เกือบไปแล้ว


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2555

ในวันหยุดสุดสัปดาห์เมื่อไม่นานมานี้ ผมเลือกพักผ่อนด้วยการไปดูหนังในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงก็ออกจะประหลาดใจอยู่บ้าง เพราะเป็นวันที่มีลูกค้ามารอคิวซื้อตั๋วกันเป็นจำนวนมาก ดูเหมือนผมจะตกข่าวไป ไม่รู้ว่ามีหนังดังเรื่องไหนเข้าฉาย ได้แต่เดินไปเข้าคิวรอซื้อตั๋วหนังเรื่องที่ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะมาดู

ครั้นพอได้ตั๋ว สิ่งแรกที่แวบเข้ามาในหัวคือ ไปรอซื้อน้ำกับป็อปคอร์นไว้กินในโรง ทั้งไม่ได้เฉลียวใจ และไม่ได้ตั้งคำถามต่อการตัดสินใจที่ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ว่า “มาห้าง ดูหนัง สั่งป็อปคอร์น” มันเป็นการเลือกที่ดีแล้วหรือยัง แค่เป็นสิ่งที่คุ้นๆ ว่าทำอะไรสักอย่างแล้วก็น่าจะมีอะไรที่ทำตามๆ กันไปเป็นสูตรสำเร็จ

“ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรนี่นา ใครๆ ก็ทำ” หากจะเอะใจนึกอะไรขึ้นมาได้ คงไม่วายมีข้ออ้างทำนองนี้ในหัว

สถานการณ์หน้าเคาน์เตอร์ขายเครื่องดื่มและของว่างก็แน่นขนัดไม่แพ้บริเวณขายตั๋ว ที่โรงหนังแห่งนี้แม้จะมีถึงสามเคาน์เตอร์สั่งของและคิดสตางค์ แต่ลูกค้าก็มาออกันเป็นแถวยาวจนพนักงานทั้งกดน้ำ ตักข้าวโพดคั่วสารพัดรสจนมือไม้เป็นระวิง ผมเล็งดูแถวที่น่าจะสั้นที่สุดแล้วก็ไปยืนต่อท้าย ความจริงแล้วไม่ว่าจะแถวไหนก็มีสภาพคล้ายกัน คือโย้ไปเย้มา ยืนกองๆ กันบ้าง ไม่มีหรอกที่จะเรียงติดชิดกันเป็นระเบียบ อันนี้ก็สบายๆ ตามสไตล์คนไทยเรา

“ไม่เป็นไรหรอก รอก็แป๊บเดียว จะซีเรียสอะไรมากมาย” ถ้าจะรู้สึกขัดใจขึ้นมาบ้าง ตอนนั้นคงบอกกับตัวเองทำนองนี้

กระทั่งแถวหดสั้นเข้า จึงได้เห็นว่าพนักงานที่ทั้งเก็บสตางค์ทอนเงิน กดน้ำ หยิบขนมและตักข้าวโพดแล้ว เธอและเขาเหล่านั้นยังต้องพูดประชาสัมพันธ์ผ่านเฮดโฟนเป็นระยะ แนะนำและเชิญชวนให้ลูกค้าซื้อเป็นชุดบ้าง บอกรายการส่งเสริมการขายบ้าง ช่างทำงานได้หลายอย่างในคราวเดียวจริงๆ ถึงตอนนี้ผมอยู่คิวที่สองแล้ว ลูกค้ารายก่อนหน้าเป็นชายวัยกลางคน ข้างหลังค่อนไปทางซ้ายน่าจะเป็นลูกหรือหลานชาย วัยราวๆ ประถมปลาย ช่วงไหล่ของน้องก็สูงประมาณเท่าเคาน์เตอร์

พลันที่พนักงานสาวคนคล่องรับสตางค์จากชายคนข้างหน้า เธอก็หันมาหาผมแล้วถามอย่างรวดเร็วว่ารับอะไรดีคะ ผมก็ตอบไปอย่างไวเช่นกันด้วยรายการน้ำขนมที่คิดรอไว้ จะได้ไม่เสียเวลา พนักงานชายก็ไวไม่แพ้กัน ได้ยินปั๊บก็รีบตักแล้วยื่นมาวางอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ผมก้มดูป๊อปคอร์นตรงหน้า สายตาก็พบกับน้องคนนั้น ยังยืนเกาะอยู่ที่เคาน์เตอร์ ในมือขวากำธนบัตรหลายใบไว้แน่น ผมรู้ทันทีว่า ทั้งผมและพนักงานได้ลัดคิวน้องเขาไปแล้ว แม้จะไม่ได้เจตนาก็ตาม ชั่วขณะนั้นในใจนึกขึ้นว่า เราไม่ได้ตั้งใจนะ และน่าสงสารน้องจัง คงเพราะตัวเล็ก คนขายเลยมองข้ามไป คิดยังไม่ทันไร พนักงานสาวก็เอ่ยปากทักไปยังลูกค้าหญิงข้างหลังผมเพื่อถามว่าจะรับอะไรดี ยังไม่ทันที่ผมจะทักท้วงจบประโยคว่า น้องเขามาก่อน เธอก็เหลือบมาเห็น พร้อมตกใจอุทานเบาๆ ว่า อุ๊ย ขอโทษนะคะไม่เห็นเลย

“ไม่เป็นไรมั้ง เราไม่ผิดนะ ไม่ได้ตั้งใจ ก็น้องเขายืนเฉยๆ ไม่พูดอะไรนี่นา” ผมอาจจะคิดอย่างนี้พร้อมกับเดินถือน้ำและขนมออกไปก็ได้ แต่ผมตัดสินใจก้มลงไปใกล้ๆ บอกน้องว่า “พี่ขอโทษนะครับ ที่พี่แซงคิวเราไปแล้ว”

ผมเดินออกมาห่างๆ แล้วมองน้องคนนี้ไกลๆ เขาเดินถือของไปหาแม่ที่ยืนรออยู่หน้าโรง แม้ยังไม่ทันได้ดูหนัง ผมก็ผ่อนคลายแล้วเพราะอิ่มใจ พร้อมกับรู้สึกใจหาย “เกือบไปแล้วไหมล่ะ” เกือบเผลอไผลยอมมักง่ายตามใจให้ปล่อยผ่าน ทำตามอย่างกันไป เกือบไม่ได้ช่วยปลูกวินัยและการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันไปซะแล้ว

ความลับในตัวเรา


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

เราอาจจะรู้สึกกันว่าคนบนโลกทุกวันนี้เรียกร้องการยอมรับกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกร้องให้เรามองเห็นความแตกต่างเป็นความหลากหลาย ไม่ใช่ความแปลกแยกแปลกประหลาด เพราะปมปัญหาหลายอย่าง เราล้วนมีที่มาจากการยอมรับกันไม่ได้ เมื่อมีความต่างก็กลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือการมาคุกคาม มากกว่าจะได้ทำความเข้าใจ และเปิดใจยอมรับ

เราเริ่มตระหนักว่าความสงบสุขและสันติในโลก ในชุมชน และบ้านของเรา จะเกิดขึ้นได้หากเรายอมรับกันและกันได้ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ เช่น ความเชื่อทางการเมือง การใช้ชีวิตตามวิถีปฏิบัติทางศาสนา ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ กระทั่งรสนิยมการกินอาหาร เมื่อเห็นว่าเป็นความต่างที่ยอมรับได้ เราก็ชื่นชมกันได้ เห็นความงาม เห็นความน่าสนใจในคนที่ต่างจากเรา และโลกของเราก็กว้างขึ้นแผ่ขยายออก

เรารู้ว่าการไม่ยอมรับในความต่างบ่มเพาะความอึดอัดขัดใจ เป็นบ่อเกิดของความเกลียดชังที่มีพลังทำลายล้างทุกฝ่ายไม่เว้นกระทั่งตัวเอง หากยอมรับเขาที่ต่างจากเราไม่ได้ อย่างน้อยเราก็แยกตัวตัดขาดจากกัน หนักขึ้นเราก็เห็นเขาเป็นเป้าที่ต้องเข้าไปจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งต้องกำจัดออก

การได้ตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของการยอมรับกันนี้นับว่ามีพลังและเปิดความเป็นไปได้ให้เรามาก แม้จะไม่สามารถยอมรับความต่างของผู้คนในทุกรูปแบบได้อย่างหมดหัวใจก็ตาม อาจยังต้องใช้เวลา หรือต้องการการสนทนาและการฟังอย่างลึกซึ้ง

แต่ขอให้มองไปยังอีกด้าน คือการมองย้อนกลับมายังตัวของเราเอง สิ่งนี้อาจเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งกว่าการดูแลความสัมพันธ์กับคนอื่น นั่นคือการยอมรับความแตกต่างในตัวของเราเอง เพราะมันเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่ อาจไม่เคยเห็นเลยว่านี่คืออีกด้านของความเป็นเรา

การยอมรับตัวเองนี้เป็นคนละสิ่งกันกับความเชื่อว่าเราเป็นใคร และเป็นคนละเรื่องกันกับความชัดเจนในตัวเองว่าเราคือคนแบบไหน อาจกลับกันเสียด้วยซ้ำว่า ยิ่งเราเชื่อว่าเรามีบุคลิกอย่างไร มีความคิดรสนิยมแบบไหน และชัดเจนมากๆ ว่าเราชอบอะไร ทำอะไรได้บ้าง และเป็นอะไรได้บ้างนั้น ยิ่งอาจจะจำกัดให้เรายึดมั่นในความเป็นเราที่คับแคบ และขีดวงปิดกั้นตัวเองเอาไว้มากเท่านั้น


การยอมรับตัวเองคือความสามารถในการมองเห็นและเปิดใจให้กับความไม่ดี ความไม่งาม และความไม่สมบูรณ์แบบในตัวของเราเอง ไม่ว่ามันจะเป็นพฤติกรรมอะไรของเรา เป็นรสนิยมอะไรของเรา หรือเป็นความคิดอะไรในหัวเรา เพราะผู้ที่พิพากษาว่าสิ่งนั้นมันไม่ดี ไม่งาม ไม่สมบูรณ์แบบ คือตัวเราเอง ยิ่งเรายากจะยอมรับความต่างในตัวได้น้อยเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มว่าเราจะรับรู้ตัวเราที่แท้น้อยลงเท่านั้น หนักเข้า เราก็ผลักไสมันไปสู่ความรังเกียจ ความชัง กลายเป็นสิ่งที่ต้องเก็บ ต้องกด ต้องกำจัดมัน

หลายเรื่องที่เป็นเราอาจเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เลือก เช่น สีผิว หรือฐานะ ลึกลงไปก็เช่น นิสัยที่แก้ไม่หาย หรือพฤติกรรมที่ทำจนเป็นร่องเคยชินติดตัว การพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งเหล่านี้ในตัวเรานั้นบางสิ่งก็ทำได้ แต่หลายสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ เราจึงมักปกปิดเอาไว้ กลบเกลื่อนมันไป หรือกดดันตัวเองอย่างหนักไม่ให้ตัวเองเผลอไผลไปเป็น

ตัวเราก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับโลกใบนี้ ในเมื่อเราพยายามอย่างหนักที่จะยอมรับผู้คนที่คิดต่างและเชื่อต่างแล้ว ไฉนเราจำต้องจำกัดเปิดรับตัวเองเพียงบางส่วน หากเริ่มเห็นย่อมเริ่มเข้าใจ และเปิดความเป็นไปได้ในการสร้างสันติให้แก่ตัวเองและโลกของเรา

หยุดก่อน


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555

ข้อความบนหน้าจอที่รุ่นน้องคนหนึ่งเขียนไว้ในเฟซบุ๊ค หรือที่คนร่วมสมัยปัจจุบันเรียกทับศัพท์กันว่า อัพสเตตัส นั้น ชวนให้ระลึกถึงเครื่องมือพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ที่เหมือนจะธรรมดา ทว่าทรงพลังมากนัก

เขาว่า ระหว่างที่นั่งทำงาน พลันได้สังเกตเห็นแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องหน้าต่างมาเป็นทาง ตกกระทบสะท้อนเห็นทิศการเดินทางของแสง ในฐานะที่เขาเป็นนักชีววิทยา 'ปรากฏการณ์การเลี้ยวเบนของแสงผ่านช่องเดี่ยว' นี้มันกระตุกใจให้เขาได้นึกย้อนไปตั้งแต่สมัยปริญญาตรีจวบจนมัธยมศึกษา นึกถึงช่วงเวลาที่เคยพบวิชาฟิสิกส์ ความสนุกสนานของบทเรียน และความทรงจำมากมายที่มีต่อครูบาอาจารย์ผู้ประสาท เขาถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์พร้อมเขียนชื่อครูทีละท่าน ย้อนระลึกถึงครูทุกๆ คน

บางครั้งเราอาจเรียกการกระทำทำนองนี้ว่าฟุ้งซ่าน แต่เรามักจะลืมหรืออาจจะมองข้ามด้วยซ้ำว่า ทุกโอกาสของการได้หวนระลึกถึงคุณค่าของประสบการณ์บทเรียนใดๆ และประตูสู่บทเรียนนี้คือ 'การสังเกต' อันเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการเรียนรู้ในจิตตปัญญา ที่บางครั้งถึงกับถูกเรียกขับเน้นให้เป็นพิเศษถึงความสำคัญและทรงพลังว่า “สังเกต สังเกต สังเกต” เพราะมันไม่ใช่เพียงการมองเห็น ได้ยิน รับรู้ และตีความไปตามความเข้าใจเดิม ทึกทักตัดสินไปตามความคุ้นเคยเดิมๆ แต่ให้การรับรู้นั้นนำไปสู่การใคร่ครวญโดยไม่ด่วนตัดสิน

การเริ่มต้นสู่บทเรียนของการทบทวนตัวเองจึงจำต้องกระตุกผู้เรียนให้หันกลับมาหัดสังเกต และสิ่งที่ต้องสังเกตนั้นก็มิใช่อะไรอื่นไกล มันคือทุกสิ่งรอบตัว ให้สังเกตปรากฏการณ์ที่เป็นไปในชีวิตเรา พร้อมกับเพิ่มการสังเกตใจตัวเองไปพร้อมกัน ฟังเสียงความคิดของตัวเองและเท่าทันกับความเชื่อความคุ้นเคยเดิมๆ

การสังเกตเพื่อเข้าให้ถึงใจและเชื่อมโยงไปสู่โลกนั้นจำต้องมีสมดุล และมันจะเกิดขึ้นได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ จนเท่าทันออกจากร่องพฤติกรรมความคิดเดิมๆ

ความเร่งในการใช้ชีวิตด้วยอัตราเร็วดังในปัจจุบันจึงเป็นกำแพงอันหนาหนัก เป็นด่านแรกที่เราต้องฝ่าทะลุไป เราชินกับการตัดสินใจเร็ว คุ้นกับความฉับไว เชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพคือการใช้เวลาน้อย เชื่อมั่นว่าอะไรที่ดีต้องเป็นสิ่งที่ทันใจ ยิ่งเราเชื่อว่าที่เราเป็นอยู่ ที่เราคิดอยู่แบบนี้ คือวิถีที่ใช่ คือเส้นทางเดียวที่ควรจะดำเนินไปสำหรับการเรียนแล้ว กำแพงนี้ก็จะยิ่งหนายิ่งสูงเท่านั้น

การสังเกตนี้อาจเหมือนว่าจะกินเวลา ต้องเฝ้าดู ต้องฟังอย่างตั้งใจ แต่มันเป็นเครื่องมืออันวิเศษที่ทำให้เราใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ ในการเท่าทันจิตใจตัวเอง ในชั่วชีวิตหนึ่งนั้นมีบทเรียนหลายสิ่ง ประสบการณ์หลายอย่าง ผ่านมาแล้วผ่านเลยไป เพียงเพราะเราพลาดไม่ได้หยิบฉวยขึ้นมาขัดเกลาให้เห็นแง่มุมใหม่ของชีวิต ไม่ได้นำมาส่องสะท้อนให้ตระหนักรู้และเข้าใจในความคิดและการกระทำของตัวเอง

การสังเกตที่พาไปสู่การคิดใคร่ครวญ เคยทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยพบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ แอปเปิ้ลที่ร่วงตกพื้นผลนั้นคงเป็นเพียงผลไม้ลูกหนึ่ง ถ้ามิใช่เพราะนิวตันได้สังเกต น้ำที่เอ่อล้นอ่างคงเป็นแค่การอาบน้ำ ถ้ามิใช่เพราะอาร์คีมิดีสทันสังเกต

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วย แต่มาจากการฝึกฝนและเอาใจใส่ในการใช้เครื่องมือพื้นฐานจนกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ หรือว่าจิตตปัญญาศึกษา จะเข้าใจโลกภายนอกหรือน้อมเข้าสู่ภายใน ล้วนมาจากฐานที่เราทุกคนเริ่มได้เหมือนกัน

ฟังถึงใจ


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2555

ความสามารถในการมองทะลุพฤติกรรมและการกระทำไปจนเห็นถึงเบื้องหลังนั้นช่างเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์นัก

ในการประชุมขององค์กรแห่งหนึ่ง ในจำนวนสมาชิกที่ประชุมสามสิบกว่าคนนั้น มีทั้งผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา มีตั้งแต่คนที่อายุงานมาก จนถึงคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ประมาณสองเดือน เรื่องที่คุยกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับขององค์กรของเขา

“เมื่อก่อนหน่วยงานเราเคยได้รับความเชื่อถือมาก เคยอยู่กันอย่างพี่น้อง มีอะไรก็พูดจากันได้ทั่วถึง เดี๋ยวนี้บรรยากาศแบบเดิมมันหายไป อยากให้มันกลับคืนมา” รุ่นพี่ผู้อาวุโสกว่าใครกล่าว

“ใครจะคิดว่าตัวเองเป็นคนพูดตรงก็แล้วแต่เขา ที่บอกก็เพราะเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง อะไรที่ฝ่ายบริหารตัดสินใจไปแล้ว ถ้าไม่เกิดประโยชน์จริงกับคนทำงาน มันก็ต้องพูด เราไม่ได้พูดเพื่อตัวเอง แต่เพื่อทุกคน จะมาเปลี่ยนแปลงหรือห้ามพูดไม่ได้หรอก” เป็นเสียงจากสมาชิกอีกคนหนึ่ง ท่าทางขึงขังจริงจังมาก

“เพิ่งเข้ามาทำงานที่นี่ได้ไม่กี่เดือน ก่อนจะมาก็มีเพื่อนทักนะ ว่าแน่ใจแล้วเหรอ เขาบอกว่าที่นี่ปัญหาเยอะ แต่ในเมื่อตัดสินใจแล้วก็ไม่ถอย เราไม่ได้เข้ามาเพราะเป็นคนของใคร ก็อยากจะรู้จักและเข้ากันได้ทำงานกันได้กับทุกๆ คน” น้องใหม่ขององค์กรกล่าวบ้าง ด้วยน้ำเสียงที่ยังประหม่า แต่ก็เปิดเผยถึงเรื่องที่เธอได้พบมาจริง

หากมองด้วยสายตาทั่วไป และฟังผ่านๆ แล้ว ถ้อยคำบทสนทนาที่เกิดขึ้นในห้องนี้ คงทำให้เกิดจินตนาการต่อไปได้ไม่ยาก ว่าอีกประเดี๋ยว สมาชิกหลากวัยหลายตำแหน่งขององค์กรนี้ คงจะได้ขึ้นเสียง และชักสีหน้าใส่กันแน่ ดีไม่ดีอาจลุกลามกลายเป็นกล่าวโทษกันไปมา หรือพาลทะเลาะบาดหมางเข้าหน้ากันไม่ติด ยิ่งคุยกันด้วยเรื่องปัญหาขององค์กรแบบนี้แล้วล่ะก็ ร้อยทั้งร้อยจบลงที่ต่างคนต่างระบายความไม่พอใจเข้าใส่กัน ต่อเมื่อล่วงเลยเวลาการประชุมแล้วนั่นแหละ ถึงจะล่าถอยไปด้วยความเหนื่อยใจของทุกฝ่าย พอวันรุ่งขึ้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงานตามความรับผิดชอบของตัวเองกันต่อไป ขอแค่ระวังไม่ให้ไปกระทบกระทั่งหรือเผลอเหยียบตาปลากันเข้าก็พอ

แต่ในห้องประชุมนี้ ไม่ได้มีปรากฏการณ์ตกร่องซ้ำรอยดังกล่าว อีกทั้งสมาชิกทุกคนยังได้พูดได้บอกสิ่งที่คิดออกมา และไม่เพียงสิ่งที่คิด แต่ยังรวมถึงความรู้สึกภายในใจ ขณะที่คนหนึ่งพูด คนที่เหลือก็พยายามฟังอย่างตั้งใจ ไม่มีใครขัด ไม่มีใครขอใช้สิทธิพาดพิง หรือส่อสัญญาณฮึดฮัดรำคาญใจ

เพราะทุกคนกำลังอยู่ในระหว่างการฝึกฝนการฟัง และกล้าเปิดเผยความจริง เพื่อจะได้มองถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่าปัญหาขององค์กรจากหลากมุมหลากแง่ต่างๆ กัน แต่ทุกคนมีความต้องการเบื้องลึกในใจที่งดงามและยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

เพราะการกระทำ คำพูด และการแสดงออกใดๆ ไม่ได้เป็นเพียงความโกรธกริ้ว ไม่ใช่การทำร้ายทำลายกัน มิใช่การโยนความผิดออกไปให้พ้นตัว สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งเพียงเล็กน้อยที่โผล่พ้นผิวน้ำ เบื้องใต้ลึกลงไปยังมีความต้องการที่อยากจะมีความสุขในการทำงาน ต้องการความมั่นคง ต้องการความภาคภูมิใจ และต้องการความยุติธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความต้องการเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมายในองค์กร

การฟังที่เกิดขึ้นนี้ช่างน่าอัศจรรย์ใจ เหตุการณ์การระบายออกถึงปัญหาของคนทั้งสามสิบกว่าคนนี้จึงไม่ได้นำไปสู่ความไม่เข้าใจ ตรงกันข้าม ต่างพยายามที่จะเข้าใจกัน เป็นการฟังที่ไม่ได้ยินแต่เสียง ยังเปิดใจรับฟัง และร่วมกันค้นหา จนค้นพบความต้องการอันงดงามภายใน นำไปสู่ความเข้าใจ และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ที่จะฝ่าฟันปัญหานี้ไปด้วยกัน

ไข่ขาวกับไข่แดง


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2555

ช่วงเริ่มต้นของการฝึกอบรมเรื่องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองในเกือบทุกครั้ง เรามักเริ่มเตรียมผู้เรียนให้พร้อม ด้วยแผนภาพง่ายๆ ภาพหนึ่ง เป็นภาพวงกลมซ้อนกันสองวง เราเรียกมันว่าไข่ดาว แสดงถึงสภาวะของการเรียนรู้สองลักษณะ พื้นที่วงในที่คล้ายไข่แดงนั้น คือพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone หมายถึงสภาวะส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยดีในชีวิตประจำวัน และเรามักจะแสดงพฤติกรรมการเรียนรู้ตามแบบแผนที่เราทำมาจนติดเป็นนิสัย ซึ่งปรากฏชัดโดยเฉพาะตอนที่เราอยู่บ้าน กับครอบครัว หรือเพื่อนที่รู้จักสนิทสนมกันดี สภาพเช่นนี้ทำให้เราเคยชินในการแสดงปฏิกิริยาต่างๆ ออกมา เช่น พูดคุยด้วยน้ำเสียงแบบนี้ โต้ตอบกันเร็วโดยไม่ทันคิดตริตรอง หรือทันทีที่ถึงบ้านเราก็นั่งจ่อมที่โซฟา และกดหาช่องรายการที่ดูเป็นประจำ เป็นการเลือกรับรู้ข้อมูลแบบเดิมๆ ทำนองเดิมๆ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นลักษณะการเติมข้อมูลบางส่วน และสร้างแบบแผนพฤติกรรมจนชำนาญ สามารถเป็นไปโดยอัตโนมัติ

ในแง่ดี นี่ก็เป็นฐานของการสร้างทักษะ ทำให้มีความสามารถในการค้นหาข้อบกพร่องจนทำให้มีความรอบคอบ เกิดประสิทธิภาพเพราะใช้เวลาน้อยลง

แต่ในทางกลับกัน สภาวะปลอดภัยนี่เองที่เราปิดกั้นจะเผชิญหน้ากับสิ่งแปลกใหม่ของชีวิต และขาดการเรียนรู้ที่อาจพลิกผัน ไม่ว่าจะเป็นการจองที่นั่งหลังห้องสัมมนาก็ดี การหลบตาหลีกเลี่ยงวิทยากรผู้สอนก็ดี หรือคนที่คอยตอบคำถามอยู่ตลอด และใช้เวลาพูดอธิบายมาก ก็อาจพลาดบทเรียนสำคัญที่จะได้จากเพื่อนคนอื่นร่วมชั้นเรียนก็เป็นไปได้

อีกสภาวะหนึ่งในพื้นที่วงรอบนอก เป็นเสมือนไข่ขาว คือพื้นที่ท้าทาย หรือ Risk Zone เป็นสภาพการณ์ที่เราไม่คุ้นเคย เพราะเต็มไปด้วยความเสี่ยงว่าเราอาจจะทำอะไรผิดพลาด ไม่มีแนวทางบอกว่าควรจะต้องทำตัวอย่างไร มันอาจจะเป็นสถานที่แปลกใหม่ หรือการอยู่กับผู้คนที่เราไม่เคยรู้จัก หรือแม้แต่การต้องทำต้องแสดงพฤติกรรมอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำ

สำหรับแต่ละคนแล้ว พื้นที่ท้าทายนี้จะแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่มีร่วมกัน คือความรู้สึกของเราที่ไม่นิ่ง อาจตื่นเต้น หรือกระวนกระวาย แม้กระทั่งอึดอัด จนถึงหวาดกลัว ทว่าในทางกลับกัน อีกด้านของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราคือความไม่ประมาท ความรู้ตัว ความประหลาดใจ ไปจนถึงความอัศจรรย์ใจ

ด้วยวิถีชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตในเมืองที่เป็นระบบดังปัจจุบันนี้ การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของพวกเราจึงมักเกิดขึ้นในพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่เราในสมัยเด็กๆ นั้น เราเติบโตขึ้นมาในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงและแปลกใหม่อยู่เสมอ และเต็มไปด้วยความท้าทายว่าตัวเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง อะไรที่ทำให้เราสนุก อะไรที่เป็นอันตรายต่อเราบ้าง มันจึงเป็นการเรียนรู้ที่เปลี่ยนเราถึงรากฐานและให้มุมมองใหม่ต่อชีวิตและโลก

ทั้งไข่ขาวและไข่แดงต่างเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่เติมเต็มกันและกัน ที่กล่าวมาข้างต้นก็มิใช่ว่าเราจำเป็นจะต้องเสาะหาการเรียนรู้ในพื้นที่ท้าทายเสมอไปทุกครั้ง บางอย่างที่เสี่ยงเกินไป ก็อาจทำให้สภาวะจิตใจของเราสั่นไหว จนเข้าสู่การปกป้องระวังภัย และไม่อาจเกิดการเรียนรู้ก็เป็นได้

เพียงแต่ว่าในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองนั้น อาจต้องเริ่มจากการท้าทายความเชื่อบางอย่างในใจที่เรายึดมั่นถือมั่นเอาไว้โดยไม่รู้ตัว หรือผลักดันให้เราเผชิญสภาวะไม่คุ้นเคยและแปลกใหม่ เพื่อให้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนตัวเอง เป็นการเติบโตจากไข่แดงไปสู่ไข่ขาว เพราะมันเป็นคือก้าวสำคัญของการเข้าใจและยอมรับตัวเอง