จำกัดความ

คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2552

“จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร” ไม่ว่าในการฝึกอบรมครั้งไหน เรามักได้ยินคำถามทำนองนี้จากผู้เข้าร่วมอยู่เสมอ หากบังเอิญว่าครั้งนั้นเป็นการฝึกอบรมที่ผู้เข้าร่วมมีความสนใจมากมาเป็นทุนเดิมก่อนแล้ว คำถามนี้จะปรากฏตั้งแต่วันแรกของกระบวนการ ส่วนผู้เข้าร่วมในการฝึกอบรมซึ่งออกแบบและจัดให้เฉพาะองค์กรก็ยังไม่วายได้เอ่ยปากถามจนได้ ถ้ารู้ว่ากระบวนการในสามสี่วันนี้มีจิตตปัญญาศึกษาเป็นแนวคิดหลักใช้จัดการเรียนรู้

ดูเหมือนพวกเราส่วนมาก โดยเฉพาะเราผู้ซึ่งทำงานในแวดวงวิชาการหรือการศึกษาต่างเชื่อกันว่าถ้าเราได้รู้ความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วย่อมจะเข้าใจในสิ่งนั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง ยิ่งถ้าได้รู้คำจำกัดความของแนวคิดด้วยแล้วยิ่งทำให้เกิดความชัดเจน ไม่พาลเข้าใจสับสนปะปนไปกับแนวคิดเรื่องอื่น



จริงหรือที่ว่าการให้ความหมายและคำจำกัดความจะช่วยให้เราเข้าใจได้ดี จริงหรือที่การตอบคำถามว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไรจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ความชัดเจนและทำให้เขาเกิดการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาได้

ในการฝึกอบรมครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ ผมและเพื่อนร่วมทีมได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรของวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งผู้เข้าร่วมมีทั้งกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มอาจารย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ตลอดทั้งสี่วันของการเรียนรู้นั้น ผู้จัดกระบวนการหรือที่เราเรียกตัวเองว่ากระบวนกรไม่ได้อธิบายความหมายหรือให้คำจำกัดความของจิตตปัญญาศึกษาเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรากลุ่มนี้สี่สิบกว่าชีวิตคือความเข้าใจในตัวเองที่เพิ่มพูนมากขึ้นจนทำให้เรายอมรับความแตกต่างของกัน และแต่ละคนได้พาใจของตนเองไว้ใกล้กันจนความรู้สึกของทุกคนเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานอยู่ภายใต้สังกัดเดียวกันเหมือนดังที่เป็นมาก่อนเท่านั้น

นอกจากนี้ เราทุกคนยังบอกตรงกันว่าเราได้รับประโยชน์และมีความเข้าใจในจิตตปัญญาศึกษายิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก อาจารย์ท่านหนึ่งเห็นว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้สติและสอดคล้องกับหลักศาสนา ส่วนคุณป้าคนงานบอกว่าเป็นการเรียนแบบสนุกๆ สบายๆ และได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

แน่นอนว่าต่างคนต่างเห็นจิตตปัญญาศึกษาต่างกันไปและให้คำอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่เหมือนกัน แต่กลับเหมือนกันอย่างยิ่งตรงที่เป็นความเข้าใจซึ่งซึมซาบเข้าไปจนถึงจิตถึงใจ ไม่ใช่แค่รู้จำท่องได้ว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร

หากการฝึกอบรมเริ่มต้นด้วยการให้ความหมายและอธิบายนิยามของจิตตปัญญาศึกษาเสียแล้ว จะเป็นไปได้ไหมว่าผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายสถานภาพและคุณวุฒิจะตอบได้ แน่นอนว่าคงมีคำตอบออกมาได้ แต่คำตอบนั้นจะเต็มไปด้วยความระมัดระวังและหวาดเกรงว่าจะผิดพลาดไปจากคำสอนมา สำหรับบางคน การได้รู้ความหมายก่อนอาจทำให้เขาหมดความสนใจในจิตตปัญญาศึกษาไปเสียแต่แรก เพราะเมื่อได้รู้ได้เทียบเคียงกับสิ่งที่รู้มาก่อนหน้าก็ถือว่าเข้าใจแล้ว

ในแง่หนึ่ง การให้ความหมายจึงเป็นการจำกัดความเป็นไปได้ของจิตตปัญญาศึกษาให้อยู่ในขอบเขตจำกัด เป็นการปิดกั้นจินตนาการและโอกาสในการเข้าถึงและเข้าใจที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เราอาจเคยชินจากการเรียนในระบบว่านิยามคือความชัดเจน เป็นความเข้าใจ แต่ถ้าความเข้าใจนั้นไม่ได้เกิดจากเข้าไปมีประสบการณ์ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้น ผู้เรียนจะสามารถเข้าไปถึงใจจน “เข้าใจ” ได้จริงหรือ

ผมเคยเปรียบเทียบจิตตปัญญาศึกษากับความรักว่าเป็นสิ่งคล้ายกัน เราเติบโตและรู้จักความรักมาโดยที่ไม่ต้องมีใครบอกความหมายให้ความรักถูกจำกัดใจความ แต่เราทุกคนสามารถรู้จักและเข้าใจความรักได้เช่นเดียวกัน จากการผ่านประสบการณ์ความรักด้วยตัวเอง และจากมุมมองอันหลากหลายที่มีต่อความรัก

จิตตปัญญาศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกัน

จิตตปัญญาพฤกษา

คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒

ราว 2 ปีที่ผ่านมา เราหลายคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ร่วมกันทำงานทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษา โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านไปยังศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยในช่วงเวลาของการริเริ่มนี้เราเชื่อว่าควรมีความรู้เป็นฐานรองรับ ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านให้ความเมตตาแนะไว้ว่า หากจะกระทำการขับเคลื่อนเรื่องใด ควรได้ศึกษาวิจัยเรื่องนั้นให้รู้จบสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร เพื่อจะได้ทำงานในส่วนที่เป็นคานงัด ทำน้อยแต่ได้ผลมาก หรือทำในส่วนที่ยังขาดพร่องอยู่

เราใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มและเข้าไปปรึกษาขอรับคำแนะนำจากปราชญ์หลายท่าน โดยเฉพาะอาจารย์อาวุโสในกลุ่มจิตวิวัฒน์ จนกระทั่งเริ่มเห็นแนวทางว่าควรจะทำงานศึกษาทบทวนใน 5 เรื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงจะครอบคลุมภาพรวมและเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อยอดในอนาคต ทั้ง 5 เรื่องนั้นประกอบด้วย 1. ประวัติแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2. เครื่องมือและวิธีปฏิบัติในแนวจิตตปัญญาศึกษา 3. วิธีวิทยาการวิจัยสำหรับจิตตปัญญาศึกษา 4. การประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา และ 5. แนวทางการประยุกต์ใช้จิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ

งานวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อมูลจำนวนมาก เราพบว่าแม้จิตตปัญญาศึกษามีความเคลื่อนไหวที่เริ่มในต่างประเทศมาไม่นาน ทว่าได้นำแนวคิดที่มีอยู่ร่วมกันในหลายศาสนาและความเชื่อมาใช้ในบริบทสังคมร่วมสมัย วิธีการปฏิบัติก็ยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเน้นฐานกาย กิจกรรมเชิงพิธีกรรม การทำงานศิลปะ รวมทั้งใช้สมาธิและการสงบนิ่ง ล้วนแล้วเป็นการปฏิบัติที่จิตตปัญญาศึกษานำมาใช้ ส่วนวิธีวิทยาการวิจัยก็มิได้จำเพาะต้องเป็นแนวทางหนึ่งใด แต่ควรได้บูรณาการผสมผสานให้เห็นความจริงจากหลากมุมมอง เช่นเดียวกับการประเมินที่มีจุดสำคัญคือการรู้เท่าทันและตระหนักในกระบวนทัศน์ของตนเอง ตลอดจนการประยุกต์ใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ นั้นจึงมิใช่การปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากันได้กับบริบทเท่านั้น แต่เป็นการประยุกต์ที่มุ่งสู่การเรียนรู้จิตใจและเข้าใจตน

ในระหว่างกระบวนการวิจัยเราพบอุปสรรคและข้อจำกัดไม่น้อยเฉกเช่นเดียวกับการร่วมกันทำงานในหลายๆ อย่าง บางเรื่องเราอาจจะสามารถจัดการได้ด้วยวิธีสั่งการ หรือยึดเอาแผนการดำเนินงานเป็นหลัก ทว่าข้อมูลความรู้มากมายที่เราพบบ่งชัดว่าการพัฒนาจิตวิญญาณและปัญญาทั้งหลายในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการมีประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติ การทำงานวิจัยร่วมกันของเราจึงกลายเป็นพื้นที่เพื่อการฝึกฝนทางจิตตปัญญาของผู้วิจัยทุกคน เรานำเอาแนวคิดความเป็นผู้นำร่วมและความเป็นผู้นำผู้รับใช้ให้มาอยู่ในการทำงานจริง แม้เรื่องดังว่านี้จะไม่ง่ายดายและคงไม่เห็นผลทันทีก็ตาม แต่อย่างน้อยเราต่างได้เรียนรู้อะไรผ่านประสบการณ์ตรงทีเดียว

ช่วงของการสรุปประมวลและสังเคราะห์ความรู้เป็นขณะเวลาที่น่าประทับใจ ทุกคนในคณะทำงานโครงการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเด็นความรู้จากงานที่ต่างคนได้ทบทวนศึกษามา แต่แรกดูเหมือนว่าจะหาข้อสรุปลงตัวที่ตรงใจให้แก่กันไม่ได้ เมื่อความเครียดครอบงำการทำงานเราจึงได้พลิกเปลี่ยนเข้าหาความผ่อนคลาย บทสนทนาสู่บทสรุปจึงเกิดขึ้นได้ในเนื้อหาเดิมเดียวกัน จากความคิดเล็กๆ หนึ่งก่อเกิด ความคิดใหม่ได้ต่อยอดและประกอบกันเข้าเป็นข้อสรุปในใจที่เราสามารถเห็นร่วมตรงกัน เสนอประมวลความรู้จิตตปัญญาศึกษาให้เป็นโมเดลชื่อว่า “จิตตปัญญาพฤกษา” (Contemplative Education Tree)



องค์ประกอบของโมเดลนี้มีส่วนสำคัญ 8 ประการซึ่งสื่อถึงองคาพยพของต้นไม้ ได้แก่ 1. ราก คือที่มาและพัฒนาการของจิตตปัญญาศึกษานั้นอยู่ฐานแนวคิดเชิงศาสนา เชิงมนุษยนิยมและเชิงบูรณาการองค์รวม 2. ผล คือเป้าหมายการเรียนรู้สู่จิตใหญ่ที่กว้างขวางครอบคลุมและเชื่อมโยงถึงความจริงของสรรพสิ่ง 3. แก่น เป็นกระแสแห่งการพัฒนาสู่จิตใหญ่ ประกอบด้วย การมีสติเปิดรับประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะอย่างเต็มเปี่ยม การสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน การน้อมมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ความเบิกบานและผ่อนคลาย และการมีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง 4. กระพี้ เป็นบริบทของการเรียนรู้ ประกอบด้วย ชุมชมหรือสังฆะสนับสนุน และการกลมกลืนกับวัฒนธรรม 5. เปลือก เป็นเครื่องมือและการปฏิบัติรูปแบบต่างๆ 6. เมล็ด เป็นศักยภาพการเรียนรู้ภายในมนุษย์ 7. ผืนดิน เป็นวงการต่างๆ ที่จะนำจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้ และ 8. การปลูกและดูแล เป็นกระบวนการพัฒนาและทบทวนความรู้ ประกอบด้วยวิธีวิทยาการวิจัย และการประเมิน

ผู้ทรงคุณวุฒิและกัลยาณมิตรบางท่านได้เคยทักท้วงว่าโมเดลนี้อาจยังไม่ชัดเจนและเข้าใจได้ยาก ขณะที่เราคณะทำงานน้อมรับความเห็นต่างนั้น แต่เรายืนยันการนำเสนอโมเดลลักษณะนี้เพื่อชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณดังเช่นจิตตปัญญาศึกษาไม่ได้มีแบบแผนทิศทางคงที่ ตายตัว ไม่ได้เป็นกลไกลดทอนย่อส่วนหรือเชิงเส้น การเปรียบเปรยภาพของการเรียนรู้กับสิ่งมีชีวิตที่ไม่แยกส่วนและสัมพันธ์ประสานกันจึงเป็นการอุปมาที่มีความมุ่งหมาย

อีกทั้งการเลือกใช้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษานำเสนอภาพแนวคิดจิตตปัญญาศึกษามิได้ตั้งอยู่บนความต้องการปกป้องผลงานวิชาการ แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการทำงานอย่างเป็นผู้นำร่วมและการทดลองใช้วิธีปฏิบัติตามแนวจิตตปัญญาศึกษาของคณะทำงาน เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงและเชื่อมร้อยสัมพันธ์กับใจของเราผู้ศึกษา ดังนี้แล้ว ความเห็นพ้องหรือความเห็นต่างต่อจิตตปัญญาพฤกษาอันสามารถนำไปสู่ความเข้าใจและสนับสนุนการนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสิ้น

เมื่อสิ้นโครงการนี้ เราเริ่มโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยนำจิตตปัญญาพฤกษาเป็นโมเดลต้นแบบนำไปใช้จัดการเรียนการสอนให้นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดรายทางของชั้นเรียนและผลตอนท้ายของการศึกษาล้วนบ่งชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณหาใช่การวางแผนการสอนและจัดการเรียนไปตามแผนอย่างเคร่งครัด แต่ควรสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งการจัดกระบวนการและวิธีปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียสนทนา ศิลปะ และการเจริญสติ พร้อมทั้งมีการเรียนรู้อย่างสังฆะกัลยาณมิตรหรือชุมชนการเรียนรู้เป็นกระพี้โอบอุ้ม เมื่อผู้เรียนพร้อมเมื่อนั้นเขาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเองและด้วยตนเอง

สำหรับเราผู้ซึ่งทำงานวิจัยทบทวนความรู้และได้นำไปทดลองปฏิบัติการ เราปรารถนาให้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษาเป็นเครื่องเตือนให้ได้ระลึกอยู่เสมอว่า แม้การเรียนรู้ในแนวทางจิตตปัญญาศึกษานั้นจะไม่อาจคาดหวังและกะเกณฑ์ผลลัพธ์อันแม่นยำจากผู้เรียนได้ แต่เราเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่าภายใต้การหมั่นสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยแล้ว การเติบโตทางจิตวิญญาณในกระบวนการเรียนรู้ย่อมจะเกิดขึ้นและดำเนินไปเฉกเช่นเดียวกับการเติบโตของชีวิตจากเมล็ดน้อยๆ สู่ไม้ใหญ่อันให้ความร่มเย็นแก่ผืนดินและสรรพชีวิตทั้งหลายในที่สุด