จากหนึ่งมุมมองและความห่วงใยนี้ที่มีต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน

แถลงการณ์คณะนักวิชาการ
เรื่อง เราควรมองวิกฤติการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันอย่างไร?


ปรากฏการณ์ที่มีประชาชนจำนวนมากนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้ายึดที่ทำการรัฐบาล และเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลลาออก แต่ผู้นำรัฐบาลก็ยังคงยืนยันที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป และได้มีนักการเมืองในวงการรัฐบาลบางนายกล่าวในที่สาธารณะว่า "เป็นการกระทำของคนหยิบมือเดียว" หรือ "เป็นการใช้กฏหมู่อยู่เหนือกฎหมาย" หรือ "เป็นการแสดงออกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" และ "หากรัฐบาลลาออกก็จะเป็นตัวอย่างให้ผู้ไม่พอใจรัฐบาลเข้ายึดที่ทำการรัฐบาลอีก จึงตัดสินใจไม่ลาออก" นั้น

คณะนักวิชาการกลุ่มเล็ก ๆ จำนวนหนึ่งซึ่งได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองด้วยความห่วงไย จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของรัฐ ๘ แห่งได้ปรึกษาหารือกันเมื่อคืนวันที่ ๓๐ สิงหาคม และเห็นสมควรแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนดังต่อไปนี้

๑. ความล้มเหลวของผู้นำรัฐบาล

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พวกเราเห็นว่าเป็นผลจากความบกพร่อง และความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของผู้นำในสถาบันทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล ที่ได้ปฏิบัติงานการเมืองโดยขาดวิจารณญาณ และความระมัดระวังอันพึงมีตามมาตรฐานของวิญญูชน ดึงดันที่จะทำสิ่งที่ผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยอ้างการมีเสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่ออ้างความชอบธรรมในการทำการต่าง ๆ ที่ขัดต่อเหตุผลตามสามัญสำนึก จนเป็นผลให้รัฐบาลไม่สามารถรักษาความเชื่อถือและความไว้วางใจอันสาธารณชนได้มอบให้ไว้ได้ต่อไป

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไป และเป็นเหตุให้ความเสื่อมความเชื่อถือ และความไว้วางใจต่อรัฐบาลขยายตัวเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่การที่นายกรัฐมนตรีประกาศตนเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษาว่ามีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย เรื่อยมาจนกระทั่งการประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงเพื่อให้ตนเองพ้นผิดจากข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและโกงการเลือกตั้ง ความพยายามรักษาประโยชน์ทางธุรกิจของพวกพ้อง จนก่อความเสียหายแก่บ้านเมืองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหาร และการใช้อำนาจตามอำเภอใจในการจัดสรรงบประมาณและโครงการต่าง ๆ อย่างฟุ่มเฟือย ปราศจากความยั้งคิดโดยไม่ฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง

๒. ความล้มเหลวของสภาผู้แทนราษฎร

ความเสื่อมความเชื่อถือและความไว้วางใจแก่ผู้นำรัฐบาลนี้ เห็นได้ชัดว่าเมื่อขยายตัวไปถึงขนาดก็กลายเป็นชนวนให้เกิดการวิจารณ์ คัดค้าน แต่เมื่อมีการหยิบยกขึ้นบอกกล่าว ในรูปของการอภิปรายกันในสภาผู้แทนราษฎร แทนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนข้างมากจะทำหน้าที่ของตนในการรับฟังข้อเท็จจริง และถ่วงดุลอำนาจฝ่ายรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม เมื่อเสียงข้างมากในสภากลับให้การรับรองและสนับสนุนการกระทำที่ปรากฏเห็นว่าผิดอย่างแจ้งชัด โดยปราศจากเหตุผลที่พอฟังได้ เป็นเหตุให้สาธารณชนพากันลงความเห็นว่ากลไกสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตยได้ฟั่นเฟือนไป กลายสภาพจากสภาผู้แทนของราษฎรส่วนรวม ที่คอยรักษาความมั่นคง ความเชื่อถือไว้วางใจ และความสุจริตในสังคม กลายเป็นสภาพวกพ้อง ใช้เสียงข้างมากกดข่มความสำนึกผิดชอบชั่วดี และเจตจำนงในการรักษาประโยชน์ส่วนรวมไว้โดยไม่ชอบ และเป็นเหตุให้สภาไร้ความสามารถ และไม่ได้รับความเชื่อถือในฐานะที่เป็นผู้แทนของราษฎรในที่สุด เหตุการณ์ทำนองนี้ปรากฏให้เห็นซ้ำซากจำเจมาเป็นเวลานานมาก จนประชาชนสิ้นหวังต่อระบบผู้แทนราษฎรที่อาจเป็นปากเสียง และสะท้อนจิตสำนึกของตนได้

เมื่อสำนึกผิดชอบชั่วดี รู้จักแยกแยะผิดถูก และสำนึกในการรักษาประโยชน์ส่วนรวมที่มีอยู่ในหมู่ประชาชน อันเป็นสำนึกอันจำเป็น และเป็นปัจจัยแรกเริ่มในการจัดตั้งอำนาจการปกครองแผ่นดินถูกกดข่มไว้ด้วยวิธีฉ้อฉลต่าง ๆ ไม่ให้แสดงออกผ่านทางกลไกปกติที่วางไว้ตามรัฐธรรมนูญเช่นนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก นานเข้า ๆ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ประชาชนซึ่งทรงไว้ซึ่งสำนึกผิดชอบชั่วดีเหล่านั้น จะพากันต่อต้าน และหาทางขจัดข้อขัดข้องนี้เสียเอง และเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น เขาย่อมหาทางแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของตนออกมาโดยตรงนอกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการประท้วงรัฐบาลผ่านทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

๓. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อระบอบประชาธิปไตย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นพยานของความล้มเหลวของรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร ที่สมควรได้รับการพิจารณาแก้ไขเสียโดยเร็ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ที่เป็นสิ่งพึงปรารถนา ก็เพราะความเชื่อกันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยเหตุผล ไม่ใช่การปกครองโดยเสียงข้างมากตามอำเภอใจ การที่เรายอมรับเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ก็เพราะความเชื่อว่า เสียงข้างมากย่อมสะท้อนเหตุผลของคนหมู่มาก หรือสะท้อนเหตุผลสามัญสำนึกของส่วนรวมได้ดีที่สุดเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การอ้างเสียงข้างมากที่ขัดต่อเหตุผล ขัดต่อสามัญสำนึก ขัดต่อสำนึกถูกผิดอันบุคคลทั่วไปพึงมี ย่อมไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย และอันที่จริง การที่ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องอาศัยกลไกตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ ก็เพื่อถ่วงดุลเสียงข้างมากนั่นเอง และการที่มีกลไกตัดสินข้อพิพาทโดยศาลซึ่งเป็นผู้รู้จำนวนน้อยที่เชื่อว่า เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งมาตรฐานผิดชอบชั่วดี สามัญสำนึกของสังคม และหลักวิชาอันพึงยอมรับ ก็เพื่อคุ้มครองให้เสียงข้างมากตั้งอยู่ในกรอบแห่งความมีเหตุผล สอดคล้องกับสำนึกถูกผิดนั่นเอง

๔. อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

การที่ประชาชนจำนวนหลายแสนคนเข้าร่วมประท้วงรัฐบาล โดยเข้ากันเป็นหมู่พวกที่ชัดเจนภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เป็นแต่เพียงประชาชนกลุ่มหนึ่งมาชุมนุมคัดค้านรัฐบาล ดังที่มีนักการเมืองบางนายกล่าวว่าเป็นคนหยิบมือเดียว แต่เป็นการแสดงออกของประชาชนส่วนรวมในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การแสดงออกเช่นนี้เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชน ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมอันพึงได้รับความเคารพ อย่างน้อยในระดับเดียวกันกับการแสดงออกของสภาผู้แทนราษฎร

๕. ข้อเรียกร้องต่อผู้นำรัฐบาล

พวกเราเห็นว่าในเมื่อรัฐบาลไม่สามารถรักษาความเชื่อถือและความไว้วางใจจากสาธารณชนไว้ได้ โดยล้มเหลวในการให้เหตุผลอธิบายความชอบธรรมในการกระทำของตนอย่างสิ้นเชิง ได้แต่เพียงอ้างว่าตนได้รับเลือกมาด้วยเสียงข้างมากเช่นนี้ หากรัฐบาลยังจะยืนยันที่จะบริหารราชการแผ่นดินต่อไป โดยปราศจากความเชื่อถือและความไว้วางใจในความสุจริต และความสามารถของผู้นำว่าจะวินิจฉัยและตกลงใจอย่างมีเหตุผล การปฏิบัติงานก็ย่อมจะเต็มไปด้วยอุปสรรคนานับประการ และจะก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ และความไม่มั่นคงในบ้านเมืองอย่างรุนแรงต่อไปอย่างต่อเนื่อง

พวกเราขอเรียกร้องมายังผู้นำรัฐบาลด้วยความเคารพ ขอท่านได้โปรดใช้สามัญสำนึกใตร่ตรองดูว่า การที่ประชาชนจำนวนมากพากันแสดงออกทางการเมืองด้วยการเข้ายึดที่ทำการของรัฐนั้น มีเหตุผลประการใด และพวกเราใคร่ขอวิงวอนมายังผู้นำในรัฐบาลให้พิจารณาเหตุผลข้างต้นนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาวอย่างจริงจัง และหากเห็นชอบด้วยก็ขอท่านได้โปรดพิจารณาตนเองให้พ้นจากตำแหน่งไปโดยเร็ว เพื่อจะได้มีการดำเนินการคัดเลือกผู้นำทางการเมืองที่เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

๖. ข้อเรียกร้องต่อพันธมัตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

พวกเราขอเรียกร้องมายังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยใคร่เรียนมาด้วยความนับถือว่า แม้ข้อเท็จจริงทางสังคมที่ประชาชนจำนวนมากจากทั่วประเทศ ได้แสดงออกโดยปริยายว่ายอมรับให้ท่านเป็นผู้แสดงออกซึ่งเจตจำนงของปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และท่านย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะแสดงออกซี่งสำนึกผิดชอบชั่วดี และสำนึกต่อประโยชน์ส่วนรวมให้ปรากฏแก่สังคมโดยรวม และมีสิทธิโดยชอบในการกำหนดเจตจำนงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม การแสดงออกของท่านทั้งหลายย่อมต้องจำกัดอยู่ในขอบเขตแห่งความเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของบุคคลอื่นทั้งปวง

และแม้พวกเราเชื่อโดยสุจริตใจว่า การที่ท่านเข้ายึดครองที่ทำการรัฐบาล เป็นแต่เพียงการแสดงออกซึ่งสัญญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อคัดค้านการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลก็ตาม แต่การกระทำเช่นนั้นย่อมจำกัดให้กระทำได้เพียงชั่วคราว ตามสมควรแก่เหตุเท่านั้น

พวกเราเห็นว่า บัดนี้การกระทำของท่านทั้งหลายได้ดำเนินมาจนใกล้ถึงจุดสูงสุดที่พึงกระทำแล้ว ดังนั้นเราใคร่ขอเรียกร้องให้ท่านหันมาให้น้ำหนักแก่การทำหน้าที่สื่อสารมวลชน และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้การศึกษาทางการเมืองซึ่งท่านได้ทำมาอย่างดีเยี่ยมต่อไป โดยเปิดช่วงเวลาให้รัฐบาลได้ทบทวนและพิจารณาตนเองตามสมควร ปล่อยให้สาธารณชนเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดเจตจำนงทางการเมืองโดยวิถีทางปกติ และกระบวนการยุติธรรมดำเนินกระบวนการวินิจฉัยผิดถูกต่อไป หากท่านเห็นมีข้อขัดข้องสำคัญเกิดแก่บ้านเมืองอีกจึงค่อยกลับมารวมตัวกันเพื่อกำหนดเจตจำนงทางการเมืองรว่วมกับปวงชนอีกครั้งหนึ่ง

๗. ข้อเรียกร้องต่อสังคมโดยรวม

พวกเราใคร่ขอเรียนมายังสังคมโดยส่วนรวมด้วยความเป็นห่วงว่า ปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในเขตจังหวัดภาคใต้ กรณีที่ฝูงชนเข้าประทุษร้ายผู้ชุมนุมสาธารณะที่อุดรธานี และวิกฤติการณ์ทางการเมืองจากการเข้ายึดที่ทำการรัฐบาลในกรุงเทพมหานครซึ่งลุกลามไปเป็นการลุกฮือของสาธารณชนนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากเหตุทำนองเดียวกัน และแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ ซึ่งสถาบันทางการเมือง และสถาบันทางสังคม รวมทั้งสถาบันทางการศึกษายังปรับตัวได้ไม่ทัน

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า ในสังคมของเรานั้น วัฒนธรรมการโต้แย้งกันอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผล ด้วยความสุภาพ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน และการรับฟังและการไตร่ตรองชั่งน้ำหนักเหตุผลและประโยชน์ได้เสียที่แตกต่างกันก่อนการตกลงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังนับว่าอ่อนแออย่างยิ่ง การแสดงความคิดเห็นเต็มไปด้วยการกล่าวอ้างฝ่ายเดียว การประนามผู้อื่นโดยไม่เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งด้วยเหตุผลอย่างจริงจัง และอย่างเป็นระบบติดต่อกันจนเพียงพอที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระดับความรู้ และความสำนึกในวงกว้าง แม้สื่อสารมวลชนก็ได้แต่สื่อข่าวสารบันเทิง และเน้นประโยชน์เชิงธุรกิจการค้า ล้มเหลวในการสื่อสารสิ่งที่สำคัญและจำเป็นแก่สังคม วงวิชาการขาดการค้นคว้า และส่งเสริมนวัตกรรม กลไก สถาบันทางสังคม และกิจกรรมในการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ขจัดข้อขัดแย้งด้วยความฉลาด และสมประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องโดยเร็ว เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งสังคมจะต้องลงทุนสร้างเสริมให้มีขึ้นยิ่งกว่าการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ หรือการซื้อฝูงบินหรือกองรถถัง หรือ การลงทุนสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินหรือลอยฟ้าใด ๆ

ด้วยความคารวะและไมตรีจิต

จาก email ของคุณ Kittisak Prokati

0 comments:

Post a Comment