มื้อเย็น
คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2553
ผมเลิกทานอาหารมื้อเย็นมาจนบัดนี้ขึ้นปีที่ 3 แล้ว แม้แรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้ปฏิบัติตัวเช่นนี้จะเกิดจากการได้เห็นบุคคลผู้กระทำตนเป็นแบบอย่าง และด้วยความเห็นชอบจากครูบาอาจารย์ก็ตาม กระนั้นผมยังถือว่าตนเองไม่ได้ถือศีล 8 ในข้อวิกาลโภชนา อาจเพราะเกรงถูกมองว่าพยายามทำตัวธรรมะธัมโมก็เป็นได้
ตลอดช่วงที่ผ่านมามีคนจำนวนมากแสดงความห่วงใยด้วยท่าทีต่างๆ นานา อาทิ ทักว่าผอมเกินไปแล้ว ทานน้อยจะไม่แข็งแรง หรือกระทั่งหวังดีชี้ชวนให้ทานผลไม้ทดแทนอาหาร ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากสมมติฐานว่ามื้อเย็นนั้นเป็นสิ่งจำเป็นหรือเป็นสิ่งสามัญธรรมดาในวิถีชีวิตคน
จากมุมมองส่วนบุคคลของคนที่มีประสบการณ์ตรงในการงดมื้อเย็นมาช่วงเวลาหนึ่ง ผมกลับเห็นว่าตนเองได้ประโยชน์หลายประการจากการปฏิบัติตัวเช่นนี้
ประการแรก การทานอาหารสองมื้อทำให้ผมเอาใจใส่กับคุณภาพของการรับประทานอาหารแต่ละมื้อมากขึ้น ถ้ามื้อเช้ามีผักน้อยก็พยายามชดเชยในมื้อกลางวัน การทานอาหารให้ตรงเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ไม่ควรตื่นสายและไม่สามารถผัดผ่อนรวบอาหารเช้าและกลางวันเป็นมื้อเดียวกันได้
ประโยชน์ในประการต่อมาคือทำให้ผมประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็ไม่บริโภคล้นเกินความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะมื้อเย็นอันเป็นมื้อที่มักมีปริมาณมาก และหลายครั้งก็เป็นมื้อของการสังสรรค์ที่เรารับประทานกันมากกว่าวันปรกติทั่วไปด้วย
หากมีงานเลี้ยงสังสรรค์เช่นงานเลี้ยงสมรส ผมยังยินดีไปร่วมโต๊ะอาหารแต่ไม่ร่วมรับประทาน การงดมื้อเย็นจึงไม่ได้ปิดกั้นโอกาสในการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ผมกลับมีเวลาคุณภาพที่จะได้ฟังและให้ความสนใจเพื่อนคู่สนทนามากขึ้น ด้วยไม่ต้องพะวงกับการกินของตนเอง นี่ก็อาจนับเป็นอีกประการหนึ่ง
ประโยชน์ประการสำคัญที่ผมได้รับจากการงดมื้อเย็น คือได้สร้างโอกาสให้ผมฝึกรู้เนื้อรู้ตัวและฝึกสติได้บ่อยขึ้น เพราะการงดมื้ออาหารที่เคยทานมาแต่เล็กจนโต ไม่ได้หมายความว่าผมจะเลิกรู้สึกอยากอาหาร หรือไม่เกิดอาการหิว โดยเฉพาะยามเห็นคนอื่นทานอาหารหน้าตาดีมีกลิ่นเย้ายวนบนโต๊ะจัดเลี้ยง
ความรู้สึกอยากลิ้มชิมรสและน้ำลายสอยังเกิดขึ้นบ้าง แต่มันสร้างความทุกข์ทรมานและรำคาญใจได้น้อยลงมาก ใช่ว่าเพราะผมพยายามบังคับใจหรือต้องใช้ความอดทนอดกลั้น แต่แค่เป็นชั่วขณะที่ได้สังเกตตัวเองห่างๆ แล้ววางอาการอยากลงก่อนที่จะเผลอและหลงเอามันมาเป็นสาระสำคัญของใจ ประเดี๋ยวเดียวอาการกายและอาการใจก็หายไปปลิดทิ้ง
แน่นอนว่าความตั้งใจงดมื้อเย็นคงเป็นไปไม่ได้ถ้าผมไร้ซึ่งครอบครัวและเพื่อนผู้เป็นกัลยาณมิตรที่เข้าใจและสนับสนุน เขาเหล่านี้ได้ให้สิ่งดีที่สุดแก่ผมมา นั่นคือการยอมรับในการตัดสินใจของผมและไม่เคยทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นความผิดปรกติที่ควรแก้ไข
สิ่งจำเป็นหลายอย่างในชีวิตเราอาจเป็นเช่นมื้อเย็นก็ได้ หากไม่ได้ใช้ตัวเองไปทดลองปฏิบัติอย่างมุ่งมั่น พร้อมกับได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากคนรอบข้าง เราคงไม่มีวันได้สลายมายาการม่านบังตาและถูกตัวเองหลอกร่ำไปว่ามันคือสิ่งจำเป็นอันขาดเสียมิได้ในชีวิต
หากถูกคนอื่นมองว่าผมพยายามทำตัวธรรมะธรรมโมแล้วไง? อาจเป็นแค่อีกโจทย์ของผมเหมือนเรื่องมื้อเย็นก็เป็นไปได้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment