จำกัดความ

คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2552

“จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร” ไม่ว่าในการฝึกอบรมครั้งไหน เรามักได้ยินคำถามทำนองนี้จากผู้เข้าร่วมอยู่เสมอ หากบังเอิญว่าครั้งนั้นเป็นการฝึกอบรมที่ผู้เข้าร่วมมีความสนใจมากมาเป็นทุนเดิมก่อนแล้ว คำถามนี้จะปรากฏตั้งแต่วันแรกของกระบวนการ ส่วนผู้เข้าร่วมในการฝึกอบรมซึ่งออกแบบและจัดให้เฉพาะองค์กรก็ยังไม่วายได้เอ่ยปากถามจนได้ ถ้ารู้ว่ากระบวนการในสามสี่วันนี้มีจิตตปัญญาศึกษาเป็นแนวคิดหลักใช้จัดการเรียนรู้

ดูเหมือนพวกเราส่วนมาก โดยเฉพาะเราผู้ซึ่งทำงานในแวดวงวิชาการหรือการศึกษาต่างเชื่อกันว่าถ้าเราได้รู้ความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วย่อมจะเข้าใจในสิ่งนั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง ยิ่งถ้าได้รู้คำจำกัดความของแนวคิดด้วยแล้วยิ่งทำให้เกิดความชัดเจน ไม่พาลเข้าใจสับสนปะปนไปกับแนวคิดเรื่องอื่น



จริงหรือที่ว่าการให้ความหมายและคำจำกัดความจะช่วยให้เราเข้าใจได้ดี จริงหรือที่การตอบคำถามว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไรจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ความชัดเจนและทำให้เขาเกิดการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาได้

ในการฝึกอบรมครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ ผมและเพื่อนร่วมทีมได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรของวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งผู้เข้าร่วมมีทั้งกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มอาจารย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ตลอดทั้งสี่วันของการเรียนรู้นั้น ผู้จัดกระบวนการหรือที่เราเรียกตัวเองว่ากระบวนกรไม่ได้อธิบายความหมายหรือให้คำจำกัดความของจิตตปัญญาศึกษาเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรากลุ่มนี้สี่สิบกว่าชีวิตคือความเข้าใจในตัวเองที่เพิ่มพูนมากขึ้นจนทำให้เรายอมรับความแตกต่างของกัน และแต่ละคนได้พาใจของตนเองไว้ใกล้กันจนความรู้สึกของทุกคนเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานอยู่ภายใต้สังกัดเดียวกันเหมือนดังที่เป็นมาก่อนเท่านั้น

นอกจากนี้ เราทุกคนยังบอกตรงกันว่าเราได้รับประโยชน์และมีความเข้าใจในจิตตปัญญาศึกษายิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก อาจารย์ท่านหนึ่งเห็นว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้สติและสอดคล้องกับหลักศาสนา ส่วนคุณป้าคนงานบอกว่าเป็นการเรียนแบบสนุกๆ สบายๆ และได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

แน่นอนว่าต่างคนต่างเห็นจิตตปัญญาศึกษาต่างกันไปและให้คำอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่เหมือนกัน แต่กลับเหมือนกันอย่างยิ่งตรงที่เป็นความเข้าใจซึ่งซึมซาบเข้าไปจนถึงจิตถึงใจ ไม่ใช่แค่รู้จำท่องได้ว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร

หากการฝึกอบรมเริ่มต้นด้วยการให้ความหมายและอธิบายนิยามของจิตตปัญญาศึกษาเสียแล้ว จะเป็นไปได้ไหมว่าผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายสถานภาพและคุณวุฒิจะตอบได้ แน่นอนว่าคงมีคำตอบออกมาได้ แต่คำตอบนั้นจะเต็มไปด้วยความระมัดระวังและหวาดเกรงว่าจะผิดพลาดไปจากคำสอนมา สำหรับบางคน การได้รู้ความหมายก่อนอาจทำให้เขาหมดความสนใจในจิตตปัญญาศึกษาไปเสียแต่แรก เพราะเมื่อได้รู้ได้เทียบเคียงกับสิ่งที่รู้มาก่อนหน้าก็ถือว่าเข้าใจแล้ว

ในแง่หนึ่ง การให้ความหมายจึงเป็นการจำกัดความเป็นไปได้ของจิตตปัญญาศึกษาให้อยู่ในขอบเขตจำกัด เป็นการปิดกั้นจินตนาการและโอกาสในการเข้าถึงและเข้าใจที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เราอาจเคยชินจากการเรียนในระบบว่านิยามคือความชัดเจน เป็นความเข้าใจ แต่ถ้าความเข้าใจนั้นไม่ได้เกิดจากเข้าไปมีประสบการณ์ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้น ผู้เรียนจะสามารถเข้าไปถึงใจจน “เข้าใจ” ได้จริงหรือ

ผมเคยเปรียบเทียบจิตตปัญญาศึกษากับความรักว่าเป็นสิ่งคล้ายกัน เราเติบโตและรู้จักความรักมาโดยที่ไม่ต้องมีใครบอกความหมายให้ความรักถูกจำกัดใจความ แต่เราทุกคนสามารถรู้จักและเข้าใจความรักได้เช่นเดียวกัน จากการผ่านประสบการณ์ความรักด้วยตัวเอง และจากมุมมองอันหลากหลายที่มีต่อความรัก

จิตตปัญญาศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกัน

0 comments:

Post a Comment