จิตอาสามืออาชีพ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 1 เมษายน 2555

วันที่ 1 เมษายน 2555 อาจจะมีความหมายต่างกันไปสำหรับแต่ละคน มันอาจจะเป็นวันแรกของเดือนที่ยังมีเงินอยู่เต็มกระเป๋า เป็นวันที่ห้างสรรพสินค้าจัดโปรโมชั่นลดราคา หรือเป็นวันเล่นโกหกอำกันในระดับสากล (April Fools Day) กระทั่งมันอาจเป็นเพียงแค่อีกวันทั่วไป ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไร

แต่สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง วันนี้เป็นโอกาสที่พวกเขาได้บอกกับสังคมไทยว่า จงอย่าได้ลืมเลือนคุณค่าของน้ำใจและพลังความตั้งใจที่พวกเรามอบให้แก่กันในตลอดช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก ช่วงเวลาแห่งพิบัติภัย ทั้งสึนามิ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาอุทกภัยที่ผ่านมา

วันนี้ พวกเขาชักชวนให้เราออกจากบ้านไปยังอุทยานเบญจสิริ เพื่อร่วมงาน “ตลาดนัดอาสาสมัคร” (Volunteer Street Fair) เป็นงานที่รำลึกถึงความตั้งใจและน้ำใจที่พวกเราเคยให้กันและกัน จนผ่านวันเวลาทุกข์นั้นมาถึงวันนี้

เราอาจคิดว่าเป็นเพราะมีภัยมา เราจึงต้องช่วยเหลือกันไปตามสภาพ จะหวังพึ่งความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐก็คงไม่ทันการณ์เป็นแน่ เราอาจแค่คิดว่าเพราะเผชิญทุกข์ด้วยกัน ใจของพวกเราส่วนใหญ่จึงถูกปลุกเร้าให้เกิดเมตตาและกรุณา เป็นจิตอาสา ถึงแม้จะตกเป็นผู้ประสบภัยแต่ก็ยังพาตัวเองออกไปกู้ภัย ไปทำอาหารกล่อง ไปแพ็คกระสอบทราย ไปบรรจุถุงยังชีพ และไปช่วยสุนัข

แต่มันยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มากกว่านั้น แม้วันนี้จะไม่มีภัยใดๆ เราก็ยังสามารถหยิบยื่นน้ำใจให้กันได้ และควรอย่างยิ่งที่จะเตรียมตัวเองให้พร้อมทั้งกายทั้งใจ การช่วยเหลือดูแลกันจึงจะเกิดประโยชน์ถ้าเรา “พร้อม”

จิตอาสาอาจถูกกระตุ้นขึ้นเมื่อประสบภัย แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราต้องรอ เราบ่มเพาะใจและพัฒนาตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอได้

ดังนี้ นอกจากพื้นที่ในอุทยานเบญจสิริจะมีนิทรรศการเล่าเรื่อง ให้ความรู้ บันทึกความทรงจำที่ผ่านมาแล้ว ยังเปิดโอกาสให้อาสาสมัครได้พบปะกัน ทั้งคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรพัฒนาสังคมด้านต่างๆ และคนที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาเองเป็นอาสาด้วยใจ ที่สำคัญคือมีพื้นที่ให้ลงมือเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมใน 3 ฐาน คือ 1.ฐานหัว พร้อมในทักษะเนื้อหาความรู้ของการเผชิญหน้าปัญหาและการกู้ภัย 2. ฐานใจ ฝึกการรับฟัง "ด้วย" ใจ และ 3.ฐานกาย คือพร้อมในการได้ฝึกลงมือทำ

อาสาสมัครที่เตรียมความพร้อมในฐานหัว จะได้ทำความเข้าใจในแนวทางการปฐมพยาบาล ได้รู้ทักษะการเอาตัวรอด การรับมือกับอันตราย วิธีการพายเรือ และการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ส่วนความพร้อมในฐานใจ จะได้รู้จักโยคะที่ปรับสมดุลใจกับกาย ฝึกการรับฟังด้วยใจ และการใช้สุนทรียสนทนา รวมทั้งกระบวนการศิลปะในการสะท้อนสภาวะใจ ส่วนความพร้อมฐานกาย เราจะได้ฝึกปฏิบัติการลงมือทดลองทำข้าวของเครื่องใช้ที่จะสู้กับภัยพิบัติ เช่น เสื้อชูชีพที่ทำจากขวดพลาสติก อุปกรณ์กันหนาว การคัดแยกรีไซเคิลขยะ และทำน้ำหมักชีวภาพ

หากจะมีใครบอกว่า การเตรียมอาสาสมัครให้พร้อมรับมือกับมหาภัยทั้งหลายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นไม่สามารถจะทำเพียงแค่นี้ได้ พวกเขาก็คงจะยิ้มให้ และตอบอย่างมั่นใจและภาคภูมิใจว่า ความพร้อม เป็นเรื่องที่สมควรเริ่มเดี๋ยวนี้ ได้รู้เดี๋ยวนี้ ถึงจะทำได้เล็กๆ แต่ก็ได้จุดประกายว่า เราจะเป็นอาสาสมัครที่ไม่ใช่มือสมัครเล่น เราจะเตรียมพร้อมกันเพื่อรับมือกับภัย

วันนี้จึงเป็นวันที่มีความหมาย เป็นวันของความมุ่งมั่นตั้งใจโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่มองไกลไปถึงวันที่สังคมไทยฝ่าฟันจนพ้นภัยไปด้วยกันในงาน 'ตลาดนัดอาสาสมัคร' www.volunteerspirit.org

เรียนศิลปะ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2555

การเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษามีอยู่หลากหลาย บางส่วนเป็นการประยุกต์มาจากการปฏิบัติภาวนาในศาสนา บางส่วนเป็นวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยใช้การบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น ระหว่างจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ ด้วยลักษณะเช่นนี้ แนวปฏิบัติบางอย่างจึงมีลักษณะโดดเด่นและแตกต่าง ดังเช่น จิตตศิลป์ อันเป็นแนวทางที่ใช้ศิลปะแขนงต่างๆ เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้นั่นเอง

เหตุที่จิตตศิลป์ หรือกระบวนการเรียนรู้ด้วยศิลปะนี้ สามารถเรียกความสนใจได้มาก น่าจะเป็นลักษณะเด่นต่างจากกระบวนการอื่นๆ ตรงที่แต่ละคนต่างได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองขึ้นมา อาจเป็น ภาพวาด งานปั้น ศิลปะจัดวาง หรือแม้แต่การจัดดอกไม้ ส่วนกระบวนการอื่นมักเป็นการฝึกรู้เนื้อรู้ตัว และการสื่อสาร ซึ่งไม่ได้มีชิ้นงานออกมาเป็นรูปธรรม แต่เพราะศิลปะเป็นได้มากกว่าการสื่อสารบอกคนอื่น เนื่องจากมันทำให้เราได้สะท้อนตัวเอง

การสะท้อนตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากของการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเอง แต่การจะเข้าใจตัวเองได้อย่างแท้จริงและลึกซึ้งนั้น เราต้องเห็นเสียก่อนว่า นอกจากความคิด เรายังมีความรู้สึก มีอารมณ์ มีความเชื่อ กระทั่งร่องพฤติกรรมหลายอย่างที่เราไม่เคยได้รู้ตัวมาก่อน

การสร้างงานศิลปะเสมือนมีกระจกหลายบานที่จะฉายสะท้อนตัวเราออกมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี ความหนักเบาของเส้น รูปร่างที่ปรากฏขึ้นของงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนบอกสภาวะในตัวเราในใจเราออกมาอย่างไม่ปิดบังอำพราง เมื่อได้เห็นผลงานที่เราทำเสร็จ ก็เท่ากับได้เห็นถึงความลึกและความซับซ้อนในตัวเรา

ในทางกลับกัน อุปสรรคใหญ่ที่จะทำให้เราพลาดการเรียนรู้ในกระบวนการศิลปะ มักเป็นความเชื่อว่าเราเป็นคนวาดรูปไม่เก่ง เราเป็นคนไม่มีหัวทางศิลปะ หรือแม้แต่ความเชื่อว่าศิลปะเป็นเรื่องของความงาม ไม่ใช่เรื่องของการเรียน เมื่อตั้งต้นด้วยความเชื่อที่ปิดกั้นตัวเองจากกระบวนการเสียแล้ว ก็ทำให้ยากยิ่งนักที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือทำให้เห็นตัวเองได้

ช่วงเริ่มของกระบวนการจึงต้องพยายามสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ต้องให้ทุกคนมั่นใจว่าการทำงานศิลปะของแต่ละคนนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของการเข้าใจตนเองเป็นหลัก เรื่องความสวยงามหาใช่สาระสำคัญ และไม่ได้เป็นเป้าหมายของกระบวนการแต่อย่างใด มิเช่นนั้นแล้วหลายคนก็จะเริ่มสร้างงานศิลปะด้วยความเกร็งและกดดัน บางคนก็ทำงานจนกลายเป็นการแข่งขัน พยายามทำให้ดูดี ซึ่งมีแต่จะพลาดโอกาสเรียนรู้ที่แท้จริงของกระบวนการนี้ไป

เมื่อได้เริ่มจากการผ่อนคลายและวางใจไม่คาดหวังแล้ว ในระหว่างการสร้างงาน ทั้งสี สัมผัส และลวดลาย จะดึงดูดและชักนำให้เราถ่ายทอด บอกเล่า และเปิดเผยถึงสิ่งที่อยู่ภายในออกมาโดยไม่บีบคั้นบังคับ เป็นการแสดงออกทั้งความคิดและความรู้สึกที่อยู่นอกเหนือการใช้ถ้อยคำภาษา ยิ่งเราที่ชินกับการใช้ความคิดวิเคราะห์มาก หากได้ออกมาสู่การใช้อารมณ์และความรู้สึกในการบอกเล่าบ้าง ก็เท่ากับเราได้ใช้อีกมุมในการหันกลับมามองตัวเอง หรือบางครั้งงานที่เราสร้างอาจทำให้เห็นบางด้านของตัวเองที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน หรือสะท้อนสภาวะภายในใจที่ยากจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดหรือด้วยการใช้ความคิด

ศิลปะได้พาเรายังพื้นที่หนึ่งซึ่งไม่คุ้นเคย และเพราะไม่คุ้นเคยนี่เองที่ทำให้เราไม่ยึดติดกับกรอบ ไม่ทำตัวเดิมๆ แบบอัตโนมัติ เมื่อเห็นตัวเองมากขึ้น ก็ย่อมเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น เป็นการเรียนที่มีเป้าหมายให้เข้าใจ ไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นเลิศหรือความสวยงาม

ถูกตั้งคำถาม



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2555

หลายปีมาแล้ว ตอนนั้นยังเป็นช่วงแรกๆ ที่บรรดาองค์กรธุรกิจหันมาสนใจจิตตปัญญาศึกษา ในฐานะแนวทางการฝึกอบรมใหม่ให้แก่บุคลากรของบริษัท เพื่อนผม ซึ่งเป็นกระบวนกร มีเรื่องเล่าว่า พอถึงช่วงบ่าย ผู้เข้าอบรมที่ทยอยเดินกลับเข้ามาในห้องต่างพากันชะงักอีกรอบ จากรอบแรกตอนเช้าก็งงๆ แล้วเพราะเห็นว่าต้องนั่งกับพื้นบนเบาะที่เรียงเป็นวงกลม ช่วงบ่ายเบาะถูกจัดวางใหม่ ให้เป็นแถวเป็นแนวยาวสามสี่แถว ไฟในห้องก็ถูกหรี่ลงเหลือเพียงแสงสลัว ยิ่งกว่านั้น กระบวนกรยังบอกให้เลือกเบาะแล้วนอนหงาย ปล่อยแขนวางไว้ข้างลำตัว

ถึงตรงนี้หลายเสียงก็ดังแทรกขึ้น “ทำไมต้องนอนด้วย?” หรือ “กิจกรรมที่ให้นอนอย่างนี้มีจุดประสงค์อะไร?” เจอคำถามส่งมาเป็นชุดแบบนี้ ถึงทีกระบวนกรชะงักและอึ้งไป เพราะแต่ไหนแต่ไรไม่เคยมีคำถามเชิงระแวงสงสัย โดยมากให้ทำอะไรก็ทำ เพราะรู้อยู่แล้วว่านี่เป็นการอบรมที่ไม่ใช่สัมมนาวิชาการ เขาบอกว่า ในหัวพลันนึกถึงเพื่อนๆ มากเลยว่าถ้าเป็นคนอื่นๆ จะตอบหรือดูแลผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้อย่างไร

เพราะกระบวนการส่วนใหญ่ที่เราออกแบบกันไว้นั้น ไม่ใช่รูปแบบทั่วๆ ไปที่คุ้นเคย เช่น บอกจุดประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้ หรือมีข้อสรุปไว้เฉลยให้เสร็จในตอนท้าย แต่กระบวนการนี้จะเน้นให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้มีประสบการณ์แปลกใหม่ และบทเรียนที่เกิดขึ้นจะเป็นการเรียนรู้เฉพาะของแต่ละคน อาจมีประเด็นหลักๆ ที่เห็นร่วมกันแน่นอน แต่ความเป็นมาของคนต่างกันย่อมจะทำให้เขาพบบทเรียนที่ผิดแผกกัน ด้วยเหตุนี้ พวกเราที่ฟังเรื่องเล่าแล้วก็พอเข้าใจได้ถึงสถานการณ์ลำบากใจของเพื่อน

พวกเราพากันสนทนาหาดูว่าเหตุการณ์นี้บอกอะไรเราบ้าง ก็พบว่า เดิมนั้นผู้เข้าร่วมมักมาจากแวดวงการศึกษา หรือเป็นคนที่มีความสนใจจะเรียนในแนวทางใหม่ๆ แต่ครั้งนี้ ทุกคนเป็นพนักงานบริษัท แถมเป็นบริษัทใหญ่ติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศ ตัวพนักงานที่มาก็เป็นระดับผู้บริหารรุ่นกลาง เป็นคนรุ่นใหม่ที่หัวดี และทำงานหนัก จะว่าไปก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเล็กๆ ผ่านการตั้งคำถาม และดูเหมือนจะไม่ยอมทำตาม ถ้าไม่รู้ว่าจะถูกมอบหมายให้ทำอะไรกันแน่

การอบรมครั้งนี้จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ให้บทเรียนแก่กระบวนกรได้มากเช่นเดียวกัน เพราะความเชื่อพื้นฐานในกระบวนการของเราคือ กิจกรรมต้องสามารถพาผู้เข้าร่วมไปพบประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ให้เขาทำอะไรไปพ้นจากพฤติกรรมเคยชินเดิมๆ เพื่อเปิดมุมมองการเรียนรู้ใหม่ อะไรที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องดำเนินไปอย่างไรและได้ผลลัพธ์อะไรนั้น ไม่ใช่การเรียนที่จะช่วยให้รู้จักเข้าใจตนเองได้มากนัก

ฉะนั้นแล้ว การที่ได้พบกับผู้เข้าร่วมที่ตั้งคำถามกลับ และปฏิเสธที่จะทำตาม ถ้าไม่รู้แน่ชัดว่าจะทำไปเพื่ออะไร ก็ย่อมจะเป็นการเรียนรู้ในทำนองเดียวกัน เป็นโอกาสที่พาให้กระบวนกรออกสู่บรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย ให้ได้เห็นว่าไม่มีวิธีการหนึ่งเดียวที่ใช้ได้ผลกับคนทุกกลุ่ม การได้จัดอบรมแนวจิตตปัญญาศึกษาให้แก่องค์กรธุรกิจจึงได้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการออกแบบกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ตนเองขึ้นมาอีกมากมาย แทนที่กระบวนกรจะบังคับขอให้ทุกคนทำตามวิธีการของตน

การได้ตั้งคำถามต่อตัวเองว่า “เราใช้กิจกรรมรูปแบบเดิม จนเคยชิน และพลาดประสบการณ์การเรียนรู้อะไรหรือไปหรือเปล่า?” จึงเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง เราอาจจัดกิจกรรมและชักชวนให้คนอื่นเรียนรู้ได้ แต่เราก็ต้องกล้าตั้งคำถามกับความเคยชินเดิมๆ และไม่มองข้ามโอกาสการเรียนรู้ของตนเองด้วยเช่นกัน