ตั้งโจทย์ผิด ?



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2555

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวหลายชิ้นที่น่าสนใจในแวดวงการศึกษา ชวนให้เราฉุกคิดอย่างยิ่งว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในแวดวงการเรียนรู้ของบ้านเรา ข่าวแรกคือ การประกาศผลคะแนนสอบโอเน็ตในปีนี้ พร้อมรายงานอันดับโรงเรียนที่มีนักเรียนทำคะแนนสอบได้สูงสุด 10 อันดับแรก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและชื่นชมในความสามารถทั้งของนักเรียนและอาจารย์ของโรงเรียนเหล่านั้น แต่ในข่าวเดียวกันนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจว่า ผลคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั่วประเทศ พากันได้แค่ไม่ถึงครึ่งในทุกวิชา วิชาหลักที่สำคัญเช่นภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ยิ่งแล้วใหญ่ มีคะแนนเฉลี่ยราวๆ ยี่สิบถึงสามสิบกว่าคะแนนเท่านั้น

ข่าวชิ้นต่อมา เป็นภาพสะท้อนของข่าวแรก มีข้อความพาดหัวข่าวว่า “หอพักโกยเละ !!! เด็กกวดวิชาอื้อ เต็มทุกห้อง รอบอุ๊แลนด์ ค่าเช่าพุ่งทะลุหมื่นบาท” ย่านหอพักที่ว่านี้อยู่บริเวณพญาไท นัยว่าเป็นแหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชาสารพัดแห่งในยุคปัจจุบัน ช่วงเสาร์อาทิตย์ใครใช้บริการรถไฟฟ้าคงจะเคยเห็นเด็กวัยรุ่นอายุอานามตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม พากันขึ้นลงในสถานีอย่างหนาแน่น ต่างคนต่างหอบหนังสือตำราติดตัวมาทั้งนั้น และอย่างที่ข่าวรายงาน ความต้องการเรียนเสริมเรียนกวดวิชามีมากจนกระทั่งค่าเช่าห้องหอพักแพงขึ้นพรวดพราด

ถ้าไม่อ่านแค่ผ่านๆ หรือปลงไปแล้วว่าโลกก็ต้องดำเนินไปเช่นนี้ล่ะก็ มันก็น่าขบคิดว่าข่าวสองชิ้นนี้กำลังบอกอะไรแก่เรา? บอกว่าการเรียนในยุคปัจจุบันต้องแข่งขันกันสูง หรือบอกว่าประเทศไทยไม่สามารถเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ทั้งหมด โรงเรียนดีๆ มีจำนวนน้อยมาก หรือสิ่งที่จะบอกคือ ความรู้ที่นักเรียนไทยได้มาจากโรงเรียนนั้นมันยังไม่เพียงพอสำหรับการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

คำตอบอาจจะเป็น “ถูกทุกข้อ” เพราะมันเป็นความจริงที่ทุกคนรับรู้กันอยู่แล้ว ว่าโรงเรียนดีๆ กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ดึงดูดเด็กเก่งๆ เข้าไปรวมกัน การศึกษาทุกวันนี้เป็นระบบแพ้คัดออก นักเรียนจึงต้องแข่งขันกันด้วยคะแนน การกวดวิชาจึงเป็นการลงทุนที่ได้ผลสำหรับการแข่งขัน เพื่อช่วยรับประกันให้ได้มากขึ้นว่าจะได้การศึกษาที่ดีในลำดับขั้นต่อไป

แต่ถ้าหากว่าเราตั้งคำถามที่ลึกลงไปในหัวใจของเราอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ต่อสัญชาตญาณของเราเอง เราอาจพบคำถามในใจว่า “ทำอย่างไร เด็กๆ ทุกคนจะได้เรียนในโรงเรียนดีๆ” หรือ “เด็กที่สอบเข้าไม่ได้ล่ะจะเป็นอย่างไร” และ “เราปล่อยให้สภาพแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สภาพการเรียนที่เน้นวิชา และการแข่งขันไปทีละระดับขั้น โดยมีความเชื่อหรือความหวังว่า คนที่มีคุณภาพคือคนที่ผ่านการสอบคัดเลือกไปได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ดูเหมือนจะไม่ดีไปกว่าเดิม ยังคงมีผลคะแนนน้อย และด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

เด็กๆ ของเรากำลังเรียนที่จะ “ใช้ชีวิต” แบบไหนกัน? นี่เป็นชีวิตดีๆ อันปกติสุขที่เราจะสอนให้เขาเรียนรู้และยอมรับที่จะอยู่กับมันแล้วใช่ไหม? เราจะต้องจำยอมและปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ใช่ไหม?

ท้ายข่าว ยังมีบทสัมภาษณ์นักเรียนสองคนที่เรียนกวดวิชา คนแรกเรียนพิเศษทุกวัน วันละ 5 ชั่วโมง อีกคนมาจากต่างจังหวัด เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียนเสริมทุกปีในช่วงปิดภาคเรียน ทั้งคู่ตอบเหมือนกันว่า ถ้าไม่เรียนจะไม่ทันเพื่อน และเห็นว่าการเรียนกวดวิชาเป็นเรื่องปกติ เพื่อนที่โรงเรียนและใครๆ ก็เรียนกันทุกคน

ส่วนเราที่ดูแลให้เขาเติบโตล่ะ มีใครไม่คิดว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” บ้าง?

เหนือความเคารพ



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 22 เมษายน 2555

ในวงพูดคุยกันอย่างเปิดเผยระหว่างอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เราสนทนากันถึงสภาพการเรียนการสอนในปัจจุบันที่นักศึกษาถูกกดดันให้เรียนเยอะๆ มีเนื้อหามาก มีรายงานให้ทำมาก อีกทางหนึ่ง อาจารย์ก็ถูกกดดันให้สร้างงานวิจัยได้มากๆ และต้องจัดการกับสารพัดเอกสารกำกับมาตรฐานการสอนที่ให้กรอกกันได้ตลอดทั้งปี

แต่ที่นี่ เราไม่ได้มาบ่น ระบาย หรือถอดใจกับระบบการศึกษา เรากำลังช่วยกันค้นหาว่าจะทำให้ชั้นเรียนมีความสุข และเป็นการเรียนรู้ที่ดี ทั้งกับนักศึกษาผู้เรียน และอาจารย์ผู้สอนได้อย่างไร

มีคำถามน่าสนใจไม่น้อยออกมาจากเพื่อนอาจารย์ที่ร่วมวง บางคำถามเกี่ยวกับการจัดการเวลา เช่น “จะสอนให้สนุกและทันตามเวลาที่กำหนดได้อย่างไร ในเมื่อมีเนื้อหาเยอะมาก”, “นักศึกษามาสาย ควรจะทำอย่างไรดี” และ “จะพัฒนาทักษะการสอนแบบ Team Teaching ได้อย่างไร” แต่มีคำถามหนึ่งซึ่งสะกิดใจพวกเราทุกคนคือ “ทำอย่างไรนักศึกษาถึงจะมี Respect ต่ออาจารย์”

น่าสนใจ! เราต่างสบตากัน หลายคนคิดไปถึงเรื่องของท่าที สีหน้า การพูดจา ความแตกต่างระหว่างวัย การแสดงพฤติกรรมที่มีความคาดหวังต่างกัน เหมือนจะเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ว่านักศึกษาในรุ่นหลังๆ มานี้มีท่าทีพฤติกรรมผิดแผกไปจากเดิมมาก จะว่าอ่อนโยนนอบน้อมน้อยลงก็ว่าได้

ผู้ดำเนินการสนทนาหันไปทางนักศึกษาหญิงชายสี่ห้าชีวิตในวงสนทนา ถามพวกเขาว่า ได้ยินคำถามนี้แล้วมีอะไรอยากจะตอบหรือบอกอาจารย์ไหม? ปรากฏว่านักศึกษาก็ไม่รีรอที่จะเอ่ยปากพูด เพียงยังไม่ตอบ แต่กลับจะขอถามอาจารย์ก่อนว่า เห็นนักศึกษาไม่เคารพนั้น เป็นอาการหรือกริยาแบบไหน อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่าง เพราะตนเองเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วพวกเรารักและเคารพอาจารย์ทุกคนเสมอ ถึงตรงนี้ทุกคนยังคิดว่าเป็นเรื่องท่าทีในการแสดงออก

อาจารย์คนหนึ่งยกมือขอตอบ พร้อมเฉลยว่าตนเป็นเจ้าของคำถาม และอยากอธิบายให้ชัดเจนถึงคำว่า Respect ที่เราเปลี่ยนมาใช้คำว่า “เคารพกัน” นั้น เธอไม่ได้นึกถึงเรื่องของการไหว้ หรือการแสดงคำทักทายอย่างนอบน้อมต่ออาจารย์ สิ่งที่เธอนึกถึงจริงๆ คือ การทำงานของนักศึกษา การที่ส่งรายงานมาให้แล้วเต็มไปด้วยคำสะกดผิด การใช้อีเมลส่งงานให้อาจารย์ แต่ไม่มีคำขึ้นต้นลงท้าย ยิ่งกว่านั้นบางรายส่งอีเมลโดยแนบมาแต่ไฟล์มา ไม่เขียนข้อความใดๆ มาในเมลนั้นเลย

ทุกคนในวงทั้งเพื่อนอาจารย์และลูกศิษย์เมื่อได้ยินแล้วต่างก็นิ่งไป เพราะความหมายของคำว่าเคารพในที่นี้ ไม่ใช่แค่มารยาทการแสดงออกทางสังคมแล้ว แต่เป็นเรื่องการมีความประณีตและเอาใจใส่พิถีพิถันในรายละเอียดของการกระทำของตนเอง สิ่งที่เรารักและตั้งใจ เรายิ่งต้องใส่ใจทำให้ดี ไม่ใช่สักแต่ว่าทำใช่ไหม กรณีที่นักศึกษาทำงานแบบนี้มาส่งหมายถึงเขาไม่เคารพอาจารย์หรือเปล่า?

ยิ่งเราแต่ละคนถามตัวเองกลับ ยิ่งทำให้เราได้คำตอบร่วมกันว่า นั่นไม่ใช่ใช่เพียงแค่การเคารพกัน ไม่ใช่แค่การเคารพอาจารย์ แต่มันเป็นการแสดงถึงความเคารพในตนเอง การให้เกียรติกับผลงานของตัวเอง เป็นความภาคภูมิใจในผลงานของตน และเป็นความพิถีพิถันในการใช้ชีวิต

การคุยเรื่องนี้ ได้เผยให้เราเห็นความรักและความงามในการเรียน ทำให้นักศึกษาได้เห็นว่าเขาไม่ได้ถูกสอนแค่เนื้อหาวิชา แต่อาจารย์ยังพยายามสอนให้เขาเชื่อมั่นและเคารพนับถือในตัวเอง สอนให้เขาประณีตใส่ใจในชีวิต หากเรามองอย่างด่วนตัดสินกันโดยผิวเผิน ก็จะเห็นแค่วิธีการที่ต่างกันของคนต่างวัย มองข้ามความหมายที่แท้จริงไปอย่างง่ายดาย และน่าเสียดาย