ปากกาพาไป
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม 2553
“เขียนอะไรลงไปก็ได้ตามแต่ความคิดอะไรจะเกิดขึ้น ข้อสำคัญก็คือเขียนไปเรื่อยๆ ไม่ต้องกลับไปแก้ไข หรือขีดฆ่าข้อความ ให้เขียนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่หยุดวางปากกา และไม่ต้องคิดเรียบเรียงก่อนเขียน แค่เขียนไปตามที่ใจคิด”
ทันทีที่สิ้นเสียงแนะนำการทำกิจกรรมที่ชื่อว่า “ปากกาพาไป” นี้ ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเกือบทุกคนมักจะขมวดคิ้วสงสัย บ้างก็อดไม่ได้ถึงกับยกมือขึ้นถามเพื่อให้แน่ใจ คำถามที่คนส่วนใหญ่มักเอ่ยออกมาก็คือ “แล้วจะให้เขียนเรื่องอะไรคะ/ครับ?”
กิจกรรมที่น่าสนใจและมีความท้าทายมากนี้ยังมีชื่อที่ถูกเรียกขานหลากหลายตามแต่กระบวนกรท่านใดกลุ่มไหนจะเลือกใช้ บ้างเรียกว่า ญาณทัศนลิขิต บ้างก็ว่า ธาราลิขิต ซึ่งต่างคนก็พยายามเลือกใช้คำในภาษาไทยที่ใกล้เคียงและสื่อความจากชื่อกิจกรรมในภาษาอังกฤษว่า Intuitive Writing ให้ได้มากที่สุด Intuitive ที่หมายถึงการเกิดญาณทัศนะ หรือมีสภาวะปิ๊งแว้บขึ้นในใจนั่นเอง
การเขียนแบบนี้จึงมีจุดประสงค์ต่างจากการเขียนอื่นในประเด็นที่ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสละสลวยของภาษา ไม่ได้เน้นความสมบูรณ์ของรูปประโยค และย่อมไม่สนใจกับโครงสร้างของเรื่องที่เขียน เพราะสาระสำคัญของกิจกรรมการเขียนแบบ Intuitive Writing เป็นการเขียนเพื่อสะท้อนใจและเปิดความเป็นไปได้ใหม่ทางความคิด
เรื่องที่แต่ละคนเขียนลงไปในกระดาษของตนจึงเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่อยู่ในใจ และแน่นอนด้วยว่าในช่วงระยะเวลาของการเขียนราวเจ็ดนาทีนี้อาจจะมีหลายเรื่องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในกระดาษหน้าเดียว ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตใจและความคิดของคนเขียนเองทั้งสิ้น
หัวใจสำคัญคือสิ่งที่เขียนออกมานั้นจะได้ถ่ายทอดสภาวะของเราอย่างตรงไปตรงมา ในบางครั้งงานเขียนนี้ก็ถ่ายทอดสิ่งที่เรากำลังกังวล เรื่องที่เราให้ความสนใจ หรือเหตุการณ์ที่ประทับใจ ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปหลายคนยอมรับเลยว่า หลังจากได้กลับมาอ่านสิ่งที่ตัวเองได้เขียนไปทำให้เห็นความคิดและความรู้สึกของตัวเองชัดเจนขึ้นมาก เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ตนเองให้ความสำคัญและอะไรคือสิ่งรบกวนจิตใจในตอนนั้น
แม้ส่วนใหญ่จะเขียนถึงกิจกรรมที่ได้ทำในเวิร์คช็อป แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เขียนออกมาว่าคิดถึงบ้าน คิดถึงลูก บ้างก็เป็นห่วงงานในหน้าที่ซึ่งตอนนี้ต้องให้คนอื่นมาทำแทน บ้างก็เต็มไปด้วยคำถามและความสงสัย หลายคนก็เขียนบอกสภาวะทางกายว่าปวดเมื่อย หรือไม่ก็รู้สึกหนาวเพราะแอร์เย็น
เงื่อนไขการเขียนที่ว่าต้องไม่หยุดเพื่อจะคิดเรียบเรียงจึงมีความสำคัญ เพราะมันช่วยทำให้เราหลุดออกจากแนวพฤติกรรมเคยชินเดิมๆ ที่มักจะเขียนเรื่องที่ผ่านการคัดสรรกลั่นกรองไว้แล้ว หรือใช้ความคิดมากจนเขียนไม่ออก หรือไม่ก็ใจหลุดลอยไปกับเรื่องที่เขียนจนไม่ทันได้รู้ตัว ไม่ทันได้กลับมารู้กายรู้ใจตน
กติกาการเขียนแปลกๆ ง่ายๆ เพียงใช้เวลาแค่เจ็ดนาที ก็ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถสะท้อนตัวเองได้มาก เป็นเครื่องมือหรือวิธีการในแนวจิตตปัญญาศึกษาที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ไม่น้อยเลย ในกลุ่มจิตตปัญญาวิถีที่จัดเวิร์คช็อปมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งหลักสูตร “จิตตปัญญา ๑๐๑” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราก็ใช้กิจกรรมนี้เป็นเครื่องมือหลักสร้างการเรียนรู้และเข้าใจตนเองสำหรับผู้เข้าร่วมอบรม ทุกคนได้มีประสบการณ์ตรงในการสัมผัสและรู้จักตัวเองในแง่มุมที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน เป็นวิธีเรียบง่ายที่ปฏิบัติเองได้ และเห็นผลเมื่อนำมาปฏิบัติซ้ำอย่างต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง
ปากกาด้ามเดียวกันที่ทำให้เราเครียดจากงานประจำ หรือทำให้ใจเราจมไปกับเรื่องราวที่เขียน ก็ยังเป็นปากกาที่พาให้เราได้รู้จักรู้ใจตัวเองได้ เป็นปากกาพาไปสู่ใจ สู่ความเข้าใจใหม่ให้เป็นของขวัญที่เราจะมอบแก่ตัวเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
?
Knoom :
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
น. ชายที่มีอายุพ้นวัยเด็ก
ว. เรียกชายที่ยังดูไม่แก่ตามวัย
Labels
- กาย-ใจ (48)
- จิตตปัญญา (43)
- จิตตปัญญาศึกษา (20)
- reflection (9)
- movie (8)
- สุนทรียสนทนา (6)
- นพลักษณ์ (4)
- book (3)
- การเมือง (3)
- jitcinema (2)
- leadership (2)
- Twitter (1)
- event (1)
- management (1)
- story (1)
1 comments:
ชอบบทปิดท้ายมาก
"ปากกาด้ามเดียวกันที่ทำให้เราเครียดจากงานประจำ หรือทำให้ใจเราจมไปกับเรื่องราวที่เขียน ก็ยังเป็นปากกาที่พาให้เราได้รู้จักรู้ใจตัวเองได้ เป็นปากกาพาไปสู่ใจ สู่ความเข้าใจใหม่ให้เป็นของขวัญที่เราจะมอบแก่ตัวเอง "
;-)
Post a Comment