สุนทรียสนทนาด้วยใจ
คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2552
ใช่ว่าความรู้ทุกอย่างจะถูกถ่ายทอดให้เข้าใจได้ด้วยการบอกเล่าและบรรยาย ถึงแม้ว่าพวกเราคงจะคุ้นเคยกับการเล่าเรียนมาด้วยการฟังครูสอนหน้าชั้น แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของการเรียนรู้ ความรู้และทักษะหลายสิ่งในชีวิตที่เราได้มา มันมาจากการได้ทำและมีประสบการณ์ด้วยตนเอง การบรรยายจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
อาจารย์ท่านหนึ่งเคยเปรียบไว้ว่า หากมีผลไม้อยู่ชนิดหนึ่งซึ่งเราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยลิ้มชิมรสมาก่อน แต่ให้ผู้ที่เคยเห็นและได้ชิมมาบอกเล่าแก่เรา ต่อให้เขามีเวลามากเพียงไหน หรือเขามีทักษะในการเลือกใช้ถ้อยคำเพียงไร อย่างมากก็อุปมาให้ใกล้เคียง และเราอาจคิดนึกไปว่าเราพอจะเห็นภาพและเข้าใจได้แล้ว เป็นการทึกทักไปเอง เป็นความรู้ท่องจำที่เข้าใจแต่ยังไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา
สุนทรียสนทนาก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน เครื่องมืออันมีชื่อเสียงรู้จักกันอย่างแพร่หลายนี้มีผู้เขียนหนังสือและบทความให้อรรถาธิบายไว้หลากรูปแบบ ทั้งถ่ายทอดบรรยากาศ แจกแจงถึงหลักการสำคัญ ตลอดจนยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงในวงสุนทรียสนทนาขึ้นมาให้เห็นภาพ
แต่ในพวกเราทั้งหลายจะมีใครที่เพียงแค่อ่านเท่านั้นก็เข้าถึงหัวใจของสุนทรียสนทนา และเข้าใจมันจากใจของเราจริงๆ ความเข้าใจนี้เกิดจากการได้ใคร่ครวญจิตใจตนจนสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นปัญญาความเข้าใจในใจของเรา ไม่ใช่นึกว่าเข้าใจด้วยการใช้สมองคิดวิเคราะห์เท่านั้น
การฝึกอบรมกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาว่าด้วยเรื่องสุนทรียสนทนาจึงไม่อาจเป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นได้หากขาดไร้โอกาสร่วมอยู่ในวงสุนทรียสนทนาด้วยตนเอง ลำพังเพียงการฟังบรรยายนั้นมักช่วยให้เราได้แค่รู้จำเท่านั้น
ระหว่างฟังบรรยายเล่าเรื่องหลักการและแนวทาง หลายคนอาจคิดเชื่อมโยงเปรียบเทียบสุนทรียสนทนากับแนวทางการประชุมอื่นๆ ที่เคยได้ศึกษามาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในหมู่ผู้อยู่ในแวดวงวิชาการและการศึกษา ตลอดจนกลุ่มผู้มีสติปัญญามาก แต่หากการคิดวิเคราะห์นั้นนำไปสู่ผลสรุปว่ารู้แล้วเข้าใจแล้ว ก็เท่ากับว่าเราพลาดโอกาสการใช้ใจใคร่ครวญจนนำสุนทรียสนทนาให้เข้ามาถึงใจได้
วงฝึกหัดสุนทรียสนทนานั้นแตกต่างไปจากหลักการเนื้อหามาก เราอาจคิดว่าคุณสมบัติของการฟังอย่างลึกซึ้งนั้นเป็นเรื่องไม่ยาก แต่หากได้ย้อนกลับมาดูตัวเราขณะอยู่ในวงสนทนา ว่าเราสามารถฟังผู้พูดได้ทั้งหมดทุกเรื่องราวและความรู้สึกทุกอย่างของเขาได้อย่างไร และมากน้อยเพียงใด นั่นแหละคือโอกาสที่เราอาจได้ตระหนักอย่างแท้จริงว่าความสามารถที่ดูง่ายๆ แค่ฟังอย่างลึกซึ้งนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องที่รู้จักจำได้แล้วจะสามารถทำได้
ความเงียบก็เช่นเดียวกัน ทั้งยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในวงฝึกหัดสุนทรียสนทนา ถึงแม้ว่าจะได้รับฟังบรรยายไปแล้วว่าความเงียบเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา และเราสามารถฟังความเงียบนี้ได้ แต่พวกเราส่วนใหญ่มักรู้สึกอึดอัดทนไม่ได้ หลายคนทำลายความเงียบลงด้วยการพูดเปิดประเด็นในเรื่องที่ตนสนใจ บางคนฝ่าความเงียบด้วยเรื่องตลกขบขัน แต่ในช่วงขณะนั้นดูเหมือนทั้งวงจะลืมไปเสียแล้วว่าเราไม่ได้พูดคุยเพื่อผลัดกันเล่าเรื่องทีละคน ลืมไปว่าเราไม่ได้มาเจรจาเพื่อหาข้อสรุป
ความเงียบกลายเป็นสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ของวงสนทนา พร้อมกับเราที่พลาดโอกาสจะได้ฟังเสียงที่เกิดขึ้นในใจของตัวเอง เราละเลยช่วงเวลาที่จะได้ใช้ใจใคร่ครวญเห็นความรู้สึกอึดอัดหรือความคาดหวังที่ไม่ได้รับการตอบสนอง
เหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในการบรรยาย
การอธิบายบอกเล่าเรื่องสุนทรียสนทนาผ่านตัวอักษรในบทความนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ครูบาอาจารย์ที่ผู้เขียนเคารพยิ่งท่านได้ย้ำนักย้ำหนาว่า “จะเขียนเรื่องอะไรก็ตามขอให้เป็นเรื่องที่ได้พบได้เจอและเข้าใจแล้วด้วยตัวเอง” ดังนี้แล้ว จึงขอชักชวนเราทุกคนผู้สนใจในจิตตปัญญาศึกษาและสุนทรียสนทนาได้นำพาตัวเองพ้นจากการอ่านและการฟังไปสู่การปฏิบัติด้วยตัวเองกันเถิด
เพราะการเรียนรู้นั้นเกิดที่ใจของเราเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment