ปณิธานปีใหม่
คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2552
เจียนจะข้ามสิ้นปีเข้าสู่ปีใหม่อีกแล้ว ช่วงเวลาอย่างนี้นอกจากเรามีธรรมเนียมการอวยพรมอบของขวัญ และใช้วันหยุดติดต่อกันไปพักผ่อนทดแทนการทำงานอย่างเหนื่อยล้ามาตลอดทั้งปี ยังเป็นโอกาสซึ่งเรามักตั้งปณิธานบางอย่างเอาไว้ บางคนอาจคิดแล้วเก็บอยู่ในใจไม่บอกใคร บางคนแม้จะไม่ได้ประกาศออกไปแต่ก็เขียนเตือนตัวเองในสมุดบันทึกหรือติดโน้ตบนโต๊ะทำงาน และมีคนจำนวนไม่น้อยสามารถตอบได้ทันทีที่เจอคำถามว่า “ปีใหม่นี้ได้ตั้งใจไว้ว่าเปลี่ยนแปลงอะไรหรือยัง?”
แม้ต่างคนต่างใจมีชีวิตที่หลากหลายต่างกัน ทว่าโดยมากสิ่งที่เราแต่ละคนคิดจะทำเมื่อวาระปีใหม่มาถึง มักจะคล้ายคลึงกันอย่างน่าอัศจรรย์ ฝรั่งเขาเคยสำรวจคร่าวๆ ว่าเรื่องยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่ตั้งใจจะทำในปีใหม่ หรือ New Year’s Resolution นั้น ได้แก่ ๑.ให้เวลาแก่ครอบครัวมากขึ้น ๒.ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ ๓.ลดน้ำหนัก ๔.เลิกบุหรี่ ๕.เลิกเหล้า (มีบางข้อที่ตรงกับใจเราใช่ไหม?)
แม้จะยังไม่เคยมีการเก็บผลข้อมูลอย่างเป็นทางการโดยเปรียบเทียบสัมฤทธิผลของปณิธานปีใหม่ก็ตาม พวกเราคงคาดเดาจากประสบการณ์อันมีร่วมกันได้ว่า มากกว่าครึ่งล้วนประสบความล้มเหลวที่จะทำตามความตั้งใจ
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเกินจริงเลย ถ้าเช่นนั้นเป็นเพราะสาเหตุใดที่ทำให้เราใช้ชีวิตย่างเข้าสู่ปีใหม่จนมันล่วงเลยผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปีด้วยวิถีรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ดังที่เคยเป็นมา จนเราบางคนยอมรับว่าปณิธานปีใหม่ที่ตนเองเคยตั้งไว้กลายเป็นภารกิจอันแทบจะเป็นไปไม่ได้
เราไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ เราต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขณะเดียวกัน เราเริ่มเคยชินและยอมรับกับการใช้ชีวิตแบบเดิม คิดแบบเดิม ทำตัวแบบเดิม จนตัวเราและความคิดเองนี่แหละที่เป็นอุปสรรคใหญ่ไม่ให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
ถ้าเช่นนั้น เราควรต้องขวนขวายหาความรู้จากหนังสือ How-to ว่าทำอย่างไรจึงจะคิดแบบใหม่ ศึกษาว่าวิธีคิดนั้นมีกี่แบบ หรือหาแนวทางเปลี่ยนตัวเองได้ภายใน ๑ เดือน ใช่หรือไม่? - อาจจะใช่ เพราะเราคงได้ข้อมูลความรู้มากขึ้น แต่มันก็จะเป็นเหมือนกับเรื่องอื่นๆ อีกมากมายในชีวิตที่เรารู้ดีมาตั้งนานแล้ว แต่เราก็ไม่ทำ (อยู่ดี) รู้ว่าข้ามสะพานลอยปลอดภัยกว่า รู้ว่าการบอกรักพ่อแม่เป็นสิ่งที่ดี รู้ว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมือง แต่ทั้งหมดนี้ใช่ว่าเรารู้แล้วเราจะทำ
การที่เรารู้มากขึ้นจึงไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเราได้เสมอไป ถ้าตราบใดที่เรายังไม่รู้ตัว
สิ่งสำคัญที่เราส่วนใหญ่มักหลงลืมละเลยไปคือตัวของเราเอง ถ้าหากในแต่ละชั่วขณะเรามีสติรู้เท่าทันจิตใจที่เผลอไผลไปกับความเคยชินเก่าๆ เดิมๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีตรงหน้าคือความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลง ความรู้ทักษะต่างๆ ที่เคยมีจะเป็นตัวเลือกหนึ่งให้เราตัดสินใจนำขึ้นมาใช้ มันจะไม่กลายเป็นเรื่องอุดมคติหรือทักษะที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษอีกต่อไป
เราเลือกกลับบ้านเร็วขึ้นไปหาครอบครัวแทนที่จะไปร่วมวงเหล้าได้ ถ้าเราทัน สามารถเห็นว่าใจกำลังกระเพื่อมหวั่นไหวอยากไปสังสรรค์ เราทอดระยะเวลาในการตัดสินใจให้ช้าออกไปได้ ใช้ชั่วขณะนี้เปิดโอกาสให้ตัวเราเห็นตัวของเราเอง
ปีเก่ากำลังจะผ่านไป เราเองก็ใช่จำต้องเป็นคนเก่าคนเดิมที่ทำอะไรเหมือนๆ เดิมในความเคยชินเดิมๆ เสมอไป ปีใหม่กำลังจะเข้ามาและอาจจะเกิดอะไรขึ้นอีกได้มากมาย เช่นเดียวกับเราที่อุดมไปด้วยความเป็นไปได้และเป็นผู้สร้างทางเลือกให้แก่ชีวิต ขึ้นอยู่แค่ว่าเห็นตัวเองหรือไม่ และอยากจะเป็นคนแบบไหน
เพราะว่าตัวเรานี่แหละคือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ส่วนปณิธานปีใหม่ที่น่าจะได้ตั้งเอาไว้ในใจกันอาจเป็นแค่เรื่อง “รู้เท่าทันตัวเอง” ก็ได้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
0 comments:
Post a Comment