Generation Now - ต้องได้เดี๋ยวนี้



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2553

เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เราได้เห็นสื่อมวลชนต่างพากันประมวลข่าวจัดอันดับเหตุการณ์สำคัญ นอกจากจะทบทวนปีที่ผ่านไป บางส่วนก็ยังได้คาดการณ์ถึงปีใหม่นี้ว่าจะมีสิ่งใดอยู่ในกระแสความสนใจของสังคมบ้าง มีสกูปหนึ่งได้ทำนายแนวโน้มสังคมเอาไว้ อาทิ กระแสผลิตภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อมจะได้รับความนิยมต่อเนื่องและถูกผลิตออกมามากขึ้น รวมทั้งโอกาสที่เราจะได้เห็นภาพยนตร์ 3 มิติซึ่งสมจริงยิ่งกว่าก่อน เกือบทั้งหมดก็พอจะคาดเดาได้และไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่นัก แต่มีเรื่องที่น่าสนใจ คือสมญานามที่สื่อเขาตั้งให้แก่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ว่า Generation Now

เท่าที่ผ่านมามีคำเรียกขานคนแต่ละรุ่นไม่ว่าจะเป็นรุ่นเบบี้บูม (Baby Boomer) หรือรุ่น Generation X ซึ่งต่างก็มีลักษณะพิเศษไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมตามช่วงเวลาที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นตามยุคสมัย

ส่วนรุ่น Generation Now ที่หมายถึงเด็กและวัยรุ่นในยุคนี้ล่ะ? สื่อเขาให้นิยามไว้ว่า พวกเขาเป็นคนที่ต้องการได้ทุกสิ่งอย่างรวดเร็วทันใจและทันทีทันใด การรอคอยถือว่าเป็นต้นทุนราคาแพง พวกเขาจะยอมจ่ายเงินเพื่อจะไม่ต้องรอ หรือรอให้น้อยลงอีก คำพูดติดปากของคนรุ่นนี้คือ “จะเอาเดี๋ยวนี้ (I want it now.)” ในเรื่องเดียวกันยังขยายความอีกว่าการตลาดการค้าที่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่นี้จึงเน้นโฆษณาถึงความรวดเร็ว ไม่ว่าจะ “อินเตอร์เน็ตต้อง Hi-speed” “อาหารกล่องที่อุ่นแค่ 2 นาทีก็พร้อมรับประทานได้” “คอนโดใกล้รถไฟฟ้าใช้เวลาเดินทางเพียง 5 นาที” เรียกได้ว่าต้องเน้นเรื่องนี้ถึงจะเข้าถึงใจคนรุ่นใหม่ได้

ฟังดูเหมือนค่านิยมแบบนี้จะไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่แล้วจริงไหมครับ ความต้องการให้อะไรต่อมิอะไรรวดเร็วทันใจนี้กลายเป็นค่านิยมหลักของพวกเราแทบทุกคนในสังคมโลกปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว อาจจะดูเข้าทีที่เราได้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สินค้าและบริการถูกเสนอให้เราได้ดีและเร็วขึ้นเรื่อยๆ

แต่เราอาจลืมไปว่า ยิ่งเร่งสิ่งนอกตัวเราให้เร็วเท่าไหร่ ใจของเราก็ยิ่งถูกเร่งเร็วมากขึ้นตามไปด้วย

การต้องการความเร็วให้ “ทันใจ” ก็คือการสร้างความคาดหวัง เมื่อเกิดความคาดหวังเราก็เอาใจไปผูกกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เมื่อมันมาถึงไม่ทันกับที่ใจคาดหวังไว้ เราก็ไม่ “ทัน” กับใจของเราที่เผลอไปไม่พอใจและตกเป็นทุกข์

ความต้องการให้ได้อะไรๆ ตามใจเดี๋ยวนี้ กลับจะยิ่งทำให้เราออกห่างจากใจของเราไปมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีอาจจะช่วยให้หลายอย่างในชีวิตเร็วขึ้นได้จริง แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความเคยชินให้เราและกระพือความต้องการรวมทั้งสร้างความคาดหวังที่สูงขึ้นไปด้วย เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีเรื่องไหนเร็วไปกว่าใจของเราที่มันคาดหวังและต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้แน่นอน ยิ่งไล่คว้าตามความต้องการยิ่งต้องไล่ตามให้เร็วขึ้นไปอีก

ช้าอีกสักนิด แต่ไม่ใช่เคลื่อนไหวให้ช้าลง ไม่ใช่ทำงานเฉื่อยลง แค่รั้งใจให้ช้า เปิดโอกาสให้เราได้อยู่กับใจของเราในเดี๋ยวนี้ตอนนี้ เพราะมันง่ายกว่าและเหนื่อยน้อยกว่ามากครับ อย่าได้ตามกระแสและเชื่อสื่อใดๆ ที่รายงานว่าคนรุ่นเราหรือคนรุ่นไหนเป็นคนอย่างไร เรานิยามตัวเองกันใหม่ได้ว่าเราเป็น Generation Now ที่ให้ใจของเราอยู่ในปัจจุบัน ไม่ตั้งความคาดหวังว่าสิ่งต่างๆ จะต้องได้อย่างใจ เราสามารถพอใจกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า และรู้เท่าทันใจที่มักจะเผลอวิ่งออกไป นี่แหละครับ Generation Now