อัศจรรย์ของการฟัง



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2554

ไม่ว่าเป็นการประชุมหรืออบรมของชาวไทย เกือบทุกงานมักพบเห็นลักษณะคล้ายกันประการหนึ่งในผู้เข้าร่วม นั่นคือการนิ่งเฉยไม่ตอบคำถาม ไม่พยายามแสดงความคิดเห็น

หลังจากทำสำรวจเองอย่างง่ายมานานหลายปี พบว่าสาเหตุเบื้องหลังของอาการนี้ คือความเชื่อฝังหัวว่า การพูดที่ดีต้องมีสาระแม่นยำถูกต้อง หรือมีเทคนิคการเล่าเรื่องดี จึงจะมีผู้สนใจฟัง หาไม่แล้วคนก็จะเมินเฉย ยิ่งกว่านั้นอาจดูแคลนผู้พูดเอาได้ว่า นำเสนอไม่น่าสนใจ ไม่มีความรู้

ผู้เข้าร่วมจำพวกที่กล้าพูดต่อหน้าสายตาหลายสิบหลายร้อยคู่ จึงมักเป็นผู้มั่นใจในเรื่องเล่า สาระ หรือทักษะการพูดของตนเอง ที่เหลือนั้นถ้าไม่ถูกคะยั้นคะยอให้พูด หรือไม่ถึงคิวตามลำดับต้องแสดงความเห็น ก็จะนิ่งเฉย

ความเชื่อว่า ต้องพูดให้ดีจึงจะมีคนฟังจึงกลายเป็นอุปสรรค ทำให้เราพลาดโอกาสสื่อสารเรื่องราวและความรู้สึกอีกมากมายในใจ

สิ่งสำคัญที่เราลืมไปยิ่งกว่าการพูด คือคุณภาพของการฟัง เป็นคุณภาพที่เปี่ยมไปด้วยการอดทนรอคอย เปิดรับ ไม่ด่วนตัดสิน และกระตุ้นให้กำลังใจ

ในการฝึกปฏิบัติอย่างหนึ่งตามแนวทางจิตตปัญญา เราให้ผู้เข้าร่วมสองคนผลัดกันเล่าเรื่องของตนให้อีกฝ่ายฟัง ต่างมีเวลาเล่าคนละ 5 นาที ระหว่างนั้นฝ่ายคนฟังจะไม่แทรกคำ ไม่ขัดจังหวะถามกลางครัน ในตอนท้ายมักได้พบความแตกต่างมากมายในผู้เข้าร่วมแต่ละคู่ซึ่งมีพฤติกรรมต่างกัน คู่ที่อดทนตามกติกาไม่ได้ก็ยอมรับว่ารู้สึกอึดอัดจนหยุดเล่า ต่างคนต่างหันไปมองทางอื่น บางคู่ก็พูดคุยได้จนจบเวลาแต่ก็ด้วยพลั้งเผลอเป็นการสนทนาพูดโต้ตอบกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ บรรดาคู่ที่ฝ่ายเล่าเรื่องมาเผยในภายหลังว่าไม่ได้เตรียมไว้ว่าจะเล่าได้มากมายขนาดนั้น บ้างว่ารู้สึกถูกดึงดูดให้อยากถ่ายทอดออกมา บ้างเล่าทั้งเรื่องทั้งสีหน้าและท่าทาง ทั้งหมดนี้มีจุดร่วมเดียวกันคือ ได้คู่ผู้ฟังที่สบตา ส่งสายตาให้กำลังใจ มีสีหน้าที่เกาะติด และตลอดเวลาที่ฟังยังไม่หันหน้าเบนสายตาหนีไปที่อื่น แม้ว่าไม่ได้เอ่ยอะไรออกมาก็ตาม

หลายคนในกลุ่มนี้ยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่คนพูดเก่ง เล่าเรื่องไม่ดี ไม่มีทักษะการนำเสนอ แต่เขาเผยเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้อย่างต่อเนื่องและน่าสนใจ ใช่ว่าจู่ๆ เขาจะกล้า หรือว่ามีทักษะขึ้นมากะทันหัน เรื่องเล่าดีๆ ที่เกิดขึ้นมาได้ นั่นเพราะว่าอีกฝ่ายให้การฟังที่มีคุณภาพ

ความเชื่อว่าต้องพูดให้ดีจึงจะมีคนฟัง นอกจากจะกดดันทำให้เราไม่กล้า ขาดความมั่นใจ ยังมีผลให้เราด่วนประเมินตัดสินเมื่อเราได้ฟังคนอื่นเขาพูดไปโดยปริยาย มันทำให้เราไม่ค่อยอดทนรอคอยให้เขาพูดจนจบ ถ้าไม่ละความสนใจไปก่อน ก็ชิงตัดบทกลับเป็นฝ่ายพูดเสียเอง หรือไม่เช่นนั้นก็สิ้นความสนใจในการสนทนาเพราะคิดว่ารู้เรื่องที่จะเล่ามาทั้งหมดแล้ว

คุณภาพของการฟังนั้นไม่ได้เป็นเพียงความสามารถในการจับประเด็นใจความสำคัญ หรือจดจำเนื้อหาสาระได้ละเอียดครบถ้วน แต่เป็นคุณภาพของการเปิดรับปัจจุบันขณะตรงหน้า เปิดกว้างเปิดรับและรอคอยอย่างไม่เป็นทุกข์อึดอัด ไม่ด่วนตัดสินตีค่าประเมินราคา วางใจในความคิดความเห็นที่แตกต่าง และมอบความเมตตาให้กำลังใจกัน

ด้วยคุณภาพนี้ การฟังจึงเป็นวิหารธรรมสำหรับเรา ให้ฝึกฝนการมีสติรู้เนื้อรู้ตัวได้ ทั้งยังเป็นคุณภาพเดียวกันกับหลักการของการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ในแนวคิดสุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นสิ่งล้ำค่าที่เรามอบให้แก่ตัวเองและคู่สนทนาได้ตลอดเวลา

งานดาษดาด



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม 2554
(ใช้ชื่อบทความในฉบับตีพิมพ์ว่า "มืออาชีพ")

หลายวันก่อนผมเดินผ่านย่านสยามสแควร์ในตอนสาย ที่หน้าโรงหนังลิโด ริมทางบาทวิถี มีกรอบป้ายใสไว้ใส่โปสเตอร์หนังที่กำลังเข้าฉาย พนักงานชายคนหนึ่งถือโปสเตอร์แผ่นใหญ่หลายชิ้นไว้ในมือ อีกมือก็ฉีกกระดาษกาว เปิดป้ายใส่โปสเตอร์ พร้อมทั้งกระดาษบอกเวลารอบฉายอีกหลายแผ่นเล็กๆ กลางแดดร้อน คนเดินพลุกพล่าน เขาทำงานนี้เพียงลำพังคนเดียว

ผมหยุดยืนอยู่ข้างๆ ตามความเคยชิน จะดูว่าสัปดาห์นี้มีหนังใหม่เรื่องไหนเข้าฉายบ้าง แต่กริยาท่าทางของพนักงานคนนี้ทำให้ผมหันเหความสนใจจากโปสเตอร์ไปสังเกตเขาแทน สิ่งที่ผมสนใจไม่ใช่อากัปกิริยาการทำงานด้วยความชำนาญ หรือเทคนิคการยึดกระดาษให้เข้าที่โดยไม่ต้องมีใครช่วย หรือวิธีการเตรียมแผ่นต่อไปอย่างไรไม่ให้กองแผ่ที่พื้นจนคนสัญจรไปมาพลั้งย่ำเอาได้

ผมสนใจที่เขาไม่รีบร้อนทำงานแปะโปสเตอร์ให้แล้วเสร็จกันไป ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ช้าจนกินเวลาเกินจำเป็น เขาพยายามทาบกระดาษลงไปให้พอดี แล้วเห็นมุมไหนเอียง ส่วนไหนไม่เรียบ เขาก็ค่อยดึงออกมาทาบ และติดกลับเข้าไปใหม่

ที่สำคัญคือเขาไม่มีสีหน้าหงุดหงิดรำคาญแต่อย่างใด แม้ว่าใบหน้าจะไม่ได้ระบายยิ้ม แต่ก็ตั้งใจและใส่ใจกับงานเล็กๆ ตรงหน้ามาก ทำให้นึกถึงการฝึกอบรมครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องว่าด้วยกระดาษฟลิปชาร์ทที่เราใช้เขียนสรุปและสะท้อนบทเรียนในแต่ละช่วงของการฝึกอบรม และทีมผู้ช่วยกระบวนกรจะนำไปกระดาษติดไว้บนฝาผนังของห้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมาอ่านและจดบันทึกเองในภายหลังได้

การอบรมครั้งนั้น ผู้ช่วยสองคนรีบคว้าเอากระดาษไปติด ในจังหวะที่ผู้เข้าร่วมอบรมไปพักดื่มกาแฟ ทั้งคู่รีบติดโดยใช้เวลาน้อยมาก กระดาษแผ่นใหญ่ห้าหกแผ่นถูกติดไว้รอบห้องในเวลาไม่กี่นาที แต่หลังจากเริ่มการอบรมช่วงต่อไปในอีกไม่ทันข้ามวันเช่นกัน กระดาษทั้งหลายก็ค่อยๆ ทยอยหลุดลงมา ต้องหมั่นไปติดไปปะเพิ่ม บางแผ่นอาการหนักถึงขั้นต้องรื้อออกมาติดใหม่ เพราะใช่ว่าของเดิมก่อนหลุดออกมาจะสวยงาม จะได้แนวตรง และเรียบตึงหรือก็เปล่า มันทั้งเอียงทั้งย่น

กระบวนกรจึงต้องบอกผู้ช่วยในฐานะกัลยาณมิตรผู้พี่ตักเตือนผู้น้อง ชี้ให้เขาเห็นว่าประเด็นที่คุยกันนี้ไม่ใช่เรื่องการทำงานให้สมบูรณ์แบบ รวมทั้งไม่ได้ตำหนิเพราะทำงานผิดพลาด การติดกระดาษนี้เองคือการทำงานเพื่อการฝึกฝนตัวเราเอง บนเส้นทางจิตตปัญญา ฝึกอยู่กับปัจจุบันขณะตรงหน้าอย่างชื่นชมยินดี โดยใส่ใจและประณีตในภารกิจการงานที่กระทำ

หากหลงคิดหลงเชื่อไปว่างานที่ทำนี้ไม่สลักสำคัญ เป็นงานยิบย่อยรายทาง ยิ่งทำให้พาใจออกห่าง ไม่เอาใจใส่ ขณะเดียวกันต้องไม่หลงไปทำอย่างเพลินจนกินเวลาเกินพอดี ติดกระดาษบนฝาผนังก็เป็นงานอันมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันกับการฝึกอบรมทั้งหลักสูตร งานเล็กงานน้อยในการอบรมต่างเป็นงานเพื่อการรู้จักรู้ใจตนได้ทั้งสิ้น จะงานติดกระดาษ แจกปากกา หรือส่งไมค์ ล้วนเป็นงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสอนการบรรยาย

ในจิตตปัญญาศึกษานั้น ทีมงานต้องไม่เพียงแค่พูดให้ผู้เข้าร่วมเขาฟัง และไม่เพียงแค่นำกิจกรรมให้เขาทำเท่านั้น แต่ต้องให้เขาได้เรียนรู้จิตตปัญญาจากการทำให้เขาดู และเป็นให้เขาเห็น ทั้งในบทบาทการเป็นผู้บรรยายความรู้ และงานสนับสนุนทุกอย่าง แม้กระทั่งการติดกระดาษ

ภารกิจการงานที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพราะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า หรือได้รับผลตอบแทนมากกว่า ทุกงานย่อมเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เมื่อได้รับความทุ่มเทเอาใจใส่ของเรา งานใดๆ ย่อมเป็นงานที่มีความหมายเมื่อเราให้คุณค่าความสำคัญของสิ่งที่เราลงมือทำ

ล้างจาน



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2554

ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “ล้างจานเพื่อล้างจาน” ในงานภาวนาของสังฆะหมู่บ้านพลัมเมื่อ 7 ปีก่อน ผมยังเกิดความสงสัยขึ้นเล็กน้อยในใจว่าการล้างจานก็ทำไปเพื่อจะได้ทำให้จานสะอาดน่ะสิ การบอกว่าล้างจานเพื่อล้างจานดูจะไม่เป็นกำปั้นทุบดินไปหน่อยหรือ

หลังจากได้รับคำอธิบายจึงได้เข้าใจมากขึ้นว่า การปฏิบัติตามแนวทางของหมู่บ้านพลัมนี้มีความลึกซึ้งในความเรียบง่ายธรรมดาอยู่มาก และสามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ไม่ยากเลย

อีกทั้งในระหว่างใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในกิจกรรมการภาวนานี้ แต่ละคนที่มาเข้าร่วมทุกเพศทุกวัยก็ดูจะใส่ใจกับการล้างจานเป็นอย่างดี รับประทานเสร็จก็ทะยอยยกจานกันไป ของใครของมัน เวลาล้างก็ค่อยๆ ล้าง ไม่รีบร้อน แทบไม่ได้ยินว่ามีเสียงพูดคุยกันในระหว่างล้างจาน เป็นภาพที่น่าชื่นชม และเชิญชวนให้ไปทำเองที่บ้านมาก

ครั้นกลับมาก็พบว่าไม่ง่าย ด้วยความที่บรรยากาศในสถานที่ภาวนา และผู้คนที่เป็นกัลยาณมิตรแวดล้อมนั้น ช่างเอื้ออำนวยให้เรามีใจจดจ่ออยู่กับงานปัจจุบันมาก ถึงคราวที่ต้องล้างจานก็เต็มที่กับภารกิจตรงหน้า ส่วนสถานการณ์ที่บ้านกลายเป็นอีกอย่าง หลายครั้งงานล้างจานเป็นภารกิจรีบด่วน ต้องรีบทำให้เสร็จ จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น หรือไม่ก็ล้างไปเบื่อไป อยากไปดูหนังฟังเพลงที่มันสนุกและผ่อนคลายกว่า บางครั้งตัวก็ยืนอยู่หน้าอ่าง มือก็ถือจาน ยังพบว่าใจกำลังลอยไป ปล่อยใจเพลิดเพลินกับการนึกถึงเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ที

ช่วงค่ำได้มานั่งปฏิบัติภาวนาตามรูปแบบที่ทำเป็นประจำ จนเสร็จแล้วและกำลังผ่อนคลาย ทบทวนชีวิตตลอดทั้งวันดูถึงได้สังเกตเห็นว่า ประสบการณ์ที่มีในการภาวนาเทียบกับการล้างจานแล้วแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ระหว่างนั่งภาวนาก็มีทั้งเผลอคิด ใจลอย รู้สึกเมื่อย ซึ่งเป็นภาวะที่มีเกิดขึ้นในการล้างจานเหมือนกัน เพียงแต่ความมุ่งมั่นตั้งใจต่างกันเท่านั้น

ในการภาวนา ถ้ารู้ว่าเผลอหลุดคิดไปก็รีบกลับมาที่คำบริกรรม หรือตามลมหายใจ นั่นเพราะมีใจมุ่งมั่นศรัทธา เห็นว่าเป็นภารกิจสำคัญ แต่ในทางกลับกัน ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในใจเลยสำหรับงานบ้านธรรมดาสามัญดังเช่นการล้างจาน มิน่าเล่า ทำไมเผลอใจในระหว่างล้างได้ง่ายดายและแทบไม่พยายามกลับมารู้เนื้อรู้ตัว

เช่นนี้แล้ว เพียงแค่เราเห็นความสำคัญและมีความมุ่งมั่นตั้งใจในภารกิจการงานใดๆ การงานนั้นก็ย่อมเป็นการปฏิบัติภาวนาให้เราเห็นสภาวะความเป็นไปของใจได้เช่นเดียวกัน

ล้างจานเพื่อล้างจานจึงเป็นให้สติมาจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ เป็นการดึงใจได้อยู่ในปัจจุบันกับกิจกรรมตรงหน้า หาใช่แค่งานบ้านที่ไม่ความสลักสำคัญ

การได้เผชิญโจทย์ว่าทำอย่างไรให้การล้างจานได้เป็นการเจริญสติ ยังเป็นความท้าทายสำหรับคนอีกกลุ่มที่เห็นการล้างจานเป็นความเพลินจนใช้เวลามากเกินไป ทำอย่างไรจะตั้งอยู่ในความพอดี

แนวทางของหมู่บ้านพลัมสอนว่า เราจงถือเอาการล้างจานเสมือนหนึ่งการขัดถูทำความสะอาดหิ้งพระและแท่นบูชา ล้างจานแต่ละใบในมือประหนึ่งกำลังทำความสะอาดให้องค์พระพุทธ ด้วยเจตนานี้เอง ทำให้เราทำงานบ้านด้วยความศรัทธาและตั้งใจ เห็นความหมายและคุณค่าแห่งการฝึกตนอยู่ในงาน

กิจกรรมทุกประการในชีวิตประจำวันจึงสามารถให้บทเรียนและฝึกให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ ใช่เพียงแต่การปฏิบัติภาวนาตามรูปแบบเท่านั้น ล้างจานได้ก็ย่อมล้างใจได้ ชีวิตที่มีงานสารพัดสารพันแต่ละวันก็ย่อมสามารถเป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นชีวิตที่ฝึกฝนให้เท่าทันใจได้เช่นกัน