ปณิธานปีใหม่



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2552

เจียนจะข้ามสิ้นปีเข้าสู่ปีใหม่อีกแล้ว ช่วงเวลาอย่างนี้นอกจากเรามีธรรมเนียมการอวยพรมอบของขวัญ และใช้วันหยุดติดต่อกันไปพักผ่อนทดแทนการทำงานอย่างเหนื่อยล้ามาตลอดทั้งปี ยังเป็นโอกาสซึ่งเรามักตั้งปณิธานบางอย่างเอาไว้ บางคนอาจคิดแล้วเก็บอยู่ในใจไม่บอกใคร บางคนแม้จะไม่ได้ประกาศออกไปแต่ก็เขียนเตือนตัวเองในสมุดบันทึกหรือติดโน้ตบนโต๊ะทำงาน และมีคนจำนวนไม่น้อยสามารถตอบได้ทันทีที่เจอคำถามว่า “ปีใหม่นี้ได้ตั้งใจไว้ว่าเปลี่ยนแปลงอะไรหรือยัง?”

แม้ต่างคนต่างใจมีชีวิตที่หลากหลายต่างกัน ทว่าโดยมากสิ่งที่เราแต่ละคนคิดจะทำเมื่อวาระปีใหม่มาถึง มักจะคล้ายคลึงกันอย่างน่าอัศจรรย์ ฝรั่งเขาเคยสำรวจคร่าวๆ ว่าเรื่องยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่ตั้งใจจะทำในปีใหม่ หรือ New Year’s Resolution นั้น ได้แก่ ๑.ให้เวลาแก่ครอบครัวมากขึ้น ๒.ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ ๓.ลดน้ำหนัก ๔.เลิกบุหรี่ ๕.เลิกเหล้า (มีบางข้อที่ตรงกับใจเราใช่ไหม?)

แม้จะยังไม่เคยมีการเก็บผลข้อมูลอย่างเป็นทางการโดยเปรียบเทียบสัมฤทธิผลของปณิธานปีใหม่ก็ตาม พวกเราคงคาดเดาจากประสบการณ์อันมีร่วมกันได้ว่า มากกว่าครึ่งล้วนประสบความล้มเหลวที่จะทำตามความตั้งใจ

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเกินจริงเลย ถ้าเช่นนั้นเป็นเพราะสาเหตุใดที่ทำให้เราใช้ชีวิตย่างเข้าสู่ปีใหม่จนมันล่วงเลยผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปีด้วยวิถีรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ดังที่เคยเป็นมา จนเราบางคนยอมรับว่าปณิธานปีใหม่ที่ตนเองเคยตั้งไว้กลายเป็นภารกิจอันแทบจะเป็นไปไม่ได้

เราไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ เราต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขณะเดียวกัน เราเริ่มเคยชินและยอมรับกับการใช้ชีวิตแบบเดิม คิดแบบเดิม ทำตัวแบบเดิม จนตัวเราและความคิดเองนี่แหละที่เป็นอุปสรรคใหญ่ไม่ให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

ถ้าเช่นนั้น เราควรต้องขวนขวายหาความรู้จากหนังสือ How-to ว่าทำอย่างไรจึงจะคิดแบบใหม่ ศึกษาว่าวิธีคิดนั้นมีกี่แบบ หรือหาแนวทางเปลี่ยนตัวเองได้ภายใน ๑ เดือน ใช่หรือไม่? - อาจจะใช่ เพราะเราคงได้ข้อมูลความรู้มากขึ้น แต่มันก็จะเป็นเหมือนกับเรื่องอื่นๆ อีกมากมายในชีวิตที่เรารู้ดีมาตั้งนานแล้ว แต่เราก็ไม่ทำ (อยู่ดี) รู้ว่าข้ามสะพานลอยปลอดภัยกว่า รู้ว่าการบอกรักพ่อแม่เป็นสิ่งที่ดี รู้ว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมือง แต่ทั้งหมดนี้ใช่ว่าเรารู้แล้วเราจะทำ

การที่เรารู้มากขึ้นจึงไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเราได้เสมอไป ถ้าตราบใดที่เรายังไม่รู้ตัว

สิ่งสำคัญที่เราส่วนใหญ่มักหลงลืมละเลยไปคือตัวของเราเอง ถ้าหากในแต่ละชั่วขณะเรามีสติรู้เท่าทันจิตใจที่เผลอไผลไปกับความเคยชินเก่าๆ เดิมๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีตรงหน้าคือความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลง ความรู้ทักษะต่างๆ ที่เคยมีจะเป็นตัวเลือกหนึ่งให้เราตัดสินใจนำขึ้นมาใช้ มันจะไม่กลายเป็นเรื่องอุดมคติหรือทักษะที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษอีกต่อไป

เราเลือกกลับบ้านเร็วขึ้นไปหาครอบครัวแทนที่จะไปร่วมวงเหล้าได้ ถ้าเราทัน สามารถเห็นว่าใจกำลังกระเพื่อมหวั่นไหวอยากไปสังสรรค์ เราทอดระยะเวลาในการตัดสินใจให้ช้าออกไปได้ ใช้ชั่วขณะนี้เปิดโอกาสให้ตัวเราเห็นตัวของเราเอง

ปีเก่ากำลังจะผ่านไป เราเองก็ใช่จำต้องเป็นคนเก่าคนเดิมที่ทำอะไรเหมือนๆ เดิมในความเคยชินเดิมๆ เสมอไป ปีใหม่กำลังจะเข้ามาและอาจจะเกิดอะไรขึ้นอีกได้มากมาย เช่นเดียวกับเราที่อุดมไปด้วยความเป็นไปได้และเป็นผู้สร้างทางเลือกให้แก่ชีวิต ขึ้นอยู่แค่ว่าเห็นตัวเองหรือไม่ และอยากจะเป็นคนแบบไหน

เพราะว่าตัวเรานี่แหละคือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ส่วนปณิธานปีใหม่ที่น่าจะได้ตั้งเอาไว้ในใจกันอาจเป็นแค่เรื่อง “รู้เท่าทันตัวเอง” ก็ได้

สุนทรียสนทนาด้วยใจ



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2552

ใช่ว่าความรู้ทุกอย่างจะถูกถ่ายทอดให้เข้าใจได้ด้วยการบอกเล่าและบรรยาย ถึงแม้ว่าพวกเราคงจะคุ้นเคยกับการเล่าเรียนมาด้วยการฟังครูสอนหน้าชั้น แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของการเรียนรู้ ความรู้และทักษะหลายสิ่งในชีวิตที่เราได้มา มันมาจากการได้ทำและมีประสบการณ์ด้วยตนเอง การบรรยายจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

อาจารย์ท่านหนึ่งเคยเปรียบไว้ว่า หากมีผลไม้อยู่ชนิดหนึ่งซึ่งเราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยลิ้มชิมรสมาก่อน แต่ให้ผู้ที่เคยเห็นและได้ชิมมาบอกเล่าแก่เรา ต่อให้เขามีเวลามากเพียงไหน หรือเขามีทักษะในการเลือกใช้ถ้อยคำเพียงไร อย่างมากก็อุปมาให้ใกล้เคียง และเราอาจคิดนึกไปว่าเราพอจะเห็นภาพและเข้าใจได้แล้ว เป็นการทึกทักไปเอง เป็นความรู้ท่องจำที่เข้าใจแต่ยังไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา

สุนทรียสนทนาก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน เครื่องมืออันมีชื่อเสียงรู้จักกันอย่างแพร่หลายนี้มีผู้เขียนหนังสือและบทความให้อรรถาธิบายไว้หลากรูปแบบ ทั้งถ่ายทอดบรรยากาศ แจกแจงถึงหลักการสำคัญ ตลอดจนยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงในวงสุนทรียสนทนาขึ้นมาให้เห็นภาพ

แต่ในพวกเราทั้งหลายจะมีใครที่เพียงแค่อ่านเท่านั้นก็เข้าถึงหัวใจของสุนทรียสนทนา และเข้าใจมันจากใจของเราจริงๆ ความเข้าใจนี้เกิดจากการได้ใคร่ครวญจิตใจตนจนสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นปัญญาความเข้าใจในใจของเรา ไม่ใช่นึกว่าเข้าใจด้วยการใช้สมองคิดวิเคราะห์เท่านั้น

การฝึกอบรมกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาว่าด้วยเรื่องสุนทรียสนทนาจึงไม่อาจเป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นได้หากขาดไร้โอกาสร่วมอยู่ในวงสุนทรียสนทนาด้วยตนเอง ลำพังเพียงการฟังบรรยายนั้นมักช่วยให้เราได้แค่รู้จำเท่านั้น

ระหว่างฟังบรรยายเล่าเรื่องหลักการและแนวทาง หลายคนอาจคิดเชื่อมโยงเปรียบเทียบสุนทรียสนทนากับแนวทางการประชุมอื่นๆ ที่เคยได้ศึกษามาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในหมู่ผู้อยู่ในแวดวงวิชาการและการศึกษา ตลอดจนกลุ่มผู้มีสติปัญญามาก แต่หากการคิดวิเคราะห์นั้นนำไปสู่ผลสรุปว่ารู้แล้วเข้าใจแล้ว ก็เท่ากับว่าเราพลาดโอกาสการใช้ใจใคร่ครวญจนนำสุนทรียสนทนาให้เข้ามาถึงใจได้

วงฝึกหัดสุนทรียสนทนานั้นแตกต่างไปจากหลักการเนื้อหามาก เราอาจคิดว่าคุณสมบัติของการฟังอย่างลึกซึ้งนั้นเป็นเรื่องไม่ยาก แต่หากได้ย้อนกลับมาดูตัวเราขณะอยู่ในวงสนทนา ว่าเราสามารถฟังผู้พูดได้ทั้งหมดทุกเรื่องราวและความรู้สึกทุกอย่างของเขาได้อย่างไร และมากน้อยเพียงใด นั่นแหละคือโอกาสที่เราอาจได้ตระหนักอย่างแท้จริงว่าความสามารถที่ดูง่ายๆ แค่ฟังอย่างลึกซึ้งนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องที่รู้จักจำได้แล้วจะสามารถทำได้

ความเงียบก็เช่นเดียวกัน ทั้งยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในวงฝึกหัดสุนทรียสนทนา ถึงแม้ว่าจะได้รับฟังบรรยายไปแล้วว่าความเงียบเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา และเราสามารถฟังความเงียบนี้ได้ แต่พวกเราส่วนใหญ่มักรู้สึกอึดอัดทนไม่ได้ หลายคนทำลายความเงียบลงด้วยการพูดเปิดประเด็นในเรื่องที่ตนสนใจ บางคนฝ่าความเงียบด้วยเรื่องตลกขบขัน แต่ในช่วงขณะนั้นดูเหมือนทั้งวงจะลืมไปเสียแล้วว่าเราไม่ได้พูดคุยเพื่อผลัดกันเล่าเรื่องทีละคน ลืมไปว่าเราไม่ได้มาเจรจาเพื่อหาข้อสรุป

ความเงียบกลายเป็นสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ของวงสนทนา พร้อมกับเราที่พลาดโอกาสจะได้ฟังเสียงที่เกิดขึ้นในใจของตัวเอง เราละเลยช่วงเวลาที่จะได้ใช้ใจใคร่ครวญเห็นความรู้สึกอึดอัดหรือความคาดหวังที่ไม่ได้รับการตอบสนอง

เหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในการบรรยาย

การอธิบายบอกเล่าเรื่องสุนทรียสนทนาผ่านตัวอักษรในบทความนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ครูบาอาจารย์ที่ผู้เขียนเคารพยิ่งท่านได้ย้ำนักย้ำหนาว่า “จะเขียนเรื่องอะไรก็ตามขอให้เป็นเรื่องที่ได้พบได้เจอและเข้าใจแล้วด้วยตัวเอง” ดังนี้แล้ว จึงขอชักชวนเราทุกคนผู้สนใจในจิตตปัญญาศึกษาและสุนทรียสนทนาได้นำพาตัวเองพ้นจากการอ่านและการฟังไปสู่การปฏิบัติด้วยตัวเองกันเถิด

เพราะการเรียนรู้นั้นเกิดที่ใจของเราเอง

จำกัดความ

คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2552

“จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร” ไม่ว่าในการฝึกอบรมครั้งไหน เรามักได้ยินคำถามทำนองนี้จากผู้เข้าร่วมอยู่เสมอ หากบังเอิญว่าครั้งนั้นเป็นการฝึกอบรมที่ผู้เข้าร่วมมีความสนใจมากมาเป็นทุนเดิมก่อนแล้ว คำถามนี้จะปรากฏตั้งแต่วันแรกของกระบวนการ ส่วนผู้เข้าร่วมในการฝึกอบรมซึ่งออกแบบและจัดให้เฉพาะองค์กรก็ยังไม่วายได้เอ่ยปากถามจนได้ ถ้ารู้ว่ากระบวนการในสามสี่วันนี้มีจิตตปัญญาศึกษาเป็นแนวคิดหลักใช้จัดการเรียนรู้

ดูเหมือนพวกเราส่วนมาก โดยเฉพาะเราผู้ซึ่งทำงานในแวดวงวิชาการหรือการศึกษาต่างเชื่อกันว่าถ้าเราได้รู้ความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วย่อมจะเข้าใจในสิ่งนั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง ยิ่งถ้าได้รู้คำจำกัดความของแนวคิดด้วยแล้วยิ่งทำให้เกิดความชัดเจน ไม่พาลเข้าใจสับสนปะปนไปกับแนวคิดเรื่องอื่น



จริงหรือที่ว่าการให้ความหมายและคำจำกัดความจะช่วยให้เราเข้าใจได้ดี จริงหรือที่การตอบคำถามว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไรจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ความชัดเจนและทำให้เขาเกิดการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาได้

ในการฝึกอบรมครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ ผมและเพื่อนร่วมทีมได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรของวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งผู้เข้าร่วมมีทั้งกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มอาจารย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ตลอดทั้งสี่วันของการเรียนรู้นั้น ผู้จัดกระบวนการหรือที่เราเรียกตัวเองว่ากระบวนกรไม่ได้อธิบายความหมายหรือให้คำจำกัดความของจิตตปัญญาศึกษาเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรากลุ่มนี้สี่สิบกว่าชีวิตคือความเข้าใจในตัวเองที่เพิ่มพูนมากขึ้นจนทำให้เรายอมรับความแตกต่างของกัน และแต่ละคนได้พาใจของตนเองไว้ใกล้กันจนความรู้สึกของทุกคนเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานอยู่ภายใต้สังกัดเดียวกันเหมือนดังที่เป็นมาก่อนเท่านั้น

นอกจากนี้ เราทุกคนยังบอกตรงกันว่าเราได้รับประโยชน์และมีความเข้าใจในจิตตปัญญาศึกษายิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก อาจารย์ท่านหนึ่งเห็นว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้สติและสอดคล้องกับหลักศาสนา ส่วนคุณป้าคนงานบอกว่าเป็นการเรียนแบบสนุกๆ สบายๆ และได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

แน่นอนว่าต่างคนต่างเห็นจิตตปัญญาศึกษาต่างกันไปและให้คำอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่เหมือนกัน แต่กลับเหมือนกันอย่างยิ่งตรงที่เป็นความเข้าใจซึ่งซึมซาบเข้าไปจนถึงจิตถึงใจ ไม่ใช่แค่รู้จำท่องได้ว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร

หากการฝึกอบรมเริ่มต้นด้วยการให้ความหมายและอธิบายนิยามของจิตตปัญญาศึกษาเสียแล้ว จะเป็นไปได้ไหมว่าผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายสถานภาพและคุณวุฒิจะตอบได้ แน่นอนว่าคงมีคำตอบออกมาได้ แต่คำตอบนั้นจะเต็มไปด้วยความระมัดระวังและหวาดเกรงว่าจะผิดพลาดไปจากคำสอนมา สำหรับบางคน การได้รู้ความหมายก่อนอาจทำให้เขาหมดความสนใจในจิตตปัญญาศึกษาไปเสียแต่แรก เพราะเมื่อได้รู้ได้เทียบเคียงกับสิ่งที่รู้มาก่อนหน้าก็ถือว่าเข้าใจแล้ว

ในแง่หนึ่ง การให้ความหมายจึงเป็นการจำกัดความเป็นไปได้ของจิตตปัญญาศึกษาให้อยู่ในขอบเขตจำกัด เป็นการปิดกั้นจินตนาการและโอกาสในการเข้าถึงและเข้าใจที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เราอาจเคยชินจากการเรียนในระบบว่านิยามคือความชัดเจน เป็นความเข้าใจ แต่ถ้าความเข้าใจนั้นไม่ได้เกิดจากเข้าไปมีประสบการณ์ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้น ผู้เรียนจะสามารถเข้าไปถึงใจจน “เข้าใจ” ได้จริงหรือ

ผมเคยเปรียบเทียบจิตตปัญญาศึกษากับความรักว่าเป็นสิ่งคล้ายกัน เราเติบโตและรู้จักความรักมาโดยที่ไม่ต้องมีใครบอกความหมายให้ความรักถูกจำกัดใจความ แต่เราทุกคนสามารถรู้จักและเข้าใจความรักได้เช่นเดียวกัน จากการผ่านประสบการณ์ความรักด้วยตัวเอง และจากมุมมองอันหลากหลายที่มีต่อความรัก

จิตตปัญญาศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกัน

จิตตปัญญาพฤกษา

คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒

ราว 2 ปีที่ผ่านมา เราหลายคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ร่วมกันทำงานทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษา โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านไปยังศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยในช่วงเวลาของการริเริ่มนี้เราเชื่อว่าควรมีความรู้เป็นฐานรองรับ ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านให้ความเมตตาแนะไว้ว่า หากจะกระทำการขับเคลื่อนเรื่องใด ควรได้ศึกษาวิจัยเรื่องนั้นให้รู้จบสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร เพื่อจะได้ทำงานในส่วนที่เป็นคานงัด ทำน้อยแต่ได้ผลมาก หรือทำในส่วนที่ยังขาดพร่องอยู่

เราใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มและเข้าไปปรึกษาขอรับคำแนะนำจากปราชญ์หลายท่าน โดยเฉพาะอาจารย์อาวุโสในกลุ่มจิตวิวัฒน์ จนกระทั่งเริ่มเห็นแนวทางว่าควรจะทำงานศึกษาทบทวนใน 5 เรื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงจะครอบคลุมภาพรวมและเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อยอดในอนาคต ทั้ง 5 เรื่องนั้นประกอบด้วย 1. ประวัติแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2. เครื่องมือและวิธีปฏิบัติในแนวจิตตปัญญาศึกษา 3. วิธีวิทยาการวิจัยสำหรับจิตตปัญญาศึกษา 4. การประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา และ 5. แนวทางการประยุกต์ใช้จิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ

งานวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อมูลจำนวนมาก เราพบว่าแม้จิตตปัญญาศึกษามีความเคลื่อนไหวที่เริ่มในต่างประเทศมาไม่นาน ทว่าได้นำแนวคิดที่มีอยู่ร่วมกันในหลายศาสนาและความเชื่อมาใช้ในบริบทสังคมร่วมสมัย วิธีการปฏิบัติก็ยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเน้นฐานกาย กิจกรรมเชิงพิธีกรรม การทำงานศิลปะ รวมทั้งใช้สมาธิและการสงบนิ่ง ล้วนแล้วเป็นการปฏิบัติที่จิตตปัญญาศึกษานำมาใช้ ส่วนวิธีวิทยาการวิจัยก็มิได้จำเพาะต้องเป็นแนวทางหนึ่งใด แต่ควรได้บูรณาการผสมผสานให้เห็นความจริงจากหลากมุมมอง เช่นเดียวกับการประเมินที่มีจุดสำคัญคือการรู้เท่าทันและตระหนักในกระบวนทัศน์ของตนเอง ตลอดจนการประยุกต์ใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ นั้นจึงมิใช่การปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากันได้กับบริบทเท่านั้น แต่เป็นการประยุกต์ที่มุ่งสู่การเรียนรู้จิตใจและเข้าใจตน

ในระหว่างกระบวนการวิจัยเราพบอุปสรรคและข้อจำกัดไม่น้อยเฉกเช่นเดียวกับการร่วมกันทำงานในหลายๆ อย่าง บางเรื่องเราอาจจะสามารถจัดการได้ด้วยวิธีสั่งการ หรือยึดเอาแผนการดำเนินงานเป็นหลัก ทว่าข้อมูลความรู้มากมายที่เราพบบ่งชัดว่าการพัฒนาจิตวิญญาณและปัญญาทั้งหลายในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการมีประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติ การทำงานวิจัยร่วมกันของเราจึงกลายเป็นพื้นที่เพื่อการฝึกฝนทางจิตตปัญญาของผู้วิจัยทุกคน เรานำเอาแนวคิดความเป็นผู้นำร่วมและความเป็นผู้นำผู้รับใช้ให้มาอยู่ในการทำงานจริง แม้เรื่องดังว่านี้จะไม่ง่ายดายและคงไม่เห็นผลทันทีก็ตาม แต่อย่างน้อยเราต่างได้เรียนรู้อะไรผ่านประสบการณ์ตรงทีเดียว

ช่วงของการสรุปประมวลและสังเคราะห์ความรู้เป็นขณะเวลาที่น่าประทับใจ ทุกคนในคณะทำงานโครงการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเด็นความรู้จากงานที่ต่างคนได้ทบทวนศึกษามา แต่แรกดูเหมือนว่าจะหาข้อสรุปลงตัวที่ตรงใจให้แก่กันไม่ได้ เมื่อความเครียดครอบงำการทำงานเราจึงได้พลิกเปลี่ยนเข้าหาความผ่อนคลาย บทสนทนาสู่บทสรุปจึงเกิดขึ้นได้ในเนื้อหาเดิมเดียวกัน จากความคิดเล็กๆ หนึ่งก่อเกิด ความคิดใหม่ได้ต่อยอดและประกอบกันเข้าเป็นข้อสรุปในใจที่เราสามารถเห็นร่วมตรงกัน เสนอประมวลความรู้จิตตปัญญาศึกษาให้เป็นโมเดลชื่อว่า “จิตตปัญญาพฤกษา” (Contemplative Education Tree)



องค์ประกอบของโมเดลนี้มีส่วนสำคัญ 8 ประการซึ่งสื่อถึงองคาพยพของต้นไม้ ได้แก่ 1. ราก คือที่มาและพัฒนาการของจิตตปัญญาศึกษานั้นอยู่ฐานแนวคิดเชิงศาสนา เชิงมนุษยนิยมและเชิงบูรณาการองค์รวม 2. ผล คือเป้าหมายการเรียนรู้สู่จิตใหญ่ที่กว้างขวางครอบคลุมและเชื่อมโยงถึงความจริงของสรรพสิ่ง 3. แก่น เป็นกระแสแห่งการพัฒนาสู่จิตใหญ่ ประกอบด้วย การมีสติเปิดรับประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะอย่างเต็มเปี่ยม การสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน การน้อมมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ความเบิกบานและผ่อนคลาย และการมีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง 4. กระพี้ เป็นบริบทของการเรียนรู้ ประกอบด้วย ชุมชมหรือสังฆะสนับสนุน และการกลมกลืนกับวัฒนธรรม 5. เปลือก เป็นเครื่องมือและการปฏิบัติรูปแบบต่างๆ 6. เมล็ด เป็นศักยภาพการเรียนรู้ภายในมนุษย์ 7. ผืนดิน เป็นวงการต่างๆ ที่จะนำจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้ และ 8. การปลูกและดูแล เป็นกระบวนการพัฒนาและทบทวนความรู้ ประกอบด้วยวิธีวิทยาการวิจัย และการประเมิน

ผู้ทรงคุณวุฒิและกัลยาณมิตรบางท่านได้เคยทักท้วงว่าโมเดลนี้อาจยังไม่ชัดเจนและเข้าใจได้ยาก ขณะที่เราคณะทำงานน้อมรับความเห็นต่างนั้น แต่เรายืนยันการนำเสนอโมเดลลักษณะนี้เพื่อชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณดังเช่นจิตตปัญญาศึกษาไม่ได้มีแบบแผนทิศทางคงที่ ตายตัว ไม่ได้เป็นกลไกลดทอนย่อส่วนหรือเชิงเส้น การเปรียบเปรยภาพของการเรียนรู้กับสิ่งมีชีวิตที่ไม่แยกส่วนและสัมพันธ์ประสานกันจึงเป็นการอุปมาที่มีความมุ่งหมาย

อีกทั้งการเลือกใช้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษานำเสนอภาพแนวคิดจิตตปัญญาศึกษามิได้ตั้งอยู่บนความต้องการปกป้องผลงานวิชาการ แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการทำงานอย่างเป็นผู้นำร่วมและการทดลองใช้วิธีปฏิบัติตามแนวจิตตปัญญาศึกษาของคณะทำงาน เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงและเชื่อมร้อยสัมพันธ์กับใจของเราผู้ศึกษา ดังนี้แล้ว ความเห็นพ้องหรือความเห็นต่างต่อจิตตปัญญาพฤกษาอันสามารถนำไปสู่ความเข้าใจและสนับสนุนการนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสิ้น

เมื่อสิ้นโครงการนี้ เราเริ่มโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยนำจิตตปัญญาพฤกษาเป็นโมเดลต้นแบบนำไปใช้จัดการเรียนการสอนให้นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดรายทางของชั้นเรียนและผลตอนท้ายของการศึกษาล้วนบ่งชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณหาใช่การวางแผนการสอนและจัดการเรียนไปตามแผนอย่างเคร่งครัด แต่ควรสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งการจัดกระบวนการและวิธีปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียสนทนา ศิลปะ และการเจริญสติ พร้อมทั้งมีการเรียนรู้อย่างสังฆะกัลยาณมิตรหรือชุมชนการเรียนรู้เป็นกระพี้โอบอุ้ม เมื่อผู้เรียนพร้อมเมื่อนั้นเขาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเองและด้วยตนเอง

สำหรับเราผู้ซึ่งทำงานวิจัยทบทวนความรู้และได้นำไปทดลองปฏิบัติการ เราปรารถนาให้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษาเป็นเครื่องเตือนให้ได้ระลึกอยู่เสมอว่า แม้การเรียนรู้ในแนวทางจิตตปัญญาศึกษานั้นจะไม่อาจคาดหวังและกะเกณฑ์ผลลัพธ์อันแม่นยำจากผู้เรียนได้ แต่เราเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่าภายใต้การหมั่นสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยแล้ว การเติบโตทางจิตวิญญาณในกระบวนการเรียนรู้ย่อมจะเกิดขึ้นและดำเนินไปเฉกเช่นเดียวกับการเติบโตของชีวิตจากเมล็ดน้อยๆ สู่ไม้ใหญ่อันให้ความร่มเย็นแก่ผืนดินและสรรพชีวิตทั้งหลายในที่สุด

วาจาใจ



คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2552

ระหว่างทางกลับบ้านในเย็นวันหนึ่ง พี่ชายผมแวะเข้าตลาดและซื้อผลไม้ติดมือกลับบ้านมาสองสามถุง ด้วยเขาคิดแล้วว่าน่าจะคุ้ม เพราะตลาดกำลังจะวายคนขายจึงยอมลดราคาให้มาก ซื้อเอาไปฝากแม่ก็คงจะดีใจที่ได้ผลไม้รสอร่อยในราคาลดพิเศษ แต่ครั้นถึงมือและได้หยิบจับสัมผัสแล้ว แม่กลับกล่าวขึ้นว่า

“ซื้อมาเท่าไหร่เนี่ย แบบนี้มันสุกเกินไป ทีหลังไม่ต้องซื้อมาก็ได้”

“งั้นทีหลังผมซื้อมาเฉพาะของที่ดีและราคาถูกตามที่แม่เคยบอกนะ” เขาตอบ

หลังจากประโยคนี้ ผมเห็นพี่ชายนิ่งไม่ตอบคำอีก ในใจเขาตอนนั้นอาจจะรู้สึกน้อยใจก็เป็นไปได้ ในเวลาเดียวกันนั้นคงไม่ได้มีผมคนเดียวที่รู้สึก แม่เองคงมีอะไรในใจ แต่ปากก็พูดอธิบายเรื่องการเลือกผลไม้และเรื่องราคาข้าวของอยู่พักใหญ่ แม้ว่าในเวลานั้นพี่ชายจะไม่ได้เอ่ยคำอะไรออกมา จนกระทั่งแยกย้ายจากโต๊ะอาหารกลับเข้าห้องใครห้องมัน

ครู่ใหญ่ต่อมา พี่สาวพาแม่เข้าห้องพี่ชาย แม่ยิ้มอายและบอกว่าขอโทษที่พูดอย่างนั้นทำให้พี่งอน แม่แค่เป็นห่วงกลัวลูกไม่มีเงินพอใช้ ไม่อยากให้สิ้นเปลืองเงินทองซื้อของ เขาตอบแม่ว่าไม่ได้งอน เพียงแต่นึกว่าแม่จะดีใจ เลยรู้สึกเสียใจและผิดคาด ส่วนที่เงียบไปเป็นเพราะกำลังดูจิตดูใจตนเองเท่านั้น

เมื่อมีโอกาสให้ผมได้สนทนากับพี่ตามลำพัง เราต่างเห็นพ้องตรงกันว่าสถานการณ์ทำนองนี้ไม่ได้มีเกิดขึ้นกับครอบครัวเราเท่านั้น แต่ปรากฏในมนุษย์เราทุกคน ทุกระดับ ทั้งครอบครัว กลุ่มเพื่อน ในองค์กร และแม้ระดับชาติ เป็นปรากฏการณ์แห่งการสื่อสารที่ไม่ได้เผยถึงความรู้สึกและความต้องการอันแท้จริงของตัวเรา

สิ่งในใจที่แม่อยากบอกคงมีเพียงแค่ความรู้สึกเป็นห่วงและความต้องการเข้าไปดูแลลูก ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในวัยทำงานมาแล้วเกือบสิบปี แต่สำหรับแม่เรายังคงเป็นลูกไม่มีเปลี่ยนแปรเป็นอื่น ส่วนเราผู้เติบโตมาในสังคมเมือง การซื้อของไปฝากเป็นเพียงหนึ่งในการแสดงออกถึงความรักและกตัญญูเท่าที่เราจะทำได้ง่ายๆ ในแต่ละวันก็เท่านั้น

เช่นนั้นแล้วเหตุใดทำให้คุณค่างดงามในใจนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำคนละความหมาย ซ้ำร้ายในหลายโอกาสอาจขยายเป็นความขัดแย้งและความขุ่นเคืองระหว่างทั้งสองฝ่ายไปได้

ผมคิดถึงกระบวนการหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “การสื่อสารอย่างสันติ” หรือ Non-Violence Communication เพราะแนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่าเบื้องลึกของคำสนทนาที่เราพูดโต้ตอบกันไม่ว่าจะในเรื่องใดหรือลักษณะใด ล้วนแล้วมาจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นความต้องการที่เรามีอยู่ร่วมกันทั้งสิ้น

ไม่ว่าใครต่างต้องการได้รับความรัก ต้องการเป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง ต้องการความเข้าใจ ต้องการความปลอดภัย ต้องการได้พักผ่อน ฯลฯ แต่ถ้อยคำที่เราส่วนใหญ่กล่าวออกไปล้วนไม่ได้เผยให้คู่สนทนาได้รู้ถึงความต้องการเหล่านี้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้สึกที่มียังถูกปกปิดไม่ได้รับการแสดงออกผ่านคำพูดของเราเสียด้วย แต่เรากลับคาดหวังและเชื่อเหลือเกินว่าเขาน่าจะเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไร ในทางตรงข้ามเราเองยังไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้เลย หลายครั้งเราโทษว่าอีกฝ่ายไม่บอกให้ชัดเจนเสียด้วยซ้ำ

ความสัมพันธ์ระหว่างเราในหลายระดับจึงมักเป็นผิวน้ำในบ่อที่สั่นกระเพื่อมเพราะแรงกระทบจากการหย่อนก้อนหินวาจาที่ไม่ได้สื่อสารออกมาให้ตรงกับใจ

การสื่อสารอย่างสันตินั้นเป็นการปฏิบัติฝึกฝนให้ได้กลับไปแหล่งที่มาของเรา ชี้ชวนให้เราบอกกล่าวเรื่องตรงหน้าอย่างไม่ตีความตามความเชื่อเราเอง พร้อมทั้งได้เผยและไต่ถามความรู้สึก บอกถึงความต้องการแท้จริงในใจที่เราอยากจะได้จากกัน

แน่นอนว่าการเอ่ยสิ่งเหล่านี้ออกจากปากไม่ใช่เรื่องคุ้นเคยเป็นนิสัย เราจะเปิดปากพูดในแบบที่เราเป็นตลอดมานั้นง่ายดายนัก การหมั่นฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ให้ตนเองจึงเป็นความพยายามของเราที่จะตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า เท่าทันใจก่อนได้เอ่ยวาจาออกไปให้มีสันติอยู่ในถ้อยคำของเรา

แนวคิดจิตตปัญญาดังการสื่อสารอย่างสันตินี้จึงไม่ใช่เรื่องผิวเผินเพียงรูปแบบใหม่ในการสื่อสาร แต่คือการบ่มเพาะทักษะอันนำพาให้เราเกิดสติ ได้เผยความรู้สึก ได้บอกความต้องการจริงจากใจ และรักษาความนิ่งใสของผิวน้ำในความสัมพันธ์ระหว่างเรา ระหว่างความเป็นมนุษย์อันมีเนื้อแท้เดียวกัน

วิถีผู้นำ



คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒

“แน่ใจเหรอว่าเราจะพูดกันเรื่อง Leadership ... ในเมื่อ 30 กว่าคนที่นี่ มีคนที่เป็น ผอ. อยู่แค่ 2 คน เท่านั้นนะ” เสียงของผู้เข้าร่วมแทรกขึ้นมาระหว่างที่เราจะเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Contemplative Leadership หรือ ความเป็นผู้นำแนวจิตตปัญญาศึกษา ของแก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

คนนอกวงสนทนานี้อาจมองว่านี่เป็นประโยคขัดจังหวะการเรียน ทำให้ไม่ลื่นไหล ไม่แน่ว่าคงมีคนอึดอัดแทนกระบวนกรผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ว่าเขาจะรับมือกับคำถามท้าทายของผู้เข้าร่วมได้อย่างไร

แต่ตรงกันข้าม หลังจากคำถามนี้เปิดขึ้นมา การเรียนรู้ว่าด้วยความเป็นผู้นำก็เคลื่อนไปอย่างแจ่มชัดและมั่นคง เพราะได้รับความสนใจและความตั้งใจจากสมาชิกทุกคนในวง อีกทั้งยังจุดประกายให้ได้เข้าสู่แก่นสำคัญของเนื้อหาเสียด้วย ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่จับต้องสัมผัสได้ ไม่เป็นแนวคิดเลื่อนลอย และทุกคนรู้สึกว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตนเอง

ภายหลังการอบรมนี้ พวกเราทีมกระบวนกรได้สะท้อนการเรียนรู้หลังการทำงานร่วมกัน เราเรียกกิจกรรมนี้ว่า AAR (After Action Review) ประเด็นที่เราประทับใจและแลกเปลี่ยนกันอย่างมากก็คือเรื่องความเป็นผู้นำนี้เอง นั่นเป็นเพราะเราเคยผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกด้วยกันมาแล้วในทีมเมื่อ 3 ปีก่อนเป็นต้นมา นับแต่เรายังทำงานวิจัยจิตตปัญญาศึกษากัน

ในแรกเริ่มเรามาพบและตกลงว่าจะทำงานวิจัยกัน เพราะต่างคนก็สนใจการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจและเรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจ และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ท่านได้ตั้งชื่อการเรียนรู้นี้ว่าจิตตปัญญาศึกษา สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับมัน ณ ขณะนั้นจัดว่ามีน้อยมาก เหตุที่เราต้องทำวิจัยเชิงสำรวจความรู้เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจมากขึ้น เราก็จะทำงานและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นจิตตปัญญาศึกษาโดยแท้ได้ ไม่หลงทางหรือผิดเพี้ยนไป

ทว่าด้วยความที่ยังใหม่กันมากนี่เอง เราเกือบทุกคนก็ลังเล ไม่กล้าออกรับเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย ด้วยว่าเป็นงานรับทุนดำเนินการจาก สสส. และเงินทุนจำนวนมิใช่น้อย ขณะเดียวกันรูปแบบความสัมพันธ์ของเราก็มีความเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องมากกว่าจะเป็นคณะทำงานที่มีตัวหัวหน้าผู้นำอย่างชัดเจน

ในช่วงก่อนเริ่มงานวิจัยอย่างเป็นทางการ เราจึงหาแนวคิดวิธีการการทำงานร่วมกันที่ช่วยให้เราได้พัฒนาจิตและพัฒนาตัวเราเอง ที่สำคัญไม่เผลอทำงานตามสายการบังคับบัญชา หรือติดในรูปแบบแนวทางการบริหารจัดการเดิมๆ เราพบว่ามีแนวคิดที่น่าสนใจมากและเรานำมาใช้ทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งต่างหนุนเสริมกันและกัน ได้แก่ ความเป็นผู้นำผู้รับใช้ และความเป็นผู้นำร่วม

แนวคิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้ (Servant Leadership) นั้น มีผู้ที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปพอสมควร อาจด้วยคำว่า “ผู้รับใช้” ถูกตีความว่า ผู้นำต้องสามารถรับใช้ทำงานให้ทุกคนได้ ช่วยทำแทนทุกคนได้ ฟังดูเหมือน ส.ส. ขอรับใช้ประชาชนเลยเชียว แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะการรับใช้คือการดูแลเพื่อนร่วมงานให้เพื่อนเขาได้เติบโตและพัฒนาตนเองขึ้นมาได้ สนับสนุนให้เขาได้พบศักยภาพและความสามารถที่แท้จริงของตนเองจากประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาจิตใจ แตกต่างกันอย่างมากกับการช่วยทำงานแทนเขาด้วยทักษะของเราที่ดีกว่า เพราะเขาจะพลาดโอกาสเรียนรู้และเติบโตจากการทำเอง สูญเสียการโค้ชสอนงาน และขาดการเสริมศักยภาพจากเราไป ใน 3 ปีของการทำงานวิจัย ทีมเราเห็นชัดเจนว่าการเป็นผู้นำผู้รับใช้ต้องอาศัยความตั้งใจ ความสนใจ และความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องของแต่ละคนเป็นอย่างมากทีเดียว

เรายังใช้อีกแนวคิดที่เสริมกันมากคือเรื่องความเป็นผู้นำร่วม (Collective Leadership) ซึ่งเชื่อว่าพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เรามีเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิเช่นเดียวกัน และการเปลี่ยนแปลงวิวัฒน์จิตหรือชีวิตด้านในก็ไม่เพียงเป็นเส้นทางระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งแผง เป็นการเรียนรู้ที่ดำเนินไปพร้อมกันทั้งกลุ่มทั้งชุมชน ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจจะละเลยกัลยาณมิตรหรือขาดเพื่อนผู้สนับสนุนไปไม่ได้เลย ความเป็นผู้นำร่วมจึงเป็นสภาวะผู้นำที่ทุกคนให้ความเป็นผู้นำแก่กลุ่ม ด้วยคุณภาพและคุณลักษณะของเราที่หลากหลายต่างกัน มิใช่ผู้นำร่วมด้วยการรอตัดสินใจพร้อมๆ กัน ทำอะไรเหมือนๆ กัน หรือรอเห็นชอบตรงกัน เราเห็นชัดเจนว่าคุณภาพของการทำงานที่เกิดขึ้นจากการร่วมใจกันแตกต่างชัดเจนจากการแบ่งงานกันทำตามความถนัด เป็นผลร่วมที่มากกว่าผลรวมของจำนวนคน

ตลอดเวลาที่เราทำงานด้วยกันมาในฐานะทีมวิจัยต่อเนื่องมาจนเป็นทีมจัดกระบวนการเรียนรู้ เราพบว่าการนำแนวคิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้และความเป็นผู้นำร่วมมาใช้ในการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เรายอมรับได้อย่างเต็มปากว่าทีมไม่สามารถคงสภาวะมีความเป็นผู้นำร่วมอยู่ได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเราแต่ละคนไม่อาจรักษาสภาวะความเป็นผู้นำผู้รับใช้ไว้ได้ทุกขณะ ในคราวแรกบางคนอาจจะรู้สึกท้อใจบ้างที่ไม่สามารถทำงานหรือบริหารจัดการด้วยแนวทางวิธีที่เราเชื่อให้ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อได้สติรู้สึกตัวขึ้นมาว่าเรากำลังหลุดออกจากการดำเนินไปในแนวทางจิตตปัญญาศึกษา เราพลันได้พบว่าทั้งทีมสามารถฟื้นคืนคุณภาพสู่สภาวะความเป็นผู้นำผู้รับใช้และความเป็นผู้นำร่วมได้ทุกครั้ง

จากประสบการณ์ของทีมเราในการทำงานวิจัยและจัดอบรมจิตตปัญญาศึกษาด้วยวิธีการและแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ดังเช่นเรื่องความเป็นผู้นำ ได้ทำให้เราตระหนักชัดว่าจิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้ายที่จะต้องเดินไปให้ถึง ไม่ได้เป็นสิ่งที่เมื่อทำได้แล้วจะสำเร็จเสร็จ เพราะเมื่อใดที่รู้สึกว่าเรามีความเป็นผู้นำผู้รับใช้ หรือทีมมีความเป็นผู้นำร่วม เราจะพบว่าในอีกชั่วขณะเวลาถัดไปไม่ช้าก็เร็ว เราอาจจะเสียคุณภาพและเสียสภาวะนี้ไปได้ โจทย์จึงไม่ใช่การปฏิบัติให้เกิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้แล้วจบ แต่เป็นคุณภาพและสภาวะที่เราต้องร่วมกันหมั่นสร้างให้เกิดขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะ อาจจะต่อเนื่องกันไปได้แต่ไม่สามารถคงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง

ความเป็นผู้นำจึงไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นคุณภาพและสภาวะที่เราพยายามสร้างให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เสมือนหนึ่งเราอยู่บนหนทางของการปฏิบัติฝึกฝน และมีสติไม่หลุดออกนอกเส้นทาง เป้าหมายนั้นเรามีอยู่ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือวิธีและเส้นทางที่เราเดินไป เราจึงได้ใช้ชื่อในการทำงานร่วมกันว่า “กลุ่มจิตตปัญญาวิถี”

ย้อนกลับมายัง workshop ความเป็นผู้นำแนวจิตตปัญญาศึกษา คำถามของอาจารย์พยาบาลผู้อัดอั้นสงสัยได้เผยออกมาว่าเราจะเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำในกาละและเทศะที่เหมาะสมแล้วหรือ จึงเป็นคำถามที่ป้อนเข้ามาในกระบวนการเรียนรู้อย่างพอเหมาะพอเจาะ สะท้อนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ว่า ผู้นำคือผู้บริหาร คือผู้มีอำนาจ คือผู้สั่งการ ดังนั้นเราจึงละเลยการให้ความสำคัญต่อตัวเอง หลงลืมจะมอบอำนาจให้แก่ตัวเอง ไม่เชื่อว่าเราก็มีความเป็นผู้นำที่สามารถรับใช้ดูแลองค์กรของเราด้วยคุณภาพและคุณลักษณะใดๆ ก็ตามที่เรามีได้ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมองข้ามความสามารถและความเป็นไปได้ของกลุ่มที่จะข้ามพ้นอุปสรรคไปด้วยกัน ความเชื่อเดิมๆ นี้ไม่ต่างกับกบเลือกนาย ผู้มอบความหวังและตั้งตารอคนอื่นให้เป็นผู้นำพาหาทางออก

เพราะผู้นำมิใช่เพียงผู้บริหาร และเราทุกคนล้วนมีความเป็นผู้นำในตัว

ความเป็นผู้นำไม่ใช่สถานภาพ ไม่ใช่สิทธิอำนาจ แต่เป็นสภาวะอันเกิดขึ้นจากการหมั่นดำเนินชีวิตอยู่ในสติบนวิถีทางของการพัฒนาขัดเกลาตนเอง และเราทุกคนต่างทำได้ และเราสามารถทำได้ร่วมกัน

Slow Life is Beautiful

วันนี้ไปอ่านเจอสัมภาษณ์ดีๆ ในนิตยสาร a day bulletin ของคุณกวาง มีนา เปรื่องวิริยะ น้องสาวของคุณ นิรมล เมธีสุวกุล เลยหยิบเอามาฝากครับ

เธอเป็นคนที่วิกฤตในชีวิตได้หยิบยื่นโอกาสมาให้ และเธอก็ไม่ได้พลาดมองข้ามโอกาสนั้นไป วิกฤตคือมะเร็งในรังไข่ ส่วนโอกาสของเธอคือะไร ดังข้อความสัมภาษณ์ตอนท้ายนี้ครับ:




หลายคนอาจจะมีทัศนคติต่อโรคร้ายอย่างมะเร็งในแง่ลบ แต่สำหรับชีวิตที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงของมีนาจากการเผชิญโรคร้าย เธอยืนยันว่า ถึงอย่างไรเจ้ามะเร็งก็ยังพอมีข้อดีอยู่บ้างตรงที่...

"ยอมรับว่า เมื่อก่อนตอนที่ยังทำงานอยู่ เรามองเรื่องคนรอบข้างน้อยมาก เรียกว่าใส่ใจงานมากกว่าคน ทั้งเพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง ซึ่งช่วงที่ป่วยเป็นมะเร็ง เราได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะแต่สามีหรือคนในครอบครัว ตรงนี้ทำให้เราสำนึกได้ว่า เราเคยละเลยอะไรไป

สอง มะเร็งทำให้เรามีเวลาดูแลตัวเอง และสามีมากขึ้น เพราะได้เกษียณจากงานเร็วกว่าที่วางแผนไว้ ได้ไปเที่ยว ได้ไปใช้ชีวิต ได้ทำอะไรแบบที่ไม่เคยได้ทำ

สาม เรารู้จักที่จะยืดหยุ่นกับชีวิตมากขึ้น เหนื่อยก็พอ พักก่อนพรุ่งนี้ค่อยทำใหม่ ผิดกับเมื่อก่อนที่เรารู้ตัวว่าล้าแล้ว แต่ยังฝืนทนทำไปจนเสร็จ

สี่ ได้รู้จักการแบ่งปัน อย่างการเขียนหนังสือประสบการณ์การเป็นมะเร็งออกมา ก็เพราะว่าเราอยากที่จะแชร์ความเจ็บปวดที่เคยมีให้คนอื่นได้รับรู้ จะได้ระวังตัว อย่างเราเองก็ไม่รู้ว่ามะเร็งที่หาย จะกลับมาเป็นอีกเมื่อไหร่ เพราะมันมีโอกาสตลอดเวลา

สุดท้าย การได้เรียนรู้ตัวเอง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราเข้าใจตัวเองแล้ว่า จริงๆ ชีวิตนี้เราต้องการอะไร อะไรคือความหมายของชีวิต ซึึ่งมันไม่ใช่ชื่อเสียง เงินทอง หรือตำแหน่งที่เคยอยากได้ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่เราต้องการก็คือ ความสมดุลในชีวิต ระหว่างงาน ครอบครัว และการใช้ชีวิต




เธอผ่านวิกฤตโรคร้ายมาด้วยการรักษาพร้อมกับการใช้ธรรมชาติบำบัด

ปัจจุบันเธอกับสามีตัดสินใจเช่าบ้านที่หลวงพระบาง ใช้ชีวิตเรียบง่าย เธอลาออกแล้วจากงานการตลาดที่เคยสร้างชื่อเสียงและขณะเดียวกันก็บั่นทอนสุขภาพตัวเอง

หนังสือที่เธอเขียนบอกเล่าประสบการณ์มีชื่อว่า "จากวิ่งเร็วเป็นเดินช้า : ชีวิตที่หลวงพระบาง ประสบการณ์หลังบำบัดมะเร็ง"