรียกตัวเองของผู้สอนว่า “กระบวนกร” จึงเป็นความพยายามให้ความหมายใหม่แก่การเรียนรู้ หาไม่แล้วด้วยบทบาทฐานะ “ท่านวิทยากร” ย่อมมีความเป็นไปได้สูงมากที่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจะเกิดความคาดหวังการเรียนแบบเดิมๆ ยิ่งมีคำว่าท่านนำหน้า ยิ่งพาให้วางระยะห่างจากกัน พลอยทำให้มีพฤติกรรมเรียนรู้แบบเป็นฝ่ายรอรับ และตั้งหน้าตั้งตาจดบันทึก จนละเลยโอกาสทำความรู้จักรู้ใจตนเองไป

สิ่งที่เราไม่คุ้นเคยและชวนให้ฉงนสงสัยในจิตตปัญญาศึกษา จึงไม่ได้มีที่มาเพียงเพราะต้องการสร้างความแตกต่างในรูปแบบภายนอก แต่พยายามชักชวนให้เราตั้งคำถามกับความคุ้นเคยเดิมๆ และทบทวนถึงการเรียนแบบรอรับความรู้จากผู้รู้อย่างที่เราเคยเป็นมา

ถึงที่สุดแล้วคำว่ากระบวนกรอาจไม่สลักสำคัญหรือมีความหมายพิเศษอะไร ในการฝึกอบรมครั้งต่อไปอาจมีคำแปลกใหม่อีกก็ได้ หากมันจะช่วยเราให้ได้เข้าใจตนเองและโลกอย่างลึกซึ้ง

ความต้องการขององค์กร



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม 2553

เรื่องพบเห็นเป็นประจำในการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กร หรือบ้างเรียกกันสั้นๆ ว่า OD ที่ย่อมาจาก Organization Development คือเรื่องโทษกันไปโทษกันมาระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน

ในช่วงตระเตรียมก่อนการอบรมนั้น ผู้บริหารมักบอกวิทยากรหรือกระบวนกรว่าหน่วยงานหรือพนักงานคนไหนบ้างที่ควรได้รับการพัฒนาทัศนคติ หรือเพิ่มทักษะความสามารถ ส่วนในระหว่างการอบรม เมื่อได้สนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับเหล่าพนักงานกลับกลายเป็นกระบวนกรได้ข้อมูลว่าผู้บริหารนั่นเองควรปรับเปลี่ยนตนเอง อาจเป็นลักษณะท่าทีที่มีผลต่อบรรยากาศการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา หรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อพนักงานบางกลุ่ม

คนส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องทำนองนี้เป็นการเพ่งโทษกันไปมา หรือเห็นว่าเป็นการมองออกไปนอกตัวเอง ต่างไม่มองย้อนกลับมาที่ตนก่อนว่ามีข้อบกพร่องอะไร และควรปรับปรุงอะไรบ้าง มักตกร่องความคิดเดิมๆ ที่เล็งเห็นความผิดพลาดของผู้อื่นมากกว่า

แต่ไม่ค่อยมีใครชี้ว่าปรากฏการณ์นี้ได้บ่งชี้ว่าทุกคนกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือกัน ผู้บริหารเห็นโอกาสจะช่วยพนักงาน แต่เห็นจากมุมมองของผู้มีประสบการณ์และมีอำนาจมากกว่า พนักงานก็เช่นกัน เขาเห็นโอกาสจะช่วยผู้บริหาร แต่ด้วยมุมมองของผู้ต้องการการดูแลและกังวลกับการถูกลงโทษ

เรื่องดีๆ ดังการช่วยเหลือกันนี้จึงกลายเป็นสิ่งกระอักกระอ่วนใจของทุกฝ่าย และไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้แสดงออกมา ไม่มีเวลาให้ได้พูดถึงกันอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ภายในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและมีความไว้วางใจต่อกัน

แม้ว่าเราอาจได้พบความรู้ที่น่าสนใจและอาจคลี่คลายปมนี้ได้ อาทิ ผู้นำผู้รับใช้ (Servant Leadership) ซึ่งกล่าวถึงภาวะผู้นำที่สร้างความเป็นไปได้และศักยภาพใหม่ให้แก่กลุ่มจากบทบาทการสนับสนุนของหัวหน้า โดยไม่ติดยึดว่าหัวหน้าต้องมีบทบาทเป็นผู้สั่งการเท่านั้น แต่สุดท้าย เมื่อสิ้นสุดการอบรมลง เมื่อภาวะของความผ่อนคลายและไว้วางใจกันในการอบรมไม่มีเกิดขึ้นในองค์กร ต่างฝ่ายก็ตกร่องกลับไปเชื่อในความคิดเดิม ความเป็นไปได้ใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น

สิ่งสำคัญของการอบรมพัฒนาศักยภาพองค์กรจึงอาจไม่ได้อยู่ที่การสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในแนวคิดความรู้อย่างผู้นำผู้รับใช้ ไม่ได้อยู่ที่การสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย และไม่ได้อยู่ที่การทำให้ทุกคนทุกฝ่ายวางใจไร้แรงคาดหวังกดดันกันเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การเปิดเผยให้ทุกคนได้เอ่ยความต้องการที่แท้จริงให้แก่กัน

ปรากฏการณ์โทษกันไปโทษกันมาหรือบอกว่าอีกฝ่ายควรทำอะไร เป็นเพียงรูปธรรมวิธีการภายนอกเราใช้ต่อกัน เราพยายามบอกและสอนกันเสมอว่าอีกฝ่ายควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรบ้าง ผู้บริหารบอกต่อหน้าพนักงานว่าให้เขากล้าตัดสินใจ ส่วนพนักงานก็บอกกันลับหลังว่าผู้บริหารควรเห็นใจเขาหรือลดความเข้มงวดลงบ้าง ส่วนสิ่งที่อยู่ลึกลงไปยิ่งกว่าคือความต้องการในใจที่ทุกคนอยากมีองค์กรที่เอาใจใส่กัน มีความรักเข้าใจผูกพันกัน และมีความมั่นคงให้แก่สมาชิกทุกคน จึงเป็นความต้องการที่ไม่ได้รับการเปิดเผย

พวกเราเคยชินกับการเสาะหาความรู้เทคนิคใหม่ๆ เพื่อใช้แก้ปัญหา แต่เราอาจพลั้งลืมไปว่าองค์กรไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นจากเงินทุน อาคาร เครื่องจักรและเครื่องใช้สำนักงาน ที่สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขจัดการด้วยความรู้ ทว่า องค์กรของเรานั้นถูกประกอบสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์อันเป็นข่ายใยเชื่อมร้อยทุกคนให้ร่วมมือร่วมแรงและร่วมใจจนลุล่วงภารกิจน้อยใหญ่ และสิ่งสำคัญนี้ที่พึงใช้ความรู้ในใจเข้าไปดูแล ใช้แค่ความรู้เทคนิคอย่างเดียวไม่ได้

เมื่อเปิดโอกาสให้สามารถเปิดใจ จนเราเผยความต้องการความปรารถนาดีแก่กันได้ ย่อมเท่ากับเราเปิดความเป็นไปได้ให้องค์กรสามารถสร้างศักยภาพใหม่ พร้อมกับให้ความมั่นคงกับทุกข่ายใยความสัมพันธ์ในองค์กร

บริหารคน


คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2553

โจทย์สำคัญของงานบริหารมักหนีไม่พ้นการบริหารคนอยู่เสมอ

ความรู้ Know-How จำนวนมากมายได้พัฒนาไปเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่เน้นการเข้าใจคน และใช้คนให้เหมาะสมกับงาน โลกเราพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันมาไม่น้อย นับแต่การแบ่งงานกันทำเฉพาะอย่าง การสร้างทักษะรอบด้านแก่ผู้ปฏิบัติงาน การเพิ่มความสามารถในการสื่อสาร ไปจนถึงพาพนักงานไปปฏิบัติธรรม

แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่พบว่ามีวิธีไหนที่ใช้ได้ผลที่สุดสำหรับการบริหารคน

หรือเป็นเพราะว่าแต่ละบุคคลนั้นหลากหลายแตกต่างกันเหลือเกิน ชุดความรู้จากตะวันตกก็อาจไม่เหมาะกับการบริหารคนในวัฒนธรรมไทย หรือว่าผู้บริหารยังไม่เข้าใจเนื้อหาและเทคนิคต่างๆ เพียงพอ หรือว่าวิธีการบริหารอันได้ผลสมบูรณ์แบบนั้นยังไม่เกิดขึ้นมา

การบริหารคนเป็นเรื่องยากจริงหรือ?

ใช่แต่การไปจัดการคนอื่นหรอกที่มันยาก เริ่มจัดการที่ตัวเราเองยังทำไม่ได้เลยครับ

โดยมากเวลาที่เราได้พบได้เห็นแนวคิดหรือความรู้ดีๆ เรามักจะนึกถึงคนในบังคับบัญชาทันที ไม่ค่อยได้นึกถึงตัวเองกันเลย

ในการฝึกอบรมหรือบรรยายความรู้เกือบทุกครั้ง ผู้บริหารที่สนใจเข้ามาสนทนากับวิทยากร มักได้ผลสรุปลงท้ายว่าจะขอวิทยากรให้ไปสอนคนในองค์กร หรือไม่ก็จะไปสั่งให้บุคลากรในสังกัดดำเนินการ กรณีผู้บริหารพยายามทำความเข้าใจและจะนำไปใช้กับตัวเองก่อนนั้นมีน้อยมากถึงมากที่สุด

ขอยกตัวอย่างเรื่องนพลักษณ์ (Enneagram) ซึ่งเป็นความรู้ว่าด้วยลักษณะพื้นฐาน ๙ แบบของมนุษย์ ยังไม่ทันจบการฝึกอบรมก็มีคนเริ่มคิดแล้วว่าทำอย่างไรจะรู้ได้ว่าลูกน้องคนไหนเป็นลักษณ์อะไร เผื่อว่าจะได้ใช้งานเขาให้ถูกวิธี ทว่าพลาดหัวใจสำคัญของการเข้าใจตัวเองเพื่อพัฒนาตนไปอย่างน่าเสียดาย

อีกตัวอย่างที่ชัดมากคือเรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) คนจำนวนไม่น้อยที่ผ่านการอบรมแล้วรู้สึกนิยมชมชอบหลักการว่าด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เมื่อกลับไปทำงานก็มักเรียกร้องให้คนอื่นฟังอย่างลึกซึ้งบ้าง แต่ลืมไปว่าคนที่ควรฝึกฟังมากที่สุดคือตัวเอง เหตุผลประการแรกนั้นคือคนอื่นเขาไม่ได้ไปอบรมด้วย ลำพังคำพูดเราไปบอกต่อเขาจะเข้าใจได้เท่าเราหรือ เหตุผลประการสำคัญยิ่งกว่าคือ เราฝึกฟังคนอื่นอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เราเข้าใจตัวเอง ไม่ใช่ให้เขาตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด

หากเรายังไม่เข้าใจ ซึ่งในที่นี้คือ ความรู้ยังไม่ เข้าไปจนถึงใจเรา ยังไม่นำไปฝึกไปปฏิบัติ ไปบริหารเพื่อการเติบโตของตัวเอง ต่อให้เราพยายามใช้ความรู้และวิธีใหม่นี้ไปบริหารใคร ผลที่ได้จะแตกต่างมากมายไหม ถ้าเรายังคงเป็นคนเดิมที่คิดเหมือนเดิมและทำเหมือนเดิมในสายตาของผู้ที่ถูกเราบริหาร

การบริหารคนจึงยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะเพียงเริ่มต้นเราก็มักจะบริหารผิดคนเสียแล้ว

คนสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการทำงานของเรา มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา แต่เรามักจะหลงลืมและละเลยเขาไป ก็คือตัวของเราเอง...มิใช่หรือ

เดินทางชีวิต



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2553

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมเดินทางออกจากเกียวโตเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นไปยังมหานครโตเกียวด้วยรถไฟชินคังเซน นับว่าประหยัดเวลาและได้ชมทิวทัศน์ระหว่างทางไปด้วย จุดหมายของพวกเรานักท่องเที่ยวคือโตเกียว แต่เรายังมีเป้าหมายคือการได้ชมภูเขาไฟฟูจิในระหว่างทางที่รถไฟวิ่งผ่าน ถึงจะออกจากสถานีเกียวโตมาไม่นานและเหลือระยะทางอีกไม่น้อยกว่าจะผ่านจุดที่ชมภูเขาไฟฟูจิได้ แต่เราก็มักเหลียวมองออกไปทางหน้าต่างด้านซ้ายอยู่เสมอ

รถไฟหัวกระสุนที่ว่าเร็ว ยังเร่งได้ไม่ไวเท่าใจของเราเลย

กระทั่งผ่านเขาไปหลายลูก ผ่านอาคารบ้านเรือนไปจำนวนมาก เราจึงแลเห็นภูเขาไฟฟูจิขนาดใหญ่จากระยะไกลลิบ พร้อมกันนั้นต่างคนพากันหยิบฉวยกล้องถ่ายรูปมาจับภาพภูมิทัศน์นี้ไว้ เพราะมีโอกาสแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้นจึงจะได้ชมความงามของธรรมชาตินี้ แม้เมื่อรถไฟวิ่งผ่านไปได้พักใหญ่ เรายังแลกผลัดกันชมภาพถ่ายของภูเขาลูกนี้กัน

จนบทสนทนาว่าด้วยกล้องใครถ่ายภาพได้งามกว่ากันและความตื่นเต้นค่อยคลายลง หลายคนยังคงเพลิดเพลินกับทิวทัศน์นอกหน้าต่าง ผิดกันตรงที่คราวนี้เราสังเกตเห็นอะไรมากไปกว่าเดิม

เราเห็นภูเขาและอาคารที่อยู่ไกลได้มากและนานกว่าที่อยู่ใกล้ บ้านหลายหลังริมทางที่ดูน่ารักน่าสนใจกลายเป็นภาพที่ผ่านมาให้เห็นเพียงพริบตา กว่าบางคนจะชี้ชวนให้คนอื่นหันไปชมความงามในจุดเล็กๆ นั้นได้ รถไฟก็เคลื่อนตัวออกมาไกลจากจุดเดิมที่จะมองเห็นไปมากแล้ว ต่อเมื่อรถไฟชะลอตัวเข้าเทียบชานชาลาแต่ละสถานี เราถึงมีเวลาค่อยๆ เฝ้ามองดูผู้คนและบ้านเรือน และพบว่าเป็นภาพงดงามน่าสนใจไม่แพ้ภูเขาไฟเลย

เห็นภาพเด็กนักเรียนมัธยมญี่ปุ่นแล้วทำให้นึกถึงการเรียนของพวกเราที่ต้องเร่งเก็บเกี่ยวเนื้อหาและสอบให้ผ่านเพื่อมุ่งสู่จุดหมายการได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

การทุ่มเทเอาใจใส่และเร่งกวดติววิชาเพื่อให้ได้ไปมหาวิทยาลัยภูเขาไฟฟูจิจะทำให้ช่วงชีวิตวัยเรียนอันอุดมไปด้วยโอกาสการได้รู้จักรู้ใจตนและบทเรียนนานาในวัยรุ่นผ่านพ้นไปไวเกินหรือเปล่าหนอ

เห็นภาพพนักงานบริษัทใส่สูทเดินกึ่งวิ่งไปให้ทันทำงานแล้วคิดถึงชีวิตการงานในเมืองใหญ่ของเราอย่างรีบเร่งเป็นรถไฟชินคังเซนที่มุ่งสร้างผลงานวิ่งไปสู่ความสำเร็จและผลตอบแทนก้อนใหญ่นั้น

เราพากันเร่งรีบเกินไปจนไม่ทันได้ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และเผลอเรอละเลยความห่วงใยของครอบครัวและคนใกล้ตัวไปบ้างหรือเปล่าหนอ

ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต ทุกเส้นทางเหล่านี้สำหรับเราแต่ละคนล้วนมีเป้าหมายสำคัญต่างกันไป พวกเราอาจเลือกใช้เส้นทางอันรวดเร็วเพื่อให้ได้ชื่นชมความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ แต่นั่นย่อมมิใช่เส้นทางเดียวที่เรามีและเลือกได้ คงน่าเสียดายยิ่งนักถ้าเราไม่เคยได้ลองเปลี่ยนรางให้ช้าลงบ้างในบางขณะบางช่วงจังหวะชีวิต ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง ให้ความใส่ใจกับงานประจำวัน

เรามีสิทธิใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปตามรายทางตลอดเส้นทางสู่จุดหมายของเราเสมอ

มื้อเย็น



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2553

ผมเลิกทานอาหารมื้อเย็นมาจนบัดนี้ขึ้นปีที่ 3 แล้ว แม้แรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้ปฏิบัติตัวเช่นนี้จะเกิดจากการได้เห็นบุคคลผู้กระทำตนเป็นแบบอย่าง และด้วยความเห็นชอบจากครูบาอาจารย์ก็ตาม กระนั้นผมยังถือว่าตนเองไม่ได้ถือศีล 8 ในข้อวิกาลโภชนา อาจเพราะเกรงถูกมองว่าพยายามทำตัวธรรมะธัมโมก็เป็นได้

ตลอดช่วงที่ผ่านมามีคนจำนวนมากแสดงความห่วงใยด้วยท่าทีต่างๆ นานา อาทิ ทักว่าผอมเกินไปแล้ว ทานน้อยจะไม่แข็งแรง หรือกระทั่งหวังดีชี้ชวนให้ทานผลไม้ทดแทนอาหาร ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากสมมติฐานว่ามื้อเย็นนั้นเป็นสิ่งจำเป็นหรือเป็นสิ่งสามัญธรรมดาในวิถีชีวิตคน

จากมุมมองส่วนบุคคลของคนที่มีประสบการณ์ตรงในการงดมื้อเย็นมาช่วงเวลาหนึ่ง ผมกลับเห็นว่าตนเองได้ประโยชน์หลายประการจากการปฏิบัติตัวเช่นนี้

ประการแรก การทานอาหารสองมื้อทำให้ผมเอาใจใส่กับคุณภาพของการรับประทานอาหารแต่ละมื้อมากขึ้น ถ้ามื้อเช้ามีผักน้อยก็พยายามชดเชยในมื้อกลางวัน การทานอาหารให้ตรงเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ไม่ควรตื่นสายและไม่สามารถผัดผ่อนรวบอาหารเช้าและกลางวันเป็นมื้อเดียวกันได้

ประโยชน์ในประการต่อมาคือทำให้ผมประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็ไม่บริโภคล้นเกินความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะมื้อเย็นอันเป็นมื้อที่มักมีปริมาณมาก และหลายครั้งก็เป็นมื้อของการสังสรรค์ที่เรารับประทานกันมากกว่าวันปรกติทั่วไปด้วย

หากมีงานเลี้ยงสังสรรค์เช่นงานเลี้ยงสมรส ผมยังยินดีไปร่วมโต๊ะอาหารแต่ไม่ร่วมรับประทาน การงดมื้อเย็นจึงไม่ได้ปิดกั้นโอกาสในการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ผมกลับมีเวลาคุณภาพที่จะได้ฟังและให้ความสนใจเพื่อนคู่สนทนามากขึ้น ด้วยไม่ต้องพะวงกับการกินของตนเอง นี่ก็อาจนับเป็นอีกประการหนึ่ง

ประโยชน์ประการสำคัญที่ผมได้รับจากการงดมื้อเย็น คือได้สร้างโอกาสให้ผมฝึกรู้เนื้อรู้ตัวและฝึกสติได้บ่อยขึ้น เพราะการงดมื้ออาหารที่เคยทานมาแต่เล็กจนโต ไม่ได้หมายความว่าผมจะเลิกรู้สึกอยากอาหาร หรือไม่เกิดอาการหิว โดยเฉพาะยามเห็นคนอื่นทานอาหารหน้าตาดีมีกลิ่นเย้ายวนบนโต๊ะจัดเลี้ยง

ความรู้สึกอยากลิ้มชิมรสและน้ำลายสอยังเกิดขึ้นบ้าง แต่มันสร้างความทุกข์ทรมานและรำคาญใจได้น้อยลงมาก ใช่ว่าเพราะผมพยายามบังคับใจหรือต้องใช้ความอดทนอดกลั้น แต่แค่เป็นชั่วขณะที่ได้สังเกตตัวเองห่างๆ แล้ววางอาการอยากลงก่อนที่จะเผลอและหลงเอามันมาเป็นสาระสำคัญของใจ ประเดี๋ยวเดียวอาการกายและอาการใจก็หายไปปลิดทิ้ง

แน่นอนว่าความตั้งใจงดมื้อเย็นคงเป็นไปไม่ได้ถ้าผมไร้ซึ่งครอบครัวและเพื่อนผู้เป็นกัลยาณมิตรที่เข้าใจและสนับสนุน เขาเหล่านี้ได้ให้สิ่งดีที่สุดแก่ผมมา นั่นคือการยอมรับในการตัดสินใจของผมและไม่เคยทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นความผิดปรกติที่ควรแก้ไข

สิ่งจำเป็นหลายอย่างในชีวิตเราอาจเป็นเช่นมื้อเย็นก็ได้ หากไม่ได้ใช้ตัวเองไปทดลองปฏิบัติอย่างมุ่งมั่น พร้อมกับได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากคนรอบข้าง เราคงไม่มีวันได้สลายมายาการม่านบังตาและถูกตัวเองหลอกร่ำไปว่ามันคือสิ่งจำเป็นอันขาดเสียมิได้ในชีวิต

หากถูกคนอื่นมองว่าผมพยายามทำตัวธรรมะธรรมโมแล้วไง? อาจเป็นแค่อีกโจทย์ของผมเหมือนเรื่องมื้อเย็นก็เป็นไปได้

รู้สึกอะไร



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2553

หลังกลับจากงานจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแนวจิตตปัญญาศึกษาครั้งหนึ่ง ผมได้เขียนข้อความสะท้อนไว้ใน Twitter ว่า “เรื่องจริงจาก workshop: 1 ในคำถามที่ผู้เข้าร่วมตอบได้ยากที่สุดคือ รู้สึกอะไร?” ไม่นานนักก็มีความเห็นตอบกลับมาจากรุ่นน้องในแวดวงกระบวนกรผู้จัดการเรียนรู้พัฒนาจิตวิญญาณว่า “ใช่เลยค่ะ เช่น รู้สึกว่าเรามีน้ำใจกันดี”

ผมยกประเด็นนี้มาเล่าสู่กันฟังมิใช่เพื่อต้องการบอกว่าผู้เข้าร่วมเขาตอบผิด หรือว่าตอบได้ไม่ตรงกับเฉลย แต่รูปแบบคำตอบที่มีออกมาเกือบทั้งหมดในวันแรกๆ ของการฝึกอบรมล้วนเป็นการตอบที่ไม่ตรงกับคำถามเลย คำถามธรรมดาที่ว่า รู้สึกอะไร?

หรืออาจเป็นเพราะเราใช้วลี “รู้สึกว่า” กันบ่อยจนคุ้นเคยติดปากแล้วก็เป็นไปได้ จึงทำให้มักใช้เหมารวมจนผสมปนไปกับความคิด อาทิ รู้สึกว่าวันนี้ดวงดี รู้สึกว่าหัวหน้าไม่ชอบ รู้สึกว่าดอกไม้ช่อนี้สวย รู้สึกว่ารถคันหน้าจะขับเร็วเกินไปแล้ว ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ไม่มีคำพูดไหนเลยที่เผยบอกความรู้สึกจริงๆ ของตนเอง

ความรู้สึกก็คือความรู้สึก ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีเรื่องราว ไม่มีตัวละคร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาในใจและในอก อาทิ ตกใจ เหงา ลังเล ผ่อนคลาย เครียด ซาบซึ้ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เองคือวิถีสู่การเข้าใจตน

จิตตปัญญาศึกษานั้นเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเองและโลก การเปิดสัมผัสรับรู้ให้มากยิ่งกว่าแบบแผนที่เราเคยชินจึงมีความสำคัญยิ่งนัก สิ่งที่เราควรจะได้เรียนนั้นมิได้มีเพียงรูปแบบเดิมอันคุ้นเคย ที่ว่าความรู้คือเนื้อหาวิชา และทฤษฎีหลักการ เรารู้จากการอ่าน การฟัง และจดจำทำความเข้าใจด้วยการใช้ความคิด แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเราก็เป็นความรู้ที่เราต้องเรียนเช่นกัน

เราทุกคนมักจะถูกปลูกฝังตลอดมาจากชั้นเรียนว่าความรู้สึกเป็นเรื่องอารมณ์ส่วนตัว ต้องไม่นำมาข้องเกี่ยวกับความรู้วิชาการ การเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความเป็นมืออาชีพนั่นคือต้องตัดความรู้สึกออกจากการทำงาน โอกาสในการเผยความรู้สึกจึงถูกตัวเราเองจำกัดให้อยู่ในไม่กี่เรื่อง เช่น ความบันเทิง และความรัก ยิ่งไปกว่านั้นเราเริ่มขาดความสามารถในการรับรู้ความรู้สึก และเพิกเฉยหรือละอายในการเผยความรู้สึกของตัวเราเอง

เมื่อละเลยความรู้สึก เราจึงตกอยู่ในห้วงความคิดเสียมาก คำตอบที่ยกมาตอนต้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ทุกคำพูดสามารถใช้วลี “คิดว่า” แทนคำ “รู้สึกว่า” ได้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การใช้ความคิดไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่มันมักจะทำให้เราไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราไม่ได้รับรู้ถึงสภาวะที่แท้จริงของตัวเองในขณะเวลานั้น เมื่อเราใช้ความคิดก็เท่ากับการทำงานวิเคราะห์กลั่นกรองหาข้อสรุป แต่ความรู้สึกมันจะบอกเราอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา และเปิดเผยโอกาสให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักตัวของเราเองอย่างลึกซึ้ง

ดังนี้ กระบวนการเรียนรู้และวิธีแนวทางการปฏิบัติต่างๆ ของจิตตปัญญาศึกษา ไม่ว่าสุนทรียสนทนา การเจริญสติ จนถึงการบริหารกายบริหารจิต เช่น โยคะและไท้เก๊ก จึงล้วนให้ความสำคัญแก่การเปิดรับความรู้สึกทั้งสิ้น

หากแม้นตัวเราเปรียบเสมือนเหรียญ ด้านหนึ่งคือความคิด อีกด้านคือความรู้สึก เราจะเรียนรู้และสามารถเข้าใจตัวเองอย่างถ้วนทั่วได้อย่างไรเล่า หากเราวางเหรียญหงายขึ้นและแลเห็นมันเพียงด้านเดียว

สิ่งสำคัญที่สัมพันธ์กว่า



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2553

เรื่องเริ่มจากเพื่อนคนหนึ่งเขียนเตือนเข้ามาในกลุ่มอีเมลของเพื่อนร่วมรุ่นมัธยมปลายให้ระวังสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง เมลนี้กระตุ้นให้เพื่อนอีกหลายคนเขียนตอบเข้ามา ชัดเจนอย่างยิ่งว่าเป็นการโต้ตอบระหว่างหลายคนที่เชื่อต่างกัน คนแรกเริ่มจากคำเตือนว่าการชุมนุมอาจมีความรุนแรง ขอให้หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนพลุกพล่าน บางคนว่าสื่อเสนอภาพด้านเดียวและชวนให้เพื่อนออกไปร่วมชุมนุม จนเรื่องบานปลายกลายเป็นถกถึงประเด็นความเชื่อในระบอบการปกครอง ทั้งถ้อยคำภาษายังเต็มไปด้วยอารมณ์คุกรุ่นและมีบรรยากาศของความขัดแย้ง

กระนั้นก็ตาม แม้เพื่อนแต่ละคนจะเชื่อคนละแบบ ใส่เสื้อคนละสี มีข้อมูลและข้อเท็จจริงตามมุมมองของตนมาบอกเล่า แต่ในความต่างเหล่านี้กลับมีความเหมือนร่วมกัน นั่นคือ ทุกคนเชื่อว่ามีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ในใจ จึงพยายามจะบอกว่าสิ่งนั้นคืออะไร สังคมไทยควรจะเป็นอย่างไร และเพื่อนของเขาควรมีทัศนคติอย่างไร ควรทำอะไรในสถานการณ์นี้

สำหรับเราแล้ว ความเชื่อที่เรามี ความจริงที่เราเห็น ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งซึ่งเราต้องการจะบอกกล่าว หรือชักจูง หรือแม้แต่สั่งสอนคนที่รู้จัก คนที่รัก และคนที่คิดว่าเขาควรจะเชื่อเรา ทว่าเราเองนั้นกลับมองข้ามไปเสียแล้วว่า เราทุกคนต่างก็มีความเชื่อของตนเองว่าโลกควรเป็นเช่นไร และพยายามเปลี่ยนคนอื่นให้มาเชื่อเหมือนที่เราเชื่อ

ขณะเดียวกัน เมื่อใดที่เรารู้สึกว่ามีใครกำลังจะเปลี่ยนเรา เราก็จะตั้งหลักไม่ยอมอนุญาตให้เขามาเปลี่ยนเราได้โดยง่าย ยิ่งมีความเชื่อแรงยิ่งอยากจะเปลี่ยนแปลงคนอื่นที่เห็นต่าง ยิ่งมีความเชื่อแรงยิ่งมีป้อมปราการแน่นหนา บทสนทนานี้จึงไม่สามารถประสานหลอมรวมเราเข้าด้วยกันได้ รังแต่จะผลักไสอีกฝ่ายให้ถอยห่างและสร้างความต่างของเขาออกจากเรามากขึ้น

ในครอบครัว ในที่ทำงาน ในชุมชน ในประเทศ และในโลกใบนี้ของเรา กำลังมีเรื่องราวบทนี้ดำเนินอยู่มิใช่หรือ? ไม่ว่าสิ่งสำคัญของเราจะเป็นความเชื่อในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนา จารีตประเพณี หรืออัตลักษณ์ทางเพศก็ตาม หากเขาเหล่านั้นมิได้เชื่อและกระทำเฉกเช่นเดียวกับเรา เขาย่อมเป็นฝ่ายตรงข้ามที่เราต้องไปจัดการ แก้ไข หนีห่าง เพิกเฉย หรือกำจัด จริงหรือ?

สิ่งที่เราเชื่ออาจเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า ทว่าได้ขาดพร่องไปในการสนทนาคือ ความรักความเมตตาที่เรามีต่อกัน หากมองลึกลงไปภายใต้ความขัดแย้ง เป็นเพราะเขาคือคนที่เราห่วงใย คนที่เรารัก และคนในครอบครัวชุมชนเดียวกัน ใช่ไหม? เราจึงปรารถนาความเข้าใจและอยากได้การยอมรับจากเขายิ่งนัก

แม้เขาอาจไม่คิดและเชื่อตามอย่างเรา แต่นั่นมิได้หมายความว่าเขาไม่ห่วงใยสนใจ และความแตกต่างของเขาก็หาได้เป็นเหตุให้เราต้องไปลดทอนความรักต่อเขาลง ด้วยว่าสิ่งสำคัญใดๆ ย่อมไม่อาจสำคัญยิ่งไปกว่าความรักความเมตตาอันเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน ตลอดมา และตลอดไป

I See You



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553

ภาพยนตร์เรื่อง Avatar ได้รับความนิยมนับแต่เข้าฉายเมื่อปลายปีผ่านมา เหตุที่ผู้ชมชื่นชอบอาจเนื่องเพราะเทคนิคงานภาพสามมิติสมจริงและน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นภาพโลกต่างดาวอันเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์ผู้มีรูปลักษณ์ภายนอกผิดแผกแตกต่าง รวมทั้งพืชและสัตว์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

แต่หลายคนอาจชื่นชอบเนื้อหา ความคิดความเชื่อที่นำเสนอว่าด้วยการดำรงอยู่ร่วมของสรรพชีวิต ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการครอบครองทรัพยากร และการใช้กำลังอำนาจโดยผู้มีเทคโนโลยีอาวุธที่เหนือกว่า

มนุษย์จากดาวโลกเดินทางเข้าไปยังดาวแพนดอร่าเพราะต้องการแร่มีค่า ทว่ามิได้เห็นความสำคัญของผู้อยู่อาศัยเดิม อีกทั้งดูแคลนความเชื่อที่เคารพธรรมชาติของเขา ฝ่ายหนึ่งมีเทคโนโลยีและการจัดการอันทันสมัย ทว่ากลับทำลายสิ่งแวดล้อมและบ้านของตน อีกฝ่ายใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติและมีสายสัมพันธ์ทางจิตใจกับทุกสิ่งในดาวถิ่นกำเนิด

การทักทายของชาวเนวีชนพื้นเมืองนี้ยังแสดงถึงมิติทางจิตใจและจิตวิญญาณอย่างชัดเจน หนึ่งในหลายบทเรียนแรกของเจค มนุษย์โลกผู้อยู่ในร่างอวตารเป็นชาวเนวี คือคำว่า “I see you.” ครั้งแรกที่ได้ยินเราก็คงรู้สึกคล้ายกันกับเขาว่ามันมีความหมายตรงตัวและดูเหมือนเป็นคำที่ไม่ต้องเอ่ยก็ได้ อาจเพราะเราชินกับการทักทายที่เป็นคำถาม ไม่ว่าจะเป็น ไปไหนมา? สบายดีไหม? กินข้าวหรือยัง?

แต่สำหรับชาวเนวี คำว่า I see you หรือฉันเห็นเธอ เป็นการรับรู้ถึงการมีอยู่ของคู่สนทนา ไม่เพียงหมายถึงว่าได้มองเห็นเขาอยู่ตรงหน้า แต่ได้เห็นลึกลงไป ได้สัมผัส และได้ยอมรับถึงจิตใจของเขา ตัวเจคเองและรวมถึงผู้ชมอาจจะเข้าใจคำอธิบายนี้ได้ แต่แน่นอนว่าเขาย่อมสัมผัสความหมายที่เข้าไปถึงใจของประโยคทักทายนี้ในตอนท้ายของเรื่อง เมื่อหญิงคนรักต่างเผ่าได้พบกับเขาในร่างมนุษย์โลกเป็นครั้งแรก แม้เขามีรูปร่างต่างไปจากที่เธอเคยเห็น ไม่มีใบหน้าที่เธอเคยรู้จัก แต่เธอก็เอ่ยคำว่า I see you กับเขา

คำทักทายง่ายๆ นี้ได้บอกอะไรเรามากมาย มันสื่อถึงการทักทายกันที่เป็นมากกว่าธรรมเนียมปฏิบัติ คือการให้ความสำคัญกับความปัจจุบันและคนตรงหน้า ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น และรับรู้ถึงการมีอยู่ของเขาอย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญของการรู้จักเข้าใจกันไม่ใช่เพียงรู้จักสถานภาพฐานะของเขา ไม่ใช่เพียงรู้จักงานที่เขาทำ หรือไม่ใช่เขาเป็นคนเชื้อชาติไหน เขาคือคนที่เราจะเปิดใจรับเพื่อรู้จักเขาอย่างที่เป็นอยู่จริง และยอมรับความเป็นเขามากกว่าแค่รูปกายที่มองเห็น แต่ทั้งจิตใจและจิตวิญญาณของเขา

การยอมรับเป็นเรื่องยากที่อาจจะทำได้ง่ายที่สุดสำหรับเรา เป็นความจริงที่พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกได้เรียนสาขาที่พ่อแม่ชอบ ได้ทำงานในวิชาชีพที่พ่อแม่ต้องการ คนรักจะคาดหวังให้คู่ครองต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันและเอาใจในเรื่องที่ตนสนใจ หัวหน้างานต้องคาดหวังให้ลูกทีมมีการทำงานและผลงานในแบบที่หัวหน้าเห็นว่าเหมาะสมมีประสิทธิภาพ พวกเราต่างคาดหวังคนที่เรารักให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้เพียงเพราะว่าความรักความห่วงใยและความหวังดี ขณะเดียวกันก็มักพลาดโอกาสได้ยอมรับเขาอย่างที่ตัวเขาเป็น

ทั้ง I see you. และสบายดีไหม? ล้วนคือคำทักทายที่เป็นสัญญาณเตือนให้เราระลึกขึ้นได้ว่า ความห่วงใยและความรักที่เราได้มีให้แก่ใครก็ตาม จะเป็นการส่งผ่านความรู้สึกไปพร้อมกับการยอมรับตัวตนที่แท้และความเป็นเขาทั้งหมด มิใช่เพียงสถานภาพหรือฐานะ

การใช้โอกาสทักทายไม่ว่าประโยคใดๆ ให้เป็นมากกว่าการปฏิบัติตามธรรมเนียม ป็นโอกาสให้เราได้มีสติ ละวางความคาดหวังและรับรู้เขาในปัจจุบันขณะได้อย่างแท้จริง

Generation Now - ต้องได้เดี๋ยวนี้



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2553

เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เราได้เห็นสื่อมวลชนต่างพากันประมวลข่าวจัดอันดับเหตุการณ์สำคัญ นอกจากจะทบทวนปีที่ผ่านไป บางส่วนก็ยังได้คาดการณ์ถึงปีใหม่นี้ว่าจะมีสิ่งใดอยู่ในกระแสความสนใจของสังคมบ้าง มีสกูปหนึ่งได้ทำนายแนวโน้มสังคมเอาไว้ อาทิ กระแสผลิตภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อมจะได้รับความนิยมต่อเนื่องและถูกผลิตออกมามากขึ้น รวมทั้งโอกาสที่เราจะได้เห็นภาพยนตร์ 3 มิติซึ่งสมจริงยิ่งกว่าก่อน เกือบทั้งหมดก็พอจะคาดเดาได้และไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่นัก แต่มีเรื่องที่น่าสนใจ คือสมญานามที่สื่อเขาตั้งให้แก่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ว่า Generation Now

เท่าที่ผ่านมามีคำเรียกขานคนแต่ละรุ่นไม่ว่าจะเป็นรุ่นเบบี้บูม (Baby Boomer) หรือรุ่น Generation X ซึ่งต่างก็มีลักษณะพิเศษไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมตามช่วงเวลาที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นตามยุคสมัย

ส่วนรุ่น Generation Now ที่หมายถึงเด็กและวัยรุ่นในยุคนี้ล่ะ? สื่อเขาให้นิยามไว้ว่า พวกเขาเป็นคนที่ต้องการได้ทุกสิ่งอย่างรวดเร็วทันใจและทันทีทันใด การรอคอยถือว่าเป็นต้นทุนราคาแพง พวกเขาจะยอมจ่ายเงินเพื่อจะไม่ต้องรอ หรือรอให้น้อยลงอีก คำพูดติดปากของคนรุ่นนี้คือ “จะเอาเดี๋ยวนี้ (I want it now.)” ในเรื่องเดียวกันยังขยายความอีกว่าการตลาดการค้าที่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่นี้จึงเน้นโฆษณาถึงความรวดเร็ว ไม่ว่าจะ “อินเตอร์เน็ตต้อง Hi-speed” “อาหารกล่องที่อุ่นแค่ 2 นาทีก็พร้อมรับประทานได้” “คอนโดใกล้รถไฟฟ้าใช้เวลาเดินทางเพียง 5 นาที” เรียกได้ว่าต้องเน้นเรื่องนี้ถึงจะเข้าถึงใจคนรุ่นใหม่ได้

ฟังดูเหมือนค่านิยมแบบนี้จะไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่แล้วจริงไหมครับ ความต้องการให้อะไรต่อมิอะไรรวดเร็วทันใจนี้กลายเป็นค่านิยมหลักของพวกเราแทบทุกคนในสังคมโลกปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว อาจจะดูเข้าทีที่เราได้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สินค้าและบริการถูกเสนอให้เราได้ดีและเร็วขึ้นเรื่อยๆ

แต่เราอาจลืมไปว่า ยิ่งเร่งสิ่งนอกตัวเราให้เร็วเท่าไหร่ ใจของเราก็ยิ่งถูกเร่งเร็วมากขึ้นตามไปด้วย

การต้องการความเร็วให้ “ทันใจ” ก็คือการสร้างความคาดหวัง เมื่อเกิดความคาดหวังเราก็เอาใจไปผูกกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เมื่อมันมาถึงไม่ทันกับที่ใจคาดหวังไว้ เราก็ไม่ “ทัน” กับใจของเราที่เผลอไปไม่พอใจและตกเป็นทุกข์

ความต้องการให้ได้อะไรๆ ตามใจเดี๋ยวนี้ กลับจะยิ่งทำให้เราออกห่างจากใจของเราไปมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีอาจจะช่วยให้หลายอย่างในชีวิตเร็วขึ้นได้จริง แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความเคยชินให้เราและกระพือความต้องการรวมทั้งสร้างความคาดหวังที่สูงขึ้นไปด้วย เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีเรื่องไหนเร็วไปกว่าใจของเราที่มันคาดหวังและต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้แน่นอน ยิ่งไล่คว้าตามความต้องการยิ่งต้องไล่ตามให้เร็วขึ้นไปอีก

ช้าอีกสักนิด แต่ไม่ใช่เคลื่อนไหวให้ช้าลง ไม่ใช่ทำงานเฉื่อยลง แค่รั้งใจให้ช้า เปิดโอกาสให้เราได้อยู่กับใจของเราในเดี๋ยวนี้ตอนนี้ เพราะมันง่ายกว่าและเหนื่อยน้อยกว่ามากครับ อย่าได้ตามกระแสและเชื่อสื่อใดๆ ที่รายงานว่าคนรุ่นเราหรือคนรุ่นไหนเป็นคนอย่างไร เรานิยามตัวเองกันใหม่ได้ว่าเราเป็น Generation Now ที่ให้ใจของเราอยู่ในปัจจุบัน ไม่ตั้งความคาดหวังว่าสิ่งต่างๆ จะต้องได้อย่างใจ เราสามารถพอใจกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า และรู้เท่าทันใจที่มักจะเผลอวิ่งออกไป นี่แหละครับ Generation Now