ไม่มีถูก ไม่มีผิด



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2554

การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เป็น “เจ้าของการเรียนรู้”เป็นสิ่งสำคัญมาก มากยิ่งไปกว่าการเตรียมการสอนของอาจารย์ สื่อการเรียน หรือเทคนิคการถ่ายทอด โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเองดังเช่นจิตตปัญญาศึกษา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา ได้จัดการอบรมเรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิชาทักษะชีวิต สำหรับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1

บทเรียนที่กระบวนกรเปิดขึ้นเป็นสิ่งแรกจึงมิใช่เรื่องประวัติความเป็นมา หรือว่าหลักการพื้นฐานในการสื่อสาร เพราะนักศึกษาทั้งหลายคงคุ้นเคยกับการเรียนตามแบบแผนจนชินชา และคาดเดาในใจไปแล้วว่าต้องมาเรียนอะไรเพื่อเก็บชั่วโมงให้ได้คะแนนผ่านในวิชานี้บ้าง

ทันทีที่ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกันจากกิจกรรมสนุกสนานผ่อนคลายและได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันแล้ว กระบวนกรก็เริ่มแนะนำว่าในสองวันของการอบรมนี้เราจะเรียนกันอย่างไร แนวคิดสำคัญที่นำมาบอกเล่าเป็นลำดับแรกคือการแนะให้เห็นว่าแต่ละคนมีพื้นที่คุ้นชินที่มักทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นประจำโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ท้าทายที่เรามักจะหลีกเลี่ยงเพราะรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ปลอดภัย ไม่เคยทำ หรือไม่กล้าทำเพราะกลัวว่าจะผิดพลาด สองวันของการเรียนรู้นี้จึงชี้ชวนให้เราสังเกตตัวเอง และกล้าออกจากความเคยชิน มาลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ ไม่กล้าทำ เมื่อใดถูกถามขอให้สบายใจที่จะตอบอะไรก็ได้ “ไม่มีถูก ไม่มีผิด”

สิ่งที่ไม่ได้บอกก็คือ การเรียนตามรูปแบบที่พวกเราต้องพบเจอมาตั้งแต่สมัยประถม มัธยม จนอุดมศึกษานั่นแหละที่ทำให้เราคุ้นเคยและเฉยชาต่อการเรียน กลายมาเป็นพฤติกรรมและความเชื่อของเราว่าต้องท่องจำเนื้อหาและตอบให้ถูกต้องตามที่ถูกสอนมา ถ้าจำผิดหรือตอบพลาดก็อาจถูกตำหนิลงโทษได้

แต่สำหรับการเรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเองนั้นการเรียนโดยทำตามอย่างที่ตำราบอกนั้นไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจใหม่ เราจะได้แต่รู้จักและจดจำเนื้อหาสาระได้ ทว่าไม่อาจทำให้เราในฐานะผู้เรียนเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างความรู้กับชีวิตของเรา และลงท้ายก็ไม่ได้นำเอาไปใช้จริงในชีวิต

เรียนเพื่อจะจำให้ได้ถูกต้อง ก็ได้แค่รู้จำสาระเนื้อหาเข้าสมอง แต่ว่าความรู้ไม่ได้เข้าไปถึงใจ

สุนทรียสนทนาเป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่เราใช้เพื่อเข้าใจกันและกัน และเพื่อให้เท่าทันความคิดความเชื่อ เพียงการจดจำหลักการและวิธีการได้ แต่ไม่ได้เปิดใจรับสุนทรียสนทนาเข้ามาอยู่ในการใช้ชีวิตของตนเอง ก็เท่ากับว่าเป็นการเรียนรู้ตามคำบอกเล่า หาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้นี้เองไม่

เมื่อนักศึกษาพยาบาลกล้าที่จะบอกว่าตนเองคิดเห็นอย่างไรต่อกิจกรรม เลือกที่จะเผยว่าเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นในใจ ยอมรับว่าเห็นตนเองตกร่องความคิดความเชื่อ หรือเผลอด่วนตัดสินคำพูดของใคร สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้ที่เขาพาตัวเองออกไปสู่พื้นที่ท้าทาย จนทำให้เนื้อหานั้นเข้าสู่ใจ สัมพันธ์กับชีวิตตน จากเดิมเป็นความเสี่ยงว่าอาจจะตอบไม่ตรงใจผู้สอน กลายเป็นความสดใหม่ของการค้นพบบทเรียนในตัวของเขาเอง

ฉันจะไม่ด่วนตัดสินตอนฟังคนอื่น และจะฟังอย่างลึกซึ้ง มาอบรมคราวนี้ชอบมาก โดยเฉพาะที่บอกว่า จะตอบอะไรก็ได้ ไม่มีถูก ไม่มีผิด” นักศึกษาคนหนึ่งเขียนสะท้อนไว้ เปิดเผยให้เห็นว่าเธอได้ข้ามผ่านความกลัว และได้รับบทเรียนเฉพาะของตัวเอง ที่ไปพ้นกรอบการประเมินค่าคะแนน

เพราะเมื่อกลัวผิดก็เท่ากับปิดโอกาสการเรียนรู้ใจตน

ไพ่เสมอภาค



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน 2554

ทุกครั้งหลังการประชุม เมื่อถึงช่วงกิจกรรมเช็คเอาท์ให้ทุกคนกล่าวคำพูดอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก คำขอบคุณ หรือสะท้อนสิ่งที่อยู่ในห้วงคิดอยู่ในความคำนึง วิทยากรหรือกระบวนกร ก็มักบอกขอบคุณทีมสนับสนุนที่ช่วยเตรียมเอกสารการลงทะเบียนและอุปกรณ์ประกอบงาน พร้อมกันนั้นก็ชักชวนให้คนทำงานเบื้องหลังได้กล่าวด้วยเช่นกัน โดยมากมักคาดเดาได้ว่าเขาเหล่านั้นมักจะเอ่ยขอบคุณทุกคนอย่างสั้นและรวบรัด เจือด้วยความประหม่าตื่นเต้น และไม่ได้เผยอะไรออกมามากกว่านั้น

แต่การประชุมครั้งล่าสุด เจ้าหน้าที่หญิงทั้งสองคนทำให้ทุกคนทึ่ง เธอทั้งสองเช็คเอาท์ด้วยการบอกความรู้สึกว่าประทับใจต่องานและต่อทุกคนที่มาร่วมงานอย่างไรบ้าง เธอบอกขอบคุณผู้บริหารที่เปิดโอกาสให้ได้ทำงานสนับสนุนการประชุมที่มีประโยชน์เช่นนี้ เธอพูดทั้งน้ำตาว่าซาบซึ้งใจเพียงไรที่หัวหน้าได้ให้โอกาสและเชื่อมั่นเสมอมาว่าเธอจะดูแลจัดการงานนี้ได้

ช่างแตกต่างอย่างมากกับกว่าสิบครั้งที่ผ่านมา ทั้งคู่เช็คเอาท์สั้นๆ ทุกคนเห็นเพียงรอยยิ้มอายๆ ทำให้กระบวนกรเกิดสงสัยขึ้นในใจว่าอะไรนะเป็นสาเหตุให้เธอกล้า หรือจะเป็นเพราะว่างานประสานจัดการและธุรการ ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมในกระบวนการได้เต็มที่ ทำให้ไม่คุ้นเคยและวางใจมากพอ ต่อเมื่อเข้าร่วมมากครั้งจึงเปิดใจยิ่งขึ้น หรือจะเป็นเพราะผลจากกิจกรรมสุนทรียสนทนาในช่วงก่อนหน้าทำให้ทั้งคู่ผ่อนคลายและยอมเปิดเผยเสียงภายใน
ยังไม่ทันที่ความคิดวิเคราะห์ในใจของกระบวนกรจะได้ข้อสรุป พลันเรื่องราวก็ได้รับการเฉลยออกมาจากปากของทั้งคู่เองในท้ายของการเช็คเอาท์ เธอทั้งสองกล่าวเสริมกันและกันว่า

“ก่อนหน้านี้ที่เคยเข้าอบรม แล้วก็จัดงานมาหลายครั้ง ก็พอรู้และเข้าใจนะว่ามันดี เป็นงานที่ดี แต่ว่าทำยังไงก็ยังรู้สึกว่าห่างจากอาจารย์หลายคน รู้สึกว่าเป็นลูกน้อง ไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน แต่ครั้งนี้รู้สึกได้เลยว่ามันดีใจ มันซาบซึ้ง เราได้คุยและทำงานกับหัวหน้า กับอาจารย์ อย่างที่เราเท่ากัน ตั้งแต่ในตอนกลางคืนก่อนวันงานที่ได้ล้อมวงเล่นเกมไพ่ด้วยกัน”

ประโยคท้ายนี้นี่เองที่ทำให้ความสงสัยสลายไป บางครั้งเพียงลำพังมีกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ และรอคอยให้แต่ละคนพร้อม อาจยังไม่เพียงพอ หลายครั้งกระบวนกรเองก็ชะล่าใจ จะเป็นด้วยเพราะจัดกิจกรรมมามาก หรือคุ้นเคยกับการใช้งานศิลปะ ใช้สุนทรียสนทนา และใช้การภาวนา จนลืมเลือนไปว่ากิจกรรมผ่อนคลายเรียบง่ายธรรมดาก็สามารถมีความหมายต่อผู้คนได้ไม่น้อย

เกมไพ่ในคืนนั้นเป็นเกมสนุกสนานชวนขำขันเฮฮากัน ไม่ใช่วงไพ่พนันทั่วไป ฉะนั้น ทั้งผู้บริหาร อาจารย์และเจ้าหน้า หรือแม้แต่นักศึกษาที่ไปช่วยงาน ต่างก็ร่วมเล่นร่วมเชียร์อย่างออกรสสนุกสนาน มีการช่วยเหลือ มีแซวกระเซ้าเย้าแหย่ เป็นกิจกรรมที่เราไม่เคยคิดจะทำมาก่อน เพียงแค่มีเวลาว่าง และทุกสิ่งอย่างก็เตรียมการไว้หมดแล้ว

กระบวนการจิตตปัญญาอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองได้รู้จักการเข้าใจตัวเอง ได้รู้จักวิธีการสื่อสารด้วยใจ แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งคู่รับเอาจิตตปัญญาไว้พร้อมทั้งเปิดความเป็นได้ใหม่ออกมา กลับเป็นเพียงเกมไพ่ เกมสนุกสนานร่วมกันยามค่ำคืนที่ผ่อนคลาย สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้

เตือนให้กระบวนกรได้ตระหนักไว้เสมอว่า จะใช้กระบวนการกิจกรรมใด ทำซ้ำและรอคอยแค่ไหน เพียงอย่าได้มองข้ามสิ่งธรรมดาเล็กน้อยที่แม้จะไร้รูปแบบ ไม่มีหลักการหรือพิธีการ หากสำคัญที่เป็นสะพานเชื่อมถึงใจให้เราเปิดถึงกันและกัน

HBD



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2554

มาถึงยุคสมัยนี้ พวกเราไม่น้อยคงได้ใช้บริการเวบเครือข่ายทางสังคมอย่าง Facebook แทบทุกทีที่เปิดอินเทอร์เน็ต หลายคนอาจถึงขั้นเข้าถึงทุกที่ทุกเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือเสียด้วยซ้ำ เพราะว่ามันช่างมีหลากหลายข่าวคราวความเป็นไป และมีข้อความทักทายจากเพื่อนฝูงคนรู้จักอยู่เสมอ ยิ่งมีเพื่อนอยู่ในระบบเยอะก็ยิ่งมีอะไรให้ติดตามมาก

บนฐานความเชื่อของ Facebook ว่าผู้คนอยากจะใกล้ชิดและมีประเด็นได้สนทนาโต้ตอบกัน ระบบจึงอำนวยความสะดวกโดยมีข้อความเตือน (Notification) ไปแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่ามีใครเขียนความเห็นใหม่ต่อข้อความของเรา ภาพของเราและของใครถูกจัดแสดงเพิ่มไว้ เพื่อนของเราได้รับใครเป็นเพื่อนใหม่ คนไหนกำลังเล่นเกมอะไร รวมทั้งแจ้งว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของใครบ้าง

ดังนี้แล้ว ใครมีเพื่อนในระบบมากก็ยิ่งได้รับข้อความเตือนมาก เคยพบว่า บางคนถึงกับเขียนประกาศอุทาน “แม่เจ้า! วันนี้เป็นวันเกิดของเพื่อนตั้ง 12 คน” ในทำนองเดียวกัน บนกระดานข้อความวันเดียวกันนั้นของเจ้าของวันเกิด มักท่วมท้นล้นหลามไปด้วยข้อความอวยพรของเพื่อน โดยมากก็อวยพรกันสั้นๆ หยอกแซวกัน ส่วนใหญ่ใช้วลีสุดฮิตอย่าง สุขสันต์วันเกิด Happy Birthday หรือแค่ HBD เลยก็มี กลายเป็นกิจกรรมหน้าที่เพื่อนให้มาอวยพร ส่วนเจ้าของวันเกิดก็มากด like นัยว่ารับพรแล้วนะ

คนส่วนหนึ่งจึงพาลเลือกเพิกเฉยไปเลยกับข้อความเตือนวันเกิด เพราะไม่รู้จะอวยพรอะไรบ้าง และโดยเฉพาะระอาว่ามันมีให้อวยกันได้ทุกวัน

วาระวันคล้ายวันเกิดบนเครือข่ายทางสังคมค่อยๆ ถี่บ่อย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ เราต่างกำลังปล่อยให้โอกาสดีๆ ดังเช่นการอวยพรวันสำคัญนี้ กลายเป็นสิ่งฉาบฉวย ตื้นเขิน จนถึงขั้นน่ารำคาญ และไร้คุณค่าความหมาย แน่นอนว่าความสัมพันธ์ออนไลน์ผ่านหน้าจอย่อมเทียบเท่ามิได้กับการพบปะกันจริงๆ ได้สนทนากันต่อหน้า แต่ใช่ว่าเราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีมีคุณภาพไม่ได้ เพราะเราเองคือผู้กำหนดสร้างความลึกซึ้งและความหมายสำคัญขึ้นจากความง่ายนี้ได้ทุกเมื่อ

เห็นข้อความเตือนปรากฏมาเมื่อใด ขอให้เราลองใช้โอกาสนี้ค่อยๆ ทบทวนพินิจพิจารณา ขอให้เราตระหนักเสมอว่า วันคล้ายวันเกิดไม่เป็นเพียงแค่วันพิเศษของเจ้าตัว ยังเป็นวันสำคัญสำหรับที่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเขามาจนเติบใหญ่ด้วย บนเส้นทางแห่งการเติบโตที่นำพาให้เราได้พบพานและรู้จักกันนี้ มีเหตุการณ์สำคัญอะไรที่เราได้แบ่งปันช่วงชีวิตหนึ่งด้วยกัน บุคคลนั้นเคยให้ความทรงจำงดงาม หรือชักนำเราสู่ความเปลี่ยนแปลงใดในชีวิตบ้าง มีสิ่งใดที่เราชื่นชมนิยมในตัวเขาบ้าง

จากนั้นขอชวนให้อวยพรออกจากใจ จะเขียนข้อความไว้บนกระดานของเขา หรือส่งข้อความส่วนตัวให้หลังไมค์ ไม่เกี่ยวว่าเขียนสั้นหรือยาว ผู้รับย่อมรับรู้ได้ถึงความตั้งใจ และสัมผัสได้ถึงความรู้สึกดีที่เราสื่อถึงกัน

สาระสำคัญใช่ว่าอยู่ที่คำอวยพรสละสลวย ใช้ภาษาดี หรือต่อให้ผู้รับไม่เข้าใจทั้งหมด งงๆ เพราะไม่คุ้นเคย หรือเขาไม่ตอบกลับมาก็ตาม มันสำคัญที่ตัวเราในฐานะผู้อวยพร ได้ใช้เวลาคุณภาพกับคุณค่าของความสัมพันธ์ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลึกซึ้งกับความหมายของการมีชีวิตและการใช้ชีวิต

เพียงข้อความเตือนในหน้าจอ ย่อมเป็นได้ดั่งระฆังแห่งสติ ฉุกใจให้หวนกลับสู่การใคร่ครวญตัวเอง และเปิดใจให้สัมผัสถึงพลังแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสรรพชีวิตที่โอบอุ้มผูกพันกัน สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดวันนี้ ที่ให้เราได้ระลึกถึงคุณค่าความหมายของชีวิตได้ทุกๆ วัน

หมาป่า



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2554

หลังการประชุมถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศอึดอัดใจเรื่องการประเมิน เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งขอให้เราปิดท้ายประชุมนี้ด้วยกิจกรรมการเช็คเอาท์ โดยทั่วไปคือการบอกความรู้สึกสภาวะจิตใจ บอกสิ่งที่คิดอยู่ในหัว หรืออาจเล่ากลับออกไปแล้วยังมีภารกิจใดบ้าง แต่ครั้งนี้ ขอให้ทุกคนเช็คเอาท์เล่าเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อเริ่มเล่าสู่กัน พลังของเรื่องพลันเพิ่มความแช่มชื่นในวงสนทนาอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะเรื่องของเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเธอเลี้ยงสุนัขที่บ้านไว้หลายตัว เธอเล่าว่าในบรรดาน้องหมาทั้งหลาย มีตัวหนึ่งชื่อหมาป่า เป็นสุนัขพันธุ์ทางอายุมาก มันแก่ชราแล้ว เดินไม่ค่อยจะไหว อย่าว่าแต่เห่าเลย ยืนให้ตัวตั้งตรงไม่สั่นก็ยังยาก

หมาป่าอายุสิบกว่าปี เทียบกับคนก็ราวร้อยเศษ ทุกวันนี้มันได้แต่นอนนิ่ง มีลมหายใจรวยริน ไม่สามารถลุกขึ้นมากินน้ำกินอาหารได้อีกต่อไป ตามองไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน ระบบร่างกายทรุดโทรมเต็มที เธอเคยคิดว่า เมื่อไหร่มันจะตายไปเสียทีนะจะได้หมดเวรหมดกรรมกันไป

การดูแลหมาแก่และป่วยไม่ใช่ง่าย ไหนจะลักษณะงานของเธอผู้เป็นเจ้าของที่ต้องขับรถจากชานเมืองเข้ายังกลางกรุงแต่เช้า กว่าจะถึงบ้านยามค่ำก็ทั้งเหนื่อยทั้งล้า

เพื่อนในวงสนทนาบางคนเริ่มนึกถึงเรื่องทำนองเดียวกันที่อเมริกา เวลาสัตว์เลี้ยงป่วยหนักเกินเยียวยาหรืออายุขัยมาก เขามักใช้วิธีที่เรียกว่า Put to Sleep หรือฉีดยาให้ตาย นัยว่าเป็นวิธีการที่กรุณามากแล้ว เพราะมันจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดและสังขารที่ไปไม่รอด

เธอเล่าต่อไปว่า กิจกรรมการดูแลหมาป่าที่ต้องทำทุกวันนั้นได้แก่ ทำความสะอาดแผลกดทับ เพราะมันขยับตัวเองไม่ได้แล้ว ป้อนข้าวป้อนน้ำ เก็บเอาผ้ารองอุจจาระปัสสาวะไปทำความสะอาด ในวันแรกๆ ของภารกิจ เธอยอมรับว่าเคยคิดอยากให้มันตายไปเสียให้พ้น แต่เพิ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองที่เธอรู้สึกเปลี่ยนไป

แม้หมาป่าจะไม่สามารถมองเห็นและไม่ได้ยินเสียงใคร แต่ทุกครั้งที่เธอลงจากบ้านไปดูแลและสัมผัสตัวมัน เธอรู้ได้ว่ามันดีใจ พยายามตอบสนองเธอผ่านร่างกายที่สั่นไหว การดูแลเอาใจใส่ของเธออยู่ในการรับรู้ของมันเสมอมา แม้ว่ามันจะแสดงออกได้ไม่มาก

นอกจากนี้ ภารกิจการประคับประคองหมาป่ายังกลายเป็นงานที่ทุกคนในบ้านมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มใจ แม้แต่หลานชายหลานสาวตัวเล็กยังขันอาสาช่วยเอาผ้ารองอุจจาระไปซักทำความสะอาดทุกเย็น

จากที่ตื่นมาแล้วต้องถอนหายใจว่ามีภาระดูแลต้องทำก่อนรีบออกไปทำงาน ตอนนี้เธอตื่นขึ้นมาด้วยความดีใจว่าจะได้ไปดูแลหมาป่า แม้เป็นงานที่ไม่สะอาดไม่น่าดู แต่เธอสุขใจและเต็มไปด้วยความยินดีที่ได้กระทำ ไม่ว่ามันจะมีชีวิตอีกกี่วันก็ตาม

เรื่องของหมาป่าได้ทำให้เราหวนกลับไปทบทวนถึงความคิดของตนเอง จริงหรือไม่ ที่การทำ Put to Sleep เป็นความกรุณาที่มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของยื่นให้แก่สัตว์เลี้ยง ความต้องการที่จะหยุดยั้งความทุกข์ทรมานนั้น ใช่เป็นความทรมานของเขา หรือเรากำลังพยายามหยุดยั้งความทุกข์ของตัวเราเองกันหนอ เราให้ยาเพื่อเขาจะได้หลับไปและตายพ้นจากความทรมานทางกาย หรือใช้ยากับเขาเพื่อดับความทุกข์ความอึดอัดที่ต้องมีภาระดูแล ให้พ้นไปออกจากใจเรา

กว่าจะถึงวันที่หมาป่าจากไป เราต่างมั่นใจว่านี่แหละจะเป็นช่วงเวลาที่มอบบทเรียนเล็กๆ อันยิ่งใหญ่ให้แก่ทุกคนในบ้าน บทเรียนว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย บทเรียนการโอบรับความทุกข์ทางกายที่ไม่ทรมานใจนี้ไว้ร่วมกัน