ระยะทางและเวลา



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554

“หลังได้รับสัญญาณระฆังแล้ว ขอชวนให้ทุกคนค่อยๆ ลุกออกไปที่ไหนก็ได้ในบริเวณห้องประชุมนี้ เลือกตำแหน่งที่อยู่ แล้วค่อยๆ ดูสิ่งของรอบตัว อาจเป็นผนัง ม่าน พื้น หรือแจกัน อะไรก็ได้ ไม่ต้องรีบร้อน ขอใช้เวลาพิจารณามันให้นานขึ้น เห็นห่างๆ แล้วก็ให้เข้าไปดูมันใกล้ๆ ลองดูว่าเราได้รับรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาจากที่เราคิดว่าน่าจะรู้อยู่แล้วบ้าง?”

สิ้นเสียงระฆัง ผู้เข้าร่วมการอบรมหลายคนกระวีกระวาดลุกขึ้นไปยังตำแหน่งที่ได้หมายตาเอาไว้แต่ต้น บางคนเหลียวซ้ายแลขวาดูทำเลว่าที่ไหนยังว่าง และคนจำนวนไม่น้อยก็ยังงงๆ เลือกไม่ได้ว่าจะไปไหน หรือในใจกำลังมีความคิดมากมายในหัว สงสัยอยากรู้ ว่ากิจกรรมนี้จะทำไปเพื่ออะไร ฝึกการสังเกตใช่ไหม

กระบวนการนี้สำคัญและมีประโยชน์มากในช่วงเริ่มการเรียนรู้ในแนวจิตตปัญญาศึกษา เพราะช่วยให้เราได้ลองเปิดความสามารถการรับรู้ที่เราอาจลืมไปแล้วว่ามี หรือรื้อฟื้นศักยภาพเดิมที่มันถูกละเลยมานาน หากผู้เข้าร่วมการอบรมได้ลองไปสังเกตตามคำแนะนำข้างต้นนี้ แล้วปักใจเชื่อว่าเป็นการทดสอบการจำรายละเอียด ก็นับว่าพลาดโอกาสการได้ค้นพบความสามารถใหม่ของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย

เฉพาะแค่การมองหาและจดจำข้อมูลได้นั้น ยังเป็นเพียงทักษะความสามารถทั่วไปที่เราส่วนใหญ่ใช้อยู่แล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นความสามารถที่ถูกฝึกฝนมาอย่างยาวนานในระบบโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ด้วยซ้ำไป ดังที่เรารู้จักกันดีว่ามันคือการท่องจำเพื่อนำไปสอบนั่นเอง ฉะนั้น ในระบบโรงเรียนของเรา คนที่จำได้มากจึงได้คะแนนการเรียนรู้มาก

จึงเป็นอย่างที่เราเห็นกันแล้วว่า แม้เราจะเรียนมามาก ใช่ว่าเราจะรู้จักรู้ใจตัวเอง

กระบวนการแนวจิตตปัญญานี้ จะเปิดศักยภาพการเรียนรู้ของเราออกมาด้วยเครื่องมือสองสิ่ง หนึ่งคือระยะทาง สองคือเวลา และผู้ที่เป็นคนเปิดก็มิใช่กระบวนกรผู้จัดการเรียนรู้ แต่คือตัวเราเอง

ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งมองดูแจกันจากระยะปกติทั่วไป แล้วค่อยๆ ขยับเข้าไปดูใกล้ๆ เพ่งดูเฉพาะจุด หรือมองแจกันจากมุมที่ต่างออกไปบ้าง ระยะทางที่ต่างนี้เอง เปิดให้เขาเห็นข้อมูลอีกมากมาย ได้เห็นว่าลวดลายของแจกันมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เห็นพื้นผิวว่ามันเป็นเซรามิกจากที่คิดว่ามันคงเป็นแก้ว

บางคนจ้องดูพื้นเสื่ออยู่เนิ่นนาน จนเวลาได้เผยให้เขาพบข้อมูลอีกไม่น้อย ได้เห็นว่ามีมดตัวเล็กๆ ที่ไต่ตามกันมาบนขอบเสื่อ ทะยอยมาเป็นขบวนเพราะมีห่อลูกอมเป็นตัวล่อ เห็นว่าตะเข็บที่เย็บเสื่อนั้นประณีตเพียงไร หากใช้เวลาแค่แวบเดียวในการมอง เสื่อก็ยังเป็นเสื่อผืนเดิม มีสีสัน ลวดลาย ขนาด และวัสดุเช่นเดิม แต่ด้วยเวลาที่นานขึ้น เสื่อผืนเดิมกลับมีเรื่องราวอีกมากมาย

ระยะทางและเวลานี้เองคือเครื่องมือที่ดึงเราสู่การเรียนรู้ใหม่ ให้เราใช้เวลามากขึ้นกับของที่เราเชื่อว่าชำเลืองดูแค่ประเดี๋ยวก็รู้ว่ามันคืออะไร ความเชื่อนี้อาจทำให้เราคาดเดาสรุปได้รวดเร็ว แต่มันเป็นร่องความเคยชินเดิมๆ ของการเรียนรู้ ไม่ช่วยให้เราได้พบอะไรใหม่ และทำให้เราไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เพียงเพราะว่าเราเชื่อว่าเรารู้จักและเข้าใจสิ่งนั้นแล้ว

ยิ่งใช้ระยะในการสังเกตต่างไปจากเดิม ใช้เวลาที่มากขึ้นกว่าเดิม สองสิ่งนี้จะช่วยให้เราพบข้อมูลมากขึ้น และไม่ใช่แค่ข้อมูลนอกตัว แต่เป็นข้อมูลในตัวเรา ทำให้เราได้ค้นพบบทเรียนสำคัญของตนว่า การด่วนตัดสินด้วยสายตาและท่าทีแบบเดิมนั้น จะทำให้เราพลาดอะไรไปบ้าง ประเมินอะไรผิดไปบ้าง

การสังเกตที่ใช้เวลาและระยะทาต่างไปจึงไม่ใช่แค่หามุมใหม่ของข้อมูล แต่เป็นการฝึกให้เราออกจากร่องเคยชินของการเรียนรู้ ระหว่างสังเกตก็ได้สะท้อนตัวเอง ให้ได้พบว่ามีความคิดความเชื่อเดิมที่เรายึดถือ และมันไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกต้องเสมอไป

โลกใหม่แห่งการเรียนรู้ได้เปิดออกแล้วทั้งใบ เมื่อเราก้าวข้ามความเคยชินเก่าๆ และใช้ใจออกไปสัมผัสกับทุกบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต

จิตแห่งการอาสา



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554

ตลอดช่วงเวลาแห่งมหาอุทกภัยได้มาเยือน เราร่วมกันสร้างสายธารแห่งน้ำใจให้ไหลหลั่งชะโลมหัวใจ ใช้สายใยแห่งความเมตตาเยียวยากันและกัน ระหว่างที่ผู้คนทนทุกข์กับการสูญเสีย หลายคนลุกขึ้นและยื่นมือออกไปกอบกู้ แม้กระทั่งบางคนซึ่งประสบภัย ยังไม่ยอมจำนนสภาพ กลับเป็นผู้ร่วมช่วยเหลือเพื่อนร่วมทุกข์ด้วย เป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์แห่งจิตอาสาที่งอกงามทั่วทั้งแผ่นดิน

แม้หลายครั้งหลายครา ภารกิจที่เหล่าอาสาหาญกล้าไปเผชิญ ลงท้ายกลายว่าล้มเหลว ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย หรือไร้ผลในการแก้ไขป้องกันแรงน้ำอันมีมวลมหาศาลได้ แต่เราไม่เคยยินเสียงทดท้อส่อถึงกำลังใจอันถดถอยเลยแม้แต่น้อย

เป็นการงานที่ไม่สามัญธรรมดา ด้วยว่ารางวัลจูงใจมิใช่ผลสุดท้ายของการดำเนินงาน

งานอาสาสมัครเป็นกิจกรรมซึ่งมีความลึกซึ้งเกินกว่าภาพที่เห็น เป็นกิจกรรมที่เกิดกระบวนการขึ้นภายในจิตใจของทุกผู้คนที่เกี่ยวข้อง และเป็นกิจกรรมที่เชื่อมร้อยทุกหัวใจให้เกี่ยวพันโยงถึงกัน

สาระสำคัญของจิตอาสาหาได้เป็นการบริหารจัดให้คนได้ทำหน้าที่เหมาะสมกับงาน หรือการปลุกเร้าประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนได้เห็นความสำคัญของการทำงานเพื่อสังคม สองสิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญจริง ทว่ายังเป็นเพียงงานเสริมสร้างฐานรากด้านนอก เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห่งโพธิได้งอกงามออกจากด้านใน เพราะจิตอาสาเป็นแนวปฏิบัติอันโดดเด่นดุจดั่งหัตถ์แห่งพระโพธิสัตว์ผู้ร่วมทุกข์และโอบอุ้มสรรพชีวิตด้วยมหากรุณา อีกทั้งยังหลอมรวมแนวทางหลากหลายเข้าไว้ในหนทางสายเดียวนี้

ผู้ฝึกฝนตนบนหนทางจิตอาสา ย่อมต้องฝึกปรือพัฒนาคุณภาพของการรับฟังอย่างลึกซึ้งและห้อยแขวนการตัดสินของตนเช่นเดียวกับสุนทรียสนทนา ยิ่งต้องหมั่นดูแลกายและใจให้แกร่งกล้าเพื่อเผชิญหน้าอย่างมั่นคง รวมทั้งดูแลภาวะภายใน เฝ้าสังเกตจิตและใจที่มักหวั่นไหวจากสิ่งกระทบ เฉกเช่นกันกับการภาวนาที่การกู้ภัยนั้นสำคัญเทียบเท่ากับการวางใจ และโลกที่ดำเนินไปภายในคือสิ่งที่สะท้อนความเป็นไปของโลกภายนอก
การจัดการเพื่อบริหารทักษะกำลังพลและเรียกระดมอาสาสมัครให้เพียงพอต่อภารกิจ อาจจะพลาดห้วงโอกาสสำคัญไปเมื่อให้ค่าทั้งหมดของกระบวนการที่ผลลัพธ์และปริมาณ

การสร้างฐานความเข้าใจก่อนได้ลงมือ และการแบ่งปันประสบการณ์หลังได้บรรลุงาน เป็นองค์ประกอบหลักที่เอื้อให้พลังงานหล่อเลี้ยงจิตใจได้ไหลผ่านสู่โลกภายในของอาสาแต่ละคน เมื่อตั้งต้นจากหัวใจอันห่วงใยและเมตตา จากใจดวงหนึ่งส่งถึงใจแต่ละดวง พลังและศรัทธาภายในก็จะเดินหน้าไปพร้อมกับการงานภายนอก

ในกระบวนการนี้ อาสาแต่ละคนต่างปฏิบัติภารกิจสำคัญในฐานะกัลยาณมิตรสำหรับการเดินทางเพื่อพัฒนาตนไปด้วยกัน ต้องอาศัยคุณภาพของการรับฟังที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าเนื้อหาเรื่องราว แต่ไปให้ถึงซึ่งความรู้สึกและความสั่นไหวในใจ ต้องการความวางใจเพื่อกล้าเปิดเผยถึงความคิดความเชื่อเดิมของตน ต้องการความอุ่นใจให้กล้าออกไปเผชิญกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ที่ไม่เคยก้าวล่วงมาก่อน ผู้หนึ่งอาจถึงซึ่งทักษะวิธีการทำงานมากกว่า แต่ก็ต้องการการเยียวยาและพื้นที่ของความเข้าใจเมื่อความรู้สึกและจิตใจของเขาหวั่นไหวเปราะบางเช่นกัน ในงานจิตอาสา ทุกคนยืนอยู่บนสถานะที่เท่าเทียม เป็นสถานะแห่งการเกื้อกูลและสนับสนุนกันทางจิตวิญญาณ

จิตอาสาคือภารกิจแห่งการเผชิญทุกข์ภายนอกด้วยใจอันเมตตากรุณา คือการนำวิกฤตตรงหน้ามาขัดเกลาลดละอัตตาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ภายใน และไปสู่คุณภาพใหม่ร่วมกัน

ทำไมไม่ย้าย ?



หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2554

ถึงตอนนี้คงเจอกับอุทกภัยกันไปถ้วนหน้า คนที่เจอหนักถึงขั้นต้องทิ้งบ้าน คงยืนยันได้ว่าการเตรียมตัวเก็บของ หรือหาที่อยู่ใหม่ แม้จะเป็นภารกิจยุ่งยาก แต่ก็ยังพอจัดการได้ โดยเฉพาะถ้ามีเวลาพอรับมือ แต่เรื่องยากมากยิ่งกว่าหรืออาจจะยากที่สุด คือการขอให้ผู้ใหญ่ในบ้านยอมย้ายออกไปด้วยกัน

ผู้ใหญ่เหล่านี้สำหรับเราก็อาจเป็นได้ทั้งปู่ย่าตายาย คุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้า บ้างอายุมากแล้ว บางท่านสุขภาพโดยรวมไม่ใคร่จะดีเป็นทุนเดิมด้วยซ้ำ ดูเผินๆ ท่านน่าจะยอมขยับขยายตามเราลูกหลานไปง่ายๆ แต่ทำไมมีหลายกรณีมากทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวว่าผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ยอมอพยพโยกย้าย บางกรณีลูกๆ ให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาว่าขอให้แม่ย้ายออกมาแต่เนิ่นๆ ก่อนน้ำจะมา แต่แม่ก็ยืนกรานไม่ยอม จนสถานการณ์เจียนตัว ต้องรอหน่วยกู้ภัยมาช่วยออกไปด้วยเรือ

ใน Facebook ก็คุยเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง หลายคนตกอยู่ในภาวะเดียวกัน คือ ต้องขอร้องผู้ใหญ่ในบ้านให้ท่านยอมย้ายไปด้วย เรื่องนี้เป็นประเด็นจนถึงได้ตั้งหัวเรื่องคุยกันเลย ว่ามาแลกเปลี่ยนวิธีการกันเถอะ ใครใช้แนวทางไหน กลวิธีใด ในการชักจูงให้ท่านเหล่านั้นเห็นว่าปัญหามันร้ายแรงจริงๆ และจะต้องย้ายออกในทันที

หลายวิธีที่เสนอกันไว้ก็น่าสนใจมาก ทั้งการค่อยๆ อธิบายอย่างใจเย็น ทั้งการหาคนที่น่าเชื่อถือให้โทรมาเกลี้ยกล่อม แต่บางวิธีก็ค่อนข้างจะแรง เช่น ขู่ว่าถ้าตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะเป็นยังไง เรียกง่ายๆ ว่าขู่ให้ท่านกลัวจะได้ยอม บางวิธีก็น่าสนใจเพราะใช้ไม้อ่อนและลูกอ้อนเข้ารับมือ ให้กอดท่านแน่นๆ และก้มกราบ ขอร้องว่าให้ยอมตามการตัดสินใจของเราบ้าง จนกระทั่งถึงกับมีคำแนะนำจากจิตแพทย์ว่าด้วยวิธีการชักจูงใจผู้สูงอายุ ซึ่งก็ได้รับการส่งต่อใน facebook อย่างแพร่หลาย

จิตตปัญญาศึกษาถือว่านี่เป็นเรื่องของการสื่อสารและความเข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็น สุนทรียสนทนา (Dialogue) ซึ่งเน้นเรื่องการเปิดโอกาสการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง หรือการสื่อสารอย่างสันติ (Non-Violent Communication) ซึ่งทำให้เราตระหนักว่า ทุกคนก็มีความต้องการความปลอดภัย ความรัก และความเข้าใจเหมือนเรา เพียงแต่ผู้ใหญ่ท่านจะมีวิธีการในการแสดงออกแตกต่างจากเราเท่านั้น เราต้องบอกความรู้สึกในใจ และบอกความต้องการที่แท้จริงที่ไม่ใช่แค่วิธีการออกไป เพราะโดยมากเรามักจะขอให้ท่านทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ซึ่งนั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหาจากมุมมองและวิธีของเราอย่างเดียว ไม่ใช่ของผู้ใหญ่ที่เรารักและห่วงใย

วิธีแนวจิตตปัญญาไม่ใช่การมุ่งเอาชนะ และมิได้เป็นเครื่องมือสำหรับเราผู้เหนือกว่ารู้ดีกว่า ถ้าหากว่าปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้คือการย้ายหนีน้ำไปหาที่ปลอดภัย สิ่งที่จิตตปัญญาศึกษาจะให้ได้คือโอกาสของการทบทวนว่า เราได้ละเลยหลงลืมอะไรที่สำคัญยิ่งไปกว่าการหนีน้ำบ้างไหม เราได้ดูแลจิตใจและจิตวิญญาณของคนอันเป็นที่รักของเราหรือยัง ท่านให้คุณค่ากับบ้านอันเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ หรือว่ามันมีความสัมพันธ์อะไรที่แตกหักมานาน และไม่เคยได้รับการเยียวยา ก่อนจะมาถึงเรื่องวันนี้หรือเปล่า?

คำตอบของเรื่องอาจไม่ใช่ทำอย่างไรจะให้เขาย้าย แต่อาจเป็นโอกาสของการเผยถึงความรักความห่วงใย โอกาสของการให้อภัย และยอมรับในการตัดสินใจของกันและกัน สำหรับจิตตปัญญาศึกษานั้น การอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย และการเข้าใจในตัวเราเอง เป็นหัวใจสำคัญยิ่งกว่าการจัดการควบคุมให้ทุกอย่างได้ตามใจเรา