กระบวนกร
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2553
สำหรับคนที่เพิ่งเคยได้เข้าหลักสูตรฝึกอบรมจิตตปัญญาศึกษาเป็นครั้งแรก คงมีเรื่องให้ฉงนสงสัยไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตำแหน่งที่นั่งในห้องให้หันหน้าหากันเป็นวงกลม หรือการใช้ศิลปะวาดภาพร่วมเป็นกิจกรรมหนึ่งของการเรียน ไม่เว้นแม้กระทั่งศัพท์แสงที่ใช้ หลายคำเป็นคำที่หลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อน บางคนก็รู้สึกว่าคำเหล่านั้นน่าสนใจดี แต่บางคนกลับลังเลสงสัยเพราะไม่แน่ใจว่าจะใช่ความหมายเดียวกับที่เข้าใจหรือเปล่า
คำยอดนิยมที่ผู้เข้าร่วมอบรมมือใหม่เกือบทุกคนมักเกิดคำถามในใจ หรือหากสะกดเก็บไว้ไม่อยู่ก็เอ่ยปากถามออกมาตั้งแต่แรกที่ได้ยิน คำที่ว่านั้นคือ “กระบวนกร”
จากความคุ้นเคยเดิมของเราส่วนใหญ่ เมื่อมีการฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการใด คนผู้มาทำหน้าที่สอน มาบรรยายให้ความรู้ เขามักจะถูกเรียกขานว่าอาจารย์ หรือวิทยากร ไปโดยปริยาย หากผู้เข้าร่วมอบรมพิจารณาเห็นว่าผู้สอนมีวัยวุฒิสูงมีคุณวุฒิสูงก็อาจเติมคำนำหน้าให้กลายเป็นท่านวิทยากรไปด้วย
ทำไมจิตตปัญญาต้องใช้คำแปลกๆ ทำไมไม่ใช้คำเหมือนที่เขาใช้กันทั่วไป เคยมีใครบัญญัติศัพท์นี้ไว้แล้วหรือ สารพัดสารพันคำถามทั้งที่ได้เอ่ยถามและอยู่ในใจของหลายคน
ใช่ว่าสาเหตุของการใช้คำว่ากระบวนกรเพราะต้องการสร้างความแตกต่าง หรือพยายามหาเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพราะการเรียนรู้ในแนวจิตตปัญญาศึกษาต่างไปจากรูปแบบสมัยนิยมที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคยจริงๆ ไม่ได้ต่างเพียงแค่ลักษณะตำแหน่งที่นั่งหรือวิธีการเรียนเท่านั้น การใช้คำว่ากระบวนกรจึงพยายามสื่อความหมายสำคัญประการหนึ่งแก่ทุกคนในการฝึกอบรม
สำหรับจิตตปัญญาศึกษา หากคำว่าวิทยากรซึ่งมีรากศัพท์มาจากวิทยะและอากร อันหมายความว่าแหล่งที่มาของความรู้ เราทุกคนจึงพึงรอรับฟังและรับเอาเนื้อหาความรู้นั้นไป “กระบวนกร” จึงหมายความถึงผู้อำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของความรู้
แหล่งของความรู้นั้นอยู่ที่ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคน เป็นความรู้ในตัวที่เกิดขึ้นในกระบวนการไม่ได้เป็นความรู้จากการบรรยาย
แม้ว่าจิตตปัญญาศึกษาอาจมีวิธีการแปลกใหม่และแตกต่าง มีการประยุกต์พัฒนานำศาสตร์ต่างๆ มาผสมผสานเป็นการเรียนรู้ใหม่ก็จริง แต่หัวใจของจิตตปัญญาศึกษาไม่ได้อยู่ที่เทคนิควิธีการ ไม่ได้เป็นเนื้อหาวิชาการ หัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การรู้จักรู้ใจตนเองและโลกอย่างลึกซึ้ง
ความเข้าใจในตนเองของเราแต่ละคนจึงถือเป็นความรู้เฉพาะตน ผู้จัดกระบวนการในบทบาทฐานะกระบวนกรทำหน้าที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเกิดการเรียนรู้ในตน บนฐานที่มาของประสบการณ์ชีวิตอันแตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละคน
การเรียกตัวเองของผู้สอนว่า “กระบวนกร” จึงเป็นความพยายามให้ความหมายใหม่แก่การเรียนรู้ หาไม่แล้วด้วยบทบาทฐานะ “ท่านวิทยากร” ย่อมมีความเป็นไปได้สูงมากที่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจะเกิดความคาดหวังการเรียนแบบเดิมๆ ยิ่งมีคำว่าท่านนำหน้า ยิ่งพาให้วางระยะห่างจากกัน พลอยทำให้มีพฤติกรรมเรียนรู้แบบเป็นฝ่ายรอรับ และตั้งหน้าตั้งตาจดบันทึก จนละเลยโอกาสทำความรู้จักรู้ใจตนเองไป
สิ่งที่เราไม่คุ้นเคยและชวนให้ฉงนสงสัยในจิตตปัญญาศึกษา จึงไม่ได้มีที่มาเพียงเพราะต้องการสร้างความแตกต่างในรูปแบบภายนอก แต่พยายามชักชวนให้เราตั้งคำถามกับความคุ้นเคยเดิมๆ และทบทวนถึงการเรียนแบบรอรับความรู้จากผู้รู้อย่างที่เราเคยเป็นมา
ถึงที่สุดแล้วคำว่ากระบวนกรอาจไม่สลักสำคัญหรือมีความหมายพิเศษอะไร ในการฝึกอบรมครั้งต่อไปอาจมีคำแปลกใหม่อีกก็ได้ หากมันจะช่วยเราให้ได้เข้าใจตนเองและโลกอย่างลึกซึ้ง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment