เสรีที่จะเลือก



เราให้คุณค่ากับเสรีภาพและอิสรภาพกันอยู่เสมอ เราเห็นพ้องต้องกันโดยไร้ข้อกังขา ว่ามนุษย์พึงมีสิทธิที่จะเลือกกระทำสิ่งต่างๆ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เรายินดีที่ได้เกิดและใช้ชีวิตในผืนแผ่นดินประเทศที่ให้เสรีภาพในการประกอบอาชีพและถือครองทรัพย์สิน

แต่คำถามหนึ่งซึ่งยังไม่ชัดเจนนักคือ เสรีภาพควรมีเท่าใด

หนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Eagle Eye ตั้งคำถามต่อเรื่องดังกล่าวได้น่าสนใจ แต่แน่นอน คำตอบไม่ได้อยู่ที่หนังเรื่องนี้ แต่อยู่ที่คนดูทุกคน หรือพูดอีกนัยก็คือ ใครจะไปรู้ได้ เสรีภาพของใครจะเป็นเท่าใดจะมีใครตัดสินให้กันแทนได้

เนื้อหาของหนังซึ่งถ้ารู้ก่อนคงจะไปชมแล้วขาดอรรถรสแน่นอน เพราะว่าส่วนสำคัญที่ทำให้คนดูติดตามหนังเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ก็คือประเด็นปัญหาว่าใครกันหนอซึ่งเป็นคนบังคับตัวเอกทั้งสอง ช่างมีข้อมูลและสามารถเข้าถึงได้แทบจะทุกช่องทาง พอได้ทราบเฉลยแล้วบางคนก็อาจจะเชื่อ บางคนก็อาจจะยังลังเลว่าเป็นไปได้ถึงเพียงนั้นเชียวหรือ

ครับ สมัยก่อนไม่นานนัก ถ้าจะบอกว่าเอาของดิบใส่ตู้สี่เหลี่ยมที่ไร้ไฟแค่นาทีเดียวมันก็จะสุกได้ ก็คงไม่มีใครเชื่อเช่นเดียวกัน

เรื่องของเรื่องใน Eagle Eye เริ่มต้นจากการซุ่มสังหารผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอเมริกา (ที่ถูกเรียกว่ากลุ่มกอการร้ายนั่นล่ะ) และรัฐมนตรีกลาโหมจะต้องตัดสินใจว่าจะออกคำสั่งสังหารหรือไม่ ทั้งที่ข้อมูลที่ได้ยังไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็สั่งการไป เพราะประธานาธิบดีป็นผู้ออกคำสั่งให้ดำเนินการ นับจากนั้นมาความโกลาหลและการก่อประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินชาวอเมริกันก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น พร้อมกันกับภารกิจที่ไม่คาดฝันถูกส่งและสั่งการมายังหนึ่งหนุ่มวัยรุ่นผู้หนีโลกกระแสหลัก และหนึ่งสาว single parent วัยทำงานตัวเป็นเกลียวเบื้องหลังความสำเร็จของทนายค่าตัวแพง

เขาทั้งสองไม่ยินยอมพร้อมใจทำในสิ่งที่พวกเขาเลือกแน่นอน ตลอดทั้งเรื่องเราเห็นเขาพยายามหลีกเลี่ยง และแก้เงื่อนไขที่ผูกมัดบังคับให้เขาต้องทำตาม ฝ่ายชายถูกบังคับจากการไล่ล่าของอำนาจกระแสหลัก ฝ่ายหญิงถูกบังคับด้วยชีวิตของลูกชายตัวน้อย (ช่างเป็นเงื่อนไขที่สะท้อนด้านตรงข้ามของหยางและหยินอะไรเช่นนี้)

แต่สุดท้ายเราก็คงเดากันได้ ทั้งสองรอด เพราะทั้งสองได้เลือกที่จะทำตามความรู้สึกและใจของตัวเอง โดยไม่หวั่นเกรงต่อเงื่อนไขข้อบังคับของผู้ที่มองไม่เห็นอีกต่อไป แม้ว่าการละเมิดฝ่าฝืนนั้นอาจถึงแก่ชีวิตของตนและคนที่รัก แต่เขาก็ได้เลือกแล้วที่จะรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น (และไม่ต้องเดาด้วยหยินหยางก็รู้ได้ว่า ...) ฝ่ายชายเลือกฝ่าฝืนเพื่อรักษาความสงบสุขของชาติ เป็นการกระทำที่พึงทำตามหน้าที่ของชายชาติทหาร (ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นทหาร และอยู่ใต้เงาของพี่ชายผู้เป็นทหารมาโดยตลอด) ฝ่ายหญิงเลือกฝ่าฝืนเพื่อความรัก ความรักที่เธอจะไม่ทำร้ายชีวิตคนๆ หนึ่งซึ่งเป็นชายที่เธอรัก

ส่วนผู้ที่มองไม่เห็นนั้นเล่า คือระบบคอมพิวเตอร์ขนาดมหึมา ผู้มีพลานุภาพมหาศาลในการเข้าถึงและสั่งการระบบอิเล็คทรอนิกส์ทั้งประเทศ เมื่อคำแนะนำของเธอ (ใช่แล้วครับ ระบบคอมพิวเตอร์ในเรื่องนี้เป็นเพศหญิงอีกแล้ว ใจร้ายมาก สังเกตไหมว่าพอหุ่นหรือระบบคอมพ์ที่เล่นบทดีประเสริฐมักเป็นเพศชาย) ถูกเพิกเฉย และเธอเห็นว่าการไม่ทำตามคำสั่งของเธอนำมาซึ่งความเสียหายมากมาย ทางที่จะรอดคือ ยึดอำนาจ ซะเลย (โฮ่ๆ) จัดการสังหารและกำจัดมนุษย์ผู้เป็นรัฐบาลเดิมออกไปให้หมด เธอมีเสรีภาพเต็มเปี่ยมที่ได้เลือกทางเส้นนี้ และเธอเชื่อว่ามันดีต่อทุกคน

ขณะเดียวกัน ความทุกข์ทรมานของตัวเอกและการบีบบังคับโดยเธอ มันก็เป็นผลมาจากการที่เธอไม่สามารถจะทำได้ตามเจตจำนงของตัวเองนั่นเอง

ผมขอสรุปง่ายๆ โดยละทิ้งประเด็นปลีกย่อยมากมายที่น่าเอามาพูดถึง ว่าประเด็นอันเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่อง Eagle Eye หาได้มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหมือนการลุ้นว่าใครหนอบังคับให้ตัวเอกวิ่งพล่าไปทั่วประเทศอเมริกา แต่ประเด็นดังว่าเป็นเพียงการได้มี "เสรีที่จะเลือก" และไม่มีทางเลือกไหนที่ไม่เกิดผลกระทบต่อคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกฝ่ายชายที่เลือกใช้ชีวิตขบถ ตัวเอกฝ่ายหญิงที่เลือกใช้ชีวิตแม่แต่ผู้เดียว และเธอผู้ที่เรามองไม่เห็นผู้นั้น ตลอดจนรัฐมนตรีและผู้นำทั้งหลาย คำถามที่ทิ้งไว้ให้ใคร่ครวญหลังหนังจบก็คือ "เราควรมีเสรีแค่ไหน" อีกด้วย

1 comments:

อาร์ต said...

ยังไม่ได้อ่าน เพราะกวาดสายตาดูแล้วเหมือนบอกว่ามีเปิดเผยเนื้อเรื่อง หรือเปล่า?


ถ้าไม่ใช่บอกด้วยนะ จะได้อ่าน

;-)

Post a Comment