I See You
คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
ภาพยนตร์เรื่อง Avatar ได้รับความนิยมนับแต่เข้าฉายเมื่อปลายปีผ่านมา เหตุที่ผู้ชมชื่นชอบอาจเนื่องเพราะเทคนิคงานภาพสามมิติสมจริงและน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นภาพโลกต่างดาวอันเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์ผู้มีรูปลักษณ์ภายนอกผิดแผกแตกต่าง รวมทั้งพืชและสัตว์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
แต่หลายคนอาจชื่นชอบเนื้อหา ความคิดความเชื่อที่นำเสนอว่าด้วยการดำรงอยู่ร่วมของสรรพชีวิต ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการครอบครองทรัพยากร และการใช้กำลังอำนาจโดยผู้มีเทคโนโลยีอาวุธที่เหนือกว่า
มนุษย์จากดาวโลกเดินทางเข้าไปยังดาวแพนดอร่าเพราะต้องการแร่มีค่า ทว่ามิได้เห็นความสำคัญของผู้อยู่อาศัยเดิม อีกทั้งดูแคลนความเชื่อที่เคารพธรรมชาติของเขา ฝ่ายหนึ่งมีเทคโนโลยีและการจัดการอันทันสมัย ทว่ากลับทำลายสิ่งแวดล้อมและบ้านของตน อีกฝ่ายใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติและมีสายสัมพันธ์ทางจิตใจกับทุกสิ่งในดาวถิ่นกำเนิด
การทักทายของชาวเนวีชนพื้นเมืองนี้ยังแสดงถึงมิติทางจิตใจและจิตวิญญาณอย่างชัดเจน หนึ่งในหลายบทเรียนแรกของเจค มนุษย์โลกผู้อยู่ในร่างอวตารเป็นชาวเนวี คือคำว่า “I see you.” ครั้งแรกที่ได้ยินเราก็คงรู้สึกคล้ายกันกับเขาว่ามันมีความหมายตรงตัวและดูเหมือนเป็นคำที่ไม่ต้องเอ่ยก็ได้ อาจเพราะเราชินกับการทักทายที่เป็นคำถาม ไม่ว่าจะเป็น ไปไหนมา? สบายดีไหม? กินข้าวหรือยัง?
แต่สำหรับชาวเนวี คำว่า I see you หรือฉันเห็นเธอ เป็นการรับรู้ถึงการมีอยู่ของคู่สนทนา ไม่เพียงหมายถึงว่าได้มองเห็นเขาอยู่ตรงหน้า แต่ได้เห็นลึกลงไป ได้สัมผัส และได้ยอมรับถึงจิตใจของเขา ตัวเจคเองและรวมถึงผู้ชมอาจจะเข้าใจคำอธิบายนี้ได้ แต่แน่นอนว่าเขาย่อมสัมผัสความหมายที่เข้าไปถึงใจของประโยคทักทายนี้ในตอนท้ายของเรื่อง เมื่อหญิงคนรักต่างเผ่าได้พบกับเขาในร่างมนุษย์โลกเป็นครั้งแรก แม้เขามีรูปร่างต่างไปจากที่เธอเคยเห็น ไม่มีใบหน้าที่เธอเคยรู้จัก แต่เธอก็เอ่ยคำว่า I see you กับเขา
คำทักทายง่ายๆ นี้ได้บอกอะไรเรามากมาย มันสื่อถึงการทักทายกันที่เป็นมากกว่าธรรมเนียมปฏิบัติ คือการให้ความสำคัญกับความปัจจุบันและคนตรงหน้า ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น และรับรู้ถึงการมีอยู่ของเขาอย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญของการรู้จักเข้าใจกันไม่ใช่เพียงรู้จักสถานภาพฐานะของเขา ไม่ใช่เพียงรู้จักงานที่เขาทำ หรือไม่ใช่เขาเป็นคนเชื้อชาติไหน เขาคือคนที่เราจะเปิดใจรับเพื่อรู้จักเขาอย่างที่เป็นอยู่จริง และยอมรับความเป็นเขามากกว่าแค่รูปกายที่มองเห็น แต่ทั้งจิตใจและจิตวิญญาณของเขา
การยอมรับเป็นเรื่องยากที่อาจจะทำได้ง่ายที่สุดสำหรับเรา เป็นความจริงที่พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกได้เรียนสาขาที่พ่อแม่ชอบ ได้ทำงานในวิชาชีพที่พ่อแม่ต้องการ คนรักจะคาดหวังให้คู่ครองต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันและเอาใจในเรื่องที่ตนสนใจ หัวหน้างานต้องคาดหวังให้ลูกทีมมีการทำงานและผลงานในแบบที่หัวหน้าเห็นว่าเหมาะสมมีประสิทธิภาพ พวกเราต่างคาดหวังคนที่เรารักให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้เพียงเพราะว่าความรักความห่วงใยและความหวังดี ขณะเดียวกันก็มักพลาดโอกาสได้ยอมรับเขาอย่างที่ตัวเขาเป็น
ทั้ง I see you. และสบายดีไหม? ล้วนคือคำทักทายที่เป็นสัญญาณเตือนให้เราระลึกขึ้นได้ว่า ความห่วงใยและความรักที่เราได้มีให้แก่ใครก็ตาม จะเป็นการส่งผ่านความรู้สึกไปพร้อมกับการยอมรับตัวตนที่แท้และความเป็นเขาทั้งหมด มิใช่เพียงสถานภาพหรือฐานะ
การใช้โอกาสทักทายไม่ว่าประโยคใดๆ ให้เป็นมากกว่าการปฏิบัติตามธรรมเนียม ป็นโอกาสให้เราได้มีสติ ละวางความคาดหวังและรับรู้เขาในปัจจุบันขณะได้อย่างแท้จริง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment