บริหารคน
คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2553
โจทย์สำคัญของงานบริหารมักหนีไม่พ้นการบริหารคนอยู่เสมอ
ความรู้ Know-How จำนวนมากมายได้พัฒนาไปเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่เน้นการเข้าใจคน และใช้คนให้เหมาะสมกับงาน โลกเราพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันมาไม่น้อย นับแต่การแบ่งงานกันทำเฉพาะอย่าง การสร้างทักษะรอบด้านแก่ผู้ปฏิบัติงาน การเพิ่มความสามารถในการสื่อสาร ไปจนถึงพาพนักงานไปปฏิบัติธรรม
แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่พบว่ามีวิธีไหนที่ใช้ได้ผลที่สุดสำหรับการบริหารคน
หรือเป็นเพราะว่าแต่ละบุคคลนั้นหลากหลายแตกต่างกันเหลือเกิน ชุดความรู้จากตะวันตกก็อาจไม่เหมาะกับการบริหารคนในวัฒนธรรมไทย หรือว่าผู้บริหารยังไม่เข้าใจเนื้อหาและเทคนิคต่างๆ เพียงพอ หรือว่าวิธีการบริหารอันได้ผลสมบูรณ์แบบนั้นยังไม่เกิดขึ้นมา
การบริหารคนเป็นเรื่องยากจริงหรือ?
ใช่แต่การไปจัดการคนอื่นหรอกที่มันยาก เริ่มจัดการที่ตัวเราเองยังทำไม่ได้เลยครับ
โดยมากเวลาที่เราได้พบได้เห็นแนวคิดหรือความรู้ดีๆ เรามักจะนึกถึงคนในบังคับบัญชาทันที ไม่ค่อยได้นึกถึงตัวเองกันเลย
ในการฝึกอบรมหรือบรรยายความรู้เกือบทุกครั้ง ผู้บริหารที่สนใจเข้ามาสนทนากับวิทยากร มักได้ผลสรุปลงท้ายว่าจะขอวิทยากรให้ไปสอนคนในองค์กร หรือไม่ก็จะไปสั่งให้บุคลากรในสังกัดดำเนินการ กรณีผู้บริหารพยายามทำความเข้าใจและจะนำไปใช้กับตัวเองก่อนนั้นมีน้อยมากถึงมากที่สุด
ขอยกตัวอย่างเรื่องนพลักษณ์ (Enneagram) ซึ่งเป็นความรู้ว่าด้วยลักษณะพื้นฐาน ๙ แบบของมนุษย์ ยังไม่ทันจบการฝึกอบรมก็มีคนเริ่มคิดแล้วว่าทำอย่างไรจะรู้ได้ว่าลูกน้องคนไหนเป็นลักษณ์อะไร เผื่อว่าจะได้ใช้งานเขาให้ถูกวิธี ทว่าพลาดหัวใจสำคัญของการเข้าใจตัวเองเพื่อพัฒนาตนไปอย่างน่าเสียดาย
อีกตัวอย่างที่ชัดมากคือเรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) คนจำนวนไม่น้อยที่ผ่านการอบรมแล้วรู้สึกนิยมชมชอบหลักการว่าด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เมื่อกลับไปทำงานก็มักเรียกร้องให้คนอื่นฟังอย่างลึกซึ้งบ้าง แต่ลืมไปว่าคนที่ควรฝึกฟังมากที่สุดคือตัวเอง เหตุผลประการแรกนั้นคือคนอื่นเขาไม่ได้ไปอบรมด้วย ลำพังคำพูดเราไปบอกต่อเขาจะเข้าใจได้เท่าเราหรือ เหตุผลประการสำคัญยิ่งกว่าคือ เราฝึกฟังคนอื่นอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เราเข้าใจตัวเอง ไม่ใช่ให้เขาตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด
หากเรายังไม่เข้าใจ ซึ่งในที่นี้คือ ความรู้ยังไม่ เข้าไปจนถึงใจเรา ยังไม่นำไปฝึกไปปฏิบัติ ไปบริหารเพื่อการเติบโตของตัวเอง ต่อให้เราพยายามใช้ความรู้และวิธีใหม่นี้ไปบริหารใคร ผลที่ได้จะแตกต่างมากมายไหม ถ้าเรายังคงเป็นคนเดิมที่คิดเหมือนเดิมและทำเหมือนเดิมในสายตาของผู้ที่ถูกเราบริหาร
การบริหารคนจึงยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะเพียงเริ่มต้นเราก็มักจะบริหารผิดคนเสียแล้ว
คนสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการทำงานของเรา มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา แต่เรามักจะหลงลืมและละเลยเขาไป ก็คือตัวของเราเอง...มิใช่หรือ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment